ตอนที่แล้วผมชวนไปดูต้นไม้ในถิ่นกำเนิดธรรมชาติที่โมซัมบิก

ตอนนี้ผมจะพาไปดูต้นไม้ 5 ชนิด ที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดี แต่ไม่ได้ดูที่เมืองไทย เราจะแต่ดูในแอฟริกาที่ประเทศโมซัมบิก

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา

เราอาจคุ้นตา อาจเห็นบางต้นอยู่คู่บ้านมาตั้งแต่เราเป็นเด็กหรือแม้ก่อนเราเกิด บางต้น เราอาจเห็นมันที่ออฟฟิศหรือในรูปภาพแต่งบ้านสวยๆ ไม่ว่าจะในอินสตาแกรมหรือพินเทอเรส หรือบางต้น เราอาจเห็นมีขายทั่วไป เป็นไม้ประดับที่เลี้ยงง่ายและราคาถูกตามตลาดนัดทุกหัวมุมเมือง หรือวางขายที่ใต้อาคารของออฟฟิศ

แต่เราอาจไม่เคยรู้เลยว่า ต้นไม้หลายต้นที่คุ้นตานั้น แท้จริงแล้วมันไม่ได้มาจากเมืองไทย

เรา-บรรพบุรุษและเพื่อนร่วมชาติของเรานั่นเอง ที่นำมาเพาะเลี้ยง พัฒนาสายพันธุ์ จาก ‘ไม้ป่า’ ของแอฟริกา ให้เป็น ‘ไม้บ้าน’ ของไทยและของคนอื่นๆ ด้วย

ผมจึงขอชวนไปดูต้นไม้ที่เราคุ้นเคย ซึ่งผมได้เฝ้าเวียนสังเกตการเจริญเติบโตและวัฏจักรการดำรงชีวิตของมันในธรรมชาติตลอดหนึ่งปี ก่อนที่ผมจะเดินทางกลับมาเมืองไทยอย่างถาวรเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้กัน

แต่ก่อนอื่น ผมขอแนะนำให้ทุกคนรู้จัก ‘ชีวิตติ’ เสียแต่แรก เพราะเขาจะปรากฏในเรื่องที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา

เขาเป็นพนักงานทำความสะอาดที่มาช่วยผมดูแลและรดน้ำต้นไม้ในสวนของที่ทำงานเป็นประจำ ส่วนในวันหยุด เขาเป็นเพื่อนคู่ใจที่ออกไปดูและสำรวจต้นไม้กับผมและลูกชายอายุย่างเข้า 4 ขวบ 

ผมชอบไปดูต้นไม้ที่แถวๆ บ้านของชีวิตติ เพราะบ้านเขาอยู่ไม่ไกลจากเมือง แต่ก็ยังคงความเป็นป่าแบบดั้งเดิมเอาไว้ สลับกับบ้านเรือนของผู้คน

ผม ลูกชาย และชีวิตติ ขอพาไปชมต้นไม้ 5 ต้นกันเลย

1. ชวนชม (Adenium)

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ชวนชมชนิด Adenium multiflorum สังเกตดอกไม้นับร้อยดอกที่เบ่งบานจนนักวิทยาศาสตร์นำมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์

เริ่มชมต้นไม้ต้นแรกกันที่แถวบ้านของชีวิตติ-พระเอกของเรา

บ้านเขาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของต้นชวนชมที่ผมหลงรัก ทุกวันหยุด เรามักแวะไปบ้านของเขาที่อยู่ในเขตชานเมือง ขับรถช้าๆ ออกจากที่พักในเมือง ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว เราขับรถเวียนไปเวียนมาตามทางทรายละเอียดตัดเข้าไปในป่าละเมาะ บางครั้งก็หลงขับไปตามทาง โผล่มาอีกทีเป็นปากแม่น้ำที่กำลังจะไหลลงทะเลอยู่แล้วก็มี

วันหนึ่งเรานั่งรถผ่านเป็นปกติ แต่สภาพอากาศเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว หลังจากที่ฝนเพิ่งหยุดตกมาได้เกือบหนึ่งเดือนเต็ม ถนนไม่เรียบจนรถเรากระเด้งขึ้นลงตามจังหวะหลุมบ่อที่ล้อหมุนผ่าน มองไปข้างนอกเห็นต้นไม้แห้งที่แทบทุกต้นพากันทิ้งใบเหลือเพียงกิ่งแห้งๆ ทั่วไปหมด มีต้นไม้ไม่กี่ชนิดที่ยังเป็นสีเขียว

แล้วเราก็สังเกตเห็นจุดเล็กๆ สีชมพู อยู่ไกลๆ 

ชีวิตติชวนให้หยุดและลงไปดูใกล้ๆ เราเดินฝ่าพงหนามของต้นไม้นานาชนิด ผมให้ลูกชายขี่คอสูง จนเราแหวกต้นไม้ถึงต้นตอของจุดสีชมพูนั้น 

ผมแทบไม่เชื่อว่าจะได้เห็นต้นชวนชมในธรรมชาติกับตาตัวเองในป่าชานเมืองแบบนี้ 

สัปดาห์ต่อๆ มา เรากลับไปที่เดิมพร้อมกับแผนที่จากกูเกิล และออกสำรวจขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ กอปรกับเวลาผ่านไป ยิ่งทำให้ชวนชมออกดอกเยอะแยะเต็มต้น จนในสัปดาห์หนึ่ง คงเป็นช่วงที่บรรดาชวนชมที่เห็นในพื้นที่ออกดอกเต็มที่ ลำต้นสูงเกือบเท่าอกขึ้นอยู่ท่ามกลางดินสีน้ำตาลแห้ง แต่ทั้งต้นมีดอกชวนชมมีชมพูสลับขาวเป็นร้อยๆ ดอก ซึ่งคงเป็นที่มีของชื่อวิทยาศาสตร์ของชวนชมชนิดนี้ว่า Ademium multiflorum (multi = จำนวนมาก, florum = ดอกไม้)

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา

เราหยุดพินิจที่หน้าต้นชวนชม เราได้แต่ตะลึงงงงัน ชีวิตติบอกว่าเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าแถวๆ บ้านจะมีดอกไม้ที่สวยงดงามขนาดนี้ รอบๆ บ้านของเขามีต้นชวนชมขึ้นอยู่ทั่วไปแต่คงไม่มีใครสังเกต เพราะต้นชวนชมออกดอกบานเต็มที่ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่จะทิ้งดอกร่วงหล่น กลายเป็นฝักเมล็ด แล้วก็เปิดอ้าให้ลมพัดพาเมล็ดที่มีปีกฟูคล้ายปุยนุ่นออกไป จนผลิใบเขียวพร้อมๆ กับฝนที่ตกลงมาในฤดูกาลต่อไป

ต่อมา ผมเปิดแผนที่และค้นคว้าข้อมูลต่อ ทำให้รู้ว่ามีชวนชมอีกชนิดที่พบตามแนวชายแดนโมซัมบิกกับประเทศเอสวาตินี (ชื่อที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ของประเทศสวาซิแลนด์) เราจึงชวนกันไปหาต่อในสัปดาห์ต่อๆ มา

ที่ริมอ่างเก็บน้ำที่อยู่ไม่ไกลจากถนนสองเลนที่ตัดผ่านภูเขาลูกเตี้ย ก่อนมุ่งหน้าไปยังจุดผ่านแดนของประเทศเอสวาตินีเป็นทุ่งหญ้าแห้งสลับกับแปลงปลูกข้าวโพดของชาวบ้าน เราชวนกันหยุดรถหลบไว้ที่ไหล่ทาง แล้วก็ออกลุยทุ่งหญ้าแห้งนั้น

เหมือนไม่มีทีท่าว่าจะเจอชวนชมอีกชนิดเลย เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่หญ้าแห้งสูงเท่าหน้าแข้ง สลับกับต้นไม้สูงเป็นดงหนามและเนินดินสีน้ำตาลแห้งๆ

สายตามองก้มต่ำ แสงแดดส่องจ้า แต่ไม่รู้สึกร้อนเลยเพราะลมปลิวมาเบาๆ พัดผ่านมาตลอด

เอ๊ะ… อะไรที่เท้านี่ 

ใช่แล้วครับ จู่ๆ ผมก็เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าต้นชวนชมต้นเล็ก มีไม้กิ่ง แต่รูปร่างสัณฐานที่มีกิ่งเรียบๆ อวบๆ แถมดอกเป็นแบบเดียวกันแต่มีสีชมพูเข้มคล้ายสีดอกบานเย็น แม้มีเพียงแค่ 2 – 3 ดอก แต่ก็รู้แน่นอนว่านี่คือต้นชวนชมชนิด Adenium swazicum แน่ๆ

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ชวนชมชนิด Adenium swazicum ที่พบเฉพาะในประเทศเอสวาตินี (สวาซิแลนด์เดิม) และตามริมแนวชายแดดบนที่ราบสูงในเขตประเทศโมซัมบิกและแอฟริกาใต้เท่านั้น

ท่ามกลางความแห้งแล้งที่เป็นสีน้ำตาล ดอกไม้ดอกเล็กสีสดของชวนชมเพียงไม่กี่ดอกแบบนี้ก็ทำให้ชื่นใจขึ้นมาได้เหมือนกัน

2. เก๋งจีน (Stapeliads)

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ต้นไม้ในกลุ่ม Stapediads ชนิด Stapelia gigantia มีดอกรูปดาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ที่บ้านชีวิตติไม่ได้มีแค่ชวนชม และที่กรุงมาปูโต เมืองหลวงที่ผมพักอาศัยและทำงานก็ไม่ได้มีแค่ตึกและถนน แต่มีต้นไม้ที่ผมจะชวนไปชมในลำดับต่อไปนี้

หากจะว่ากันเรื่องความพิศดารและมะลึกกึกกือของต้นไม้แล้ว ผมขอยกให้กับต้นไม้จำพวกที่ฝรั่งเรียกว่า Stapeliads หรือนึกง่ายๆ ว่า ต้นไม้จำพวกที่มีกลีบดอกเป็นรูปดาว 5 แฉก และมีเกสรเป็นจุดกลมอยู่ตรงกลาง

นักเลี้ยงต้นไม้ชาวไทยเรียกต้นไม้กลุ่มนี้ว่า ‘เก๋งจีน’ ซึ่งมีลำต้นเป็นลำๆ ท่อนๆ สีเขียวทอดยาวออกไป ส่วนใหญ่มีผิวขรุขระ มีหนามอ่อนๆ อยู่รอบๆ

ผมเห็นต้นไม้พวกนี้ครั้งแรกโดยไม่ได้ตั้งใจ และที่เห็นครั้งแรกก็เป็นเก๋งจีนชนิด Stapelia gigantea ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์ (gigantean = ใหญ่ยักษ์) น่าจะอธิบายถึงดอกใหญ่ที่สุดในบรรดาญาติๆ ของมันทั้งหมดด้วย ว่ากันว่าต้นไม้ชนิดนี้มีแหล่งกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในดินแดนฝั่งตะวันออกของทวีปตั้งแต่เหนือจรดใต้รวมถึงโมซัมบิกด้วย และขึ้นอยู่ได้แทบทุกที่ ทั้งบนภูเขาสูง ในป่าละเมาะ หรือบนคันดินแห้งในเขตชุ่มน้ำริมชายฝั่งทะเลหรือป่าโกงกาง

ในปีแรกที่ผมไปทำงาน ตอนนั้นกลุ่มเพื่อนคนไทยที่มีอยู่ไม่กี่คนในกรุงมาปูโตทราบมาว่ามีฝูงนกฟลามิงโกสีชมพูอยู่ในเขตนาเกลือในเขตชานเมือง ในวันที่รถไม่หนาแน่น เพียง 20 นาทีก็ถึงแล้ว วันนั้นเราไปถึงที่นาเกลือในยามแดดร่มลมตก ทุกคนลิงโลดดีใจกึ่งวิ่งกึ่งเดินไปดูฝูงนกฟลามิงโกนับพันตัวที่ยืนกันกินแพลงก์ตอนและสาหร่ายในนาเกลือที่อยู่ลิบๆ

สายตาของผมกลับมองต่ำไปที่พุ่มไม้ข้างๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะชินชากับนกฟลามิงโกที่เคยเห็นเป็นพันๆ หมื่นๆ ตัวแล้วสมัยทำงานอยู่ที่เคนยา!

แล้วผมก็เห็นต้นไม้รูปทรงประหลาด แน่ใจว่าต้องเป็นเก๋งจีนดอกยักษ์ต้นนี้แน่ๆ

แต่ในคราวนั้น ยังไม่ใช่ฤดูกาลที่ออกดอก เรากลับไปใช้ชีวิตทำงานตามปกติ จนกระทั่งปีสุดท้ายของผมในโมซัมบิกที่ผมเริ่มสนุกกับการดูต้นไม้อย่างจริงจัง ผมก็คิดถึงต้นเก๋งจีนต้นนี้ที่น่าเกลือนั่น

พอดีกับว่านาเกลือนี้เป็นทางผ่านไปบ้านของชีวิตติที่ชานเมืองที่เราไปกันบ่อยๆ ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว 

แล้วผมก็ได้เห็นดอกไม้ยักษ์ ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือคนตัวใหญ่เบ่งบานอยู่ตรงหน้า กลิ่นเหม็นโชยสมคำร่ำลือ เสียงหึ่งๆ ของแมลงวันหัวเขียวอาจยืนยันดีกรีความเหม็นได้โดยไม่ต้องอธิบายต่อ พวกมันบินเวียนว่อนกับมาคลุกเคล้าเกาะที่เกสร นี่สิที่ทำให้รู้ว่ากลิ่นที่มีไว้ล่อแมลงให้มาผสมเกสรก็คงไม่ธรรมดา

แล้วเราก็ออกเดินทางต่อไปแถวๆ บ้านชีวิตติเหมือนเดิม เพื่อไปดูต้น ‘เก๋งจีน’ ชนิดอื่นๆ อีก 3 – 4 ชนิดที่ขึ้นอยู่ในพงหญ้าหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ในที่ร่มในละแวกบ้านของเขา ในอีกไม่ถึงสิบปีนับจากนี้ สถานที่ที่เรากำลังมุ่งหน้าไปก็คงกลายเป็นเมือง เป็นบ้านเรือน เป็นโรงงานไปหมดแล้ว

ต้นแรกคือชนิด Huernia zebrina ต้นไม้ประจำบ้านและมีขายทั่วๆ ไปแม้ในบ้านเรา สามารถปลูกเลี้ยงและออกดอกง่ายแม้ในที่ร่มหรือในอาคาร เช่นเดียวกับที่มันโตในร่มไม้ใหญ่ในธรรมชาติ ฝรั่งเรียกต้นไม้นี้ว่า Life-saver Plants เพราะลักษณะที่มีกลีบดอกโป่งออกมาเป็นวงกลมคล้ายห่วงยางช่วยชีวิต 

ต้นต่อมาคือชนิด Huernia hystrix มีดอกรูปดาวอีกชนิดคล้ายกับชนิดก่อนหน้า แต่กลีบดอกรอบเกสรมีขุยๆ ขึ้นมาดั่งกำมะหยี่นวล

อีกต้นหนึ่งคือชนิด Duvalia polita มีดอกรูปถ้วย ที่ว่างระหว่างกลีบดอกมีขนปุยจิ๋ว เมื่อมองดีๆ จะเห็นสั่นดุ๊กดิ๊กขยับไปกับสายลมดั่งมีชีวิตเคลื่อนไหวและอยากจะพูดคุยด้วย

และต่อมาคือชนิด Orbea melanantha ซึ่งมีลำต้นใหญ่และเป็นขยักคล้ายฟันเลื่อน ออกดอกเป็นช่อ 6 – 10 ดอกเป็นสีแดงเข้มจนคล้ายเป็นสีดำ กลิ่นเหม็นโชยเรียกแมลงวันหัวเขียวอย่าบอกใคร

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ต้นไม้ในกลุ่มเก๋งจีน 2 ชนิดขึ้นอยู่คู่กันใต้พุ่มไม้ คือ Huernia zebrina (ซ้าย) มีฐานรองกลีบดอกคล้ายห่วงยาง และ Orbea melanantha (ขวา) ที่กำลังออกดอกรูปดาวสีแดงเลือดหมู มีกลิ่นเหมือนเนื้อสัตว์เน่าเหม็นอย่าบอกใคร แต่เป็นที่โปรดปรานของเหล่าแมลงวันหัวเขียวที่มาตอมหึ่งๆ และหลายครั้งถูกล่อลวงให้วางไข่ที่ไม่มีวันฟักและช่วยผสมเกสร
ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
Huernia zebrina
ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
Duvalia polita

ดอกไม้ดอกเล็กริมทางเหล่านี้ทำให้ชื่นใจ โดยเฉพาะทุกครั้งที่ต้องคุกเข่าทำตัวก้มต่ำไปกับผืนดิน เพื่อจะได้เห็นพวกมันชัดๆ ยิ่งทำให้ผมมีความสุข แม้อาจสร้างความฉงนและแปลกประหลาดให้กับชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมา รวมทั้งต่อเพื่อนร่วมทางอย่างชีวิตติบ้าง

แม้แต่ชีวิตติเองซึ่งโตมากับพื้นที่แถวนั้นตั้งแต่เด็ก ครั้นพ่อแม่ของเขาย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ยังชอบเปรยให้ฟังบ่อยๆ ว่า เขาไม่เคยเชื่อเลยว่าที่บ้านเขาจะมีสิ่งสวยงามแบบนี้

3. พญาไร้ใบ (Euphorbia)

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา
ชีวิตติและเพื่อน กับต้นพญาไร้ใบชนิด Euphorbia triangularis ที่อาจขึ้นผิดที่ทางในเขตเมืองใหม่ที่ธรรมชาติกำลังถูกความเป็นเมืองรุกคืบเข้ามาทุกวันทุกคืน

ในตอนนี้ ชีวิตติ พระเอกของเรา คือ ‘ฮีโร่’ 

ราวกับเป็นยอดมนุษย์ เขากำลังช่วยชีวิตต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ก่อนที่จะถูกฆาตกรรม 

ชีวิตติยกลำต้นของมันความยาวกว่า 3 เมตรขึ้นบ่า แล้วแบกลัดเลาะไปตามเนินทรายเพื่อกลับไปยังรถที่เราจอดไว้ข้างทาง พนักงานออฟฟิศที่ร่างกายอ่อนแรงปวกเปียกอย่างผมได้แต่ค่อยพยุงไม่ให้กิ่งแขนงของมันกระทบกระเทือนไปมากกว่านี้

ที่รากและลำต้นของมันมียางสีขาวไหลเยิ้มซิบๆ หากเป็นมนุษย์หรือสัตว์เลือดอุ่น มันคงบาดเจ็บจากรอยแผลมาพอสมควร

ที่ริมทางริมถนนวงแหวนตัดใหม่ล่าสุด ห่างจากตัวเมืองออกไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร ความเป็นเมืองกำลังรุกครอบคลุมเนินทรายริมชายฝั่งทะเลที่ถนนสายใหม่เพิ่งตัดผ่านเมื่อไม่ถึง 3 ปีก่อน หลังจากถนนสร้างเสร็จด้วยทุนจากจีน ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาและความเจริญ บ้านเรือน โรงงาน และสถานที่ราชการ ก็พากันย้ายเข้าไปสร้างบนที่ดินแสนงามริมถนนเพิ่งสร้างใหม่ ที่มุ่งสู่เมืองใหญ่ทางตอนเหนือเส้นนี้

ในทางหนึ่ง ผมรู้สึกโชคดีที่ยังพอมีโอกาสได้เห็นและได้สัมผัสกับเนินทรายแบบ Sand Dune ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่นดั้งเดิม แม้ทุกครั้งที่ไปถึงเราจะพบกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นหมุดที่ดินที่ถูกปักไว้ พร้อมๆ กับการถากถางต้นไม้ใบหญ้าให้เหลือเพียงที่โล่งเตียน ก่อนที่จะสร้างรั้วและทำกำแพงเพื่อรักษาสิทธิ์ในที่ดินเอาไว้ ตามกฎหมายของโมซัมบิกที่หากไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือมีสิ่งปลูกสร้างถาวรก็จะถูกรัฐยึดคืน

ในที่ผืนนั้นก็เช่นกัน ตึกที่ทำการขนาดใหญ่หลายชั้นของกระทรวงสาธารณสุขสร้างใกล้เสร็จเต็มทีแล้ว

เราเห็นต้นพญาไร้ใบชนิด Euphorbia triangularis ที่มีกิ่งของลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยมตามชื่อวิทยาศาสตร์ (triangularis = เป็นรูปสามเหลี่ยม) ซึ่งขนาดใหญ่ที่น่าจะมีอายุหลายสิบปีขึ้นอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว หลายครั้งเราเห็นเพียงซากลำต้นของมันนอนแน่นิ่งอยู่บนพื้นทราย เห็นรอยหั่นควั่นเป็นแนวเรียบและตรงที่โคนต้นชัดเจน แต่เมื่อเราไปถึง ก็เกินกว่าจะนำกลับมาเยียวยาหรือมาปักชำปลูกใหม่ ลำต้นที่แห้งเพราะน้ำในลำต้นระเหยออกไปแทบหมดแล้ว เชื้อราและแบคทีเรียกำลังมาย่อยสลายทำให้เน่าผุพังตามวิถีแห่งธรรมชาติ

ในที่ดินอีกผืนที่กำลังจะถูกถากถาง เราเห็นต้นพญาไร้ใบชนิดนี้ที่อายุอ่อนสักหน่อยแต่อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ปี ดังที่เห็นได้จากลำต้นที่สูงกว่า 3 เมตรกำลังยืนเผชิญกับหายนะที่อาจอยู่ไม่ไกล เราจึงตัดสินใจขุดมันขึ้นมาและนำกลับไปปลูกที่ที่ทำงาน

ต้นพญาไร้ใบหรือพืชในสกุล Euphorbia นี้มีจำนวนหลายร้อยชนิดขึ้นอยู่ในที่กึ่งแล้งของแอฟริกา รวมถึงต้นโป๊ยเซียนดอกสีสวยก็มาจากทวีปแอฟริกาในมาดากัสการ์ด้วย 

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา
ดอกจิ๋วสีเหลืองหรือสีขาว และลำต้นไร้ใบที่เต็มไปด้วยหนามและมียางสีขาว คือลักษณะเด่นของต้นไม้ในสกุล Euphorbia (ในภาพคือชนิด Euphorbia knuthii ซึ่งพบในตอนใต้ของโมซัมบิก) 

แต่ที่อยู่ของพญาไร้ใบในธรรมชาติของแอฟริกาก็กำลังประสบปัญหาไม่ต่างจากกัน

ในอีกที่หนึ่ง ที่ราบสูงบนภูเขาลูกเตี้ยทางตอนใต้ของโมซัมบิก ใกลักับเขตแดนติดกับประเทศแอฟริกาใต้ มีต้นพญาไร้ใบอีกชนิดที่มีรูปร่างแปลกตาขึ้นอยู่เป็นหย่อมใหญ่บนสันภูเขาริมถนน ทางสัญจรของรถขนหินจากโรงโม่หินหลายโรงที่ได้รับสัมประทานจากรัฐบาล

เรามองต้นพญาไร้ใบชนิด Euphorbia clavigera ที่มีรากเป็นโขดเก็บน้ำไว้ใต้ดิน และยื่นลำต้นคล้ายกระบองปกคลุมไปด้วยหนามยาวแหลมขึ้นมา ดอกสีเหลืองขนาดเล็กแบบเดียวกับดอกโป๊ยเซียนที่เราคุ้นตาผลิแย้มออกดอกรายรอบหนามแหลมนั้น แต่เดิมต้นพญาไร้ใบชนิดนี้มีรายงานว่าพบในประเทศแอฟริกาใต้ด้วย แต่ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานว่าได้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติแล้ว เนื่องจากถูกเก็บออกไปขายเพื่อเป็นไม้ประดับจนหมดเกลี้ยง

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา
บนลานหิน Euphorbia clavigera ขึ้นแทรกตัวอยู่ในร่องรอยแตกเป็นกลุ่มๆ

บนเนินเขาลูกนี้เป็นลานหิน มีโขดหินเล็กใหญ่วางเรียงกันสะเปะสะปะตามธรรมชาติ ต้นพญาไร้ใบแทรกตัวขึ้นที่ซอกหินเป็นกลุ่มก้อนสีเขียวน่าดู 

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา
ต้นพญาไร้ใบอีกชนิด (กับต้นว่านหางจระเข้) ขึ้นอยู่บนเนินเขาใกล้ๆ กัน

เสียงโรงโม่หินที่ดังแว่วมาแต่ไกลๆ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วิ่งผ่านไปมา ขณะที่เรากำลังก้มดูต้นไม้เหล่านี้อยู่ก็พาลให้นึกเสียดายว่า คงอีกไม่นาน ที่ที่พวกมันเคยอยู่นี้ก็คงต้องถูกพัฒนาไปเป็นอย่างอื่นหมด 

ผมได้แต่คิดวนเวียนอยู่ในหัวว่า อนาคตของต้นพญาไร้ใบชนิด Euphorbia clavigera ในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติแห่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง แม้จะรู้ว่าคงทำอะไรไม่ได้มากกว่าที่เล่าให้ฟังอยู่นี้

ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า อยากให้ชีวิตติย้ายไปอยู่ตรงนั้น 

4. ว่านหางจระเข้ (Aloe)

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา
ลูกชายกับว่านหางจระเข้แบบที่มีลำต้นขึ้นสูงเหนือพื้นดินชนิด Aloe marlothii ออกดอกสีเหลืองเด่น ขึ้นอยู่บริเวณริมถนนจากโมซัมบิกเข้าไปยังชายแดนของประเทศแอฟริกาใต้ ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติ Kruger National Park

แล้วผม ลูกชาย และชีวิตติขอชวนไปดูว่านหางจระเข้-ต้นไม้ที่คนท้องถิ่นอย่างชีวิตติอาจไม่เคย ‘รู้จัก’ แม้เขาจะเคยเห็นมาตั้งแต่เกิด

เราอาจรู้ดีว่าว่านหางจระเข้มีประโยชน์ ว่านหางจระเข้มีสรรพคุณร้อยแปด เมือกของใบสดที่เป็นวุ้นรักษาแผลได้ชะงัด จนเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มสมุนไพร ครีมทาตัว หรือแม้กระทั่งผ้าอนามัยของสุภาพสตรี แต่เราอาจไม่รู้ว่า สมุนไพรว่านหางจระเข้ที่เรารู้จักกัน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aloe vera นั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่คาบสมุทรอาระเบียในตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา 

ธรรมชาติตามทฤษฎีวิวัฒนาการได้จัดสรรให้ต้นไม้จำพวกว่านหางจระเข้ในสกุล Aloe นี้ขึ้นอยู่ดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ตะวันออกกลาง เช่น ในประเทศเยเมน ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ข้ามทะเลทรายซาฮารา เรื่อยลงมาในแอฟริกาทั้งทวีป แม้กระทั่งที่ใต้สุดอย่างโมซัมบิกที่ผมเคยอยู่

นักพฤษศาสตร์จำแนกพืชให้อยู่ในสกุลว่านหางจระเข้มากกว่า 250 ชนิด ด้วยลักษณะดอกที่มีช่อดอกยาว ประกอบด้วยดอกคล้ายระฆังคว่ำเรียงรายเป็นกลุ่มจำนวนหลายดอก มีสีแดงหรือสีเหลืองไล่เฉดสีต่างกันไปตามแต่ละชนิด ลำต้นมีใบลักษณะอวบน้ำ จึงขึ้นอยู่ในที่แห้งๆ หรือสภาพกึ่งแล้งได้ดี ต้นว่านหางจระเข้บางชนิดมีลักษณะเป็นวงๆ คล้ายดาวกระจาย บางชนิดมีลักษณะเป็นต้นไม้ มีลำต้นสูงและมีกิ่งก้านยื่นใบสูง บางชนิดมีลักษณะคล้ายต้นหญ้า ขึ้นอยู่ในที่สูง ริมหน้าผา รวมถึงที่ราบต่ำบนเนินทรายและที่ริมแม่น้ำ

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา, ต้นไม้ แอฟริกา

แทบทุกที่ที่ไปในโมซัมบิก เราจะเห็นต้นว่านหางจระเข้หลากชนิดขึ้นอยู่ทั่ว

ชีวิตติ เพื่อนดูต้นไม้คู่กายของผมก็เช่นกัน เขาเห็นต้นว่านหางจระเข้จนไม่เคยสังเกตว่ามันมีอยู่

การที่ผมได้ออกไปดูต้นว่านหางจระเข้กับลูกชายพร้อมกับชีวิตติ จึงเป็นการพาคนท้องถิ่นไปรู้จักกับสิ่งที่เขาไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ไปโดยปริยาย

อย่างเช่นต้นว่านหางจระเข้ 4 – 5 ชนิดต่อไปนี้

ชนิดแรกเป็นต้นว่านหางจระเข้ชนิด Aloe pienaarii และชนิด Aloe spicata ขึ้นอยู่บนสันเขาที่เป็นที่ราบสูง ซึ่งเป็นแขตแบ่งดินแดนของ 3 ประเทศ คือโมซัมบิก แอฟริกาใต้ และเอสวาตินี อยู่ห่างจากกรุงมาปูโต เมืองหลวงที่ผมอยู่ออกไปราว 1 ชั่วโมงนิดๆ เท่านั้น เราเห็นต้นว่านหางจระเข้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ที่หน้าผาบนภูเขาเป็นหย่อมๆ สีแดงแต่ไกล ตัดกับหย่อมสีน้ำตาลของภูเขาและหย่อมสีเขียวของต้นไม้ก็เป็นภาพที่สวยงามมาก 

ปกติแล้ว ใบที่อวบน้ำและเป็นวุ้นเมือกข้างในของว่านหางจระเข้ทั่วไปจะเป็นสีเขียว แต่ด้วยความที่ขึ้นอยู่กลางแดดจัด โดนแดดที่ส่องมาริมหน้าเต็มๆ คลอโรฟิลล์ที่ปกติมีเม็ดสีเป็นสีเขียวก็เปลี่ยนเป็นสีแดงจัดเพราะปริมาณแสงจ้า

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ว่านหางจระเข้ชนิด Aloe spicata ใบเป็นสีแดงเพราะโดนแสงแดดจัดทั้งวัน

ออกมาจากเดินดูต้นไม้ที่ภูเขาลูกนี้ใกล้ๆ ก็ถึงจุดผ่านแดนเข้าไปยังประเทศเอสวาตินี ซึ่งมีต้นว่านหางจระเข้อีก 2 ชนิดที่น่าสนใจ คือชนิด Aloe cooperi มีใบคล้ายต้นหญ้าขึ้นอยู่บนพื้นดินปนไปกับต้นหญ้า และชนิด Aloe suprafoliata มีใบซ้อนเป็นชั้นๆ ไม่ได้เวียนกันเป็นดาวกระจายเหมือนที่เราเห็นทั่วไป

ครั้งหนึ่ง ผมเคยพาลูกชายและภรรยาไปดูต้นว่านหางจระเข้ทั้งสองชนิดที่ตรงนี้ ซึ่งอยู่ในเขตบ้านเรือนของชาวบ้านที่นำปศุสัตว์อย่างวัวและแพะมากินหญ้าเป็นประจำ ภรรยาและลูกชายเล่นกันอยู่แถวๆ รถที่จอดไว้ ผมเดินดุ่มๆ หายเข้าไปในทุ่งหญ้า แต่โชคไม่เข้าข้างเขาทั้งสอง 

เมื่อกลับถึงบ้าน ภรรยาและลูกชายมีไข้สูง ที่ลำตัวมีจุดคล้ายแมลงกัดและมีร้อยไหม้คล้ายบุหรี่จิ้มที่ตรงกลางแผล 

เราอาจโชคดีขึ้นบ้างที่หลังจากนั้น 2 – 3 วันเราก็ลากลับมาพักที่กรุงเทพฯ พอดี เราจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล ต่อมาหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มาจากเห็บกัด หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘ไข้รากสาดน้อย’ คุณหมอเด็กของลูกชายขอถ่ายรูปแผลนั้นไป ขอว่าจะนำไปให้หมอคนอื่นทายกันว่าคืออะไร เพราะโรคไข้ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในแมลงแบบนี้แทบจะหมดไปจากเมืองไทยมาแล้วหลายสิบปีแล้ว

ผมและชีวิตติที่เดินดุ่มๆ ก้มหน้าก้มตาดูต้นไม้ จึงพลาดโรคไข้รากสาดน้อยแอฟริกาไปอย่างเฉียดฉิว

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ว่านหางจระเข้ชนิด Aloe marlothii ในสภาพธรรมชาติ

ต้นว่านหางจระเข้ชนิดต่อมาที่ผมว่าอลังการ คือว่านหางจระเข้ชนิด Aloe marlothii เป็นชนิดที่ลูกชายโปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะเป็นว่านหางจระเข้ต้นยักษ์ มีลำต้นสูงเป็นเมตร ใบสีเขียวอ่อนมีหนามขนาดใหญ่ดูขรุขระ เมื่อออกดอก จะเห็นช่อดอกเป็นสีเหลืองจัด ลูกชายเคยเห็นฝูงผึ้งบินมาเกลือกกลั้วเกสรดอก จนเชื่อมโยงผึ้งกับดอกไม้ผ่านการรับรู้จากการเห็นว่านหางจระเข้ชนิดนี้ในธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นได้ตลอดเส้นทางจากกรุงมาปูโตไปยังชายแดนฝั่งแอฟริกาใต้ ที่เรามักเข้าไปจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้อุปโภคและบริโภคกันเป็นประจำ

อีกต้นหนึ่งคือว่านหางจระเข้ชนิด Aloe parvibracteata ที่ขึ้นอยู่เหมือนเป็นวัชพืชในเขตรัศมีรอบๆ กรุงมาปูโต เราไปที่ไหนก็จะเห็นว่านหางจระเข้ชนิดนี้ ไม่ว่าจะริมถนนหลวง ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือในเขตป่าโกงกางใกล้ปากแม่น้ำ แต่ต้นที่เราเห็นอยู่ดาษดื่นคล้ายเป็นวัชพืชเช่นนี้กลับมีเขตการกระจายพันธุ์ที่แคบมาก คือเพียงแค่ทางตอนใต้ของโมซัมบิกและบางส่วนของแอฟริกาใต้เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า หากพื้นที่เหล่านี้ถูกพัฒนากลายเป็นเมืองเสียหมด แม้ว่าจะมีอยู่เยอะแยะมากมายในวันนี้ แต่ในวันข้างหน้าก็สูญพันธุ์ไปง่ายๆ ได้เหมือนกัน

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
เขตหมู่บ้านในต่างจังหวัด ต้นไม้อย่าง Aloe parvibracteata ที่มีเขตการกระจายพันธุ์จำกัดอยู่เพียงบริเวณทางตอนใต้ของประเทศโมซัมบิกและบางส่วนของแอฟริกาใต้ก็ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และถูกรุกรานโดยกิจกรรมของมนุษย์เช่นกองขยะกองนี้

ว่านหางจระเข้ชนิดนี้เป็นพรมกว้างชูช่อดอกสีแดงสวยมาก ในบางที่เช่นในกองขยะข้างทาง พวกมันก็ไม่วายที่จะกระเสือกกระสนมีชีวิตอยู่ และชูช่อดอกสร้างความงดงามท่ามกลางความรกรุงรังของกองขยะที่คนมาทิ้งไว้ข้างทาง 

5. ลิ้นมังกร (Sansevieria) 

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ดอกของลิ้นมังกรชนิด Sansevieria (Dracaena) concina ที่มักบานในเวลากลางคืนและในช่วงสั้นๆ

หากจะจบที่ผมเขียนนี้โดยปราศจากต้นลิ้นมังกรในสกุล Sansevieria (ปัจจุบัน นักพฤกษศาสตร์ด้านอนุกรมวิธานได้ยุบรวมต้นลิ้นมังกรในสกุล Sansevieria ให้รวมอยู่ในสกุล Dracaena ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับต้นวาสนาแล้ว) ก็คงจะเป็นไปไม่ได้

แต่ต้นลิ้นมังกร เป็นต้นที่ผู้ช่วยของผมอย่างชีวิตติไม่ค่อยถูกจริตนัก เพราะเขาต้องจัดการต้นลิ้นมังกรที่เราเก็บมาปลูกที่ทำงาน ไม่ให้มันแพร่ระบาดไปในส่วนอื่นๆ ของสวน

เราอาจไม่รู้ว่าต้นลิ้นมังกรที่เราคุ้นเคยเป็นต้นไม้พระเอกประจำออฟฟิศและบ้านของเรา แท้จริงแล้วล้วนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาและคาบสมุทรอาระเบีย เลยไปถึงแถบชายแดนอินเดีย

ไม่แตกต่างจากต้นว่านหางจระเข้ ที่ไปในที่ไหนๆ ก็จะเจอต้นลิ้นมังกรต่างชนิดกัน 

ทั้งในที่แห้งแล้งกลางแดดจัด หรือในที่ชุ่มชื้นใต้ร่มไม้

ต้นลิ้นมังกรเป็นต้นไม้ทนทายาด ชาวบ้านเผาป่าเพื่อเตรียมเพราะปลูก แต่ต้นลิ้นมังกรซึ่งมีเหง้าไหลอยู่ยาวใต้พื้นดินก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ 

ในสวนต้นไม้ของที่ทำงาน ชีวิตติซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ในสวนดูท่าจะหงุดหงิดกับต้นลิ้นมังกรมากเป็นพิเศษ เพราะมันปลูกง่าย แถมไหลใต้ดิน ชอบเลื้อยและออกใบโผล่ขึ้นในที่ที่เราไม่อยากให้ขึ้น จนทำให้เขามีงานหนักต้องไล่ถอน ควบคุมไม่ให้ต้นลิ้นมังกรแพร่ขยายไปทั่วสวนเล็กๆ ที่เรามี

ผมเคยเห็นต้นมังกรชนิดหนึ่งที่เนินหินริมทะเลสาบมาลาวีในฝั่งของประเทศโมซัมบิก ต้นสูงถึงเมตรกว่า ในขณะที่ผมก็เคยเห็นต้นลิ้นมังกรซึ่งคาดว่าจะเป็นชนิด Sansivieria concinna สายพันธุ์จิ๋วที่มีขนาดไม่ถึงหนึ่งคืบ บนทิวเขาริมชายแดนโมซัมบิกกับแอฟริกาใต้และเอสวาตินี มีต้นลิ้นมังกรชนิด Sansivieria grandis ที่มีขนาดใบกว้างราวๆ หนึ่งคืบ แล้วมีปลายขอบใบเป็นสีแดงสด

ต้นลิ้นมังกรออกดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ซึ่งจะบานในเวลากลางคืนเพียงแค่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะเหี่ยวและร่วงหล่นพัฒนาเป็นเมล็ด

ในธรรมชาติ ต้นลิ้นมังกรอยู่กันแบบง่ายๆ ตราบใดที่มันยังมีที่ให้มันขึ้นอยู่ ผืนดินไม่ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านเรือนหรือแผ้วถางเป็นไร่มันไร่ข้าวโพด 

ต้นไม้ 5 ต้นที่เรานึกว่าเป็นของไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากมาจาก แอฟริกา
ต้นลิ้นมังกรขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้และวัชพืชหลากชนิด

พ่อของชีวิตติเพิ่งยกที่ดินแปลงใหญ่ให้เพื่อทำการเกษตร ผมบอกชีวิตติว่าอย่าถางต้นไม้ที่เราไปเห็นๆ กันมานี้หมดล่ะ ยังดีที่ที่ดินในบ้านแม่ของเขา ชีวิตติใช้อิฐบล็อกก่อเป็นกระบะปูนใหญ่ และนำต้นไม้ท้องถิ่นมาปลูกไว้ด้วย ซึ่งผมพยายามบอกชีวิตติว่า เรื่องปากท้องที่จะต้องใช้ที่ดินมาทำเกษตรกรรมให้เป็นประโยชน์ก็สำคัญ แต่เรื่องของดีที่เขามีอย่างเช่นต้นไม้แบบนี้ เขาก็ควรจะนึกถึงเช่นกัน

ความง่ายของต้นลิ้นมังกรที่ไม่เรื่องมากว่ามีแสงมากแสงน้อย ดินดีหรือดินไม่ดี จึงอาจทำให้ต้นลิ้นมังกรเป็นต้นไม้ประชานิยมเช่นนี้

ยิ่งในแหล่งกำเนิดของมัน ต้นลิ้นมังกรขึ้นอยู่ในทุกที่แม้ในที่แห้งแล้งหรือที่ถูกคุกคามที่สุด

Writer & Photographer

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud