ไปกินข้าวแกงอร่อย ที่สถานีรถไฟหนองปลาดุก ราชบุรี เป็นร้านอยู่ติดกับสถานี หลักๆ ทำข้าวราดแกงใส่กระทงใบตองขึ้นไปเดินขายบนรถไฟ ขายหมดแล้วก็นั่งรถไฟกลับมาที่เดิม มีกับข้าวอยู่แค่ 4 อย่าง ขายมาเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ขนาดรุ่นนี้ก็เป็นป้า เป็นยายเข้าไปแล้ว ข้าวแกงใส่กระทงใบตองไม่เคยเปลี่ยน เปลี่ยนแค่ช้อนที่ตัดจากใบต้นตาล มาเป็นช้อนพลาสติกเท่านั้น

เล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์ในอดีต นอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังมองเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นอาหารอะไร

ที่ร้านเองก็มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกิน มีจานข้าว มีถ้วยชามใส่กับข้าว แต่เลือกให้เอากับข้าวใส่กระทงใบตองมา กับข้าวใส่ชามมันธรรมดาๆ กินที่ไหนก็ได้ แล้วข้าวแกงอร่อยมีเยอะแยะ ทำไมต้องถ่อไปกินที่นั่น ก็ได้ 2 อย่าง ได้เห็นวิธีการค้าขายอาหารบนรถไฟ ได้เห็นกระทงใบตองที่หลุดไปจากการใส่อาหารกินไปแล้ว

วิถีชีวิตคนไทย ถูกครอบเบ็ดเสร็จด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งออกแบบมาให้ใช้ง่าย รวดเร็วทันใจ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ราคาถูก เป็นธรรมดาของทุกคนย่อมชอบความสะดวกสบายอยู่แล้ว คนถึงติดกับพลาสติก

เล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์ในอดีต นอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังมองเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นอาหารอะไร
เล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์ในอดีต นอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังมองเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นอาหารอะไร

คนสมัยก่อนก็ต้องหาอะไรมาใส่ มาห่อ มามัด มาเก็บ แล้วจะใช้อะไร ใบตองดีที่สุด เพราะเป็นของใกล้ตัว เอาง่ายๆ จำนวนต้นกล้วยมีมากกว่าจำนวนคน แล้วใบตองจะมากมายขนาดไหน ใบตองมีคุณสมบัติลื่น น้ำไม่จับตัว เอาไปทำรูปร่างใช้งานอย่างไรก็ได้ จะมัดก็มีเชือกกล้วย มีตอกไม้ไผ่ จะห่อก็มีไม้กลัด สะดวก สะบาย บางทีใช้แล้วยังใช้อีกก็ได้ ทิ้งเป็นขยะก็ไม่เป็นภาระ เดี๋ยวมันยุ่ยไปเอง

ใบตองไม่เคยล้าหลัง เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้ แถมใช้อย่างเหมาะสม ง่ายที่สุดปาดจากก้านกล้วยออกเป็นแผ่น จะขายปลาสด ขายผักสด ต้องเอาใบตองปู จะห่อผักเข้าตู้เย็น วางรองของปิ้งย่างขาย พวกปลาดุกย่าง หมูปิ้ง แจงลอน หรือจะย่างหมู ย่างปลาทูสดด้วยกาบมะพร้าวเป็นการย่างรมควัน ต้องเอาแผ่นใบตองปิดคลุมไม่ให้ไฟลุกไหม้ อีกอย่างเอาใบตองมาม้วนจนกลม มัดด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งฉีกเป็นฝอย เป็นแปรงไว้ชุบน้ำกระทิ ทาเนื้อสะเต๊ะ หมูสะเต๊ะ ใช้เสร็จไม่ต้องล้าง โยนทิ้งถังขยะ ไม่มีอะไรวิเศษเท่าแปรงใบตอง

เล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์ในอดีต นอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังมองเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นอาหารอะไร

มาเป็นการห่อมัด อย่างหมูยอ แหนม ยิ่งข้าวต้มมัด ต้องใบตองอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นไม่เรียกว่าข้าวต้มมัด ใครอย่าได้ริคิดเปลี่ยนจากใบตองเป็นอย่างอื่น จะเสียคนเอาเปล่าๆ 

ห่อหมกก็เหมือนกัน เห็นปุ๊บก็รู้ว่าเป็นห่อหมก ยังมีข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ใช้ใบตองทั้งนั้น นี่เป็นตัวอย่างของความแน่นอน ลงตัว เปลี่ยนแปลงยาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนพวงมาลัยรถต้องเป็นวงกลม อย่าง TCDC (Thailand Creative & Design Center) ใช้โลโก้เป็นห่อขนมด้วยใบตอง คงไม่ต้องบอกว่าห่อขนมด้วยใบตองนั้นสื่อความหมายของการออกแบบได้ตรงขนาดไหน

เล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์ในอดีต นอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังมองเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นอาหารอะไร

ก็มีมากที่เสียท่าให้กับพลาสติก เมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยวราดหน้าจะใช้กระดาษรองด้วยใบตองห่อสี่เหลี่ยมมัดด้วยเชือกกล้วย ข้าวผัดก็เหมือนกันที่เรียบร้อยไปแล้ว ที่กำลังจะตามไปก็มีห่อปลาทูนึ่ง เมื่อก่อนซื้อปลาทูนึ่ง คนขายจะเอาใบตองห่อแล้วห่อด้วยกระดาษอีกที เดี๋ยวนี้ยัดใส่ถุงพลาสติกพรวด

 มาเป็นกระทง นี่ยังเข้มแข็ง ยังนิยมอยู่ อย่างห่อหมกใส่แล้วดูดีน่ากิน ความน่าดูน่าซื้อก็มี ลองดูง่ายๆ ถ้าคนขายพริกขี้หนู ใส่ถุงพลาสติกถุงละ 10 บาท อีกเจ้าใส่กระทง กระทงละ 10 บาท ราคาเท่ากัน ใครจะซื้อเจ้าไหน

กระทงใบตองแห้ง กระทงที่โลกยังไม่ลืม คุ้นตาที่สุดเป็นขนมเข่ง ไหว้ตอนตรุษจีน มีตัวอย่างของการใช้ใบตองแห้งใส่ของขายแล้วรุ่งเรือง มีพี่น้องคู่หนึ่งอยู่ซอยโรงกระทะ สำเพ็ง ฝีมือทำขนมจีบอร่อย สมัยก่อนภัตตาคารจีนชอบมาสั่งเอาไปขาย แต่เขายังมีส่วนหนึ่งไปขายเอง นายเหลียง คนพี่จะหาบขายแถวถนนทรงวาด และให้ลูกสะใภ้ไปตั้งขายตรงท่าน้ำราชวงศ์ เห็นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สะดุดตาที่นึ่งขนมจีบด้วยลังถึงทองเหลือง แถมใครซื้อเอาใส่กระทงใบตองแห้ง โรยกระเทียม ซีอิ๊ว ไม้จิ้มพร้อม ยืนกินกันตรงนั้นเลย ประทับใจ 3 อย่าง อร่อย ลังถึงทองเหลือง และกระทงใบตองแห้ง

ส่วนน้องชาย นายเซี๊ยะ มายืนขายปากทางเข้าวัดมงคลสมาคม ถนนแปลงนาม มี 3 อย่างเหมือนกัน ตอนนี้ดังมาก เป็นของน่ากินของถนนแปลงนาม แต่ลูกค้าสมัยใหม่จะให้ใส่กล่องโฟม หาว่ากระทงใบตองแห้งไม่สะอาด ไม่น่ากิน 

ความที่รู้จักกันมานาน เมื่อไปซื้อ นายเซี๊ยะจะรู้ใจเอาใส่กระทงใบตองแห้งมาให้ ไม่รู้ว่าตอนนี้ยังเก็บกระทงใบตองแห้งอยู่หรือเปล่า อีกอย่างที่ลังถึงทองเหลืองมันเก่ามาก บัดกรีซ่อมอยู่เรื่อยๆ นายเซี๊ยะอุตส่าห์ไปจ้างคนทำมาใหม่ ก็เพื่อรักษาลักษณะเดิมๆ มาเสียท่ากับกล่องโฟมที่ตามใจคนรุ่นใหม่นั่นแหละ

กระทงใบตองแห้งยังไม่สูญหายไปไหน ยังมีชาวบ้านที่สมุทรสงครามทำขาย จะเอาขนาดไหนมีหมด ถูก สวย คุ้มค่า สั่งซื้อทางออนไลน์ก็ได้ ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์จากใบตองไม่ว่าจะสดจะแห้งยังไม่ล้าสมัย ไม่ว่าจะถูกพลาสติกรุกรานขนาดไหน

ย้อนกลับไปดูหีบห่อธรรมชาติในอดีต ความรักษ์โลกที่มาก่อนกาล และกำลังวนกลับมาอีกครั้ง

ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่หรือเครื่องจักสานก็ยังมีอยู่ พวกกระบุง เข่ง กระจาด ตะกร้า กระด้ง ยิ่งกระด้งนั้น ถ้าจะตากปลาสลิด ปลาช่อนแห้ง ให้แห้งขึ้น ต้องใช้กระด้งอย่างเดียว เข่งปลาทูนึ่งยังใช้กันอยู่ 

ที่น่าประหลาดใจปนเหลือเชื่อเป็นตะกร้า ยิ่งเป็นชาวบ้านต่างจังหวัด เมื่อไปทำบุญที่วัด หรือทำบุญบ้านที่เจ้าภาพเชิญชวนเพื่อนบ้านมาใส่บาตรพระในงานด้วย ชาวบ้านจะเอาของใส่ตะกร้ามา เหมือนประกวด ประชันตะกร้ากัน ใครมีตะกร้าฝีมือสานสวย ละเอียด ใครชมก็หน้าบาน ใครถือตะกร้าพลาสติกไปจะเป็นตะกร้าปมด้อย บางที่มีคนลาวแท้ๆ อยู่ด้วย นุ่งผ้าซิ่นลาวถือตะกร้าจักสาน งามบุญแท้ๆ

เครื่องจักสานที่หลุดจากความนิยมไปก็เป็นชะลอม ที่หายสาบสูญไปเป็นกระชอนกรองน้ำกะทิ แถมยังฉุดผ้าขาวบางตามไปด้วย

ย้อนกลับไปดูหีบห่อธรรมชาติในอดีต ความรักษ์โลกที่มาก่อนกาล และกำลังวนกลับมาอีกครั้ง

นี่แค่ใบตองและเครื่องจักสานที่เห็นๆ เท่านั้น ตามภูมิภาคอื่นๆ ก็มี ที่เข้าใจเอาวัสดุจากธรรมชาติใกล้ตัวมาเป็นประโยชน์ ภาคเหนือใช้ใบตองตึงห่อข้าวเหนียว ห่อของกินที่เอาไปไหนต่อไหน ชาวอีสานใช้กระติ๊บไม้ไผ่ใส่ข้าวเหนียว เพราะอะไรใครๆ ก็รู้

ใบต้นอ้อยเอามาห่อน้ำตาลอ้อยก็มี หลายหมู่บ้านที่ตำบลจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ มีของดีชั้นเยี่ยมเป็นน้ำตาลอ้อย อาชีพพื้นเพของชาวตำบลนี้ จะแบ่งพื้นที่ทำนากับปลูกอ้อยทำน้ำตาลอ้อย ทำมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ อ้อยเป็นพันธุ์พื้นเมือง ลำผอมๆ แต่หวานจัด อ้อยแก่จัดพร้อมตัดเอาตอนหน้าหนาว การหีบน้ำอ้อยสมัยก่อน ใช้หีบไม้แล้วให้ควายเดินหมุนเป็นวงกลมฉุดให้หีบทำงาน เดี๋ยวนี้ใช้เครื่องหีบมอเตอร์หมุนแล้ว

เอาน้ำอ้อยมาเคี่ยวในกระทะ เชื้อไฟก็ใช้ท่อนอ้อยนั่นเอง น้ำอ้อยที่เคี่ยวจนงวดแล้วไปหยอดในพิมพ์ไม้ แห้งแล้วออกเป็นท่อนกลมๆ ใส่เข่งไม้ไผ่กรุด้วยใบอ้อยแห้งหลายชั้น ปิดฝาเรียบร้อยด้วยใบอ้อย ตอนนั้นจะมีพวกพ่อค้าคนกลางจากจังหวัดต่างๆ มากันคลั่ก พอเสร็จเมื่อไหร่ ยกขึ้นรถทันที เอากลับไปขายให้คนกลางมือสาม มือสี่ กลุ่มนี้เอามาใส่รถเข็นเดินเร่ขาย มากรุงเทพฯ ก็เยอะแยะ ใครอย่าไปเผลอถามว่าน้ำตาลมาจากไหน พวกเขาไม่รู้เพราะไปรับมาหลายทอด บางคนบุ้ยบ้ายไปตามเรื่อง ตัวเองมาจากโคราช ขอนแก่น มหาสารคาม ก็บอกว่ามาจากนั่น ก็จริงเขาพูดถูกว่า คนขายน้ำตาลมาจากไหน ก็ไม่ไปถามเองว่าน้ำตาลทำที่ไหน 

ย้อนกลับไปดูหีบห่อธรรมชาติในอดีต ความรักษ์โลกที่มาก่อนกาล และกำลังวนกลับมาอีกครั้ง

พอเดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ น้ำตาลอ้อยก็หมดจากจุมจัง เมื่อก่อนต้องคอยปีหน้า เดี๋ยวนี้สบายมาก คนกลางมือสองฉลาดไม่ขายส่งให้ใครอีกแล้ว แบ่งใส่ถุงพลาสติกขายออนไลน์ได้เงินมากกว่า 

ทางออนไลน์นั้น ไม่รู้ใครออกแบบที่เอาใบอ้อยแห้งมาห่อน้ำตาล มัดอย่างประณีตบรรจงเท่มาก ราคาขายนั้น คนซื้อไม่ลังเลเลย จะเอาไว้กินเองก็ดี เป็นของฝากก็เลิศ นั่นแสดงให้เห็นว่า ภายในก็ยอด ข้างนอกก็เยี่ยม การค้าขายก็ไปโลด ถ้าข้างในยอด ข้างนอกเป็นถุงพลาสติก ฉุดการขายไปเยอะ

ไหนๆ เป็นเรื่องน้ำตาลแล้ว ดูน้ำตาลของสทิงพระ สงขลา ที่เรียกว่าน้ำตาลแว่น เป็นน้ำตาลจากต้นตาลโตนด ใช้หลักการเดียวกันที่เคี่ยวน้ำตาลจนเหนียวแล้วหยอดในวงใบตาลกลมๆ แห้งสนิท น่าซื้อน่ากิน นี่ก็เหมือนกัน น้ำตาลโตนดบรรจุอยู่ในใบต้นตาลลงตัวเป๊ะ คนสมัยก่อนเขารู้จักคิด รู้จักทำ แล้วสมบูรณ์แบบ

พลาสติกนั้นถือว่าเป็นของดี มีทุกรูปแบบสำหรับใช้งาน เหมาะสมกับยุคปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว ซื้อหาง่าย ใช้สะดวกสบาย ราคาถูก 

ต่างจากของใช้ที่มาจากธรรมชาติ มีคุณค่าเพราะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น มาผ่านวิธีคิดของคนที่เอามาดัดแปลงใช้งานให้เหมาะสม เมื่อหมดการใช้งานก็ไม่เป็นภาระกับคน เรียกว่ามีคุณค่าตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง

ถึงจะดูคร่ำครึบ้าง แต่ในบางโอกาส บางเวลา บางสถานที่ เมื่อเอามาใช้เชื่อว่าดูดี มีคุณค่า ดูเป็นอดีตที่ไปสู่ความก้าวหน้าก็ได้

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ