ภาชนะที่ใช้ในร้านอาหารคนรุ่นใหม่หลายร้านในอุบลฯ เตะตาเราตั้งแต่แรกเห็น สีสันและผิวสัมผัสมีลักษณะเหมือนครก ในขณะเดียวกัน รูปทรงกลับแปลกใหม่ และแตกต่างกันไปในแต่ละใบอย่างกับงานศิลปะ

“นี่จานของลุงเปี๊ยก” เจ้าของร้านเหล่านั้นบอกเรา

ลุงเปี๊ยก-บวร พงษ์พีระ คือช่างทำครกดินมือหนึ่งและเป็นประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาปากห้วยวังนองของจังหวัดอุบลราชธานี เขาเป็นผู้สืบทอดองค์ความรู้จาก พ่อใหญ่สุวรรณ พ่อของเขาซึ่งเป็นคนนำอาชีพนี้เข้าสู่ตำบลปทุมมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 สมัยที่ชุมชนปากห้วยวังนองในตอนนั้นยังไม่มีอาชีพประจำชุมชน และคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ทำไร่ทำนา

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ

ลุงเปี๊ยกเป็นชายวัย 70 ที่ดูแข็งแรงมาก ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มใจดี เขาเล่าเรื่องความหลังอย่างสดใส และสาธิตวิธีการขึ้นรูปครกอย่างคล่องแคล่ว เขาและกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาปากห้วยวังนองเป็นคนทำครกดินที่ใช้กันทั่วภาคอีสาน กระจายไปที่ภาคกลาง ภาคใต้ และประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ 

ทุกวันนี้เขาทำครกเป็นงานหลัก และพยายามพัฒนาทักษะการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานรอง นอกจากครกดินที่ตั้งเรียงกันแล้ว บ้านของเขาก็เต็มไปด้วยภาชนะดินเผาหลายรูปแบบ ตั้งแต่ถ้วยชามไปจนถึงดริปเปอร์กาแฟ

เขาเล่าเรื่องราวการทำครกให้เราฟังแบบหมดเปลือกภายในเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ครกดินที่เห็นอยู่ในทุกร้านอาหารตั้งแต่ร้านรถเข็นไปจนถึงภัตตาคารห้าดาว เครื่องใช้ที่ใกล้ตัวจนบางครั้งเราก็มองข้ามทั้งตัวมันเองและผู้ทำที่อยู่เบื้องหลัง

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกดิน, ครกส้มตำ

ครกที่ 1

ถ้าจะเล่าชีวิตตั้งแต่ต้นของลุงเปี๊ยก คงต้องย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พ่อใหญ่สุวรรณเริ่มทำอาชีพช่างทำเครื่องปั้นดินเผาที่ตำบลปทุมแห่งนี้ พ่อใหญ่นำความรู้ติดตัวมาจากสมัยที่ใช้ชีวิตอยู่จังหวัดราชบุรีที่มีโอ่งมังกรเป็นของขึ้นชื่อ เขานำความรู้จากที่นั่นมาปรับใช้กับเครื่องใช้ในครัวเรือนของคนอีสาน อาทิ ไหใส่ปลาร้าและครกตำส้มตำ

“ผมเกิดมา พ่อก็ทำครกทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่แล้ว ผมก็เหมือนเด็กๆ พวกนี้แหละ” ลุงเปี๊ยกระลึกความหลังพลางชี้ไปที่หลานชายวัยกำลังซน “พอจับของเป็นก็ได้จับดินเลย อยู่กับดินมาตลอด พ่อเริ่มสอนให้ทำครกจริงๆ ตอนอายุประมาณสิบปีได้ ผมเป็นลูกคนโต พ่อเลยให้ถีบแป้นขึ้นรูปให้พ่อ สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าเลย ต้องถีบเอง ระหว่างนั้นแม่ก็ไปตลาด ไกลนะ พายเรือไปกว่าจะถึง”

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

พ่อใหญ่สุวรรณเป็นผู้นำอาชีพนี้เข้ามาที่ปากห้วยวังนอง ส่งต่อความรู้สอนคนรุ่นใหม่ จนหมู่บ้านนี้กลายเป็นหมู่บ้านที่มีเตาเผาเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 เตา ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีการปั้นที่พัฒนาโดยสองพ่อลูก

“พอไฟฟ้าเข้ามา เราก็เลยคิดเครื่องขึ้นรูปใหม่ โดยการให้โรงสีเป็นคนออกแบบ ทำเป็นแป้นขึ้นรูปไฟฟ้า รอบแรกได้ผล แต่มันเร็วไป สั่งหยุดไม่ได้ เราก็ต้องมาคิดวิธีการให้มันหยุด เด็กรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าสะดวกขึ้น จึงสนใจมาฝึกมาเรียนรู้งาน”

ในตอนนั้น ผู้สอนงานก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพ่อใหญ่สุวรรณและลุงเปี๊ยกในวัย 30 ปี เป็นคนหนุ่มแน่นไฟแรงที่อยากพัฒนาของดีในบ้านเกิดให้ดียิ่งขึ้น จากเด็กฝึกงานก็กลายเป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมที่แยกย้ายกันไปเปิดโรงงานเล็กๆ ของตัวเอง 

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

วิกฤตต้มยำกุ้ง

ขยับมาอีก 50 ปี ใน พ.ศ. 2540 ปีที่เปลี่ยนชีวิตหลายๆ คนไปอย่างรวดเร็ว จำนวนโรงงานเครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้านทยอยปิดตัวไปทีละแห่ง จากเตาเผาที่เคยมีมากสุดถึง 200 เตา ก็ลดฮวบจนเหลือหลักสิบต้นๆ ชาวบ้านเป็นหนี้ธนาคารจนต้องขายที่ดินและทรัพย์สิน แม้แต่ลุงเปี๊ยกเองก็หนีไปทำงานก่อสร้างให้วัดอยู่พักใหญ่ แต่วิกฤตนี้เหมือนโดมิโน พอเศรษฐกิจย่ำแย่ คนก็ไม่มีเงินบริจาค วัดก็ไม่มีเงินมาจ้างลุง

“ช่วงก่อนวิกฤตเราทำกระถางเยอะกว่าครกอีก เพราะคนหันมาปลูกต้นไม้ ต้นโป๊ยเซียนนิยมมาก เฟื่องฟ้านี่ฮิตที่สุดเลย แล้วก็มีพวกต้นว่าน ต้นไม้มงคลต่างๆ สมัยนั้นกระถางขายดี ดีกว่าครก ดีกว่าไห โชคดีที่ช่วงนั้นมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เข้ามาศึกษาเรื่องการล่มสลายของเครื่องปั้นดินเผาตำบลปทุม”

หลังจากนั้นลุงเปี๊ยกและคนปากห้วยวังนอง 50 ครัวเรือนได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลต่างๆ ลุงเปี๊ยกเล่าว่า คนไหนมีความรู้ก็สอนคนที่ไม่รู้ ส่วนทางมหาวิทยาลัยคอยแนะนำเกี่ยวกับเตาเผา การทดสอบคุณภาพดิน ดินแบบไหนเหมาะสำหรับทำครก ดินแบบไหนเหมาะสำหรับภาชนะอื่นๆ และสร้างศูนย์การเรียนรู้ประจำหมู่บ้านขึ้นมา

“ช่วงที่ทำกระถางเยอะๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรต่อ เรายังหาตัวเองไม่เจอ แต่พอได้รวมกลุ่ม เราก็ได้ไปศึกษาดูงาน ที่หนึ่งคือเกาะเกร็ด เขาปั้นครกเหมือนกัน แต่เป็นครกตีนช้าง คนละทรง ผมก็นึกถึงครกบ้านเราสมัยที่พ่อใหญ่เคยทำ เลยตัดสินใจกลับมาทำครกอย่างจริงจัง”

ครกตำแซ่บ

ครกดีต้องหนาและใหญ่

สูตรการทำครกโบราณของภาคอีสาน ปากครกต้องหนาหนึ่งนิ้ว ตูดก็หนา ทรงครกต้องมีลักษณะอูม เวลาตำจะมีเสียงกังวาน มันชวนกิน แค่ฟังเสียงเฉยๆ ก็คิดถึงส้มตำแล้ว ทำให้เราน้ำลายสอ”

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

พอตั้งใจทำครกอย่างจริงจังแล้ว ลุงเปี๊ยกนำสิ่งที่เคยเรียนรู้จากพ่อใหญ่มาผสานกับความรู้ใหม่ของมหาวิทยาลัย พัฒนาเตาเผาและระบบการทดสอบคุณสมบัติดินให้มีคุณภาพคงที่และสม่ำเสมอ จากที่มีอัตราการเสียครึ่งต่อครึ่ง แตกง่าย รูปร่างเบี้ยว คนซื้อกลับไปตำไม่กี่ทีก็ร้าว มาเป็นครกที่ลุงเปี๊ยกเรียกเองคนเดียวว่า ‘ครกตำแซ่บ’

ถ้ามีคนตำส้มตำด้วยครก 2 ลูก ลุงเปี๊ยกจะแยกออกไหมว่าลูกไหนเป็นของตัวเอง-เราสงสัย

“แยกออกสิ” เขาตอบโดยไม่ต้องคิด “เสียงครกจะต่างกันเลย ของคนอื่นไม่มีเสียงกังวาน ถามว่าตำแซ่บเหมือนกันไหม ได้เหมือนกันแหละ ขึ้นอยู่กับคนตำ แต่ของเราเสียงน่ากินกว่า เวลาใช้ช้อนหรือตะหลิวขูดมันจะมีเสียงส่าๆ เพราะทรงมันอุ้ม ใส่หอม ใส่พริกกระเทียมต่างๆ เข้าไปยิ่งหอม ยิ่งน้ำลายสอ เห็นแม่ค้าเขาตำไหม เขาจะขูด จะตัก จะช้อน เวลาตำนี่วัตุดิบจะพลิกตัวเองโดยไม่ต้องใช้ตะหลิวตัก ส่วนครกที่รูปทรงชันๆ ต้องใช้ตะหลิวคอยตักขึ้น กลิ่นก็ออกหายหมด มันไม่คลุ้ง”

แต่กว่าจะได้ครกแบบนี้ ลุงเปี๊ยกผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายรูปแบบ เรื่องใหญ่ที่สุดคือความสัมพันธ์ของอุณหภูมิและประเภทดิน 

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

“เรามีการเทสต์ดิน ดูว่าปั้นเสร็จไปตากแดดแล้วเป็นไง แล้วค่อยลองไปเผาดูว่าอุณหภูมิในการขึ้นไฟคือเท่าไหร่ เพราะดินบางตัวเผาที่อุณหภูมิ 1,150 องศา ก็ดำแล้ว ถ้าเผาเกิน 1,200 องศาจะเบี้ยว ดินที่แก่ไฟหรือกระด้างไฟ เผาที่ 1,200 – 1,300 องศายังเฉยอยู่ ไม่ดำก็มี เราต้องหาอุณหภูมิที่เหมาะกับดินที่มี เมื่อก่อนต้องเผาให้ดำเมี่ยมเลยนะ แต่มันแตกง่าย ตอนนี้รู้แล้วว่าสีน้ำตาลอมแดงกำลังพอดี”

ดินของครกปากห้วยวังนองไม่ต้องนำมาผสมเหมือนดินจากที่อื่น ขุดขึ้นมาแช่น้ำก็ใช้งานได้เลย เนื่องจากว่าเป็นดินปลายน้ำที่ไหลมาจากหลายจังหวัดตั้งแต่โคราช ขอนแก่น ผ่านมหาสารคราม ผสมผสานกันจนมาตกตะกอนที่นี่ ดินที่ได้จึงมีทั้งแร่เหล็ก แร่ถ่านภูเขาไฟ ทราย และถ้าสังเกตดีๆ จะมีวัชพืชและรากไม้ปะปนมาด้วย 

ชมลม กินดิน

แม้งานวิจัยจะช่วยพัฒนาฝีมือของลุงเปี๊ยกและคนทำครกคนอื่นๆ ในกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาปากห้วยวังนอง แต่ทักษะหนึ่งที่ส่งต่อมาตั้งแต่สมัยพ่อใหญ่สุวรรณ คือการวิเคราะห์ดินแต่ละประเภทว่าเหมาะกับการปั้นอะไร วิธีการคือการชิมดิน

ใช่แล้ว-คุณอ่านไม่ผิด

ดินตัวไหนชิมแล้วมีทรายเยอะ นำมาปั้นครกได้ดี ดินตัวไหนมันๆ เหนียวๆ ไม่มีทรายปะปน นำมาปั้นไหจะไม่ซึมน้ำ เพราะคนอีสานหมักปลาร้ากันทีนานเป็นปี

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

“คนโบราณชอบกินดิน โดยเฉพาะผู้หญิง กินเปล่าๆ มันไม่มีเชื้อโรค ไม่มีสารเคมีตกค้างเหมือนทุกวันนี้ รสชาติจะมันๆ เปรี้ยวๆ ดินบางที่รสเค็มๆ ดินที่มีรสส้มๆ ส่าๆ คือมีทรายเยอะ มันแตกต่างกัน แต่ก่อนระบบน้ำไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้ จะอาบน้ำทีต้องไปท่ามูล ตอนเล่นน้ำก็แกะดินชิมด้วย

“สมัยก่อนเวลาเป็นเด็กผมเป็นคนติดดินนะ ติดดินก็คือกินดินจนติด” ลุงเปี๊ยกแซวตัวเองด้วยเสียงหัวเราะ

เรื่องของครก

วัฒนธรรมโบราณของคนในภาคอีสาน คือการให้ครกเป็นของขวัญเวลาลูกหลานออกบ้านออกเรือน เป็นมรดกของแม่ที่ส่งต่อให้ลูก บางบ้านให้หม้อนึ่งเป็นของขวัญ โดยเชื่อกันว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงในครอบครัว และจะได้คิดถึงแม่ด้วย

“พวกไห พวกกะละมัง มันค่อยๆ หมดความนิยมไป คนเปลี่ยนไปใช้พลาสติก บางคนใช้โอ่งมังกรแทน แต่ครกยังอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมการกินของคนอีสานที่กระจายไปทั่วประเทศ อย่างวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมาก็นึกว่าจะทำให้เราแย่ลง แต่กลายเป็นว่าคนซื้อครกจนหมดเกลี้ยงเพราะฝึกทำอาหาร มันไม่เหมือนตอนปีสี่ศูนย์”

มองไปรอบๆ บ้านลุงเปี๊ยก มีครกตั้งเรียงรายอย่างสวยงามนับร้อยลูก ขนาดปากครกมองจากมุมสูงมีขนาดเท่ากันทุกใบจนนึกว่าใช้เครื่องจักรปั้น แต่กลับไม่มีสากสักอัน

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

“เราไม่มีสากขายนะ” ลุงเปี๊ยกหัวเราะ “เมื่อก่อนก็ไม่มีสาก ไม้อะไรก็ตำได้ แต่ทุกวันนี้เวลาขายครกต้องมีสาก เขาใช้ไม้ยูคาลิปตัสทำ ซึ่งก็ดีเพราะมันสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้มีงานทำ พ่อค้าคนกลางจะซื้อครกจากเราแล้วไปหาสากจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง แล้วก็จับคู่กัน

“ที่คนซื้อครกซื้อสากใหม่บ่อยๆ เพราะรักษาไม่เป็น เหม็นก้นครก กลิ่นจะติด เพราะไม่ได้ล้าง ธรรมดาการรักษาครก ตำเสร็จแล้วต้องล้างเลย ถ้าจะตำต่อ ล้างเสร็จก็เอาไปคว่ำหน้าไฟให้แห้งสนิทก่อน สากก็เหมือนกัน อังไฟให้แห้ง คนไม่รู้ ตำเสร็จชอบเอาแช่น้ำทิ้งไว้ พอครกเหม็นก็ซื้อใหม่ ทั้งๆ ที่มันใช้งานได้นานกว่านั้น”

สีสันที่แตกต่างกันของครก บางลูกเข้มดำ บางลูกสีน้ำตาลแดง ลุงเปี๊ยกบอกว่าขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่วางครกในเตาว่าอยู่หน้าหรืออยู่หลัง และข้อดีข้อหนึ่งของครกดินที่ใครก็คงปฏิเสธไม่ได้ คือมันไม่หาย

“บางคนชอบครกหิน ครกหินคือครกอ่างศิลา พกพาไปไหนยาก ยกยาก ถ้าดีๆ ใบละสองสามพันบาท ยกไปตำที่นาก็ไม่ได้ ใช้เสร็จแล้วก็ต้องรีบเก็บ มันหาย มันแพง แต่ครกเราพกพาได้ แล้วก็ตำได้เหมือนกัน ไอ้ของเราไปวางอยู่ไร่ยางพาราไม่มีหาย” 

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

ครกลุงเปี๊ยก

รายได้ส่วนใหญ่ของลุงเปี๊ยกและชุมชนปากห้วยวังนองมาจากการขายครกให้พ่อค้าคนกลาง ราคาขายส่งต่อใบมีตั้งแต่ 7 บาท 10 บาท ถึง 17 บาท แล้วแต่ขนาด ซึ่งดูเหมือนจะถูกเกินไปเมื่อเทียบกับฝีมือ ความพิถีพิถัน และการเอาใจใส่ที่ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก

“ราคาเป็นอย่างนี้มานานมากแล้ว เตาหนึ่งทำครกได้สามพันกว่าใบ ได้เงินประมาณสามสี่หมื่นบาท ถ้านับทั้งหมู่บ้านเดือนหนึ่งก็น่าจะประมาณสองถึงสามหมื่นลูกที่ขายออกไป เราส่งให้พ่อค้าคนกลางที่จะกระจายครกไปทั่วประเทศ อีสานนี่เป็นของเราหมด มีเข้ากรุงเทพฯ ลงใต้ คนอิสลามก็ชอบครกบ้านเรา เขาใช้ตำเครื่องแกง หรือประเทศเพื่อนบ้านก็มีส่งไปมาเลเซีย ไปเมียนมา อย่างเมียนมาเขากินแบบเราเลย ส้มตำ ส้มอะไรเขาก็ทำแบบเรา โดยมากจะเป็นพวกชาวไร่ ครกมันเลยเป็นสื่อกลางทางวัฒนธรรมไป เผลอๆ ข้ามวัฒนธรรมด้วยซ้ำ”

เพราะเม็ดเงินที่ไม่มากเมื่อเทียบกับเวลาและความคุ้มค่า ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจจะรับช่วงต่อ ลูกๆ ของลุงเปี๊ยกเองก็เลือกที่จะทำอาชีพอย่างอื่น ลุงเปี๊ยกในฐานะผู้สร้างทุกอย่างขึ้นมา จึงต้องคิดหาวิธีใหม่ในการส่งต่อภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มี

“จริงๆ ก็เหมือนชาวนา พ่อทำนา ลูกไม่ทำ มีแต่จะแบ่งนาขาย ถ้าเรายังทำซ้ำๆ แบบเดิมๆ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มาทำหรอก ผมถึงอยากพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของเราให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เราอยากให้มีการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถ้าเรามีการท่องเที่ยวเข้ามาดีๆ เราก็ไม่ต้องง้อพ่อค้าคนกลาง และราคาขายที่ได้อาจจะเพิ่มขึ้น จนทำให้ลูกหลานอยากทำมันต่อไป”

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

ความสุข

ลุงเปี๊ยกเปิดยูทูปเล่าเรื่องครอบครัวที่ชวนลูกมาปั้นเครื่องปั้นดินเผาในช่วงวิกฤต COVID-19 ให้เราดู เขาเป็นคนวัย 70 ที่ทันสมัย ผู้ชอบศึกษางานจากประเทศอื่นๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นคนทำงานช่างที่พยายามพัฒนางานของตัวเองให้เป็นศิลปะมากขึ้น

“ผมพยายามดูจากเกาหลี จากญี่ปุ่น สไตล์เครื่องปั้นดินเผาของเขาเป็นงานอาร์ต คนเห็นคุณค่า เราเลยอยากให้คนเห็นคุณค่าดินบ้านเราบ้าง เราไม่อยากเปรียบเทียบดินบ้านเรากับของคนอื่น เพราะเรารู้ว่าคุณค่าของเรามีดีที่ตรงไหน ก็เลยพยายามพัฒนาทักษะตัวเอง ลองเอาความรู้ที่มีไปทำอย่างอื่นนอกจากครก ทำจาน ทำถ้วย ทำแก้ว มีคนให้ทำชุดกาแฟดริปด้วย”

ความสุขของลุงเปี๊ยกเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สังเกตได้ไม่ยากจากแววตา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ความสุขของเขาคือการได้ทำงานและมีคนยอมรับ ทำให้เขาได้ทำงานที่รักต่อไปเรื่อยๆ

ลุงเปี๊ยก บวร พงษ์พีระ ช่างครกดินโบราณแห่งอุบลผู้ปั้นครกที่คนทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ตำ, ครกส้มตำ

ใครสนใจอยากตามไปอุดหนุนหรือเรียนวิชาทำครกและเครื่องปั้นดินเผากับลุงเปี๊ยก ติดต่อได้ที่ศูนย์เรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาปากห้วยวังนอง 381 หมู่ 11 ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08 7459 0841

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล