เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือและคุ้นเคยมานานปีท่านหนึ่ง คืออดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ ตามประวัติท่านเรียนมาทางด้านจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วไปเรียนต่อที่ประเทศอิตาลี มีความรู้โดยเฉพาะในเรื่องการทำฉากละครเป็นอย่างดี แล้วจึงกลับมารับราชการอยู่ที่กรมศิลปากร จนได้เป็นผู้อำนวยการสำนักการสังคีตและอธิบดีกรมศิลปากรตามลำดับ จากนั้นท่านมีหน้าที่ราชการก้าวหน้าขึ้น และได้เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการในที่สุด ได้ฝากฝีมือไว้ในราชการที่ท่านรับผิดชอบเป็นอันมาก

สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
ภาพ : www.archives.su.ac.th/senior/sen36/Thawisak.pdf
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
ภาพ : www.thairath.co.th/lifestyle/woman/313678

ระหว่างนั่งรอเวลาพระราชทานเพลิงอยู่นั้น ผมได้สนทนากับหลานอาของท่านคนหนึ่ง ซึ่งคุณคนที่ว่านี้เป็นหลานยายโดยตรงของ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี บรมครูในเรื่องนาฏยศิลป์ของประเทศไทยด้วย 

สรุปความโดยย่อว่า ท่านผู้วายชนม์กับท่านผู้หญิงแผ้วเป็นญาติเกี่ยวดองกัน ผมได้ทราบว่าเมื่อครั้งที่ท่านไปรับราชการที่กองการสังคีต ซึ่งท่านผู้หญิงแผ้วเป็นบรมครูอยู่นั้น ท่านได้ออกแบบฉากโขนในโรงละครแห่งชาติ มีฉากตอนหน้าและตอนหลังซ้อนกันอยู่ โดยใช้ฉากตอนหน้าเป็นเรื่องราวขณะที่ตัวละครเอกกำลังนอนหลับฝันไป แล้วมีความฝันปรากฏขึ้นที่ฉากตอนหลัง คนดูแลเห็นความฝันอยู่ไกลๆ และเลือนลาง เป็นที่สมความปรารถนาของท่านผู้หญิงแผ้วเป็นอย่างยิ่ง เรื่องเล่านี้ผู้เล่าได้ฟังมาจากถ้อยคำของท่านผู้หญิงแผ้วเองโดยตรง

ประกายความคิดจากเรื่องนี้ ทำให้ผมกลับมารื้อค้นบ้านของผม และพบสูจิบัตรการแสดงจำนวนหลายเล่มที่เก็บไว้แต่เก่าก่อน เล่มเก่าที่สุดย้อนหลังขึ้นไปได้จนถึงพุทธศักราช 2511 เป็นการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ชุดปล่อยม้าอุปการ ผู้ควบคุมและฝึกหัดนาฏศิลปิน คือ ท่านผู้หญิงแผ้วฯ ขณะที่ผู้ออกแบบและสร้างสรรค์คือ นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ ตรงกันกับยุคสมัยที่เรากำลังพูดถึงพอดี

เรื่องการเล่นโขนเล่นละครในโรงละคร ที่สร้างขึ้นเพื่อการแสดงโดยเฉพาะนี้ เป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทยนะครับ แต่คำว่า ‘ใหม่’ ที่ว่าในที่นี้ มิได้หมายความว่าใหม่สดๆ ร้อนๆ แต่ใหม่อยู่ในราวรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือประมาณ 150 ปีหรืออะไรประมาณนั้น 

ความเดิมมีอยู่ว่า แต่ไหนแต่ไรมาการแสดงโขนและละครของเรามักเป็นการแสดงในที่แจ้ง หรือแม้แสดงในอาคาร ก็มิได้เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อการแสดงโดยเฉพาะ เรื่องการมีไฟส่องสว่างเฉพาะตำแหน่งก็ดี การมีฉากประกอบการแสดงก็ดี ดูจะเป็นเรื่องไกลจากความคุ้นเคยของเรา ไม่ต้องดูอื่นไกล ลองนึกถึงการแสดงหนังใหญ่หรือหนังตะลุงดูก็ได้

การแสดงมหรสพของเราในอดีตส่วนใหญ่เป็นการแสดงกลางแจ้ง จากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่างๆ เวลามีพิธีสำคัญและมีมหรสพสมโภชเฉลิมฉลอง ก็ปรากฏเพียงภาพการปลูกลงชั่วคราวขึ้นกลางแจ้ง แล้วชาวบ้านก็นั่งดูอยู่ที่สนามหน้าโรงชั่วคราวนั้นเอง วงดนตรีก็ตั้งวงเล่นอยู่ข้างๆ ส่งเสียงดังกึกก้องครึกครื้นกันไป ตามที่เคยปฏิบัติกันมาแต่ไหนแต่ไร

ถ้าผมเข้าใจไม่เคลื่อนคลาด โรงละครที่ปลูกขึ้นเพื่อการแสดงโดยเฉพาะน่าจะมีขึ้นในรัชกาลที่ 5 และเป็นโรงละครของเอกชน แต่เอกชนที่ว่าไม่ใช่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป หากแต่ผมหมายถึง เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ได้สร้างโรงละครขึ้นที่บ้านของท่านใกล้กันกับปากคลองตลาด เพื่อจัดการแสดงที่ท่านปรุงขึ้นใหม่ โดยได้ต้นทางความคิดมาจากละครโอเปร่าของฝรั่ง 

กล่าวคือ ผู้แสดงเป็นตัวละคร นอกจากทำหน้าที่ร่ายรำแล้ว ยังเป็นผู้ร้องเพลงดำเนินเนื้อเรื่องด้วย คู่คิดคนสำคัญของท่านในการจัดการแสดงที่ในที่สุดแล้วคนเลยเรียกว่า ‘ละครดึกดำบรรพ์’ ตามชื่อของโรงละคร คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กำหนดอายุโรงละครที่ว่านี้อยู่ประมาณพุทธศักราช 2442 และได้เคยแสดงหน้าที่นั่งรับเสด็จเจ้าชายเฮนรี่ พระราชอนุชาสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ซึ่งเสด็จเข้ามาเป็นพระราชอาคันตุกะในปีเดียวกันนั้น

โรงละครที่มีชื่อเสียงและมีกำเนิดขึ้นในยุคไล่เลี่ยกันยังมีอีก 2 โรง โรงหนึ่งคือ ‘โรงละครคณะละครบุศย์มหินทร์’ ที่มีชื่อเรียกแปลกถึงเพียงนี้ เพราะเจ้าของโรงละครหรือคณะละครชื่อ นายบุศย์ เป็นลูกชายของ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ราชเสวก คนสนิทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช 

สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
ภาพ : www.reurnthai.com

ส่วนอีกโรงหนึ่งคือ ‘โรงละครปรีดาลัย’ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โรงหลังนี้มีแฟนคลับจำนวนมาก ผลงานที่ขึ้นชื่อเรื่องหรือมากคือเรื่อง สาวเครือฟ้า ซึ่งดัดแปลงมาจากอุปรากรเรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย ของฝรั่งนั่นเอง

ที่เล่ามาถึงเพียงนี้คงเห็นแล้วนะครับว่า โรงละครที่ปลูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการแสดงโดยเฉพาะ แม้ได้รับความนิยมมากเพียงใด แต่ก็ยังไม่เคยมีโรงละครของหลวงเกิดขึ้นเป็นของทางราชการเอง จนล่วงเข้ารัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเกิดมีโรงละครของหลวงขึ้น ได้แก่ ‘โรงละครหลวงสวนมิสกวัน’ (เมื่อตอนแรกสร้างเรียกว่าโรงโขนหลวงสวนมิสกวัน) ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ตรงกองทัพภาคที่ 1 หันหลังชนกันกับวัดเบญจมบพิตรฯ ใกล้กันกับพระลานพระราชวังดุสิต ว่ากันว่าภายในโรงละครตกแต่งอย่างงดงามสมกับฐานะความเป็นโรงละครหลวงเป็นอย่างยิ่ง 

โรงละครหลวงนี้ได้รับราชการอยู่ช้านานตลอดรัชกาลที่ 6 และเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ผมเดาว่าโรงละครที่แม่พลอย ตัวเอกในหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดิน ไปชมละครพูดบทพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็คงจะเป็นที่โรงละครนี้นี่เอง จนช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ความสนใจในเรื่องมหรสพที่เป็นของหลวงลดน้อยถอยลง โรงละครหลวงสวนมิสกวันมิได้รับการดูแลเอาใจใส่และใช้ประโยชน์อย่างเดิม จึงชำรุดทรุดโทรมและต้องรื้อลงในที่สุด

สมควรกล่าวด้วยว่า ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโรงมหรสพหลวงเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความตั้งใจหลักที่จะเป็นโรงฉายภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ที่รับความนิยมในยุคนั้น นั่นคือโรงภาพยนตร์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ซึ่งสร้างขึ้นในคราวฉลองพระนคร 150 ปี เมื่อพุทธศักราช 2475 ยุคนั้นเป็นที่ฮือฮาตื่นเต้นกันมาก เพราะเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีเครื่องปรับอากาศหรือแอร์คอนดิชั่นเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ในภายหลัง ศาลาเฉลิมกรุงได้ทำหน้าที่เป็นโรงละครสำหรับการแสดงละครร้องและละครเวทีอีกหลายเรื่อง ที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากคือละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ออกแสดงเมื่อพุทธศักราช 2488 พระเอกชื่อ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ส่วนนางเอกที่ตามท้องเรื่องมีชื่อว่า นวล แสดงโดย สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เพลงประกอบเรื่องที่ยังได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ คือเพลง น้ำตาแสงใต้

เล่าแถมไว้ตรงนี้สักนิดหนึ่งว่า การสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ตามตำนานที่มีมาเก่าก่อนก็เห็นมีอยู่ แต่ถ้าในศาลพันท้ายนรสิงห์นั้นจะมีรูปย่านวลอยู่คู่กันบ้าง แบบนี้ต้องเฉลยว่า นวลนั้นเป็นตัวละครที่ผู้ประพันธ์ละครร้องเรื่องดังกล่าว คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงจินตนาการและผูกเรื่องขึ้น แบบนี้ห้ามทำเด็ดขาดนะครับ เชยแสนเชยไม่รู้ด้วย

กลับมาพูดถึงเรื่องโรงละครของหลวงต่อครับ อย่างที่เล่าแล้วว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน โรงละครหลวงสวนมิสกวันก็ถูกรื้อลง กิจการมหรสพของหลวงตกไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมศิลปากร เมื่อมีคณะโขนมีคณะละครแล้วไม่มีเวทีแสดงก็เปลี่ยวใจครับ กรมศิลปากรเองก็ไม่มีงบประมาณอะไรมากมาย ได้แต่เพียงแค่ปรับปรุงอาคารที่ใช้เป็นหอประชุมของกรมศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ทุกวันนี้ทำหน้าที่เป็นโรงละครกรมศิลปากร

ตำแหน่งโรงละครที่ว่านี้ อย่าไปสับสนกับโรงละครแห่งชาติปัจจุบันนะครับ โรงละครที่ว่านี้เป็นอาคารไม้ หลังคามุงสังกะสี ตั้งอยู่ชิดกันกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ตรงตำแหน่งที่เป็นที่ตั้งของอาคารที่มีห้องประชุมดำรงราชานุภาพ ซึ่งผมเคยได้รับเชิญไปพูดนู่นพูดนี่อยู่บ่อยๆ นั่นแหละ ตั้งอยู่ชิดไปทางรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมไม่ทันได้ดูโขนละครที่โรงละครแห่งนี้ เคยเห็นแต่ภาพครับ ผู้ที่ทันยุคสมัยบอกว่า เวลาฤดูฝน ฝนตกหนัก เสียงฝนตกใส่หลังคาสังกะสีดังกราวใหญ่ สลับกับเสียงดนตรีปี่พาทย์ต่างๆ เป็นความบันเทิงแบบไทยๆ ครับ 

จากรูปภาพที่ผมเคยเห็น ฝาผนังโรงละครนี้ประดับด้วยหนังใหญ่ชุดสำคัญของเมืองไทย มีชื่อว่าหนังพระนครไหว สร้างขึ้นในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นที่สวยงามตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายยิ่งที่ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2503 ใกล้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงละครกรมศิลปากรหลังนี้ เพลิงไหม้จนสูญสิ้นทั้งอาคาร หนังพระนครไหวจำนวนไม่น้อยสูญสลายไปในกองเพลิง ขนย้ายหนีไฟมาได้เพียงจำนวนหนึ่ง และจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครจนทุกวันนี้

คราวนี้ก็เดือดร้อนสิครับว่า ประเทศไทยไม่มีโรงละครหลวงเหลืออยู่เลย ท่านที่เคยเดินทางไปต่างประเทศย่อมเคยสังเกตเห็นนะครับว่า ชาติเก่าแก่ที่มีอารยธรรมทั้งหลาย จะต้องมีโรงละครหรือโรงโอเปร่าเป็นศรีสง่าประดับบ้านเมือง เมื่อมีแขกเมืองมา ก็ต้องจัดการแสดงที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติให้แขกเมืองได้รับชม 

ในเวลาใกล้เคียงกันนั่นเอง เป็นช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าพระประมุขและประมุขจากต่างประเทศจะต้องมาเยือนประเทศไทยเราบ้างเป็นการตอบแทน ความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงละครของหลวงหรือโรงละครที่เป็นหลักฐานของบ้านเมืองขึ้นสักแห่งหนึ่งจึงปรากฏขึ้นชัดเจน 

หลังจากประชุมปรึกษาหารือกันหลายรอบ ก็ตกลงได้สถานที่ตรงตำแหน่งที่เป็นโรงละครแห่งชาติทุกวันนี้ บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม และอยู่ในปกครองดูแลของทางราชการมาโดยตลอด ไม่ต้องซื้อหาจากใคร คงใช้งบประมาณแผ่นดินแต่เพียงเรื่องของการสร้างอาคารขึ้นเท่านั้น

การสร้างโรงละครแห่งชาตินี้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงปีพุทธศักราช 2504 จนถึง 2508 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 41 ล้านบาท ระหว่างการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อนได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินการเมื่อวันที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2507 กับทั้งได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบางประการ เพื่อให้โรงละครแห่งนี้สามารถใช้งานรับแขกบ้านแขกเมืองได้สมความมุ่งหมาย 

เมื่อโรงละครสร้างเสร็จและมีพิธีเปิดในช่วงกลางวัน วันที่ 23 ธันวาคมพุทธศักราช 2508 โดยนายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธานในพิธีแล้ว เวลาค่ำวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ไทยที่โรงละครแห่งนี้เป็นปฐมฤกษ์ และในเวลาต่อมา เมื่อมีพระราชอาคันตุกะมาเยือนประเทศไทย หลายพระองค์หลายท่านก็ได้มาทอดพระเนตร และชมการแสดงทางวัฒนธรรมที่โรงละครแห่งชาตินี้อยู่เป็นประจำ

สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า

นอกจากหน้าที่รับแขกบ้านแขกเมืองแล้ว โรงละครแห่งชาติแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่นำความบันเทิงเริงใจและความรู้ต่างๆ มาสู่ประชาชนชาวไทยของเราเองด้วย ผมเองก็เป็นแฟนคลับประจำของโรงละครแห่งชาตินี้มาตั้งแต่เด็กครับ เฉพาะสูจิบัตรที่เก็บงำเอาไว้ได้อยู่ในคลังของตัวเองก็มี 4 ฉบับด้วยกัน เป็นสูจิบัตรการแสดงโขน 2 ชุด คือ ชุดปล่อยม้าอุปการ แสดงเมื่อพุทธศักราช 2511 ที่ว่ามาแล้วข้างต้นเล่มหนึ่ง และ ชุดพาลีสอนน้อง แสดงเมื่อพุทธศักราช 2517 อีกเล่มหนึ่ง ส่วนอีก 2 เล่มเป็นสูจิบัตรละครเรื่อง ศรีธรรมาโศกราช และเรื่อง ศึกเก้าทัพ ตามลำดับ 

สูจิบัตรแต่ละเล่มอายุไม่น้อยกว่า 40 – 50 ปีทั้งนั้นครับ ราคาบัตรเข้าชมการแสดงสมัยผมเป็น ‘เยาวรุ่น’ นั้น แบ่งเป็น 3 ราคา ตามระยะใกล้ไกลกับเวที คือราคา 10 บาท 20 บาท และ 30 บาท

ฐานานุรูปของผมเวลานั้นดูราคาอื่นไม่ได้แน่นอน ต้อง 10 บาทอย่างเดียวเท่านั้น ฮา!

สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า
สืบประวัติโรงละครแห่งชาติ ธรรมเนียมการสร้างโรงมหรสพที่ได้แรงบันดาลใจจากโรงโอเปร่า

ทุกวันนี้โรงละครแห่งชาติที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ก็ยังคงเป็นมหรสพสถานที่ให้บริการความบันเทิงแก่ประชาชน และรับราชการในโอกาสสำคัญหลายวาระต่อเนื่อง บางยุคสมัย แฟนคลับต้องแย่งชิงกันซื้อตั๋วเข้าชมการแสดงเป็นสามารถเชียวนะครับ พ่อยกแม่ยกมากันพร้อมหน้า ทั้งหมดเหล่านี้เป็นความทรงจำอันงดงามและพิมพ์ใจคนจำนวนมาก

วันหลังเรานัดกันไปดูโขนดูละครที่โรงละครแห่งชาติด้วยกันนะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธงทอง จันทรางศุ

คนวัยเกษียณจากอาชีพครูและการทำราชการหลายกระทรวง ผู้รักการอ่านและงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ใช้เวลาทุกวันคืนอยู่กับหนังสือ ของกระจุกกระจิก และสมบัติพระศุลีทั้งปวง