“ไตรรงค์ธงไทย ปลิวไสวสวยงามสง่า สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวศาสนา สีน้ำเงินหมายว่าพระมหากษัตริย์ไทย” – เพลง ไตรรงค์ธงไทย (ไม่ปรากฏชื่อผู้ประพันธ์)

ไม่ว่าคุณจะอยู่แห่งหนไหน หากเกิดและโตบนผืนแผ่นดินไทย เราเชื่อว่าโรงเรียนแห่งแรกของคุณน่าจะเคยสอนให้ท่องเนื้อความทำนองดังกล่าว ตั้งแต่คุณยังอ่านคำร้องข้างต้นไม่ออกด้วยซ้ำ

น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ท่องจำจนเข้าใจแค่ความหมาย แต่กลับไม่ทราบที่มาของริ้วสีทั้ง 3 บนแถบทั้ง 5 ของผืนผ้าที่โบกสะบัดอยู่ทุกสารทิศในประเทศนี้ ตั้งแต่หน้าบ้านคน บนเสาธงสถานศึกษา ตามบริษัทห้างร้าน ยันสนามกีฬาที่ตัวแทนของชาติร่วมลงแข่ง

พฤฒิพล ประชุมผล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ พฤฒิพล ประชุมผล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย เมื่อตอนที่เขาบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นความสนใจในธงไตรรงค์ของพฤฒิพลนับหนึ่งด้วยคำถามทิ่มกระดองใจของมิตรรักชาวต่างชาติที่ฉุกใจอยากรู้เรื่อง Flag of Thailand เลยนำความมาถามเพื่อนเกลอชาวไทยเช่นเขา

“ผมไปเรียนปริญญาโท เพื่อนฝรั่งก็ถามผมว่าทำไมธงชาติไทยของเรามี 3 สี ผมก็ตอบตามที่เรียนมาว่า เพราะเรามี 3 สถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เขาบอกว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้ถามถึงความหมาย เขาถามถึงที่มาว่าทำไมถึงเป็น 3 สีนี้ ทำไมไม่เป็น 3 สีอื่น”

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

นักศึกษาหนุ่มชาวสยามประเทศถึงกับหน้าม้าน เขาไม่รู้จะตอบเพื่อนอย่างไร

“ตอนนั้นเราก็อายมากเลยที่เราตอบไม่ได้ เหมือนเราไปถามคนอเมริกันว่า ทำไมธงชาติของยูมีดาว 50 ดวง ถ้าเขาตอบไม่ได้ เขาก็ไม่น่าจะเป็นคนอเมริกันใช่มั้ย ผมก็รู้สึกว่าผมไม่น่าจะเป็นคนไทยได้เลย”

ความอัปยศอดสูนั้นพฤฒิพลจดจำขึ้นใจ ก่อนจะเปลี่ยนมันเป็นแรงฮึดเฮือกสำคัญในการศึกษาและสะสมทุก ๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับธงชาติไทย ทั้งสืบค้นเอกสารเก่าในหอสมุดแห่งชาติ หมุนไมโครฟิล์มดูภาพเก่า ทำทุกวิถีทางเพื่อสลายความคาใจที่ตนมีต่อสัญลักษณ์ของชาติไทยชนิดนี้ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้รอบรู้เรื่องธงชาติมากที่สุดคนหนึ่งใต้น่านฟ้าเมืองไทย

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

รวมระยะเวลากว่าครึ่งชีวิตที่อุทิศให้กับธงประจำชาติ พฤฒิพลค้นพบว่าเพื่อนร่วมชาติของเราอีกมหาศาลยังขาดความเข้าใจเรื่องธงไทยอย่างถ่องแท้ คนทั่วไปจนถึงครูบาอาจารย์ส่วนมากอาศัยการท่องจำตาม ๆ กันมา ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและผิดมหันต์จากความเป็นจริง

28 กันยายน พ.ศ. 2565 ในวาระที่ธงไตรรงค์ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 105 ปี เราจึงบุกไปถึงพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย ซอยลาดพร้าว 43 เพื่อทบทวนความรู้และความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับธงของชาติ รวมทั้งรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่มีวันหาได้จากตำราเรียนเล่มไหน ๆ !

ก่อนมีธงชาติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความของ ‘ธงชาติ’ ไว้ว่า “น. ธงที่มีความหมายถึงประเทศและชาติใดชาติหนึ่ง”

ต้นกำเนิดของธงชาติผืนแรกมีที่มาจากอะไร นักวิชาการยังไม่พบหลักฐานมายืนยันได้แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่ามีมาพร้อม ๆ กับที่มนุษย์เริ่มรู้จักการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และจัดทัพเข้าโรมรันกัน สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงคนฝ่ายเดียวกัน และสร้างความแตกต่างจากฝ่ายตรงข้ามจึงได้รับการคิดค้นขึ้นเพื่อการสงครามเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะกลายเป็นสื่อแทนชาติและคนในชาติทั้งหมด

แหล่งอารยธรรมโบราณมากมายได้ปรากฏหลักฐานว่า มีการใช้ผืนผ้าแสดงสัญลักษณ์แทนกองทัพของฝ่ายตนมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ โรมัน หรือจีนโบราณ ส่วนธงที่แสดงความเป็นชาติสยามเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ เพราะธรรมเนียมการใช้ ‘ธง’ และความเป็น ‘ชาติ’ ล้วนถือกำเนิดในความรับรู้ของชาวสยามในอดีตหลังจากนั้นอีกนานแสนนาน

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

“ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง พ.ศ. 2475 บริบทของความเป็นชาติคือพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญก็ไม่มี เรามีแต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงอำนาจสูงสุด พระราชอำนาจของพระองค์ชี้ขาดถึงความเป็นชาติ อะไรที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นชาติจะต้องมีการพระราชทานลงมา ประชาชนเราจะทึกทักทำเองได้ไหม… ไม่ได้ ขืนทำก็คอขาดกันพอดี”

พฤฒิพลไม่วายพูดติดตลก ยามอธิบายให้เราเข้าใจมโนทัศน์ของผู้คนในอดีต

“ก่อนรัชกาลที่ 1 บริบทความเป็นชาติแบบปัจจุบันก็ไม่มี เราไม่รู้จะแสดงความเป็นชาติกันไปทำไม ประเทศข้าง ๆ อย่างลาวก็เคยเป็นของเรา ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู พวกนี้ก็เคยเป็นของสยาม ชายแดนไทย-พม่าในอดีตก็ไม่มีสะพาน ไม่มีด่าน ตม. ผู้คนก็ข้ามกันไปกันมาได้ คนมอญจากพม่าก็มาตั้งรกรากในบ้านเราเยอะ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นคือไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ แสดงความเป็นชาติครับ”

ธงแดงเกลี้ยงของสยาม

ล่วงมาสมัยรัตนโกสินทร์ สิ่งที่พออนุโลมเรียกว่า ‘ธงชาติสยาม’ ก็ถือกำเนิดขึ้น

หากย้อนดูแผนผังประวัติธงชาติไทย จะเห็นว่าก่อนมีธงไตรรงค์ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ลักษณะธงที่แสดงความเป็นชาติสยามหรือไทยในสมัยโบราณล้วนมีพื้นหลังเป็นสีแดง หลายแหล่งนิยมนับธงพื้นหลังสีแดงเกลี้ยงเป็นธงชาติแบบแรก ทั้งที่ธงดังกล่าวเป็นเพียงธงที่ใช้ในการเดินเรือ

“เวลาคนสยามสมัยก่อนเอาเรือออกไป เขาจะมีธงแดง” ผู้เชี่ยวชาญด้านธงตอบโดยอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ “คลื่นแสงของสีแดงเป็นสีที่สายตามนุษย์เราเห็นชัดที่สุด นี่คือเหตุผลว่าทำไมเฮลิคอปเตอร์บินต้องเป็นไฟสีแดง ทำไมไฟเบรกรถยนต์ถึงต้องเป็นสีแดง เพราะเวลาสีแดงวาบเข้าตาเรา เราจะกดเบรกทัน แต่สีอื่นไม่ทัน

“เพราะฉะนั้น เขาก็เอาเรือออกไปพร้อมธงสีแดง เวลาเรือมันล่มหรือเกิดเหตุอะไร ก็จะเห็นไกล ๆ ว่าเป็นเรือ แต่ไม่ใช่ว่ามันเป็นธงชาติสยามนะ เพราะไม่ได้พระราชทานลงมา ธงสีแดงล้วน ๆ นี่จะเรียกธงชาติยังไม่ได้ เราเรียกมันว่า ‘ธงอาณัติสัญญาณ’ ครับ”

ธงลายจักรสมัยรัชกาลที่ 1

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

เมื่อธงแดงเกลี้ยงยังไม่นับเป็นธงชาติ ธงชาติสยามรูปแบบแรกสุดตามนิยามของพฤฒิพลก็จะเป็นธงพื้นแดงที่มีรูปวงจักรอยู่ตรงกลาง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านสถาปนาราชวงศ์จักรี จักร สังข์ คทา ธรณี พวกนี้เป็นอาวุธขององค์พระนารายณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอวตารของพระนารายณ์ รัชกาลที่ 1 ท่านเลยนำวงจักรที่อยู่ในพระกรมาวางกลางผืนผ้าแดง จึงเป็นที่มาของธงรัชกาลที่ 1

“ธงนี้จะประดับอยู่บนเรือหลวง เรือหลวงคือเรือของพระองค์ท่าน เรือราษฎร์ก็ยังใช้ธงแดงเกลี้ยง จะไปเอาธงวงจักรมาใช้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นนามราชวงศ์ ไปใช้ก็มีโทษ แล้วอย่างที่ผมเรียนว่าสิ่งใดก็แล้วแต่ที่แสดงสถานะของพระมหากษัตริย์ก็คือความเป็นชาติไปโดยปริยาย ธงบนเรือหลวงก็คือธงชาติ ส่วนราษฎรก็ใช้ธงธรรมดา เป็นธงอาณัติสัญญาณต่อไป”

ธงช้างเผือกไม่ได้เพิ่งมีสมัยรัชกาลที่ 4

ความเข้าใจผิดประการแรกที่ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยพบได้บ่อย คือคำบอกเล่าที่กล่าวต่อ ๆ กันมาว่า ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยามตั้งแต่รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งที่หลักฐานการใช้ธงช้างเผือกมีมาก่อนหน้านั้น ตัวเขาเองก็พบตัวอย่างที่เก่ากว่า พ.ศ. 2394 อันเป็นปีแรกในรัชสมัยของพระองค์อยู่หลายชิ้น

“เชื่อไหมครับว่าผมค้นคว้าจนพบมากกว่า 10 หลักฐานทั่วโลก เรามีธงช้างเผือกมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3” กระแสเสียงของเขาพูดแทนความตื่นเต้นทั้งมวลในอก “มีหลักฐานชิ้นสำคัญจาก เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล (Frederick Arthur Neale) เป็นฝรั่งอังกฤษที่มารับราชการทหารเรือสมัยรัชกาลที่ 3 เขาก็เห็นแล้วว่าสยามใช้ธงช้างเผือก หลักฐานเก่าสุดที่ผมพบคือผังธงจากฝรั่งเศส อายุประมาณ พ.ศ. 2380 ก็ยิ่งชัดเจนว่าธงสยามเป็นลายช้างเผือกมาตั้งแต่นั้นแล้ว”

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

สาเหตุที่ช้างเผือกเริ่มมาอยู่บนผืนธงสยามได้นั้น พฤฒิพลเล่าว่าน่าจะเป็นเพราะสมัยรัชกาลที่ 2 มีการค้นพบช้างเผือกถึง 3 ช้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในช่วงรัชกาลเดียว

“พอขึ้นรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านทรงได้ช้างเผือก 3 ช้าง มีพระเศวตกุญชร พระเศวตไอยรา และพระเศวตคชลักษณ์ ปกติช้างเผือกก็ไม่ได้มาง่าย ๆ นะ จะมีช้างเผือกเอก ช้างเผือกโท นี่ก็เป็นช้างเผือกเอก ถือเป็นนิมิตหมายของแผ่นดิน เรียกว่ามีบุญญาธิการสูงมาก

“พระองค์ท่านจึงนำช้างเผือกมาวางกลางวงจักร เป็นที่มาของธงสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 ถามว่าเรารู้ได้ยังไงว่าข้อมูลเหล่านี้มันถูกไหม เรามีอ้างอิงอยู่ชุดเดียวคือพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129 เท่านั้น เราก็อ้างอิงข้อมูลจากตรงนี้ก่อน ส่วนไหนที่เจอเพิ่มเติม เราค่อยค้นคว้าแล้วมาประมวลใหม่”

วันบรมราชาภิเษกไม่ใช่วันเปลี่ยนธง

หลังจากที่องค์ความรู้จากการค้นคว้าของพฤฒิพลได้รับการเผยแพร่ออกไป ความเข้าใจว่าธงช้างเผือกเริ่มใช้สมัยรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มได้รับการขจัดไปทีละน้อย อย่างไรเสีย ก็มีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งทำให้เขายังต้องเดินหน้าปรับความรับรู้ของผู้คนในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ คือความหลงผิดคิดว่าการเปลี่ยนธงชาติแต่ละรูปแบบ ทำกันในวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันบรมราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน

“หน่วยงานหลายหน่วยงานชอบเขียนว่ารัชกาลที่ 1 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกวันนี้ใช้ธงนี้ พอเสด็จสวรรคตก็ใช้อีกธง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเวลาที่กษัตริย์แต่ละพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ ธงมันไม่ได้เปลี่ยนวันนั้น มันถูกเปลี่ยนหลังจากที่ท่านทรงเห็นสมควร วันที่ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธีมีเยอะขนาดไหน พระองค์จะทรงมีเวลาว่างมาออกแบบธงผืนใหม่อีกเหรอ

“ดังนั้น ควรใช้คำว่า ‘ช่วงรัชกาล’ สมมติว่ารัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 2 จะเปลี่ยนมาใช้ธงช้างเผือกในวันที่ขึ้นครองราชย์เลย มันไม่ใช่ เพราะช้างเผือกก็ยังไม่เจอ คิดดูว่ามันจะเป็นไปได้หรือที่เปลี่ยนธงทันทีเลย วิธีพูดจึงควรใช้คำว่า ‘ช่วงรัชกาล’ เช่น ธงช้างเผือกในวงจักรเป็นช่วงรัชกาลที่ 2”

ความไม่ตายตัวของธงช้างเผือก

เข้าสู่แผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำวงจักรอันเป็นตัวแทนของราชวงศ์จักรีออก เหลือเพียงรูปช้างเผือกอย่างเดียวทั้งบนเรือหลวงและเรือราษฎร์ พฤฒิพลมองว่าทรงทำไปเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ไม่ก่อความสับสนให้ต่างชาติที่พากันแห่แหนเข้ามาในสยามมากขึ้นทุกขณะ

“ผมอุปมาอุปไมยนะ ว่าช้างเผือกเป็นเสมือนหน้าตาของพระองค์ท่าน และไม่ใช่นามแห่งราชวงศ์ เราเห็นช้างเผือกก็เหมือนเห็นพระองค์ท่าน เมื่อชักธงสู่เสากระโดงเรือ ก็หมายความว่าเราอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ เราล่องเรือไปที่ไหนพระองค์ท่านก็ไปที่นั่นในฐานะผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

“เพราะอย่างนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 เราเลยมีธงชาติแค่แบบเดียว เรือหลวงก็เป็นธงช้างเผือกธรรมดา ไม่มีวงจักร แค่นี้ก็ชัดเจนแล้วสำหรับการแสดงตัวตนของสยาม ไม่ต้องไปแบ่งหลายแบบ เพราะยิ่งแบ่งเยอะฝรั่งก็ยิ่งงง ก็ใช้มาจนกระทั่งรัชกาลที่ 6 ปี ร.ศ. 129 (ตรงกับ พ.ศ. 2453)”

แต่แล้วปัญหาที่ตามมาคือการทำธงในยุคนั้นเป็นไปด้วยความยากเย็นแสนเข็ญ แม้แท่นพิมพ์จะถูกนำเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่การพิมพ์แต่ละครั้งมีราคาค่างวดสูงมาก การจะประดิษฐ์ธงขึ้นใช้แต่ละผืนต้องใช้วิธีนำผ้ามาเย็บต่อกัน ส่วนการพิมพ์นั้น พฤฒิพลบอกกับเราว่าบางผืนถึงกับต้องสั่งมาจากยุโรป สร้างความยุ่งยากแก่ชาวสยามในอดีตเป็นอย่างมาก

และเนื่องจากเป็นการทำมือ ไม่มีแบบเป็นบล็อก รูปช้างเผือกจึงมีรูปแบบที่ต่างกันสุดกู่

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

“ตอนที่รัชกาลที่ 3 ทรงให้ยุติการใช้วงจักรเหลือแต่ช้างเผือก ยุคนั้นยังไม่มี พ.ร.บ. ธง ชาวบ้านรู้อยู่อย่างเดียวว่าเป็นธงช้างเผือก มันก็เลยมีการทำธงช้างเผือกหลายรูปแบบ ทั้งอ้วน ผอม ยกงวง ยกหาง ฯลฯ จนกระทั่ง ร.ศ. 110 มีการออกกฎหมายธงเล่มแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เล่มนี้ได้ระบุชัดเจนว่าห้ามยกงวงขึ้น หลังจากปีนั้นเลยมีการปรับรูปแบบดีขึ้น”

ถึงจะมีการออกกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว แต่ความรับทราบของประชาชนยังอยู่ในวงจำกัด ด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการพิมพ์แค่ 1,000 เล่ม และเกือบครึ่งที่พิมพ์มายังถูกส่งไปยังทวีปยุโรป เพื่อรอรับการเสด็จประพาสยุโรปของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“พ.ร.บ. พวกนี้ 1 เล่มพิมพ์ 4 ภาษา เขาต้องการให้ฝรั่งรู้ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จเยือน ให้ทำธงรับเสด็จให้ถูก ก็ไปที่สถานทูตฝรั่งเศสเพียบเลย แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังไม่รู้เรื่อง ไทยก็เลยประดับแบบงวงลง งวงขึ้น อะไรไม่รู้อีกไม่จบสิ้น แม้ว่าจะมี พ.ร.บ. ออกมาแล้วก็ตาม”

จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงธงอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6

ธงช้างเผือกไม่ได้เลิกใช้เพราะราษฎรติดกลับหัว

ย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปีก่อน พฤฒิพลยังจำได้ว่าคนไทยยังเชื่อฝังหัวตามกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้เปลี่ยนธงชาติสยามจากธงช้างเผือกเป็นธงไตรรงค์ เนื่องจากชาวเมืองอุทัยธานีติดธงช้างเผือกกลับหัวในการรับเสด็จ ส่งผลให้เท้าช้างชี้ขึ้น ดูเป็นลางไม่ดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแบบธงเป็นธงแถบที่ดูเหมือนกันทั้งบนทั้งล่าง

เรื่องราวนี้พบครั้งแรกในงานเขียนของ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งได้บันทึกลงในหนังสือ วชิราวุธานุสรณ์ โดยระบุว่าวันที่ 13 กันยายน ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสอุทัยธานีเพื่อเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยแม่น้ำสะแกกรัง ก่อนที่พระองค์จะทอดพระเนตรเห็นธงช้างเผือกติดกลับหัว ดูเหมือนช้างล้ม ทำให้ทรงตระหนักว่าควรเปลี่ยนแบบธงได้แล้ว

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ค้นคว้าแล้วมาแจ้งผมว่า ค้นพบหลักฐานที่เป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์ท่านเลย ว่าวันที่ 13 กันยายน ท่านประทับอยู่ที่บางกอก พระราชทานถ้วยรางวัลให้ทีมฟุตบอลสยามที่แข่งกัน ราชกิจจานุเบกษาที่มีลายพระหัตถ์ก็ระบุตรงกันว่าท่านอยู่ที่บางกอก พระนคร แล้ววันรุ่งขึ้นท่านก็เสด็จฯ บางปะอิน สรุปว่าเรื่องทั้งหมดมันไม่ใช่เลย ท่านจมื่นแกอาจจะจำอะไรไม่ได้แล้วไปเขียนแบบนั้น แล้วด้วยความที่แกเป็นราชองครักษ์ของในหลวง เลยทำให้คนเชื่อว่าเป็นหลักฐานสำคัญ

“แล้วทำไมถึงไปเปลี่ยน มันก็ไประบุอยู่ในพระราชบัญญัติ ร.ศ. 129 พระองค์ท่านทรงระบุชัดเจนว่าเพราะมองไกล ๆ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อย่าลืมว่าธงช้างมองใกล้ ๆ รู้ แต่มองไกล ๆ มันเป็นก้อน”

ธง 2 แบบที่ใช้พร้อมกัน

เราอาจจะทราบกันมาก่อนว่า รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานธงชาติไทยในปัจจุบัน ทว่าธงไตรรงค์ที่ใช้ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้เริ่มใช้ทันทีที่เปลี่ยนแบบธงใหม่ อีกทั้งธงช้างเผือกก็ไม่ได้ถูกเลิกใช้เมื่อเกิดธงแถบ

“อย่างที่บอกว่าธงช้างเผือกมันมองไกล ๆ เห็นอะไรเป็นก้อน ๆ ไม่รู้เรื่องใช่ไหม ตอนนั้นเรือใหญ่เต็มไปหมด ค้าขายเต็มทะเลแล้วนะ ผลที่ตามมาคือพระองค์ท่านมีรับสั่งให้ทำธงให้ชัดเสีย ทำให้ชัดด้วยการละลายเป็นแถบ ส่วนธงของหน่วยงานราชการ ราชการทุกคนยังทำงานให้พระองค์ ก็ใช้ช้างเผือกต่อไป แต่เป็นช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น”

คุยกับผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' ถอดรหัสธงไทยในเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน

พระราโชบายนั้นส่งผลให้เกิดการใช้ธงชาติสยาม 2 แบบในเวลาเดียวกัน ซึ่งใครต่อใครพากันเข้าใจผิดต่อไปว่าธงหนึ่งมีมาก่อนอีกธง ทั้งที่ความเป็นจริงธงทั้งคู่ประกาศใช้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 พร้อมกัน แต่ให้ใช้งานต่างวาระกันเท่านั้น

ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น มีลักษณะคล้ายธงเก่า แค่เติมแท่นกับเครื่องทรงบนช้าง ใช้สำหรับหน่วยงานราชการ ขณะที่ธงพื้นริ้วแดงขาวเกิดจากการ ‘ละลายแถบสี’ คือนำสีแดงและสีขาวบนพื้นธงและลายช้างเผือกเดิมมาวาดเป็นแถบสีแนวนอนทั้ง 5 แถบ ใช้สำหรับพลเรือนทั่วไป

เรียนรู้ประวัติของผืนธงชาติที่ 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' กับ พฤฒิพล ประชุมผล กูรูผู้ศึกษาธงชาติไทยมานานกว่าค่อนชีวิต

“แยกใช้ยังไง สมมติคุณอยู่กระทรวงกลาโหม อยู่ที่ทำงานคุณก็ประดับธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น พอกลับมาที่บ้าน วันนี้ในหลวงเสด็จผ่านหน้าบ้าน ก็ประดับธง 5 แถบ… ธงหนึ่งเป็นธงราชการ อีกธงเป็นธงพลเรือน คู่นี้มันเป็นครั้งแรกเลยนะที่ธงชาติคู่ออกวันเดียวกัน ใช้งานร่วมกัน”

เติมสีน้ำเงินตรงกลาง

ไม่กี่ปีหลังจากที่ธงสยามแบ่งการใช้งานระหว่างราชการและพลเรือน มหาสงครามที่ปะทุขึ้นในซีกโลกตะวันตกก็ชักนำให้สยามประเทศต้องเข้าไปพัวพันด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังส่งผลให้เกิดธงชาติแบบใหม่ที่ออกแบบตามริ้วสีของมหาอำนาจฝ่ายเดียวกัน

ข้อมูลทั่วไปมักจะบอกว่าธงชาติสยามเพิ่มสีน้ำเงินลงไปตรงแถบกลางธง เพราะต้องการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ทุกชาติที่กล่าวมามีธงชาติเป็น Tricolor หรือธง 3 สี ประกอบด้วยสีแดง ขาว และน้ำเงิน จึงเป็นแบบอย่างให้สยามเปลี่ยนสีธงตาม กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าธงชาติสยามจะเติมสีน้ำเงินลงไปในบัดดลที่ประกาศสงคราม

เรียนรู้ประวัติของผืนธงชาติที่ 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' กับ พฤฒิพล ประชุมผล กูรูผู้ศึกษาธงชาติไทยมานานกว่าค่อนชีวิต

“สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 แล้วธงไตรรงค์นี่เริ่มใช้ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยหรือเปล่า มันก็ยังไม่ใช่

“ธงไตรรงค์ของไทยเพิ่งได้รับพระราชทานมาวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 ตอนที่ส่งทหารไปรบ ธงของกองทัพสยามก็ยังเป็นแบบเก่าอยู่ หลักฐานของทางฝรั่งเศสก็จะวาดธงสยามเป็นแบบเก่า มีหลักฐานให้ดู คนไทยที่ไม่รู้ก็จะหาว่าฝรั่งเศสเซ่อซ่า ซึ่งเราอย่าไปว่าเขาอย่างนั้น เพราะตอนเริ่มสงคราม ธงสยามยังมีสีแดง 3 ริ้ว พอช่วงกลางสงครามเราถึงมาใช้ธงไตรรงค์ รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงประกาศใน พ.ร.บ. 2460 ให้ชัดเจนเลยว่าเราอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรครับ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัชกาลที่ 6 จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีแบบธงชาติมากที่สุดในรัชกาลเดียว ประกอบไปด้วยธงช้างเผือก ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ธงพื้นริ้วแดงขาว และธงไตรรงค์

ไม่เปลี่ยนแบบธงมาร้อยกว่าปี แม้เคยมีความคิดจะเปลี่ยน

นับจากวันพระราชทานธงไตรรงค์เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 ถึงวันที่ลงบทความนี้ ธงชาติไทยก็ยังเป็นรูปแบบเดิม ไม่เคยเปลี่ยนเป็นอื่นใดอีก ผิดกับเพลงชาติ วันชาติ ตลอดจนชื่อประเทศที่ทยอยเปลี่ยนไปตามระบอบการปกครองและขั้วอำนาจของผู้ปกครองรัฐ

“ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นความโชคดีมากกว่า รู้ไหมครับว่าอย่างเพลงสรรเสริญพระบารมีเคยโดนเปลี่ยน เคยลงในพระราชกิจจานุเบกษาสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ร้องแค่ฉบับสั้น 4 ท่อน แล้วไม่เคยมีการเปลี่ยนกฎหมายกลับคืนเป็นฉบับยาวเลย แต่ที่ทุกวันนี้เราร้องเป็นฉบับยาว เพราะว่าหลังจากจอมพล ป. หมดสิ้นอำนาจแล้ว ประชาชนมาร้องกันเอง

พฤฒิพล ประชุมผล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

“เพลงสรรเสริญพระบารมี เปลี่ยน ชื่อประเทศก็เปลี่ยนจากสยามมาเป็นไทย เพลงชาติไทยก็เปลี่ยน แต่มีสิ่งหนึ่งที่จอมพล ป. ไม่เคยแตะเลยคือเรื่องธงชาติ ในส่วนลึกของผม ผมมองว่ามันอาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป เพราะมันจะไปกระทบกับ Flag Chart ของอีกหลาย ๆ ประเทศ คือจะเปลี่ยนทีนี่ คุณต้องตรวจดูให้ดีจริง ๆ เลยว่าต่างชาติเขายอมรับคุณหรือเปล่า บางทีมันไปซ้ำ ไปใกล้เคียงกับชาติอื่นเขา”

อย่างไรก็ดี ความคิดที่จะเปลี่ยนแบบธงชาติจากธงไตรรงค์ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ใช่ในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรหรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เป็นยุครัชกาลที่ 7 นี่เอง

“มีคนบอกว่ามันเหมือนธงร่าเริงของสหรัฐอเมริกาเกินไป คือธงทิว หรือ Bunting Flag เป็นประเด็นใหญ่โตจนถึงขนาดที่ต้องลงมติกันในสำนักพระราชวัง มีการออกเสียงว่าจะให้กลับไปใช้ธงช้างแบบเดิม สุดท้ายก็ไม่เป็นเอกฉันท์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ตัดสินพระทัยเด็ดขาดว่า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานธงไตรรงค์ไว้ จึงถือว่ามีการประกาศใช้เป็นครั้งที่ 2 ครับ”

สีขาบไม่ใช่น้ำเงินสด

ทราบที่มาของริ้วสีบนธงไตรรงค์ไปแล้ว แต่ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนยังไม่กระจ่าง คือแถบสีน้ำเงินตรงกลางที่มีความกว้างมากกว่าสีอื่น ขณะที่หลายคนลงสีน้ำเงินบนธงชาติเป็นสีสด พฤฒิพลให้ข้อมูลว่าสีที่ถูกคือสีขาบ หรือสีน้ำเงินแก่ น้ำเงินอมม่วง

“ที่ถูกจะต้องเป็นสีขาบ” กูรูธงชาติไทยยืนยัน “สีขาบเป็นสีประจำพระองค์ เป็นสีของพระราชประสงค์ และเป็นสีน้ำเงินเก่าแก่ของสยาม ต่างชาติเรียกว่าสี Royal Blue ดูเหมือนว่าสี Royal Blue ของแต่ละประเทศก็จะเป็นสีน้ำเงินแบบนี้เหมือนกัน แต่ต่างเฉดกันเล็กน้อย ธงชาติไทยของเก่าเขาก็จะทำสีขาบหมด เข้มขาบทั้งนั้น พ.ร.บ. ธง 2478 ก็ระบุชัดอยู่ว่าต้องเป็นสีขาบ”

พฤฒิพล ประชุมผล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

ความภาคภูมิใจสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตของชายไทยที่ชื่อ พฤฒิพล ประชุมผล คือการที่เขาได้มีบทบาทสำคัญกับการกำหนดโทนสีของธงชาติในวโรกาสครบรอบ 100 ปี พระราชทานธงไตรรงค์

“พ.ร.บ.ธง 2522 ออกมาแล้วไม่ระบุสี ระบุแค่ว่ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งออกเป็น 5 แถบนะ คุณลองจินตนาการดูว่าน้ำเงินมันมีกี่แถบ ขาวไม่ต้องเถียงกัน ขอให้มันขาวจั๊วะ แดงนี่มันแดงร้อยตามภาษา CMYK อะไรก็ว่าไป แต่น้ำเงินนี่มันเยอะมาก

“ผมเลยเข้าไปคุยกับบุคคลหนึ่งซึ่งทำให้เกิดมาตรฐานสีธงชาติไทย คือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2560 ผมก็ได้ไปกราบเรียนท่านเรื่องนี้ เรื่องของการฉลอง 100 ปีธงชาติไทย และบอกท่านว่ามีสิ่งสำคัญนะครับ ร้อยปีที่ผ่านมามีคนทะเลาะกันตลอดเวลาเรื่องทำยังไงให้ธงชาติสีเหมือนกันทั้งประเทศ เราไม่เคยทำสำเร็จเลย ขอให้ยุคของท่านและผมทำสำเร็จได้ไหม ท่านก็เอาสิ่งที่ผมเสนอไปเข้า ครม. กลายเป็นส่วนเสริมของ พ.ร.บ. ธง 2522 ออกมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560

“นี่คือสิ่งที่ผมผลักดันจนสำเร็จ เข้าประชุมทุกคราว จนกระทั่งออกมา นี่เป็นความภูมิใจอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ทำให้กับประเทศนี้ จนออกมาเป็นสีขาบตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ไม่ใช่สีฟ้าบ้าง หรือดำบ้างจนมืด เพราะฉะนั้น สีขาบจะเป็นสีแบบนี้”

ผู้หลงใหลในธงไตรรงค์เอามือลูบคลำโทนสีบนธงชาติที่ร่วมกำหนดมาตรฐานโดยตัวเขาเอง พลางเอ่ย “วิธีการดูสีขาบคือเวลามันเหลื่อมเนี่ย มันจะมีสีแดงพริ้ว ๆ ม่วง ๆ จะสลัดม่วงออกมานิดหนึ่ง เวลาโดนแดดมันจะม่วงขึ้นมา มันใช่แบบเข้มปี๋จนดำ นี่คือขาบครับ”

เรียนรู้ประวัติของผืนธงชาติที่ 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' กับ พฤฒิพล ประชุมผล กูรูผู้ศึกษาธงชาติไทยมานานกว่าค่อนชีวิต

ในห้องจัดแสดงเล็ก ๆ บนตึกชั้น 2 ของสะสมที่เกี่ยวข้องกับธงชาติไทยจำนวนเหลือจะคณนาแข่งกันประชันโฉมอยู่ทั้งในและนอกตู้กระจก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ซื้อหามาได้จากทุนทรัพย์ส่วนตัวของคุณพฤฒิพลที่สูญเงินไปหลายล้านบาทเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องสัญลักษณ์ของชาติไทย

“หลังจากที่เราค้นคว้าแล้วพบว่ามันมีข้อมูลคลาดเคลื่อนเยอะ ในชีวิตนี้ที่ผมยังมีลมหายใจอยู่ ผมก็อยากจะทำให้มันถูกต้อง แต่คำว่าถูกต้องอย่างเดียวมันก็คงจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนด้วย เพราะอย่างนี้ผมเลยพยายามควานหาหลักฐานจากทุกมุมโลก

“คือผมมั่นใจว่าลูกหลานของเราก็ต้องเรียนในสิ่งที่ผมหามา เหนือกว่านั้นคือลูกหลานของเราก็จะภูมิใจว่าเรามีธงชาติของเราเอง เราเป็น 1 ใน 3 หรือ 4 ประเทศเอเชียที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นตะวันตกและถูกสั่งให้เปลี่ยนธง อย่างพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง เขาใช้ธงนกยูงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แต่ก็โดนอังกฤษเปลี่ยนมาให้ใช้ธงยูเนียนแจ็กกับนกยูง นั่นคือการสิ้นสุดของความเป็นชาติเอกราช มีธงชาติของตัวเอง แต่ของเราไม่ครับ เราใช้มาตลอด มีการเปลี่ยนแปลงก็จากพระมหากษัตริย์ไทยเอง ยังคงความเป็นไทยอยู่ ตอนนี้มีหลักฐาน 205 ปีที่ยืนยันว่าเรามีธงชาติของตัวเอง เป็นธงพระราชทานทั้งหมด สิ่งนี้ผมก็จะพยายามสร้างความภูมิใจกับคนรุ่นใหม่ หลายคนเขาไม่รู้ว่าภูมิใจยังไง แต่วันหนึ่งเขาก็จะรู้สึกภูมิใจเองแหละผมว่า”

เรียนรู้ประวัติของผืนธงชาติที่ 'พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย' กับ พฤฒิพล ประชุมผล กูรูผู้ศึกษาธงชาติไทยมานานกว่าค่อนชีวิต

ถ้อยคำของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยชวนให้เราระลึกถึงเสียงประกาศทุกเช้าเย็น…

ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย”

หากหัวใจของพฤฒิพลเปล่งเสียงได้ ทั้ง 4 ห้องหัวใจเขาคงกู่ร้องเป็นเสียงนี้

พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

เลขที่ 15 ซอย ลาดพร้าว 43 แขวง สามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 (แผนที่)

Facebook : พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์