ไม่ว่าคุณจะชอบเสี่ยงโชคหรือไม่ เชื่อว่าทุกคนเคยเกี่ยวข้องกับหวย หรือสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แถมจากสถิติยังชี้ว่า คนไทยกว่า 21 ล้านคนลงทุนในเลขเสี่ยงโชคกันมากมายหลาย อย่างน้อยในวัยเตาะแตะ ก็ต้องเคยโดนแม่ใช้ให้ไปจิ้มเลขเด็ดบนแผงกันบ้าง 

นอกจากต้องลุ้นทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือนว่าเลขที่ออกงวดนี้จะเป็นอะไร เคยสังเกตด้านซ้ายของกระดาษสลากฯ ที่ผ่านมือกันบ้างไหม ว่าทำไมกระดาษเสี่ยงดวงของไทยถึงต้องมีภาพวาดเปลี่ยนลายแตกต่างไปทุกงวด แล้วภาพเหล่านี้มีที่มาอย่างไร

มิวเซียมสยามถามเราด้วยคำถามนี้ เพราะนี่คือเนื้อหาในนิทรรศการล่าสุด ‘หวยแหลก แตกประเด็นคนเล่นหวย’ ถ้าอยากได้คำตอบแบบสั้น ก็ไปเดินชมได้ในงาน แต่เราดันอยากได้คำตอบแบบยาว มิวเซียมสยามก็เลยชวนเราไปคุยกับคนวาดตัวจริง

นิ้งค์-สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ ช่างศิลป์ กลุ่มงานออกแบบสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คือนักวาดเขียนผู้อยู่ข้างหลังภาพสลากกว่าหลายร้อยงวด เธอไม่ได้เข้ามาทำในตำแหน่งนี้เพื่อตั้งใจหาเลขเด็ด หรือเป็นคนวาดภาพบนกระดาษเสี่ยงโชคแต่แรกเริ่ม ทั้งเคยเป็นนักเรียนช่างทอสุดเฮี้ยว นักวาดภาพการ์ตูนบนแบบเรียนสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่ตีพิมพ์แบบเรียนดรุณศึกษา นักออกแบบจิวเวลรี่ เฟอร์นิเจอร์ ก่อนจับพลัดจับผลูมาวาดภาพบนสลากจนเข้าปีที่ 29 แถมเส้นทางในสายศิลปะของเธอก็มันหยด และต้องอาศัยการเสี่ยงโชคไม่แพ้ลอตเตอรี่ 

วันนี้เราเดินทางมายังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สำนักการพิมพ์) ย่านเอกมัย ก่อนเดินเข้าตึกสีฟ้าตรงหน้า เพื่อสืบหาความลับเบื้องหลังกระดาษที่หลายคนซื้อมาเป็นขวัญกำลังใจ 2 ครั้งต่อเดือน นอกจากเลข 6 หลักยังมีความสนุกอะไรให้ลุ้นกันงวดต่องวดบ้าง 

ไม่แน่นะว่าเรื่องราวต่อจากนี้อาจทำให้คุณมองหวยเปลี่ยนไปเลยก็ได้

เปิดแผงเสี่ยงโชค

นักวาดมือหนึ่งของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นที่รู้ตัวว่าหลงใหลในภาพวาดเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยประถม จากตุ๊กตากระดาษ วาดรูปดาราคนโปรด และเห็นอะไรเป็นต้องหยิบดินสอกับกระดาษขึ้นมาวาด

“เริ่มจากชอบวาดมาเรื่อย ๆ ไม่ได้มีหลักการอะไร ก็มีวาดตุ๊กตากระดาษที่เปลี่ยนชุดได้ขายเล่น ๆ แล้วก็ชอบวาดรูปคน รูปดารา รู้ตัวว่าชอบ Drawing เลยมาทางนี้ พอโตขึ้นรู้ว่าชอบแล้วต้องเพื่อความอยู่รอดด้วย เลยลองมาหลายอย่าง สมัยวัยรุ่นเคยย้อมไหม จับกระสวย เพราะเรียนออกแบบอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ก่อนออกมาแล้วก็คิดว่าอยากเป็นสถาปนิก แต่ได้ลองแล้วน่าจะเรียนทำสื่อโฆษณามากกว่า เลยตัดสินใจมาเรียนศิลปะประยุกต์ที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป ก่อนไปต่อที่วิทยาเขตเพาะช่าง แล้วก็ดิ้นรนทำงานสารพัดไปด้วยตอนนั้น”

เธอเล่าอย่างออกรสว่าทั้งปีนเขียนคัทเอาต์เท่าตึก 3 ชั้น หรือปีนเพดานไปวาดภาพมาแล้วเพื่อฝึกฝีมือ แม้กระทั่งงานที่ดูเหมือนไปคนละทางก็ทำมาหมด

“เพราะเราต้องหาเงินเรียนเอง ครึ่งวันเรียน อีกครึ่งวันก็รับงาน มีออกแบบเฟอร์นิเจอร์เท่าจริงที่โรงแรมด้วย จำได้ว่าครึ่งวันได้เงินสามสิบห้าบาท ทำเช้าเรียนภาคบ่าย ทำมาสักระยะแล้วก็รับงานวาดการ์ตูนที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ได้ออกแบบจิวเวลรี่ หรือพวกบรรจุภัณฑ์ก็มี ชีวิตเหมือนกับว่าเราไม่เก่งอะไรสุด ๆ แต่ทำตรงนั้นตรงนี้ได้ แล้วชีวิตมันหักเหมาก ไม่ได้เป็นเส้นตรงเลย กว่าจะได้มาทำงานที่นี่ก็เหมือนกัน”

หลังจากสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานหลากหลาย สุดท้ายโชคชะตาก็ทำให้เธอเจอเข้ากับประกาศรับสมัครช่างศิลป์ ลองเสี่ยงดวงมาสอบวาด แข่งออกแบบกับคนนับร้อยดูสักครั้ง โดยตอนนั้น เธอยังไม่รู้ว่าจะได้เข้ามารับตำแหน่งในกลุ่มออกแบบสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใน พ.ศ. 2535 และได้วาดภาพต้นฉบับวันสงกรานต์ ประจำงวดเดือนเมษายนลงบนสลากฯ เป็นภาพแรก

สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี
สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี

พรุ่งนี้รวย

แล้วการวาดภาพบนสลากฯ ต่างจากวาดภาพทั่วไปอย่างไร – เราถาม

“หลักการวาดภาพเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นศิลปะอิสระเขาก็วาดตามใจ ไม่เหมือนกับที่นี่ มีกฎเกณฑ์ ต้องระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ลอกเลียนแบบ ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา และประเด็นขัดแย้งต่าง ๆ พยายามเลือกเรื่องที่ดูเป็นกลางมากที่สุดเพราะทุกคนต้องจับ ต้องเห็น และอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องนำเสนอความเป็นไทยที่น่าประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้”

กว่า 580 งวดตั้งแต่เธอทำงานมา ยังไม่มีภาพซ้ำกันเลยแม้แต่งวดเดียว

“เรื่องอาจจะมีซ้ำกัน เช่น วันนักขัตฤกษ์ อย่างวันแรงงานทุกวันที่ 1 พฤษภาคม หรือวันลอยกระทง มันต้องมีทุกปี แต่ภาพเราต้องวาดขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง เริ่มจากการประชุมกันในทีมก่อน เพื่อหาแนวทางของงวดที่ 1 และ 16 ไปจนถึงวันสำคัญต่าง ๆ” เธอหยิบแผนประจำปีนี้ขึ้นมาให้เราดู แต่เนื่องจากยังเป็นความลับ เลยขออุบเอาไว้ให้รอติดตามในแผงกันเอาเอง

สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ จากอดีตนักวาดการ์ตูน สู่ช่างศิลป์แห่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้สร้างสีสันแบบไทยๆ บนใบสลาก
สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ จากอดีตนักวาดการ์ตูน สู่ช่างศิลป์แห่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้สร้างสีสันแบบไทยๆ บนใบสลาก
สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ จากอดีตนักวาดการ์ตูน สู่ช่างศิลป์แห่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้สร้างสีสันแบบไทยๆ บนใบสลาก

จากนั้นทุกคนก็มาระดมความคิดกัน ว่าหัวข้อหลักที่จะนำมาใช้คือเรื่องอะไร หาข้อมูลจากที่ไหน ก่อนทำแบบร่างเสนอหัวหน้ากองออกแบบและแม่พิมพ์ให้เห็นชอบก่อน จากนั้นจึงขออนุมัติเสนอรูปแบบสลากประจำปีนั้น ๆ ตามสายบังคับบัญชาต่อไป

“ส่วนใหญ่เลือกนำเสนอเรื่องสถานที่ ที่คนอาจไม่ค่อยรู้จัก เช่นเมืองรองที่น่าสนใจแต่ไม่ค่อยมีใครไปเที่ยว หรือพวกผลไม้ ดอกไม้ สัตว์ที่คนไม่ค่อยเห็น ซึ่งบางทีเราก็ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลกันเอง อย่างภาพไก่แจ้ เราก็ไปหาประธานไก่แจ้กันถึงลาดกระบังนู่น เพื่อขอภาพมาใช้เป็นแบบการวาด จากนั้นก็เสนอแผนทั้งปี ยี่สิบสี่งวดที่มีรูปภาพครบทุกงวด แบ่งเป็นแต่ละเรื่อง อย่างของงวดที่ 1 ต้องมีรูปภาพ 10 ภาพ งวดที่ 16 ต้องมีรูปภาพ 7 ภาพ ส่วนวันนักขัตฤกษ์ต้องมีรูปภาพ 7 ภาพ” 

หากผ่านการเสนอหัวข้อแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการนำมาวาดเป็นภาพจริง โดยปกติแล้วกำหนดในการทำสลากกินแบ่งฯ หนึ่งงวดใช้เวลาทำ 10 วัน โดยวาดภาพต้นฉบับ 3 วัน ประกอบแบบ 2 วัน ส่วนอีก 5 วันก็ต้องทำส่วนประกอบของสลากที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการปลอมแปลง 

“ในทีมศิลป์เรามีทีมวาดกันหกคน แต่ละคนก็ถูกแบ่งกันไปคนละงวด เริ่มร่างภาพลงสีน้ำ สีไม้ หรือสีอะคริลิกก็ได้ ถ้าคนไหนไม่ทัน เราก็จะเข้าไปช่วย นอกจากสีน้ำที่ใช้ระบายสี ตอนนี้ก็เริ่มเอาสีหมึกมาลองใช้เป็นเทคนิคใหม่ ๆ ปรับเขียนปรับแก้ แล้วค่อยใช้โปรแกรม Adobe Photoshop และ Illustrator มาปรับแต่งต่อ หรือบางครั้งเราก็ลองร่างและวาดจริงจากในคอมพิวเตอร์เลยก็มี แต่ส่วนตัวไม่ถนัดเลยคิดว่ายากกว่าวาดด้วยมือ จากนั้นจึงถึงขั้นตอนออกตีพิมพ์บนกระดาษ” เธอเล่าพร้อมเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เราดู 

เหมือนขั้นตอนนั้นแสนง่าย ทว่าความเป็นจริงยังมีมากกว่านั้น เพราะยังมีข้อจำกัดอีกหลายส่วน ทั้งเรื่องเทคนิคการวาดเมื่อเทียบกับช่วงแรก ๆ 

สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี
สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี
สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี

“ภาพสมัยก่อนจะเน้นลายเส้นแบบไทย ๆ มีความอ่อนช้อยมาก แต่ก็พ่วงมากับความท้าทาย เพราะว่าถ้าจบไม่ลง เส้นไม่คม มันก็ไม่สวย แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนภาพวาด ลายเส้นก็ถูกปรับให้โมเดิร์นขึ้น แต่เรายังคงการจัดองค์ประกอบของภาพให้สวยงามเหมือนเดิม” นอกจากนักวาด ในฐานะรักษาการแทนหัวหน้ากลุ่มงานออกแบบของฝ่ายช่างศิลป์ เธอก็เล่าต่อถึงความยากแบบต่าง ๆ ที่พบ 

“ช่างศิลป์เองก็ต้องปรับเรื่องการวาดคน บางทีก็ยังมีท่าทางไม่ถูกต้อง การวาดมือและเท้าต้องให้ความสำคัญเหมือนกันแม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ จนถึงการให้น้ำหนักสีใกล้-ไกล ต้องมองให้เป็น เราก็ช่วยกันดู ช่วยกันแนะให้ปรับเพื่อให้ภาพออกมาดี” และบอกเล่าอีกหนึ่งข้อจำกัดอย่างเครื่องพิมพ์

“ที่นี่เราใช้เครื่องพิมพ์แบบพิมพ์ม้วน มีสองระบบ คือ แบบ Wet Offset (ใช้น้ำ) และ Dry Offset (ไม่ใช้น้ำ) สำหรับเครื่องพิมพ์แบบ Dry Offset จะเก็บความละเอียดของภาพได้ไม่มากนัก ยิ่งการพิมพ์ลงบนกระดาษพิเศษ ก็ทำให้การออกแบบและลงสีต้องสอดคล้องกับโจทย์นี้ด้วย ใส่สีจัดมากไม่ได้ มันต้องมีการชดเชยระหว่างพิมพ์ ทำให้เราเห็นภาพออกมาเป็นสีไม่จี๊ดจ๊าด แม้การไล่สีหรือใส่รายละเอียดมาก ๆ อาจมองไม่เห็นบนใบสลากฯ แต่ก็ต้องใส่ใจและวาดออกมาให้ดีที่สุด”

สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี
สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี

กระดาษแห่งความหวัง

นอกจากการทำสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ที่สำนักงานพิมพ์แห่งนี้ยังรับจ้างพิมพ์ตั้งแต่ตั๋วรถเมล์ สลากกาชาดต่าง ๆ คูปองผ่านทางของการทางพิเศษ บัตรอำนวยความสะดวก ป่านันทนาการ กรมป่าไม้ จนถึงสลาก ธ.อ.ส. ซึ่งทีมงานช่างศิลป์ก็รับหน้าที่ออกแบบด้วยเช่นกัน

“หลักการวาดก็คล้าย ๆ กัน แล้วแต่โจทย์ที่แต่ละสลากวางมา ถ้าเขามีรูปให้ เราก็มาจัดวางกับภาพวาดเสริมเพิ่มเติม เหตุผลที่เขามาให้เราทำ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีระบบพิเศษในการพิมพ์ เวลาคนทำปลอมขึ้นมารู้หมดนะ เพราะเรามีระบบการพิมพ์ที่จบในขั้นตอน ใช้กระดาษและหมึกแบบพิเศษ รวมถึงมีระบบการตรวจสอบจากกลุ่มงานพิสูจน์สลากด้วย” สิริมาเล่าพลางขำไป ว่าขนาดตัวเองหรือพนักงานอยากได้สลากกินแบ่งฯ สักใบไว้ในครอบครอง ก็ต้องไปซื้อจากแผงข้างนอกเหมือนกัน เป็นข้อห้ามของสำนักงาน ห้ามพนักงานเกี่ยวข้องกับสลากฯ โดยเด็ดขาด ระบบรักษาความปลอดภัยของสำนักงานรัดกุมมาก

ส่วนนักตีหวยทั้งหลายที่สงสัยว่า เอ๊ะ ภาพต่าง ๆ ที่ใส่ลงในกระดาษใบจ้อย คนวาดรู้มาก่อนไหมว่าจะออกอะไร บางงวดวาดรถเมล์แอบใส่เลขรถมาคือการใบ้หรือเปล่า เธอก็ตอบให้ว่า “ไม่ได้ใบ้ คนวาดไม่รู้เลย ถ้าถูกขึ้นมาก็เกิดจากความบังเอิญล้วน ๆ” เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ 4 ตัวที่ไม่ได้ชี้ใบที่ถูกรางวัลแต่อย่างใด เป็นเพียงการยืนยันตัวสลากฯ ว่าเป็นสลากจริงเท่านั้น

ตั้งแต่วันแรกที่เธอเริ่มเข้ามาทำงานที่นี่ จากคนที่ได้เห็นรุ่นพี่วาดด้วยฝีไม้ลายมือสวยงาม ตอนนี้ กลับกลายเป็นลายเส้นของเธอที่อยู่บนสลากกินแบ่งรัฐบาลนับล้าน ๆ ใบที่คนหยิบจับ เธอว่านี่คือสิ่งที่เธอภูมิใจ

“เราประทับใจในผลงานของเราทุกชิ้น เพราะทุกภาพที่เขียนขึ้นมา คือการรักษาความเป็นศิลปินลงบนสลากฯ ให้ได้มากที่สุด เหล่าช่างศิลป์ก็จะได้มีกำลังใจพัฒนาตัวเอง และผลงานให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญ เราอยากอนุรักษ์ความเป็นไทย และเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ว่าเมืองไทยยังมีสิ่งที่น่าสนใจ อย่างโบราณสถานว่ามีสถานที่นี้อยู่ อยากบอกว่าเรายังมีสิ่งที่งดงามและคุณค่าให้อนุรักษ์สืบต่อไป”

ก่อนจากกัน เราเลยถามทิ้งท้ายด้วยความสงสัย ว่าเป็นคนวาดภาพบนสลากแบบนี้ ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเก็บไว้เองบ้างไหม

เธอตอบ “ทุกงวด น่าเสียดายที่สลากชุดแรก ๆ ที่ซื้อไว้ยกให้เด็ก ๆ ไปประดิษฐ์เป็นดอกไม้และพับเหรียญโปรยทานหมดแล้ว และส่วนมากถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จังหวัดนนทบุรี เหลือก็แต่งวดไม่กี่ปีมานี้” จากนั้นเธอก็หยิบสลากหนึ่งปึกใหญ่ออกมาจากชั้นวาง 

โห ซื้อไว้ดูผลงานตัวเองหรอ – เราถาม

“เปล่า อันนี้ซื้อลุ้นรางวัลค่ะ (หัวเราะ)” เธอกล่าวทิ้งท้าย

สิริมา วิบูลย์ศรินทร์ นักวาดภาพใบสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างสีสันการลุ้นดวงเกือบ 30 ปี

ใครอยากเรียนรู้สังคมผ่านเรื่องราวของหวยและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับหวยแบบไม่ต้องรอทุกวันที่ 1 และ 16 สามารถไปชมนิทรรศการ ‘หวยแหลก แตกประเด็นคนเล่นหวย’ ที่มิวเซียมสยามได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม MRT สนามไชย ทางออก 1 งานนี้เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook : Museum Siam และ www.museumsiam.org

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล