เช้าวันหนึ่งที่แสนธรรมดาใน พ.ศ.2546 ผู้คนต่างออกมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน กระทั่งเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งได้เผยแพร่ออกมาทางโทรทัศน์ 

เธอจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ใครก็ห้ามน้ำตาไว้ไม่อยู่ 

เช้าวันต่อมา ไม่มีใครในประเทศนี้ไม่รู้จักเธอ มีบทสนทนาเกิดขึ้นทุกหนแห่ง เรื่องของเธอถูกส่งต่อเป็นจำนวนมหาศาล เท่าที่เทคโนโลยีในสมัยนั้นจะพาไปถึง นั่นคือพลังของหนังโฆษณาเรื่อง Peace of Mind หนังรักเรียกน้ำตาเรื่องแรกของไทยประกันชีวิต

20 ปี ที่พวกเขาปล่อยหนังโฆษณามากมายออกมาสู่สังคม ทั้งเรื่องของชายที่ต้องจากไปในวันที่ลูกเกิด ชายที่สัญญาจะเล่นเพลงให้คนรักตลอดชีวิต แม่ที่รักลูก แม้ไม่ได้ให้กำเนิด หรือพ่อที่บอกรักไม่ได้ จนสร้างศัพท์ใหม่ในวงการการตลาดว่า Sadvertising ภายใต้จุดยืนของแบรนด์ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ว่าอยากทำหนังโฆษณาให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชีวิต

ในโอกาส 80 ปี ไทยประกันชีวิต นำหนังโฆษณารักเรียกน้ำตาจำนวน 11 เรื่องกลับมาให้ชมอีกครั้งในแคมเปญ The Original Sadvertising แม้มีบางเรื่องไม่คมชัด แต่เราเชื่อว่าทุกคนที่เติบโตมาพร้อมกับหนังเหล่านี้จะจดจำมันได้ดี ทว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการถูกพูดถึงระดับปรากฏการณ์ สูตรความสำเร็จก็คงไม่ใช่แค่หนังที่ทำงานกับอารมณ์และความรู้สึกรุนแรงจนลืมไม่ลงอย่างแน่นอน

ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

วิสัยทัศน์ดีและมีความเชื่อ

ในยุคหนึ่งของวงการโฆษณา หากใครได้ทำงานร่วมกับไทยประกันชีวิตจะเป็นที่เลื่องลือมาก แต่เบื้องหลังหนังโฆษณาที่สร้างความฮือฮาระดับโลก ล้วนมาจากผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในพลังของการโฆษณาที่ดี การเล่าเรื่องด้วยความคิดสร้างสรรค์ และให้คุณค่ากับการสร้างแบรนด์ผ่านภาพยนตร์โฆษณา บางครั้งก็แนะนำให้ทีมครีเอทีฟกลับไปดูซีนต่าง ๆ ของหนังหลากหลายเรื่อง ซึ่ง คุณไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) คือคนคนนั้น 

มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่หนังโฆษณา

นอกจากความรักจะเป็นหัวใจหลักในหนังทุกเรื่องแล้ว สังเกตว่า ทั้งหมดตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะไทยประกันชีวิตเชื่อว่าหากจะสื่อสารกับผู้คนในวงกว้าง ต้องเริ่มจากการถ่ายทอดเรื่องราวของหน่วยที่เล็กที่สุดและควรจะแข็งแรงที่สุดก่อนออกไปเจอสังคมเสมอ 

หลายครั้งจึงมีโปรเจกต์มากมายที่เป็นรูปเป็นร่างเกือบจะได้ถ่ายทำ แต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อยังหาคำตอบไม่ได้ว่าหนังโฆษณาเรื่องนี้จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้จริงหรือไม่  

แนวคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ Ogilvy ที่เป็นเอเจนซี่จัดทำหนังโฆษณา ได้รับงานแรก ๆ ที่ต้องทบทวนว่าควรจะ Repositioning แบรนด์ไปในทิศทางไหน นำไปสู่จุดยืนใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องคุณค่าของชีวิตและคุณค่าของความรัก Value of Life & Value of Love โดยไม่ได้ต้องการพูดให้ทุกคนเชื่อ แต่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังโฆษณาเรื่องแรกอย่าง Peace of Mind เล่าเรื่องภรรยาที่จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดเพราะสามีไม่อาจมีชีวิตอยู่ในวันที่ลูกลืมตา เต็มไปด้วยอีโมชันนอล แปลกใหม่ และกล้าหาญ สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการโฆษณาโลก แม้ในยุคนั้นจะวัดความไวรัลกันที่การ Forward Email ก็ตาม เรื่อยมาจนถึงหนังตัวล่าสุด กุญแจสำคัญก็ยังคงเป็นเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับบริบทของคนดูได้ เพราะแบรนด์ไม่ได้ต้องการพัฒนาหนังที่ล้ำสมัยมากที่สุด แต่จะสร้างหนังอย่างไรให้เกิดแรงบันดาลใจ และทำให้คนในสังคมได้ย้อนกลับมามองตัวเองต่างหากคือเป้าประสงค์

เลือกวิธีเล่าเรื่องถูกต้อง

ไทยประกันชีวิตไม่ได้บรรจุคำว่า Sadvertising ลงในศัพท์ทางการตลาด แต่ ฟิลิป คอตเลอร์ นักการตลาดระดับโลกคือคนที่มอบนิยามนี้ให้พวกเขา ในฐานะหนังโฆษณาที่กินใจผู้ชม สื่อสารทางอารมณ์ และความรู้สึกได้ลึกซึ้ง ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการคิดเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากไทยประกันชีวิต โปรดักชันเฮาส์ และเอเจนซี่โฆษณาที่มองเห็นภาพเดียวกัน นั่นคืออยากให้ไทยประกันชีวิตเป็นแบรนด์ที่คนรักและเชื่อมั่นไว้วางใจ

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ Sadvertising ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยคราบน้ำตาเสมอไป เพราะนิยามคำว่า Sadvertising ของพวกเขาไม่ใช่หนังโศกเศร้า แต่เป็นหนังที่จะทำให้สั่นสะเทือนด้วยอารมณ์ในทางใดทางหนึ่ง หัวเราะดังที่สุด ร้องไห้ที่สุด ดีใจกระโดดโลดเต้นที่สุด คุณสมบัติของหนังโฆษณาประเภทนี้จึงต้องละเอียดลออกว่าหนังทั่วไปและมีอิมแพคกับคนดูเสมอ พื้นที่เล่นสนุกของพวกเขาจึงกว้างมาก เช่น Forget me not ที่แฝงไปด้วยความตลก อบอุ่น ตามประสาคู่รักสูงวัย ก็็เป็นอีกรสชาติของ Sadvertising ที่กลมกล่อมอีกแบบ

ต้องยอมรับว่า ต่อให้พวกเขาทำการบ้านมาอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งเมสเสจที่แหลมคม แต่ความทรงพลังของเมสเสจนั้นก็อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่า หากไม่ถูกเล่าออกมาในรูปแบบ Sadvertising ซึ่งนับว่าเป็นความกล้าหาญที่ไทยประกันชีวิตยังคงหยัดยืนทำสิ่งนี้มาตลอด 20 ปี จนแทบจะเป็นแบรนด์ประกันชีวิตเดียวที่พูดเรื่องความรัก ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกและลบ ก็นับว่าประสบความสำเร็จที่สร้างให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมได้จริงมาอย่างยาวนาน แคมเปญหนังโฆษณาของไทยประกันชีวิตจึงทำงาน ณ วินาทีที่หนึ่งหลังหนังจบเสมอ

คราฟต์ในทุกมิติ

หลายไอเดียเกิดขึ้นจากการค้นคว้า และหลายไอเดียเกิดขึ้นจากการอ่าน คุณกรณ์ เทพินทราภิรักษ์ อดีต Chief Creative Officer, Ogilvy เป็นแฟนตัวยงของหนังสือพิมพ์หัวเขียว คอลัมน์เล็ก ๆ ในกรอบมักจะเป็นข่าวที่ถูกมองข้าม แต่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ประหลาดพิลึกเกิดขึ้นเสมอ คุณกรณ์ได้แรงบันดาลใจจากเนื้อหาเล็ก ๆ นั้น และเห็นเป็นภาพหนังโฆษณา อย่าง Peace of mind ที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปขอให้หมอช่วยทำคลอดก่อนกำหนด หรือปู่ชิวเองก็มีที่มาแบบเดียวกันจากข่าวชายที่เดินทางไกลเพื่อไปเล่นดนตรีในคนรักฟังทุกวัน

พอมาถึงตัวบท นับว่าเป็นขั้นตอนที่กินเวลายาวนานที่สุด เพราะเต็มไปด้วยการถกเถียงว่าจะปั้นสรรตัวละครอย่างไรให้คนดูเชื่อว่าคนเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างจากพวกเขา ทุกคนที่เห็นในหนังจะต้องเดินออกไปจากบ้านแล้วเจอได้ทันที หนังของไทยประกันชีวิตจึงเดินเรื่องด้วยชีวิตของคนธรรมดา ๆ เป็นส่วนใหญ่ แม้แต่คำว่า พ่อ เพียงพยางค์เดียวที่เด็กหญิงคิตตี้ต้องพูดปิดท้ายในหนังเรื่อง Until we meet again ก็หาข้อสรุปกันร่วมชั่วโมง 

ยิ่งอิมแพค ยิ่งยืนระยะนาน

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ หนังโฆษณาที่ไทยประกันชีวิตทำมาโดยตลอด ส่งผลให้พวกเขาขายกรมธรรม์ได้มากขึ้นรึเปล่า

คำตอบคือ แค่ตัวแทนพูดว่า เคยดูหนังไทยประกันชีวิตไหม เขาก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

หนังเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวเปิดบทสนทนาได้ดีกับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน มีประสบการณ์คล้ายกัน ดูหนังเรื่องเดียวกัน แบรนด์ไม่ได้ถูกจดจำด้วยดาราพรีเซนเตอร์ แต่ถูกจดจำในระดับเนื้อหาและความพิเศษของหนังแต่ละเรื่อง ช่วยทำให้ลูกค้าเปิดใจง่ายขึ้น

ส่วนในวงการโฆษณาเอง นอกจากจะสั่นสะเทือนโลก มันยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมนักสร้างสรรค์ของไทยอย่างเห็นได้ชัด เป็นหมุดหมายที่ทำให้เด็ก ๆ หลายคนใฝ่ฝันอยากเป็นครีเอทีฟ หรือผู้กำกับ แม้แต่วิธีการเขียนก็อปปี้อันเฉียบขาด ประโยค Wrap-up ท้ายสุดที่เข้าขั้นยากมาก ก็ถอดบทเรียนจากหนังประหนึ่งไบเบิลเล่มน้อย และการมีอยู่ของแบรนด์ก็การันตีให้คนทำงานพอมีหวังได้ว่า ยังมีลูกค้าที่เชื่อมั่นในการทำหนังคราฟต์แบบนี้ ด้วยไอเดียแบบนี้อยู่เสมอ เพราะทุกเรื่องราวที่เลือกถ่ายทอดออกไป ล้วนมีจิตวิญญาณและความเชื่อของแบรนด์อยู่ในนั้น

สามารถรับชม บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มเบื้องหลังของ The Original Sadvertising ต้นแบบหนังโฆษณารักเรียกน้ำตา ได้ที่

และรับชมหนังโฆษณาไทยประกันชีวิต The Original Sadvertising ต้นแบบหนังโฆษณารักเรียกน้ำตา ได้ที่

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว