ตอนนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มจะกลับมา สถานที่ต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดเยอะขึ้น แม้เราจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แม้เราจะยังต้องอยู่กับโควิด-19 กันไปอีกนาน แต่บรรยากาศก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ เลยคิดว่าถึงเวลาที่เราจะเริ่มผูกเชือกรองเท้าให้แน่น แล้วออกเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง วันนี้ผมเลยจะชวนผู้อ่านทุกท่านไปชมนิทรรศการดีๆ น่าสนใจกับ ‘นิทรรศการตู้ลายทอง’ ครับผม

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

นิทรรศการตู้ลายทองนี้จัดแสดงที่อาคารถาวรวัตถุ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตึกแดง เป็นนิทรรศการที่นำเอาตู้ลายทองจำนวน 47 ใบจากหอสมุดแห่งชาติ หรือที่ในอดีตรู้จักกันในชื่อของหอพระสมุดวชิรญาณมาจัดแสดงให้ได้ชมกัน ซึ่งถือเป็นคอลเลกชันที่ทั้งน่าสนใจและหาชมได้ยากมากครับ 

ที่สำคัญ ตู้พระไตรปิฎกหรือตู้ลายทองที่นำมาจัดแสดงให้ดูในครั้งนี้ ผมกล้าพูดเลยว่า หลายตู้หาชมที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ หลายตู้มีลวดลายหรือเรื่องราวพิเศษ ที่คุณอาจมีโอกาสได้เห็นแค่ในนิทรรศการนี้เท่านั้นเลยด้วยครับ

พอเราเดินเข้าไปข้างในยังจุดเริ่มต้นของนิทรรศการภายในตึกถาวรวัตถุ เราก็จะเห็นป้ายเขียนว่า ‘หอพระสมุดวชิรญาณ’ อยู่เหนือประตูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะในช่วงเวลาหนึ่ง สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของหอพระสมุดวชิรญาณมาก่อน พร้อมกับมีตู้ลายทองที่เขียนเรื่อง พหลวิชัยชาดก หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในชื่อของ หลวิชัย-คาวี และนาฬิกาปารีสที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณ ในโอกาสที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยครบรอบ 25 ปี เป็นนาฬิกาแบบตะวันตก ตกแต่งด้วยลายทองแบบไทยเลยครับ เป็นรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ รามสูร เมขลา เรียกว่าเป็นงานตะวันออกพบตะวันตก (East Meet West) ที่ลงตัวอย่างแท้จริง อยู่ขนาบทางเดินทั้งสองฝั่ง

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต
ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

พอเราเดินผ่านป้ายหอสมุดวชิรญาณมาก็จะพบกับห้องแรก ซึ่งจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับตู้ลายทอง ว่าตู้ลายทองหรือตู้พระไตรปิฎกคืออะไร 

ตู้พระไตรปิฎกหรือบางคนเรียกว่าตู้พระธรรมก็ตามชื่อเลยครับ คือตู้ที่ใช้เก็บพระไตรปิฎกนั่นเอง แรกเริ่มเดิมที คนไทยในอดีตใช้ตู้เก็บสมุดหรือหนังสืออยู่แล้ว เพียงแค่พอมาอยู่ในวัด ก็เปลี่ยนหนังสือข้างในเป็นพระไตรปิฎกเท่านั้นเอง 

ส่วนที่เรียกว่าตู้ลายทอง ก็แน่นอนครับเพราะว่าตู้แทบทุกใบล้วนเป็นลายรดน้ำทั้งนั้น ทำให้ตู้มีอยู่แค่ 2 สี นั่นก็คือสีทองและสีดำ โดยรูปทรงตู้ของไทยจะเป็นตู้ไม้ทรงสี่เหลี่ยม ด้านหน้ามีบานประตูเปิดปิด บางตู้อาจมีลิ้นชักหรือไม่มีก็ได้ ส่วนล่างมีขาหรือฐานรองรับตู้ไว้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใช้เรียกชื่อของตู้ โดยแบ่งได้ดังนี้ 

ตู้ขาหมู คือตู้ที่มีขาเป็นแท่งตรงๆ ลงมา เหมือนขาตู้ปกติ

ตู้ขาสิงห์ หรือ ตู้เท้าสิงห์ มีขาเป็นรูปเหมือนเท้าสิงห์ มีเล็บกำลังเหยียบบนลูกแก้วคล้ายๆ สิงโตหินแบบจีน

ตู้ขาคู้ หรือ ตู้เท้าคู้ มีส่วนขาตู้คล้ายกับตู้ขาหมู เพียงแต่ส่วนล่างจะโค้งเข้ามาเล็กน้อย 

และประเภทสุดท้ายคือตู้ฐานสิงห์ ซึ่งต่างจาก 3 แบบก่อนหน้านี้ เพราะส่วนฐานเปลี่ยนเป็นฐานสิงห์

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต
ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

ผ่านห้องแรกไปแล้ว เหมือนเราได้ปูพื้นฐานเรื่องตู้ลายทองแล้วเรียบร้อย ห้องถัดๆ ไปจากนี้เป็นการพูดถึงเรื่องราวบนตู้พระไตรปิฎกแล้วครับ โดยหนึ่งห้องจะเล่า 1 เรื่อง เริ่มจากห้องแรกคือห้องรอยพระพุทธบาท เล่าเรื่องรอยพระพุทธบาทซึ่งมีทั้งในประเทศไทย เมียนมา และศรีลังกา 

ก่อนจะไปต่อกันที่ห้องรามเกียรติ์ แสดงภาพเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ ทั้งฉากใหญ่สุดอลังการที่เรียกว่า ฉากยกรบ ไม่ว่าจะศึกอินทรชิต ศึกกุมภกรรณ หรือฉากรบแบบเล็กๆ ที่เรียกว่า ภาพจับ ซึ่งเป็นฉากที่ตัวละคร 2 – 3 ตัวรบกัน ในท่าทางเหมือนยื้อยุดฉุดกระชากกันไปมาสมชื่อภาพจับ

  ถัดไปเป็นห้องทวารบาล จับทวารบาลที่เราคุ้นเคยกับการเป็นคนเฝ้าประตูหรือหน้าต่างวัด มาเป็นทวารบาลเฝ้าตู้พระไตรปิฎกกันบ้าง บอกได้เลยว่านิทรรศการนี้มีมาให้ชมแบบจุใจ ทั้งทวารบาลแบบไทยและทวารบาลแบบจีนที่เรียกว่าเสี้ยวกางเลยครับ 

ต่อด้วยห้องชาดก หนึ่งในห้องที่น่าจะแปลกแหวกแนวที่สุดในนิทรรศการนี้ เพราะชาดกบนตู้ลายทองไม่ใช่ว่าจะมีแต่ทศชาติชาดกทั่วๆ ไปแบบที่ผมเคยเขียนถึงใน The Cloud แต่ชาดกในนิทรรศการนี้นอกจาก พหลวิชัยชาดก ที่ผมพูดถึงไปแล้ว ยังมีชาดกแปลกๆ เช่น สุธนชาดก หรือ พระสุธน-มโนห์รา หรือ สุวรรณสังขชาดก หรือ สังข์ทอง ก็มีเหมือนกัน 

ก่อนปิดท้ายกันที่ห้องพุทธประวัติ มีตู้พระธรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติที่เน้นฉากใหญ่ ฉากสำคัญ เช่น เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ มารผจญ เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถใช้เวลาค่อยๆ ละเลียดชมตู้ลายทองทีละใบๆ เพื่อค่อยๆ เสพและซึมซับเรื่องราวในตู้แต่ละใบได้อย่างเต็มที่เลยครับ

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

แต่ถ้าสมมติว่าเราอยากไปชมนิทรรศการนี้แต่มีเวลาไม่เยอะ จะทำยังไงดี ผมเลยจะขอนำเสนอตู้พระธรรม 7 ใบที่ควรชมในนิทรรศการนี้เอาไว้เป็นทางเลือกสำหรับผู้อ่านครับ

อ้อ ก่อนไปดูตู้ทั้ง 7 ที่ผมจะแนะนำ ผมขอบอกทริคการดูตู้ลายทองอีกสักเรื่องละกันครับ ถ้าลองสังเกตที่ตู้หรือป้ายคำอธิบาย จะเห็นว่าตู้แต่ละใบมีรหัสเป็นตัวอักษรผสมกับตัวเลข ซึ่งรหัสตัวอักษรของตู้แต่ละใบจะบอกให้เรารู้ว่า ตู้นั้นมีอายุอยู่ในช่วงไหน ถ้าเป็น อย. ตู้นั้นสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ถ้าเป็น ธบ. ก็แสดงว่าตู้นั้นสร้างขึ้นในสมัยธนบุรี แต่ถ้าเป็น กท. ตู้ใบนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นั่นเองครับ

เริ่มต้นด้วยตู้ใบแรกคือตู้ อย. 7 ซึ่งอยู่ตรงกลางของห้องแรกเลยครับ เป็นตู้ที่ได้มาจากวัดเกดประยงค์-เล็ก ตั้งตรงจิตร จังหวัดนนทบุรี ตู้นี้เป็นตู้ฐานสิงห์ ฝีมือครูช่างวัดเซิงหวาย (ปัจจุบันคือวัดเวตวันธรรมาวาส กรุงเทพมหานคร) ช่างฝีมือชั้นสูงสมัยอยุธยาตอนปลาย งดงามอลังการในแง่ความอ่อนช้อยพลิ้วไหว ความมีชีวิตชีวาของลวดลายบนตู้ ทั้งลายกระหนกและรูปสัตว์ ซึ่งนอกจากตู้นี้ก็มีตู้ครูวัดเชิงหวายอีกแค่ตู้เดียว ก็คือตู้ลายทองจากวัดนางนอง กรุงเทพมหานคร ภายในห้องอยุธยา ในพิพิธภัณฑสถานชาติ พระนครเท่านั้น

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต
ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

ใบที่ 2 คือ ตู้ กท. 78 ได้จากวัดนาคกลาง กรุงเทพมหานคร เป็นตู้ลายทองขาสิงห์เล่าเรื่องราวเทศกาลสำคัญของชาวไทยในอดีต อย่างเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี โดยด้านหน้าเป็นภาพวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี แสดงองค์ประกอบหลายอย่างเหมือนกับสถานที่จริง และแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังสามารถเห็นได้ เช่น ยักษ์หน้าประตู บันไดนาค มณฑปรอยพระพุทธบาท และจะเห็นคนกำลังโปรยทานอยู่ด้านล่างด้วยครับ 

ส่วนด้านข้างตู้ฝั่งซ้าย เป็นภาพการเดินทางไปนมัสการด้วยเส้นทางท่าเรือ-บางโขมด ซึ่งเป็นเส้นทางยอดนิยมในสมัยก่อน พร้อมกับมีศาลเจ้าพ่อเขาตก เทพารักษ์ที่ดูแลเขาสุวรรณบรรพต ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ส่วนด้านขวาของตู้วาดภาพพระพุทธฉาย อีกหนึ่งสถานที่สำคัญใกล้กับวัดพระพุทธบาท 

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

ตู้ใบถัดมาต้องเรียกว่าตู้ชุดถัดมาถึงจะถูก เพราะตู้ชุดที่ 3 คือ ตู้ขาหมูแฝด 4 ใบครับ หรือ ตู้ กท. 79 – 79.3 ซึ่งเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติมาแต่เดิม ตู้ชุดนี้มีความพิเศษถึง 3 อย่างด้วยกัน เริ่มด้วยเรื่องราวบนตู้ที่เป็นเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 – 3 และเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปลังกา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบมากนักบนตู้ลานทอง 

ต่อด้วยวิธีการตั้ง เพราะตู้ทั้ง 4 ใบตั้งหันหลังชนกัน ทำให้ตู้ชุดนี้มีลวดลายเพียงแค่ 2 ด้านเท่านั้น ต่างจากตู้ส่วนใหญ่ที่จะเขียนลายทั้ง 4 ด้าน หรืออย่างน้อยที่สุดคือ 3 ด้านเว้นด้านหลังเอาไว้ และที่สำคัญคือ เมื่อครั้งที่ตึกถาวรวัตถุแห่งนี้ยังใช้เป็นหอพระสมุดวชิรญาณ ตู้ทั้ง 4 ใบก็ตั้งอยู่ตรงนี้นี่แหละ ดังนั้นก็เหมือนกับว่าตู้ทั้ง 4 ใบได้คืนสู่เหย้า กลับมาที่ตั้งเดิมเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ศตวรรษเลยครับ

ชมนิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุที่บรรจุประวัติศาสตร์ฝีมือช่างชั้นสูงของไทยในอดีต

ใบที่ 4 คือตู้ ธบ. 2 เป็นตู้ขาหมู เจ้าของชื่อตู้ทรงอายัดครับ ที่เรียกแบบนี้ก็เพราะตู้ใบนี้มีประวัติที่น่าสนใจมากครับ แต่เดิมตู้ใบนี้เป็นของ พระยาธรรมปรีชา (บุญ) สมัยเป็นพระราชาคณะที่วัดเทพธิดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 3 พอท่านลาสิกขา ปรากฏว่าพระที่เป็นลูกศิษย์ได้นำตู้ใบนี้ไปไว้ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมกับหนังสือ และอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนกระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเสด็จไปสุพรรณบุรี พระยาธรรมปรีชา (บุญ) ได้ทูลเรื่องตู้ใบนี้ พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตร และพบทั้งหมดอยู่ที่วัดอย่างครบถ้วน จึงนำความมาบอกพระยาธรรมปรีชา (บุญ) จึงได้ถวายตู้และหนังสือแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์จึงโปรดให้นำทั้งหมดมาไว้ที่กรุงเทพฯ 

แต่เพราะตู้ใบนี้มีความสวยงาม จึงได้ตั้งไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พอรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรเห็น จึงมีรับสั่งอายัดไว้แก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าอย่าให้แก่ใครไป เป็นที่มาของชื่อ ‘ตู้ทรงอายัด’ ซึ่งแม้ว่าตู้นี้จะไม่ได้เล่าเรื่องอะไร แต่ลวดลายบนตู้นั้นสวยงามมาก ไม่ว่าจะเป็นลายกระหนกเปลวบนตู้ หรือรูปสัตว์ทั้งภาพตัวเหรา สิงโตจีน กิเลน กระต่าย หรือรูปเทพบุตร เทพธิดา ยักษ์หรือลิง ต่างก็มีเส้นสายที่สวยงามอย่างมากเลยทีเดียว

เยือนอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ชมนิทรรศการตู้ลายทอง นิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุฝีมือช่างไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์

ถัดมาคือตู้ใบที่ 5 เป็นตู้ อย. 10 ครับ ตู้นี้เป็นตู้ขาหมูรูปทวารบาล เดิมอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร ด้านหน้าเป็นทวารบาลถือธนูและลูกศร โดยทวารบาลด้านหนึ่งลิงแบกอยู่ ส่วนอีกด้านมียักษ์แบกอยู่ ในขณะที่ด้านข้างตู้ฝั่งขวาเป็นรูปทวารบาลถือตรีศูลเหยียบสิงห์ แต่อีกฝั่งหนึ่งเป็นรูปพระทวารบาลถือธนูและลูกศรประทับยืนบนครุฑยุดนาค แถมด้านหลังยังมีฉาก เวสสันดรชาดก ตอนกัณฑ์กุมารด้วยครับ ก็คือตอนที่พระเวสสันดรชาดกบริจาคพระกัณหา พระชาลี ให้แก่ชูชกครับ

เยือนอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ชมนิทรรศการตู้ลายทอง นิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุฝีมือช่างไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์

ใบที่ 6 คือ ตู้ กท. 47 เป็นตู้ขาหมูที่มีทั้งพุทธประวัติและชาดกภายในตู้เดียว ได้จากวัดนางชี กรุงเทพมหานคร ด้านหน้าตู้เป็นพุทธประวัติเต็มพื้นที่ และช่างก็เลือกฉากพุทธประวัติตอนสำคัญ อย่างการโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งถือเป็นพุทธประวัติตอนใหญ่ที่ใช้พื้นที่เยอะ เหมาะกับตู้ลายทองมากเลย ในขณะที่ด้านข้างตู้ทั้ง 2 ข้างเป็นเรื่อง ทศชาติชาดก แบ่งออกเป็นฝั่งละ 5 ตอนเรียงจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่างนะครับ

เยือนอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ชมนิทรรศการตู้ลายทอง นิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุฝีมือช่างไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์

สำหรับตู้ใบสุดท้าย ไหนๆ เราก็เปิดด้วยตู้ที่เน้นลวดลายไปแล้ว ขอปิดด้วยตู้ลวดลายบ้าง ซึ่งอยู่ในห้องสุดท้ายพอดี เป็นตู้ขาสิงห์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งนิยมศิลปะจีน ดังนั้นตู้นี้จึงใช้ลวดลายอย่างจีนตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลายดอกโบตั๋น ลายประแจจีน แถมบริเวณด้านข้างตู้มีรูปแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ด้วยครับ ต่อให้ตู้นี้ไม่ได้เล่าเรื่องอะไร ไม่ได้มีลวดลายที่โดดเด่นอลังการ แต่ลวดลายบนตู้ถือว่าแตกต่างจากตู้ภายในนิทรรศการนี้ และมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การชมครับ

เยือนอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ชมนิทรรศการตู้ลายทอง นิทรรศการตู้ลายทอง โบราณวัตถุฝีมือช่างไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์

สุดท้ายนี้ หลังจากผมพาชมนิทรรศการและแนะนำตู้ที่คิดว่าน่าไปชมแล้ว ผมก็อยากจะชวนให้ทุกคนไปเดินชมนิทรรศการนี้กันครับ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ นักเรียน นักศึกษา คนทั่วไป เป็นคนที่ชอบเรื่องศิลปวัฒนธรรมอยู่แล้ว หรือเป็นแค่นักท่องเที่ยว ผมก็อยากชวนให้ทุกคนลองไปเดินชมนิทรรศการนี้กันครับ 

แต่ถ้าใครกังวลว่าจะดูรู้เรื่องรึเปล่า จะเข้าใจในเนื้อหาบนตู้แต่ละใบรึเปล่า ลองทำใจให้สบายแล้วไปเดินชมดูก่อนครับ เพราะต่อให้ไม่เข้าใจ ต่อให้ดูไม่ออกว่าตู้แต่ละใบบอกเล่าเรื่องราวอะไร แต่ผมเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเสพและเพลิดเพลินกับความสวยงามของตู้พระไตรปิฎกแต่ละใบได้แน่นอนครับ 

เพราะต่อให้มีตู้มากมาย ก็ไม่มีทางจะมีตู้ลายทองที่เหมือนกันแบบเป๊ะๆ ทุกตู้ต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการออกแบบของช่างเมื่อครั้งอดีต เปรียบดั่งลายเซ็นของจิตรกรคนนั้นที่ได้ฝากเอาไว้ในวัตถุชิ้นหนึ่ง และผ่านกาลเวลานับร้อยปี จนวันนี้มาจัดแสดงให้เราได้ชมกัน ซึ่งเราทุกคนสามารถชื่นชมความงามนั้นได้อย่างเท่าเทียมแน่นอนครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. ใครสนใจมาชมนิทรรศการตู้ลายทองที่ตึกถาวรวัตถุนี้ สามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. และปิดให้บริการวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ภายในสามารถถ่ายภาพได้เต็มที่เลยครับ แต่อย่าใช้แฟลชและห้ามถ่ายวิดีโอ ที่สำคัญ นอกจากนิทรรศการเรื่องตู้ลายทองแล้ว ตึกถาวรวัตถุยังมีนิทรรศการเรื่องเหรียญที่ระลึกในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยนะครับ ไปเดินชมได้เช่นกัน
  2. หรือถ้าใครสนใจ อยากรู้จักตู้ลายทองแบบลึกซึ้ง ขอแนะนำหนังสือ ตู้ลายทอง ภาค 1 (สมัยอยุธยาและธนบุรี) มีทั้งข้อมูลพื้นฐานสำหรับคนเพิ่งหัดดูตู้เป็นครั้งแรก และข้อมูลแบบละเอียดของตู้ทุกใบที่หอสมุดแห่งชาติ โดยในเล่มนี้จะพูดถึงข้อมูลเฉพาะตู้พระธรรมในสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี หนังสือเล่มนี้มีราคา 870 บาท ซื้อได้ทั้งที่หอสมุดแห่งชาติ ตึกถาวรวัตถุ หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้เลยครับ
  3. หรือถ้าใครสนใจแต่ไม่อยากซื้อ นิทรรศการนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่าย ‘แต่งชุดไทยชมตู้ลายทอง’ เพื่อลุ้นรับหนังสือจำนวน 10 รางวัล เพียงแค่ถ่ายภาพตัวเราพร้อมแต่งชุดไทยย้อนยุคกับตู้ลายทองที่จัดแสดงในนิทรรศการครับผม รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ Facebook Page : National Library of Thailand

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ