The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

ในชีวิตประจำวัน คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก แต่เรารู้จักข้าวที่กินลึกซึ้งแค่ไหน

ลองถามตัวเองว่า เรารู้ไหมว่าข้าวสวยร้อนๆ ที่แม่หุงให้กินแต่เช้าเป็นข้าวสายพันธุ์อะไร ข้าวสวยเมล็ดสีขาวจากร้านข้าวแกงใกล้ออฟฟิศที่กินประจำเป็นข้าวพันธุ์ใด ปลูกจากที่ไหน หรือแม้แต่ข้าวในกล่องอาหารแช่แข็งที่ต้องกินในวันหยุดยาว มีที่มาอย่างไร

  หากจะเดาเราคงนึกออกเพียงสายพันธุ์ข้าวที่คุ้นหูและมีขายอยู่ในตลาดทั่วไป ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ข้าวเสาไห้ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ สายพันธุ์ข้าวที่ผุดขึ้นในใจเราคงมีเท่านี้ ซึ่งนับว่าข้าวที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก คิดเป็นเพียงไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของจำนวนสายพันธุ์ข้าวไทยที่มีอยู่ในธนาคารข้าวกว่าสองหมื่นสายพันธุ์

ข้าวอีโต๋น ข้าวก่ำดอ ข้าวลืมผัว ข้าวเล้าแตก จะมีสักกี่คนที่รู้จักและเห็นความสำคัญ ในวันที่เราคิดกันว่าข้าวก็คือข้าว ที่กินให้อิ่มท้องเท่านั้น ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆ และไม่ได้ใส่ใจเรื่องใกล้ตัวที่เป็นเหมือนเลือดเนื้อของเรา 

ผลกระทบจากความไม่รู้ ไม่ได้ใส่ใจ และไม่เลือกสรร จะส่งผลให้สายพันธุ์ข้าวไทยที่เรากินกันขาดความหลากหลาย และนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางอาหาร ลุกลามไปถึงการทำลายวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม

ชาวนาไทอีสาน

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อไปทำความรู้จัก ‘กลุ่ม ชาวนาไทอีสาน’ ชาวนารุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆ ที่มีความตั้งใจอยากอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย ด้วยวิถีดั้งเดิมที่ใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการทำเกษตรพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

พวกเขาทำงานด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 2 Zero Hunger ที่มุ่งเน้นเกษตรกรรม ในด้านของการคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก และชนิดพันธุ์พืชตามธรรมชาติ รวมถึงการมีธนาคารเมล็ดพันธุ์และพืชที่มีการจัดการที่ดีและมีความหลากหลาย เพื่อสร้างหลักประกันว่า จะมีการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และองค์ความรู้ท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม

รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างหลักประกัน ว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และดำเนินตามแนวปฏิบัติการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งช่วยรักษาระบบนิเวศและช่วยพัฒนาคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง

ชาวนาไทอีสาน

กลุ่มชาวนาไทยอีสาน ยังก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙D) โดยปรับปรุงพื้นที่ริมหนองน้ำในหมู่บ้าน ให้กลายเป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์พร้อมไปกับการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านไว้ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้ชุมชนและคนทั่วไป พวกเขากำลังขมักเขม่นทดสอบ และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนับร้อยสายพันธุ์ โดยวันนี้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 7 สายพันธุ์พร้อมเป็นทางเลือกที่เพิ่มความหลากหลายให้คนไทยได้กิน 

เรื่องราวของพวกเขา ทำให้เราหันกลับมามองเรื่องข้าวใหม่อีกครั้ง เพราะสายพันธุ์และวิถีปลูกให้ได้มาซึ่งข้าวแต่ละเม็ดที่เรากิน มีความหมายยิ่งใหญ่และลึกซึ้ง ไปถึงความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของระบบนิเวศ 

ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค ซื้อข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรใดๆ ในครั้งต่อไป เราควรใส่ใจถึงที่มาและให้ความสำคัญกับความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชตามธรรมชาติ ด้วยการอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืชพรรณชนิดอื่นๆ ดูบ้าง ที่สำคัญคือวัตถุดิบทุกชนิดมีคุณค่า ซื้อแต่พอดีเท่าที่บริโภค ไม่เหลือทิ้งขว้างเพื่อความยั่งยืนของระบบการผลิตอาหารและทรัพยากรของลูกหลานเราในอนาคต

01

กลุ่มชาวนารุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทย

 อุ้ม– คนึงนิตย์ ชะนะโม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มชาวนาไทอีสาน คือชาวนารุ่นใหม่จากจังหวัดบุรีรัมย์ที่กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด

เริ่มแรกนั้นเธอทิ้งชีวิตการงานในกรุงเทพฯเพื่อกลับมาดูแลแม่ที่ป่วย และรับช่วงต่อการทำนาของที่บ้าน โดยที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการเกษตรอะไรมากมายไปกว่าการทำไปตามที่จดจำได้ในวัยเด็ก เพียงแต่ครั้งนี้เธออยากทำการเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวปลอดสารพิษ เพื่อดูแลสุขภาพของแม่ไปพร้อมกัน 

อุ้ม–คนึงนิตย์ ชะนะโม

ชีวิตการทำนาของอุ้มไม่ใช่เรื่องง่าย เธอต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ทั้งจากคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทิ้งชีวิตที่ควรจะได้เป็นเจ้าคนนายคนมาทำนาอินทรีย์ที่ลงมือลงแรงมากกว่าการทำนาใช้สารเคมีตามสมัย

แต่เธอไม่ถอดใจ หาข้อมูลมากมายจากอินเทอร์เน็ต และสุดท้ายได้ไปอบรมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาของทีวีบูรพา ทำให้เธอได้รับความรู้ชุดใหม่จากครูบาอาจารย์หลายท่านที่ทำเรื่องข้าวมานาน

ชาวนาไทอีสาน

หนึ่งในผู้ให้ความรู้ที่อาจเรียกได้ว่าเปลี่ยนความคิดของอุ้มในครั้งนั้นคือ อาจารย์ตุ๊หล่าง-แก่นคำหล้า พิลาน้อย นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชาวยโสธร และเป็นชาวนารุ่นใหม่วัยสามสิบกว่าผู้มีสายเลือดชาวนาเต็มเปี่ยม เขาอุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชพื้นบ้านให้มีความหลากหลายเหมือนที่เคยเป็นมา ทั้งยังต่อยอดปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้ตอบสนองการเพาะปลูกพื้นบ้านและนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารมาตลอดชีวิต

“จากที่ชีวิตรู้จักและเคยกินแต่ข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียว พอได้ความรู้จากพี่ตุ๊หล่าง เราตื่นเต้นมาก สายพันธุ์ข้าวมีเยอะขนาดนี้เชียวเหรอ ทำไมเราได้กินแค่นี้ละ เรานั้นอยากเอามาปลูกให้ที่บ้านกิน แต่พอได้คุยและเห็นสิ่งที่เขาทำ ทำให้อยากมีส่วนร่วมที่จะช่วยเขาในการปลูก คัดพันธุ์ข้าว เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวนาดั้งเดิมจริงๆ ที่หายไป และเพื่อนๆ หลายคนที่ไปอบรมด้วยกันก็มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน”

02

ก่อกำเนิดกลุ่มชาวนาไทอีสาน

การอบรมครั้งนั้นก่อให้เกิดการการรวมตัวกันของกลุ่มของชาวนาภาคอีสานรุ่นใหม่ ที่มีที่มาจากหลากหลายอาชีพ แต่มีพื้นเพความเป็นลูกหลานชาวนาและมีอายุไล่เลี่ยกัน ที่สำคัญคือมีความมุ่งมั่นและศรัทธาในวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างแรงกล้า โดยมีอาจารย์ตุ๊หล่างเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ ทุกคนในกลุ่มกลับไปทำนาของตนในหลายจังหวัดภาคอีสาน เช่น ยโสธร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ได้มาแบ่งปันข้อมูลกัน ความสัมพันธ์ของผู้มีอุดมการณ์เดียวกันก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นพี่น้องและเพื่อนที่พร้อมช่วยเหลือกันและกัน

หมอรุจน์–สมศักดิ์ สมจิตร

 หมอรุจน์ – สมศักดิ์ สมจิตร สัตวแพทย์ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ดูแลด้านการสื่อสารของกลุ่มชาวนาไทอีสาน เล่าถึงการเริ่มต้นของการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มชาวนาไทอีสานเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2560 โดยมีสมาชิกเพื่อนพี่น้องชาวนา 15 คน ที่มีผืนนาอยู่ในภาคอีสาน โดยตั้งกฎเกณฑ์ แบ่งหน้าที่ และกำหนดภารกิจหลักของกลุ่มไว้ว่า

แปลงนาแต่ละผืนของกลุ่มชาวนาไทยอีสานเป็นเหมือนงานวิจัยพัฒนา ทุกคนมีส่วนในการนำเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่ต้องการอนุรักษ์ หรือเมล็ดข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีการปรับปรุงและพัฒนาจากอาจารย์ตุ๊หล่างมาทดลองปลูกเพื่อเก็บข้อมูล สรุปผล เพื่อขยายพันธุ์ให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดต่อไป

03

ความมั่นคงทางอาหารที่หายไป

เราได้ยินคำพูดที่ว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” จากทั้งคู่อยู่หลายครั้ง จึงถามในฐานะผู้บริโภคทั่วไปอาจไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้ว่ามีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

“การที่เรารู้จักข้าวที่กินเพียงไม่กี่สายพันธุ์ พอไปร้านขายผักก็มีผักไม่กี่ชนิด นี่คือการขาดความหลากหลาย หากพวกเราไม่อนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ข้าวหรือพืชที่ประเทศเราเคยมีไว้ ความมั่นคงทางอาหารจะหายไปพร้อมกับรุ่นเรา” อุ้มเล่าถึงความกังวลต่อสถานการณ์ในตอนนี้ 

ชาวนาไทอีสาน
ชาวนาไทอีสาน

ก่อนที่หมอรุจน์เสริมขึ้นในประเด็นของระบบทุน ที่ทำให้ความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารหายไป “เขาผลิตได้เท่าไหร่ก็ให้คนรู้จักเท่านั้น หรือบางอย่างไม่เหมาะกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เช่น ผักพื้นบ้านต่างๆ เมื่อมีสินค้าเท่านั้นก็ประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้เท่าที่มี ว่ามีทางเลือกเท่านี้ กลายเป็นการสร้างกรอบในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะกับคนเมืองที่แทบไม่มีทางเลือกและไม่ได้หาทางเลือกเพิ่มให้กับตัวเอง ตลาดสีเขียวที่พอจะเป็นทางเลือกมีน้อย เข้าถึงได้ยาก ราคาสูงเกินไป ทุกอย่างบีบให้เราเหลือทางเลือกน้อยลง”

ความปลอดภัยและความใส่ใจในที่มาของอาหาร นับเป็นอีกมิติหนึ่งของความมั่นคงของอาหาร ที่เมื่อขาดความสนใจจนเกิดผลเสียมากมายกว่าที่เราคิดกัน

ชาวนาไทอีสาน

“เราไม่ได้สนใจที่มาของอาหาร ไม่ได้เชื่อมโยงว่าการกินของเรามีผลกระทบอะไรบ้าง การกินแบบนี้ภูเขาหัวโล้นไหม น้ำเสียหรือเปล่า มีปลาหรือจุลินทรีย์ตายไปกี่ล้านประเภท สูญพันธุ์ไปเท่าไหร่ หรือแม้แต่การกินโดยไม่รู้ที่มา ส่งผลถึงชีวิตที่ล่มสลายไปแค่ไหน ชาวกะเหรี่ยงที่เคยหากินในป่า วิถีชีวิตที่พึ่งพิงอนุรักษ์ป่าหายไป เพราะป่าถูกถางให้โล่งเตียนเพื่อปลูกข้าวโพด เมื่อกินโดยไม่มีส่วนไปเกื้อกูลผู้ผลิต ผลเสียคือความไม่ยั่งยืนโดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต หรือสร้างปัญหาสารพัดให้เกิดขึ้นมา”

“นี่ยังไม่นับถึงการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบริษัทหรือโรงสีขนาดใหญ่ พึ่งพาแรงงานบางส่วนจากคนอื่น หรือพึ่งพาเครื่องจักรบางประเภทเกินกำลังตัวเอง ก็ไม่ได้เกิดความมั่นคงที่แท้จริงลุกลามไปถึงอธิปไตยทางอาหารและผืนดินของเราอาจถูกจำกัดสิทธิ์ด้วยกฎเกณฑ์บางอย่าง ปลูกพืชผักที่มีการจดสิทธิบัตรไม่ได้ ขยายพันธุ์พืชไม่ได้ กลายเป็นการมาให้เสรีภาพในการปลูก ในที่สุดก็ไปจำกัดเสรีภาพในการกินด้วยเช่นกัน”

04

วิถีการทำนาที่ประณีตและที่ยั่งยืน

ด้วยปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารที่ประเทศไทยประสบอยู่ กลุ่มชาวนาไทอีสานพยายามหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยวิถีการทำนาที่ยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ ยิ่งในยุคสมัยที่รีบเร่ง ชาวนาถูกเร่งรัดให้ผลิตข้าวได้เร็วขึ้น ปริมาณมากขึ้นเพื่อไปแข่งขันกันในตลาด วิถีการเกษตรดั้งเดิมอันประณีตและเน้นการพึ่งพาตนเองก็หายไป วิถีสำคัญในการคัดพันธุ์ข้าวอันเป็นกระบวนการรักษาพันธุ์ให้ได้คุณภาพถูกตัดออกไป โดยชาวนาเลือกที่จะไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทหรือโรงสีขนาดใหญ่ ไม่มีการพึ่งพาตนเอง

“ปัจจุบันไม่มีใครคัดพันธุ์ข้าวแล้ว ทำให้คุณภาพของเมล็ดข้าวต่ำลง สุดท้ายข้าวไทยจะไม่มีคุณภาพ ปัญหาหนึ่งที่กรมการข้าวพบคือ ข้าวไทยมีคุณภาพต่ำกว่าเวียดนาม กัมพูชา ส่งผลต่อการส่งออก ทั้งที่พันธุ์ข้าวของเราที่เคยดี ในระดับดีเอ็นเอก็ยังดีอยู่ แต่ลักษณะการปลูกที่ไม่ได้คัดพันธุ์อยู่เสมอ ทำให้คุณภาพต่ำลงไปเรื่อยๆ” หมอรุจน์ เล่าถึงปัญหาที่เกิดจากการทำนาในวิถีปัจจุบัน

ชาวนาไทอีสาน
ชาวนาไทอีสาน

การทำนาของกลุ่มชาวนาไทอีสานจึงเป็นการรื้อฟื้นวิถีการเกษตรดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่หายไปตามกาลเวลา เป็นการทำงานอย่างประณีต เทียบได้กับเป็นงานคราฟต์ตามสมัยที่ใครๆ เรียกกัน เริ่มตั้งแต่กระบวนการเตรียมแปลงนาให้เป็นอินทรีย์ ปลอดสารเคมีและปุ๋ย ซึ่งต้องหาทางจัดการไปตามพื้นที่ของแต่ละคน

แปลงนาทุกผืนของสมาชิกกลุ่มเป็นนาดำ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องนำต้นกล้าปักดำในผืนนาทีละต้น นับเป็นการทำนาดั้งเดิมชนิดที่แต่ละพื้นที่จะมีนาชนิดนี้ก็จากชาวนากลุ่มนี้เท่านั้น เพราะปัจจุบันชาวนาทั่วไปมักใช้วิธีการหว่าน หลังจากหว่านก็พ่นยาฆ่าหญ้าแบบปูพรมเพื่อไม่ให้ต้นหญ้าโตแซงต้นข้าว ก่อนที่ฝนจะตกและมีน้ำมาคลุมต้นหญ้าและให้ข้าวเติบโต ดังนั้นถ้าบ้านไหนทำนาหว่านก็มีโอกาสที่ต้องใช้สารเคมี

ชาวนาไทอีสาน

ระหว่างที่ต้นกล้าเติบโตก็เข้าสู่การคัดพันธุ์ข้าวสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ในปีต่อไป เพราะข้าวที่ปลูกมีการกลายพันธุ์ทุกปี หากไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้ปลูกต่อ ข้าวรุ่นใหม่จะมีลักษณะห่างไกลจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเรื่อยๆ ขั้นตอนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องสังเกตกันตั้งแต่ข้าวแตกกอไปจนถึงก่อนนำไปปลูก อุ้มเล่าขั้นตอนคร่าวๆ ว่า 

1. เริ่มจากการสังเกตในช่วงที่ข้าวแตกกอ ชาวนาจะเดินดูว่าข้าวแต่ละสายพันธุ์ว่ามีการแตกกอได้ดีหรือ การออกรวงมีเมล็ดดกตรงตามพันธุ์หรือไม่ 

2. นับจำนวนรวง จำนวนเมล็ดข้าวต่อรวง ปริมาณเมล็ดข้าวต่อหนึ่งงานที่ทดลองปลูก และขนาดของเมล็ดข้าว สี และรสชาติที่ตรงตามสายพันธุ์ 

3. เมื่อได้ต้นตรงตามลักษณะพันธุ์ก็จะคัดแยกโดยผูกเชื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจะเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แต่สุดท้ายหากแกะเปลือกข้าวชิมทั้งที่ดิบแล้วไม่หอมก็ถูกคัดออก นอกจากเห็นว่ารวงสวยมากจึงจะเก็บไว้เพื่อปลูกผสมกับพันธุ์อื่นต่อไป

4. นำเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากกอที่เก็บไว้มาแกะเปลือกดูทีละเมล็ด เพื่อดูว่าข้าวที่เลือกไว้มีรูปร่างสมบูรณ์ ไม่แตก ไม่เว้าแหว่ง ไม่ท้องลาย และมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ เมื่อชิมแล้วมีกลิ่นหอม รสชาติดีก็จะเก็บไว้ บางครั้งอาจต้องใช้แว่นขยายส่องหาเพื่อเฟ้นหาเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ที่สุด เมื่อคัดเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ชาวนาจะลองชิมรสชาติอีกครั้งเพื่อทดสอบคุณภาพก่อนทำการปลูก 

ชาวนาไทอีสาน
ชาวนาไทอีสาน

การคัดพันธุ์ข้าวจึงเป็นงานละเอียดที่ต้องใช้ความรู้และความละเอียดอ่อนสูง เพียงขั้นตอนหนึ่งอาจใช้เวลาเป็นวันหรือหลายวัน หากเป็นชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีใจรักในสิ่งที่ทำขนาดนี้ คงหนีไปซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ทั้งง่ายและไม่เปลืองแรงในการทำงาน

หลังจากได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์แล้ว กระบวนการยังไม่จบ เพราะพวกเขาต้องนำเมล็ดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เหล่านี้ลงปลูกในปีถัดไป เพื่อเพิ่มจำนวนให้เยอะขึ้นและตอบสนองต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ซึ่งหมายความว่ากระบวนกันอันละเอียดลออที่เล่ามาทั้งหมดนี้ต้องทำซ้ำทุกปีไม่มีหยุด

ชาวนาไทอีสาน

“เมล็ดพันธุ์ต้องมีการปลูกทุกปี ไม่ใช่ว่าได้พันธุ์ที่ดีแล้วจะเก็บแช่ตู้เย็นไว้ 3 ปีแล้วกลับมาปลูก ทำอย่างนั้นไม่ได้ อัตราการรอดจะต่ำ เพราะไม่มีการจดจำของเมล็ดพันธุ์ในระดับดีเอ็นเอ การตอบสนองต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีไม่มีการปรับตัว ดังนั้นการอนุรักษ์ที่ดีคือต้องปลูกทุกปี ซึ่งตุ๊หล่างมีพันธุ์ข้าวโบราณเป็นร้อยพันธุ์ที่ต้องปลูกและเก็บเกี่ยวรักษาไว้ งานนี้จึงทำคนเดียวไม่ได้ ต้องแบ่งงานกันในกลุ่มทำ และยิ่งถ้ามีคนเยอะเท่าไหร่ การอนุรักษ์และพัฒนาจะไปได้ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” หมอรุจน์อธิบายเสริม

“นี่ยังไม่รวมถึงการผสมพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ” หมอรุจน์เกริ่นพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนที่อุ้มจะเสริมตามประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า “อันนี้ยากกว่าจริงๆ เพราะเราต้องนั่งรอให้เกสรบาน ใน 1 วันจะมีเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น เราต้องใช้ฟอเซปคีบเกสรจากต้นนี้ไปใส่อีกต้น”

“แต่การคีบเกสรผสมพันธุ์ยังเป็นขั้นปลายนะครับ เพราะก่อนหน้านี้ต้องปลูกข้าว 2 พันธุ์ที่มีอายุต่างกันให้ออกดอกพร้อมกัน สมมติว่าพันธุ์นี้ 120 วัน อีกพันธุ์ 80 วัน ก็ต้องวางแผนปลูกพันธุ์ 120 วันก่อน เพื่อให้ออกดอกพร้อมกัน ทุกอย่างต้องวางแผน ชาวนาต้องเป็นทั้งนักคิด นักวางแผน และนักปฏิบัติการในคนเดียวกัน”

05

ความมั่นคงทางอาหารที่เกิดได้จริง

ทุกขั้นตอนที่กลุ่มชาวนาไทอีสานทุ่มเททำล้วนเป็นการพึ่งพาตัวเองอย่างสมบูรณ์ พวกเขามีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับปลูกในปีต่อไป ในแปลงนามีข้าวหลายสายพันธุ์ที่พอสำหรับกินในครอบครัว แบ่งปันสำหรับคนที่ขัดสน และพอมีสำหรับการจำหน่าย

อุ้มเล่าถึงการทำเกษตรอินทรีย์ที่ให้ผลแก่ตัวเองในเบื้องต้นว่า“ผลที่เห็นคือเริ่มจากตัวเองมีทางเลือกที่หลากหลาย เราเลือกกินได้ จึงจะเรียกว่าในพื้นที่ของตัวเองมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างแท้จริง แล้วเราไม่ได้กินเพียงแค่ในครอบครัว แต่ได้แจกจ่ายคนที่ไม่มีกิน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้”

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙d)

นอกเหนือจากงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาในนามกลุ่มชาวนาไทอีสานแล้ว อุ้มยังก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙d) โดยปรับปรุงพื้นที่ริมหนองน้ำในหมู่บ้าน ให้กลายเป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน พร้อมไปกับการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านไว้ และส่งต่อองค์ความรู้ให้ชาวบ้านไป เพื่อหวังให้เกิดกระจายความรู้ต่อไปให้บ้านใกล้เรือนเคียง ศูนย์นี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลา 5 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วม 41 คน โดยมีแปลงปลูก 161 แปลง

สมาชิกของ 0๙d มีพืชผักอินทรีย์ปลอดภัยเก็บกินได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ อยากกินอะไรก็ปลูกเองได้ เป็นการพึ่งพิงตนเอง ลดการพึ่งพิงภายนอก ทั้งยังมีเงินเหลือเก็บและสร้างรายได้เสริมจากการขายผักที่ปลูกได้ นับเป็นการรื้อฟื้นวิธีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ที่สะท้อนถึงความมั่นคงทางด้านอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙d)
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙d)

“เด็กที่ครอบครัวยากจนสามารถเข้ามาเก็บผักของเราได้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์ เรารู้สึกว่าเป็นทางเลือกให้เขาได้ ถ้าเขาไปซื้อต้นหอม 5 บาท ผักชี 5 บาทก็นับเป็นรายจ่าย ถ้าชาวบ้านไม่มีรายจ่ายตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน พวกเขาก็มีความสุข อยากกินส้มตำก็ไปเก็บที่ศูนย์ได้ แทบไม่ต้องควักเงินเลย” เธอยิ้มอย่างภูมิใจในผลที่ได้เห็นจริง

“ศูนย์กลางของเขาจะเปลี่ยนไป จากร้านพุ่มพวงกลายเป็นที่ศูนย์แทน” หมอรุจน์พูดแซวถึงสถานการณ์ที่ได้เห็นว่าเกิดขึ้นจริงที่บ้านของอุ้ม

01

ภารกิจเพื่อมนุษยชาติ

ปัจจุบัน กลุ่มชาวนาไทยอีสานกำลังช่วยอาจารย์ตุ๊หล่างทดสอบและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนับร้อยสายพันธุ์ แต่วันนี้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 7 สายพันธุ์ที่มีการพัฒนามากว่า 20 ปีที่พร้อมเป็นทางเลือกใหม่ให้คนได้กิน แต่ละสายพันธุ์มีชื่อไพเราะและมีความหมาย สะท้อนถึงความละเมียดละไมในการสรรค์สร้างประดุจเป็นอัญมณีที่ผู้รังสรรค์ตั้งใจทำ

ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร ข้าวเจ้าหอมเวสวิสุทธิ์ ข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ ข้าวเหนียวดำอสิตะ ข้าวเจ้าหอมเพชรราตรี ทั้งหมดคือข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่อาจารย์ตุ๊หล่างและกลุ่มชาวนาไทอีสานภูมิใจเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน ‘มาเด้อมาชิมข้าวใหม่’ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ชาวนาไทอีสาน

ภายในงานมีทั้งนิทรรศการ เวิร์กช็อป การเสวนา และ Chef’s Table ที่เชฟชื่อดัง 6 คนมารังสรรค์เมนูจากข้าวทั้ง 7 สายพันธุ์ นับเป็นการสื่อสารต่อสังคมอย่างเป็นทางการที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมมากขึ้น โดยมีผู้คนเริ่มติดต่อสอบถาม อุดหนุน สนับสนุนกลุ่ม และมีเชฟชาวต่างชาตินำข้าวไทยไปใช้รังสรรค์เมนู พร้อมเป็นตัวแทนสื่อสารความตั้งใจของกลุ่มชาวนาไทอีสานให้โลกได้รู้จัก

หลังจากที่เดินบนเส้นทางการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวและพืชมาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ตุ๊หล่างและกลุ่มชาวนาไทอีสานมองไปถึงภารกิจสำคัญที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ที่อยากให้มนุษยชาติมีความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง

  “นอกจากเราอยากพัฒนาพันธุ์ให้ได้ข้าวที่ดี สวย อร่อย ตรงตามความต้องการหรือความชอบของคนที่มีหลากหลายมากและเล็กลงเรื่อยๆ จนเป็น Subculture แล้ว เรายังอยากปลูกข้าวให้ได้ในสภาพอากาศและความเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าไม่มีการพัฒนา ข้าวจะนิ่ง ไม่มีการปรับ เพราะระบบการเกษตรที่ทำลายทุกอย่าง ไม่ได้ช่วยในการพัฒนาสายพันธุ์เลย” หมอรุจน์เริ่มเล่าให้เห็นความตั้งใจที่ใหญ่ขึ้น

“ตุ๊หล่างมองไปถึงอนาคต เขาถึงกับฝันว่าจะเอาข้าวที่ปลูกได้ผลผลิตมากๆ และปลูกได้ในที่แห้งแล้งมาพัฒนาให้อินเดียปลูก เพราะข้าวพันธุ์อินเดียไม่เวิร์ค เขาอยากให้คนอินเดียได้กินข้าวที่อร่อย ปลูกครั้งเดียวได้กินทั้งปี เพราะเขาเคยไปอินเดียและเห็นว่าที่นั่นไม่มีความมั่นคงใดๆ การทำเกษตรยังไม่ถึงจุดที่พอเลี้ยงดูตัวเองได้ แค่พื้นฐานการมีอยู่มีกินยังยาก ถ้าได้ข้าวสายพันธุ์ที่ไปตอบโจทย๋ได้ก็เป็นเรื่องดี นี่คือเขามองความยั่งยืนไม่ใช่เฉพาะในบ้านเราแล้ว แต่ยังมองถึงอนาคตเผื่อแผ่ไปถึงที่อื่นด้วย”

จากวันเริ่มต้นที่เพียงอยากมีข้าวหลายสายพันธุ์ให้คนที่บ้านได้กิน วันนี้อุ้มกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งอันมีคุณค่าให้แก่มวลมนุษยชาติ ที่เธอเองไม่เคยตระหนักถึงว่างานที่เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ และทำด้วยใจจะก่อกำเนิดผลยิ่งใหญ่ได้เพียงนี้

“อุ้มรู้สึกอิ่มอยู่ข้างใน ไม่รู้จะอธิบายเป็นคำพูดยัง นี่เราทำได้ขนาดนี้เชียวเหรอ สิ่งเล็กๆ ที่เราทำอยู่เป็นเรื่องปากท้องของเรา แต่กลับเชื่อมโยงกับผู้คนตั้งมากมาย เรารู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว เราได้รู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ที่เมื่อก่อนเราเคยค้นหาว่าเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร นี่แหละความหมายของชีวิตที่เราจะมีอยู่ ณ ตอนนี้และต่อไป” อุ้มทิ้งท้ายด้วยดวงตามีประกายแห่งความสุข

เราเชื่อมั่นว่ากลุ่มชาวนาไทอีสานและภารกิจในการผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 2 Zero Hunger จะดำเนินต่อไปด้วยความยั่งยืน เพราะตอนนี้สิ่งเล็กๆ ที่พวกเขาค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้น ทำให้ผู้บริโภคในเมืองอย่างพวกเราได้ตระหนักถึงความปลอดภัยและความใส่ใจที่มาของอาหาร ซึ่งเป็นอีกมิติของความมั่นคงของอาหาร ที่เมื่อขาดความสนใจจนเกิดผลเสียมากมายกว่าที่เราคิดกัน

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท