ผมเป็นวิศวกรไทยที่เกิดในสหรัฐอเมริกา เติบโตที่ประเทศไทย จนท้ายที่สุดเลือกย้ายถิ่นฐานกลับมาเรียนหนังสือและใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ด้วยประสบการณ์การทำงานกับองค์กรที่มีผลงานระดับโลก และผลงานล่าสุดที่ได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์กับการเปิดตัวเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์ของบริษัทชื่อดังอย่าง Virgin Galactic ผมเปรียบตัวเองว่าเป็นหนึ่งใน ‘นวัตกร’ (Innovator) เชื้อชาติไทย 100% ที่มีความคิด ความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ และเส้นทางการทำงานที่อยากนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง

ชีวิตคนไทยที่ได้เป็นวิศวกรออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สหรัฐอเมริกา

ผมเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์เพราะอยากทำงานเป็นวิศวกร ซึ่งคุณสมบัติสำคัญในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะด้านอากาศยานและอวกาศ คือต้องมีใบปริญญาด้านนี้ถึงจะทำงานในตำแหน่งนี้ได้ ผมเลือกเรียนด้านวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) เพราะนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม แต่สายงานที่สนใจและอยากทำมาโดยตลอดก็คือวิศวกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Engineering 

ผมกับเพื่อนร่วมทีมโปรเจกต์ที่ได้ออกแบบและผลิตชิ้นงานจริงตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย

เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles – UCLA) ผมก็เริ่มสมัครงาน ซึ่งในเวลานั้น สังเกตได้ชัดเจนว่านักศึกษาจบใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานจริง มักหางานค่อนข้างยาก สุดท้ายผมต้องอาศัยการนำเสนอโปรเจกต์ที่เคยทำในระหว่างเรียนเพื่อสร้างความโดดเด่นให้ประวัติของตัวเอง จนได้รับเลือกเข้าทำงานแรกที่บริษัท Zodiac Aerospace ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยจะมีนวัตกรรมออกมาเรื่อย ๆ เริ่มต้นจากคอนเซปต์ไปจนถึงการผลิต และนำไปติดตั้งบนเครื่องบินโดยสารของสายการบินต่าง ๆ ซึ่ง Chief Technology Officer (CTO) ของบริษัทชั้นนำอย่าง OpenAI ก็เคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน 

ในช่วงเริ่มต้นทำงาน ผมยังไม่ได้รับมอบหมายให้ทำการออกแบบ แต่ให้ไปปฏิบัติงานอยู่ในสายการผลิตเสียก่อน ซึ่งหน้าที่หลัก ๆ คือการแก้ไขความผิดพลาดของชิ้นงานที่คนอื่นทำมาก่อนแล้ว นับเป็นร้อย ๆ ชิ้นงาน แต่แน่นอนว่าด้วยพื้นฐานทางความรู้บวกกับความมุ่งมั่นที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ก่อให้เกิดความตื่นรู้กับโอกาส ได้ค่อย ๆ เรียนรู้งาน ช่วยส่งผลให้ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรออกแบบในระยะเวลาไม่นาน

การนำเสนองานที่ออกแบบให้กับทีมงานจากบริษัทแอร์บัส (Airbus) และสายการบินลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa)

สำหรับผม ผลการเรียนหรือเกรดที่ได้รับเป็นส่วนประกอบเพื่อส่งเสริมประวัติของบุคคลเท่านั้น การรู้จักแนะนำหรือแนบประสบการณ์ เช่น โปรเจกต์ตอนเรียนหรือร่วมกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ มีส่วนช่วยให้ประวัติของเราโดดเด่นขึ้น หากเปรียบเป็นตัวเลือก (Candidate) ก็ถือเป็นบุคคลที่มีองค์ประกอบหลากหลาย น่าหยิบยกขึ้นมาเพื่อเลือกสัมภาษณ์ก่อนเข้าทำงาน และที่สำคัญอีกส่วนคือการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ห้องเรียนนอกสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นกับเราได้ทุกที่ ไม่ได้หยุดหลังจบการศึกษา แต่ยังคงดำเนินต่อไป และการทำงานก็เป็นสถาบันอีกหนึ่งหน่วยที่ทำให้เราเรียนรู้เก็บข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาอากาศยานแบบ Clean Sheet ร่วมกับทีมงานทั่วโลก

จุดเด่นของอุตสาหกรรมอากาศยานคือการได้ร่วมงานกับทีมวิศวกรจากนานาประเทศนอกเหนือจากสหรัฐฯ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และบราซิล โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ หรือที่เรียกกันว่า ‘Clean Sheet’ ซึ่งเป็นการเริ่มงานออกแบบใหม่ทั้งหมด ต้องอาศัยงบประมาณในระดับแสนล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นระบบการทำงานที่ละเอียดอ่อนและท้าทายมาก เพราะผลลัพธ์ไม่ใช่เพียงการออกแบบผลงานเพื่อสร้างให้ผลิตและใช้งานได้ แต่ต้องคำนึงถึงการออกแบบเพื่อให้ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารในทุกสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉิน 

ส่วนหนึ่งของการทดสอบชิ้นส่วนอากาศยานตามมาตรฐานองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration – FAA)

การออกแบบและพัฒนาในอุตสาหกรรมอากาศยานจึงต้องคำนึงถึงความทนทานเมื่อใช้งานจริงในระบบเสริมของส่วนต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการทดสอบชิ้นงานออกแบบ เพื่อให้ผ่านทั้งกฎเกณฑ์และถึงข้อกำหนดที่ตั้งไว้ โดยหน่วยงานดูแลความปลอดภัยระดับสากล 

บางส่วนของผลงานจากเครื่องบินโดยสารที่เคยผ่านการออกแบบมาแล้ว เช่น เครื่องบิน Airbus รุ่น A380 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และแท้จริงทางบริษัทเองก็ไม่ได้รับผลกำไรเท่าที่ควร หากแต่เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างผลงานของทางบริษัทเองเสียมากกว่า 

ทดลองห้องโดยสารเพื่อการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากมาตรฐานขององค์การนาซา (NASA) ให้มีความเหมาะสมกับบุคคลทั่วไป

โดยส่วนตัว ความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้รับและเรียนรู้มาจากช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ถือว่าคุ้มค่า ช่วยเปิดมุมมองกับเพื่อนร่วมงานทั่วโลก และที่น่าสังเกตคือได้เริ่มนำทฤษฎีมาใช้ด้วยความเข้าใจอย่างจริงจัง ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบ หากไม่มีความเข้าใจและอาศัยการท่องจำจะช่วยอะไรไม่ได้มาก การผสมผสานสิ่งที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็ก เช่น เรขาคณิต สุดท้ายก็ได้นำมาใช้ เพราะเมื่อใช้ความเข้าใจและรู้จักการบูรณาการความรู้มาช่วยทำงาน เราจะเลือกได้ว่าความรู้ที่มีมาก่อนนั้นเป็นประโยชน์เพียงพอ หรือนำมาเลือกใช้ได้กับงานส่วนไหนได้บ้าง 

 ณ บริเวณด้านหน้าท่าอวกาศยาน (สเปซพอร์ต) Spaceport America มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

อีกด้านที่น่าสนใจ คือความแตกต่างทางภาษาและการสื่อสาร แม้ว่าทีมงานจะมีความถนัดทางภาษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่การสื่อสารด้วยสูตรและการคำนวณทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นศาสตร์สากล ซึ่งเมื่อเห็นและนำเสนอผ่านการสื่อสาร ก็จะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ทันที 

ผมว่าความสามารถในการจดจำและเลือกใช้ความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้วยความเข้าใจนั้นสำคัญกว่าการท่องจำ และความสำเร็จที่ได้รับจากการพัฒนาชิ้นงานขึ้นมาใหม่ในรูปแบบธุรกิจ ตัวชี้วัดอาจไม่ได้อยู่ที่ผลกำไรเสมอไป เพราะความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมามีคุณค่ามากกว่าทั้งในทางจิตใจและความทรงจำ ยิ่งเมื่อรวมกันกับความรู้ที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เรานำองค์ประกอบเหล่านี้ไปต่อยอดได้ในอนาคตเพื่อสร้างความสำเร็จ

การเปิดตัวเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์ที่มีฐานลูกค้าทั่วโลก

เมื่อเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด การออกแบบและนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การต่อยอดทางสายอาชีพจึงเริ่มขึ้นเมื่อผมได้รับโอกาสเข้าร่วมงานกับบริษัท Virgin Galactic ที่สร้างยานอวกาศและทำเที่ยวบินไปยังอวกาศ ด้วยคติที่ว่า ‘Space for All’ ขณะนั้น ผมรับรู้ได้เพียงว่าการสั่งสมประสบการณ์และชั่วโมงการทำงานในสายงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอากาศยานนานนับสิบปีนำมาใช้ประโยน์ มาต่อยอดเพื่อสายงานด้านอวกาศนี้ได้อย่างแท้จริงและครบถ้วน เพราะผมได้รับมอบหมายเป็นผู้นำทีมตั้งแต่การเริ่มออกแบบ ดูแลการผลิต รวมไปถึงการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าการรักษามาตรฐานความปลอดภัยยิ่งต้องมีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ 

ยาน VSS Unity ที่จอดอยู่บนลานบินรอการตรวจเช็กสภาพหลังกลับสู่จากการเดินทางไปอวกาศ

โดยหากเปรียบลักษณะการทำงานส่วนนี้ คงไม่ต่างจากการทำหน้าที่ชนิดควบคู่ (Double Duty) ที่ควบคู่สายงานทั้งของทางผู้ผลิต เช่น บริษัท Boeing หรือ Airbus และกับส่วนของทางสายการบินพาณิชย์ ซึ่งมุมมองของ 2 สายงานจะต่างกัน แต่มีจุดหมายร่วมคือความสำเร็จด้านเทคโนโลยีและการบริการขนส่งทางอากาศ ขณะที่ในทางของอุตสาหกรรมการนำบุคคลทั่วไปขึ้นบินสู่อวกาศเพื่อเปิดประสบการณ์นั้น Virgin Galactic น่าจะเป็นธุรกิจลำดับแรกที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเดินทางสู่อวกาศได้ ซึ่งความคิดที่แตกต่างเช่นนี้เองก็คือการเริ่มต้นค้นหาเสียก่อน จากความน่าจะเป็นกับความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

และจุดนี้เอง ถือว่ามีความแตกต่างจากแนวคิดแบบสายงานของการใช้เครื่องบินเชิงพาณิชย์โดยสิ้นเชิง กลับกลายเป็นว่าเครื่องบินคือนวัตกรรมที่ได้รับการคิดค้น พัฒนา และใช้งานมานานมากพอที่จะมีข้อมูลให้เปิดดูและศึกษาได้ดั่งหนังสือที่ให้เปิดแล้วทำตาม ขณะที่ยานอวกาศชนิดติดจรวดเพื่อปล่อยกลางอากาศรุ่นแรกของโลก กลับเป็นนวัตกรรมที่เรากลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียน เป็นหนึ่งในบุคคลเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์การสร้างและลงมือทำก่อนให้ผู้อื่นได้เปิดอ่าน แล้วอาจนำไปปฏิบัติไปต่อยอดได้อีกในอนาคต 

เมื่อผมได้รับเลือกเข้ามาทำงานจริง ทั้งความชำนาญจากประสบการณ์บวกกับพื้นฐานทางการศึกษาที่ตรงจุด จึงได้สายงานรับผิดชอบเป็นวิศวกรด้านอวกาศที่ต้องรู้จักการบูรณาการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ ๆ อันน่าอัศจรรย์ ขณะที่ได้ทำงานร่วมกันกับนักบินอวกาศเพื่อการคิดค้นห้องโดยสาร (Cabin) ประเภทที่ลงตัว เหมาะสมกับสรีระของมนุษย์ เพื่อนั่งโดยสารขึ้นไปยังอวกาศอย่างสะดวกสบาย ขึ้นบินและลงจอดอย่างปลอดภัย มีความทนทานใช้งานได้นานเพียงพอ รวมถึงการค้นคว้าวิจัยในด้านต่าง ๆ ตามมาตรฐานขององค์การนาซา (NASA) คงไม่ผิดหากจะเรียกได้ว่าเป็นการบุกเบิกการท่องอวกาศเชิงพาณิชย์ของโลก และมีฐานลูกค้าที่ให้ความสนใจจากนานาประเทศ โดยความสำเร็จคือการนำลูกค้ารายแรกขึ้นสู่อวกาศ ภายใต้ภารกิจที่ใช้ชื่อว่า Galactic 01 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ Spaceport America มลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา 

พบปะกับ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน (Sir Richard Branson) ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมกับแสดงความยินดีหลังเสร็จจากภารกิจ

การให้ความสำคัญและใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจกับมาตรฐานการทำงานระดับสากลถือเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากการปฏิบัติยึดถือเพื่อให้เกิดการยอมรับและตรงตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์แล้ว ยังช่วยพัฒนาและกล่อมเกลาศักยภาพของตัวเราเองในฐานะบุคคลได้อีกด้วย เพราะการสร้างเทคโนโลยีระดับโลกจำเป็นต้องใช้การทำงานที่เป็นมาตรฐานสากล อย่าลืมว่าไม่มีใครที่สร้างเครื่องบิน ยานอวกาศ หรือจรวด ได้แต่แรก หากไม่ได้รับการเรียนรู้ พัฒนา ฝึกฝนและปฏิบัติตามมาตรฐานข้อกำหนด ซึ่งศักยภาพเหล่านี้นี่เองที่ทุกคนพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยความพยายาม มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และใช้เวลากับมันไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านไหนก็ตาม 

ขณะที่การเรียนรู้ของผมเองก็คงไม่ได้สิ้นสุดแค่อากาศยานหรือยานอวกาศ หวังว่าทุกท่านก็คงจะมีเส้นทางนวัตกรรมที่สนใจด้วยเช่นกัน ขอให้ทุกท่านโชคดี

Writer & Photographer

ธนิก นิธิพันธวงศ์

ธนิก นิธิพันธวงศ์

วิศวกรออกแบบและนวัตกรผู้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานและอวกาศ