The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

เชื่อว่าผู้ที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างเราๆ น่าจะเคยเห็นภาพคนพร้อมสัมภาระในกระสอบใบโต นั่งนอนอยู่ตามถนนข้างป้ายรถเมล์บ้าง พื้นที่สาธารณะบ้าง เคยสงสัยไหมว่าพวกเขาเป็นใคร ทำไมจึงไม่กลับบ้าน

คนไร้บ้าน (Homeless) คือกลุ่มคนไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ใช้ชีวิตหลับนอนในพื้นที่สาธารณะหรือศูนย์พักพิง

ทัศนคติของสังคมต่อคนไร้บ้านตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คือความหวาดกลัวและการตัดสินพวกเขาด้วยลักษณะภายนอก ไม่ว่าจะเป็นผมที่ยาวรุงรัง ไปจนถึงเสื้อผ้าเก่ามอมแมม และความไม่เข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ลึกลงไป 

เพราะภายใต้เงื่อนไขของความไม่มั่นคง ความขาดแคลนยากจน การเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคม ปัญหาส่วนบุคคล เช่น เรื่องสุขภาพกายใจ ไปจนถึงครอบครัว มนุษย์ทุกคนมีโอกาสที่จะประสบเหตุไม่คาดคิดทางชีวิต ที่พาไปสู่สถานะการเป็นคนไร้บ้านได้

ถ้าเช่นนั้น เราจะช่วยเหลือคนไร้บ้านได้อย่างไร

สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

คอลัมน์ Sustainable Development Goals ชวนคุณไปพูดคุยกับ สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ถึง 18 ปี ของการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายคนไร้บ้าน และการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมที่ชื่อว่า ‘บริษัท Thai Hopeful จำกัด’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยพัฒนาทักษะงานด้านต่างๆ รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มในการจัดหางานให้คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 1 No Poverty สร้างหลักประกันว่าทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มเปราะบางอย่างคนไร้บ้าน จะมีสิทธิ์เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์และใช้ประโยชน์เหนือที่ดิน รวมถึงลดความเสี่ยงของกลุ่มคนดังกล่าวในการเผชิญเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

ผลการศึกษาในหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นว่าคนไร้บ้านมีสาเหตุความเป็นมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การแก้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านจึงไม่ใช่แค่สร้างบ้านให้เขาอยู่เป็นอันเสร็จ แต่มันมีปัญหาทางสังคมที่ลึกกว่านั้นซ่อนอยู่ข้างใต้ รอให้ไปทำความเข้าใจและแก้ไขไปทีละเปลาะ

คนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มคนที่ประสบภาวะยากลำบากในการใช้ชีวิตที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมือง และพวกเขาก็เหมือนคนทั่วไป ที่ต้องการโอกาสและพื้นที่ในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับพวกเราทุกคน เพราะแม้จะไร้บ้าน แต่พวกเขาก็พร้อมทำงานเพื่อหาเงินหล่อเลี้ยงชีวิต

สังคมจะเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ถ้าเราเปิดใจให้ความแตกต่าง เราจึงอยากให้ทุกคนลบภาพคนไร้บ้านในทัศนคติเดิมๆ ออกไป แล้วมาทำความเข้าใจพวกเขาใหม่ไปพร้อมกัน

01

ทำไมจึงไร้บ้าน

สมพรเริ่มอธิบายว่า “คนไร้บ้านไม่ใช่คนในชุมชนแออัด เพราะเรารู้ว่าคนในชุมชนแออัดส่วนใหญ่เป็นคนชนบทที่ย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองมาเพื่อหางานทำ มาค้นหาชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่เขาต้องการจึงไม่ซับซ้อน เขาแค่ต้องการอาชีพ ที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ แตกต่างจากความต้องการของคนไร้บ้านที่ซับซ้อนกว่ามาก

“มิติปัญหาของคนไร้บ้านจะลึกกว่า เพราะปมปัญหาของเขาไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจหรือความยากจนอย่างเดียว เขาอาจมีปัจจัยเรื่องความไม่มั่นคงภายในครอบครัวที่อยากหลบหนีออกมา หรือปัจจัยทางสุขภาพ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มีปัญหาด้านจิตใจ บางคนเจอมรสุมชีวิตหนักหน่วง ทำให้ข้างในเขาอ่อนแอและไม่พร้อมที่จะอยู่ในสังคมเพื่อแบกรับปัญหา เขาจึงเลือกที่จะเดินออกมา”

สมพรเล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ในช่วงแรกของการทำงานกับพี่น้องคนไร้บ้าน จะมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เรียกว่า ‘ทีมเดินกาแฟ’ 

สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

“เราต้องการพูดคุยและศึกษา เพื่อหาทางช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องคนไร้บ้านให้ดีขึ้น แต่คนไร้บ้านสมัยก่อนเข้าถึงยากมาก เพราะเขาระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เลยต้องทำทุกวิถีทางให้เขากล้าคุยกับเรา เขาไปกินข้าวเราก็ไปด้วย เขาไปรับแจกของที่วัดเราก็ไปด้วย เป็นวิธีการทำงานแบบฝังตัวของทีมเดินกาแฟ พอเขาเห็นเราบ่อยๆ ช่วยพาคนไปโรงพยาบาล พาไปทำบัตร เขาก็เริ่มไว้ใจและเปิดใจคุยกับเรา”

ชื่อ ‘เดินกาแฟ’ มาจากการที่สมพรและทีมงานมีโอกาสได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีกิจกรรม ‘เดินชา’ ที่ทางหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทำ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนไร้บ้าน โดยทีมงานจะถือกาน้ำร้อนเข้าไปรินแจกคนไร้บ้านกลุ่มต่างๆ พร้อมพูดคุยและให้โบรชัวร์แจ้งกิจกรรมและเวิร์กช็อปต่างๆ จึงนำกิจกรรมดังกล่าวมาใช้กับพี่น้องคนไร้บ้านชาวไทย แต่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทบ้านเราเป็นแจกกาแฟ โอวัลติน และน้ำเต้าหู้แทน 

ใน พ.ศ. 2546 ประเทศญี่ปุ่นมีคนไร้บ้านอยู่เกือบ 30,000 คน จากยุคฟองสบู่แตก และลดลงเหลือเพียง 5,000 คน ใน พ.ศ. 2561 จากการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความรับผิดชอบในประเด็นคนไร้บ้าน รวมถึงทัศนคติของคนญี่ปุ่นต่อคนไร้บ้านก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นเข้าใจและให้การยอมรับในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง เช่นคนญี่ปุ่นทั่วๆ ไป

02

ไม่มีบ้าน แต่ต้องมีงานทำ

คนไร้บ้านก็เหมือนคนทั่วไปที่ต้องมีเงินหล่อเลี้ยงชีวิต และเงินเหล่านั้นมาจากงานที่ทำ

เมื่อพูดถึงอาชีพของคนไร้บ้าน เชื่อว่าสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือภาพคนแบกสัมภาระหรือขี่รถซาเล้งตระเวนเก็บของเก่าไปขาย ทั้งที่จริงแล้วยังมีอีกหลากหลายอาชีพที่คนไร้บ้านทำ เพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือ

ประเทศไทยมีการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านใน 3 เมืองใหญ่ ผลการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ มีจำนวนคนไร้บ้าน 1,307 คน เทศบาลนครขอนแก่น 136 คน และเทศบาลนครเชียงใหม่ 75 คน โดยสัดส่วนเพศชายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 85 และเพศหญิงประมาณร้อยละ 15 

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

ร้อยละ 90 ของจำนวนคนไร้บ้านมีอาชีพทำ โดยส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เนื่องจากไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก เช่นงานรับจ้างรายวันต่างๆ อย่างรับจ้างเข็นรถเข็นในตลาด แรงงานช่างก่อสร้าง แม่บ้านรายวัน ไปจนถึงอาชีพที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคม อย่างการเก็บและแยกขยะไปขายเพื่อรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องและกระดาษ

“งานเกือบทั้งหมดที่พูดไปนั้นเป็นงานที่ไม่มีความมั่นคงและความแน่นอนทางรายได้ อธิบายให้เห็นภาพคืองานนอกระบบแบบรายวัน จึงไม่มีสวัสดิการใดๆ มารองรับ ปกติ รายได้ของพวกเขาก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ถ้าวันไหนไม่สบาย ป่วย ต้องไปหาหมอ นอกจากจะไม่ได้ค่าจ้างแล้วยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอีก” สมพรอธิบาย

นอกจากนี้ ยังมีคนไร้บ้านอีกประมาณร้อยละ 25 ที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันสิทธิ ซึ่งอาจจะมาจากการไม่เคยทำบัตร ไม่มีคนมายืนยันตัวตนหรือทำบัตรหาย ทำให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐไม่ได้ จากสุขภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่จะแย่ยิ่งกว่าเดิมเมื่อไม่มีเงินเข้ารับการรักษาพยาบาล

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน
บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

“คิดแบบเรียบง่ายที่สุด ขนาดเราเป็นคนชั้นกลางทั่วไป เดินเข้าไปสมัครงานตามบริษัท มีวุฒิการันตี กว่าจะได้งานก็แสนยากเย็น นับประสาอะไรกับคนไร้บ้าน บางคนไปว่าเขาไม่รู้จักทำมาหากิน พี่น้องคนไร้บ้านบางคนเขาพยายามมากเพื่อที่จะได้รับโอกาสในการหางาน แต่บางครั้งโอกาสเหล่านั้นมันก็ไม่ได้มาง่ายๆ ส่วนหนึ่งเพราะเขาถูกตีตราว่าเป็นคนไร้บ้านด้วย”

สมพรบอกว่า จริงๆ แล้วคนไร้บ้านมากกว่าครึ่งเป็นประชากรที่มีต้นทุนด้านการประกอบอาชีพ มีความสามารถที่พัฒนาต่อยอดได้ แต่เงื่อนไขในการใช้ชีวิตของพวกเขา ทั้งปัญหาความยากจน เศรษฐกิจ สภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง รวมถึงสภาพร่างกายที่ไม่เอื้อในการทำงาน ไปจนถึงปัญหาครอบครัว ทำให้พวกเขานำต้นทุนด้านอาชีพเหล่านั้นมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงไม่ได้

“มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยทำงานกับคนจนเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะคนไร้บ้านซึ่งเป็นคนจนเมืองที่จนที่สุด ถือเป็นกลุ่มคนที่ประสบภาวะยากลำบากในการใช้ชีวิตที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมือง โดยทำงานภายใต้แนวคิดว่า คนทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะจนเพียงใด ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีศักยภาพที่ถ้ามีโอกาสดึงออกมาใช้ ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมได้”

03

พื้นที่เติมฝันของคนไร้บ้าน

ที่นี่คือ ‘บ้านเตื่อมฝัน’ จังหวัดเชียงใหม่

บ้านเตื่อมฝันคือหนึ่งในศูนย์คนไร้บ้าน 5 แห่งในประเทศไทย ประกอบไปด้วยศูนย์กรุงเทพฯ 3 แห่ง และศูนย์ภูมิภาค 2 แห่ง คือที่จังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่ สถานที่นี้เป็นเหมือนศูนย์ตั้งหลัก ทำความเข้าใจ และอนุบาลพี่น้องคนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน
บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

“เมื่อก่อนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ อย่างที่สนามหลวงเมื่อสักยี่สิบปีที่แล้ว กลางคืนจะมีคนนอนอยู่สามร้อยถึงสี่ร้อยคน จน พ.ศ. 2544 กรุงเทพฯ มีนโยบายเข้มงวดเรื่องมาตรการจัดการพื้นที่สาธารณะ ทำให้พี่เขาอาศัยหลับนอนตามพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้อีก จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไร้บ้าน”

มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยจึงยื่นมือเข้ามาช่วยพี่น้องคนไร้บ้าน ด้วยการผลักดันสู่การจัดตั้งศูนย์คนไร้บ้านแห่งแรกในประเทศไทย นั่นคือที่บางกอกน้อย ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู’

ต่อมาใน พ.ศ. 2558 จากศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย ก็ขยับขยายเป็นโครงการชุมชนใหม่คนไร้บ้าน บนที่ดินเช่าแปลงเล็กๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ณ พุทธมณฑลสาย 2 

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

สมพรอธิบายว่า “ชุมชนใหม่คนไร้บ้านถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของพี่น้องคนไร้บ้านยี่สิบสามคนที่ได้มีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าปัจจัยที่จะทำให้ใครสักคนละทิ้งสังคมมาเป็นคนไร้บ้านนั้นมีมากมาย โดยเฉพาะปัญหาในจิตใจ คนไร้บ้านบางคนจึงมีกำแพงในใจและปิดกั้นตัวเองจากภายนอก ในขณะเดียวกัน สังคมก็มองข้ามละเลยเขาเช่นกัน

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครสักคนจะหลุดพ้นจากวงจรคนไร้บ้าน และกว่าชีวิตคนไร้บ้านจะเปลี่ยนแปลงมาได้อย่างวันนี้ พวกเขาต้องผ่านกระบวนการฟื้นฟูศักยภาพในตัวเอง เพื่อให้กล้าที่จะพูดคุย กล้าที่จะคิดถึงเรื่องอนาคต ไปจนถึงกล้าที่จะเปิดใจใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ”

ในศูนย์คนไร้บ้านทั้งห้าแห่งมีกฎระเบียบและความรับผิดชอบที่พี่น้องคนไร้บ้านต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต้องบริหารและแชร์ร่วมกัน ไปจนถึงการออมทรัพย์เพื่อไว้ใช้ยามเจ็บไข้และเพื่อที่จะมีบ้าน ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้หลายคนมีความฝันและเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน
บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

จากนั้นใน พ.ศ. 2561 บ้านเตื่อมฝันแห่งนี้จึงถูกก่อสร้างขึ้น ถือเป็นโครงการแบบ Bottom-up เพราะเกิดจากการเสนอรูปแบบการพัฒนาโดยเครือข่ายคนไร้บ้านและภาคประชาชน ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นผู้สนับสนุน

บ้านเตื่อมฝัน หรือบ้านเติมฝัน คือสถานที่เติมเต็มความหวังในการสร้างอนาคตแก่พี่น้องคนไร้บ้าน นอกจากเป็นสถานที่ตั้งหลักหลบภัยแล้ว ยังเป็นพื้นที่ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงทักษะอาชีพทั้งงานช่าง เบเกอรี่ งานฝีมือ และเกษตรกรรม ให้พี่น้องคนไร้บ้านทำงานหล่อเลี้ยงตัวเองได้

สมพรเล่าว่า “ที่นี่มีแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ที่นอกจากพี่น้องคนไร้บ้านจะได้ทดลองปลูกเพื่อนำไปปรุงอาหารสำหรับตัวเอง และแจกจ่ายให้คนไร้บ้านอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในศูนย์คนไร้บ้าน แต่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้ว ยังเหลือขายส่งตลาด สร้างรายได้อีกช่องทางด้วย”

04

รับงานแบบมืออาชีพ ภายใต้ทักษะความสามารถที่มี

จากการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย ณ ศูนย์คนไร้บ้าน ทำให้ได้เห็นทักษะประเภทต่างๆ ของพี่น้องคนไร้บ้าน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพของสมาชิกคนไร้บ้านในเครือข่าย เช่น การทำเกษตรกรรม การเลี้ยงปศุสัตว์ การรับเหมาต่อเติม การตัดแต่งต้นไม้ ไปจนถึงการรับขนย้ายและรื้อบ้าน

สมพรอธิบายต่อว่า “ที่ผ่านมา ทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านเป็นไปในทางลบ พวกเขาถูกตีตราแบบเหมารวมว่าเป็นพวกขี้ขโมย สกปรก ขี้เกียจ ทำให้นายจ้างบางคนไม่ยินดีที่จะจ้างงานเท่าไหร่นัก และทักษะที่นำไปสร้างอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ถูกละเลยไป ทั้งที่จริงๆ แล้วคนไร้บ้านไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกคน ส่วนใหญ่ตั้งใจทำงานเพื่อหาเงินดำรงชีวิต”

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

‘ห้างหุ้นส่วนจำกัดคนไร้บ้าน’ จึงถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มระหว่างคนไร้บ้านกับนายจ้าง โดยมีมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยช่วยการันตีความน่าเชื่อถือในการทำงาน นายจ้างก็สบายใจว่าจ้างคนไร้บ้านในเครือข่ายแล้วไม่หนีงานหายไปไหนแน่นอน

“ห้างหุ้นส่วนจำกัดคนไร้บ้าน ตั้งขึ้นเพื่อรับงานแบบมืออาชีพ ภายใต้ทักษะความสามารถที่พี่น้องคนไร้บ้านมี งานอย่างแรกๆ ก็เป็นพวกช่างต่อเติม ช่างตัดแต่งต้นไม้ เล็มหญ้า และแม่บ้านทำความสะอาด เราก็ลงทุนซื้ออุปกรณ์พวกเลื่อยไฟฟ้า สว่าน เครื่องตัดหญ้า ไว้ให้พวกเขาได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

“นอกจากสนับสนุนทักษะเดิมที่มีอยู่ เราก็พยายามเสริมสร้างทักษะอาชีพอื่นๆ ที่คิดว่าเขาจะทำได้และพี่น้องคนไร้บ้านส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว อย่างการทำอาหารและเบเกอรี่ เลยกลายเป็นโครงการหนุนพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพให้พี่น้องคนไร้บ้าน ซึ่งมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน ช่วงที่มีเวิร์กช็อปก็ถือว่าทั้งวุ่นวายและสนุกไปพร้อมๆ กัน” สมพรเล่ายิ้มๆ

ห้างหุ้นส่วนจำกัดคนไร้บ้านให้บริการงาน 5 ประเภทคือ งานช่าง งานตัดแต่งต้นไม้ งานเบเกอรี่ งานเกษตรกรรม งานแม่บ้านและทำข้าวกล่อง มีพี่น้องคนไร้บ้านกว่า 30 คนหมุนเวียนกันเป็นผู้ดำเนินงาน โดยส่วนใหญ่อยู่กับเครือข่ายมานานกว่า 5 ปี สมพรบอกว่ารู้สึกยินดีที่เห็นคุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ของพวกเขาพัฒนาขึ้นกว่าเก่ามาก

05

อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยสองมือของตัวเอง

หลังเปิดทำการไปได้พักใหญ่ เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยก็เกิดแนวคิดว่า ถ้าขยายเป้าหมายการสร้างงานสร้างอาชีพจากกลุ่มคนไร้บ้านอย่างเดียวไปสู่ประชากรเฉพาะกลุ่มอื่นๆ ด้วย ก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานให้คนในสังคมได้ไม่น้อย

ห้างหุ้นส่วนจำกัดคนไร้บ้านจึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท Thai Hopeful จำกัด ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายขึ้น ทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะมาเป็นคนไร้บ้าน ไปจนถึงกลุ่มพี่น้องคนสลัม โดยพยายามแมตช์งานแต่ละชนิดที่ได้รับจ้างมาให้เหมาะสมกับทักษะของลูกจ้างที่สุด

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

“โมเดลการทำงานของ Thai Hopeful ไม่ได้คิดเชิงธุรกิจ ขนาดว่ารับงานมากๆ เพื่อหวังกำไร เราทำงานเพื่อพัฒนากลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เราจึงคิดในเชิงการดูแลมากกว่า คือมุ่งเน้นการพัฒนาความมั่นคงจากภายในจิตใจของพี่น้องประชากรกลุ่มเฉพาะ รับเฉพาะงานที่เหมาะสมกับเขา จากนั้นก็ค่อยๆ ฝึกฝนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

“ตั้งแต่เปิด Thai Hopeful มา ก็มีนายจ้างหลายคนถูกเราปฏิเสธไม่รับงาน ซึ่งไม่ใช่ว่าเราหยิ่ง เล่นตัว หรืออะไรนะ แต่เราต้องประเมินศักยภาพคนในเครือข่ายด้วยว่าเขาจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จหรือเปล่า เช่นมีคนประสงค์จะมาจ้างพี่น้องคนไร้บ้านไปทำงานไม้ ซึ่งทักษะที่เขามีชื่อคืองานช่างซ่อมแซมทั่วไป ไม่ได้เป็นช่างไม้มืออาชีพที่มีฝีไม้ลายไม้ขนาดนั้น เมื่อประเมินแล้วว่าไม่ได้ เราก็ต้องปฏิเสธงานไป”

สมพรอธิบายว่ากระบวนการตอนนี้คือ พยายามฝึกให้พี่น้องคนไร้บ้านทำงานได้เทียบเท่ามาตรฐานคนทั่วไป เพื่อที่จะได้งาน ไม่ใช่สร้างอภิสิทธิ์ให้พวกเขารับงานได้เหนือว่าแรงงานคนอื่น เพราะมันจะตอบข้อครหาว่า เขาก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีด้วยสองมือของตัวเองเทียบเท่าคนอื่นๆ ในสังคมได้ เพียงสังคมเปิดประตูให้โอกาส และพยายามทำความเข้าใจว่า ถ้าเขาไม่มีปัญหาความมั่นคงจากภายใน ก็คงไม่หลุดออกมาจากสังคมแน่นอน

บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

“ทุกวันนี้เวลารับงานเรายังต้องลงไปช่วยควบคุมคุณภาพงานบ้าง ก็พยายามจะบอกเขาเสมอว่าอย่าทำขี้เหร่นะ ทำงานทุกครั้งต้องตั้งใจ ถ้านายจ้างพอใจ ครั้งหน้าเขาก็จะได้มาจ้างเราอีก งานล่าสุดที่เพิ่งเสร็จไป คือรับจ้างปูอิฐตัวหนอนในสวนที่สำนักงานของ สสส. อย่างตอนที่พี่น้องคลองลาดพร้าวต้องย้ายไปบ้านพักชั่วคราว ระหว่างรอการปรับปรุงพื้นที่คลองลาดพร้าว Thai Hopeful ก็เข้าไปรับจ้างรื้อย้ายบ้าน”

06

สร้างเครือข่ายงานเพื่อความยั่งยืนของสังคม

สมพรอธิบายว่า ในจำนวนประชากรคนไร้บ้าน มีผู้สูงอายุอยู่ถึงร้อยละ 20 Thai Hopeful จึงพยายามกระจายรายได้ให้คนกลุ่มนี้ด้วย

“อย่างตอนที่ไปรับจ้างตัดแต่งกิ่งไม้ คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุอาจจะปีนต้นไม้ไม่ไหว เราก็ให้เขาเก็บกวาดกิ่งไม้ ใบไม้แทน”

จุดประสงค์ของ Thai Hopeful ไม่ใช่นายหน้าหางาน แต่เป็นบริษัทเพื่อสังคมที่จะช่วยพยุงและช่วยพัฒนาศักยภาพพี่น้องคนไร้บ้าน เพื่อให้เขามีงาน มีเงินดูแลตัวเองได้

สมพรอธิบายว่า ถ้ามีนายจ้างติดต่องานโดยตรงโดยไม่ผ่าน Thai Hopeful พวกเขาก็รวมกลุ่มกันไปรับงานได้อย่างอิสระ

แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

“สิ่งที่เราคาดหวังคือเขานำองค์ความรู้ ทักษะ การบริหารจัดการ ที่ได้เรียนรู้กับเราไปประยุกต์ใช้ในชีวิตเขาต่อได้ อาชีพจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อคุณทำงานอย่างมีคุณภาพ แสดงให้สังคมเห็นว่าคุณมีศักยภาพในการดูแลตัวเอง ไม่เป็นภาระสังคม

“จากที่ผ่านมา เมื่อแยกตัวออกมาเป็นคนไร้บ้าน เขามักจะใช้ชีวิตปลีกวิเวกคนเดียวเพราะไม่ไว้ใจใคร ตอนนี้เขาทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ และเราพยายามทำงานร่วมกับหลายกลุ่มหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างเครือข่ายการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” สมพรกล่าวทิ้งท้าย

คนแต่ละคนมีวิธีจัดการปัญหาในชีวิตที่แตกต่างกัน เราต้องไม่ลืมว่าถ้าไม่มีปัญหา พวกเขาก็คงไม่ตัดสินใจออกจากบ้านมา และแม้จะไร้บ้าน พวกเขาก็สมควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างคนทั่วไป

แพลตฟอร์มจัดหางานที่สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืนให้คนไร้บ้าน

การทำงานของบริษัท Thai Hopeful จำกัดและเครือข่ายพี่น้องคนไร้บ้านในการผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 1 No Poverty จะดำเนินต่อไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเราทุกคนว่าพร้อมจะเปิดใจโอบรับความแตกต่าง และให้โอกาสเพื่อนร่วมสังคมได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นไหม

แม้เราจะไม่ใช่นายจ้างที่มอบงานซึ่งจะช่วยให้พี่น้องคนไร้บ้านมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตได้ แต่ในฐานะเพื่อนร่วมสังคม อาจมีวันที่เราเดินสวนกันบนท้องถนนหรือนั่งที่ป้ายรถเมล์แห่งเดียวกัน แค่สายตาที่มองอย่างเข้าใจ ก็ช่วยต่อเติมกำลังใจให้พวกเขาได้มหาศาล

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย