7 กุมภาพันธ์ 2020
5 K

“นึกถึงเวลาที่ได้ไปต่างประเทศ แล้วได้ดูหนังฟิล์มดีๆ มันสวยมากเลยนะ มันไม่เหมือนดูวิดีโอ เราอยากให้คนได้รู้สึกเหมือนกัน ให้เขาได้ความรู้สึกนี้ แล้วเขาจะเข้าใจเหตุผลความสำคัญของหนังเอง”

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คนปัจจุบัน เจอกับเราที่อาคารสรรพสาตรศุภกิจ อาคารใหม่ล่าสุดของหอภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 5 ภาพโรงภาพยนตร์ดีไซน์ทันสมัยในตึกใหม่แห่งนี้ เป็นที่กล่าวขานบนโลกออนไลน์กลางเดือนก่อน เมื่อมีข่าวว่า เพชรา เชาวราษฎร์ ราชินีจอเงินจะมาพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์ 

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

อาคารสไตล์ดัตช์ผสมสแกนดิเนเวียนอย่างที่ชลิดาบอก ประกอบไปด้วยโรงภาพยนตร์ที่ได้มาตรฐาน 3 โรง ห้องสมุดแบบมัลติมีเดีย 1 ห้อง และพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหลายชั้น เป็นพื้นที่ในแบบที่ไม่ได้เอาใจแค่คอหนัง แต่คิดไปถึงทุกคนที่จะมาใช้งานตามความตั้งใจของหอภาพยนตร์ที่มีมาโดยตลอด

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าการได้ดูหนังดีๆ สักเรื่องมันเปลี่ยนความคิด มุมมอง และชีวิต ของคนคนหนึ่งได้ หอภาพยนตร์จึงอยากให้อาคารใหม่แห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ให้รู้สึกสบายใจทุกครั้งที่มา เพื่อทำหน้าที่ 2 อย่างคือ อนุรักษ์ และเผยแพร่ เพิ่มเติมจากพิพิธภัณฑ์และโรงภาพยนตร์ศรีศาลายาที่มีอยู่เดิม โดยมีฟังก์ชันหน้าที่ของ Cinémathèque หรือภาพยนตร์สถาน เป็นแรงบันดาลใจ

และทันทีที่ชลิดาเริ่มเล่าเรื่องของอาคารแห่งนี้ให้ฟัง เราก็รู้สึกเหมือนกำลังได้ดูหนังเกี่ยวกับการเดินทางของหอภาพยนตร์มาสู่รูปแบบที่ทุกคนอยากเห็นตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ

5 4 3 2 1 Action!

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

Scene 1

Introduction

หอภาพยนตร์ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2527 เริ่มต้นมาจาก โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยหอภาพยนตร์ที่ตอนนั้นเป็นนักวิชาการของกรมศิลปากรกำลังศึกษาเรื่องฟิล์มเพื่อหาข้อมูลไปเขียนหนังสือ เขาพบฟิล์มกรุหนึ่งที่กรมรถไฟ ในตอนนั้นไม่มีหน่วยงานใดที่มีความชำนาญในเรื่องนี้โดยตรง หอจดหมายเหตุหรือหอสมุดก็รับผิดชอบแค่เอกสารที่เป็นหน้ากระดาษ จึงมีการรณรงค์ให้มีหน่วยงานเก็บรักษาที่เกี่ยวข้องเหมือนที่ในต่างประเทศมีสหพันธ์ภาพยนตร์นานาชาติ 

“สิ่งที่ทำให้เกิดหน่วยงานนี้ขึ้นมาจริงๆ คือตอนที่ค้นพบภาพยนตร์ของรัชกาลที่ห้าที่ประเทศสวีเดน ตอนที่ท่านเสด็จประพาสยุโรป ถือว่าเป็นคนไทยคนแรกที่อยู่ในภาพยนตร์ก็ว่าได้

“เหตุการณ์พบฟิล์มของรัชกาลที่ห้าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญจนผลักดันให้เกิดหอภาพยนตร์ขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คนก็มองภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงอยู่ดี จนถึงทุกวันนี้ คนที่รู้ว่าเราทำงานที่หอภาพยนตร์จะชอบถามว่า ขอสมัครเป็นดาราได้ไหม เราก็บอกไม่ได้ เราไม่ได้ทำหนัง มันเป็นความเข้าใจของคนที่เวลาพูดถึงหนัง จะนึกถึงดาราเป็นอย่างแรก แต่ไม่ได้มองหนังในแง่ที่มันเป็นประวัติศาสตร์ เป็นศิลปะ มันเป็นหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความเข้าใจกับคนว่ามันไม่ได้เป็นแค่สินค้า 

“ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเขามองงานที่เราทำ เขาจะมองว่า คุณต้องส่งเสริมตลาดสิ ทำให้มันโกอินเตอร์ ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือรักษาประวัติศาสตร์ จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานก็นับเป็นประวัติศาสตร์แล้วนะ แล้วสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อทุกคนในประเทศ เราไม่ได้ทำให้กับกลุ่มที่เป็นผู้สร้างหรือคนดูที่เป็นแฟนหนังอย่างเดียว”

Scene 2

Conflict

เมื่อหน้าที่หลักของหอภาพยนตร์คือการรักษาประวัติศาสตร์ ความรู้สึกของคนทั่วไปที่มีต่อหอภาพยนตร์จึงค่อนข้างห่างไกล นอกจากการอนุรักษ์ที่เป็นหน้าที่หลักแล้ว การเชื่อมต่อกับผู้คนจึงเป็นเป้าหมายที่หอภาพยนตร์พยายามทำให้สำเร็จมาตลอด 

“แรกเริ่มเราตั้งใจให้มีตึกทำงานอนุรักษ์ และต้องมีพื้นที่สำหรับให้บริการประชาชนอย่างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งงบตอนนั้นก็มีจำกัด แต่เราจะคุยกันตลอดว่า เราไม่ได้อนุรักษ์ไว้เฉยๆ เก๋ๆ เราอนุรักษ์ไว้เพื่อให้ทุกคนได้ชื่นชม ถ้าเราอนุรักษ์ไว้แล้วคนไม่ได้ชื่นชม ไม่ได้เห็น มันคงไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่เทคโนโลยีมาถึงเราด้วยนะ อย่างเมื่อก่อนพอมีงบจำกัดแบบนี้จะโฆษณาประชาสัมพันธ์เราไม่มีงบ ก็แป้กๆ อยู่อย่างนั้น แต่พอตอนนี้เรามีโซเชียลมีเดีย มีคนที่สนับสนุนเรา ช่วยเหลือเราให้ผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกไป”

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

เมื่อพร้อมทั้งแรงกายแรงใจและงบประมาณ หอภาพยนตร์จึงนำเสนอโครงการสร้างอาคารสรรพสาตรศุภกิจ อาคารแห่งใหม่ที่จะเชื่อมงานอนุรักษ์กับผู้คน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากซีนิมาเทค (Cinemateque) หรือ ภาพยนตร์สถาน ที่มาจากภาษาฝรั่งเศส และในประเทศฝรั่งเศสมีหอภาพยนตร์ที่เรียก Cinémathèque Française ซึ่งเน้นเรื่องการฉายหนัง จนทำให้เกิดวัฒนธรรมการดูหนังของคนในประเทศ ความพิเศษของซีนิมาเทค คือคนสร้างรักหนัง คนฉายก็รักหนัง และรักการฉายหนังด้วย สุดท้ายมันเลยไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นสถานที่ฉายหนังแล้วให้คนมาดู แต่เป็นการสร้างกลุ่มคนดูที่จะกลายเป็นคนทำหนังในอนาคต

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

Scene 3

Rising Action

อาคารใหม่ของหอภาพยนตร์แห่งนี้ ดูด้วยตาก็รู้เลยว่ารูปลักษณ์แปลกใหม่และทันสมัยกว่าหน่วยงานรัฐอื่นๆ และฟังก์ชันก็ยังผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบมาแล้วด้วยเช่นกัน

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

“เราใช้ทีมสถาปนิกเดียวกับที่ทำให้อาคารของคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยบรีฟจากดีไซน์ที่เราไปดูจากต่างประเทศ ก็เลยได้ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ดัตช์ผสมสแกนดิเนวียน อย่างข้างบนที่มีทางเดินเฉียงๆ ออกไปชั้นโรงหนังก็จะคล้ายกับของ Norway Opera House แต่สุดท้ายมันมีความท้าทายที่นอกเหนือจากการสร้างตึกที่สวย เช่น เราอยากทำให้มันประหยัดพลังงาน เป็นพื้นที่แบบเปิด แต่พอทำเพดานสูง สิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนคือลมแรงมาก เพราะฉะนั้นเวลาฝนตกก็จะเปียกมาก วิ่งถูกันก็ลำบากแล้ว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราไม่เคยเจอ สุดท้ายเราก็ได้แต่แก้ปัญหา เพราะไม่มีทางที่จะจัดการควบคุมทุกอย่างได้”

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

ส่วนฟังก์ชันของอาคารใหม่แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ หนึ่ง โรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมงานอนุรักษ์กับคนให้ใกล้ชิดมากที่สุด โรงภาพยนตร์มีทั้งหมด 3 ขนาดด้วยกันคือ โรงขนาด 50 คน 120 คน และ 361 คน ตามแต่ลักษณะการใช้งาน ซึ่งทั้ง 3 โรงนี้ฉายหนังได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระบบฟิล์มไปจนถึงไฟล์ดิจิทัล ระบบเสียงและภาพต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน 

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

สอง พื้นที่จัดการนิทรรศการที่มีทั้งแบบชั่วคราวและแบบระยะยาว ซึ่งตอนนี้หอภาพยนตร์กำลังเร่งทำงานอย่างหนักเพื่อแสดงงานครั้งแรกที่วางตารางไว้ประมาณกลางปีนี้

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

และสาม ห้องสมุด ที่มีทั้งหนังสือ นิตยสาร และตำราที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ไปจนถึงแหล่งค้นคว้าในรูปแบบดิจิทัลที่หอภาพยนตร์ต้องทำการจัดเก็บใหม่ทั้งหมด มี VOD ของภาพยนตร์ไทย 2,000 เรื่อง และสารคดีข่าว 5,000 เรื่อง ซึ่งในอนาคตจะมีระบบค้นหารูปภาพที่ถ่ายจากภาพยนตร์หลายหมื่นภาพเพื่อการศึกษาและการนำไปใช้งานอีกด้วย

Scene 4

Climax

“เราอยากช่วยสร้างคนดูที่มีคุณภาพ” ชลิดาบอกแบบนั้น

“เราคิดว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่แข็งแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนสร้างอย่างเดียว คนดูก็สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมหนังของประเทศเกาหลีที่แข็งแรงมาก หนังเกาหลีมีความหลากหลายไม่ได้มีแค่ละครซีรีส์ เขามีหลายอย่าง แล้วคนดูก็ไม่ได้ดูเพราะชาตินิยม แต่เขาดูเพราะมีทางเลือก ถ้าฉันชอบแนวนี้ ฉันก็จะดูแนวนี้ ฉันชอบหนังที่จะแข่งกับฮอลลีวูด ฉันก็จะดูหนังที่มีหน้าตาสู้ฮอลลีวูดได้ ถ้าอยากดูหนังอาร์ต ก็มีผู้กำกับหนังอาร์ต พอมันมีทุกอย่าง วัฒนธรรมการดูหนังของเขาเลยแข็งแรง เราเลยรู้สึกว่าก่อนจะถึงตรงนั้น เราต้องสร้างตัวกลางอะไรสักอย่างที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง เราเลยพยายามทำเท่าที่กำลังเราจะทำได้”

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

สิ่งที่หอภาพยนตร์พยายามทำ คือการฉายหนังให้หลากหลาย มีโครงการโรงหนังโรงเรียนที่ครูอาจารย์พากลุ่มนักเรียนมาดูหนังได้ มีการฉายหนังเก่าตามความต้องการของชมรมผู้สูงอายุในชุมชน และสร้างอาคารนี้ให้เกิดประโยชน์กับคนดูหรือผู้ใช้ให้มากที่สุด

“เราอยากให้คนมาที่นี่แล้วรู้สึกสบาย อาคารนี้เลยโล่งโปร่ง เป็นพื้นที่เปิดกว้างเยอะ เราคิดถึงคนทุกระดับ แต่ก่อนโรงหนังเก่าก็เคยมีคนที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีมากมาดู เราต้อนรับ เพราะนี่เป็นหน่วยงานรัฐและเขาเป็นประชาชน เขาก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับโอกาสนี้ ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องกลิ่น เราก็พยายามแก้ไขปัญหาเพราะอยากให้เขาดู เลยหาชุดมาให้เปลี่ยนเพื่อจะได้ไม่รบกวนคนดูคนอื่นๆ แต่การที่มีคนหลายระดับมาดูก็เป็นสัญญาณที่ดี”

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

Scene 5

Falling Action

“ในยุคที่มีเน็ตฟลิกซ์หรือสตรีมมิ่งต่างๆ ที่คนไม่ต้องไปดูหนังที่โรงแล้ว ทำไมเรายังต้องเดินทางมาชานเมืองเพื่อดูหนังที่โรงแบบนี้อยู่” เราถามคำถามสุดท้ายก่อนแยกกับชลิดาในวันนั้น

“เรามองว่ามันเหมือนการไปโบสถ์ คนก็ยังไปโบสถ์ ส่วนตัวเราก็ยอมรับว่าดูเน็ตฟลิกซ์และไม่ได้ไปโรงหนังบ่อยเหมือนเมื่อก่อน แต่มันก็ยังมีหนังบางเรื่องที่เราต้องไปดูในโรงเท่านั้น ไม่รู้ทำไม ฟังก์ชันของโรงหนังมันอาจไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน เราเลยต้องทำรูปแบบอื่นมาเสริมเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่จัดนิทรรศการหรือห้องสมุด แต่เรายังคิดว่าการที่คนมาเจอกันมันสำคัญ และนับวันเหมือนคนจะต้องการสิ่งนี้มากขึ้น เราว่าการได้ออกมามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์บ้างหลังจากอยู่บ้านกับตัวเองมานานก็ไม่เลวนะ ถ้าสถานที่นั้นมันเป็นที่ที่ทำให้เรารู้สึกสบาย ที่ช่วยคืนความเป็นมนุษย์บางอย่างให้ได้

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์
อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

“เมื่อเช้าเพิ่งอ่านบทความว่าทำไมในยุคดิจิทัล คนถึงกลับมาสนใจความเป็นอะนาล็อกมากขึ้น บางคนกลับมาถ่ายรูปกล้องฟิล์ม บางคนกลับมาฟังแผ่นเสียง เพราะดิจิทัลกับอะนาล็อกมันไม่ได้เท่ากันเป๊ะ มันแทนกันไม่ได้

“สิ่งที่ได้ดูมันแค่คอนเทนต์ที่อยู่บนจอตรงหน้า แต่การมาดูหนังเราต้องตั้งใจเลยนะ เช้าวันนี้วางแผนนัดกับเพื่อนจะไปดูหนังเรื่องนี้ ก่อนดูไปดื่มกาแฟ ดูหนัง ดูเสร็จแวะกินข้าว คุยกัน เราว่ามนุษย์ยังต้องการพื้นที่แบบนี้ รอแค่การคมนาคมที่สะดวกกว่านี้ให้คนมาที่นี่ได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง”

งานของชลิดาและหอภาพยนตร์ไม่ได้จบลงแค่นี้ การมีอาคารใหม่ไม่ได้การันตีว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำจะเป็นไปอย่างใจอยาก แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นก้าวใหญ่ที่จะทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และเผยแพร่ภาพยนตร์ต่อไป และทุกครั้งที่ท้อแท้ เธอจะบอกกับคนในทีมว่า “เราต้องดูโต๊ะทำงานตัวนั้นไว้เสมอว่า เราเริ่มทำทุกอย่างขึ้นมาจากตอนที่มีแค่โต๊ะตัวนี้ตัวเดียว”

อาคารสรรพสาตรศุภกิจ, หอภาพยนตร์

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

มัลลิกา มาลี

หญิงสาวผู้มีชื่อเล่นยาวเท่ากับชื่อจริง ชอบสะสมสติ๊กเกอร์เป็นอาจิน และมีคลังงาน Exhibition ในหัวตลอดเวลา พร้อมวางแผนไปคาเฟ่ต่อทุกครั้ง เลี้ยงแมวสามตัว แต่อีกไม่นานคงเอาไปปล่อย เพราะดื้อเกิน ล้อเล่นค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan