13 กุมภาพันธ์ 2025
3 K

แม้ความยั่งยืนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว ความยั่งยืนยังส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการอยู่รอดของธุรกิจในยุคนี้อีกด้วย

“คงไม่มีใครอยากเห็นข่าวโรงงานปิด เลย์ออฟคนงานนับพันคน แต่ถ้าไม่เตรียมพร้อม ผมเชื่อว่าเรื่องนี้มาเพียบเลย เพราะเรื่องความยั่งยืนกระทบสังคมจริง ๆ” ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองผู้จัดการใหญ่จาก KBank บอกกับเรา พร้อมยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วนบางอย่างในบ้านเรา

“สมมติว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน สินค้าจากไทยชิ้นละ 100 บาท สินค้าจากอีกประเทศชิ้นละ 103 บาท แต่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าสินค้าของเรา คู่ค้าเขาก็ต้องกลับมาคิดแล้วว่า ถ้าซื้อสินค้าจากไทย 100 บาท พอมารวม Carbon Emission ของผลิตภัณฑ์แล้ว ทำให้เขาต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเพิ่มอีก รวมแล้วมูลค่าราคาสินค้าของไทยกลายเป็น 105 บาท งั้นฉันไม่ซื้อของไทย ไปซื้อจากอีกประเทศที่ราคา 103 บาทดีกว่า ทุกอย่างจะเริ่มมาสมการนี้

“สุดท้ายแล้ว มันจึงไม่ใช่แค่ลดการใช้พลังงาน แต่เป็นเรื่องกติกาโลกด้วย จะมองว่าเป็นกติกาเพื่อให้โลกดีขึ้นก็ได้ หรือจะมองคล้ายกันแต่คนละด้าน คือกติกากีดกันทางการค้าอีกประเภทหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเราค้าขายกับต่างประเทศก็จะเริ่มแข่งขันได้ยากขึ้นแล้ว”

จึงไม่น่าแปลกใจที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็น ‘ทางรอด’ ของทุกธุรกิจในปัจจุบัน

เมื่อเรื่องนี้สำคัญ แต่วิธีปรับตัวที่ถูกทิศทางนั้นควรจะเป็นแบบไหน 

หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือการร่วมมือกันระหว่าง KBank และ ‘Thai Eastern Group Holdings’ หรือ TEGH ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ายางพารา ปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในภาคตะวันออก เป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพ และรับบริหารจัดการกากอินทรีย์รายใหญ่ใน EEC ซึ่ง KBank ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินมาอย่างยาวนาน เป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่ช่วยสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนของ TEGH จนถึงปัจจุบัน

หากคุณเป็นคนทำธุรกิจ เราเชื่อว่าเรื่องราวต่อไปนี้จะเป็นภาพตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและการเงิน หรือหากไม่ได้สนใจเรื่องธุรกิจ เราเชื่อว่าอย่างน้อยคุณจะได้เรียนรู้วิธีคิดแบบมองการณ์ไกลและเห็นภาพของเทรนด์โลกยุคปัจจุบันชัดเจนยิ่งขึ้น

Green DNA

KBank เรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านความยั่งยืนของไทยและบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในการดำเนินงานของธนาคารมาตั้งแต่ปี 2018 

แม้จะลดคาร์บอนภายในองค์กรได้อย่างน่าพอใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป KBank เองก็ต้องปรับตัว เพราะตามข้อตกลง Paris Agreement ที่ระบุว่าภาคธนาคารต้องนับรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองด้วย KBank จึงคิดและพัฒนาตัวเองให้เป็น ‘มากกว่าธนาคาร’ และทำมากกว่าการปล่อยสินเชื่อ Green Loan (การกู้ยืมสีเขียว) ซึ่งก็เป็นโครงการหนึ่งภายใต้แนวคิด ‘Go Green Together’ ที่ต้องการชวนทุกคนร่วมเปลี่ยนแปลงคนละไม้คนละมือ เพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป โดยมีบริการหลากหลายที่ช่วยให้ภาคธุรกิจทำเรื่องความยั่งยืนได้ถึงแก่น 

อย่างแรก คือการให้ความรู้และคำแนะนำ ตั้งแต่สร้างความตระหนักรู้ว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องการทำเพื่อสังคมอย่างเดียว แต่ต้องทำแล้วคุ้มค่า ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว ไปจนถึงการให้ความรู้แบบลงลึกจนธุรกิจนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานอย่าง EARTH JUMP หรือสัมมนาเชิงลึก Decarbonize Now รวมถึงการมีทีม Industrial Decarbonization Solution ที่พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำได้ รวมถึงให้คำแนะนำในเรื่องการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็คือทีมที่ได้ทำงานร่วมกับ TEGH ด้วย 

อย่างที่ 2 คือการให้เครื่องมือสำหรับตั้งเป้าหมายและวัดผลอย่างชัดเจน หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือเหมือนคนจะลดน้ำหนักก็ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองหนักเท่าไหร่ ดังนั้น ลูกค้าก็ควรมีเครื่องมือคำนวณการปล่อยคาร์บอนอย่าง KCLIMATE Carbon Accounting เพื่อประเมินและวางแผนเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน 

อย่างสุดท้าย คือเครื่องมือด้านพลังงานและคมนาคม เพราะการปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่มาจากพลังงาน เราต้องเผาอะไรสักอย่างให้เกิดพลังงาน จึงเกิด K-GreenSpace เว็บไซต์ที่รวบรวมโซลูชันเพื่อการประหยัดพลังงานให้คนที่อยากติดแผงโซลาร์เซลล์ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และบ้านประหยัดพลังงาน รวมถึงมีแพลตฟอร์มให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ชื่อว่า WATT’S UP ซึ่งทั้งหมดนี้คือเครื่องมือที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงพลังงานสะอาดง่ายขึ้น รวมถึง GreenPass ซึ่งเป็นโปรเจกต์ใหม่ที่จะช่วยให้ภาคประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขอและขายใบรับรอง REC ได้ ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยครั้งแรกในไทย 

“เราจะเห็นว่าในปัจจุบันภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องซื้อเครดิตทางสิ่งแวดล้อมเพื่อมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsets) ขององค์กร ทั้ง Renewable Energy Certificate (REC) และคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้เหมือนกัน โดย REC จะใช้ประโยชน์ได้กับกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยบริษัทจะซื้อ REC เพื่อมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 ที่มาจากการใช้ไฟฟ้าของบริษัท เช่น คาร์บอนจากการใช้แอร์ในสำนักงาน ซึ่งมักจะซื้อใบรับรองการชดเชยจากผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ซื้อใบรับรองจากผู้ใช้งานโซลาร์รายย่อยไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการและขั้นตอนในการเข้าถึงบริการขอใบรับรองของรายย่อยยังมีความยุ่งยากและซับซ้อน”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ KBank สร้างแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวก เป็น One Stop Service Platform ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นบริการทางด้านการขึ้นทะเบียนและการซื้อ-ขาย REC เรียกว่าเป็นการกระจายรายได้ไปสู่รายย่อยอีกทางหนึ่ง

“ทั้งหมดนี้ KBank ทำมานานจนกลายเป็นดีเอ็นเอของเรา เราเลยใช้คําว่ากรีนดีเอ็นเอ แปลว่าการทําให้ตัวเองและพนักงานรู้สึกถึงความสําคัญของสิ่งเหล่านี้ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกค้า ภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับ TEGH ที่เราได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินมาอย่างยาวนาน จนถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุน Green Transition ของลูกค้า”

 ความยั่งยืนฉบับ TEGH

ก่อนจะไปถึงเรื่องการทำงานร่วมกัน เราขอพาไปทำความรู้จักกับ ‘Thai Eastern Group Holdings’ อีกสักนิด แท้จริงแล้วนี่คือธุรกิจที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก เพราะวัตถุดิบที่เป็นสินค้าของ TEGH นั้นล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งถุงมือแพทย์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน ถุงยางอนามัย น้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง ไปจนถึงยางล้อรถยนต์และยางล้อเครื่องบิน 

แน่นอนว่าในตลาดคงมีคนทำธุรกิจผลิตวัตถุดิบที่คล้ายกัน คุณภาพสูสีกันบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้ TEGH แตกต่างจนยืนหยัดมาได้กว่า 30 ปี คือการนำเรื่องความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจและดำเนินการอย่างจริงจัง จนเกิดเป็น Business Model ที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีใครรู้จักหรือใส่ใจกับความยั่งยืน ซึ่งแนวคิดแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างมั่นคง มองผลลัพธ์ในระยะยาว ทำให้ TEGH ฝ่าวิกฤตมาได้หลายหนและเติบโตจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ รวมทั้งได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนจากลูกค้าและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย 

“เราเริ่มจากการทำในสิ่งที่มีผลกระทบกับเราและสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบก่อน” คุณสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH เอ่ยถึงวิธีคิดเรื่องความยั่งยืนของเธอ 

“ตอนนั้นเราเริ่มต้นทำเรื่อง ‘การบริหารจัดการน้ำ’ เป็นเรื่องแรก เราคิดแค่ว่าธุรกิจเราเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้น้ำเยอะ ทําอย่างไรให้เรามีแหล่งน้ำของเราเองโดยไม่ไปแย่งชุมชนและเกษตรกรใช้ ซึ่งเราทำทั้งเรื่องการจัดทำแหล่งน้ำใต้ดิน การลดการใช้น้ำ และการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังคอยมอนิเตอร์วัดคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำสาธารณะในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอะไรรั่วไหลออกไปกระทบชุมชน”

นอกจากแหล่งน้ำที่ต้นทางแล้ว เรื่องต่อมาคือการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต “ในอดีตเราใช้วิธีสร้างระบบบําบัดน้ำเสีย กากของเสียซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์นั้นจะถูกเอาไปเผาหรือฝังกลบให้กลายเป็นปุ๋ยซึ่งใช้เวลานานและส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เราเห็น Pain Point ตรงนี้ จึงพัฒนาให้เป็นระบบที่ครบวงจรมากขึ้น โดยการเปลี่ยนกากของเสียของเราให้เป็นพลังงาน เลยเกิดเป็นธุรกิจใหม่ คือธุรกิจพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์” 

และนั่นคือที่มาของความเชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียอินทรีย์และธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ของ TEGH ซึ่งนอกจากจะทำให้ TEGH มีพลังงานสะอาดหมุนเวียนกลับมาใช้ในโรงงานของตนเอง รวมถึงยังส่งต่อพลังงานสะอาดให้กับลูกค้าภายนอกได้แล้ว ยังสร้างรายได้จากการช่วยกำจัดของกากเสียอินทรีย์ให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งยังถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่โรงเรียน สถาบันการศึกษา และชุมชนต่าง ๆ ได้อีกด้วย

“มิติถัดมาเป็นเรื่องพนักงาน เราเติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว แล้วมีหลักในการพัฒนาองค์กรว่า ความเข้มแข็งต้องสร้างจากภายใน ถ้าข้างในยังไม่แข็งแรง ไม่เข้มแข็ง เราก็ไปแข่งขันกับภายนอกไม่ได้ เราจึงเริ่มจากการพัฒนาพนักงานของเราให้แข็งแรง สุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือให้ความสำคัญกับบุคลากรของเราก่อน”

TEGH จึงมีที่พักอาศัยเพื่อให้พนักงานนับพันคนไม่ต้องเหนื่อยเดินทางไกล ๆ มาทำงาน ผลพลอยได้จากโครงการนี้ คือลดคาร์บอนจากการเดินทางไปในตัวได้ รวมทั้งสวัสดิการอื่น ๆ ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้ทุนพนักงานไปเรียนต่อทั้งระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท สาขาต่าง ๆ เพื่อต่อยอดสายอาชีพ โครงการสนับสนุนบ้านหลังแรก รถคันแรก สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเงินออมของพนักงานจนถึงวัยเกษียณ

“เราอาจจะ Support ได้ไม่ครบทุกคน แต่อย่างน้อยก็ค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ พอข้างในเข้มแข็ง เราค่อยกระจายไปข้างนอกต่อ ไปทำเรื่อง Supply Chain ซึ่งใน Supply Chain ของเรา 80 – 90% มาจากเกษตรกร ดังนั้น ทําอย่างไรให้เกษตรกรมีการจัดการสวนเกษตรอย่างยั่งยืน เราส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มที่พร้อม ขอการรับรองการจัดการสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานระดับสากล รวมถึงการทําสวนยางออร์แกนิก จากนั้นก็ส่งต่อผลผลิตของเกษตรกรที่เป็น Sustainable Raw Material ไปยังลูกค้า ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมว่าเรามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิกนะ เรามีเรื่องความยั่งยืนนะ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เราขายทางยุโรปได้ราคาพรีเมียม เกษตรกรที่ยินดีเข้าร่วมก็จะขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น”

ผลลัพธ์จากการลงมือทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ทำให้ TEGH ปรับตัวได้ไวในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นเทรนด์โลกและมีข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นทุกวัน รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง แม้จะผจญกับช่วงวิกฤตก็ตาม 

แต่ถึงอย่างนั้น TEGH ก็ยังไม่เคยสื่อสารผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนออกมาอย่างชัดเจนและเป็นทางการมากนัก เพราะคิดว่าเรื่องนี้อาจไม่จำเป็นในตอนนั้น “เราถนัด Doing มากกว่า Showing” คุณสินีนุชเอ่ย พร้อมกับบอกว่าเธอเชื่ออย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งช่วงที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ตอนที่เราเตรียมเข้าตลาดฯ คำถามที่มักจะถูกถาม คือเรื่อง ESG ซึ่งเราก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมทุกคนต้องเน้นเรื่อง ESG เพราะสิ่งที่เรามองคือ ‘มิติของความยั่งยืน’ ซึ่งมันกว้างกว่าแค่ ESG ตอนนั้นหลาย ๆ บริษัทยังเน้นทำ CSR อยู่ เราก็มองว่า เราไม่มุ่งเน้นที่ผล (Report) แต่เรามุ่งเน้นที่ผลกระทบ (Process)”

แต่ก็ปรากฏว่ากลายเป็นเราที่สื่อสารไม่เหมือนคนอื่น นั่นคือสิ่งที่ KBank เห็นและมองว่าน่าจะช่วยให้คำแนะนำได้

Go Green Together

“ตัวอย่างเคสของ TEGH เขาเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และทำด้านความยั่งยืนมาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเราก็คิดว่า TEGH มีศักยภาพและมีผลงานที่โดดเด่น น่าจะเข้าประกวดรางวัลต่าง ๆ เลยเป็นที่มาของทีมจากธนาคารที่เข้าไปแนะนำ” ดร.กรินทร์ เอ่ย

“สิ่งที่ KBank เข้าไปให้คำแนะนำ คือการเรียบเรียงรายงานให้ครอบคลุมตามหัวข้อมาตรฐาน โดยเราได้ยกตัวอย่าง Best Practice ให้ดู และแนะนำแนวทางการเปิดเผยข้อมูลที่น่าจะเข้ากับประเภทธุรกิจของ TEGH ซึ่งข้อดีคือ TEGH มีทีมงานที่มีความเข้าใจในด้านกระบวนการปฏิบัติอยู่แล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้เขียนรายงาน โดยเราช่วยแนะนำว่าเขียนอย่างไรให้ครบถ้วน ก็ทำให้ ทีม TEGH ไปต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับการที่ TEGH เป็นบริษัทที่มีกลยุทธ์ด้านการสร้างความยั่งยืนเพื่อสร้างโอกาสการแข่งขัน จึงมีผลดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน วัดผลได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า TEGH โดดเด่นมาก ๆ จนคว้ารางวัลด้านความยั่งยืนจาก SET Awards 2024 มาครองได้”

นอกจากนี้คุณสินีนุชยังเข้าร่วมอบรมหลักสูตร Net Zero CEO ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านความยั่งยืน และร่วมเป็นพันธมิตรใน ‘เครือข่ายธุรกิจเพื่อการจัดการสภาพภูมิอากาศประเทศไทย’ (Thailand Climate Business Network : ThaiCBN) ก็ถือเป็นความร่วมมือสำคัญที่ช่วยกันขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ตอนที่เราทำ Sustainability Report ครั้งนี้ เราตั้งใจที่จะทำให้รายงานฉบับนี้สื่อสารสิ่งที่เราทำเรื่องความยั่งยืนออกไปสู่ผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทีมงานของเราเป็นทีมพนักงานที่หลากหลายแผนกมาร่วมกันปฏิบัติ เราไม่มีตำแหน่งงานที่รับผิดชอบเฉพาะด้านความยั่งยืน แต่พนักงานทุกคนจะต้องร่วมกันทำ เราจึงไม่มีผู้มีประสบการณ์ด้านการทำรายงานใด ๆ เพราะมีแต่ผู้ปฏิบัติ ระหว่างจัดทำรายงาน ทีมงานของเราจึงต้องศึกษาข้อมูลและขอคำแนะนำจากหลากหลายภาคส่วน และหนึ่งในนั้นคือ KBank ซึ่ง KBank ได้ให้คำแนะนำในมุมของผู้มีส่วนได้เสียที่มีประสบการณ์ ทำให้เราเข้าใจว่า นอกจากเรา Doing แล้ว การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก 

“จากที่เมื่อก่อนเรามองว่าเรามุ่งเน้นการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการมานั่งเขียนรายงาน แต่เราได้พบว่าการทำรายงานให้ได้มาตรฐานก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักลงทุนจะนำข้อมูลไปใช้ได้สะดวกมากขึ้น

“2 – 3 อาทิตย์ก่อนเราเพิ่งเจอ Investment Banker ที่เมืองนอก ประโยคแรกที่เขาถามเลย คุณอยู่ใน Thailand ESG ไหม ESG Rating Score เราเป็นยังไง Position เป็นยังไง เราก็มองว่า ณ วันนี้ เราสื่อสารเรื่องนี้ได้ชัดเจน ซึ่งเราคิดว่าคงจะดึงความสนใจจาก Stakeholders ใหม่ได้ ส่วน Stakeholders เก่าก็มีความมั่นใจมากขึ้น และเราสื่อสารได้ง่ายกว่าการไปนั่งอธิบายสิ่งที่เราทำ

“อีกเรื่องคือ ปัจจุบันนี้การทำด้านความยั่งยืนควรเป็นการสร้างความร่วมมือกัน สร้างเครือข่ายกันซึ่ง ตอนนี้ KBank พยายามสร้าง Ecosystem ด้านความยั่งยืนในกลุ่มของ Stakeholders ของ KBank อยู่ ทำให้เราเห็นภาพของอุตสาหกรรมอื่น ๆ กว้างขึ้น อันนี้มีประโยชน์มากเลย เพราะไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนก็ Collaborate กันได้ ทำเรื่องความยั่งยืนไปด้วยกันได้หมด อันนี้เป็นเรื่องที่ดี”

“ถ้าไม่ได้มองเรื่องความยั่งยืน อย่างน้อยก็มองถึงเรื่อง Responsible Business ก็ยังดี คือทําธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อพนักงาน รับผิดชอบต่อคู่ค้า รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ตามกฎหมาย แค่รับผิดชอบอย่างนี้ มันก็คือเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว” สินีนุชกล่าวทิ้งท้าย

“สิ่งที่เราทํามาทั้งหมด จุดเริ่มต้นคือพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ทําอะไรก็ได้ให้มันพอดี จําเป็น รอบคอบ พอประมาณ สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ยังไม่ต้องไปทําให้คนอื่นหรอก ทําแค่ให้ภายในของเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีก่อน แล้วเราค่อยไปพัฒนารอบ ๆ ภายนอกให้เจริญขึ้น นี่คือโมเดลของเรา”

Writer

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

มนุษย์อยู่ไม่ติดบ้าน มีงานอดิเรกคือการเดิน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน