เมื่อพูดถึงงานของกระทรวงการต่างประเทศ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพการนั่งโต๊ะเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีงานอีกมิติที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การดูแลคนไทยในต่างแดน ซึ่งใน พ.ศ. 2564 มีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศมากถึง 1.4 ล้านคน

งานสองส่วนนี้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราต้องมีสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศก่อน จึงจะเข้าไปตั้งสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ เพื่อดูแลคนไทย ซึ่งเป็นทั้งงานเชิงรับและเชิงรุก ที่จะคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็สร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็งผ่านระบบอาสาสมัคร ‘สหวิชาชีพ’ และโครงการต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ ส่งเสริมสุขภาพ สร้างทักษะอาชีพ ไปจนถึงการทำให้สถานทูตเป็นที่พึ่งทางใจ และการสร้างความสามัคคีในชุมชนชาวไทย

14 ภารกิจดูแลคนไทยในต่างแดนที่คุณอาจนึกไม่ถึงว่า นี่คืองานของสถานทูต
นำวิทยากรสหวิชาชีพไปให้ความรู้การสร้างเสริมอาชีพแก่คนไทยในนอร์เวย์

เมื่อชุมชนไทยในต่างแดนเข้มแข็ง ย่อมจะเกื้อหนุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะดีขึ้นด้วย

ภารกิจนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โดยผ่านสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก ซึ่งปีที่ผ่านมาช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนไปเกือบ 150,000 คน

ความช่วยเหลือที่ว่ามีตั้งแต่งานขีดเขียนเอกสาร ไปจนถึงการลงพื้นที่ทุรกันดารที่อาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากทุกรูปแบบ ซึ่งหลากหลาย และบางงานก็ไม่น่าเชื่อว่า นี่คืองานของนักการทูตไทย

The Cloud ขอแนะนำ 14 ภารกิจดูแลคนไทยที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า นี่คืองานของสถานทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ โดยผู้ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของแต่ละภารกิจให้เราฟังก็คือ คุณนฤชัย นินนาท ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ

1. ตามหาญาติ

การตามหาญาติ คืองานที่มีผู้ใช้บริการเกือบ 2,000 รายในปีที่ผ่านมา โดยผู้ใช้บริการเป็นคนไทยที่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งพบว่าญาติผู้อยู่ต่างแดนขาดการติดต่อ จึงขอให้สถานทูตช่วยตามหาว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เหล่านักการทูตจึงต้องรับบทประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือชุมชนไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อแกะรอยตามหา บางกรณีพบว่าถูกจับไปดำเนินคดี แต่หลายกรณีก็พบความจริงที่โหดร้ายว่า เขาหรือเธอคนนั้นไม่อยากติดต่อกับคนเคยรักอีกต่อไป เพราะมีคนรักใหม่ไปแล้ว ในกรณีนี้ทางสถานทูตจะส่งข่าวเศร้าให้ทราบว่า ญาติปลอดภัยดี แต่ไม่ต้องการเปิดเผยที่อยู่ และไม่ต้องการให้ติดต่อไปแล้ว

2. เปิดสถานทูตเป็นที่พึ่งทางใจ

สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย ถือว่าเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คนไทยจำนวนมากมักจะหนีร้อนมาพึ่งเย็นที่สถานทูต

เคยมีกรณีหญิงไทยจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ แล้วย้ายไปอยู่กับสามี พอเกิดเหตุทะเลาะวิวาทรุนแรง ผู้หญิงก็หนีออกมาตัวเปล่า ไม่มีเงินและเอกสารใดๆ เธอมาขอให้สถานทูตช่วยส่งเธอกลับเมืองไทย แต่โชคร้ายที่ประเทศนั้นจะเดินทางออกได้ก็ต่อเมื่อได้รับ Exit Visa หรือการอนุญาตให้ออกจากประเทศก่อนเท่านั้น กรณีนี้ต้องให้สามีเป็นผู้ยินยอม ในเบื้องต้นไม่ว่าสถานทูตจะต่อรองเท่าไรก็ไม่เป็นผล เพราะทางการมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว หญิงไทยรายนี้เลยต้องขอรับการปรึกษาและช่วยเหลือจากสถานทูตเป็นที่พึ่งทางใจเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 9 เดือน จนสามารถเดินทางกลับไทยได้

3. ช่วยเหลือคนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน

ครั้งหนึ่งลูกเรือประมงของไทยถูกกลุ่มโจรสลัดข้ามประเทศแถบภูมิภาคแอฟริกาจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ด้วยการโทรมาขอเงินจากสถานทูตไทย เพื่อแลกกับชีวิตลูกเรือ ความยากคือจะต้องช่วยคนไทยให้ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เจรจาต่อรองหรือจ่ายเงินให้กับกลุ่มโจร แต่จะต้องใช้วิธีประสานงานและเจรจาผ่านรัฐบาลและองค์กรเอกชนท้องถิ่น จนสุดท้ายก็ช่วยลูกเรือทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย ถือเป็นงานเจรจา ในอีกรูปแบบที่หลายคนคงไม่คาดคิดว่านี่คืองานของนักการทูต

14 ภารกิจดูแลคนไทยในต่างแดนที่คุณอาจนึกไม่ถึงว่า นี่คืองานของสถานทูต
การช่วยเหลือลูกเรือประมงกลับจากโซมาเลีย

4. ส่งคนไทยกลับบ้านท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่มีหน้าที่ช่วยดูแลคนไทย เช่น ส่งแรงงานไทยกลับประเทศเมื่อเกิดสงครามในลิเบีย หรือในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกก็ช่วยประสานงานพาคนไทยราว 200,000 คน กลับประเทศ ความท้าทายของการขนคนในช่วงวิกฤต คือการหาเครื่องบิน ซึ่งมีทั้งการส่งเครื่องบินไปรับ ประสานเครื่องบินพาณิชย์ กึ่งพาณิชย์ เครื่องบินทหารของไทย ไปจนถึงการขอฝากเครื่องบินต่างชาติกลับมา ถ้าเป็นการอพยพฉุกเฉิน รัฐบาลอาจจะดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้

14 ภารกิจดูแลคนไทยในต่างแดนที่คุณอาจนึกไม่ถึงว่า นี่คืองานของสถานทูต
สอท. ณ กรุงลอนดอน ให้บริการ One Stop Service แก่คนไทยในอังกฤษ
ผู้บริหารกรมการกงสุลหารือภารกิจการดูแลคนไทย

5. ส่งคนไทยที่ประสบปัญหากลับบ้าน

กรณีคนไทยที่ประสบปัญหาในต่างประเทศและต้องการเดินทางกลับไทย แต่ไม่มีเอกสารเดินทางไม่ว่าด้วยสาเหตุใด เช่น หนังสือเดินทางหายหรือโดนนายจ้างยึด ทางสถานทูตจะทำการพิสูจน์หลักฐานอื่นๆ ยืนยันว่าเป็นคนไทยจริง แล้วจึงจะออกเอกสารเดินทางชั่วคราวให้ แต่หลายรายก็ยังกลับไม่ได้อีกเพราะไม่มีเงิน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีระบบประกันชีวิตหรือสวัสดิการต่างๆ มาช่วยค่ารักษาพยาบาล ก็ต้องเดินทางกลับไปรักษาตัวที่เมืองไทย

ในกรณีที่เจ้าตัวและญาติที่เมืองไทยมีเงินไม่เพียงพอ สามารถขอยืมเงินในการเดินทางกลับไทยได้จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยต้องลงนามในสัญญาชดใช้เงินคืน และต้องชดใช้เงินคืนตามข้อกำหนด ในช่วงที่ยังไม่คืนเงิน ก็จะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไทยได้ เพราะจะไม่มีหนังสือเดินทาง รวมทั้งหากไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดระยะเวลา ก็อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ถ้าสงสัยว่า หากเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมายแล้วตอนเดินทางออกจะทำอย่างไร ในกรณีที่เจ็บป่วย ประเทศต้นทางมักจะยินดีให้ออก แต่ก่อนออกอาจจะโดนปรับ โดนแบนวีซ่า หรือขึ้นบัญชีดำไม่อนุญาตให้กลับเข้ามาอีก แล้วแต่นโยบายของแต่ละประเทศ

งานดูแลคนไทยของนักการทูตตั้งแต่ตามหาญาติ เจรจากับโจร ให้ยืมเงินกลับบ้าน และส่งศพกลับประเทศ
ช่วยเหลือและรอรับคนไทยกลับจากอินเดีย

6. ช่วยคนไทยที่ถูกดำเนินคดี

คดีเด็ดที่คนไทยในต่างประเทศทำผิดบ่อยที่สุดคือ การพำนักอาศัยเกินเวลา ส่วนเรื่องที่ถึงขั้นถูกคุมขังมักจะเป็นคดียาเสพติด เมื่อคนไทยในต่างแดนถูกจับ บางประเทศจะแจ้งมาที่สถานทูต ซึ่งมักจะเป็นการแจ้งเพื่อทราบ จากนั้นก็ปล่อยให้คดีดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม หน้าที่ของสถานทูตคือ จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในฐานะที่เป็นคนไทยไม่ว่าจะผิดหรือถูก โดยไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งจะช่วยประสานงานแจ้งญาติที่เมืองไทย หรือช่วยหาทนาย

บางประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมาก จะแจ้งสถานทูตก็ต่อเมื่อผู้ต้องหาร้องขอ ถ้าไม่ร้องขอ (เพราะกลัวหรืออาย) ก็ไม่แจ้งสถานทูต ในกรณีนี้ทางสถานทูตจะไม่ทราบเลยว่ามีคนไทยต้องโทษจองจำอยู่ในประเทศนั้น บางประเทศที่เคร่งครัดเรื่องความเป็นส่วนตัวมากๆ ถึงสอบถามไปว่ามีคนไทยอยู่ในเรือนจำไหม เขาก็จะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ

การส่งตัวคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวหลังสิ้นสุดการดำเนินคดีจาก สปป. ลาวกลับประเทศไทย

7. ช่วยพาญาติไปพบผู้ต้องหา

เคยมีกรณีที่หญิงไทยลักลอบนำเฮโรอีนเข้าประเทศหนึ่ง ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต เมื่อลูกสาวทราบข่าวก็อยากจะไปเจอคุณแม่เป็นครั้งสุดท้าย ทางสถานทูตก็ช่วยประสานให้ได้เดินทางไปพบ ซึ่งบางประเทศการเยี่ยมผู้ต้องหาทำได้ยากมาก บางประเทศก็ไม่อนุญาตเลย ในกรณีนี้ลูกสาวได้พบคุณแม่ทันเวลาก่อนวันประหารชีวิต 1 วัน แล้วก็ได้นำอัฐิคุณแม่กลับมา

การเดินทางเข้าประเทศอื่นในกรณีเร่งด่วนแบบนี้ เช่น มีญาติถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ ต้องไปขึ้นศาลเป็นพยาน ต้องไปดูแลญาติที่เจ็บป่วยหรือกำลังจะเสียชีวิต หรือไปทำพิธีสำคัญ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะช่วยประสานงานกับสถานทูตต่างๆ ให้ช่วยออกวีซ่าแบบเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ

8. นำศพกลับประเทศ

เมื่อชาวไทยเสียชีวิตในต่างประเทศ ญาติมักต้องการให้นำศพกลับมาทำพิธีทางศาสนาในเมืองไทย ซึ่งความยากง่ายก็แตกต่างกันไปตามประเทศและศาสนา

หากชาวพุทธหรือคริสต์อยากนำศพใส่โลงแล้วส่งกลับประเทศ มีบริษัทที่ให้บริการด้านนี้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีกระบวนการต่างๆ มากมายที่ต้องทำ ทั้งระเบียบขั้นตอนการบรรจุเคลื่อนย้ายศพและงานเอกสาร ในช่วงโควิด-19 เช่นนี้ก็มีกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งทางสถานทูตก็จะประสานงานกับญาติ เพื่อให้ความช่วยเหลือในทุกขั้นตอน

ถ้าญาติไม่สามารถเดินทางมาเองได้ ก็จะมอบอำนาจให้สถานทูตเป็นผู้จัดการให้

9. เผาศพ

วิธีการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศที่สะดวกที่สุดคือ ฌาปนกิจแล้วนำกลับมาแต่อัฐิ ในเมืองที่มีวัดและเมรุ กระบวนการเผาศพทำได้ไม่ยาก แต่หากเมืองนั้นไม่มีวัดหรือมีวัดแต่ไม่มีเมรุ ก็ต้องหาสถานที่เผา ซึ่งอาจเป็นสถานที่ที่ให้บริการด้านนี้โดยตรง หรืออย่างในบางประเทศ นักการทูตก็เคยต้องไปประสานกับท้องถิ่นเพื่อนำศพไปจุดไฟเผากลางลานแบบดั้งเดิม โดยทั่วไปแล้วนักการทูตจะช่วยตั้งแต่การติดต่อรับศพจากโรงพยาบาล ติดต่อพระมาทำพิธี ไปจนถึงช่วยเก็บอัฐิ เป็นภารกิจอีกประการที่คนทั่วไปอาจไม่ได้นึกถึง

งานดูแลคนไทยของนักการทูตตั้งแต่ตามหาญาติ เจรจากับโจร ให้ยืมเงินกลับบ้าน และส่งศพกลับประเทศ
สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ เตรียมการส่งอัฐิผู้เสียชีวิตกลับไทย เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในอิสราเอล

10. ฝังศพและขุดศพ

ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นชาวมุสลิม ก็มีทั้งการฝังในประเทศที่เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงตามหลักศาสนา และการส่งศพกลับมาฝังในประเทศไทย เคยมีกรณีหนึ่งเป็นลูกเรือชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธไปเสียชีวิตในประเทศมุสลิม ทางบริษัทจึงนำศพไปฝังในสุสาน เมื่อญาติรู้ข่าวก็อยากจะนำศพกลับมาทำพิธีทางศาสนาที่ไทย จึงประสานให้ทางสถานทูตช่วยติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศนั้นเพื่อขุดศพขึ้นมา และเพื่อให้มั่นใจว่าขุดถูกศพ ก็ต้องมีการนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์อัตลักษณ์ก่อน จากนั้นก็นำไปเผาแล้วนำอัฐิกลับมา โดยมีนักการทูตหรือกงสุลเป็นผู้จัดการทุกขั้นตอน

11. รับส่งอัฐิ

หากญาติผู้เสียชีวิตไม่สามารถเดินทางไปรับอัฐิกลับมาได้ด้วยตัวเอง ทางสถานทูตก็พร้อมทำพิธีทางศาสนาอย่างถูกต้อง แล้วจัดส่งอัฐิกลับมาให้ด้วย ผ่านระบบถุงเมล์การทูตของกระทรวงที่ใช้รับส่งเอกสารระหว่างประเทศ เมื่ออัฐิมาถึงเมืองไทย จะถูกเก็บไว้ในห้องเก็บอัฐิ ซึ่งเป็นห้องหนึ่งอยู่ในกองคุ้มครองฯ (ซึ่งน่าจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับห้องนี้มากมายเหลือเกิน) เพื่อรอให้ญาติมารับ ถ้าญาติไม่มารับ ก็จะนำไปเก็บไว้ที่วัดต่อไป

งานดูแลคนไทยของนักการทูตตั้งแต่ตามหาญาติ เจรจากับโจร ให้ยืมเงินกลับบ้าน และส่งศพกลับประเทศ

12. ส่งทรัพย์สินผู้เสียชีวิตกลับไทย

การส่งทรัพย์สินผู้เสียชีวิตกลับไทยไม่ได้ง่ายเหมือนการแพ็กของย้ายบ้านเสมอไป เมื่อมีคนไทยเสียชีวิตในต่างแดน บ่อยครั้งที่ญาติจะขอให้สถานทูตช่วยรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายส่งกลับมาให้ ราวสิบปีก่อน รถบัสท่องเที่ยวไทยพลิกคว่ำในต่างประเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย ทรัพย์สินทั้งหมดกระจัดกระจายรวมกันอยู่ในรถ ทางสถานทูตก็ต้องรวบรวมข้าวของต่างๆ ซึ่งบางชิ้นยังมีคราบเลือดติด กลับมาให้ญาตินำหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อรับกลับ

อีกกรณี คนไทยไปเสียชีวิตในห้องพักที่ต่างประเทศ กว่าจะรู้ว่าเสียชีวิตก็นอนเป็นศพในห้องอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่สถานทูตต้องช่วยนำศพไปฌาปนกิจให้ และเมื่อญาติขอร้องให้ช่วยส่งทรัพย์สินในห้องกลับมา เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปทำความสะอาดห้อง เพื่อขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกไปก่อน จะได้ตรวจเช็กและนำข้าวของในห้องส่งกลับมาให้ญาติที่เมืองไทยได้ครบถ้วนตามที่ร้องขอไว้

13. จัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

หนึ่งในภารกิจของกรมการกงสุลก็คือ การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีระยะเวลารับบัตรเลือกตั้ง และส่งบัตรคืนตามที่กฎหมายกำหนด โดยทำผ่าน 3 วิธี 

หนึ่ง จัดคูหาเลือกตั้งที่สถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ เหมาะกับประเทศที่มีคนไทยอาศัยกระจุกอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากสถานทูต

สอง ลงคะแนนผ่านระบบไปรษณีย์ เหมาะกับประเทศขนาดใหญ่ หรือเดินทางมาที่สถานทูตลำบาก 

สาม จัดคูหาเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปยังจุดที่มีคนไทยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ไซต์ก่อสร้าง ซึ่งบางประเทศก็ไม่อนุญาต เพราะถือเป็นการใช้แผ่นดินของเขาดำเนินการเรื่องการเมืองภายในประเทศ ซึ่งต้องดูข้อกำหนดและข้อห้ามของประเทศเจ้าบ้านด้วย

ความท้าทายคือ การส่งข้อมูลข่่าวสารรวมทั้งเอกสารจำนวนมากให้คนไทยที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในเวลาที่จำกัดตามกฎหมายเลือกตั้งของไทย รวมทั้งการรับคืน รวบรวม และจัดส่ง บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วให้ทันเวลา เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถคัดแยกตามเขตเลือกตั้งในประเทศ และจัดส่งไปนับคะแนนรวมกับบัตรเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งนั้นๆ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ระบบไปรษณีย์ในหลายประเทศยังมีความล่าช้า ส่งผลใ่ห้ไม่สามารถส่งบัตรฯ กลับมาให้ได้ทันตามกรอบเวลา ทำให้บัตรเลือกตั้งนั้นๆ กลายเป็นบัตรเสีย แต่ถือว่าผู้ลงคะแนนได้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

14. จัดเลือกตั้งแบบ E-Voting

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยวางแผนจะเปิดให้ลงคะแนนเสียงแบบออนไลน์เป็นครั้งแรกในบางประเทศ โดยผู้ทีี่มีคุณสมบัติครบสำหรับการลงคะแนนเสียงจะได้รับรหัสเข้าไปโหวตจากสถานทูต อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีข้อห่วงกังวลด้านกฎหมาย จึงได้เลื่อนการทดลองลงคะแนนแบบออนไลน์ออกไปโดยไม่มีกำหนด แต่หวังว่าเราจะได้เห็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบออนไลน์ในต่างประเทศในอนาคต

งานดูแลคนไทยของนักการทูตตั้งแต่ตามหาญาติ เจรจากับโจร ให้ยืมเงินกลับบ้าน และส่งศพกลับประเทศ

ภาพ : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

5 สิ่งควรทำสำหรับคนไทยไปต่างแดน

1. เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย โดยขอวีซ่าให้ถูกประเภทก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้ว ต้องอยู่ตามข้อกำหนดของวีซ่านั้นๆ ไม่ควรไปทำงานโดยใช้วีซ่าผิดประเภท เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังจะไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ อาจถูกหลอก ถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทาง โดนกักขังหรือทำร้ายร่างกาย และบางกรณีไม่กล้าเปิดเผยตัว ยิ่งทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปโดยยาก

2. ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ควรศึกษาให้ดีว่าแต่ละประเทศมี กฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางเข้า-ออกเมือง อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ถูกปฏิเสธการเข้าเมือง และต้องโดนส่งตัวกลับประเทศไทย

3. ควร ทำประกันสุขภาพ สำหรับช่วงเวลาที่อยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากการเข้าถึงสถานพยาบาลในหลายประเทศอาจมีข้อจำกัดพอสมควรและยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง

4. เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้ว ควร ลงทะเบียน ไว้กับสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งสามารถทำออนไลน์ได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ของแต่ละสถานทูตฯ สถานกงสุลใหญ่ฯ

5. โหลดแอปพลิเคชัน ‘Thai Consular’ เพื่ออัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะไป เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว แอปฯ จะส่งข้อมูลเตือนผู้เดินทาง รวมถึงมีปุ่ม SOS ขอความช่วยเหลือจากสถานทูตได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ นอกจากนี้ ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ และกรมการกงสุลไว้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน