‘ทูตพาณิชย์’ เป็นอาชีพหนึ่งที่คนสนใจกันมาก ถ้าเข้าไปสืบค้นในระบบสืบค้นอย่าง Google ก็จะพบว่ามีคนสนใจสอบถามเกี่ยวกับตำแหน่งหรืออาชีพนี้กันพอสมควรทีเดียว แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วตำแหน่งทูตพาณิชย์ เป็นเพียงชื่อที่เรียกขานกันเองแบบไม่เป็นทางการ พูดง่าย ๆ ก็คือ ชื่อตำแหน่งนี้ไม่มีอยู่ในสารบบทางการทูตนั่นเอง

‘ทูตพาณิชย์’ คืออะไร

ทูตพาณิชย์ คือ ข้าราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ที่ถูกส่งไปประจำการในต่างประเทศ มีหน้าที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศที่ประจำการอยู่ แต่โดยส่วนมากแล้วจะมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการของไทยเข้าไปยังประเทศนั้น ๆ มากกว่า 

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์มีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศรวม 64 สำนักงาน ใน 43 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นกระทรวงที่มีสำนักงานต่างประเทศมากเป็นอันดับสอง รองจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยสำนักงานจำนวน 58 แห่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ’ สังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีหน้าที่หลักคือทำงานด้านการตลาด ด้วยการเสาะแสวงหาโอกาสสำหรับสินค้าไทยในตลาดนั้น ๆ การสร้างเครือข่ายนักธุรกิจหรือคอนเนกชันกับทั้งนักธุรกิจและภาคราชการที่เกี่ยวข้อง การจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมสินค้าไทย เป็นต้น 

ปัจจุบันยังมีสำนักงานลักษณะพิเศษที่เรียกว่า ‘สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ’ สังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอีก 2 แห่ง คือ สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น และสำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยมอบหมายให้บุคลากรในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการแทน 

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานอีก 4 แห่ง ที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสำนักงาน 4 แห่งนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเจรจาและกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นหลัก นั่นก็คือเน้นการทำงานทางด้าน Regimes หรือกฎระเบียบ ที่สำคัญก็คือทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ประจำอยู่ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นทูตพาณิชย์ท่านเดียวที่ดำรงตำแหน่ง ‘เอกอัครราชทูต’ ประจำคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

เบื้องหลังชื่อ ‘ทูตพาณิชย์’ มาจากการออกไปประจำการในต่างประเทศของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน โดยปกติแล้วจะต้องสังกัดสถานเอกอัครราชทูต ในกรณีที่สำนักงานตั้งอยู่ในเมืองหลวง แต่ถ้าสำนักงานตั้งอยู่ในเมืองอื่นที่มีสถานกงสุลใหญ่ของไทยตั้งอยู่ สำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ก็จะสังกัดสถานกงสุลใหญ่ 

แต่ไม่ว่าสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์นั้นจะตั้งอยู่ที่ไหน ชื่อและตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวก็จะมีตำแหน่งทางการทูต อยู่ในรายชื่อนักการทูตของไทยในประเทศนั้น ๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) หรือกงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ข้าราชการจากกระทรวงพาณิชย์ที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศก็จะถูกเรียกเหมารวมว่า ‘ทูตพาณิชย์’ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นทูตที่มีวิชาเอก มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการตลาด แถมยังดูแลเรื่องการลงทุนด้วย ในกรณีที่ประเทศนั้น ๆ ไม่มีสำนักงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ที่สำคัญก็คือทูตพาณิชย์เป็นตำแหน่งที่ได้สร้างคุณประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศชาติมายาวนาน ถ้านับถึงวันนี้ก็เป็นระยะเวลาถึง 91 ปีเลยทีเดียว อาชีพเก่าแก่นี้ควรค่าแก่การบันทึกไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์และของประเทศไทย และเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจไทยตลอดมา

เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเรา : สยามในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง

นับตั้งแต่สยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงใน พ.ศ. 2398 เศรษฐกิจสยามก็ถูกผูกติดกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตะวันตก เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก Self-Sufficient เป็น Export Economy โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ ข้าว ไม้สัก ดีบุก และยางพารา และส่งไปยังอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษเป็นหลัก หรือแม้แต่ค่าเงินสยามก็ผูกอยู่กับเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ 

เมื่อถึงราว พ.ศ. 2472 – 2474 (ค.ศ. 1930 – 1932) โลกตะวันตกต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression 1930s) สยามจึงได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยมูลค่าการค้ากับต่างประเทศของสยามลดลงถึง 51 เปอร์เซ็นต์ จากเคยส่งออกได้มูลค่า 477,349,898 บาท ใน ค.ศ. 1927-1928 เหลืองเพียง 234,115,677 บาท ใน ค.ศ. 1931 – 1932 โดยเฉพาะสินค้าข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลัก มีสัดส่วนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าส่งออกรวม ข้าวส่งออกลงลดถึง 61 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลต่อรายรับของรัฐบาลจนต้องเกิดการตัดรายจ่ายอย่างมหาศาล

ในปลาย พ.ศ. 2473 นั้นเอง รัฐบาลจึงไหวตัวและเล็งเห็นความจำเป็นในการวางโครงการเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจ้าง ดร.คาร์ล.ซี. ซิมเมอร์แมน อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เข้ามาทำการสำรวจสถานภาพเศรษฐกิจชนบทสยามอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก ผลสำรวจมีข้อสังเกตสำคัญหลายประการ อาทิ 

  1. สินค้าไม้สักและดีบุกอยู่ในมือพ่อค้าฝรั่งและจีนเกือบหมด มีแต่ข้าวเท่านั้นที่ยังอยู่กับชาวสยามบ้าง แต่ยังมีปัญหาการแข่งขันระหว่างพ่อค้าข้าวชาวจีนกับพ่อค้าข้าวชาวตะวันตก ที่ส่งผลให้ราคาข้าวของสยามถูกตัดราคาลง 
  2. รัฐบาลควรส่งเสริมชาวสยามให้ผลิตสินค้าอื่นบ้าง ไม่ใช่มุ่งผลิตแต่ข้าวและนำเงินไปบริโภคสินค้านำเข้า เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำขายข้าวไม่ได้ก็ไม่มีเงินซื้อของใช้สอย

ในเวลาเดียวกันนั้นมีการเสนอแนะจากเหล่าพ่อค้า (อาทิ นายมังกร สามเสน) ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงระบบตลาดการรับซื้อข้าว หากแต่ กรมพระกำแพงเพชรฯ เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา (Supreme Council of the State) อันเป็นสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ระดับสูง ในครั้งที่ 29/2473 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ว่า “..หากทำหนักไปตามความเห็นพ่อค้า ก็จะไปตกหนักแก่พวกชาวนา รัฐควรช่วยหาตลาด หาคนซื้อ บำรุงให้มีสินค้า ไม่ใช่แต่เข้า (ข้าว) เท่านั้น… เห็นควรตั้งกรมพาณิชย์ขึ้น จะรอไม่ได้” เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแบบไม่เข้าไปแทรกแซงการค้าของเอกชน ตามแนวทางเสรีนิยมที่เป็นแนวคิดหลักทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้นำรัฐบาลในยุคนั้น

กำเนิดทูตพาณิชย์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

12 มกราคม พ.ศ. 2474 (2473 ตามการนับแบบเดิม)  

หลังเดินทางกลับจากการเดินทางตรวจหาลู่ทางส่งเสริมการค้าต่างประเทศของสยาม นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้มีจดหมายกราบบังคลทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยมีเนื้อความระบุถึงความจำเป็นในการตั้งหน่วยงานกรมพาณิชย์และมีการยกร่างโครงการตั้งกรมอย่างชัดเจนว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง โดยเรียกชื่อว่า Commercial Intelligence Department มีภารกิจสำคัญในการหาข้อมูลทั้งภาคการผลิตและข้อมูลตลาดให้ครบถ้วน โฆษณาการค้าให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน และจัดทำ Siam Commercial Directory โดยให้แบ่งส่วนงานเป็นภายนอกประเทศและภายในประเทศ 

สำหรับภายนอกประเทศนั้น ให้มีผู้ช่วยทูตแผนกพาณิชย์ (Commercial Attaché) หรือ ข้าหลวงพาณิชย์ (Trade Commissioner) โดยระยะแรกเสนอให้ตั้งประจำที่ฮ่องกง (ดูแลจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และฟอโมซา) ที่สิงค์โปร์ (ดูแลมาลายา ชวา และสุมาตรา) และระยะต่อไปก็ให้มีสำนักงานประจำยุโรปที่เยอรมนี ณ เมืองฮัมบูรก์หรือเบรเมน (ด้วยเหตุที่เยอรมนีในเวลานั้นไม่มีอาณานิคม จึงถือว่าเป็นกลางที่สุดในยุโรป)

หน้าที่สำคัญมี 2 ประการคือ รายงานความเคลื่อนไหวของตลาดมายังกรมฯ อย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว (มีการเสนอให้ตั้งงบสำหรับใช้โทรเลขเพื่อให้ได้ข้อมูลเร็วที่สุด) และส่งเสริมการเปิดตลาดการค้าของสยามในประเทศในเขตอาณาที่ตนรับผิดชอบอย่างสุดความสามารถ 

สำหรับภายในประเทศนั้น ให้มีสำนักงานภูมิภาคอยู่ที่กรุงเทพฯ โคราช หาดใหญ่/ทุ่งสง และลำปาง โดยมีหน้าที่สืบสวนและรายงานปริมาณสินค้า (Supply) และราคา (Price) กลับมายังกรมฯ และให้มีแผนกโฆษณาการ (Propaganda Bureau) เผยแพร่การค้าให้แพร่หลายผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ The Records หนังสือพิมพ์ชื่อดังในสมัยนั้น 

วันรุ่งขึ้น รัชกาลที่ 7 มีพระราชกระแสรับสั่งให้นำเรื่องเสนอเสนาบดีสภา (Council of the Secretaries) ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2474 โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลักการและเห็นด้วยกับความเห็นของเสนาบดีคลังให้รัฐบาลหาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาจัดตั้งกรมฯ ซึ่งพระองค์ก็ทรงเห็นชอบกับมตินี้และรับสั่งให้ดำเนินการตามนั้น 

วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 จึงปรากฏราชกิจจานุเบกษาแถลงพระบรมราชโองการประกาศตั้ง กรมพาณิชย์ในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม โดยมีความตอนหนึ่งว่า 

“….ถึงเวลาอันสมควรที่จะตั้งกรมใหม่อีกกรมหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เรียกว่า กรมพาณิชย์ เพื่อจะได้วางนโยบายสืบแสวงหาตลาดในเมืองต่างประเทศ เพื่อสินค้าของสยามจะได้ออกไปจำหน่ายขายได้โดยความสะดวก…ให้ตั้งกรมพาณิชย์เป็นกรมชั้นอธิบดี…ให้กองจดหมายเหตุสภาเผยแพร่พาณิชย์ กองสืบความรู้เอคอนอมิค และกองรวมข่าวการค้า มารวมขึ้นกับกรมพาณิชย์ด้วย แต่ผู้บังคับบัญชากรมนี้ให้เรียกว่า ข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ แต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2474”

และในวันเดียวกันนั้นเอง กรมพระกำแพงเพชรฯ ได้ลงนามประกาศกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เรื่องตั้ง ข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ตามมาทันที โดยระบุว่า “ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า นาย เอซ. คริสเตียนเส็น (H. Christiansen) มีความสามารถในการพาณิชย์ สมควรที่จะรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ได้ จึงทรวงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขอยืม นายเอซ. คริสเตียนเส็น จากบริษัท อีสต์เอเชียติก มาเป็นข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2474” 

ในเวลานั้น เอซ คริสเตียนเสน (Hakon Christiansen) เป็นชาวเดนมาร์ก ดำรงตำแหน่งผู้จัดการบริษัท อีสต์เอเชียติก สำนักงานกรุงเทพฯ และเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้าที่ชาวตะวันตกในสยามเชื่อถืออย่างยิ่ง

 อาคารที่ทำการบริษัท อีสต์เอเชียติก เจริญกรุง บางรัก
 อาคารที่ทำการบริษัท อีสต์เอเชียติก เจริญกรุง บางรัก
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ ประวัติศาสตร์มีชีวิต โดย ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

ตัวอย่างภารกิจของข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ เช่น การเตือนภัยทางการค้าล่วงหน้า เรื่อง Custom Union ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 

ข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ ส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังเสนาบดีพาณิชย์ฯ ว่า ตามที่ฮอลแลนด์และดัชช์อีสอินดีกำลังจะตั้ง Custom Union นั้น ขอให้สยามไม่ต้องกังวล หากแต่ควรกังวลว่าจักรวรรดิอังกฤษอาจจะกำลังพิจารณาแผนงานการตั้ง Custom Union ขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้สยามเสียเปรียบทางการค้าอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวและไม้ ดังเช่นที่โดนพม่าแย่งตลาดไม้ที่อินเดียไป เพราะเหตุที่อัตราภาษีขาเข้าถูกเรียกเก็บแตกต่างกัน ด้วยสถานะนอกอาณานิคมของสยาม โดยท่านข้าหลวงฯ สืบทราบมาว่าแผนงานนี้จะถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในการประชุม Empire Conference ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาจึงมีมติให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โทรเลขแจ้งให้ กัปตัน วัตสัน อาร์มสตรอง กงสุลเยเนราลสยาม ณ เมืองแวนคูเวอร์ ให้เดินทางไปออตตาวาเพื่อสืบความดู และแจ้งไปยัง หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เทวกุล อัครราชทูตไทยที่ลอนดอน ให้ติดตามข่าวด้วย

จากหลักฐานทั้งหมด จึงอาจถือได้ว่ากิจการอาชีพและภารกิจของทูตพาณิชย์ได้กำเนิดขึ้นในแผ่นดินสยามอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2474 หรือกว่า 91 ปีมาแล้ว

2475 มุ่งตะวันออก : กระแสพัฒนาเศรษฐกิจตามรอยญี่ปุ่น

ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้เอง กระแสแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจถูกแบ่งเป็น 3 ขั้ว ได้แก่ 

เสรีนิยมที่ให้พ่อค้าทำธุรกิจกันเองต่อไป ดังเช่นกลุ่ม Conservative อย่าง พระยามโนปกรณ์ฯ มุ่งเน้น

สังคมนิยม ที่จะโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดมาที่รัฐ แบบที่ นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มแรก ถึงขั้นผู้เสนอต้องลี้ภัย 

และสุดท้ายคือชาตินิยม อาทิแนวคิดของ พระสารสาสน์พลขันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการยุคแรกเริ่ม ซึ่งเป็นที่มาของการดึงการค้าและเศรษฐกิจกลับมาสู่มือของชาวสยามตลอดยุครัฐบาลคณะราษฎร (พระยาพหลพลพยุหเสนา-จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

ใน พ.ศ. 2475 พระสารสาสน์พลขันธ์ ส่งพระประมณฑ์ปัญญาเยือนจีนตอนใต้ กวางตุ้ง และฮ่องกง เพื่อหาทางตั้งข้าหลวงพาณิชย์ประจำฮ่องกง ก่อนที่หลังจากนั้นญี่ปุ่นจะเข้ามามีบทบาทสูงต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยต้น พ.ศ. 2477 สมาชิกคณะราษฏรตอบรับเดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นและแมนจูกัว ตามคำเชิญของอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยาม นายยาตาเบ้ เรียกว่าการเดินทางของยุวพุทธสยามสมาคม นำโดย พระยาสฤษดิการบรรจง, หลวงเชวงศักดิ์สงคราม, นายวิลาศ โอสถานนท์ และ พระประมณฑ์ปัญญา 

ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการพรางตัวไปดูงานการพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบของญี่ปุ่น อันเป็นแนวทางที่มีอิทธิพลสูงมากในหมู่ข้าราชการและปัญญาชนคณะราษฎร ด้วยกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่มีมุมมองต่อชาติตะวันตกว่าเป็นเจ้าอาณานิคมที่มาขูดรีดและแย่งชิงทรัพยากร คณะราษฎรจึงต้องหาโมเดลต้นแบบการสร้างเศรษฐกิจที่เริ่มจากชาติตนเอง ซึ่งญี่ปุ่นทำสำเร็จ และเป็นมหาอำนาจในเอเชียในเวลานั้น

คณะราษฎรในการเดินทางเยือนญี่ปุ่นและจีนในนามคณะยุวพุทธสยามสมาคม พ.ศ. 2477
คณะราษฎรในการเดินทางเยือนญี่ปุ่นและจีนในนามคณะยุวพุทธสยามสมาคม พ.ศ. 2477
ภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระประมณฑ์ปัญญา พ.ศ. 2514

ภารกิจทูตโตเกียว ฮ่องกง สิงคโปร์

ในระหว่างการเดินทางของคณะยุวพุทธสยามสมาคมนั้นเอง พระมิตรกรรมรักษา (นัดดา บุรณศิริ) อัครราชทูตสยามประจำราชสำนักญี่ปุ่น ขอตัว พระประมณฑ์ปัญญา (ประมณฑ์ เนตรศิริ) ไว้เป็นผู้ช่วยทูตแผนกพาณิชย์ ประจำกรุงโตเกียว และข้าหลวงพาณิชย์ประจำประเทศจีน (Commercial Attaché to the Siamese Legation, Tokio and the Siamese Trade Commissioner to China) โดยกระทรวงเศรษฐการไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้ แต่สถานทูตทดรองค่าใช้จ่ายให้ก่อน 

อำมาตย์เอก พระประมณฑ์ปัญญา
อำมาตย์เอก พระประมณฑ์ปัญญา
ภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระประมณฑ์ปัญญา พ.ศ.2514
ประวัติศาสตร์ตำแหน่ง ‘ทูตพาณิชย์’ ทูตที่ดูแลการค้าของไทยกับต่างชาติมาตลอด 91 ปี
ภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระประมณฑ์ปัญญา พ.ศ.2514

1 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ทูตพาณิชย์คนแรกประจำกรุงโตกิโอ (โตเกียว) จึงเริ่มต้นทำงาน โดยท่านได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ คือ การแก้ไขเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งห้ามซื้อข้าวจากต่างประเทศ เพราะต้องการสงวนตลาดในประเทศให้ข้าวตนเอง ทำให้มูลค่าการค้าข้าวสยามไปญี่ปุ่น (ประมาณ 16 ล้านเยนต่อปี) กลายเป็นศูนย์ สยามขาดดุลการค้าต่อญี่ปุ่นมาก โดยได้เร่งเจรจาอย่างหนักให้ญี่ปุ่นซื้อสินค้าอื่นเพิ่มอาทิ ฝ้าย รวมทั้งเสนอขายไม้เนื้อแข็งสยามไปทำไม้หมอนรางรถไฟในเขตอาณานิคมแมนจูกัวของญี่ปุ่น อีกทั้งยังจัดการแสดงสินค้าสยาม ในงานฉลองเมืองโยโกฮามา พ.ศ. 2478 เป็นต้น

พระประมณฑ์ปัญญา ได้รับความเชื่อถือและการให้เกียรติจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างสูง ทั้งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คิโยคุจิตสึ ชั้น 4 (อาทิตย์อุทัย) และยังเป็นสามัญชนชาวสยามคนแรกที่ได้รับเชิญร่วมโต๊ะเสวยกับ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เมื่อคราวปฏิบัติหน้าที่เลขาส่วนพระองค์ กรมพระกำแพงเพชรฯ เสด็จเยือนญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2473 

ทั้งนี้ยังปรากฏหลักฐานว่าท่านยังเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารได้ 6 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน จีน และ ญี่ปุ่น และยังเคยเป็นเลขานุการที่ปรึกษาชาวตะวันตกของกระทรวงพาณิชย์ R.S.Le.May จากนั้นท่านถูกรัฐบาลส่งไปเรียนต่อที่ London School of Economics และท่านยังเป็นคนแรกที่นำเอาการท่องเที่ยวมาหนุนการขายสินค้าส่งออกด้วยการขอแผนกท่องเที่ยว กรมรถไฟหลวง มาสังกัดกรมพาณิชย์แทน ท่านได้รับราชการต่อมาจนเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชย์

ประวัติศาสตร์ตำแหน่ง ‘ทูตพาณิชย์’ ทูตที่ดูแลการค้าของไทยกับต่างชาติมาตลอด 91 ปี
  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้น 4
ภาพ : wikipedia
ประวัติศาสตร์ตำแหน่ง ‘ทูตพาณิชย์’ ทูตที่ดูแลการค้าของไทยกับต่างชาติมาตลอด 91 ปี
คุณพระและภริยาที่อาซาบุ กรุงโตเกียว
ภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระประมณฑ์ปัญญา พ.ศ. 2514

ในเวลาไล่เลี่ยกันเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ยื่นจดหมายเสนอปรับปรุงการส่งออกสยามต่อนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลฯ) หลังเดินทางกลับมาจากการเดินทางยุวพุทธสยามสมาคม ใจความให้รัฐบาลรีบเร่งตั้งกงสุลหรือผู้แทนการค้าชาวสยามไปทำงานที่ฮ่องกงโดยด่วน เพราะประเทศอื่นมีรัฐบาลส่งคนไปสนับสนุนกันหมด เว้นแต่สยามไม่มีใครไปดูแลเลย แม้มูลค่าส่งออกไปฮ่องกงคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกสยาม ดังนั้นควรมีตำแหน่งเช่นเดียวกับที่ส่งพระประมณฑ์ปัญญา ไปประจำญี่ปุ่นเป็นการด่วน และเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2478 รัฐบาลก็ได้ส่ง พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เป็นข้าหลวงพาณิชย์สยามประจำฮ่องกงคนแรก 

โดยท่านได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ คือ จัดตั้งโกดังสินค้าสยามที่ฮ่องกงให้พ่อค้าสยามได้นำสินค้ามาพักรอจนได้ราคาดีแล้วค่อยขาย รวมทั้งยังประสานเส้นทางรถไฟ กวางตุ้ง-ฮันเค้า ให้สินค้าสยามได้เข้าไปขายในภาคใต้ของแม่น้ำแยงซี และสืบราคาซื้อขายสินค้าจากการเข้าสมาคมกับพ่อค้านานาชาติ เนื่องจากการเดินถามตามร้านค้านั้นไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริง โดยภารกิจทั้งหมดนี้ท่านทำได้ประสบผลสำเร็จมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่านมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาวจีนด้วย เพราะท่านเป็นบุตรเขยของ นายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง ผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลคนสำคัญในสยามที่เป็นเพื่อนสนิทกับ ดร.ซุนยัดเซ็น อดีตหัวหน้าพรรคก๊กหมิ่งตั๋ง และอดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนผู้ล่วงลับ

ปฐมบทการทูตพาณิชย์สยาม ผู้ดูแลการค้าขายระหว่างไทยกับนานาชาติ ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจโลก
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์
ภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ พ.ศ. 2540
ปฐมบทการทูตพาณิชย์สยาม ผู้ดูแลการค้าขายระหว่างไทยกับนานาชาติ ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจโลก
ขณะเป็นข้าหลวงพาณิชย์ ฮ่องกง
ภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ พ.ศ. 2540
ปฐมบทการทูตพาณิชย์สยาม ผู้ดูแลการค้าขายระหว่างไทยกับนานาชาติ ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจโลก
ตราสำนักงานข้าหลวงพาณิชย์-ฮ่องกง
ภาพ : กระทรวงพาณิชย์

ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ เอซ. คริสเตียนเส็น ส่งจดหมายถึง เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ รายงานผลการสำรวจตลาดสิงคโปร์และมาลายา ความว่า สิงค์โปรเป็นตลาดของสินค้าส่งออกสยามมานานแล้ว เห็นว่าสยามควรมีผู้แทนการค้า (Trade Representative) มาประจำการโดยไม่ชักช้า โดยให้เป็นคนมาจากกรมพาณิชย์ และให้ขึ้นกับกงสุลเยเนราลสยาม แต่ให้มีอำนาจดำเนินการในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า ให้มีเงินเดือนมากกว่า 500 ดอลลาร์ และมีผู้ช่วย (Agent) อีกหนึ่งคน รับเงินเดือน 200 ดอลลาร์ รับผิดชอบทางตอนเหนือของ Federated Malay States (F.M.S.) 

โดยเสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ เห็นชอบกับข้อเสนอของข้าหลวงใหญ่พาณิชย์ และทำหนังสือถึงคณะกรรมการราษฎร (ครม. ชุดแรกของไทย) ซึ่งมีมติเห็นชอบเช่นกัน แต่ขอให้กระทรวงเกษตรพาณิชยการวาง Directive เรียบร้อยก่อน ระหว่างนี้ให้กงสุลสยามทำหน้าที่นี้แทนไปชั่วคราว จนเวลาผ่านไป 4 ปีเศษ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479 พันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ จึงลงนามตั้ง นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (ภายหลังเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นข้าหลวงพาณิชย์สยามประจำสิงคโปร์คนแรก โดยปฏิบัติภารกิจสำคัญดูแลและพัฒนาลู่ทางการค้าข้าวที่ตลาดสิงค์โปร ซึ่งต่อมาเป็นตลาดสำคัญของ บริษัท ค้าข้าวสยาม จำกัด ที่รัฐบาลตั้งขึ้น          

ปฐมบทการทูตพาณิชย์สยาม ผู้ดูแลการค้าขายระหว่างไทยกับนานาชาติ ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจโลก
นายเล้ง ศรีสมวงศ์
ภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปฐมบทการทูตพาณิชย์สยาม ผู้ดูแลการค้าขายระหว่างไทยกับนานาชาติ ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจโลก
สถานทูตฯ และสำนักงานข้าหลวงพาณิชย์ที่สิงคโปร์
ภาพ : www.thaiembassy.sg

หลังจากนั้นไม่นานสยามเข้าสู่ยุคสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2483 และสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484 จนทำให้บริบทภารกิจของทูตพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เรื่องราวปฐมบทของทูตพาณิชย์ ถือเป็นตำนานที่ควรบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังรับทราบ 

ด้วยตำแหน่งที่สำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทูตพาณิชย์คนแรกมาจนถึงทูตพาณิชย์รุ่นใหม่ในปัจจุบัน ต่างได้สร้างสรรค์ผลงานสำคัญที่เป็นรูปธรรมไว้อย่างมากมาย ตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา 

ทูตพาณิชย์ จึงเป็นเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจของกระทรวงพาณิชย์ และจะยังคงเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในยุคต่อไปอีกด้วย 

บรรณานุกรม

เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 

  1. หจช. ร.7 พ. 8/8 รายการประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและเอกสารการตั้งกรมพาณิชย์ พ.ศ. 2474
  2. หจช. สร. 0201.6. 1/3 ตั้งข้าหลวงพาณิชย์ประจำญี่ปุ่นและจีน 
  3. หจช. ม (2) สร 0201/37 ตั้งข้าหลวงพาณิชย์สิงค์โปร์
  4. หจช. สร. 0201.25/738 หนังสือเสนอความเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูสินค้าขาออกของสยามเพื่อเสนอ ค.ร.ม. ของ นายวิลาส โอสถานนท์ 

เอกสารตีพิมพ์

  1. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระประมณฑ์ปัญญา, พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ และ พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ)
  2. Dormer to Foreign Office No.7, Annual Report for 1931, 5 January 1932, F1078/1078/40, FO 371/16260. (รายงานประจำปีของทูตอังกฤษประจำสยามไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ)
  3. Nambara.M, Economic Plans and Evolution of Economic Nationalism in Siam in the 1930s, SOAS, University of London, London, 1998 (page 152-189)
  4. ใจจริง ณ., ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร, สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพ 2563 
  5. Zimmerman.Z.C., Siam Rural Economics Survey 1930-31, Ministry of Commerce and Communication, Bangkok, 1931

Writers

Avatar

สรณ์สกุล เถาหมอ

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์และเป็นผู้ทำงานด้านนโยบายการค้าทั้งในและนอกประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

Avatar

อดุลย์ โชตินิสากรณ์

อดีตทูตพาณิชย์ประจำเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และอินเดีย ก่อนมาเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศคนหนึ่งของไทย