The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลาม (ประเทศไทย)

ใกล้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดประจำปีของชาวมุสลิมทั่วโลก เดือนที่ชาวมุสลิมละเว้นจากการทานอาหารและเครื่องดื่ม ทำจิตใจกริยาคำพูดให้สะอาดบริสุทธิ์ตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณจนถึงพระอาทิตย์ตก เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการฝึกความความอดทนอดกลั้นและการระลึกตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่หิวโหย

ชาวมุสลิมเชื่อว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานจากพระผู้เป็นเจ้าลงมาให้ศาสดามุฮัมมัดในเดือนนี้ เพื่อเป็นบทบัญญัติและทางนำชีวิตของมนุษยชาติ ชาวมุสลิมจะตั้งใจประกอบศาสนกิจยาวนานในเวลากลางคืนเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ เดือนเราะมะฎอนยังเป็นช่วงเวลาอบอุ่นของครอบครัวที่จะมารวมตัวกันเพื่อทานอาหารละศีลอดกัน มีการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกันฉันเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในรอบปี

มีชุมชนชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมากกระจายตัวอยู่แทบจะทั่วพื้นที่ในเมืองหลวง หลายท่านอาจได้สัมผัสบรรยายกาศพิเศษโดยเฉพาะในช่วงบ่ายราวๆ 3 – 5 โมงเย็น จะพบเห็นชาวมุสลิมในชุมชนหลายแห่งออกมาตั้งของขาย มีตลาดขายของ ‘แก้บวช’ หรืออาหารสำหรับละศีลอดในช่วงเวลา ‘มัฆริบ’ (พระอาทิตย์ตก) นั่นเอง

ช่วงนี้คึกคัก เพราะนอกจากเราได้เลือกซื้ออาหารหลากหลายชนิดที่อยากรับประทานไปรอแก้บวชที่บ้านแล้ว ยังได้พบเจอผู้คนหลากหลาย นอกจากตลาดขายของ มัสยิดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนแทบทุกแห่งมีโรงทานจัดเลี้ยงละศีลอด สนับสนุนโดยผู้ใจบุญที่บริจาค รับเป็นเจ้าภาพ หรือทำอาหารที่บ้านมาเลี้ยงคนในแต่ละวัน สำหรับคนที่สนใจเรื่องอาหาร เราอาจได้ค้นพบเมนูอาหารบางอย่างที่จะมีโอกาสหาทานได้เฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้นด้วย

ชุมชนมุสลิมของกรุงเทพมหานครมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยแต่ละแห่งจะมีวัฒนธรรมอาหารที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ตั้งแต่เด็กผู้เขียนเคยได้คลุกคลีอยู่กับมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) ซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิดของคุณแม่ ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าที่นี่มีเมนูละศีลอดประจำชุมชน เป็นอาหารอาหารพิเศษชนิดหนึ่งไม่ซ้ำใครและจะหาทานได้เฉพาะเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น นั่นก็คือ ‘ข้าวต้มสุเหร่า’ ซึ่งคนย่านตรอกจันทน์-เจริญกรุงน่าจะคุ้นเคยและตั้งหน้าตั้งตารอ

ข้าวต้มสุเหร่าเป็นข้าวต้มใส่กะทิรสชาตินุ่มนวล มีโปรตีนหลักเป็นเนื้อวัว (บางวันก็เป็นไก่) ติดเอ็น (เนื้อดีผสมเศษเนื้อ) หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่เครื่องเทศซุปของชาวมุสลิมโดยทั่วไปเช่น ไม้หวาน กานพลู ลูกกระวาน โป๊ยกั๊ก พริกไทยดำเม็ด ฯลฯ (ใส่ในถุงผ้าต้มไปพร้อมกัน) และที่พิเศษคือมี ‘ลูกซัด’ ที่ทำให้ข้าวต้มมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์และช่วยให้เนื้อข้าวต้มดูมีมิติมากขึ้น

นอกจากนี้ ตอนต้มยังต้องใส่ใบเตย ต้นหอม ใบซุป และขิง เนื้อข้าวต้มสุเหร่าค่อนข้างข้นจนเกือบเหมือนโจ๊ก เนื่องจากต้องแช่ข้าวและใช้เวลาต้มนานพอสมควร รสชาติออกจะเค็มอ่อนๆ โดยปรุงรสเค็มด้วยเกลือเท่านั้นและมีความหอมมันของกะทิและเครื่องเทศ ก่อนทานต้องโรยหอมเจียวตกแต่งเป็นท้อปปิ้งอีกหน่อยถือว่าสุดยอด นับว่าเป็นเมนูทานง่าย คล่องคอ มักทานเป็นเมนูแรกของการละศีลอด (หลังจากอินทผลัมและน้ำเปล่า) ก่อนที่จะไปลุกไปละหมาด ข้าวต้มสุเหร่าอุ่นๆ รสนวลๆ เหมาะกับระบบย่อยอาหาร ช่วยทำให้คนอดข้าวมาทั้งวันได้รู้สึกมีแรงและสบายท้อง

นานมาแล้วที่คนในชุมชนมัสยิดดารุ้ลอาบิดีนทำเข้าต้มสุเหร่าในเดือนเราะมะฎอนของทุกปี เพื่อทำบุญแจกจ่ายให้คนทั่วไป สูตรข้าวต้มสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นโดยผู้ใหญ่ในชุมชน

กระบวนการทำข้าวต้มสุเหร่าเริ่มตั้งแต่หัววัน คนในชุมชนที่มีทักษะจะทยอยมาช่วยกันเตรียมวัตถุดิบ ผู้หญิงมาช่วยกันหั่นเนื้อ หั่นผัก เตรียมเครื่องเทศ และรวนเนื้อไว้แต่ช่วงเช้า ส่วนผู้ชายจะลงมือยกข้าวลงต้มใส่หม้อใบใหญ่ในช่วงบ่าย ช่วยกันลงแรงผลัดกันคนด้วยไม้พาย จนกระทั่งข้าวต้มได้ก็จะเริ่มมีการแจกจ่ายให้กับคนทั้งในและนอกชุมชน ในช่วงเวลาประมาณบ่าย 4 โมงเย็น เราก็จะเห็นคนแถวเรียงราย ถือหม้อ ปิ่นโต มาคนละใบสองใบ เพื่อจะมารับข้าวต้มกลับไปละศีลอดที่บ้าน และอีกส่วนหนึ่งจะเก็บไว้สำหรับคนที่เดินทางมาละศีลอดที่ศาลาด้านข้างมัสยิด

ผู้เขียนมีความสงสัยมานานว่าเท่าที่เคยเห็นทำไมข้าวต้มสุเหร่าสูตรนี้ถึงมีที่นี่มัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) ที่เดียว เพราะได้เคยพยายามลองไปถามหาตามชุมชนอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏ หลายคนไม่รู้จักหรือทานไม่เป็นด้วยซ้ำ อาจจะมีข้าวต้มลักษณะเหมือนเป็นญาติห่างๆ กันที่ย่านตรอกโรงภาษีเก่าและบางอุทิศ แต่ของที่นั่นจะออกสีเหลืองจากขมิ้นและมีรสชาติต่างไป ส่วนฮะลีม (Haleem) ของชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียก็รสจัดเครื่องเทศ บีบมะนาว และนิยมทานกับขนมปัง แตกต่างไปอีกแบบ

จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนริเริ่มทำต้มข้าวต้มสุเหร่า (ถามผู้ใหญ่ในชุมชนรุ่น 60 – 70 ปีขึ้นก็บอกว่าเกิดมาก็ได้ทานแล้ว) มีคำบอกเล่าต่างๆ นานาว่าข้าวต้มนี้ได้อิทธิพลแขกเปอร์เซียบ้าง บ้างก็ว่าเป็นของแขกยะวา (ชวา) แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ‘กะทิ’ ที่ทำให้ข้าวต้มนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว น่าจะมีที่มาจากวัฒนธรรมอาหารแถบคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะของเอเชียอาคเนย์ สอดคล้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ของคนในชุมชนมัสยิดแห่งนี้ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นหลักและชวาอีกบางส่วน

จนกระทั่งผู้เขียนได้ทราบจากเพื่อนต่างชาติว่าชาวมุสลิมที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ก็ทำข้าวต้มแจกในเดือนเราะมะฎอนเช่นกัน พอตามไปค้นเพิ่มเติมก็ถึงบางอ้อ! ข้าวต้มกะทิใส่เนื้อและเครื่องเทศของเขาเรียกว่า Bubur Lambuk มีหน้าตาไม่ต่างจากข้าวต้มสุเหร่าที่บ้านเราเลย! โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อสัตว์จากเนื้อหรือไก่ไปเป็นกุ้งและปลาในบางโอกาส แต่น่าจะเรียกได้ว่า Bubur Lambuk นี่แหละคือเมนูเดียวกันกับข้าวต้มสุเหร่าที่ผู้เขียนสงสัยมานาน

ในมาเลเซีย สถานที่ที่มีชื่อเสียงในการทำ Bubur Lambuk แจกในช่วงเดือนเราะมะฎอนคือย่านกำปงบารู กัวลาลัมเปอร์ มีประวัติว่าเมื่อ 60 กว่าปีก่อนชาวมุสลิมจากปากีสถานท่านหนึ่งเป็นค้นคิดค้นสูตร ขณะที่ในอินโดนีเซียก็อ้างว่าเขาเป็นต้นกำเนิด ผู้เขียนคงไม่ไปเถียงกับเขาในประเด็นขัดแย้ง และเชื่อว่าข้าวต้มกะทิลักษณะนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมกลุ่ม

วัฒนธรรมอาหารมลายูผสมผสานจากหลายวัฒนธรรม เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้เขียนเองที่ไขคำถามในใจเรื่องอาหารที่ทานมาตั้งแต่จำความได้ เพียงเมนูอาหารเดียวก็ช่วยเปิดมุมมองความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมอาหารชาติพันธุ์ของชุมชนมุสลิมเก่าแก่ในย่านเจริญกรุง

ชุมชนชุมชนมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) ยังคงรักษาวัฒนธรรมอาหารของชุมชนที่สืบทอดมาอย่างยาวนานอย่างการทำข้าวต้มสุเหร่าทุกๆ ปี แม้เคยหยุดทำไปช่วงหนึ่งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ไม่มีคนและแรงงานทำ และต้นทุนการทำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ปัจจุบันคนก็มีการรื้อฟื้นและพยายามจะรักษาอัตลักษณ์นี้ไว้ ทั้งยังมีคนบริจาคทำบุญเพื่อจัดหาวัตถุดิบทำข้าวต้มอยู่ไม่ขาด

ผู้เขียนก็อยากให้ข้าวต้มสุเหร่า ซิกเนเจอร์ของชุมชนมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) ยังคงอยู่นานเท่านาน หากใครอยากลิ้มรสชาติข้าวต้มที่หาทานได้ยากก็ต้องตั้งหน้าตั้งตารอเดือนเราะมะฎอนซึ่ง 1 ปีมีหน ลองไปต่อแถวตักข้าวต้มฟรีช่วงบ่ายแก่ๆ ขณะที่ท้องร้องจาการถือศีลอด นี่เองอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมข้าวต้มสุเหร่าถึงเป็นพิเศษควรค่าแก่การรอคอย…

อ้างอิง

https://muslimvillage.com/2010/09/04/5897/bubur-lambuk-a-malaysian-ramadan-delight/

https://my.asiatatler.com/dining/the-humble-beginnings-of-bubur-lambuk

Writer & Photographer

Avatar

สุนิติ จุฑามาศ

มุสลิมบางกอกย่านเจริญกรุง-สาทร จบการศึกษาด้านโบราณคดี สนใจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและอาหาร