ท่ามกลางตึกสูงระฟ้ากลางเมืองอันแสนทันสมัย มหานครกรุงเทพฯ แห่งนี้ยังซุกซ่อนอดีตและประวัติศาสตร์มากมายที่หลายคนหลงลืม ชุมชนเก่าแก่ วัดวาโบราณ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของท้องถิ่นที่นับวันจะค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา

คงจะดีไม่น้อยถ้าหากเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาปัดฝุ่น ยกขึ้นมาพูดคุยกันใหม่ แล้วนำมาทำความเข้าใจบริบทปัจจุบัน รวมถึงหาทางต่อยอดไปยังอนาคต

บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ย่านเก่าแก่และเส้นทางคมนาคมของชุมชนชาวสวนบางกอกตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ถูกหยิบมาใช้เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการในชื่อ ‘ภุมรินทร์ราชปักษี Thai Art Beyond Boundaries ต่อยอด นอกกรอบ ศิลปะไทย’ โดยมีวัดภุมรินทร์ราชปักษีเป็นสถานที่จัดงานหลัก ภายใต้คอนเซ็ปต์หลักของกิจกรรม 3 อย่างด้วยกัน 

คือ Re-Think การทบทวนความรู้ที่ผ่านมาในรูปแบบของกิจกรรมเสวนา, Re-Search เน้นการออกเดินสำรวจพื้นที่รอบ ๆ ทั้งในแง่ศิลปวัฒนธรรม ชุมชน และประวัติศาสตร์ของย่าน เพื่อตามหามิติใหม่ ๆ ที่แอบซ่อนอยู่หรือถูกละเลย และ Re-Interpret หรือการต่อยอดองค์ความรู้ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาบอกเล่าเรื่องราวอดีตในรูปแบบใหม่เป็นครั้งแรก ๆ ในไทย

การจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยศิลปะกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ (ธัชชา) เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของงานศิลปะกับผู้คน ชุมชน และสังคม และงานวิจัยฟื้นชีวิตกรุงเทพฯ (Revitalizing Bangkok) ที่ศึกษาย่านเก่าแล้วนำมาทำเป็นภาพย้อนอดีต เพื่อคืนชีวิตให้กับกรุงเทพฯ ขึ้นมาอีกครั้ง

คอลัมน์ Take Me Out ครั้งนี้ ชวน ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ หัวหน้าโครงการวิจัยและการจัดงานครั้งนี้ มาพูดคุยถึงภาพรวมและ 8 กิจกรรมสนุกๆ ในงาน ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-10 เมษายนนี้ ขอแอบกระซิบบอกว่าหลายกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมเต็มไปแล้ว แต่ไม่ต้องเสียใจไป เพราะอาจารย์บอกว่าหากพลาดไปในครั้งนี้ รอติดตามข่าวคราวได้ผ่านเพจสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าย่านเก่าไหนในกรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมครั้งต่อ ๆ ไปได้เลย

ใครสนใจอยากเปลี่ยนบรรยากาศจากตึกสูงกลางเมือง มาเดินเล่นใช้ชีวิตเนิบช้าท่ามกลางชุมชนเก่าแก่โซนบางกอกน้อย ดื่มด่ำงามศิลปกรรมโบราณ พร้อมได้สาระความรู้หลากหลายแขนงกลับไปด้วย งานนี้เรียกได้ว่าตอบโจทย์! 

01 
วิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี

เปลี่ยนวิหารร้างเป็นงานศิลปะ ผ่านการจัดแสงสียามค่ำคืน

01 
วิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี

ในงานครั้งนี้ใช้วัดภุมรินทร์ราชปักษีเป็นเสมือนศูนย์กลางในการจัดงาน แม้จะได้ชื่อว่าเป็นวัดร้าง แต่สภาพไม่ได้เก่าเหลือแต่ซากอิฐปูน เพราะเพิ่งร้างจากการถูกยุบรวมเข้ากับวัดดุสิดารามที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี่เอง

ยามปกติแล้ววิหารและอุโบสถของวัดจะปิดไว้ อาจเปิดบ้างช่วงมีงานสำคัญหรือวัดพระ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่อันซีนที่น้อยคนรู้จัก และยากที่จะได้สัมผัสความงดงามแบบใกล้ชิด งานครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งสำคัญที่เราจะได้ยลโฉมอาคารโบราณสมัยอยุธยา ผ่านการจัดแสงสีในยามค่ำคืน ที่ช่วยขับเน้นองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ให้โดดเด่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้าบันด้านบนที่มีงานปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ และพระพุทธรูปปูนปั้นยืนองค์ใหญ่ที่ผนังสกัดด้านหลัง สถาปัตยกรรมของอาคารที่ฐานทำแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา เอกลักษณ์งานศิลปะสมัยอยุธยา รวมถึงจิตรกรรมภายในอาคาร เป็นงานช่างทรงคุณค่าที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ของฝั่งธนบุรี

“เราเปลี่ยนวิหารร้างนี้ให้เป็นเหมือนงานศิลปะ เรามองว่าวิหารเหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เรารู้คุณค่า แต่รู้เฉพาะพวกนักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักประวัติศาสตร์สถาปัตย์ ซึ่งแคบมาก ๆ ฉะนั้นเราต้องการสื่อสารไปสู่คนวงกว้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำมาตีความใหม่ มองวิหารร้างนี้ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นชิ้นงานศิลปะที่มีความสวยงามด้วย” อาจารย์ชาตรีอธิบายคอนเซ็ปต์ของกิจกรรมเพิ่มเติม

02
Photogrammetry & Hologram

จำลองภาพ 3 มิติของวิหาร ด้วยเทคนิคการเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรม

02
Photogrammetry & Hologram
02
Photogrammetry & Hologram
ภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ

หากชื่นชมความงามของวิหารด้วยสายตายังไม่จุใจ หรืออาจมองไม่เห็นภาพรวมของอาคารทั้งหลัง งานนี้มีการนำ Photogrammetry เข้ามาใช้สร้างความตื่นตาตื่นใจ เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ Re-Interpret เพื่อต่อยอดเรื่องราวอดีต ด้วยการยืมมือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นผู้บอกเล่า

วิธีการนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพทั้งหมดของอาคารหลังใหญ่โตเป็นภาพ 3 มิติ ถือเป็นเทคนิคการเก็บข้อมูลที่มีบทบาทอย่างมากในการสำรวจและศึกษาเพื่ออนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมโบราณ โดยงานครั้งนี้ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนแรก วิธีการใช้อุปกรณ์ ไปจนถึงภาพของวิหารที่จำลองออกมาในสถานที่จริง

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อทำ Photogrammetry ออกมาเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลทั้งหมดที่ประมวลผลได้ จะนำอีกนวัตกรรมหนึ่งเข้ามาใช้ คือ Hologram เพื่อฉายภาพเสมือนของวิหารออกมาในรูปแบบ 3 มิติ ลอยอยู่กึ่งกลางวิหาร สำหรับผู้เข้าร่วมงานจะได้ชมอย่างใกล้ชิด เพราะมีการแจกปริซึมสำหรับฉาย Hologram ภาพวิหารร้างให้ฉายผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเองได้เลย

03 
Projection Mapping ‘ชมพูทวีป’

คืนชีวิตจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องของชมพูทวีปในรูปแบบใหม่

03 
Projection Mapping ‘ชมพูทวีป’

ถัดจาก Photogrammetry และ Hologram เรื่องของของนวัตกรรมทันสมัยจะร้อยเรียงเรื่องราวต่อเนื่องเข้าสู่ภายในตัวอาคาร เพื่อพาผู้เข้าชมมาพบกับจิตรกรรมด้านใน

เราอาจคุ้นหูกับ ‘ชมพูทวีป’ ว่าเป็นดินแดนที่พระถังซัมจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก หรืออาจรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งของประเทศอินเดีย แต่สำหรับในทางพระพุทธศาสนา ชมพูทวีปถือเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ และยังเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าด้วย

03 
Projection Mapping ‘ชมพูทวีป’

ก่อนหน้านี้ อาจารย์ชาตรีเคยศึกษาวิจัยและตีความว่า อุโบสถของวัดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นการจำลองชมพูทวีปมาเพื่อสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัด ในงานครั้งนี้อาจารย์จึงรับหน้าที่เป็นผู้ให้โจทย์ของเนื้อหาคร่าว ๆ และชวนศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Small Project เข้ามาร่วมออกแบบ Projection Mapping หรือการฉายภาพลงบนพื้นผิวของอาคาร เพื่อฉายภาพบนผนังภายในอาคารร้างของวัดภุมรินทร์ราชปักษี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นการนำเทคนิคนี้เข้ามาใช้กับอาคารโบราณสถานทรงคุณค่า เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาที่อยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องชมพูทวีป และเติมเต็มจิตรกรรมฝาผนังที่ลบเลือนไปให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

04
AR พระพุทธเจ้าเปิดโลก

จิตรกรรมโบราณเคลื่อนไหว ผ่านเทคนิค AR สุดล้ำสมัย

04
AR พระพุทธเจ้าเปิดโลก
04
AR พระพุทธเจ้าเปิดโลก

มากันที่ไฮไลต์ของงานที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความที่จิตรกรรมภายในวิหารของวัด หากเข้าไปด้านในอาคาร จะเห็นว่าด้านหลังของพระประธานนั้นเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จลงบันไดมาจากสวรรค์

นี่คือพุทธประวัติตอนหนึ่งที่เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ไปเทศนาโปรดพุทธมารดา ซึ่งในวันนั้นพระองค์ก็ได้แสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเปิดโลกทั้งสาม คือสวรรค์ มนุษย์ และนรก ให้มองเห็นกันได้ เรียกกันว่า ‘พระพุทธเจ้าเปิดโลก’

เรื่องราวทั้งหมดไม่ได้ถูกจำกัดเป็นแค่เรื่องเล่าทางพุทธศาสนา แต่ผู้ร่วมกิจกรรมจะมองเห็นจิตรกรรมเก่าแก่เคลื่อนไหวได้ผ่านเทคนิค AR (Augmented Reality) สร้างโลกเสมือนขึ้นมาในวิหาร เมื่อส่องโทรศัพท์มือถือไปที่ภาพจิตรกรรม จะกลายเป็นภาพ 3 มิติที่เห็นทั้ง 3 โลกเปิดถึงกันเหมือนกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ส่องไปด้านล่างจะเห็นสัตว์นรก ส่องไปด้านบนก็จะเห็นเทวดาบนสวรรค์

ถือเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาให้ความรู้กับงานศิลปกรรมโบราณ ช่วยสร้างประสบการณ์การชมงานศิลปกรรมที่ไม่เหมือนครั้งไหนแน่นอน 

05
7 เสวนาทบทวนความรู้

เสวนาความรู้หลากแขนงภายในอุโบสถร้าง

05
7 เสวนาทบทวนความรู้

พักจากกิจกรรมสุดล้ำสมัย มาเติมความรู้กันบ้าง

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า คอนเซ็ปต์หนึ่งของงานคือ Re-Think หรือการทบทวนความรู้ในหลากหลายด้านที่ผ่าน ๆ มา ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม ดังนั้นจึงเกิดเป็นการจัดกิจกรรมการเสวนากว่า 7 เรื่อง จากนักวิชาการมากถึง 21 คน แต่ที่พิเศษมาก ๆ สำหรับงานนี้ คือผู้ร่วมเสวนาจะได้รับฟังความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ภายในอุโบสถร้างของวัดภุมรินทร์ราชปักษี ที่ปกติถูกปิดและแทบจะหาโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยือนได้ยากในห้วงยามปกติ

ไม่ว่าจะเรื่องราวประวัติศาสตร์ของวัดภุมรินทร์ราชปักษี ความเป็นมาของชุมชนวัดดุสิดาราม เรื่องเล่าย่านบางกอกน้อย หรือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับงานศิลปกรรมโบราณ เมื่อผสานกับความงดงามของมรดกภายในอุโบสถแล้ว

06
Walk & Talk ชมวัดร้างฝั่งธนบุรี

ฟังเรื่องวัดเก่า เข้าชุมชนโบราณ เข้าใจเรื่องราวศิลปกรรมย่านบางกอกน้อย

06
Walk & Talk ชมวัดร้างฝั่งธนบุรี
06
Walk & Talk ชมวัดร้างฝั่งธนบุรี
06
Walk & Talk ชมวัดร้างฝั่งธนบุรี

มากันที่กิจกรรมได้ออกแรงเรียกเหงื่อกันบ้าง

ย่านบางกอกน้อยมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ปัจจุบันฝั่งธนบุรีจะมีความเจริญเข้ามาแทนที่ แต่หลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือโบราณสถาน ต่างก็แทรกตัวอยู่เรียงรายตามชุมชนเก่าริมลำน้ำเป็นจำนวนมาก

หากวัดภุมรินทร์ราชปักษีเพียงที่เดียวยังไม่หนำใจ และเพื่อทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ผ่านมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมให้มากขึ้น เราขอชวนเดินเที่ยวชมทั้งวัดที่ร้างและไม่ร้าง รวมถึงตามหาร่องรอยที่หลงเหลือของย่านเก่าแก่ในโซนบางกอกน้อยแห่งนี้ พร้อมกับรับความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะไปกับ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับกิจกรรม Walk & Talk ชมวัดร้างฝั่งธนบุรี เช่น วัดร้างบ้านใกล้เรือนเคียงกับวัดภุมรินทร์ราชปักษี อย่างวัดน้อยทองอยู่ ที่เหลือหลักฐานเป็นมณฑปโบราณ ศาลาโรงธรรมเก่าภายในชุมชนบ้านปูนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และวัดสวนสวรรค์ อีกวัดร้างที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านบางยี่ขัน 

07
Walk & Talk ชุมชนวัดดุสิดาราม

ย่ำเท้าเดินเที่ยวชุมชนเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อย

07
Walk & Talk ชุมชนวัดดุสิดาราม
07
Walk & Talk ชุมชนวัดดุสิดาราม
07
Walk & Talk ชุมชนวัดดุสิดาราม

อีกกิจกรรม Walk & Talk เส้นทางสั้น ๆ ใกล้กับวัดภุมรินทร์ราชปักษี เป็นการเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ ชุมชน ผู้คน และวัฒนธรรม ด้วยการเดินเยี่ยมชมชุมชนวัดดุสิดาราม แม้จะเป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรมและศาสนา ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ มุสลิม รวมถึงชาวจีน

ชุมชนวัดดุสิดารามถือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา รุ่มรวยไปด้วยหลักฐาน ทั้งมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ วัดดุสิดาราม บ้านเรือนโบราณริมคลอง ก่อนไปจบที่พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี 

ถึงจะเป็นเส้นทางไม่ไกล แต่ผู้ร่วมงานจะได้รับความรู้เรื่อของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่แพ้กับกิจกรรมก่อนหน้า จาก อนุสรณ์ กรีมี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย และ พิเชษฐ์ ธิถา นักวิชาการด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม พร้อมด้วยโครงการ Urban Ally ที่เคยจัดกิจกรรมที่ชุมชนบางลำพู และห้าง New World ในงาน Bangkok Design Week 2022 มาแล้ว

08
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน : วังหลัง กาารค้า สถานีรถไฟ

เรียนรู้เรื่องราวชาวบางกอกน้อย ผ่านหลักฐานในพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งบนอดีตวังหลัง

08
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน : วังหลัง กาารค้า สถานีรถไฟ
08
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน : วังหลัง กาารค้า สถานีรถไฟ

กิจกรรมสุดท้ายของคอลัมน์ Take Me Out ในครั้งนี้ ขอพาเขยิบออกไปไม่ไกลจากพื้นที่หลักในการจัดงานมากนัก คืออีกฟากหนึ่งของปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่นำอาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) มาใช้เป็นอาคารจัดแสดง

ธีมหลักของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เน้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านบางกอกน้อยเป็นหลัก ซึ่งเคยเป็นชุมทางการค้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลังในสมัยต้นกรุงเทพฯ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดี และหลักฐานสำคัญคือ เรือไม้โบราณ ที่อยู่ใต้ดินมากว่า 100 ปี เป็นหนึ่งในเรือไม้ขนาดใหญ่ที่เคยขุดได้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเรื่องประวัติการแพทย์ไทย และประวัติของวงการรถไฟไทยด้วย

ไม่ได้มีแค่กิจกรรมนำชมพิพิธภัณฑ์ เพราะยังมีการเปิดตัวหนังสือ ‘Revitalizing Bangkok ฟื้นชีวิตกรุงเทพฯ’ ซึ่งเป็นงานวิจัยของอาจารย์ชาตรีและ รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวประวัติของย่านสำคัญต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น เสาชิงช้า มิวเซียมสยาม ฯลฯ และจำลองภาพในอดีตให้กลับมาฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน