18 กุมภาพันธ์ 2019
27 K

ใครเคยนั่งรถไฟสายเหนือมุ่งหน้าไปปลายทางที่เชียงใหม่คงคุ้นเคยกับอุโมงค์ขุนตานซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะเวลาที่อยู่ในความมืดเกือบ 5 นาทีสร้างความตื่นเต้นให้สุดๆ ก่อนที่แสงปลายอุโมงค์จะส่องสว่างไปทั่วตู้รถไฟก่อนที่รถไฟทั้งขบวนจะหยุดสนิทที่สถานี

เมื่อรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีขุนตานไปแล้ว ผู้คนที่ตื่นเต้นกับอุโมงค์ขุนตานก่อนหน้าก็แยกย้ายกันกลับเข้าไปนั่งที่ เตรียมเก็บข้าวของให้เรียบร้อยก่อนที่จะถึงสถานีเชียงใหม่ในอีกชั่วโมงเศษๆ จังหวะนั้นรถไฟขบวนยาวก็วิ่งลัดเลี้ยวไปตามไหล่เขาลงจากดอยขุนตาลมุ่งหน้าสู่พื้นราบในแอ่งลำพูน

ที่ตีนดอยนั้นมีสะพานสีขาวสะอาดยืนรอรถไฟทั้งขบวนอยู่โดยที่ไม่มีใครทันสังเกต

สะพานที่มีรูปร่างแปลกตา โครงสะพานมีรูปโค้งสีขาวตัดกับภูเขาที่มีสีเขียวครึ้มยืนอยู่ที่นี่มาเกือบ 100 ปี ถ้าไม่มีใครมองออกมานอกหน้าต่างก็จะไม่มีใครโบกมือทักทายสะพานนี้เลย

นี่คือสะพานทาชมภู

 

ทาชมภู

เรารู้จักสะพานทาชมภูครั้งแรกจากการ์ดชุดความรู้รถไฟของธนาคารออมสินชุดที่ 31 ปี 2533 การ์ดใบที่ 48

ภาพรถไฟขบวนยาวเทโค้งเข้ามาในเฟรมและมุมขวามือเป็นสะพานที่มีสีขาวแปลกตา

เราไม่เคยเห็นสะพานรถไฟเป็นแบบนี้เลย คุ้นแต่สะพานเหล็กสีดำที่เวลาวิ่งผ่านจะมีเสียงดัง ‘กึง กัง กึง กัง’ เลยทำให้สะกิดใจว่าสะพานนี้อยู่ที่ไหน จนกระทั่งปี 2545 เราได้นั่งรถไฟไปเชียงใหม่ครั้งแรกและเห็นสะพานนี้ด้วยตาของตัวเอง มันคือความตื่นเต้นบวกดีใจมากที่ได้เห็นสะพานนี้ของจริงหลังจากที่ได้เห็นผ่านภาพถ่ายมาตลอดหลายสิบปี

จะว่าไปแล้วสะพานนี้ก็เหมือนกับ Hidden Place ถ้าคุณไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านนี้ หรือไม่เคยนั่งรถไฟมาเชียงใหม่คุณก็ไม่มีทางที่จะรู้จักมัน และที่สำคัญ ถ้าคุณอยู่บนรถไฟคุณก็แค่เห็นมันผ่านหน้าต่างไปแต่ไม่ได้ลงมาสัมผัส

ภาพการ์ดความรู้ธนาคารออมสิน ชุดที่ 31 จากเพจการ์ดธนาคารออมสิน

ปี 2548 เราได้กลับมาที่สะพานนี้อีกครั้งตอนอายุ 18 ครั้งนี้ไม่ได้นั่งรถไฟผ่านแต่นั่งรถยนต์มาเหยียบที่สะพานนี้จริงๆ ในสมัยที่ธรรมชาติยังล้อมรอบสะพาน การเข้ามาถึงต้องเดินเท้าเท่านั้น ด้านซ้ายและขวาของสะพานคือทุ่งหญ้าและทุ่งนา ทางรถไฟตอนนั้นยังมีขนาด 70 ปอนด์ต่อหลาตรึงอยู่บนหมอนไม้และมีรอยต่อราง เมื่อรถไฟวิ่งผ่านก็จะมีเสียงล้อกระทบรางดังลั่นไปทั้งหุบเขา

มันคือสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับเด็กอายุ 18 เหมือนกับการได้ค้นพบสมบัติล้ำค่าที่ตามหามานาน

สะพานทาชมภูในปี 2548 ต้องเดินเท้าบนทางรถไฟถึงจะไปที่ตัวสะพานได้

ณ ตอนนี้ สะพานทาชมภูได้ถูกโปรโมตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน สภาพพื้นที่โดยรอบเปลี่ยนไปจากครั้งแรกที่เราได้มาเยี่ยมแบบพลิกฝ่ามือ มีถนนเส้นเล็กๆ พามาถึงตีนสะพาน รางรถไฟมีขนาดหนาขึ้น ไร้รอยต่อและถูกตรึงอยู่บนหมอนคอนกรีต ลำน้ำแม่ทาที่เคยเส้นเล็กมีน้ำแห้งขอดก็ถูกเติมเต็มให้กว้างขึ้นเพราะมีประตูระบายน้ำ ทุ่งนาและทุ่งหญ้าด้านข้างสะพานก็กลายเป็นร้านอาหารเล็กๆ เป็นแพริมน้ำ และพื้นที่จัดสรรสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงให้ชาวบ้านนำสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่นเข้ามาขายให้กับคนที่มาเยี่ยมสะพานหรือมาถ่ายรูปคู่กับรถไฟที่วิ่งลงจากดอยพร้อมป้ายแสดงเวลารถเพื่อไม่ให้พลาดช็อตสำคัญ

แม้ว่าปริมาณนักท่องเที่ยวจะไม่ได้เยอะมากจนทำลายบรรยากาศ ส่วนใหญ่แล้วคนที่ดั้นด้นขับรถเข้ามาถึงที่นี่ย่อมไม่ได้บังเอิญขับผ่านมาแน่ๆ เพราะถนนที่เข้ามาถึงไม่ใช่ถนนสายหลัก นั่นหมายความว่าความสวยงามและความแปลกของสะพานทาชมภูเองนี่แหละที่สร้างมนตร์สะกดให้นักเดินทางบางคนตัดสินใจเลี้ยวรถจากถนนซูเปอร์ไฮเวย์เข้ามาถึงเกือบ 10 กิโลเมตร

มาที่นี่ ต้องถ่ายรูปคู่สะพานและให้รถไฟเป็นฉากหลัง

สิ่งที่พบเห็นได้ทุกครั้งที่เดินทางมา คือมหาชนกลุ่มใหญ่ที่กระจัดกระจายเดินชมสะพานทั้งด้านล่างและด้านบน บ้างก็พูดถึงความสวยงาม บ้างก็พูดถึงเที่ยวรถไฟที่กำลังจะมาถึง

เมื่อเสียงหวีดรถไฟดังขึ้นไปทั่วหุบเขาเป็นสัญญาณให้นักท่องเที่ยวหลบลงข้างทาง ไม่นานนักรถไฟที่ส่งเสียงเตือนมาก็ปรากฏตัวเองพร้อมวิ่งผ่านสะพานด้วยความเร็วไม่สูงมากพร้อมเสียงของนักท่องเที่ยวที่ดังขึ้นท่ามกลางความสนุกที่ได้แอ็กท่าถ่ายรูปคู่กับรถไฟขบวนยาว

ไม่ใช่แค่สะพานที่สวย

สะพานทาชมภูคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและเป็นเหมือนอนุสรณ์ของการสร้างทางรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ที่ยังคงหยัดยืนมาถึงร้อยปี

 

แตกต่างเหมือนกัน

สะพานขาวทาชมภู คือชื่อที่คนส่วนใหญ่รู้จัก

ตามบัญชีของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นได้ระบุชื่อไว้ว่า ‘สะพานทาชมภู’

รูปแบบของสะพานนั้นเป็นแบบโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ตั้งอยู่ที่ กม. 690+340 ระหว่างสถานีขุนตานและสถานีทาชมภู อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ

ลักษณะโครงสร้างของทาชมภูต่างจากสะพานรถไฟทุกๆ แห่งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะคือโครงสร้างสะพานที่มีโครงพยุงน้ำหนักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทาสีขาวแทนที่จะเป็นโครงเหล็กสีดำเหมือนสะพานทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพานที่มีช่วงกว้างต้องอาศัยโครงถักแบบ Truss ในการพยุงน้ำหนักยิ่งต้องเป็นเหล็กเพราะมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ ราคาค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาไม่สูงมาก

สะพานรถไฟทั่วไปที่ใช้โครงสร้างเหล็ก

สะพานทาชมภูเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของสะพานทอดข้ามแม่น้ำแม่ทาด้วยความยาว 2 ช่วง เป็นทางตรงขนาบด้วยโค้งซ้ายขวาทั้งสองฝั่งของสะพาน ฝั่งหนึ่งมุ่งหน้าไปทางเชียงใหม่ ฝั่งนึงมุ่งหน้าไปทางอุโมงค์ขุนตาน

โครงคอนกรีตรูปโค้งครึ่งวงกลมนั้นไม่ได้มีเพียงหน้าที่พยุงทางรถไฟที่ทอดข้ามแม่น้ำไว้ แต่โครงสร้างยาวลงไปถึงตอม่อของสะพานที่ตั้งอยู่กลางน้ำเสมือนว่าทั้งโครงสะพานและตอม่อคือโครงสร้างเดียวกัน โดยทั่วไปโครงสะพานรถไฟจะถูกสร้างให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ถึงแม้บางสะพานจะเป็นโครงโค้งแต่ก็จะเป็นการถักเหล็กเส้นตรงๆ ให้มีรูปคล้ายโค้งเท่านั้น

แต่สำหรับทาชมภูนั้นโครงสะพานโค้งอย่างสมบูรณ์และอ่อนช้อย

รูปร่างแตกต่าง แต่มีหน้าที่เหมือนกัน

 

จากเหล็กเป็นคอนกรีต

ถ้าในเมื่อสะพานเหล็กมีความอ่อนตัวและดีกว่าสะพานโครงคอนกรีต ทำไมสะพานทาชมภูถึงไม่เป็นเหล็กล่ะ?

เรื่องเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6

ทางรถไฟสายเหนือที่เริ่มสร้างต่อมาจากอยุธยา ปากน้ำโพ พิษณุโลก ผ่านหุบเขาที่สูงชันในแพร่ ลำปาง จนมาถึงปราการด่านสุดท้ายที่ขุนตาล มีการสร้างที่กินระยะเวลานานมากก็ยังไม่ถึงเชียงใหม่เพราะอุปสรรคทางธรรมชาติมีมากเหลือเกิน นอกจากนั้นยังเจออุปสรรคที่เรียกว่าสงครามเข้าให้อีก

หลังจากที่อุโมงค์ขุนตานเจาะทะลุถึงกัน ทางรถไฟได้ถูกวางต่อจากปากอุโมงค์ขุนตานลงเขามาถึงแม่น้ำแม่ทา แผนการสร้างสะพานที่จุดนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2461 โดยอุปสรรคสำคัญตอนนั้นมีด้วยกัน 2 ประการ

ประการแรกคือ สภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนหน้านั้นทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟรวมถึงสะพานต่างๆ  

ประการที่สอง ทางการไทยต้องเสียวิศวกรคุมงานก่อสร้างชาวเยอรมันไปเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้นายช่างชาวเยอรมันหลายคนถูกส่งกลับประเทศ หนึ่งในนั้นคือมิสเตอร์อีมิลล์ ไอเซ่น โฮเฟอร์ นายช่างหนุ่มผู้คุมงานก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน รวมถึงทีมงานชาวเยอรมันที่เริ่มคุมงานก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือตั้งแต่เริ่มแรก

การสร้างสะพานทาชมภู ในปี 2462 – 2463

สะพานทาชมพูและรถดีเซลรางทดสอบ (ภาพจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ)

ภาระการคุมงานก่อสร้างที่ต้องให้เสร็จทันเวลาถูกส่งต่อให้กับผู้บัญชาการกรมรถไฟ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน หรือพระนามเดิม พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร โดยทรงรับสั่งให้สร้างสะพานนี้ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้เทคนิคการก่อสร้างและรูปแบบทางวิศวกรรมเช่นเดียวกับทางยุโรป

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรการก่อสร้างสะพานเมื่อเดือนมกราคม 2462
ความท้าทายมากที่สุดของการสร้างสะพานนี้คือการสร้างให้เป็นโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก การคำนวณต้องแม่นยำมากด้วยคุณสมบัติเฉพาะของโครงคอนกรีตที่มีความอ่อนตัวต่ำกว่าเหล็ก ซึ่งสามารถทำให้สะพานเกิดความเสียหายได้เมื่อรับน้ำหนักของรถไฟนานเข้า จึงต้องคำนวณเรื่องโครงสร้างให้รับน้ำหนักให้ได้มากกว่า 15 ตัน ซึ่งมีข้อถกเถียงเป็นอย่างมากเรื่องความแข็งแรงของสะพานที่อาจทลายลงในระยะเวลา 3 – 6 เดือน แต่สุดท้ายแล้วสะพานทาชมภูก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันด้วยการออกแบบให้มีรอยต่ออยู่บนสะพานให้โครงสร้างสามารถขยับเขยื้อนได้เมื่อมีรถไฟวิ่งผ่าน

 

ไม่ได้ทาชมพู

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อสะพานทาชมภูต้องตั้งใจฟังดีๆ ว่าเกี่ยวกับสีหรือไม่ เพราะคำว่า ‘ชมภู’ ก็ไปพ้องเสียงกับคำว่า ‘ชมพู’ ที่เป็นชื่อสี

ที่มาของชื่อนี้ก็ค่อนข้างหลากหลาย แต่ก็มีอยู่ 2 ทฤษฎีที่เข้าเค้าที่สุด

ก่อนจะไปอธิบายทฤษฎีก็จะขอพูดถึงคำว่า ‘ทา’ ก่อน

คำว่า ‘ทา’ ไม่ได้เป็นคำกริยาแต่อย่างใด

เรื่องน่ารู้เรื่องแรกคือทุกตำบลในอำเภอแม่ทา ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ทา’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทาปลาดุก ทาสบเส้า ทาชมภู ฯลฯ โดยเส้นเลือดใหญ่ของอำเภอนี้ก็คือลำน้ำแม่ทาซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘ทา’ เช่นกัน

กลับมาที่ทฤษฎีที่หนึ่ง

ในสมัยก่อนย้อนไปหลายปีตั้งแต่ทางรถไฟยังมาไม่ถึงมีการตั้งรกรากขึ้นที่พื้นที่ริมน้ำแม่ทาซึ่งสภาพแวดล้อมโดยรอบมีต้นชมพู่ขึ้นอยู่มากมาย จึงตั้งชื่อว่า ‘ทาชมภู’ ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ชมพู่ โดยทฤษฎีนี้ปรากฏอยู่ในประวัติของเทศบาลตำบลทาปลาดุก

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้พอๆ กัน นั่นคือคำว่า ชมภู แปลว่า มองภูเขา เพราะว่าพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ใกล้กับตีนดอยขุนตาลมากที่สุด เห็นดอยขุนตาลชัดที่สุด

แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่รู้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า ทาชมภู คำนี้มีที่มาอย่างไร

แต่สิ่งที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนคือ

สะพานทาชมภูมีสีขาวและไม่ได้ทาสีชมพู

 

พรางชมภู

มีเรื่องเล่าหนึ่งจากปากของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านทาชมภูเล่าให้ฟังว่า สะพานนี้เคยถูกทาเป็นสีดำ

ทำไมต้องทาสีดำ?

ทางรถไฟคือเส้นทางสำคัญในการขนส่ง เพราะเป็นทางที่สะดวกที่สุด ราบรื่นที่สุด ไร้อุปสรรคที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางรถไฟ สถานีรถไฟ และสะพานรถไฟ คือจุดที่ต้องทำลายเพื่อตัดทางเดินของชาติศัตรู

เพราะความขาวโอโม่ของสะพานทาชมภูที่มองเห็นได้จากระยะไกล หรือแม้แต่มองเห็นได้ชัดเจนจากทางอากาศ ทำให้สะพานตกเป็นเป้าการทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าชาวบ้านทาชมภูได้ร่วมกันพรางสะพานไม่ให้เป็นจุดสังเกตของฝ่ายพันธมิตรโดยใช้ถ่าน ดิน และสิ่งของจากธรรมชาติที่มีสีดำโบกลงไปบนสะพานเพื่อให้หมดสภาพสีเดิมซึ่งเป็นสีขาวสว่าง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีภาพถ่ายหลักฐานของเรื่องราวนี้มายืนยันได้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น

สะพานทาชมภูถูกเพิ่มคุณค่าในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์การสร้างทางรถไฟสายเหนือ รวมถึงเครื่องยืนยันถึงความท้าทายทางวิศวกรรมของคนไทยในสมัยนั้น ที่ทำให้เราระลึกได้ถึงความท้าทายและยากลำบากในการสร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคทางธรรมชาติมากมาย และที่นี่คงไม่ใช่ Hidden Place อีกต่อไป หากแต่เป็นจุดหมายของนักเดินทางและช่างภาพที่รอคอยการมาถึงของรถไฟสักขบวนที่วิ่งข้ามสะพานนี้โดยมีดอยขุนตาลเป็นฉากหลัง

อีกนิดอีกหน่อย

  1. อีกสะพานที่คล้ายกับสะพานทาชมภูแต่เป็นสะพานรถยนต์ นั่นคือสะพานรัษฎาภิเศกที่ลำปาง แถมเกิดในช่วงไล่เลี่ยกันจะเรียกว่าเป็นสะพานพี่สะพานน้องกันก็ได้
  2. การเดินทางไปสะพานทาชมภูต้องขับรถไป ไม่แนะนำให้นั่งรถไฟเพราะสถานีอยู่ห่างจากสะพานพอสมควร ให้ใช้ถนนสาย 11 (ซูเปอร์ไฮเวย์) ขับมาที่ อ.แม่ทา ก่อนข้ามทางรถไฟให้เลี้ยวซ้ายไปทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล เข้าไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จะเห็นสะพานเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงวัดทาชมภูเลย
  3. ในปี 2562 นี้ สะพานทาชมภูอายุครบ 100 ปี
  4. ช่วงเวลาที่รถไฟวิ่งข้ามสะพานนี้มากที่สุดเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 11 โมง ซึ่งมีรถไฟทั้งขาขึ้นและขาล่องผ่านจำนวนทั้งสิ้น 6 ขบวน และถ้าโชคดีก็อาจจะได้เจอรถสินค้าเป็นของแถมด้วย
  5. มีอยู่ช่วงหนึ่งที่สะพานนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก ได้มีข่าวลือว่าทางการจะทาสีสะพานให้เป็นสีชมพูให้คล้องกับชื่อที่มีเสียงคล้ายสีชมพู ซึ่งโลกออนไลน์ถึงกับรีบแสดงความคิดเห็นอย่างทันควันว่ามันมาผิดทางแล้วแน่ๆ สะพานแห่งนี้ไม่ควรถูกทาด้วยสีอื่นที่นอกเหนือจากสีขาว และแน่นอนว่ามันก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ