จะดีแค่ไหน

ถ้าท่าฉลอม จะมีแหล่งแฮงก์เอาต์ที่ได้ลุง ๆ ป้า ๆ ชาวประมงมาช่วยออกแบบ

ถ้าหอเก็บน้ำที่ถูกทิ้งร้าง จะเป็นได้มากกว่าอนุสรณ์สถาน

ถ้าลูกหลานชาวท่าฉลอม จะได้รู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากกว่าที่เคย

ถ้าผู้ผ่านมาเยือน จะมีโอกาสได้สัมผัสความพิเศษของเมืองนี้

ถ้าอย่างนั้น

เราต้องเริ่มเล่ากันด้วยที่มาของโครงการสนุก ๆ นี้ นั่นก็คือการที่เมืองเก่าอันเต็มไปด้วยเรื่องราวอย่าง ‘ท่าฉลอม’ ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ

รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ

ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO พื้นที่สาธารณะเพื่อการทำกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ที่พึงจะมี คือ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่สำหรับประเทศไทย น่าเศร้าที่เฉลี่ยแล้วเรามีกันเพียงแค่ 3.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้คงไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเราต่างทราบกันดีว่า เมื่อก้าวเท้าออกมาจากบ้าน เราก็ไม่รู้จะพาตัวเองไปอยู่ตรงไหนได้ ถ้าไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า

‘โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน’ เป็นโครงการของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่เคยทำมาแล้ว แต่ถูกนำมาต่อยอดอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับหน่วยงานท้องถิ่นใน 4 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 2 พื้นที่ ซึ่งท่าฉลอมก็เป็น 1 ใน 8 พื้นที่ที่ได้รับเลือกมาพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้มีมากเพียงพอ ตรงกับความต้องการของผู้คน และที่สำคัญ ใช้งานได้อย่าง ‘มีประสิทธิภาพ’ จริง ๆ

เรือที่ไม่ได้แล่น

ในวันนี้เราได้มีโอกาสมาฟัง แอน-อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ และ ปุ๊ก-นฤมล พลดงนอก สองสถาปนิกชุมชนจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้รับหน้าที่ออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เมืองท่าฉลอม เล่าเรื่องผลงานที่พวกเขาภาคภูมิใจ

รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ

“อาชีพประมงเคยรุ่งเรืองที่ท่าฉลอมมาก” 

แอนเปิดเรื่องประมงขึ้นมาเป็นประเด็นแรกในการเล่า เธอเองก็เป็นชาวสมุทรสาคร จึงรู้จักท่าฉลอมตั้งแต่เด็ก

‘ท่าฉลอม’ เป็นตำบลใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร เดิมทีชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่ ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ด้วยความที่เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีทะเล มีสัตว์น้ำ การประมงที่นี่จึงรุ่งเรือง มีตลาดสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน มีกิจการอู่ต่อเรือเรียงราย มากไปกว่านั้น การประมงยังทำให้ที่นี่เป็นเมืองที่เศรษฐกิจดี และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมไปพร้อมกัน

อีกอย่างที่สำคัญสำหรับตำบล คือการเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้มาจากการที่ชาวบ้านร่วมลงขันกันปรับปรุงพื้นที่ให้น่าอยู่ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หอเก็บน้ำที่บริหารจัดการโดยสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของประเทศไทย จึงเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของชาวท่าฉลอมที่ได้มาจากความสามัคคีครั้งนั้น

เวลาต่อมา ที่นี่ก็เปลี่ยนไป การประมงเริ่มทำได้ยาก เพราะกฎหมายควบคุมเรือเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านออกทะเลไม่ได้ถ้าไม่มีทะเบียนเรือและใบอนุญาตการทำประมง อีกทั้งยังมีประเด็นการใช้แรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายด้วย

“ชาวบ้านมีเรือแต่ออกเรือไม่ได้ เราเห็นเรือประมงถูกจอดทิ้งอยู่ริมคลองมหาชัย ลำใหญ่ ๆ ทั้งนั้นเลยนะ” แอนพูดถึงวิกฤตที่ชาวบ้านต้องเผชิญ “จะขายเรือต่อก็ขายไม่ได้เพราะราคาตก ไม่มีใครซื้อแล้ว”

รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ

จากเมืองประมง ท่าฉลอมกลายมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม สัดส่วนประชากรแฝงซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติมากกว่าคนในพื้นที่ ส่วนคนในพื้นที่ที่เป็นวัยทำงาน ก็ทยอยออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น เหลือไว้เพียงผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกเรืออย่างเคย และเด็ก ๆ ที่ไม่รู้จักบ้านของตัวเองเท่าไหร่นัก

แล้วการกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ตามมาด้วยพื้นที่สีเขียวที่น้อยลงไป พื้นที่สาธารณะที่เคยมีก็หดหาย รู้ตัวอีกที ที่นี่ก็เปลี่ยนไปมากอย่างนึกไม่ถึง

ให้ท่าฉลอมได้ฝัน

“ตอนเริ่มต้น เราได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มสมุทรสาครพัฒนาเมือง พอเขาได้ฟังเรื่องโครงการ เขาก็สนใจกันมาก” กลุ่มที่ปุ๊กว่าเป็นองค์กรเอกชนของคนในจังหวัด ซึ่งสนใจทำเรื่องการพัฒนาพื้นที่ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวมาแต่ไหนแต่ไร

“ท่าฉลอมมีศูนย์บริการสาธารณสุข หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานีอนามัย เป็นพื้นที่ส่วนกลางเล็ก ๆ ของชุมชน ขนาดแค่ 2 ไร่” เธอเล่าถึงพื้นที่ที่ทางเทศบาลเสนอให้พัฒนาต่อ พื้นที่นี้อยู่ใจกลางท่าฉลอม เชื่อมกับทั้งถนนพระราม 2 ที่เป็นถนนหลัก และถนนถวายที่เป็นถนนเดิม

ที่สำคัญ พื้นที่นี้ยังเป็นที่ตั้งของหอเก็บน้ำที่เรากล่าวถึงในตอนแรก

“คนในชุมชนใช้อนามัยในการรับเบี้ยผู้สูงอายุ ล้างแผล รับยาโรคประจำตัว” แอนชี้แจงฟังก์ชันหลักของอนามัย ก่อนจะอธิบายถึงการใช้พื้นที่ตามเวลาต่าง ๆ ของวัน “ตอนเช้าตรู่มีแรงงานต่างชาติมาใช้งาน ส่วนตอนเย็นก็จะเห็นผู้สูงอายุมานั่งคุยเล่นกันที่โขดหิน พื้นที่ตรงนี้มีคนมาใช้ตลอดเวลา”

เมื่อได้รู้จักท่าฉลอมและพื้นที่ส่วนกลางที่จะใช้พอประมาณแล้ว ทางอาศรมศิลป์ก็จัดเวิร์กชอประดมความเห็นจากคนในชุมชน ซึ่งมีทั้งป้า ๆ จิตอาสา กลุ่มกิจกรรม กลุ่มเด็ก ๆ ไปจนถึงคนในท้องถิ่น รวมแล้ว 40 – 50 คน โดยมีการตั้งคำถามง่าย ๆ ให้ทุกคนคิดว่า อยากให้พัฒนาพื้นที่นี่ไปในทางไหนบ้าง

รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ
รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ

“เป็นพื้นที่ส่วนกลางในการทำกิจกรรมของชาวบ้าน”

“เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย”

“มีลู่วิ่งสำหรับเด็กด้วย”

“มีห้องสมุด”

“เป็นจุดรับนักท่องเที่ยว”

“ต้องสะท้อนความเป็นท่าฉลอมด้วยนะ”

ด้วยพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 2 ไร่ แต่ฟังก์ชันที่ชาวบ้านต้องการจัดลงในไซต์มีมากมาย นักออกแบบจึงหันไปสนใจหอเก็บน้ำเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างมานาน แล้วตัดสินใจร่วมกับชาวชุมชนว่า จะรวมห้องสมุดที่อยากสร้างให้เด็ก ๆ ไว้บนหอเก็บน้ำ แทนที่จะสร้างอาคารเพิ่มอีกหลังให้เสียพื้นที่โล่งสำหรับทำกิจกรรมเอาต์ดอร์

‘ห้องสมุดลอยฟ้า’ จึงเป็นการบ้านที่ทีมออกแบบจะต้องกลับไปคิดต่อ ฟังดูเป็นโครงการที่น่าตื่นเต้นขึ้นมาทันที

รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ

ไต้ก๋งพาขึ้นเก๋ง

“ไม่ได้ ๆ แบบนี้ไม่ใช่ท่าฉลอม” 

‘พ่อปอง’ จากกลุ่มอาสาพัฒนาเมือง อดีตไต้ก๋งหรือนายท้ายเรือจับปลาแย้งขึ้นมาเมื่อเห็นแบบร่างแรกของห้องสมุดลอยฟ้าตรงหน้า พ่อปองเห็นด้วยกับการมีห้องสมุด แต่กล่องโมเดิร์นเรียบหรูที่ทีมออกแบบทำมานั้น ไม่ใช่ท่าฉลอมที่พ่อปองรู้จัก

แล้วต้องเป็นแบบไหนล่ะ

“ท่าฉลอมต้องมีเรือ ทำเป็นห้องสมุดเก๋งเรือไปเลยสิ” ไม่ปล่อยให้ทุกคนมึนกันนาน พ่อปองเสนอไอเดียฉับไว ดูท่าทางจะมีภาพอยู่ในหัวชัดเจน ‘เก๋งเรือ’ ที่พ่อปองว่า คือห้องควบคุมการเดินเรือประมง

พอได้โจทย์ที่แคบลงมา ทางอาศรมศิลป์จึงกลับออฟฟิศไปรังสรรค์แบบกันใหม่อีกครั้ง ทว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่ออกมาเป็นเก๋งเรือที่ถูกใจคนพื้นที่ พ่อปอง ไต้ก๋งผู้มีเรือเป็นชีวิต จึงรับบทไกด์พาเข้าไปชมในเก๋งเรือของจริงถึงที่ ทำให้ทีมออกแบบได้โอกาสศึกษาสเปซ สัดส่วน ช่องเจาะ และองค์ประกอบต่าง ๆ ของเก๋งเรืออย่างจริงจังสมใจ

ในที่สุด ‘ห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม’ ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลกก็ปรากฏโฉมให้ทุกคนได้เห็น

รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ
รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ
รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าที่ท่าฉลอมเป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า และมีชาวประมงมาช่วยออกแบบ

หอเก็บน้ำแปลงร่าง

“เราทดลองหยิบเอาเก๋งเรือมาอยู่ตามชั้นของหอเก็บน้ำ เพื่อใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ทีมอาศรมศิลป์บรรยายถึงวิธีคิดที่ใช้ในการออกแบบห้องสมุดให้เราฟัง

ชั้นล่างสุดของหอเก็บน้ำ เรียกได้ว่าเป็นใต้ถุนของห้องสมุด เหมาะสำหรับคุณย่าคุณยายที่ชอบล้อมวงเม้ากันตอนเย็น ๆ และหากเดินไปอีกนิดก็จะเจอพื้นที่ออกกำลังกายที่อยู่ไม่ไกลจากใต้ถุน

ชั้น 2 เป็นห้องสมุด พื้นที่ให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ซึ่งถ้าเข้ามาใช้งานก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นไต้ก๋งแบบพ่อปอง กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเก๋งเรือลอยได้

ส่วนชั้น 3 เป็นที่นั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน และชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิว ที่ตอนนี้ทีมออกแบบมีแผนจะนำข้อมูลเกี่ยวกับท่าฉลอมมาติด เพื่อให้ลูกหลานที่นี่และนักท่องเที่ยวได้อ่าน

ทางอาศรมศิลป์บอกกับเราว่า จริง ๆ แล้วนี่คือพื้นที่สำคัญในการเชื่อมต่อกับเมืองอื่น ผู้คนสามารถนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ มาที่มหาชัย ต่อมาที่ท่าฉลอม จากนั้นก็ไปต่อที่อัมพวาได้ ถือว่ามีศักยภาพทางการท่องเที่ยวไม่น้อย

นอกจากส่วนห้องสมุด ยังมีส่วนสนามเด็กเล่นให้เด็ก ๆ ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ซึ่งสนามเด็กเล่นนี้ก็มีการหยิบองค์ประกอบ สิ่งของ และวัสดุต่าง ๆ บนเรือมาใช้ในการออกแบบเช่นเดียวกับห้องสมุด เช่น เสากระโดงเรือหรือเชือกในเรือ รวมถึงยังมีบริเวณด้านหลังอาคารอนามัยเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม และมีลู่วิ่งตามคำความต้องการของชาวบ้านด้วย

เบิร์ด-อาย-วิว

สองสถาปนิกชุมชน เล่าย้อนไปถึงวันที่ห้องสมุดเพิ่งเสร็จหมาด ๆ แล้วให้ชาวท่าฉลอมลองขึ้นไปดูเป็นครั้งแรก ในตอนนั้นทุกคนต่างตื่นเต้นดีใจ พูดกันใหญ่เลยว่าตัวเองเป็นคนออกไอเดียในส่วนไหนบ้าง

ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการออกแบบ และรู้สึกเป็นเจ้าของห้องสมุดนี้ร่วมกันอย่างแท้จริง

“นี่มันท่าฉลอมของเราเหรอเนี่ย” 

คุณป้าท่านหนึ่งรำพึงอย่างตื้นตันใจ เมื่อเดินขึ้นไปถึงจุดชมวิวชั้นบนสุด แล้วพบกับทิวทัศน์มุมสูงของเมืองเบื้องหน้า

“จุดชมวิวเป็นพื้นที่เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและการเชื่อมต่อของเมือง” ปุ๊กกล่าวถึงจุดชมวิว ซึ่งนอกจากช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว จุดชมวิวยังทำงานกับชาวท่าฉลอมได้ดีมากด้วย 

“พอขึ้นมา คนในชุมชนก็จะรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่ รู้สึกภาคภูมิใจ อยากสืบสานความเป็นชุมชนของท่าฉลอมต่อไปค่ะ”

จากทั้งหมดที่เหล่าชาวบ้าน อาศรมศิลป์ และท้องถิ่น ร่วมมือกันทำให้ห้องสมุดสุดพิเศษนี้เสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นว่านอกจากจะได้พื้นที่สาธารณะอย่างที่ตั้งใจในตอนแรกแล้ว พวกเขายังได้ ‘ความเป็นท่าฉลอม’ กลับมาให้ลูกหลานได้สัมผัสด้วย

แล้วห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม ก็ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2565 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทความยั่งยืน ชุมชน สิ่งแวดล้อม สังคม มาครอบครอง

ห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม

ที่ตั้ง : ถนนโสมมนัสมรรคา ต.ท่าฉลอม อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 74000 (แผนที่)

หมายเหตุ : ปัจจุบันห้องสมุดปิดชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographers

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์

Avatar

ศรีรัฏฐ์ สมสวัสดิ์

ช่างภาพสถาปัตยกรรม เมือง ศิลปะและวัฒนธรรม www.aey.me