หนังสืออะไรอ่านได้ทั้งสองประเทศ

หากไม่ใช่พจนานุกรมภาษา หนังสืออะไรที่จะมอบประโยชน์ให้คนสองชาติที่พูดกันคนละภาษาสามารถเข้าใจวัฒนธรรมของอีกฝ่ายได้ไปในตัว

หากบอกว่าเป็น ‘หนังสือสอนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม’ คนไทยที่อ่านจะได้ประโยชน์อะไร แล้วจะอ่านภาษาเวียดนามถูกไหม นี่สิเรื่องใหญ่ที่เราตั้งคำถาม 

เราเดินฝ่าแสงอาทิตย์อันร้อนแรงในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มานั่งตรงหน้า ผศ.ดร.สุภัค มหาวรากร ประธานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย และ ผศ.ดร.นิธิอร พรอำไพสกุล กรรมการและเลขานุการหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อหาคำตอบกัน

อาจารย์ทั้งสองผู้มีความผูกพันกับเวียดนามมากว่า 20 ปี เล่าให้เราฟังอย่างละเอียดว่า หนังสือสอนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนามที่คนไทยเองก็ได้ประโยชน์ในการศึกษาภาษา สังคม และวัฒนธรรมของประเทศเวียดนาม เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) กระทรวงการต่างประเทศ มศว และมหาวิทยาลัยในประเทศเวียดนาม เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์ทั้งสองทางสำหรับผู้อ่านสองชาติ โดยมีภาษาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคประชาชน ต่อยอดความรู้ด้านการสื่อสารในภาคธุรกิจ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างประเทศ

หลังจากรัฐบาลไทยดำเนินงานในประเทศเวียดนามมานาน ภาษาไทยก็ได้กลายเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่ทำให้การสอนภาษาไทยในเวียดนามเกิดความยั่งยืน คือคนเวียดนามสอนภาษาไทยได้เอง

นั่นคือเป้าหมายและผลลัพธ์ที่อาจารย์ผู้มากประสบการณ์บอกกับเรา

ความพิเศษของหนังสือทั้ง 6 เล่มที่วางอยู่ตรงหน้ายังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะหนังสือบางเล่มเกิดจากฝีมือของนักศึกษาชาวเวียดนามที่ผสมผสานความรู้ระหว่างสองชาติไว้ด้วยกัน ถือเป็นตัวอย่าง ความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ของไทยและเวียดนามที่สะท้อนพลังความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Global South-South Development Expo 2022 หรือ GSSD Expo 2022 ในวันที่ 12 – 14 กันยายน 2565

แน่นอนว่าเราตื่นเต้นกับหนังสือเล่มใหม่เหล่านี้ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นยิ่งกว่า คือเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานของ TICA อาจารย์ภัคและอาจารย์นิกผู้ดูแลตั้งแต่นักศึกษาที่เวียดนาม จนพวกเขาบางส่วนได้สอบคัดเลือกเข้าโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มที่ประเทศไทย

หากใครเคยติดตามเรื่องราวของ โบ-อุมาภรณ์ สุขหวาน อาสาสมัครเพื่อนไทยในเวียดนามมาแล้ว ครั้งนี้อาจารย์ภัคและอาจารย์นิกคือผู้ที่จะพาเราย้อนอดีตไปเมื่อ 26 ปีก่อน ในวันที่คนเวียดนามยังไม่รู้จักภาษาไทย สู่วันที่ภาษาไทยกลายเป็นวิชาเอกที่นักศึกษาเวียดนามเลือกเรียน และกลายมาเป็น ‘หนังสือเรียนภาษาไทย 6 เล่ม’ ที่คนเวียดนามก็เรียนได้ คนไทยก็เรียนดี

พ.ศ.​ 2539 ปักธงไทยในใจเวียดนาม

เมื่อนึกถึงชาวต่างชาติที่เรียนภาษาไทย เรามักจะนึกถึงเพื่อนจากแดนไกลอย่างชาติตะวันตก ทั้ง ยุโรป อเมริกา หรือขยับเข้ามาใกล้หน่อยก็จีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่เมื่อได้พบกับอาจารย์ภัคและอาจารย์นิก เราจึงค้นพบว่าชาวเวียดนามเรียนภาษาไทยอย่างจริงจังและตั้งใจกว่าที่เรารู้มาก

สำหรับจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ทั้งสองท่านมานั่งสนทนากับเราในวันนี้ อาจารย์ภัคย้อนอดีตกลับไปช่วงก่อน พ.ศ. 2539 ขณะที่เวียดนามยังเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิด ไม่มีใครรู้ภาษาไทย และชาวเวียดนามยังไม่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร จนเกิดเป็นปัญหาในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว TICA จึงเริ่มโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยเริ่มต้นจากพื้นที่ฐานธุรกิจทางภาคใต้ อย่างมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ นครโฮจิมินห์ ซึ่งมีการพัฒนาหลักสูตรต่อมาเป็นวิชาเอก ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หลังจากนั้น TICA ได้ขยายพื้นที่การสอนภาษาไทยเพิ่มอีก 3 มหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในภาคธุรกิจเวียดนาม-ไทยที่ขยายตัวขึ้น คือมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม กรุงฮานอย เปิดสอนใน พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยดานัง เปิดสอนใน พ.ศ. 2548 และ มหาวิทยาลัยฮานอย เปิดสอนใน พ.ศ. 2552

แน่นอนว่าโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาทุกองค์ประกอบทั้งผู้สอนและหลักสูตร เพื่อดึงดูดผู้เรียนให้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพทางภาษาและการฝึกสอนของตนเอง โดยหนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมมาอย่างเนิ่นนาน ก็คืออาจารย์ภัคที่กำลังพูดคุยกับเราอยู่

พ.ศ. 2544 สวัสดีเวียดนาม

ครั้งแรกที่เครื่องบินลงจอดยังนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อาจารย์ภัคที่ขณะนั้นยังเป็นเพียงเด็กสาววัย 22 ปี ได้เปลี่ยนน้ำตาและความกลัวให้กลายเป็นประสบการณ์ไร้วันหยุด เพื่อมอบความรู้ภาษาไทยและสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นักศึกษาเวียดนามหลายคนแวะเวียนมายังที่พักของอาสาสมัครชาวไทยคนที่ 6 ที่เดินทางมาสอนยังประเทศของพวกเขา อาจารย์ภัคซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของนักศึกษาที่ใช้เป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวัน เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่เธอขอให้เด็ก ๆ พาไป และเด็ก ๆ เองก็เต็มใจจะนำเสนอ แลกกับการตอบคำถามของนักศึกษาชาวเวียดนามที่สนใจเรียนภาษาไทยตลอดเวลา

“ระหว่างทางที่ไปไหนด้วยกัน เขาจะถามตลอดว่า อันนี้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร ออกเสียงอย่างไร แล้วเขาก็ไม่เคยปล่อยให้เราว่าง เสาร์-อาทิตย์เขาอยากจะมาทำอาหาร อยากจะคุยกับเรา อยากจะเรียนภาษาไทย”

อาจารย์ภัคเล่าให้ฟัง ถึงแม้ก่อนหน้านี้ เธอจะไม่มีความสนใจในประเทศเวียดนามเลยก็ตาม

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่การจัดโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม ที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่าง TICA และ มศว เริ่มต้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2542 โดยมีการคัดเลือกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 4 แห่งทั่วประเทศเวียดนามมาเข้าร่วม เพื่อเรียนรู้ภาษาไทยและวัฒนธรรมในสังคมของเจ้าของภาษา 

โครงการนี้เองที่ทำให้อาจารย์ภัคได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม และตัดสินใจตามนักเรียนของเธอมาสอนที่โฮจิมินห์ใน พ.ศ. 2544 – 2545 

ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ความรู้ที่คัดสรรจากครูผู้มีประสบการณ์ 20 ปี

แม้สภาพความเป็นอยู่ในเวียดนาม ณ เวลานั้นจะลำบากกว่าไทย แต่การอยู่ห่างบ้านสำหรับอาจารย์ภัคเป็นเวลา 1 ปี ก็ไม่ใช่คืนวันที่เลวร้ายแม้แต่น้อย

เธอใช้เวลาว่างทั้งหมดในการเรียนภาษาเวียดนาม ซึ่งการเรียนภาษาในประเทศของเจ้าของภาษาช่วยพัฒนาทักษะได้เป็นอย่างดี เราจึงไม่แปลกใจที่การจัดโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนามในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 เดือนจะประสบความสำเร็จอย่างมาก

ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายที่ถูกบอกต่อ

และภาษาไทยก็กลายเป็นเป้าหมายที่นักศึกษาเวียดนามอยากเรียน

หลังจากที่ TICA และ มศว ส่งอาจารย์ไปสอนที่เวียดนามในยุคแรก พวกเขาเริ่มลดบทบาทลงเมื่อผลิตครูชาวเวียดนามที่สอนภาษาไทยได้เพิ่มขึ้น จากการส่งอาจารย์ไทยจึงเปลี่ยนเป็นการส่งอาสาสมัครจากโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT) ไปแทน 

ปัจจุบัน อาจารย์ทั้งสองเพิ่มบทบาทเป็นผู้ดูแลและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยที่ประเทศเวียดนามทุกโครงการ โดยมีกิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปี (ไม่นับช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด) คือ การจัดฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนามในไทยเป็นระยะเวลา 1 เดือน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และการส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปเป็นครูผู้ช่วยสอนในฐานะเจ้าของภาษา

บทเรียนนอกหนังสือ

อาจารย์นิกเป็นเลขาของอาจารย์ภัคมานาน และมีโอกาสเข้ามาช่วยงานตั้งแต่เรียนอยู่ปริญญาโทประมาณ พ.ศ. 2546 – 2547 การได้คลุกคลีอยู่กับนักศึกษาเวียดนามมามากกว่า 10 ปี ทำให้เธอเห็นถึงพัฒนาการภาษาไทยที่ก้าวกระโดดของนักเรียนและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในโครงการอบรมภาษาไทยระยะสั้น

ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ความรู้ที่คัดสรรจากครูผู้มีประสบการณ์ 20 ปี

เราถามอาจารย์ทั้งสองว่า นักศึกษาเวียดนามสนใจอะไรในประเทศไทยบ้าง อาจารย์จึงมอบคำตอบที่ไปถามจากนักศึกษามาว่า ‘สื่อไทย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครและซีรีส์วาย ต่อมาคือ สตรีทฟู้ด แหล่งช้อปปิ้ง และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งทางโครงการได้จัดและพัฒนาทริปให้นักศึกษาอยู่ตลอดเวลา 20 ปี

ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ความรู้ที่คัดสรรจากครูผู้มีประสบการณ์ 20 ปี
นักศึกษาเวียดนามในชุดประจำชาติอ่าวหญ่ายที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ความรู้ที่คัดสรรจากครูผู้มีประสบการณ์ 20 ปี
นักศึกษาเวียดนามทัศนศึกษา ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
ภาพ : เพจโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม

อาจารย์ภัคเล่าต่อว่า ในอดีตมีหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ให้เลือกระหว่างภาษาไทยและภาษาอินโดนีเซีย แต่เด็กเวียดนามเลือกเรียนภาษาไทย เพราะพวกเขาไม่รู้จักภาษานี้ การเรียนภาษาไทยจึงมอบโอกาสที่จะหางานได้ง่ายกว่า ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยว และสาธารณสุข ส่วนปัจจุบัน ผลลัพธ์ในการทำงานหนักตลอด 26 ปีของ TICA และ มศว ทำให้เราไม่แปลกใจนักหากไปเวียดนามแล้วจะเห็นพวกเขาพูดภาษาไทยได้

หนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม

สิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืนของการสอนภาษาไทยในต่างประเทศได้ คือการสร้างบุคลากรท้องถิ่นที่สอนภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ TICA จึงสนับสนุนให้อาจารย์ รวมถึงนักศึกษาเวียดนามมาศึกษาภาษาไทยที่ มศว เพื่อนำความรู้กลับไปสอนที่ประเทศบ้านเกิดของตน โดยโจทย์ที่ TICA มอบให้กับอาจารย์ผู้ดูแลโครงการคือ วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่ได้รับทุน ต้องนำไปต่อยอดให้กับการเรียนการสอนภาษาไทยได้

เช่นเดียวกับหนังสือที่อยู่ในมือของเรา ซึ่งเป็นเครื่องมือวิจัยจากปริญญานิพนธ์ของ Nguyen Thi Loan Phuc นักศึกษาเวียดนามที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารไทย เธอจึงรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งข้อมูลร้านแบ่งตามย่าน บอกประเภทอาหาร เส้นทาง ประเภทการเดินทาง ระยะทาง ไปจนถึงคำศัพท์ภาษาไทย-เวียดนาม ชนิดที่เราอ่านแล้วยังต้องร้องว้าวกับความตั้งใจของผู้จัดทำทุกคน

ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ความรู้ที่คัดสรรจากครูผู้มีประสบการณ์ 20 ปี

อาจารย์ภัคหยิบหนังสืออีก 5 เล่มมาแจกจ่ายให้เราได้ชม ทั้งหมดเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหนังสือ ตำรา สื่อการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาชาวเวียดนาม รวมแล้วมีทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่

· ภาษาไทยในเพลงสำหรับนักศึกษาเวียดนาม (เล่มสีฟ้า) 

· วัฒนธรรมไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม (เล่มสีชมพู) 

· การพูดภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม (เล่มสีส้ม)

· การฟังภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม (เล่มสีเขียวเข้ม)

· กรุงเทพมหานครกับอาหารริมทาง สำหรับนักศึกษาเวียดนาม

· วิถีชีวิตไทยจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน สำหรับผู้เรียนชาวเวียดนาม

เราหยิบหนังสือมาเปิดดูอย่างสนใจ 

TICA และ มศว ได้ร่วมกันผลิตหนังสือ 6 เล่มนี้ขึ้น พร้อมทำเป็นหนังสือเสียง 

และด้วยความอยากรู้อยากลอง เราจึงเปิดไฟล์หนังสือเสียงแบบออนไลน์เรื่องภาษาไทยในเพลงสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ก่อนจะคลิกไปตามประโยคบนหน้าหนังสือ

“โอ้ ทะเลแสนงาม ฟ้าสีครามสดใส” เสียงอ่านของผู้หญิงดังออกจากลำโพง เมื่อคลิกต่อไปที่ตัวอักษรภาษาเวียดนามที่เราออกเสียงไม่เป็น “màu xanh lam” เสียงเดิมก็พูดให้เราฟังว่า “เหม่า ซัน ลาม” แปลว่า สีคราม

“เหมือนเราได้เรียนภาษาเวียดนามไปด้วยเลย” เราบอกกับอาจารย์ภัคอย่างตื่นเต้น ซึ่งเธอพยักหน้าและบอกว่า “นั่นคือจุดประสงค์จริง ๆ ของเรา เพราะหากคนไทยสนใจ ก็เรียนภาษาเวียดนามด้วยได้”

ชมหนังสือเสียงทั้ง 6 เล่ม ได้ที่ https://shorturl.asia/VpfIz)

ขณะที่เรายังไม่หยุดพลิกหน้าหนังสือไปมา อาจารย์ภัคก็เริ่มเล่าถึงที่มาของหนังสือให้เราฟังว่า เวลาที่ผ่านมา 26 ปี แทบจะไม่มีหนังสือภาษาไทยสำหรับคนเวียดนามโดยเฉพาะ เธอจึงอยากผลิตผลงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และมีประโยชน์ในการใช้งานจริง ซึ่งจะทำให้คนเห็นว่า TICA และ มศว ได้ทำอะไรไปบ้าง

อาจารย์นิกเสริมว่า ในยุคที่โควิด-19 แพร่ระบาด การสอนที่เปลี่ยนจากออนไซต์เป็นออนไลน์มีความท้าทายมาก อาจารย์ทั้งสองจึงเสนอทาง TICA ให้ทำหนังสือประกอบการเรียนการสอน โดยหนังสือการฟัง-การพูด เป็นสองเล่มที่ใช้คู่กันในโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานการณ์โควิด-19 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 

ส่วนเล่มวัฒนธรรมไทย (สีชมพู) และภาษาไทยในเพลง (สีฟ้า) จัดทำมาก่อนหน้านี้ และสุดท้ายคือเล่มวิถีชีวิตไทยในขุนช้างขุนแผนที่มาคู่กับเล่มอาหารริมทาง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ Nguyen Kieu Yen นักศึกษาชาวเวียดนามอีกคนที่เคยเรียนเรื่อง ขุนช้างขุนแผน แต่ยังมีเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ เธอจึงเลือกจะทำความเข้าใจเพิ่มเติมจากการทำงานวิจัยชิ้นนี้ แถมอาจารย์ภัคยังกระซิบอีกว่า นักศึกษาได้ทำการหาข้อมูลจนพบว่า เวียดนามเองก็มีวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีเช่นเดียวกับ ขุนช้างขุนแผน นั่นก็คือเรื่อง นางเกี่ยว แต่งด้วยฉันทลักษณ์กลอน หลุกบ๊าด หมายถึงกลอนหกหรือกลอนแปด

“ตราบใดที่ภาษาไทยยังจัดการเรียนการสอนอยู่ในประเทศเวียดนาม ภาษาก็เป็นตัวแทนของประเทศของเรา ของวัฒนธรรมเราที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจเรื่องอื่น ๆ ตามมา ถ้าเราไม่รู้ภาษาเขา เขาไม่รู้ภาษาเราก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ภาษาเป็นตัวแทนสร้างความเข้าใจระหว่างกัน” อาจารย์นิกทิ้งท้าย

“จากประสบการณ์การดูแลโครงการในเวียดนามมา 20 ปีของเรา เราพยายามใส่ทุกอย่างเข้าไปแบบที่เขาจะได้ประโยชน์” อาจารย์ภัคกล่าว

ความใส่ใจที่อาจารย์ทั้งสองท่านใส่ลงไปในหนังสือทั้ง 6 เล่ม ทำให้หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตำราเรียนภาษาไทย แต่ยังเป็นบันทึกความทรงจำที่คัดสรรจากประสบการณ์ 20 ปี รวมถึงตัวแทนประเทศในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการทำงานในระบบสาธารณสุขอีกด้วย

“เด็กเวียดนามมองประเทศไทยดีมาก เรารู้สึกว่าโครงการเหล่านี้ทำให้เราภูมิใจว่า เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีความสุข และจากนี้เราก็ยังเดินหน้าต่อไป”

หนังสือทั้ง 6 เล่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และความหวังถูกวางเอาไว้บนโต๊ะที่บทสนทนากำลังจะจบลง ในอนาคตหนังสือเหล่านี้จะไปอยู่ในมือของนักศึกษาที่พร้อมใช้งานอย่างคุ้มค่า และที่น่าภูมิใจคือแหล่งความรู้ดังกล่าวไม่จำกัดเพียงชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นทั้งของชาวไทยและชาวเวียดนาม 

นอกจากนี้ ความสำเร็จด้านรูปแบบของโครงการพัฒนาการเรียนภาษาไทยในเวียดนามยังได้รับการขยายผล โดย TICA นำไปใช้ต่อในโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยในประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 ประเทศ คือ ‘เมียนมา’ ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง (Yangon University of Foreign Language หรือ YUFL) และมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศมัณฑะเลย์ (Mandalay University of Foreign Language หรือ MUFL) และ ‘กัมพูชา’ ที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ (Royal University of Phnom Penh) และมหาวิทยาลัยพระตะบอง ทั้งยังส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปสอนภาษาไทยในภูฏาน และให้ มศว จัดหลักสูตรฝึกอบรมภาษาไทยแบบเข้มข้นให้แก่ตำรวจจากมัลดีฟส์และนักการทูตมองโกเลียด้วย

หลังจบการสนทนา เรามองไม่เห็นกำแพงภาษาอันยิ่งใหญ่ที่ใครหลายคนต่างหวาดกลัวอีกต่อไป เพราะสิ่งเดียวที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า คือโอกาสในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างงาน โดยมีภาษาเป็นสะพานเชื่อมความสำเร็จ ซึ่งจะขยายผลต่อไปเพื่อให้ภาษาไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่าเดิม

ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม ความรู้ที่คัดสรรจากครูผู้มีประสบการณ์ 20 ปี

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global South-South Development Expo 2022 หรือ GSSD Expo 2022 ร่วมกับสหประชาชาติ (สำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ หรือ UNOSSC และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ ESCAP ) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นับเป็นการจัดงาน GSSD Expo ครั้งที่ 11 และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

หัวข้อหลักของงานปีนี้คือ Advancing South-South and Triangular Cooperation for Sustainable COVID-19 Recovery: Towards a Smart and Resilient Future เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งแบ่งปันความสำเร็จและโครงการด้านการพัฒนาที่โดดเด่นของไทย อาทิ

(1) แนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีส่วนช่วยประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

(2) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ที่คนหนุ่มสาวร่วมส่งเสริมความเข้าใจอันดีและกระชับมิตรภาพระดับประชาชน

(3) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือ ป้องกันและควบคุมสถานการณ์โควิด-19  และ

(4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การฝึกอบรมและจัดสรรทุนการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นจุดแข็งของไทยและเป็นประโยชน์แก่ประเทศผู้รับ ทั้งนี้ สามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้จาก : https://bit.ly/3JVqZGT

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ