คราวที่แล้วผมพาไปย้อนอดีต ‘ทิชชูชมพู’ ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพูกันไปแล้ว

คราวนี้ผมจะพาไปดูเฟอร์นิเจอร์ระดับไอคอนที่มักจะถูกวางอยู่ใต้ต้นมะม่วงหลังบ้านนั้น ถ้าเราสำรวจมันดีๆ จะค้นพบว่า นอกจากเส้นสายพึลึกกึกกือ มวลสารที่เทอะทะ และความหนักอึ้งของมันแล้ว ม้าหินยังเปล่งสำเนียงบอกเล่าเรื่องราวมากมายภายใต้ อิฐ หิน ปูน ทราย หลายสิบกิโลได้

คอลัมน์วัตถุปลายตาตอนนี้จะพาท่านผู้อ่านไปร่วมสำรวจ ‘ภาษาของม้าหิน’ ผ่านการค้นคว้าของผู้เขียน สลับกับบทสนทนากับนักออกแบบลูกครึ่งชาวไทย-อเมริกัน ชื่อ โรเบิร์ต ศุกระจันทร์ แม้จะพูดภาษาไทยได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีความหลงใหลในงานออกแบบแบบไทยจัดๆ จนถึงขั้นลงทุนลงแรงหล่อม้าหินจัดแสดงกลางนิวยอร์กบ้านเกิดของเขาอย่างดื้อๆ เสียอย่างนั้นเลย

โรเบิร์ต ศุกระจันทร์
โรเบิร์ต ศุกระจันทร์ ที่ผู้เขียนแอบคิดว่าหน้าเหมือน อนันดา เอเวอริงแฮม 

คนไทย (ที่แปลว่าอิสระ) ไม่ได้คิดค้น ม้าหิน

“เอาง่ายๆ ผมรู้สึกเหมือนว่า ผมติดแหงกอยู่ตรงกลางมาตลอดทั้งชีวิต”

ถึงแม้โรเบิร์ต ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน จะใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่เมืองไทยทุกปีในช่วงอายุ 10 ขวบ แต่เขาในฐานะพลเมืองสหรัฐฯ ไม่เคยแน่ใจความสัมพันธ์ที่เขามีกับประเทศไทย จนกระทั่งตัดสินใจออกค้นหาความเป็นไทยในตัวเอง ด้วยทริปค้นคว้าหาตัวตนที่เขาได้พบกับผม-ผู้เขียน เมื่อ 2 ปีก่อนที่กรุงเทพฯ

ทริปนั้นเองที่จุดประกายให้เขาเลือกสำรวจด้านที่เป็นไทยของตัวเอง ผ่านเก้าอี้ม้าหินที่เราทุกคนคุ้นตา

เป็นธรรมดาที่ทุกครั้งเมื่อเราออกสำรวจประวัติศาสตร์และที่มาของข้าวของชิ้นใดก็ตาม เราจะพบว่ารากของมันหลายชิ้นไม่ใช่ ‘ไท-แท้’ อย่างที่เราเข้าใจ ถึงแม้ว่ามันจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามาช้านานแล้วก็ตาม-ม้าหินก็เช่นกัน

ม้าหินมีส่วนประกอบหลัก คือปูน ทราย และหินชนิดต่างๆ โดยมากจะเป็นหินอ่อน ด้วยคุณสมบัติความแกร่งของมัน ม้าหินส่วนมากผลิตจากการหล่อและจัดวางส่วนประกอบต่างๆ ผสมเข้าด้วยกันในแม่พิมพ์ และนำออกมาขัดตกแต่งพื้นผิว เพื่อความสวยงามคงทนในขั้นตอนสุดท้าย

ขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคิดค้นครั้งแรก เมื่อเกือบ 500 ปีที่แล้ว ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ต่างหาก

เวนิส-Vanish

ความขี้เหนียวคือจุดเริ่มต้นของเทคนิคที่นำมาใช้กับการหล่อม้าหินหรือการทำหินขัด ที่เรียกว่าอีกอย่างว่า Terrazzo ซึ่งเป็นภาษาอิตาลี หมายถึง Terrace หรือ พื้นระเบียง

ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
ช่างอิตาลีในยุค 1920

ผู้รับเหมาชาวอิตาลีในยุค 1500 รู้สึกเสียดายเศษหินอ่อนรูปร่างแปลกๆ ที่เหลือจากการปูพื้นและผนังต่างๆ จึงทะลึ่งคิดค้นเทคนิคการฝังเศษหินเหล่านี้ลงไปพร้อมกรวดและปูน หลังจากนั้นจึงขัดให้เรียบพร้อมเคลือบด้วย ‘น้ำนมแพะ’ ให้เงาวาว ความงกของช่างบวกกับนมแพะนี่เองที่ถือเป็นจุดกำเนิดของเทคนิคการทำหินขัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ผมไม่รู้ว่าพื้นที่ของผมบนโลกนี้คือที่ไหนกันแน่ รู้แค่ว่าเวลาไม่กลับไปเมืองไทยนานๆ แล้วรู้สึก Homesick หรือคิดถึงบ้านมาก” ลูกครึ่งไทย-อเมริกันพูดถึงบ้านหลังที่สองของเขา

หลังจากที่โรเบิร์ตจบปริญญาตรีที่อเมริกา เขาพยายามหาทางสร้างสัมพันธ์กับประเทศไทย ประเทศที่เขาเคยใช้เวลาอยู่ทุกฤดูร้อนในวัยเด็ก แต่การเดินทางมาเมืองไทยนั้นเริ่มยากขึ้นเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับหนทางการประกอบสัมมาอาชีพของเขาในฐานะนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์

เขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมีปัญญาเก็บเงินเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาประเทศไทยตอนโตอีกครั้ง ชีวิตการเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในบรู๊กลินมันเสี่ยงต่ออาการ ‘ถังแตก’ พอสมควร

“ทุกครั้งที่กลับมาจากทริปที่เมืองไทย ผมจะรู้สึกหดหู่ทุกครั้ง เพราะรู้ว่าโอกาสที่จะได้กลับไปครั้งหน้าคงอีกนานแน่ๆ” โรเบิร์ตผู้เหมือนเด็กอเมริกันทั่วไปที่ทำงานพิเศษมาแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่ในร้านอาหารไทย ยันไปเป็นช่างถ่ายภาพงานแต่งงานกล่าวไว้

ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
ผลงานการออกแบบของโรเบิร์ตในคอลเลกชัน Mirazzo

แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

Terrazzo หรือหินขัดค่อยๆ แพร่หลายขึ้นจากยุโรปเข้าไปสู่ทวีปอเมริกาในยุค 1700 คุณสมบัติคือความถึก ทนทาน และแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีของหินขัดนี่เอง ที่ทำให้เทคนิคนี้นิยมนำไปใช้ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม พื้นที่สาธารณะ อนุสาวรีย์ ตลอดจนสถานที่ทางศาสนาและการเมืองการปกครองต่างๆ เพราะมัน ‘คงทน ถาวร และทำให้สั่นคลอนได้ยาก’ ตรงตามวัตถุประสงค์เป๊ะๆ

หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1920 ที่มีการคิดค้นเครื่องขัดไฟฟ้า หินขัดก็มีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคในการหล่อ ชนิดของปูน สีสันของปูน น้ำยาเคลือบ ตลอดจนการติดตั้ง ซึ่งล้วนทำให้เกิดภาษาหินขัดใหม่ๆ จากการหล่อ การฝังหิน การขัดปูน ขึ้นมากมาย รวมไปถึง ‘ย่างก้าวแห่งดวงดาว’ หรือ Hollywood Walk of Fame สถานที่จารึกชื่อของดารา นักแสดง ระดับตำนานในฮอลลีวูดหลายๆ คนนั้น ก็ผลิตขึ้นมาด้วยเทคนิคหินขัดสีชมพูหรือ Pink Terrazzo เช่นเดียวกัน

ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald John Trump) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ คือคนดังคนแรกที่ถูกเรียกร้องให้ถอนถอนชื่อออกจาก Hollywood Walk of Fameจนถึงขั้นมีคนแอบไปทำลายหินขัดของทรัมป์เลยทีเดียว

สบาย-ไม่สบาย ถูกใจก็นั่งกันไป

ด้วยความคงทนของหินขัดนี่เอง ทำให้การประยุกต์เอาเทคนิคนี้ไปใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์สาธารณะค่อยๆ ก่อกำเนิดขึ้น หากจะย้อนไปจริงๆ ม้านั่ง หรือ Bench เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 1400 และเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ตั้งแต่โรงละครกลางแจ้ง หอประชุม โบสถ์ และเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมเสมอมา

ตั้งแต่มีการคิดค้นเทคนิคหินขัดขึ้น การนำเฟอร์นิเจอร์ที่ยากต่อการเคลื่อนย้ายไปใช้ในพื้นที่สาธาณะก็แพร่หลายมากขึ้น ในยุค 1900 จากเหล็กดัดก็ลามไปถึงการตั้งเฟอร์นิเจอร์ปูนตันๆ ไว้ในสวนบ้าง ในค่ายทหารบ้าง ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้สร้างเพื่อความสบายในการนั่งเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจมองว่า “ม้านั่งสาธารณะนั้น ไม่ควรจะนั่งสบายสิ!” เพราะมันจะเชื้อชวนให้คนนั่งนาน นอนนาน เช่น คนจรจัด และม้านั่งเหล่านี้ ‘สวยที่สุด เวลาไม่มีคนนั่ง’ เป็นที่มาของภาษาการออกแบบ อย่างม้านั่งในปารีสหรือในเซ็นทรัลพาร์ก นิวยอร์ก ก็ล้วนแต่แข็ง เย็น ทื่อ ไม่สบายที่สุด

วุ้นแปลภาษา ของม้านั่ง

“โลกของผมเหมือนมีสองใบ” ประโยคคุ้นหูนี้โรเบิร์ตก็กล่าวไว้เช่นกัน

หลังจากทริปค้นหาตัวตนครั้งนั้นที่ผมกับเขาได้พบเจอกัน โรเบิร์ตบอกตัวเองว่า พอกันทีกับโลกที่ชีวิตหนึ่งอยู่ในไทย อีกชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก

เก้าอี้ ‘ม้าหิน’ คือ ‘ข้ออ้าง’ ในการเชื่อมโลกคู่ขนานของเขาไว้ด้วยกัน ในฐานะคนที่เป็นทั้งไทยและเทศ และคนที่ติดอยู่ตรงกลางมาทั้งชีวิต

ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
ผลงานการออกแบบของโรเบิร์ต ในคอลเลกชัน Mirazzo

เมื่อวัฒนธรรมของ ‘เก้าอี้’ (หมายถึง ที่นั่งสูง ในรากภาษาจีน) เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกๆ นั้น เก้าอี้เป็นที่นั่งของขุนนางและชนชั้นสูง และถือเป็นงานฝีมือราคาแพง มักทำจากไม้มีค่า แกะสลักประดับประดาชนิดที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ที่นั่งพื้น นั่งเสื่อมาตลอด นั่งกันไม่เป็นเลยทีเดียว หลายคนก็ยังยกเท้าขึ้นมานั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้หรือที่นั่งสูงอยู่ดี

จนกระทั่งถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เก้าอี้จึงถูกมองเป็นของสามัญมากขึ้น เป็นผลให้เทคนิคการผลิตข้าวของต่างๆ แพร่หลาย และมีวิวัฒนาการหรือภาษาในการออกแบบของมันเกิดขึ้น รวมถึงเจ้าม้าหินประจำศาลาที่ว่าการอำเภอของพวกเราด้วย

“บางทีคนไทยมองบางอย่างด้วยสายตาคนใน ของหลายๆ ชิ้นก็เลยเปรียบเสมือนของตาย ม้าหินข้างถนนพวกนี้ก็คือหนึ่งในนั้น” โรเบิร์ตอธิบายวิธีมองสิ่งต่างๆ ของเขาในฐานะคนนอก

ฝังอะไรก็ฝังไป : แกรมม่า-ม้าหินไทย

ถึงแม้การออกแบบเก้าอี้ของคนไทยจะได้รับอิทธิพลที่ผสมผสานมาแล้วจากจีนและชาติตะวันตก แต่ม้าหินของไทยก็ยังส่อภาษา สำเนียง และแกรมม่า ในการออกแบบที่แตกต่างจากต้นฉบับอยู่มากโข

เส้นสายของโครงสร้างของม้าหินไทยน่าจะได้รับอิทธิพลจากเฟอร์นิเจอร์ในสวนจากหลายชาติพอสมควร ทั้งขาที่มีลักษณะหกเหลี่ยม มีรูกลม จนไปถึงความโค้งมนของที่นั่งแบบจีนและญี่ปุ่น และมุมเหลี่ยมของพนักที่มีความทึบและเทอะทะ คล้ายงานเฟอร์นิเจอร์ของกลุ่ม Memphis ในอิตาลี

“ผมพบว่า ถึงแม้ม้าหินจะเป็นเทคนิคที่มาจากอิตาลี แต่คนไทย ด้วยความเป็นเจ้าแห่งการผสมปนเปก็ยังอุตส่าห์หาวิธีทำให้มันออกมาดูโคตรไทยได้ และเก้าอี้ม้าหินคือตัวอย่างที่ดีมากๆ ของการเป็นเจ้าแห่งการผสมและหยิบยืมของคนไทยเลย” โรเบิร์ตกล่าวถึงม้าหินแบบไทย ที่สำหรับเขาสะท้อนให้เห็นถึงความชาญฉลาดในการสร้างเฟอร์นิเจอร์ราคาไม่แพงจากเศษหิน

นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเก้าอี้ม้าหินธรรมดาๆ ถึงได้เตะตาหนุ่มนักออกแบบลูกครึ่งที่โตมาในนิวยอร์กได้ เพราะทั้งม้าหินและโรเบิร์ตเป็นตัวแทนของความครึ่งๆ ที่มีเอกลักษณ์ในความเป็นลูกผสมเช่นกัน

อีกหลักฐานหนึ่งว่าม้าหินของไทยเกิดขึ้นมาเพื่อใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์ ได้แก่ การปูกระเบื้องสีสันสดใสฝังลงไปเพื่อใช้เป็นตารางหมากรุกและหมากฮอส การจับคู่สีตัดกันของกระเบื้อง ไปจนถึงสีสัน รูปทรง ขนาด ของหิน เศษแก้ว กรวด ขวดเบียร์ เศษกระจก ที่เลือกฝัง และการจัดเรียงองค์ประกอบที่บ้างก็มั่ว บ้างก็เป็นระเบียบเวอร์ ความแตกต่างผสมปนเปหลากหลายนั่นเอง ที่ทำให้ม้าหินไทยดูต่างจากช่างอิตาลีผู้คิดค้นเทคนิคนี้เมื่อ 500 ปีก่อนไปโดยปริยาย

โซไฟน์ โซเฟรช โซฟรี (So Fine, So Fresh, So Free)

ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
 ผลงานการออกแบบของ Apt Studio ในลอนดอน

ค.ศ. 2018 จนถึง 2019 เป็นปีทองของ Terrazzo หรือหินขัดในแวดวงงานออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศ นักออกแบบหลายคนพยายามสร้างภาษาใหม่ของ Terrazzo ขึ้น และเริ่มคิดพิสดารหารูปแบบการฝัง รวมไปถึงรูปทรง สีสัน แบบที่เป็นไทย ละเมียดละไม สดใหม่กว่าขนบเดิมๆ โดยสิ้นเชิง

กรอเทปมาข้างหน้า 2 ปีผ่านไป จากวันที่ผมได้เจอโรเบิร์ต วันนี้ผลงานชุด Mirazzo ของเขาถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ และก็เป็นเขานี่เองที่ทำให้ผมสำเหนียกว่า ความเป็นไทย ที่แปลว่า อิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางภาษา ภูมิศาสตร์ และรับอิทธิพลจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เช่นเดียวกับม้าหินไทยๆ ที่ ‘เกิดมาก็เป็นลูกครึ่งแล้ว’

นอกจากโรเบิร์ตที่ลุกขึ้นมารื้อม้าหินแบบไทยๆ แล้ว ยังมีนักออกแบบอีกหลายคน เช่น ออฟฟิศสถาปนิกชื่อ Apt จากลอนดอน ร่วมมือกับ Huguet ผู้ผลิตหินขัดจากสเปน เริ่มฝังสิ่งอื่นๆ ที่เป็นของเหลือจากไซต์ก่อสร้าง เช่น เศษไม้ เศษเหล็ก ตะปู น็อต ลงไปในปูน ในขณะที่ดีไซน์โปรดของผู้เขียน ได้แก่ ม้าหิน Terrazo ของ Schoenstaub จากสเปน สร้างรูปทรงง่ายๆ ของเฟอร์นิเจอร์หินขัดจากการซ้อนทรงเหลี่ยมเข้าด้วยกันแบบง่ายๆ แต่น่าใช้งาน

ม้าหิน เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบยืมสไตล์จากหลายชาติมาผสมจนออกมาเป็นเก้าอี้โคตรไทย, ม้าหินอ่อน
ผลงานการออกแบบของ Schoenstaub จากสเปน

ม้านั่งกับมุมมองของรัฐ

ถ้าใครเคยนั่งหรือนอนรอรถเมล์ในป้ายรถเมล์ของไทย คุณเคยนั่งในม้านั่งที่สะท้อนมุมมองของรัฐที่มีต่อพลเมืองแบบ “ม้านั่งสาธารณะไม่ควรจะสบายสิ” มาแล้วทั้งสิ้น

มุมมองของพื้นที่สาธารณะค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในยุค 2000 นี้เอง เป็นผลพวงมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่อำนวยให้การผลิตเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มีราคาถูกลง น้ำหนักเบา ผลิตง่ายขึ้น เก้าอี้รวมถึงม้านั่งจึงเริ่มรับใช้คนนั่งและคำนึงถึงสรีระของผู้ใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้านหรือในพื้นที่สาธารณะก็ตาม

ฝันอะไรก็ฝันไป

ถ้าคุณฝันเห็น ‘ม้านั่ง’ ในฝัน นักอ่านฝันบางสำนักเชื่อว่ามันหมายถึงการรอคอยอะไรบางอย่าง ในขณะที่บางสำนักหมายถึงการฝังใจเชื่อบางคนหรือบางสิ่งบางอย่างหมดหัวใจโดยปราศจากความเคลือบแคลง ซึ่งมักจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดเสมอ

การออกแบบที่นั่งสาธารณะในปัจจุบัน หลายประเทศให้ความสำคัญกับมุมมองการรับใช้คนที่หลายหลากมากขึ้น (Inclusive) ซึ่งสะท้อนภาพที่รัฐหรือผู้มีอำนาจมองคนนั่งหรือพลเมือง ถ้าหากม้านั่งสาธารณะออกแบบโดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะสบายไปจนมีคนจรจัดไร้บ้านมานอน (ต่อให้มานอน ก็ต้องนอนสบาย หรือความเชื่อที่ว่าประเทศไม่ควรอยู่ในจุดที่มีคนจรจัดเลย) ก็อาจเป็นไปได้ว่า มุมมองของรัฐที่มีต่อพลเมืองทุกชีวิตและพื้นที่สาธารณะกำลังเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการนิยามความหมายของคำว่า ‘สาธารณะ’

“นี่คือช่วงเวลาที่ผู้คนโหยหาการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กับการเชื่อมโยงกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” โรเบิร์ตกล่าวทิ้งท้ายผ่านโปรแกรมวิดีโอคอล โดยไม่รู้ว่าทริปกลับมาบ้านหลังที่สองของเขาครั้งหน้าจะมาถึงวันไหน

ม้าหิน ม้านั่งที่ป้ายรถเมลล์ หรือที่นั่งสาธารณะ ที่ ‘นั่งสบาย’ จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเมือง อำนาจรัฐ การให้ความสำคัญของพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน แบบที่ใครๆ ก็อาจจะไม่ทันได้คาดคิด

ส่วนตัวผู้เขียน รอคอยฝันเห็นวันที่ ‘ม้าหินจะนั่งสบาย’ มานานหลายสิบปี

แต่ก็เป็นฝัน ที่เคยฝัน ที่ไม่กล้าฝัน ที่คนธรรมดาคนหนึ่งไม่กล้าฝัน แต่เขาก็ให้มาโดยที่ฉันแอบฝัน แล้วเขาเป็นคนสร้างฝัน


ข้อมูลอ้างอิง

Writer & Photographer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ