18 พฤศจิกายน 2020
1 K

The Cloud x The CocaCola Foundation x TerraCycle Thai Foundation

วิถีชีวิตของคนไทยพึ่งพาและอาศัยน้ำเป็นวิถีหลัก แต่ใครเลยจะรู้ว่าการพึ่งพาอาศัยและครอบครองน้ำที่ไหลผ่าน กลับกลายเป็นการทำร้ายแม่น้ำลำคลองเสียเอง

เจมส์ สกอทท์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ที่เข้ามาดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว กล่าวในฐานะคนต่างชาติที่เข้ามาเห็นคลองลาดพร้าวในตอนแรกว่า “มันแย่มากเลยครับ ผมลองสำรวจแถวๆ นี้ ก็พบว่ามีแต่กลิ่นเหม็นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์โชยมาจากในน้ำ เห็นขยะลอยมาเกลื่อน มันไม่ใช่แค่ขยะที่ตกลงไปเองนะ แต่เพราะมีคนทิ้งลงไปด้วย เห็นครั้งแรกก็ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าเขาจะทำแบบนี้ แต่สำหรับคนที่ทิ้ง เขาคงคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ ผมเลยอยากจะเปลี่ยนมัน” 

เจมส์ สกอทท์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย, คลองลาดพร้าว

คลองลาดพร้าวคือหนึ่งในคลองที่ยาวที่สุดในกรุงเทพฯ ไหลผ่านหลากหลายพื้นที่ และนับเป็นหนึ่งในคลองที่ประสบปัญหามลพิษขยะร้ายแรงที่สุดแห่งหนึ่ง ปัญหาสะสมที่เรื้อรังมานานต้องใช้เวลาในการแก้ไข และความตั้งใจของเจมส์คงเป็นจริงไปไม่ได้ หากขาดเพื่อนคนสำคัญอย่าง ‘โค้ก’ โดยมูลนิธิโคคา-โคลา ที่เข้ามาให้ทุนสนับสนุนในการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว ทำความสะอาด และส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บาราภายใต้โครงการ Benioff Ocean Initiative เพื่อช่วยป้องกันการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำสู่มหาสมุทรทั่วโลก

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

ไม่เพียงแค่นั้น เพราะการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ และความร่วมมือของชุมชนตลอดสองฝั่งคลอง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน และความร่วมมือนั้นก็มีจุดเริ่มต้นจากคนตัวเล็กๆ นั่นคือหัวหน้าชุมชนลาดพร้าว ที่รู้เส้นทางนี้ดีเหมือนเส้นลายมือตัวเองอย่าง แซม-สำเนียง บุญลือ

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่คลองลาดพร้าว ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องดักขยะที่ผลิตขึ้นในประเทศจำนวน 2 เครื่อง ขยะจำนวนมากถูกเก็บขึ้นมาจากคลองก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นขยะทุกชิ้นถูกนำไปตากแห้งและคัดแยกที่สถานที่คัดแยกในเขตลาดพร้าว เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้องสำหรับขยะแต่ละประเภท โดยมีการบันทึกปริมาณและประเภทไว้อย่างละเอียด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพัฒนาโครงการการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชนริมคลองต่อไป

เครื่องดักขยะ 2 เครื่องที่ทำงานอย่างหนัก 5 วันต่อสัปดาห์นี้เป็นเพียงเส้นทางสู่การพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนนั้นมาจากความร่วมไม้ร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคม ทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันนี้ ลำคลองที่กลับมาสะอาดและเต็มไปด้วยชีวิตอีกครั้ง

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

แขยงเหล่าขยะ

เจมส์และแซมเริ่มต้นพาเรานั่งเรือเพื่อออกสำรวจสภาพของคลองลาดพร้าวในปัจจุบัน ก่อนที่แซมจะเล่าย้อนให้เราฟัง ถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เขาเคยอาศัยในชุมชนคลองลาดพร้าวเมื่อครั้งยังเด็ก “ผมเกิดที่คลองลาดพร้าวนี่เลย ใช้ชีวิตอยู่กับคลองมาตลอด โห ตอนนั้นคลองใสมาก ใช้น้ำได้สบายเลย ผมใช้น้ำในคลองแปรงฟันยังได้เลยตอนนั้น ชีวิตก็ดีมาก”  

แต่ไม่นานภาพนั้นก็เลือนรางและจางไป กลายเป็นสภาพที่เราเห็นในทุกวันนี้ “ผมว่าความเจริญเข้ามา วิถีก็เลยเปลี่ยน เพราะว่าคนเข้ามาอยู่เยอะ น้ำก็เลยเปลี่ยนแปลงไปเลยทีนี้ ก่อนหน้านี้ที่อากาศมันดี พอมีแต่ขยะอย่างนี้กระทบที่สุดก็คือคนริมคลองนะ ถ้าน้ำมันใสสะอาดก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ น้ำมันสกปรกใช้ไม่ได้ มันกระทบทั้งชีวิตเราเลย จากที่เดินๆ ออกไปนอกบ้าน สูดอากาศหายใจได้สบายๆ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว 

“การที่ขยะมันเยอะๆ เนี่ย พอมันสะสมก็ทำให้ลำคลองมันตื้นเขินขึ้นมา การระบายน้ำก็ไม่ดี เสร็จแล้วที่น้ำมันท่วมบ่อยๆ เพราะนี่แหละ ถุงพลาสติกมันไปอุดไปตันตรงนั้น ขยะนี่มีผลกับตรงนี้มากเลย ขยะที่เราเห็นกันทุกวัน”

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'
ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

เมื่อลองวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น เจมส์บอกกับเราว่า อาจเกิดจาก 2 ปัจจัย “ข้อแรกคือ พวกเขาไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน และข้อสองคือ พวกเขาไปทิ้งที่อื่นไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก นั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึง ว่าการทิ้งขยะลงไปในคลองแล้วจะเป็นอย่างไร แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปโทษเขาทั้งหมดนะ

“ที่จริงแล้วขยะไม่ได้มาจากแค่คนริมคลอง แต่มาจากทุกพื้นที่บริเวณเลยต่างหาก ทั้งจากคนที่อยู่รอบบริเวณ ท่อน้ำทิ้งที่เต็มไปด้วยขยะ ถนนเอย สุดท้ายมันก็มาจบลงที่คลอง พอเราศึกษากับทางมหาวิทยาลัยมหิดล เราก็พบว่าขยะจริงๆ แล้ว มาจากอีกฟากของแม่น้ำ มาจากบนเกาะบ้าง มาจากประเทศอื่น มาจากบนเรือ หรือแม้กระทั่งมาจากแผ่นดินใหญ่ที่เราอยู่กัน ขยะมันมาจากทั่วทุกที่นั่นแหละ

“ผมคิดว่าคลองในประเทศไทยควรเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันต้นๆ ที่คนจะมาด้วยซ้ำ คนควรมาริมคลองได้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณสามารถพาเพื่อนมาขี่จักรยานหรือเดินรอบคลองได้ มันคงจะสวยมาก ถ้าเป็นที่ยุโรปหรือที่อื่น เราก็จะเห็นเขาทำแบบนี้ได้ และไม่ใช่ทุกเมืองจะมีคลองที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้เหมือนในกรุงเทพนะ แต่กลายเป็นว่าพอมันสกปรก ก็ไม่มีใครอยากจะมา ที่จริงคลองในกรุงเทพนี่ถือว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราลงมือทำอะไรสักอย่าง”

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าถึงเวลาสักทีที่คลองนี้ควรเริ่มเปลี่ยนแปลง

คลองลาดพร้าวโมเดล 

แล้วทำไมคลองลาดพร้าวถึงเป็นคลองสายแรกๆ หรือคลองต้นแบบแห่งการกำจัดขยะ เจมส์จึงมาไขข้อสงสัยให้เรา 

“ผมขอเริ่มต้นเล่าถึงเทอร์ราไซเคิลก่อน เราก่อตั้งมายี่สิบปี ในกว่ายี่สิบสองประเทศแล้ว เรามีชื่อเสียงจากการรีไซเคิลสิ่งที่คนไม่ค่อยเอาไปรีไซเคิลกัน เราพยายามสร้างเทคโนโลยีและองค์ความรู้ตั้งต้นให้กับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการทำเรื่องรีไซเคิล อย่างโปรเจ็คนี้ เราก็ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลาในการผลิตเทคโนโลยีที่จะช่วยกำจัดขยะในคลองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เราไปสำรวจหลายคลองมาก เราลงไปคุยกับหลายๆ ชุมชนกับหลายๆ ผู้นำชุมชนก่อน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่เราทำ จุดสำคัญคือเราจะเลือกชุมชนที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าจะเป็นโครงการระดับโลกแต่ถ้าชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ และทำไมถึงต้องเป็นคลองลาดพร้าว ก็เพราะพอเราคุยกับแซม เขาก็ทำงานในการดูแลรักษาคลองมาตลอดเขามีแพชชั่นที่จะทำตรงนี้และอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เราเลยเลือกให้ที่นี่เป็นคลองต้นแบบ”

แซมบอกว่า เขาเก็บขยะตรงนี้มาจะเป็นสิบปีแล้ว จากการอาสาทำเองบ้างในช่วงวันหยุด พอเกษียณจากงานขับรถสิบแปดล้อ เขาก็ลงมาช่วยงานชุมชนแบบเต็มตัว เพราะอยากทำให้ชุมชนน่ามองอีกครั้ง แต่ไม่เคยเห็นผลเลย

“ผมอยู่กับชุมชนมาสี่สิบกว่าปีแล้วนะ ผมทำกับชุมชนมาตลอด แต่มันก็ไม่เห็นภาพจริงจังสักที คาอยู่อย่างนี้

“จะกำจัดขยะต้องทำจากคลองก่อน แล้วหนึ่งในคลองที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ ก็คือคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นเส้นเลือดตรงนี้เลย ก็ต้องมาดักขยะตรงนี้ก่อน แล้วมูลนิธิเขาเข้ามาถูกทางพอดี เก็บต้นทางไว้ก่อน ขยะปลายทางก็จะน้อยลงได้”

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

นวัตกรรมเครื่องดักขยะ

และสิ่งที่เทอร์ราไซเคิลทำก็คือการพัฒนาเครื่องมือดักจับขยะ ลักษณะเป็นตะแกรงลึกลงไปในคลองแต่ไม่ถึงก้นคลอง พร้อมมีแขนยื่นออกมาสองข้าง ผูกติดกับโป๊ะเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน 

“มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก แต่สิ่งหนึ่งคือมันต้องคงทนและอยู่ได้นาน ที่สำคัญคือต้องไม่กระทบสัตว์น้ำ เราถึงไม่สร้างเครื่องให้ลงไปติดก้นคลอง เพื่อให้สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้ เราปรับกันหลายครั้งอยู่เหมือนกันกว่าจะได้มา เราทำให้แขนยาวขึ้นเพื่อที่จะได้ดักขยะได้มากขึ้น และไม่ใช่แค่การดักจับขยะบนผิวน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นใต้น้ำด้วย การใช้เป็นไม้ไผ่แบบที่ทำกันจะสามารถดักขยะได้แค่บนผิวน้ำเท่านั้น ซึ่งดูแล้วเหมือนจะมีไม่เยอะ แต่ตัวปัญหาคือขยะที่จมลงไปใต้น้ำ” เจมส์อธิบายให้เราฟัง พร้อมพาเราไปดูเครื่องดักจับขยะว่ามีหน้าค่าตาแบบไหน

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'
ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

แซมบอกเราเพิ่มเติมว่า “ถ้าไม่มีเครื่องนี้ เราก็จะตักแต่ข้างบนอย่างเดียว ขยะข้างล่าง พอเราไปตักมันก็หนีหมด แล้วไปกองอยู่ตามมุมอับ ซึ่งทำให้คลองตื้นเขิน วิถีการเดินทางน้ำก็จะยากขึ้น แต่พอได้ตัวนี้มาช่วย เราก็จะแก้ปัญหาได้เยอะมาก”

ซึ่งเครื่องดักจับขยะโดยความร่วมมือของมูลนิธิโคคา-โคลาจะถูกวางอยู่ 2 จุด คือบริเวณลาดพร้าว วังหิน 61 ซึ่งอยู่ในเขตลาดพร้าว กับบริเวณราบ 11 เขตบางเขน แต่สำหรับการวางจุดนั้นก็ต้องดูวิถีของน้ำ รวมถึงทิศทางของลมด้วย เพื่อที่จะดักได้ถูกทาง

เมื่อวางจุดได้แล้วก็ถึงปฏิบัติการการเดินเรือเพื่อออกมาเก็บขยะ กิจวัตรที่แซมและทีมงานจะต้องทำก็คือ “เช้ามาเราก็เตรียมทีมงานออกไปเก็บขยะ เราจะล่องเรือไปเก็บตามจุด” แซมบอก

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'
ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'
ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

“ผมวางแผนให้พวกเขาทำงานกันห้าถึงหกวันต่อสัปดาห์ เพื่อเก็บขยะจากเครื่องดักทั้งสองเครื่อง ซึ่งก็จะได้มาประมาณหนึ่งพันสองร้อยกิโลกรัมต่อวัน แต่ก็แล้วแต่พฤติกรรมของชุมชน สภาพอากาศ และปัจจัยอื่นๆ ด้วย จากนั้นก็นำขยะกลับมาที่ไซต์แล้วแผ่ออก ตากให้แห้งหนึ่งวัน จากนั้นวันรุ่งขึ้นถึงมาแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ รวบรวมไว้ แล้วจึงส่งไปให้หน่วยงานที่รับรีไซเคิลต่อไป ถ้าขยะที่คุณภาพต่ำมากๆ ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เราก็จะส่งไปทำเป็นพลังงานจากขยะแทน” เจมส์เล่าให้เราฟัง

และเมื่อจัดอันดับประเภทขยะที่พบมากที่สุด โดยไม่นับรวมขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ สิ่งที่พบมากเป็นอันดับแรกก็คือขวดพลาสติกและโฟมรองลงมา ส่วนสิ่งที่แปลกที่สุดคงต้องให้แซมเล่าว่าเขาเจออะไรในคลอง

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'
ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

“(หัวเราะ) ตู้เย็น ทีวงทีวี พวกนี้ เพราะรถขยะเข้าไปเขาก็ไม่เก็บ มันไปไหนต่อไม่ได้” 

เจมส์เลยเสริมว่า “ตอนนี้เราก็กำลังพัฒนานวัตกรรม ว่าจะทำอย่างไรกับขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล เพราะบางครั้งพอขยะมันไปต่อไม่ได้ ก็ต้องจบลงที่กองขยะในท้ายที่สุด ซึ่งเราไม่อยากทำอย่างนั้น เลยเลือกที่จะส่งไปผลิตพลังงานที่มาจากขยะแทน

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

“ตอนแยกขยะ ก็จะมีทั้งแก้ว โพลีสไตรีน แพคเกจที่มีพลาสติกหลายชั้น ฉลาก พลาสติก PET พลาสติก HDPE นอกจากจะให้เขาแยกประเภทแล้วยังให้แยกตามแบรนด์ด้วย เพื่อให้เจ้าของได้รู้ว่ามีลูกค้ารักผลิตภัณฑ์คุณมากเลยนะ เพราะเราเห็นเขาทิ้งกันเยอะมาก (หัวเราะ) 

“และเราอยากทำงานกับคุณด้วย ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนมีความสุขกับการใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณ แล้วนำไปรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสมด้วย ให้แบรนด์เห็นว่าเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะในลำคลอง ไม่ใช่ว่าคุณไม่มีส่วนแล้วโยนความผิดให้แต่ลูกค้า สิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากจะทำต่อไป อยากให้แบรนด์เห็นว่าเขาเองก็มีส่วนช่วยเรื่องปัญหาขยะได้เหมือนกัน”

นวัตคนเพื่อความเข้าใจเรื่องขยะ

“สิ่งที่ผมกับคุณแซมทำไม่ใช่แค่เพื่อเก็บขยะออกไปให้หมดนะ แต่เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนด้วย เราอยากเก็บขยะเพื่อให้คนรู้ว่ามันเยอะนะ มันเหม็นนะ มันสกปรกนะ และคุณเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นทุกวันคุณทิ้งขยะมหาศาลทุกวัน พอทิ้งไปคุณอาจไม่รู้ แต่พอเรารวบรวมเอาไว้ที่นี่ คุณก็จะรู้เอง” เพราะขยะจะไม่มีวันหมดไป หากคนในชุมชนและคนอื่นๆ ยังทิ้งขยะลงคลองอยู่

“คนทำมันน้อยกว่าคนทิ้ง ถ้ามีคนทิ้งอยู่ห้าหกคน แล้วผมเก็บอยู่คนเดียวก็ไม่ไหว ละลายพฤติกรรมดีกว่า ง่ายกว่า แล้วก็ได้ใจเขาด้วย” แซมบอกเราเช่นนั้น

“เวลาผมล่องเรือก็ไปตักขยะตามใต้ถุนบ้าน ผมจะออกตั้งแต่เช้าก่อนที่เขาจะตื่นไปทำงานกัน เพื่อให้บ้านเขาตื่นมามองเห็นแล้วว่า เอ้ย เราเก็บขยะอยู่นะ พอคุณดื่มน้ำเสร็จแล้วจะโยนทิ้ง แต่เขาก็เห็นเรา มันก็จะเกิดความเกรงใจนิดนึง เราตั้งใจให้เขาเห็นเลยว่าการทำงานของเรา เราทำจริงๆ แทนที่เขาจะทิ้งในคลอง เขาก็จะเดินถือไปทิ้งใส่ถัง ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา เปลี่ยนทัศนคติเขา พอเขาเห็นเราทุกวันๆ เข้า เรือนี่มาแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ทิ้งแล้ว เขาจะแขวนไว้ข้างถังให้เราเก็บแทน

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

“เราต้องทำให้คนในชุมชนเห็นภาพตรงนี้ก่อน แล้วเขาจะเข้ามาช่วยแก้ไขตรงนี้ เพราะเขาต้องอยู่กับชุมชนไปตลอด พอเขาเห็นเราบ่อยๆ เห็นว่าเราทำตรงนี้ เห้ย ลุงมาอีกแล้วนี่หว่าเนี่ย ช่วยๆ กันหน่อย แล้วเราก็ป่าวประกาศบอกชุมชนอีกที ทีนี้เขาก็ช่วยเราละ”

นอกจากนั้น แซมยังเล่าให้เราฟังอีกด้วยว่าตอนแรกชาวบ้านไม่เห็นด้วยเลย ทั้งการเก็บขยะและการใช้บริเวณนั้นเป็นที่พักขยะ

“เขาไม่เห็นด้วยเลย เพราะที่ผ่านมาเขาเห็นว่ามาทำจริงๆ ไม่เกินสามครั้งก็หาย พองบหมด ก็เดินต่อไม่ได้ละ หยุดอยู่แค่นั้น แต่พอเขาเห็นภาพดี เขาก็เริ่มให้ความร่วมมือ ถ้าคุณทิ้งมาเราก็เก็บเหนื่อย เขาเห็นเราทำทุกวัน เขาก็ไม่กล้าทิ้งลงมา มันก็ค่อยๆ ซึมเข้าไปทีละน้อย 

ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'
ลุยภารกิจฟื้นฟู 'คลองลาดพร้าว' ของชุมชนและองค์กรนานาชาติ ที่เริ่มต้นจาก 'ขยะ'

“ที่เรามาตรงนี้ ชาวบ้านตรงนี้เขาก็ไม่ค่อยพอใจตอนที่ทำทีแรก เพราะเขากลัวส่งกลิ่น แต่พอเรามาทำตรงนี้ ตอนนี้ชาวบ้านรอบข้างแฮปปี้แล้ว ไม่มีอุปสรรคตรงนี้เลย พอเราคัดแยกของเน่าเสีย มันก็ไม่มีกลิ่นไม่ดี ไม่หมักหมม”

เพราะการทำให้คนในชุมชนเข้าใจถึงวิธีการที่ถูกต้องในการจัดการขยะคือสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าทิ้งขยะลงในลำคลอง สุดท้ายแล้วก็ลงเอยที่สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่อยู่ดี ขยะจากคลองไหลลงสู่แม่น้ำ กลายเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ววนกลับเข้าห่วงโซ่อาหาร ปลากินขยะเข้าไป เรากินปลาเข้าไปอีกทีเป็นวงจร ทุกสิ่งเชื่อมโยงกันไว้เช่นนี้

เจมส์บอกว่าไม่ว่าอุปกรณ์เราจะดีแค่ไหน หรือจะมีวิธีการรีไซเคิลที่ดีมากเท่าไหร่ แต่ถ้าคนในชุมชนไม่ช่วย เราก็ประสบความสำเร็จไม่ได้ เราต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งคนในชุมชน ผู้สนับสนุน และรัฐ เราถึงจะประสบความสำเร็จได้ 

เป้าหมายในการเปลี่ยนคน

และในวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ พวกเขาเก็บขยะในคลองลาดพร้าวเป็นจำนวนสะสมได้ครบ 100,000 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่ถึงปี

เจมส์เล่าว่า “เราเก็บสะสมขยะพวกนี้เอาไว้เพื่อให้คนมองเห็นและจับต้องได้ เขาจะได้เห็นขยะเป็นตันๆ เลย ซึ่งมาจากสิ่งที่เขาทิ้งไป ผมหวังว่าในสามปีของโครงการนี้เราจะเห็นแนวโน้มการทิ้งที่ลดน้อยลง มีพฤติกรรมการทิ้งขยะที่ดีขึ้น จริงๆ การทำงานนี้ไม่ง่าย แต่เพราะได้รับการสนับสนุนจากทุกคน งานนี้ถึงประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือการทำให้พวกเขาตระหนักว่าขยะที่ทิ้งมันเยอะ ไม่ใช่แค่ขยะบนผิวน้ำเท่านั้นนะ แต่ขยะมันอยู่ใต้น้ำอีกมาก เราทำให้คุณเห็นจากเครื่องมือดักขยะของเรา และคุณต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างกับมันแล้ว 

“เป้าหมายของผมคือผมอยากเห็นชุมชนสีเขียว ที่มีโอกาสพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ถ้าคลองสะอาดพอ เป็นวิวทิวทัศน์ที่ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ ทั้งมาเที่ยวชมและเหมาะแก่การอาศัยอยู่ และเพิ่มประสิทธิภาพของคลองในการรับมือน้ำได้ดีขึ้น เมื่อที่นี่ประสบความสำเร็จ ผมก็อยากพัฒนาต่อกับคลองอื่นๆ ด้วย และผมอยากจะเพิ่มทางเลือกในการมีระบบการรีไซเคิลที่เหมาะสมเพื่อให้เรื่องการจัดการขยะเป็นเรื่องง่ายสำหรับพวกเขาในอนาคต

ลุยภารกิจฟื้นฟู คลองลาดพร้าว ของชุมชนริมคลองและองค์กรนานาชาติที่เริ่มต้นจาก ‘ขยะ’

“เพราะเราอยากให้คนลดใช้พลาสติกหรือสร้างขยะในครัวเรือน มีความรับผิดชอบต่อขยะมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะกับพวกเขา ว่าจะสามารถรีไซเคิลให้มากขึ้นได้อย่างไร อยากพูดคุยกับภาครัฐเรื่องการพัฒนาการรีไซเคิลขยะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พอคนมีทางเลือกมากขึ้น มีระบบที่เอื้อต่อการจัดการขยะที่ดีขึ้น ปัญหาขยะก็จะลดน้อยลง”

ทางด้านแซม เขาบอกว่า เขาก็จะทำหน้าที่เก็บขยะตรงนี้ต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว 

“ต่อไปผมก็มีคนสานต่อแล้ว มีทีมงานเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนที่เขาได้มาสัมผัสตรงนี้ แล้วเขาก็ชอบ อยากทำตรงนี้เพื่อชุมชนต่อ ส่วนความฝันของผมที่นอกจากจะอยากทำการท่องเที่ยววิถีชุมชนแล้ว ถ้าไม่มีขยะให้ผมเก็บ ผมก็จะนั่งดูคลอง ว่าเห้ย ความฝันเราเป็นจริงแล้วนี่หว่า” แซมหัวเราะ 

เมื่อถามต่อว่าหลังจากโครงการนี้จบไป เจมส์จะทำอย่างไรต่อในอนาคต 

“ผมหวังว่ามันจะไม่จบ เราหวังว่าจะเห็นโครงการนี้เข้าไปอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เราอยากให้ทุกที่คลองสะอาดเหมือนกันหมด อยากให้คนและชุมชนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปี 

“เราอยากให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา การเห็นคนอย่างคุณแซมที่ตั้งใจจะช่วยชุมชน และอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนของเขาเอง เราก็อยากให้ทำมันเกิดขึ้นจริงให้ได้ องค์กรอื่นอาจใช้เวลานานหลายปี เพื่อทำความสะอาดคลองและเก็บขยะได้มากขนาดนี้ แต่เราใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปี เราพึ่งเริ่มทำตรงนี้มาห้าเดือนเอง ซึ่งมันสำเร็จได้จากความร่วมมือของทุกคน ทั้งคนในชุมชนคลองลาดพร้าว องค์กร ผู้สนับสนุน และภาครัฐ เรานำหน้าคนอื่นเพราะคนเลย ไม่ใช่เพราะเครื่องมือที่เรามีเพียงอย่างเดียว” 

เพราะทุกคนในระบบต่างเป็นส่วนช่วยส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาขยะได้ ด้วยความหวังว่าในอนาคตเราจะเห็นคลองทุกคลองทั่วทั้งประเทศไทยเป็นภาพดั่งที่ใจเราคิดไว้ได้จริง

ลุยภารกิจฟื้นฟู คลองลาดพร้าว ของชุมชนริมคลองและองค์กรนานาชาติที่เริ่มต้นจาก ‘ขยะ’

FB: TerraCycleThaiFoundation

Website: www.terracyclefoundation.org

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า