29 ธันวาคม 2021
94 K

The Cloud x The Coca–Cola Foundation x TerraCycle Thai Foundation

ทุกวันนี้ การรักษ์โลกไม่ได้เป็นเพียงกระแสนิยมตามยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว ในทางตรงกันข้าม หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนต่างหันมาตื่นตัวโดยนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการทำงานและใช้ชีวิตกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ไม่กี่ปีมานี้ กระบวนการดังกล่าวได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันขององค์กรและผู้คนจำนวนมากไปเรียบร้อยแล้ว เราดีใจที่ได้เห็นพัฒนาการนี้และอยากให้ทุกองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมกับการลงมือทำโครงการที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นสำหรับเราทุกคน

ติดตามภารกิจฟื้นฟูคลองลาดพร้าว พร้อมแนวคิดเบื้องหลังที่อยากจัดการขยะอย่างยั่งยืน

หนึ่งในโครงการที่จริงจังด้านการดูแลแม่น้ำลำคลอง คือความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโคคา-โคล่า องค์กรสาธารณกุศลภายใต้ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี กับโครงการ Benioff Ocean Initiative ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา ซึ่งสนับสนุนเงินทุนในโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ 9 แห่งทั่วโลก โดยคลองลาดพร้าวของไทยเราได้รับเลือกด้วย เนื่องจากขึ้นชื่อว่าประสบปัญหาขยะและมลพิษเป็นจำนวนมาก จึงสนับสนุนการดำเนินงานผ่านมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย องค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรที่เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะขยะล้นเกินโดยไม่ได้รับการดูแล ด้วยการติดตั้งเครื่องดักขยะจำนวน 2 เครื่องในคลองลาดพร้าว พร้อมทั้งสนับสนุนการเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะของคนในชุมชนริมคลองให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ในปีนี้ได้เข้าสู่ปีที่ 2 ของการดำเนินงาน พร้อมขยายเป้าหมายต่อไปหลังจากที่เคยคุยกับ The Cloud มาก่อนหน้านี้ใน Care For Canal และเรื่องราวต่อไปนี้คือสิ่งที่เราชวนพวกเขามาเล่าถึงสิ่งที่ได้ลงมือทำ สิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็น และสิ่งที่พวกเขาหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

“ตอนเราเริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 เราไม่แน่ใจว่าสิ่งต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร หมายถึงทุกอย่างเลยนะ การทำงานของอุปกรณ์จะใช้ได้กับที่คลองลาดพร้าวไหม กระบวนการทำงานจะต้องผ่านอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ชุมชนจะร่วมมือมากน้อยแค่ไหน” เจมส์ สกอทท์ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย เอ่ยเมื่อเราถามว่าการทำงานเข้าปีที่ 2 กับปีแรก มีอะไรที่แตกต่างออกไปหรือไม่

ติดตามภารกิจฟื้นฟูคลองลาดพร้าว พร้อมแนวคิดเบื้องหลังที่อยากจัดการขยะอย่างยั่งยืน

“ตอนนี้เข้าปีที่สองแล้ว เราก็เข้าใจการทำงานมากขึ้น อยู่กับสถานที่จริงมาปีกว่า เรารู้แล้วว่าต้องปรับปรุงตรงไหน เราก็กำลังจะปล่อยเครื่องดักขยะเพิ่มอีกสองเครื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ต้องมีการปรับแก้และพัฒนากันไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีพื้นที่ไหนหรอกที่เหมือนกัน ต้องปรับตลอดเวลา เช่น เพิ่มพื้นที่ให้คนขึ้นไปเดินสำรวจรอบเครื่องได้ เพื่อที่เวลามีปัญหาอาจจะแก้ไขในน้ำได้เลย ไม่ต้องยกขึ้นมา เพิ่มผิวสัมผัสที่แขนดัก เพื่อให้จับขยะชิ้นเล็ก ๆ ได้ดียิ่งขึ้น แล้วก็รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราปรับ เช่น ทำให้แขนยาวขึ้น ทำให้มันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ไม่สะดุดตาจนเกินไปนัก” เจมส์เล่ากระบวนการพัฒนาอุปกรณ์ของพวกเขา ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นและการลงทุนลงแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

“สิ่งสำคัญคือตอนนี้เราได้สร้างชุมชนที่มีจิตสำนึกด้านการรีไซเคิลมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทิ้งขยะลงคลองอีกแล้ว พวกเขารู้ว่าขยะแบบไหนรีไซเคิลได้และต้องเก็บไว้ ขยะแบบไหนที่ไม่ได้และจัดการกับมันอย่างไร ขยะบางชนิดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เป้าหมายคือการลดจำนวนที่ต้องเก็บ พร้อมกับเพิ่มจำนวนที่รีไซเคิลได้ให้มากยิ่งขึ้น”

เป้าหมายฟังดูเรียบง่าย แต่การลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชุมชน การติดต่อเพื่อทำความเข้าใจกับระบบระเบียบทางการ การปรับแก้เครื่องมือครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้เข้ากับพื้นที่คลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดที่พวกเขาเลือกในการเริ่มต้นโครงการ ซึ่งต้องคำนึงถึงความลึก ขนาดของตลิ่ง ความแรงของน้ำ และสิ่งละอันพันละน้อยอีกนานัปการเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า เป้าหมายโครงการนี้ไม่มีอะไรเรียบง่ายแม้แต่น้อย

นวัตกรรมที่นำมาใช้เป็นการพัฒนาเครื่องมือจักรกลพื้นฐาน เรียกว่าเครื่องดักขยะ (River Waste Trap) ซึ่งเป็นทุ่นลอยน้ำที่ติดตั้งกลไกดักจับขยะอย่างง่าย ที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มใช้งานครั้งแรก

“ชื่อไม่เท่เลยใช่ไหม” เจมส์หัวเราะก่อนจะเล่าต่อ “มีเครื่องมืออันหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ ชื่อว่า Mr.Trashwheel ซึ่งเป็นเครื่องดักขยะอย่างง่าย ๆ แต่แค่ติดตั้งชิ้นส่วนบางชิ้นกับใส่ตาตัวการ์ตูนเข้าไป มันก็ดูเหมือนสัตว์ประหลาดกำลังกินขยะ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เตะตาผู้คนแล้วดึงดูดความสนใจได้มากทีเดียว บางทีคนก็ไม่ได้รู้หรอกว่าเราเก็บขยะกันได้วันละกี่กิโลกรัม แต่ถ้ามันมีเรื่องราวหรือชื่อเล่นติดหูเข้ามาช่วย การทำประชาสัมพันธ์หรือการทำตลาดก็ทำได้ง่ายขึ้น” เจมส์อธิบายให้เราเข้าใจความสำคัญของการตั้งชื่อ นั่นเพราะเขาตั้งใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

“ตอนนี้เราตั้งชื่อตามจุดที่เอาไปตั้งไว้ อย่างเช่น เครื่องซิกซ์ตี้วัน เพราะอยู่ที่ลาดพร้าวซอย 61 หรือเครื่องเอทตี้ก็อยู่ที่ลาดพร้าวซอย 80 แต่อันล่าสุด เราชอบชื่อมาก มันชื่อ อาร์มี่อีเลฟเว่น คุณอยากลองทายไหมว่ามันตั้งอยู่ตรงไหน” ถึงตรงนี้เราต้องหยุดคิดกันนิดหนึ่ง เพราะเราไม่แน่ใจว่ากระแสโคเรียนเวฟจะมาถึงเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวแล้วหรือเปล่า แต่พอเชื่อมโยงได้ เราก็ยิ้มกว้าง

กรมทหารราบที่ 11

ดูเหมือนลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ที่เคยไปเยี่ยมชม และเจมส์รู้ดีว่าเขาต้องการลูกเล่นแบบนี้เพื่อให้เข้าถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือชุมชน

“แม้เราจะไม่โดนชุมชนขัดขวาง แต่สิ่งเจอในตอนแรกก็คือไม่มีใครยอมปล่อยที่ให้เราเช่าเพื่อเก็บของเสียและขยะที่เก็บได้ ต้องลงพื้นที่เพื่อเดินถามทุกบ้าน จนกระทั่งเข้าไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดลาดพร้าว ท่านจึงบอกว่าญาติท่านมีที่ดินติดคลองผืนเล็ก ๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรา เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับไปหาท่านอีกครั้งพร้อมกับผลงาน ไปให้ท่านดูว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง และที่ดินผืนเล็กที่ท่านช่วยหาเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเราอย่างไร

“ผมคิดว่าหลายคนคงคิดว่าเราเป็นองค์กรจากต่างชาติ ได้รับคำชมและรางวัลมากมาย แต่ผมจะบอกให้ว่าจุดที่เราภูมิใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในโครงการนี้ และเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราทำงานได้ต่อไป ก็คือการที่ท่านเจ้าอาวาสนั่งดูผลงานและฟังการรายงานจากทีมงานของเราอย่างตั้งใจ พร้อมกับบอกพวกเราว่า ท่านขอบคุณและภูมิใจในตัวพวกเรา บอกว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และกำลังทำให้พื้นที่รอบ ๆ นี้ดีขึ้น เป็นกำลังใจที่ดีมาก”

“ก่อนจะลงพื้นที่ปีที่แล้ว เราได้รับคำเตือนว่าชาวบ้านอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะไม่ยอมช่วย แต่กลายเป็นว่าไม่เจออะไรแบบนั้นเลย อาจจะมีบ้างที่คนสงสัยว่าเราเข้ามาทำอะไร แต่พอเราสื่อสารอย่างจริงใจ เข้าหาคนทำงานแบบเดียวกับเราในชุมชน เราก็ทำงานง่ายขึ้นมาก นอกจากนี้ เรายังหวังที่ทำให้ชุมชนรู้สึกว่านี่เป็นภารกิจของพวกเขาด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่การช่วยกันเก็บขยะ แต่ยังหมายถึงการไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำตั้งแต่แรก และการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ”

ติดตามภารกิจฟื้นฟูคลองลาดพร้าว พร้อมแนวคิดเบื้องหลังที่อยากจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ติดตามภารกิจฟื้นฟูคลองลาดพร้าว พร้อมแนวคิดเบื้องหลังที่อยากจัดการขยะอย่างยั่งยืน

เจมส์ยังเล่าให้เราฟังต่อไปว่า พวกเขาไม่เพียงแค่เก็บขยะและปล่อยให้มันไปกองรวมกันอยู่ภูเขาขยะเท่านั้น แต่พวกเขาต้องหาวิธีจัดการพวกมันอย่างเป็นขั้นตอน มีการวางแผนจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง ขยะที่รีไซเคิลได้ พวกเขานำเอาไปผลิตเป็นสิ่งของที่เป็นประโยชน์คืนกลับมาให้ชุมชน รวมถึงทำเป็นสินค้าสำหรับคนที่อยากสนับสนุนโครงการ

นอกจากนี้ หากในประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีสูงพอที่จะจัดการกับขยะบางชนิด พวกเขาร่วมมือกับเครือข่ายในสหรัฐฯ เพื่อส่งขยะไปแปรรูปในต่างประเทศ ทำให้วงจรของขยะสมบูรณ์ เกิดเป็นกระบวนการรีไซเคิลอย่างแท้จริง ส่วนขยะที่ปนเปื้อนและไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะถูกส่งไปโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยในทุกกระบวนการจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศ และมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ถึงการนำขี้เถ้าและสิ่งที่เหลือจากกระบวนการมาใช้ประโยชน์ต่อไปอีกด้วย

เจมส์รู้ว่าเขาบอกชุมชนไม่ได้ว่าต้องทำงานอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เขาเห็นว่าดีที่สุด สิ่งที่ทำได้คือการทำให้เห็นว่ากระบวนการนี้จะทำให้ชุมชนและเมืองของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร

“เราควบคุมหรือเปลี่ยนแนวคิดชาวบ้านไม่ได้อยู่แล้ว ทำได้แค่สร้างพื้นที่และวางระบบเอาไว้ แล้วดูว่าพวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เราทำ เราจ้างคนในชุมชนเพื่อให้เขามีความเข้าใจ ตอนนี้การแยกขยะรีไซเคิลกับขยะทั่วไปเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในชุมชนแล้ว และทุกคนพร้อมเข้ามาช่วย คนที่ทำงานกับเรากลายเป็นเหมือนฮีโร่ในชุมชน ได้รับความเคารพ งานเก็บขยะไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป เป็นเรื่องน่าภูมิใจสำหรับคนในครอบครัวและชุมชน ทุกวันนี้คนที่ทำงานก็เข้าไปทำงานเองบ้างหลังเวลางานหรือในวันหยุด เพราะพวกเขารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เขาต้องทำ ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่”

แน่นอนว่าการได้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นผลลัพธ์ก่อรูปขึ้นทีละนิด แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น ต้องการแรงสนับสนุนพร้อมกับความเข้าใจ ไม่ใช่แค่ในเชิงปฏิบัติ แต่หมายถึงในระดับแนวคิด

“จนถึงตอนนี้เราเก็บขยะมาแล้วทั้งหมดสามร้อยแปดสิบตัน ตัวเลขขนาดนี้แค่ให้อุปกรณ์หรือเงินทุนคงไม่พอ ในตอนแรกเรามีแต่แนวคิด ผู้ให้ทุนต้องเชื่อใจอย่างมากในการมอบหมายโครงการนี้ให้เราทำ เพราะตอนแรกยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์จะประสบผลความสำเร็จขนาดนี้ไหม หรือแม้แต่จะทำได้หรือเปล่า แต่หลังจากการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยน และทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เราสามารถแยกขยะประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดการกับพวกมันได้อย่างสมบูรณ์ ขยะรีไซเคิลสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมถึงสร้างรายได้ได้ด้วย”

การร่วมมือกันของมูลนิธิโคคา-โคล่า และองค์กรระดับโลกที่อยากเห็นการลงมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลองและทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น

นันทิวัต ธรรมหทัย เลขานุการมูลนิธิโคคา-โคล่า ประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้ประสานงานในประเทศว่าการทำงานร่วมกัน หมายถึงต้องมีการสนับสนุนกันและกันอย่างชัดเจน “ตอนเราเห็นปัญหา เราก็อยากลงมือแก้ แต่คงไม่ใช่เพียงการตักขยะไปเรื่อย ๆ  ต้องช่วยกันหาทางด้วยว่าจะจัดการกับขยะที่ตักขึ้นมาอย่างไร วัสดุหลายอย่างที่เราเก็บขึ้นมาสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ได้ เราจึงช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรกับมัน มีการเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชน เพราะนั่นจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง พวกเขาทั้งสองให้ความสำคัญกับคนรุ่นต่อไปอย่างมาก ทั้งทีมเห็นพ้องว่าอีกภารกิจสำคัญสำหรับปีหน้า ซึ่งพวกเขาวางแผนจะเริ่มให้เร็วที่สุดถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวย ก็คือการเข้าไปในโรงเรียน ให้ความรู้กับเด็ก ๆ เรื่องการจัดการขยะและการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจปัญหาและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไข จากนั้นความรู้ก็จะไปถึงพ่อแม่และส่งต่อไปเรื่อย ๆ

การเก็บขยะเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่เจมส์และนันทิวัตเห็นตรงกันคือ พวกเขาอยากสร้างแรงกระเพื่อมที่มากยิ่งขึ้น

“การเก็บขยะในคลองควรเป็นปราการด่านสุดท้าย ไม่ควรเป็นงานหลัก ถึงแม้ตอนนี้ปริมาณขยะที่เราเก็บได้จะลดลงเจ็ดถึงแปดเปอร์เซ็นต์ทุกเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น แต่สิ่งสำคัญที่เราอยากเน้นคือมากกว่าคือขยะทุกชิ้นที่เราไม่ได้เก็บ มันหลุดออกไปแม่น้ำเจ้าพระยาและลงมหาสมุทร จากนั้นมันก็วนกลับมาอยู่ในรูปแบบของไมโครพลาสติก กลับมาอยู่ในอาหารของเรา เราอยากให้คนเห็นตรงนี้ ว่าโครงการรักษ์โลกพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่ไกลตัว มันเป็นเรื่องของพวกเราและลูกหลานเราทุกคน” เจมส์เสริมอย่างหนักแน่น

การร่วมมือกันของมูลนิธิโคคา-โคล่า และองค์กรระดับโลกที่อยากเห็นการลงมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลองและทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น
การร่วมมือกันของมูลนิธิโคคา-โคล่า และองค์กรระดับโลกที่อยากเห็นการลงมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลองและทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น

สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรมเต็มรูปแบบ จากผู้คนที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ จากนั้นก็เป็นคนที่อยู่ไกลออกไป พวกเขาอยากให้คนรู้วิธีการจัดการขยะอย่่างเหมาะสม ให้เกิดนิสัยการแยกขยะ ซึ่งจะทำให้งานที่ด่านสุดท้ายอย่างการเก็บขยะง่ายขึ้น และทำให้กระบวนการจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

“ตอนนี้ผู้ประกอบการก็กระตือรือร้นในการรักษาโลกมากขึ้น ซึ่งในมุมของคนที่ทำงานดูแลสิ่งแวดล้อม นี่เป็นเรื่องที่ดีและอยากเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาทำกันมากขึ้น แต่สำหรับเรา การที่ชาวบ้านแยกขยะด้วยตัวเอง คอยเตือนกันในหมู่เพื่อนบ้านไม่ให้ลืมตัวทิ้งขยะลงแม่น้ำ ช่วยดูแลเครื่องดักขยะที่เราเอาไปติดตั้งไว้ อาสาสร้างกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน สำหรับคนในชุมชนและคนนอกที่สนใจ นี่เป็นเรื่องที่เราเห็นว่าสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน”

“พวกเขาจะบอกผมเสมอว่าวันนี้เก็บขยะได้มากน้อยแค่ไหน เขารักในสิ่งที่ทำ รักคลองของพวกเขา นี่แหละคือการเปลี่ยนแปลงที่พวกเราอยากเห็น ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตัวจริงไม่ใช่องค์กรของผมหรอก เป็นชาวบ้านที่เขาอยู่กับลำคลองมาตั้งแต่เกิดต่างหาก” เจมส์ทิ้งท้าย

ถึงแม้ภารกิจจะยังไม่ใกล้คำว่าเสร็จสมบูรณ์ แต่เมื่อแรงกระเพื่อมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ทุกคนทำได้คือการขยายวงนั้นให้กว้างที่สุด

การร่วมมือกันของมูลนิธิโคคา-โคล่า และองค์กรระดับโลกที่อยากเห็นการลงมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลองและทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น

ภาพ : Terracycle Foundation

ติดตามการทำงานดูแลคลองลาดพร้าวต่อได้ที่

Website : www.terracyclefoundation.org

Facebook : TerraCycle Thai Foundation

Instagram : terracyclethaifoundation

Writer

Avatar

นรินทร์ จีนเชื่อม

จบรัฐศาสตร์ ชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิค หลงใหลการโต้เถียงแบบมีอารยะ กินกาแฟดำเหมือนนักเขียนรุ่นใหญ่ แต่ใจจริงชอบแฟรบปูชิโน่คาราเมลเพิ่มไซรัป