อาจารย์เทิม มีเต็ม เพิ่งเข้าวัย 90 มาหยกๆ ท่านแทนตัวว่า ‘ตา’ และขานเรียกเราอย่างลูกหลาน การคุยกันวันนี้จึงเป็นเหมือนตานั่งคุยเรื่องชีวิตกับหลาน มากกว่าการสัมภาษณ์ เพียงแต่แปลกที่หน่อยตรงที่นั่งกลางวงล้อมของตู้พระไตร หลักศิลาจารึก สมุดไทย และใบลาน บนชั้น 4 ห้องเอกสารโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ

เมื่อต่อสายหากันครั้งแรก ตาว่า มีคนอ่านภาษาโบราณเก่งๆ ออกเยอะแยะ ไม่ใช่แค่ตาคนเดียว แต่สำหรับเรา ตาอาจถือเป็นคนเก่าที่เชี่ยวชาญภาษาโบราณอย่างเก๋า ซึ่งยังมีชีวิตอยู่

เก๋าที่วิธีการแบบไร้กระบวนท่า 

บ้านเดิมตาอยู่บ้านบุ คลองบางกอกน้อย เป็นบ้านทำขัน แต่ตาไม่ทำขัน ตาสมัยเป็นเด็กวัดอ้อนวอนขอให้หลวงอาสอนอักษรขอมตั้งแต่ ป.1 ตามด้วยภาษาบาลีไวยากรณ์ เป็นเด็ก Trilingual ด้วยตัวเองมาก่อนกาล 82 ปีเห็นจะได้ ถึงตอนนี้ต้องใช้นิ้วมือทั้งสองข้างถึงจะนับอักษรภาษาที่ตารู้ครบ

ทั้งหมดนี้ไม่มี Certificate การันตี เพราะตาเรียนในหลักสูตรโบราณ เหมือน ‘ต่อมือ’ กับครูบาอาจารย์เวลาเรียนดนตรีไทยเดิม 

โตเป็นหนุ่ม แม้จบแค่ ป.4 ไม่มีวุฒิปริญญา แต่เพราะมีความสามารถทางภาษาโบราณ คนจึงชวนไปทำงานสำนักหอสมุดแห่งชาติ

…ในตำแหน่ง ‘คนสวน’ 

คนสวนที่ไม่เคยได้จับจอบเสียมในวันนั้น ทำงานอ่านถ่ายถอดความเอกสารโบราณมาตั้งแต่อายุ 36 จนอายุ 90 ก็ยังประจำที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ จนกรมศิลปากรแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาตะวันออก ทำงานเดิมงานเดียวมา 54 ปีแม้เลยวัยเกษียณ 

คุณูปการของงานที่ตาทำมีมากมายนับไม่ถ้วน ที่เป็นที่รู้กันคงเป็นการชำระประวัติศาสตร์พระนาม ‘พ่อขุนบางกลางหาว’ ซึ่งถูกถอดเป็น ‘พ่อขุนบางกลางทาว’ อยู่หลายปี ด้วยผลงานตลอดชีวิต จึงได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจารึกศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี พ.ศ.2557 เป็นใบแรกและใบเดียว

ตายังแข็งแรง กระฉับกระเฉง จำเลขปี พ.ศ. ของทุกช่วงชีวิตและเลขทะเบียนเอกสารโบราณได้แม่นยำ เรามองไม่เห็นเค้าเงาของวัย 91 ในดวงตาคู่ตรงหน้า นี่อาจเป็นกำไรจากการได้ทำงานที่รักทุกวัน ที่ตาว่า “มันเป็นบุพเพ” ถ้าจะหาใครมาเล่าให้ฟังว่าเรียนภาษาโบราณอายุนับร้อยนับพันปีที่ตายไปแล้วในยุคดิจิทัลมันดียังไง คงหนีไม่พ้น อาจารย์เทิม มีเต็ม

เมื่อเรากดปุ่ม REC บนเครื่องอัดเสียง ตาก็เริ่มจัดแว่นขยายที่วางอยู่ข้างห่อผ้าใบลาน  

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย, นักอ่านภาษาโบราณ, วิธีอ่านหนักศิลาจารึก

ได้รู้จักอาชีพนักอ่านภาษาโบราณก็วันนี้

นักอ่านภาษาโบราณไม่เรียกว่าเป็นอาชีพลูก เป็นวิชาการชนิดหนึ่ง แต่ทำอาชีพข้าราชการ 

คุณตาเรียนภาษาโบราณครั้งแรกตอนอายุเท่าไหร่คะ

แปดขวบ พ.ศ. 2482 หนูเกิดรึยัง ตาเกิดเจ็ดสาม แล้วก็อยู่ปอหนึ่งตอนแปดสอง

วัยนั้นสนใจอะไร 

มันเป็นอุปนิสัย มันแปลก ตาไม่ได้เกิดในตระกูลร่ำรวย เมื่อเกิดมาแล้วก็อยู่กับอา อาพาไปอยู่วัด หนูเคยได้ยินไหม วัดนายโรง คลองบางกอกน้อย 

เมื่อไปอยู่วัดนายโรงก็มีความสนใจเรื่องโบราณๆ สมัยก่อนคลองบางกอกน้อยน้ำมันแห้ง เดือนสี่เดือนห้าตาเดินลุยตั้งแต่วัดไก่เตี้ยมาปากคลองบางกอกน้อย หน้าธรรมศาสตร์ เที่ยวไปเก็บเหรียญสตางค์แดง เก็บพวกโบราณวัตถุที่ริมตลิ่ง เอากะลาตักน้ำสาดไปมันก็โผล่ เจอหม้อตาลเล็กๆ ถ้วยเล็กๆ เหรียญ เอามาเก็บใส่ตู้ไว้ มันมีใจรัก มันชอบ

แล้วก็มาสนใจอักษรขอม เห็นพระท่านไปสวดศพแล้วท่านเอาสมุด เขาเรียกสมุดข่อย หรือสมุดพระมาลัย มันคืออะไรน้า เราก็อยากรู้ ไปถามหลวงอาไปล่ว่า หลวงอาครับ ที่พระท่านเอาไปสวดคืออะไร หลวงอาว่า เขาเรียกหนังสือพระมาลัย อย่าไปยุ่งนะ บาปกรรมนะ อย่าไปเปิดดูนะ 

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย, นักอ่านภาษาโบราณ, วิธีอ่านหนักศิลาจารึก
เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย, นักอ่านภาษาโบราณ, วิธีอ่านหนักศิลาจารึก

คุณตาก็เลย…

โหย มันทำให้เราสนใจใหญ่ คราวหนึ่งขณะเจ้าอาวาสไม่อยู่ ก็ไปดึงออกคลี่อ่าน เอ เป็นตัวอะไร อ่านไม่ออก แต่มีภาพประกอบ จึงไปถามหลวงอาว่ามันเป็นตัวอะไร หลวงอาบอกว่า เป็นอักษรขอม ตาบอก หลวงอาครับ ผมอยากเรียนบ้างจัง ท่านว่า จะเรียนทำไม เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียนแล้ว เลยบอกว่า ผมสนใจ หลวงอาเลยว่า เอ้า สอนให้ ท่านเก่งเรื่องอักษรขอมอยู่แล้ว จดอักษรให้ตาครบทั้งหมด และให้ตาไปหัดเขียนมาให้ได้ก่อน 

ตาก็พยายามเขียนจนจำได้หมด เขียนสระ ผสมตัวกะ กา กิ กี ขะ ขา ขิ ขี เราทำไปจนได้ แล้วกลับไปเอาสมุดพระมาลัยมาอ่าน “ในกาลโพ้น ยังมีเถรมาลัย” โอ้โห อ่านได้แฮะ ต่อมาตาบวชเณร ก็ไปรื้อเอาคัมภีร์ใบลานอักษรขอมมาอ่าน โอ๊ย เป็นชาดกต่างๆ สนุก 

แล้วสมัยนั้นเขามีประเพณีว่าทุกเข้าพรรษาจะมีญาติโยมค้างที่วัด ตั้งแต่เช้าพอทำบุญเสร็จจะมีเทศน์ บรรดาพระเณรต่างๆ จะไปเทศน์โปรด ตาก็เอาหนังสือขอมไปเทศน์ ตอนเทศน์เราก็ดูสิ อีตรงไหนที่มันสนุกเราก็หยุดไว้ก่อน “ที่ได้แสดงพระธรรมเทศนามา ณ วาระนี้ อาตมาภาพขอสมมติยุติไว้แต่เพียงนี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” พอจบ ญาติโยมคนแก่ก็อยากฟัง เณรวันพระหน้ามาต่อนะ (หัวเราะ) นี่ประเพณีสมัยก่อน ต่อมาก็สึก จึงไปทำงานอยู่ที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย

ทำอะไรคะ

ทำสวน ตอนนั้นอยากจะไปสอบเทียบเรียนภาษาสันสกฤต อยากไปเรียนพิมพ์ดีด แต่หลวงลุงท่านบอกว่าคุณบวชมา กินข้าวของชาวบ้าน คุณไม่เรียนพระธรรมวินัย แต่ไปเรียนทางโลก หลวงลุงว่าคุณกินข้าวชาวบ้านเสียเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ ตาก็เลยไม่ได้เรียนอะไร จึงสอบได้เพียงนักธรรมเอก 

แต่เผอิญเพื่อนที่บวชด้วยกันเขาเคยทำงานกรมศิลป์มาก่อน วันหนึ่งตากำลังทำงานอยู่เรือนเพาะชำ เขาผ่านไปก็เรียก พี่ๆ ไปทำงานกรมศิลป์กันไหม เฮ้ย เราจะไปทำได้ไง เราไม่มีความรู้อะไรนี่หว่า เราแค่วุฒิปอสี่กับนักธรรมเอกเท่านั้น เขาถามพี่ยังเขียนอักษรขอมได้ไหม ตาว่า เออ ก็พอได้ เอาสิ ดีกว่าอยู่สถานีกสิกรรม กินรายวัน วันละสิบสามบาท ไม่ไปทำเขาก็หัก เดือนหนึ่งได้สามร้อยกว่าบาท สมัยนั้นเรือข้ามฟากสลึงหนึ่ง ข้าวจานละบาทห้าสิบ แล้วก็โอเลี้ยงห้าสิบตังค์ วันหนึ่งใช้สองบาท ขากลับเดินเอา เพราะต้องเก็บเงินไว้เลี้ยงพ่อแม่

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย, นักอ่านภาษาโบราณ, วิธีอ่านหนักศิลาจารึก

บรรจุตำแหน่งอะไรที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ

คนสวน 

คอยทำสวน ตัดหญ้า

อ่านเอกสารโบราณ สมัยก่อนจะเป็นตำแหน่งอะไรก็ได้ บรรจุเป็นตำแหน่งคนสวน แต่จะมาทำงานด้านวิชาการก็ได้ เป็นคนสวนของกองหอสมุด ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต ท่านเป็นผู้ส่งให้ตาไปช่วย อาจารย์ประสาน บุญประคอง ทำงานอ่านจารึก

อ้าว แล้วใครทำสวนคะ

ไม่มี (หัวเราะ) สมัยก่อนไม่มีระเบียบจัด ขอให้ทำงานได้ก็แล้วกัน ส่วนตำแหน่งเขาไม่ถือกัน จะตำแหน่งอะไรก็ได้ แต่ขอให้มีความรู้

นักอ่านจารึกเป็นนักอ่านหรือนักแปล 

คำว่าแปล หมายความว่าต้องอ่านภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลี แล้วมาแปลเป็นความไทย แต่ถ้าเป็นจารึก ก็อ่านแล้วถ่ายถอดมาเป็นคำอ่าน อ่านถ่ายถอดจากคำเดิมมาเป็นคำปัจจุบัน เราเรียกว่า นักอ่านอักษรโบราณ หรือว่านักอ่านจารึก มันจะยังไงก็ได้ ขอให้ทำงานก็แล้วกัน (หัวเราะ) 

เนื้องานคือไปถ่ายรูปเอกสารโบราณ เอากลับมาถ่ายถอด วิเคราะห์ที่มาของคำ เมื่อใครเขาถามเราต้องอธิบายได้ สมมติหนูถาม คุณตาคะคำนี้มาจากไหน ตาก็ต้องรู้ที่มา ต้องวิเคราะห์ว่าคำนี้มาได้อย่างไร ต้องถอดตัวต่อตัว เสร็จแล้วก็เอาไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ ด้วยภูมิปัญญาก็คือ ความชำนาญ ความเอาใจใส่ ความรู้ ที่เกิดจากทักษะของเขาเอง 

การมีอยู่ของงานอ่านจารึกนี้เพื่ออะไร

เพื่อนำข้อความในจารึกออกมาเผยแพร่ให้ได้รู้เรื่องราวในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร ปะติดปะต่อให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องขึ้นมา เมื่อเราอ่านถ่ายถอดมาถูกต้องแล้ว ประโยชน์ที่เราได้รับ ผู้อื่นก็จะได้รับด้วย 

อย่างจารึกหลักที่หนึ่งเป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเราไม่มีหลักศิลาจารึกเราก็จะไม่รู้เลยว่าทรงเป็นลูกใคร หรือพยัญชนะมันมีตัวอะไรบ้าง มันไม่มีบันทึกในเอกสารอื่นเลย และจารึกนี่เห็นมั้ย แต่ละหลักมีความคงทนความถาวร เป็นเอกสารสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ คัมภีร์ใบลานมันก็เก่าแค่อยุธยา อยู่ไม่ถึงร้อยปีก็ผุ แต่จารึกน่ะมันตั้งแต่ปี 1180 มันเก่าถึงขนาดนั้น หนูคิดดู เราจึงจัดไว้ไงว่ามีเอกสารโบราณประเภทจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย สมุดข่อย กระดาษฟาง กระดาษสา 

วิธีการทำงานของคุณตาที่ต่างจากนักอ่านจารึกทั่วๆ ไป

เดี๋ยวนี้เขามีกล้องมีอะไร แต่ตามีแค่นี้ แว่นขยาย กับความชำนาญที่ต่างกัน

งานชิ้นไหนที่สร้างการจดจำให้คุณตา

หนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย ที่ตีพิมพ์ในโอกาสฉลองเจ็ดร้อยปีลายสือไทย เป็นการรวบรวมจารึกอักษรไทยที่เยอะที่สุด หนังสือ จารึกเมืองน่าน ตาก็ทำเรื่องจารึกน่านคนแรกเลย จารึกเมืองพะเยา ก็ด้วย และขึ้นไปถ่ายถอดความจารึกบนคอระฆังเจดีย์หริภุญไชยจนรู้ว่าใครสร้างให้ใคร

คงไม่ได้ส่งผลแค่ต่อนักอ่านจารึกด้วยกันแน่ๆ 

เดี๋ยวนี้การศึกษามันเป็นวงกว้าง นักอักษรศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ เขาจะศึกษาแต่ในรูปเล่ม แต่เขาไม่ได้ศึกษาตัวรูปอักษรจริงๆ เมื่อมีจารึก เราก็ได้นำเสนอว่าในยุคนี้ตัว ก ไก่ มันยังเป็นอย่างนี้อยู่ พอมาอีก พ.ศ. ตัว ก มันจึงมาเริ่มคลี่คลาย 

มีอาจารย์บอกว่าอ่านถอดความจารึกบรรทัดหนึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่คุณตาต้องทำทั้งหมด เชื่ออะไร หลงใหลอะไรในมัน ถึงอดทนทำได้โดยไม่ท้อไปก่อน

มันท้อไม่ได้หนู ในเมื่อเราตั้งใจจะทำงานด้านนี้แล้ว แล้วงานด้านนี้มันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเรื่องประวัติศาสตร์ของเรา ในเมื่อเรามีความสามารถด้านนี้ เราก็ควรจะทำอันนี้ออกมาเพื่อที่จะให้อนุชนได้รับรู้หรือวิเคราะห์วิจารณ์

จารึกที่คนรู้มีมากแล้ว มีจารึกที่ไม่เคยมีใครรู้ไหมคะ

ในฝ่ายในมีจารึกอีกตั้งหลายอันที่เรายุ่งไม่ได้เลย แต่ตาเคยได้เข้าไปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทครั้งหนึ่งเพื่ออ่านถ่ายถอดความจารึกเขาไกรลาสที่สวนซ้าย สวนขวา ซึ่งรัชกาลที่สองทรงสร้างให้พระเจ้าลูกเธอได้เล่นสวนลงสวนเพื่อตีพิมพ์ เป็นจารึกฝ่ายในหลักเดียวที่ถูกอ่านถ่ายถอด เพราะต้องได้รับพระราชทานอนุญาตให้เข้าไป ตามระเบียงพระที่นั่งคนเขาจะนุ่งผ้าม่วงนั่งร้อยดอกไม้ร้อยอะไรกันเป็นแถว ส่วนโขลนก็จะคอยบอกเธอต้องข้ามธรณีประตูนะ อย่าเหยียบนะ แล้วพอเที่ยงปั๊บต้องออกเลย จะมีตำรวจหญิง ตำรวจชาย มาคุมตัวเราออกมา

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย, นักอ่านภาษาโบราณ, วิธีอ่านหนักศิลาจารึก
เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

จรรยาบรรณของนักอ่านภาษาโบราณ

นักอ่านภาษาโบราณนี่ต้องใจรัก ขยัน ซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์นี่หมายความว่าการอ่านเอกสารโบราณทุกประเภทต้องอ่านตามตัว เอกสารเขียนอย่างไร เราต้องถ่ายทอดออกมาอย่างนั้น อันใดที่อ่านไม่ได้ก็อย่าไปอ่าน แต่ถ้าคิดว่าน่าจะอ่านได้เป็นคำนี้เราก็วงเล็บไว้ นักวิชาการภาษาโบราณเขาจะรู้กันว่าที่อยู่ในวงเล็บนั้นยังไม่แน่นอน

สมัยก่อนการศึกษายังไม่กว้าง ผู้ที่ดำเนินการมาแต่แรกต่อจากรัชกาลที่สี่ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้มือขวา ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ทำ ต่อมาก็มีท่าน อาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ เป็นคนที่สองที่ควบคุมการอ่านถ่ายถอด เพราะสมัยก่อนยังไม่มีการสอนในมหาวิทยาลัยเลย คนที่สามก็คือท่าน อาจารย์ประสาน บุญประคอง และตาเป็นคนที่สี่ เป็นนักเรียนวัด จบประถมปีที่สี่เมื่อ พ.ศ. 2485 จากโรงเรียนประชาบาล 

นายเทิม มีเต็ม ตอนมารับตำแหน่งคนสวนรู้กี่ภาษาถึงได้ทำงานอ่านภาษาโบราณ

รู้ภาษาบาลีไวยากรณ์และเรียนอักษรขอมมาก่อน จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ได้มาอยู่ในกรมศิลป์ก็เพราะอาศัยอักษรขอมเป็นแม่บท ไม่ใช่ปริญญาเลย ท่านรองอธิบดีก็ปรารภว่า เอ ทำงานด้านนี้แต่เป็นคนสวน ก็เลยบรรจุในกระทรวงศึกษาธิการให้ สมัยนั้นเรียกว่าเป็นข้าราชการวิสามัญ ต่อมาท่านผู้หญิงแม้นมาศท่านก็ปรารภอีกว่าตำแหน่งมันไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีกับงานที่ตาทำ เลยเข้าไปขอตำแหน่งกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ขอมาได้สองตำแหน่ง แต่ไม่ใช่นักอ่านภาษาโบราณ (หัวเราะ) เขาเรียกว่าเสมียนพนักงานพิมพ์ดีดชั้นจัตวาอันดับหนึ่ง ตาก็สอบได้ สอบได้ก็บรรจุ ตามาปลดเกษียณเมื่อชั้นเอกตอน พ.ศ. 2533 สมัยก่อนชั้นเอกก็คือชั้นพิเศษ 

ตอนอายุ 90 อยู่ชั้นไหนคะ

ตอนนี้เป็นลูกจ้างเขาน่ะสิ ก.พ. เขากำหนดตำแหน่งว่าผู้ที่ปลดเกษียณไปแล้ว แต่มีความเชี่ยวชาญที่สามารถจ้างต่อเพื่อปฏิบัติราชการ ให้คำแนะนำหรือให้ปฏิบัติงาน เขาให้ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาตะวันออก เมื่อได้ผู้เชี่ยวชาญมาแล้วกรมศิลป์เขาก็จะจ้างเรา จ้างมาก็ให้ตำแหน่งอีก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เรื่องมันมาก

เห็นว่ายังคงเข้างานทุกวันเหมือนไม่เคยปลดเกษียณ

เรากินเงินเขาน่ะหนู เขาให้เงินเราทุกเดือน ใช่ ที่ผู้ใหญ่เขาเมตตา เขามีกำหนดเดือนหนึ่งมาทำงานไม่เกิน 10 วัน 5 วัน แต่เราทำไม่ได้ แล้วเงินนี้ไม่ใช่เงินของอธิบดีนะ มันเงินภาษี เมื่อเรายังมาทำงานอยู่ ก็ควรจะทำให้เต็มที่ นอกจากวันไหนเราไม่ค่อยสบาย ถ้ายังไปได้ควรจะไป ตาเคยบอกไว้ว่า คำว่า ที่ปรึกษา ไม่ใช่จะให้คำแนะนำอย่างเดียว ถ้ายังทำงานได้อยู่ก็ควรจะทำ เรามานั่งทื่อๆ ก็ไม่สมเงินเดือนเขา ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องจ้างดีกว่า อยู่บ้านไป สบายกว่า ถ้าไปแล้วไปเดินเกร่ หรือไม่ได้ไปเลย มันทำไม่ได้ บอกตรงๆ

จะหยุดทำงานเมื่อไหร่คะ

ก็เมื่อตายไง หนูอย่าลืมนะ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เราต้องทำคุณประโยชน์ อย่าไปหยุด จะน้อยมากนั่นอีกเรื่อง ขอให้ทำ ถ้าไม่ทำคุณประโยชน์ให้ตัวเอง ให้แผ่นดิน เกิดมาเสียชาติเกิดลูก ฟืนก็ดี ไม้ผุๆ ก็ดี ยังมาหุงข้าวหุงแกงได้ แต่คนเกิดมาไม่ทำประโยชน์ ทำแต่ให้บ้านเมืองเดือดร้อน ไม่มีประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น

หลักพระพุทธศาสนาบอกการพักผ่อนอยู่ที่ใจ ตราบใดที่เรายังมีมันสมองที่ยังจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองในด้านวิชาการที่เรามีอยู่ก็จงทำ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อายุร้อยปีท่านยังเป็นกรรมการราชบัณฑิตฯ กรรมการจารึก อยู่เลยเห็นไหม คือสมองยังมีอยู่ แล้วต่างประเทศอย่างพม่าก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี เขาพยายามให้คนอายุมากที่มีวิชาความรู้ได้ใช้งานมันสมอง ความรู้จะได้ไม่หาย แล้วอีกอย่าง จะได้ไม่เบลอ 

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

สิ่งที่ท้าทายในวัยนี้

ข้อความจารึกใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด อย่างแผ่นฤกษ์ทรงกลมสมัยทวาราวดีที่นครปฐมที่เพิ่งขุดเจอน่ะ มีตัวหนังสือตรงขอบด้วย คนค้านว่าเป็นของใหม่ที่คนเอาไปฝังไว้ เพราะแผ่นฤกษ์นี่มันสมัยใหม่ โบราณไม่มี เพิ่งมามียุครัตนโกสินทร์ ตาก็มาวิเคราะห์กับ คุณปาน-ดร.นันทนา ชุติวงศ์ ว่าอินเดีย ศรีลังกา เขาก็มีการวางศิลาฤกษ์กันอยู่แล้ว เพียงแต่ของเรายุคใหม่มันคนละรูปแบบ ของเราเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ของเขาเป็นแผ่นกลม แต่ทวาราวดีก็รับอิทธิพลมาจากลังกา มีความหมายว่าเขาพระสุเมรุ จึงเป็นแผ่นกลม ตาไปดูมาแล้วแต่ยังอ่านไม่จบนะ 

ความยากของงานนี้อยู่ที่ไหน เวลาเจอเรื่องยากๆ ต้องทำยังไงคะ

พื้นผิว ตัวอักษรไม่ชัด สำคัญมาก ทำให้การอ่านถ่ายถอดลำบากที่สุด ใครอ่านได้ก็ให้เขาอ่าน ถ้าอ่านไม่ได้ก็บอกอ่านไม่ได้ ตาก็ถามเด็กรุ่นใหม่นะ บางทีเขารู้เยอะกว่าเรา 

วันนี้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาตะวันออก รู้กี่ภาษาแล้ว

ตอนนี้รู้ภาษาไทยโบราณเพิ่มเป็นส่วนใหญ่ ตาทำด้านอักษรไทย-สุโขทัย ไทย-ล้านนา ไทย-อีสาน ไทยน้อย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน สมัยก่อนท่านยอร์ช เซเดส์ ทำงานคนเดียว อาจารย์ฉ่ำทำคนเดียว อาจารย์ประสานทำคนเดียว แล้วต่อมาก็ให้ตาไปช่วยเป็นสองคน พออาจารย์ประสานท่านสิ้นก็เหลือตาคนเดียว ตาทำมาจนกระทั่งเกษียณอายุ และก็ยังทำมาเรื่อย

ทราบมาว่าคุณตาทุ่มเทสอนลูกศิษย์อ่านจารึกมาก ทำไมต้องทำขนาดนั้น

เอกสารโบราณมีทั้งเรื่องรูปลักษณ์อักษรอักขรวิธี ภาษา ถ้าเราไม่สั่งสอนให้ผู้สืบทอดสืบต่อ วิชาการนี้มันก็สูญลูก เราสอนเพื่อที่จะรักษามรดกอันล้ำค่าซึ่งบรรพชนของเราได้สร้างไว้ให้พวกเรา ถ้าเราไม่มีเอกสารพวกนี้เราจะไม่รู้รากเหง้าของพวกเราเลย 

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย
เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

ความสุขของการสอนคืออะไรคะ

ถ้านักเรียนเอาใจใส่และเขาเข้าใจเรา แม้เขาจะอ่านได้ตัวสองตัวเราก็ภูมิใจแล้ว เราสอนเขา เขาได้รับประโยชน์จากเรา แค่นั้นก็ดีแล้ว 

งานที่คุณตาทำอยู่นี่ถือว่าทำงานเยอะกว่าความคาดหวังไหมคะ

ตอนตาปลดเกษียณเรื่องที่ตาทำยังไม่มีใครทำ ยังไม่มีการเปิดสอนสาขาวิชาจารึก พอเปิดสอน บางปีมีนักเรียนคนเดียว บางปีไม่มีเลย แต่ปัจจุบันนี้เยอะแล้ว พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรที่ท่านออกแบบพระเมรุ ทำงานกับตามานาน วันหนึ่งท่านเจอกับตาที่โรงเรียนธรรมาภิรักษ์ข้างหอสมุดฯ ท่านเรียกตา พี่ๆ แม้พี่ปลดเกษียณแล้ว พี่อย่าเพิ่งทิ้งกรมศิลป์นะ ถ้าพี่ยังมาทำงานได้อยู่ ขอให้พี่มา ตอนนั้นคนอ่านจารึกไม่มีไง ตอนนี้มีแล้ว แต่ก็ไปทำงานด้านบริการกันหมด หนูเห็นมั้ย ต้องแบ่งกัน อีกกลุ่มต้องอ่านจารึก อีกกลุ่มต้องออกสำรวจ อีกกลุ่มต้องทำฝ่ายบริการ (ในหอสมุดฯ)

แสดงว่างานนี้ไม่ได้นั่งอยู่แค่ในออฟฟิศ ห้องสมุด

ไม่เลย หนูอย่าลืมนะ ข้าราชการกินเงินของใคร เราต้องสำนึกอยู่เสมอ เรากินเงินภาษีของประชาชน จะมาถือว่าฉันอยู่ตำแหน่งนี้ๆ ไม่ได้ มีอะไรที่อยู่ในแวดวงต้องช่วยกัน เพราะเรากินข้าวหม้อเดียวกันลูก อย่าเกี่ยงงอน ถ้าเราไม่ช่วยกัน งานจะไม่พัฒนาเลย

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย
เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

คนเข้าใจว่าคนสายนี้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว

จริงของเขา โดดเดี่ยวสิ ก็ไม่มีใครเขาเหลียวแลเรา เขาได้สายสะพายกันปึ้บปั้บ กับนักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ เราก็ไม่ได้ไปจอยเขา แต่เป็นเขามาจอยกับเรา เราไม่มีหน้าที่หรอก พอเขาเจอจารึกเขาถึงมาเรียกเราไป สมมติเขาเจอจารึกที่โบราณสถานหนึ่ง เรามาอ่านถ่ายทอดแล้วมันไม่ใช่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับโบราณสถานนี้เลย เราก็จะถามนักโบราณคดีว่าจารึกนี้คุณพบตรงแหล่งไหน จุดไหน ถามนักประวัติศาสตร์ว่าโบราณสถานนี้เป็นอะไร เป็นฝ่ายพุทธหรือฝ่ายพราหมณ์ สมัยก่อนมันจึงไม่มีคนมาทำงานนี้ไง 

ที่ว่างานนักอ่านภาษาโบราณต้องออกสำรวจด้วย คุณตาเคยไปไซต์ขุดค้นกับเขามั้ย

เคยไปดู แต่ไม่เคยขุด และเคยขึ้นไปบนยอดด้วย เช่นเมื่อคราวบูรณะพระธาตุนครศรีธรรมราช 

บนนั้นมีอะไรคะ

มีตัวหนังสือ จารบนแผ่นทองคำม้วนไว้ ตัวอักษรมันม้วนเข้า มีนักการเมืองคนหนึ่งยืนเฝ้ารับเสด็จอยู่กับตา แล้วเผอิญกรมสมเด็จพระเทพฯ รับสั่งถามว่าเป็นอักษรอะไร เขาบอกเป็นอักษรนู้นนี้ แหม อย่างกับขึ้นไปเอง ท่านจึงหันมาถามตา ตาเลยทูลว่าเขาพันปลีเจดีย์ไว้ ไม่สามารถอ่านได้พระพุทธเจ้าค่ะ แต่ดูจากรูปลักษณ์น่าจะเป็นอักษรขอม 

ครั้งไหนถือเป็นที่สุดในชีวิตนักอ่านจารึกคนนี้แล้ว

ที่รักมากที่สุดคือการจำลองแผ่นจารึกบรรจุพระมหาเจดีย์สี่รัชกาลที่วัดพระเชตุพนฯ เพราะตอนนั้นมีบูรณะแล้วเผอิญช่างดันไปทำกรุแตก ลานทองคำเยอะเลย จารึกเป็นพระธรรมเจ็ดคัมภีร์เลย รัชกาลที่เก้าก็โปรดให้เอาของเดิมไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ แล้วจำลองขึ้นใหม่ 

ตาเป็นคนคัดลอกแล้วบรรจุไว้ มีชื่อตาบรรจุอยู่ในเจดีย์องค์แรกด้วย ทำไมจะไม่ภูมิใจ อีกครั้งคือไปคัดลอกจารึกบนคอระฆังพระธาตุหริภุญไชย เพราะไม่สามารถนำลงมาได้ กับครั้งที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปดูเอกสารโบราณที่เชียงรุ้ง 

แต่ก่อนตานั่งทำงานตึกข้างหลัง สมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จ ตาก็ไม่ได้ไปเข้าเฝ้าหรอก ไม่มีใครมาบอก ตานั่งทำงานอยู่ ยามก็วิ่งมาเลย พี่ๆ สมเด็จพระพี่นางฯ รับสั่งให้เข้าเฝ้า เราก็ตายแล้วสิ ไปทำผิดอะไรไว้ ตอนนั้น พ.ศ. 2528 มีเรื่องจารึกหลักที่หนึ่งไง มีปัญหากันว่าจารึกใช่ไม่ใช่ นึกว่า เอ ท่าเราไปเขียนอะไรผิดมั้ง 

แต่พอทรงเห็นหน้า ก็รับสั่งว่า ไปเมืองจีนกับฉันนะ 

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

แล้วใช่หรือไม่ใช่คะ 

จารึกหลักที่หนึ่งไม่ต้องไปพูดหรอก ปัจจุบันนี้มรดกโลกเขารับรองไปแล้ว ถ้ามันเป็นของปลอม แล้วของแท้อยู่ไหน หนูหามาให้ตาดูที มันต้องเอามาให้เห็นสิ 

งั้นทำไมเขาถึงว่าปลอมล่ะคะ

หนูอย่าลืมนะ นานาจิตตัง เขาก็มีความเห็นของเขา ตาบอก ดร.พิริยะ (ไกรฤกษ์) ก่อนคุณจะพูดอะไรคุณดูให้ทั่วก่อนนะ เขาก็บอกว่าคำจารึกหลักนี้ถูกรัชกาลที่สี่คิดขึ้นใหม่ ที่จริงมันมีอีกหลายคำ อยู่ในหลักอื่นๆ ทั้งนั้น ถ้าในทางวิชาการ จะเอาในด้านภาษาหรืออักขรวิธีล่ะ อักขรวิธีของหลักที่หนึ่งมันไปอยู่ในหลักอื่นอีกเยอะแยะ แล้วหลักอื่นมันไม่ได้พบในรัชกาลที่สี่ มันมาพบในรัชกาลที่ห้า หก แล้วรัชกาลที่สี่ท่านจะไปตระเวนเอาคำเหล่านั้นมาบรรจุในจารึกเหล่านี้ได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้ 

เราไปห้ามเขาไม่ได้ลูก เขามีความเห็นอย่างนั้น กฎหมายไม่ได้ห้ามนี่ว่าอย่าคิดแบบนั้น มันเป็นอิสระของเขา งานชิ้นนี้ผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญของเราก็คือ ศ. ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ศ. คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต แล้วก็ ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี, อาจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม เราก็ช่วยกันอธิบาย ผลที่สุดทางนั้นเขาก็พ่ายไป องค์การยูเนสโกก็เลยให้ใบประกาศว่าเป็นมรดกโลกของแท้แน่นอนมาตั้งอยู่นั่นไง 

คุณตาคิดยังไงกับการที่นักอ่านจารึกรุ่นใหม่ชำระประวัติศาสตร์ที่เคยถูกถอดความโดยนักอ่านจารึกรุ่นก่อน

การอ่านจารึกมันผูกขาดไม่ได้ว่าฉันต้องถูกคนเดียว ต้องเปิดใจกว้าง เพราะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติ ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการค้าน และเราก็ต้องยอมรับ แต่ที่ไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างไร เราอ่านมามีหลักฐานอย่างนี้ ในเมื่อมีหลักฐานใหม่ขัดแย้งคุณก็ต้องชี้แจง ไม่ใช่มีใหม่แล้วอันเก่าไม่ถูก ไม่ถูกยังไงคุณต้องแย้งมา 

แต่คุณจะไปลบล้างอันเก่าเขาไม่ได้ ต้องเพิ่มเติม อันเก่าเขาทำไว้แล้ว มันมีหลักฐานดี คุณมีหลักฐานใหม่คุณก็ต่อยอดไปสิ ทำฉบับสองไป คนอ่านเขาตั้งใจทำอย่างนั้น ในยุคนั้น เทคโนโลยีเท่านั้น แสงสว่างเท่านั้น สมัยก่อนมันไม่มีเทคโนโลยี เดี๋ยวนี้เขามีกล้องมีอะไร โอ้โหย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ว่าถ้านักประวัติศาสตร์เจอหลักฐานใหม่ก็ให้มาต่อเติม 

อย่างเดิมเขาอ่านเป็น พ่อขุนบางกลางทาว อู๊ย ติดกันมาตั้งกี่ปี กลางทาวมันแปลไม่ได้ จนกระทั่งอาจารย์ประเสริฐ อาจารย์ประสาน และตา มาตรวจสอบกันว่าเป็น พ่อขุนบางกลางหาว ตัว ท กับ ตัว ห มันต่างกัน ตาก็ชี้แจงว่าตัว ห มันหยักอย่างนี้ ถ้าตัว ท มันโค้งอย่างเดียว เดิมมันไม่ได้ทำความสะอาดไง พอไปทำความสะอาดมันก็เห็นชัดว่าเป็น หอ หีบ เลยเป็นงานที่ชำระประวัติศาสตร์ แต่ฟุตโน้ตไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงอย่าไปโทษคนเก่า เราต้องให้เกียรติท่าน อย่างน้อยท่านก็ปูทางไว้ให้เรา ไม่งั้นเราจะไปตรวจสอบได้ไงว่านี่ผิด ไม่ผิด

เจ็ดสิบ แปดสิบปีที่แล้ว น่าจะเป็นช่วงประเทศรุดหน้าพัฒนา ทำไมถึงไม่สนใจภาษาฝรั่ง กลับเลือกเรียนภาษาที่ตายไปแล้ว

เอ้ย ตอนเป็นเด็กตากลัวฝรั่งจะตาย เพราะผู้ใหญ่ลือกันว่าฝรั่งก็ดี คนจีนก็ดี จะจับเด็กส่งไปเมืองจีน ผู้ใหญ่หลอกเราไม่ให้ซน เราก็เลยกลัว สมัยก่อนคลองบางกอกน้อยจะมีเรือฝรั่งเข้ามาเที่ยว พอเห็นเรือฝรั่งมา ตาเข้าไปแอบเลย 

และแม้บางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่ได้ใช้ แต่สิ่งนั้นมีคุณค่ามากนะ ตาได้รู้ภาษาไทยดั้งเดิมที่บางทีคนนึกว่าเป็นคำหยาบ มันไม่ได้หยาบ อย่าง ‘พ่อกู’ ที่จริงมันเป็นภาษาไทย แต่พอยุคนี้เราสมมติกันขึ้น ตามหลักพุทธศาสนาท่านบอกว่า ถ้าสมมติอะไรว่ามันไม่ดี มันก็ไม่ดี ถ้าสมมติอะไรดี มันก็ดี คนแต่ก่อนเพื่อนฝูงเขาพูดมึงกูกันทั้งนั้น ผู้หญิงก็พูด เอ้ย อีแดงวันนี้มึงไปไหน

แต่มาในสมัยจอมพล ป. ตาอยู่โรงเรียนนี่พูดไม่ได้เลย สมัยนั้นต้องเธอ เรา หรือฉัน แล้วก็ต้องร้องเพลงรัฐนิยมตอนเย็น “ท่านผู้นำไปทางไหน เราต้องตามไปด้วย” เขาจะต้องภิวัตน์ แล้วเช้าแปดโมงต้องตั้งเสาธงให้หมด เด็กวัดต้องไปชักธง ยืนเข้าแถว ต้นไม้ใหญ่ๆ ในวัดถูกสั่งให้ตัดบรรลัยหมด ต้นพงต้นโพธิ์ ที่ไหนมีตัดหมด

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

อ้าว ตัดทำไมล่ะคะ

อ้าว ศิวิไลซ์ไงลูก จะต้องให้เห็นโบสถ์ ต้นไม้รกๆ ครึ้มๆ ไม่เหมาะไม่สม 

แล้วก็เปลี่ยนแปลงรูปอักษร อย่างเช่นว่าคำว่า ‘กรมศิลปากร’ เขาก็มาเปลี่ยนเป็น ‘กรมสิลปากร’ หรือ ‘รัฐบาล’ เขาก็มาเปลี่ยนเป็น ‘รัถบาล’ ความหมายมันต่างกัน ‘รัฐ’ ตัวนี้แปลว่าแว่นแคว้น ‘ปาล’ แปลว่าผู้รักษา เป็นผู้รักษาแว่นแคว้น ส่วน ‘รัถ’ ตัวนี้แปลว่ารถ ก็แปลว่าผู้ดูแลรถ เพราะฉะนั้น โบราณท่านรู้มาแล้ว อย่าไปเปลี่ยนท่านเล้ย 

นี่รึเปล่าเป็นเหตุผลที่ต้องรู้ภาษาโบราณ อ่านจารึกออก 

ใช่ เพราะจะได้รู้รูปอักษร ภาษา อักขรวิธี ประวัติศาสตร์ มีทั้งพระนามพระมหากษัตริย์ การสถาปนาราชวงศ์ พระพุทธศาสนา ธรรมเนียม ประเพณี สถานที่ อาณาเขต 

จารึกหลักที่หนึ่งนี่จะบอกไว้มากเลยเกี่ยวกับชลประทาน สถาปัตยกรรม ประติมากรรม การเกษตร แม้กระทั่งการสร้างพระพุทธรูป การสร้างวิหาร หรือแม้แต่กฎหมายก็มีอยู่ในนั้น แต่ไม่ใช่อยู่ทุกหลัก บางหลักรวมหมด บางหลักมีเรื่องเดียว แล้วในจารึกส่วนมากจะเกี่ยวกับเรื่องบุญเป็นส่วนใหญ่ 

“กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี” เมื่อก่อนเถียงกันเรื่องคำว่าแพ้แปลว่าอะไร แต่มีนักโบราณคดีเขาบอกว่าคำว่าพ่ายมันต่อท้ายประโยค เห็นไหมมันไปรับกัน พ่ายแปลว่าสู้ไม่ได้ แพ้จึงแปลว่าชนะ แต่เดี๋ยวนี้แพ้แปลว่าสู้ไม่ได้ นี่แหละคือสารสำคัญ ถ้าเราไม่ศึกษาภาษาโบราณ พอเจอคำในเอกสารโบราณ ถอดความไม่ได้ แล้วหนูจะให้คำอธิบายต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานว่ายังไง เราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ภาษา แล้วเอาของที่เขาไม่รู้มาให้เขารู้ ไม่ใช่ว่าของนี้เก็บไว้บูชา ไม่ได้เอามาศึกษาต่อ 

หนูว่าภาษาคืออะไร 

การสื่อสารค่ะ

ถ้าหนูไม่มีภาษา ไม่มีคำพูดที่เป็นภาษา แล้วหนูจะคุยกันรู้เรื่องได้ยังไง เพราะฉะนั้น คำต่างๆ คือภาษาให้มนุษย์สื่อสารรู้ซึ่งกันและกัน ภาษาคือสื่อ ถ้าสื่อนั้นไม่มีความหมายที่แน่แท้แล้วเราจะรู้อะไรได้ยังไง

แต่หนูฟังแล้วก็ต้องคิด ไม่ใช่เชื่อโดยงมงาย ไม่ใช่ตาพูดก็ เออ ตาแกว่าจริงเนอะ ไม่ใช่ ตาก็เป็นแต่เรื่องที่ตาประสบ ตาประสบอย่างนี้ ตาก็มาเล่าให้หนู และหนูต้องคิดว่ามันเป็นจริงไหม เพราะบางสิ่งบางอย่างตาเห็นอย่างนี้ หนูอาจไม่เห็นก็ได้ แต่หนูต้องเอาหลักฐานมาให้ตา และตาเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็อย่าถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ต้องยอมฟัง 

คุณตาใช้เวลาเรียนภาษาโบราณทั้งหมดกี่ปีคะ

ไอ้คำว่าภาษาโบราณมันไม่มีจบ อย่าไปหยิ่ง อย่าไปยโสว่าฉันทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ไม่จริง มันเกิดขึ้นใหม่ตลอด มันเรียนรู้ไม่หมด หนูจำไว้ มันไม่มีที่สิ้นสุด มีสิ่งใหม่ท้าทายเราอยู่เสมอ มันยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เห็น โลกปัจจุบันมันมีอะไรเกิดขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้น จะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ หนูยังจะต้องต่อสู้ไปอีกนาน ส่วนตา ตาก็จะกลับบ้านตาละ 

ถ้าหมดนักอ่านภาษาโบราณแล้วมันจะเป็นยังไง

ไม่น่าจะเป็นไปได้นะ ถ้าไม่มีก็เท่ากับมันไม่มีประเทศนี้แล้ว ใช่ไหม (หัวเราะ) มันก็ถึงยุคไฟบรรลัยกัลป์ 

ทำไมคุณตาถึงว่าเป็นไปไม่ได้คะ ก็คนรุ่นใหม่เขาไม่อ่านจารึกกันนี่นา 

มหาวิทยาลัยศิลปากรเขามีสาขาจารึกในคณะโบราณคดีแล้วไง ถ้าไม่มีเขาก็ปิดสาขาไปแล้ว

จารึกพันปีกับสองพันปีก่อนคุณค่าเหมือนกันมั้ย

จารึกทุกหลักมีคุณทั้งนั้น ไม่ได้ขึ้นกับอายุ แต่คุณค่ามากน้อยอยู่ที่เนื้อหา 

ถ้ามันมีคุณค่า เราควรหันกลับไปบันทึกบนศิลามั้ยคะ

ใครจะทำได้อะ หนูจะไปเอาแผ่นศิลามาได้ไง (หัวเราะ) แล้วจารึกบนศิลามันแคบ ถ้าหนูเขียนบนสมุดมันนำพาไปได้ มันแผ่ขยายได้ ศิลามันก็ตั้งอยู่ที่นั่น แล้วหนูจะแบกไปให้ใครอ่านที่ไหนได้ล่ะ 

ถ้าร้อยพันปีก่อนใช้ก้อนหิน งั้นอะไรเป็นสิ่งบันทึกเรื่องราวของคนยุคนี้

ก็นี่ไง (ชี้โทรศัพท์มือถือ) สบายมาก แต่หนูคิดว่ามันจะอยู่ถึงร้อยปีมั้ย 

ศิลาจารึกเทียบเท่ากับ Facebook ของคนยุคก่อนรึเปล่าคะ

หน้าที่อาจได้ แต่ความคงทนมันจะเหมือนกันได้ยังไง สเตตัสเฟซบุ๊กหนูลบได้ แต่ศิลาจารึกหนูจะลบยังไง เฟซบุ๊กมันมีอายุการใช้ใช่มั้ย แต่จารึกอยู่เป็นพันๆ ปี ถ้าสมัยสุโขทัยบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยเฟซบุ๊ก ป่านนี้ไม่มีเหลือแล้ว 

คุณตาเขียนไดอารี่มั้ยคะ

เขียนช่วงหนึ่ง แต่หลังๆ ขี้เกียจแล้ว (หัวเราะ)

ถ้าอีกสักร้อยปีข้างหน้ามีคนมาขุดเจอไดอารี่คุณตา คนยุคนั้นน่าจะได้รู้เรื่องอะไร

วันนี้ตาอ่านจารึกอะไร มีสาระอยู่ในนี้

เทิม มีเต็ม นักเรียนประชาบาลวุฒิ ป.4 ที่กลายมาเป็นปรมาจารย์นักอ่านจารึกของไทย

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล