ภาพจำสำหรับคนทั่วไปของ เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี คือพระเอกหนุ่มอารมณ์ดี ขี้เล่น มีมุมทะเล้นและอบอุ่นผสมกันในสัดส่วนกำลังดี นั่นคือจุดเด่นที่ทำให้เขากลายเป็นที่รักของมหาชน

ทว่าย้อนไปในวันที่ยังไม่มีคนรู้จัก เขาเคยเป็นเด็กหนุ่มที่ขาดความมั่นใจ ค่อนข้างเก็บตัว และมีความคิดฟุ้งซ่านอยู่ในหัวจนนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ 

แม้จะเรียนดีในระดับที่สอบติดคณะแพทย์ได้ แต่กลับเลือกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่ที่ช่วยบ่มเพาะให้พรสวรรค์ของเขาเปล่งประกายออกมา เริ่มต้นจากการจับพลัดจับผลูไปเป็นนักแสดงละครเวทีของคณะตั้งแต่ปี 1 ต่อเนื่องจนถึงปี 4 ควบคู่ไปกับการฝึกปรือฝีมือในการเขียนบทอย่างเอาจริงเอาจัง 

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

ทุกวันนี้ เขาเป็นที่ยอมรับทั้งในฐานะนักแสดงเบื้องหน้า และในฐานะคนทำงานเบื้องหลัง โดยเฉพาะการเป็นนักเขียนบทมือฉมัง

สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้ คือครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับรางวัลนักแสดงยอดแย่ จิตตกจนอยากประกาศเลิกเล่นหนัง โชคดีที่มีมิตรสหายช่วยฉุดรั้งไว้ พร้อมชุบชีวิตเขาขึ้นมาใหม่ 

ภายใต้ใบหน้าซื่อๆ บุคลิกสบายๆ เขาเป็นคนซับซ้อนกว่าที่เห็น เช่นเดียวกับเส้นทางในวงการบันเทิงที่เจอด่านหินอยู่เป็นระยะ 

ในวัยย่าง 38 ปี เราชวนเต๋อมานั่งทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่ฉากแรกที่ก้าวเข้าสู่วงการ งานเขียนบทที่ช่วยระบายความฟุ้งซ่านในหัว ตัวละครที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต ไปจนถึงการขับเคลื่อนชีวิตด้วยการอิมโพรไวซ์

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

ทราบมาว่าคุณเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ทำไมถึงเลือกคณะนี้

ตอนขึ้นมอสี่แล้วต้องเลือกสายวิทย์กับสายศิลป์ คะแนนผมเลือกสายวิทย์ได้ ทุกคนก็เชียร์ สนับสนุน บอกว่าถ้าเลือกวิทย์ได้ให้เลือกไปก่อน ผมเลยเลือกสายวิทย์ แล้วก็เรียนๆ ไป ไม่ได้ชอบนะ แต่เรียนได้ ทำได้ทุกอย่าง เคยตั้งเป้าไว้ว่าอยากเป็นหมอด้วย เพราะตอนนั้นที่บ้านมีญาติที่เรียนหมอหลายคน เขาก็อยากให้ผมเป็นหมอด้วย 

พอถึงช่วงเอนทรานซ์ ผมสอบสองรอบ รอบแรกผลออกมาคะแนนโอเค เลือกหมอได้ อาจไม่ได้ที่ที่ดีมาก แต่มีที่เรียนแน่ๆ แต่ผมกลับคิดหนักมากเลยว่า ถ้าเราเข้าไปเรียนจริงๆ จะโอเคไหมกับชีวิตเรา เพราะเอาเข้าจริงผมไม่ได้ชอบมันขนาดนั้น วัดจากการเรียนสายวิทย์มาสามปี รู้สึกถ้าต้องไปเรียนหมออีกหกปี แล้วมีอาชีพหมอไปอีกทั้งชีวิต มันจะโอเคจริงๆ เหรอวะ (หัวเราะ)

ช่วงนั้นถามตัวเองเยอะมาก เครียดมาก จนสุดท้ายได้คำตอบว่า ผมไม่อยากเรียนหมอ ไม่อยากทำอาชีพเกี่ยวกับสายวิทย์ จากนั้นผมก็มาดูว่าตัวเองชอบอะไร พบว่าผมชอบดูหนัง รู้แค่นี้เลย ยังไม่รู้ซ้ำด้วยว่าต้องเรียนคณะไหน ยังไง แล้วมันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นอาชีพได้ยังไง พอลองหาข้อมูล ไปเจอว่ามีคณะนิเทศศาสตร์ที่มีสาขาภาพยนตร์ ก็ตั้งใจเลยว่าอยากเรียนคณะนี้ พอเอนทรานซ์รอบสอง ผมใช้วิธีกึ่งหักดิบ คือไม่สอบวิชาสำหรับสายวิทย์เลย เอาแต่สายศิลป์อย่างเดียว ตั้งใจว่าจะเข้านิเทศ จุฬาฯ ให้ได้ 

พอสอบเข้าคณะนิเทศฯ ได้ มุ่งมั่นเลยไหมว่าจะเรียนสาขาภาพยนตร์

ตอนเข้าไปแรกๆ เป๋มากเลย เพราะปีหนึ่งเราต้องเรียนวิชาที่เป็นอินโทรของทุกสาขา ซึ่งแต่ละวิชาก็คัดเฉพาะสิ่งที่น่าสนใจมาสอนก่อน พอเรียนไปสักพัก เฮ้ย โฆษณาก็ดูสนุกดีว่ะ มีครีเอทีฟ มีก็อปปี้ไรต์เตอร์ ผมชอบคิดชอบเขียนอยู่แล้ว รู้สึกสนุกมากกับการเรียนวิชาโฆษณาตอนปี 1

พอเข้าปีสอง แต่ละวิชาจะลงลึกไปอีก กลายเป็นว่าพอได้ลงลึกด้านโฆษณา ผมไม่ค่อยชอบแล้ว มันเริ่มมีเรื่อง Business มีเรื่อง Marketing ซึ่งผมไม่ได้ชอบขนาดนั้น ผมชอบแค่บางส่วนของมัน แต่กับวิชาภาพยนตร์ ตั้งแต่เรียนมาไม่มีอะไรที่ไม่ชอบเลย กระทั่งปีสาม ต้องเลือกสาขา ผมเลยเลือกเอกสาขาภาพยนตร์ แล้วเลือกวิชาโทเป็นสาขาโฆษณา

ตอนที่ตัดสินใจเลือกเอกภาพยนตร์ มีภาพในหัวไหมว่าเรียนจบไปแล้วจะเป็นอะไร

ไม่มีครับ แค่อยากอยู่ในกระบวนการของภาพยนตร์ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปอยู่ตรงไหนด้วยซ้ำ ตอนนั้นยังคิดแบบเด็กๆ ว่า ถ้าเราเรียนแล้วสนุก เดี๋ยวก็มีงานเข้ามาเองแหละ ประกอบกับช่วงนั้นผมเริ่มมีงานเล็กๆ ที่รุ่นพี่ชวนไปทำ เป็นเอ็กซ์ตร้าบ้าง เป็นผู้ช่วยบ้าง ใครให้ช่วยอะไรเราไปหมด ได้เห็นกระบวนการถ่ายทำ เห็นงานเบื้องหลัง เริ่มรู้สึกว่าสนุกว่ะ แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าจะเติบโตไปเป็นอาชีพอะไรในสายงานนี้ รู้อย่างเดียวว่า ช่วงปีสาม ปีสี่ คะแนนวิชาเขียนบทผมดีมาก อวดได้เลย เป็นตัวท็อปๆ ของรุ่นเลย 

ที่บอกว่าเรียนวิชาเขียนบทได้ดี คิดว่าเป็นเพราะอะไร 

อาจเพราะผมเป็นคนเพี้ยนๆ ชอบคิดอะไรฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ แล้วมันก็ไม่ค่อยมีที่ทางให้ผมระบายออกมา ทีนี้พอได้มาเรียนเขียนบท สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอผมใช้สมองไปกับการเขียนบท สิ่งที่เคยฟุ้งซ่านอยู่ในหัวก็ออกมาเป็นตัวหนังสือ ออกมาเป็นไอเดีย แล้วมันทำให้หลับได้ เพราะผมใช้สมองหมดไปกับมันแล้ว พอทำได้ก็เริ่มสนุก เริ่มเจอจุดนี้ รู้สึกว่าอยากคิดบทเจ๋งๆ ให้ได้ พอเขียนออกมาได้แล้วมันสะใจดี 

อย่างที่บอกไปว่า ผมเรียนวิชาเขียนบทได้ดี อาจารย์ชมตลอด ทำให้ผมพราวด์ รู้สึกว่าตัวเองเก่งมาก จนได้ไปร่วมทีมเขียนบทเรื่อง เก๋า..เก๋า ผมกลับไปไม่เป็นเลย จากที่เคยคิดว่ากูเจ๋ง กลายเป็นว่าเรายังห่วยมาก บางอย่างที่คิดว่าโคตรดีในแบบของเรา แต่มันใช้ไม่ได้ในโลกการทำงานแบบผู้ใหญ่ ตอนนั้นผมเสียเซลฟ์ไปพักใหญ่เหมือนกัน ผมเขียนเรื่องนั้นกับเพื่อนๆ อยู่เกือบสองปี เขียนจนท้อ แต่ในใจก็รู้สึกว่า เดี๋ยวมันต้องดีขึ้นสิวะ แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ

ความแตกต่างระหว่างการเขียนบทส่งอาจารย์กับการเขียนบทจริงๆ คืออะไร ช็อตไหนที่ทำให้รู้สึกว่า นี่แหละของจริง

ในแง่ของบท ถ้ามองเป็นโซ่เส้นหนึ่งที่แต่ละส่วนมันร้อยเรียงกันอยู่ สมัยเรียนผมจะรู้สึกว่า เดี๋ยวกูจะเอาเพชรมาใส่ตรงนี้ เอาทองมาอยู่ตรงนั้น เอาให้มันจะอร่ามสุดๆ ไปเลย แต่ในแง่การทำงานจริง บางทีทองกับเพชรมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ เวลาทองมันอยู่เดี่ยวๆ มันดีในแบบของมัน แต่พอเราจับมันไปอยู่กับเพชร กลายเป็นว่ามันไม่เมกเซนส์ เหมือนแย่งกันเด่น ตอนนั้นเราไม่เข้าใจ ยังบาลานซ์ไม่เป็น 

สมมติเราเอาสิ่งที่ดีที่สุดทั้งหมดมารวมกัน ไอ้นั่นก็ร้อย ไอ้นี่ก็ร้อย พอจับมารวมกัน บางทีมันดูมั่ว แต่ถ้าเราค่อยๆ ไต่ จากสิบ ยี่สิบ ไปถึงร้อย ความรู้สึกจะต่างกันมาก หรือฉากเล็กน้อยระหว่างทางที่ดูเหมือนไม่มีอะไร ก็สำคัญไม่แพ้จุดไคลแมกซ์ นี่คือสิ่งที่ผมค่อยๆ เรียนรู้จากการเขียนบท

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

คุณชอบขีดๆ เขียนๆ มาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ สมัยเรียนผมชอบแต่งกลอน แต่งไปเรื่อย แต่งจนได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวด แล้วผมจะสนุกมากกับการเขียนโน่นเขียนนี่ พอจบมอหก คนอื่นทำสมุดเฟรนด์ชิพ เอาให้เพื่อนเซ็น ผมไม่ทำ แต่ผมแต่งนิยายจีนขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ร้อยกว่าหน้า โดยเอาเพื่อนทั้งห้องมาเป็นตัวละคร เพื่อนมาอ่านก็สนุกสนานกัน พอคิดย้อนไป เออ ผมก็บ้าดีว่ะ เขียนไปได้ยังไงวะ ร้อยกว่าหน้า (หัวเราะ)

แล้วทำไมถึงเขียนเป็นนิยายจีน

ผมว่าเรื่องมันเยอะดี แล้วเพื่อนในห้องมีสี่สิบสี่คน ถ้าเป็นนิยายทั่วไป ตัวละครมันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นนิยายจีน มันมีลัทธิมาร มีคนทำของวิเศษ แค่แก๊งสิบแปดอรหันต์ก็ได้สิบแปดคนแล้ว ก็เลยเขียนเป็นนิยายจีน เพราะมันใส่ทุกคนเข้าไปได้

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าการเล่นละครเวทีของคณะมีอิทธิพลกับตัวเองเยอะ

มีอิทธิพลมากเลยแหละ พูดได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเลย ตอนผมเข้ามาปีหนึ่ง เมื่อรู้ว่ามีละครของคณะ ผมก็อยากมีส่วนร่วม ซึ่งเด็กปีหนึ่งก็มีส่วนร่วมได้ไม่มากหรอก เขาจะมีการแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ฝ่ายที่ผมเล็งไว้ตอนแรกคือฝ่ายมัลติมีเดีย ทำวิดีโอ ทำเอ็มวีประกอบละคร ผมอยากทำพาร์ตนี้มาก 

ทีนี้พอมันมีบทละครออกมา เขาจะให้เด็กตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสี่เข้าไป Try Out ว่าใครจะเล่นบทไหนได้บ้าง ด้วยความที่คณะผมมีผู้ชายน้อย ผู้ชายที่เข้ามาในคณะทุกคนจึงเหมือนถูกบังคับกลายๆ ว่าต้องเข้าไป Try Out บทของผู้ชาย ผมก็ไปลองดู ปรากฏว่าผ่าน ได้รับเลือกให้เป็นนักแสดง 

แต่เหตุผลที่ได้รับเลือกไม่ใช่ว่าแสดงดีนะครับ มันมีบททหารที่เป็นคู่กัน ชื่อสุเมธากับประกาศิต สุเมธานี่หาได้แล้ว อีกคนคือประกาศิต ต้องหาคนที่สูงเท่าๆ กัน ซึ่งมีผมคนเดียว ก็เลยได้เล่น (หัวเราะ) ทั้งเรื่องผมพูดแค่คำเดียวคือ “เฮ้” พูดประมาณเจ็ดครั้ง เหมือนเป็นบทเอ็กซ์ตร้าที่จะโผล่มาเป็นระยะ 

แม้ว่าบทผมจะน้อย แต่กระบวนการตอนซ้อมมีการทำเวิร์กช็อปการแสดง ซึ่งนักแสดงทุกคนจะได้ทำเท่าๆ กันหมด ผมสนุกมากกับการเวิร์กช็อป ผมรู้สึกว่า เฮ้ย โคตรมันเลย มีแบบฝึกหัดเยอะแยะเกี่ยวกับการแสดง นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้รู้จักว่าการแสดงคืออะไร 

ทราบมาว่าหลังจากนั้นก็ได้เป็นนักแสดงต่อเนื่องทุกปี

ใช่ครับ ปีหนึ่งเล่นเป็นประกาศิต พูดแค่คำว่า “เฮ้” พอปีสองได้เล่นเป็นคนแก่ มีไดอะล็อกเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง พอถึงปีสามกับปีสี่ได้เล่นเป็นพระเอก

พอได้เข้ามาทำงานในวงการ การเป็นนักแสดงด้วย แล้วเขียนบทด้วย ถือว่าช่วยส่งเสริมกันไหม

ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ ไม่มีสิ่งที่เป็นจุดตัดระหว่างกัน คือเขียนบทก็เขียนไป เล่นหนังก็เล่นไป แยกเรื่องกัน จนได้มาทำเรื่อง กวน มึน โฮ ผมเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทและเป็นนักแสดงด้วย ปรากฏว่ามันเสริมกันอย่างชัดเจนมาก ในแง่ของการแสดง เราจะรู้แบกกราวน์ตัวละครอย่างละเอียดมาก เพราะเราเป็นคนเขียนมา เช่น พระเอกด่านางเอกด้วยไดอะล็อกนี้ บทมีอยู่แค่ไม่กี่คำก็จริง แต่ในฐานะที่เราเขียนบทมา เราจะรู้ว่าทำไมเขาถึงด่า เข้าใจสิ่งที่ไม่มีอยู่ในบท ทำไมเขาถึงเป็นคนแบบนี้ พูดจาแบบนี้ ตอนเด็กๆ เขาโตมายังไง 

ถ้าเราเป็นนักแสดงอย่างเดียว เราอาจไม่รู้ละเอียดแบบนี้ หรือไม่ก็ต้องตีความเอง ทีนี้เวลาผมไปเล่นหนังที่ผมไม่ได้เขียนบท ผมก็เอาทักษะนี้ไปใช้ด้วย เวลาอ่านไดละล็อก ผมจะคิดโดยอัตโนมัติเลยว่าทำไมมันพูดแบบนี้ ทำไมมันเป็นคนแบบนี้ จะย้อนคิดกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของตัวละครด้วย

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

แล้วการเขียนบทที่ตัวเองต้องแสดงด้วย อย่างเช่นเรื่อง กวน มึน โฮ รู้สึกยังไง

แปลกมากครับ กวน มึน โฮ คือเรื่องแรกเลย เป็นการเขียนบทโดยที่รู้ว่าตัวเองจะต้องเล่น อันนี้ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า ก่อนหน้านั้นผมเป็นนักแสดงที่ไม่ได้มีความมั่นใจในตัวเองเท่าไหร่ เรื่องที่ผมเล่นก่อนหน้านั้นคือเรื่อง โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต ผมได้รางวัลที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คือรางวัลทุเรียนเน่า เป็นเหมือนรางวัลการแสดงยอดแย่ ตอนนั้นผมนอยด์ไปเลย ถึงขั้นที่บอกตัวเองว่า กูไม่อยากเป็นนักแสดงแล้ว เขียนบทอย่างเดียวดีกว่า 

จนกระทั่งได้มาทำโปรเจ็กต์ กวน มึน โฮ เขียนบทกับ พี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) ช่วงที่เขียนแรกๆ พี่โต้งก็เกิดไอเดียว่า เต๋อ มึงน่าจะเล่นบทนี้นะ มันดูเป็นมึงได้เหมือนกันนะ ตอนนั้นผมยังไม่มั่นใจในตัวเองเท่าไหร่ แล้วพี่โต้งก็พูดประโยคหนึ่งกับผม เป็นประโยคที่ยังจำได้ถึงวันนี้ เขาบอกว่า 

“ถ้ามึงเลิกเล่นตอนนี้ ในอนาคตมันอาจมีหนังสักเรื่องที่มึงเคยเล่นแล้วกลับมาฉายใหม่ แล้วพอคนเอาชื่อมึงไปเสิร์ช เขาจะค้นพบว่ามึงเคยเป็นนักแสดงที่ได้รางวัลทุเรียนเน่า แล้วก็เลิกเล่นหนังไปเลย มึงโอเคเหรอถ้าโปรไฟล์มึงจะเป็นแบบนั้น…” ผมฟังแล้วก็คิดตาม “เชี่ย ไม่ได้ว่ะ กูจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้” (หัวเราะ) 

จากนั้นพี่โต้งก็เสนอว่า เอาอย่างนี้ มึงเล่นเรื่องนี้นะ แล้วมาช่วยกันเขียนบทให้แม่งดีเลย การแสดงมึงเอาให้สุดเลย ผมก็โอเค ได้พี่ หลังจากนั้นก็ไปลงเรียนคอร์สการแสดง ฝึกหนักมาก พยายามเต็มที่ แต่ด้วยความที่ผมยังไม่มั่นใจ พอเขียนบทไปถึงฉากที่พระเอกต้องร้องไห้โฮ เพราะจิตใจแตกสลาย ผมคิดในใจว่า เชี่ย กูร้องไห้ไม่ได้แน่ๆ แต่ก็คิดอยู่คนเดียวนะ ยังไม่กล้าบอกพี่โต้ง

ทีนี้มันมีเหตุการณ์หนึ่ง คือตอนกำลังจะบินไปถ่ายทำกันแล้ว ผมรู้สึกว่าซีนนี้เป็นซีนปัญหาของผมมาก ผมเล่นไม่ได้ชัวร์ๆ กลัวมาก ระหว่างที่นั่งเครื่องบินไป ผมนั่งกับพี่โต้งเราก็คุยกันถึงฉากนั้นฉากนี้ แล้วอยู่ดีๆ ผมก็โพล่งขึ้นมา “พี่ ไอ้ฉากนี้ ผมว่าไม่ต้องถึงขั้นร้องไห้หรอกมั้ง” 

เท่านั้นแหละครับ พี่โต้งระเบิดเลย บอกว่าอะไรของมึง มึงกลัวจะเล่นไม่ได้เหรอ จากนั้นก็ด่ายาวเลยครับ กลายเป็นทริปสุดเจื่อน (หัวเราะ) พี่โต้งก็อธิบายว่า เป้าหมายของมึงในเรื่องนี้ คือมึงต้องกลับมาเล่นให้ได้ มึงต้องเอาชนะความเป็นทุเรียนเน่าให้ได้ แต่พอมึงคิดแบบนี้ มันก็ไม่ได้แล้วไง แค่เริ่มต้นคิดก็ผิดแล้ว แล้วมึงเขียนบทมากับกู มึงรู้อยู่แล้วว่าซีนนี้ต้องเป็นแบบนี้

พอแกอธิบายมา ผมก็ไม่มีอะไรเถียง ได้แต่นั่งเงียบไปตลอดทาง พอไปถึงปุ๊บ ถึงเวลาถ่าย ก็ตั้งใจว่าต้องทำให้ได้ มีคนช่วยผมเยอะมาก พี่โต้งจะช่วยบิวด์ คอยเชียร์อัพตลอด รวมถึง ครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) ที่เป็น Acting Coach ก็ช่วยผมเยอะ ฉากนี้ฉากเดียวใช้เวลาหลายชั่วโมง จนสุดท้ายผมก็ร้องไห้ได้ พอถ่ายจบปุ๊บ ผมโคตรดีใจ เหมือนเราผ่านจุดที่ยากที่สุดไปได้แล้ว 

ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในแง่การเป็นนักแสดงเลยไหม

พลิกเลยครับ หลังจากนั้นคือไม่กลัวอะไรแล้ว อาจมีกลัวบ้าง แต่เราเปลี่ยนความกลัวเป็นความตื่นเต้น เพราะเราค้นพบแล้วว่า ความกลัวมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย แต่ยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง กลัวจะผิด กลัวจะโดนว่า ยิ่งกลัวก็ยิ่งทำให้การแสดงมีปัญหา

หลังจากผ่านด่าน กวน มึน โฮ มา มีด่านไหนที่รู้สึกว่าท้าทายอีกไหม

ตอนเล่นเรื่อง แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว ที่รับบทเป็นเด่นชัย อันนี้ก็ยากครับ เพราะมันเป็นตัวละครที่พิเศษมากๆ คาแรกเตอร์ไม่ตรงกับตัวเราเลย ต้องอาศัยการทำรีเสิร์ชเยอะมาก 

จุดพีกอยู่ที่ช่วงก่อนถ่ายทำ ผมได้โจทย์มาว่า ในชีวิตประจำวัน ผมต้องฝึกเป็นเด่นชัยวันละครั้ง ครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง เด่นชัยเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ไม่ชอบให้ใครมาเห็น และไม่ค่อยมีใครเห็นเขา เป็นคนขี้เขิน มือไม้ไม่รู้จะเอาไปไว้ตรงไหน ถ้ามีใครเข้ามาถามอะไร จะรู้สึกเหมือนโดนคุกคาม 

วิธีการคือ ผมจะเลือกกิจกรรมในแต่ละวัน สมมติขับรถไปเติมน้ำมัน ผมจะขับรถแบบเด่นชัย หรือวันนี้ผมอยู่บ้าน ถ้าเป็นเด่นชัย ผมจะเลือกดูยูทูบหรือรายการที่เด่นชัยน่าจะดู ทำแบบนี้วันละชั่วโมง ตอนแรกก็ใช้การฝืนทำไปก่อน เหมือนแอคติ้ง เด่นชัยน่าจะทำแบบนี้ คิดแบบนี้ จนกลายเป็นความเคยชิน ผ่านเวลาไปสักพักจนเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นเด่นชัยจริงๆ บางทีอยู่กับแม่ บอกแม่ว่าชั่วโมงนี้ผมเป็นเด่นชัยนะ แม่ก็เข้าใจ (หัวเราะ)

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี
ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

เรื่องนี้คุณเป็นทีมเขียนบทด้วยเหมือนกัน รู้แต่แรกเลยไหมว่าต้องเล่นเองด้วย

รู้แต่แรกเลยครับ ข้อแรกเลยคือพี่โต้ง (ผู้กำกับ) รู้สึกว่าบทนี้ ถ้าได้ดารามาเล่นก็ดี แต่เขาต้องการความสมจริงมาก ซึ่งพอเขามองไป ก็นึกไม่ออกว่าดาราคนไหนจะยอมดัดผม ยอมเพิ่มน้ำหนักอีกสิบกิโล มองไปมองมา เขาก็คุยกับผมว่า มึงเขียนบท งั้นมึงเล่นด้วยละกัน เขารู้สึกว่าผมทำได้ ผมมีเชื้อบางอย่างที่เป็นเด่นชัยได้ แล้วตอนนั้นเขารู้สึกว่าการแสดงของผมมันเริ่มซ้ำแล้ว เล่นแบบเดิมๆ มาเยอะแล้ว เป็นพระเอกฮาๆ กวนๆ ซื่อๆ แต่แบบนี้ผมยังไม่เคยเล่น น่าจะมันดี ลองทำไอ้เต๋อให้เป็นแบบนี้ดู จับมันมาเปลี่ยนลุค เปลี่ยนคาแรกเตอร์ให้สุดไปเลย

ปีนั้นเป็นปีที่เหนื่อยและหนักของผมมาก ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้วย ผมต้องไปดัดผมให้ฟูๆ หยิกๆ และไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชน รับงานอีเวนต์ไม่ได้ เพราะเป็นความลับของหนัง ผมเลยต้องใส่หมวกไหมพรมตลอดเวลา นึกภาพการใส่หมวกไหมพรมทุกวันในเมืองไทย ข้างในคือผมฟูๆ หยิกๆ ร้อนมาก 

อีกเรื่องคือต้องเพิ่มน้ำหนัก ซึ่งไม่ได้แพลนไว้แต่แรก ตอนแรกเขาลังเลกันอยู่ว่าจะทำให้น้ำหนักเพิ่ม หรือทำให้ผอมแห้งไปเลยตามลักษณะของคนที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สุดท้ายเขารู้สึกว่าถ้าผอม เขาเคยเห็นผมแบบผอมๆ แล้ว มันไม่ใหม่แล้ว ลองแบบอ้วนดีกว่า ผมเลยต้องไปเพิ่มน้ำหนักมาสิบกิโล ภายในเวลาประมาณสองเดือนก่อนถ่ายทำ เป็นประสบการณ์ที่หนักมาก เหนื่อยมาก แต่ก็มันดีครับ

ในบรรดาหนังที่เล่นมา เรื่องที่ภูมิใจที่สุดคือเรื่องไหน

แฟนเดย์ฯ ครับ ผมชอบที่สุดแล้ว เพราะมันฉีกจากตัวเราค่อนข้างเยอะ แล้วก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ แปลกๆ หลายอย่าง ทำผมหยิก อ้วนขึ้น ใส่ฟันปลอม เป็นตัวละครที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เล่น พอได้เล่นแล้วกลายเป็นว่าผมรักตัวละครนี้ไปเลย

พูดถึงตัวละครไปหลายบทบาทแล้ว ขอถามย้อนถึงตัวตนของคุณบ้าง ถ้าตามสื่อทั่วไป คนจะรู้จักคุณในฐานะพระเอกอารมณ์ดี ขี้เล่น จริงๆ แล้วคุณเป็นแบบนั้นจริงไหม

ก็ตลกนะ อารมณ์ดี แต่ไม่ได้ตลกหรืออารมณ์ดีตลอดเวลา ถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์แล้ว ผมอาจอารมณ์ดีและตลกมากกว่าคนทั่วไป มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยนิดหน่อย จะไม่ค่อยโกรธใคร 

สังเกตว่าคุณเป็นคนที่เสียเซลฟ์ง่ายเหมือนกัน ภาวะแบบนี้เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ เลยไหม

เป็นแต่เด็กเลยครับ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นในบางเรื่อง ผมเป็นเด็กที่ไม่กล้ายกมือตอบ เพราะกลัวผิด แล้วก็ไม่ใช่คนที่เป็นผู้นำในการทำอะไรสักอย่าง แต่ผมจะเป็นผู้ช่วยที่เก่งมาก สมมติมีใครเป็นผู้นำขึ้นมา ผมจะช่วยเขาได้ดีมาก พี่ทำแบบนี้นะ เชื่อผม คอยจัดการนั่นนี่ให้ แล้วมันมักจะดี แต่เรายังไม่กล้าที่จะเป็นผู้นำจริงๆ จะมีตอนมอหกได้เป็นประธานสี นั่นคือครั้งแรกที่ได้ค้นพบการเป็นผู้นำของตัวเอง

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี
ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

ถ้าลองนึกย้อนไป ความกลัว ความไม่มั่นใจในตัวเอง มันมาจากอะไร

เท่าที่จำได้คือ ผมเป็นเด็กที่อยู่คนเดียวมาเกือบตลอด เพื่อนไม่ค่อยมี เป็นคนมีเพื่อนน้อยมากตั้งแต่เด็กเลย เหมือนตอนเด็กๆ ผมไม่รู้ว่าเพื่อนมีไว้ทำไม (หัวเราะ) 

ตอนเด็กเวลาผมอยู่บ้าน ผมจะเอ็นจอยกับการอยู่กับที่บ้านมาก อยู่กับคุณแม่คุณพ่อ อยู่กับน้องชาย ทุกอย่างที่ต้องเล่นกับเพื่อน ผมเล่นกับน้องหมด น้องห่างจากผมห้าปี ผมชอบดูมวยปล้ำ น้องก็ดูตาม แล้วก็เล่นมวยปล้ำด้วยกัน สักพักผมชอบดูบาสเกตบอล น้องก็ดูบาสเกตบอลด้วยกัน เวลาผมเล่นเกมอะไร น้องเล่นด้วยหมด แต่ผมจะไม่ค่อยได้ทำสิ่งเหล่านี้กับเพื่อนเท่าไหร่

แล้วด้วยความที่ผมไปโรงเรียนเช้ามาก ถึงตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพราะที่บ้านเรามีรถคันเดียว คุณพ่อต้องตระเวนส่งทีละคน ไปส่งผมที่โรงเรียนก่อนคนแรก ประมาณตีห้า ซึ่งยังไม่มีใครมา ผมก็จะอยู่คนเดียว เดินตระเวนดูโน่นดูุนี่อยู่คนเดียว แล้วผมจะกลับเป็นคนท้ายๆ เพราะคุณพ่อต้องไปรับคนนั้นคนนี้ก่อน แล้วค่อยมารับผม กลายเป็นว่าผมชินกับการอยู่คนเดียว เวลาต้องไปอยู่ในคนหมู่มากเลยไม่ค่อยชอบ ชอบอยู่กับตัวเองมากกว่า

แง่หนึ่ง บุคลิกแบบนี้ก็ดูขัดแย้งกับการเป็นดารานักแสดงเหมือนกัน

ใช่ แต่คนที่รู้จักผมจริงๆ จะรู้ว่าผมไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร ผมไปได้นะ ไปแล้วเอ็นจอยด้วย เฮฮาสนุกสนานเต็มที่ แต่ความเอ็นจอยของผมจะหมดเร็วมาก ผมไม่แสดงออกให้ใครเห็นหรอก แต่ในใจผมจะเริ่มรู้สึกว่า กลับได้ยังวะ อยากกลับแล้วว่ะ คิดอยู่ในใจ แต่ภายนอกจะดูเฮฮาเหมือนปกติ 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนที่เริ่มเล่นละครเวที คุณชอบการอิมโพรไวซ์มาก อยากรู้ว่ากระบวนการนี้ส่งผลกับคุณยังไง

ต้องบอกก่อนว่าในเวิร์กช็อปการแสดง จะมีแบบฝึกหัดให้ทำหลายอย่างมาก เช่น ให้คุยกัน ต่างคนต่างพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วก็ไม่ยอมกัน จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมไปเอง หรือให้นั่งบนเก้าอี้ ปิดตา เอาของวางไว้ข้างใต้ แล้วค่อยๆ ย่องไปหยิบของมาให้ได้ ทีนี้เมื่อเอาแบบฝึกหัดแต่ละอย่างมาประกอบกัน มันจะกลายเป็นการแสดง 

พอเราเริ่มแสดงได้แล้ว หนึ่งในแบบฝึกหัดที่เพิ่มเข้ามาคือการอิมโพรไวซ์ วิธีการคือ เขาจะกำหนดสถานการณ์มาหนึ่งอย่าง และกำหนดตัวละครให้แต่ละคน หน้าที่ของเราคือเข้าไปในฉากนั้น แล้วเป็นตัวละครตัวนั้น โดยไม่มีบท ไม่บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น แล้วให้อิมโพรไวซ์ไปตามสถานการณ์

ตัวอย่างเช่น สมมติว่านี่คือลิฟต์ ผมเป็นนักธุรกิจ อีกคนเป็นโจร โจทย์คือสองคนต้องเดินเข้าไปในลิฟต์ พอผู้กำกับบอกว่า เริ่ม! ผมเดินเข้าไปในลิฟต์ โจรก็เดินเข้ามา ใครจะไปชั้นไหนกดไป เหมือนเหตุการณ์ปกติ สักพักจะมีคนบอกโจทย์เป็นระยะ เช่น “ลิฟต์ค้าง” แต่ละคนก็จะเริ่มมีรีแอคกับสิ่งที่เกิดขึ้น “ได้ยินเสียงคนข้างนอก ตะโกนว่ามีคนกระเป๋าตังค์หาย” อ้าว ฉิบหาย จู่ๆ มีข้อมูลใหม่เข้ามา โจรก็เริ่มเลิกลั่ก อ๋อ กูขโมยกระเป๋าตังค์คนมาว่ะ มันทำให้เราต้องขุดคุ้ยความคิดสร้างสรรค์ออกมาใช้ ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการแสดงแบบเฉพาะหน้า

ผมสนุกกับกิจกรรมนี้มาก ชอบมาก มันทำให้ผมพบว่า ผมเป็นคนที่ชอบรีแอคกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีนนั้นๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ เวลาที่ผมไม่มีบทพูด ผมจะสนุกมากกับการรีแอคต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือผลจากการฝึกอิมโพรไวซ์ เพราะไม่ว่าจะเป็นบทหนังหรือบทละคร ในบทจะไม่มีการเขียนว่า เมื่อคนนี้พูดประโยคนี้มา อีกคนต้องทำหน้าเหยเก แต่การจะทำหน้าเหยเก มันต้องเป็นรีแอคจากสิ่งที่เห็นตรงหน้า ต้องดูว่าเขาส่งอะไรมา ส่งมาแบบไหน แล้วเราก็รีแอคกลับไป ผมสนุกมากกับการจับความรู้สึกเหล่านั้นจากตัวละครอื่นๆ นี่คือการอิมโพรไวซ์ เล่นในสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในบท

ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบ อาจเป็นเพราะเด็กๆ ผมเป็นคนชอบเสือกเรื่องชาวบ้านด้วยมั้ง (หัวเราะ) เช่น เวลาใครคุยอะไรกัน ผมจะอยากรู้มากเลยว่าเขาคุยอะไรกันวะ ตอนเด็กๆ ผมเคยไปสวนสาธารณะเพื่อไปดูคนที่เขานั่งจู๋จี๋กัน อยากรู้ว่าเขาคุยอะไรกัน หรือเวลานั่งรถเมล์ ผมชอบสังเกตคน จะมองทุกคนเลย แล้วคิดในหัว เอ๊ะ คนนี้เขาทำอาชีพอะไรวะ มีแฟนมั้ย ขึ้นสายนี้แล้วจะไปลงที่ไหน ไปไหนต่อ อ่าวเฮ้ย ทำไมเขาหลับ สงสัยบ้านอยู่ไกลแน่ๆ 

ผมชอบคิดอะไรแบบนี้ คิดอยู่ในหัวคนเดียว จนตอนหลัง ผมเปลี่ยนจากนั่งรถเมล์เป็นเดินกลับบ้าน ยิ่งมันเลย ได้เห็นคนโน้นคนนี้ เห็นสภาวะแวดล้อมต่างๆ พอถึงบ้านก็หลังเปียก เหงื่อชุ่ม แต่ไม่เหนื่อย รู้สึกว่าสนุกดี ผมจะเป็นเด็กแปลกๆ นิดหนึ่ง (หัวเราะ)

ถ้าเทียบกับการใช้ชีวิต คุณเป็นคนใช้ชีวิตแบบอิมโพรไวซ์ไหม ระหว่างวางแผนเป๊ะๆ กับปล่อยไหล คุณเป็นคนแบบไหน

เป็นแบบอิมโพรไวซ์ครับ ผมเป็นคนไม่ค่อยวางแผน มักจะปล่อยให้ไหลไปตามจังหวะของมันเสมอ แต่หลังๆ พอเราไม่ได้ใช้ชีวิตตัวคนเดียว เช่น มีแฟน ก็ปล่อยไหลตลอดไม่ได้ ต้องมีการวางแผนบ้าง แต่แผนของผมก็ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนได้เสมอ จะไม่ชอบวางแผนเป๊ะๆ อิมโพรไวซ์กับชีวิตเยอะ

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

ข้อดีข้อเสียของการเป็นคนแบบนี้คืออะไร

ข้อดีคือเวลาอยู่คนเดียวมันดี ข้อเสียคือเวลาอยู่กับคนอื่น จะไม่ค่อยดี 

สมมติว่าผมอยู่คนเดียว วันนี้ทั้งวันผมไม่แพลนอะไรเลย โมเมนต์ไหนผมอยากทำอะไรก็ทำ ผมว่ามันดีมาก เพราะเราก็มีความสุขของเรา เราไม่ได้เกิดความคาดหวังว่าวันนี้ต้องทำสิ่งนี้ให้ทันนะ แล้วพอทำไม่ทันก็เฟล เราอาจวางแผนคร่าวๆ ว่าอยากทำอะไรในแต่ละวัน ได้ก็ดี ไม่ได้ก็อิมโพรไวซ์ไปทำอย่างอื่น จบ

แต่ถ้ามีคนอื่น เช่น นัดเพื่อน นัดแฟน หรือต้องไปทริปครอบครัว วิธีแบบนี้มันจะดูไร้ความรับผิดชอบระดับหนึ่ง คนอื่นจะระอานิดหนึ่ง (หัวเราะ) อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น กินอะไรดี สมมติตั้งใจว่าจะไปร้านนี้ พอไปถึงปุ๊บ ร้านปิด ถ้าเป็นผม ผมไม่ซีเรียสเลยนะ อาจเซ็งนิดหน่อย แต่ก็ไปกินร้านข้างๆ ก็ได้ แต่บางคนจะรู้สึกว่า เฮ้ย เราต้องการมากินร้านนี้ ทำไมไม่เช็กก่อนว่าเปิดหรือปิด เห็นไหมว่ามันเสียเวลา ซึ่งคนที่เป็นแบบนี้ พอมาอยู่กับเรา เราจะเป็นตัวจี้ใจดำเขามากเลย เหมือนเราทำให้เขาอึดอัด ทำให้เขาปรี๊ดได้ตลอดเวลา

แล้วกับเรื่องงาน มีผลอะไรไหม

มีผลเหมือนกันนะ เพราะแพลนงานล่วงหน้าไม่ค่อยได้ แต่ทุกวันนี้ที่ผมรอดตัวมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะผมเป็นนักแสดงด้วย ยกตัวอย่างงานเขียนบท ถ้าเป็นบางคน เขาจะมีเวลาที่แน่นอน เขียนจันทร์ถึงศุกร์ เช้าถึงห้าโมง เสร็จแล้วก็พัก แต่พอผมเป็นนักแสดง ผมวางตารางแบบนั้นไม่ได้ เวลานัดกับพี่โต้งจะนัดกันหลวมๆ ถ้าว่างตรงกันก็มาคุยกัน ลุยกันยาวๆ ทั้งวัน 

สมมติวันนี้มีถ่าย รู้แล้วว่ามีช่วงว่างสองชั่วโมง ผมจะโทรหาพี่โต้งเลย พี่ วันนี้ผมว่างสองชั่วโมงนะ ได้ไหม คุยไหม ถ้าโอเคปุ๊บก็ลุยเลย หรือบางวันว่างตอนดึก โทรบอกพี่โต้งวันนี้ว่างสองทุ่มเลยว่ะพี่ ได้ไหม พี่โต้งบอกได้ กูยังไม่นอน สเต็ปการทำงานของผมกับพี่โต้งจะเป็นแบบนี้ อิมโพรไวซ์ไปเลยในแต่ละวัน ผมพร้อมที่จะไม่พักผ่อน พร้อมทำงานได้ตลอดเวลา แต่กำหนดเวลาให้เป๊ะๆ ไม่ได้ 

ตอนนี้คุณอายุ 37 ย่าง 38 มีเป้าหมายไหมว่าสเต็ปต่อไปของชีวิต จะทำอะไร จะเป็นอะไร

(นิ่งคิด) ไม่ค่อยมีนะครับ สเต็ปที่ตั้งไว้ตอนนี้คือเป็นผู้กำกับ ถ้าวันหนึ่งเราเป็นผู้กำกับได้ สเต็ปถัดไปมันจะมาเอง ผมจะค่อยๆ วางทีละสเต็ป พอไปถึงปุ๊บ ค่อยดูสเต็ปถัดไป พยายามทำสิ่งหนึ่งให้สำเร็จก่อน

ก่อนหน้านี้ ตอนที่ผมได้รางวัลทุเรียนเน่า ผมตั้งเป้าไว้ว่า กูต้องทำยังไงก็ได้ เพื่อให้ตัวเองได้รางวัลสักรางวัลที่พิสูจน์ว่าเราแสดงได้ ขอแค่รางวัลเดียว ช่วงนั้นผมคิดเรื่องนี้ทุกวัน จะชอบนึกภาพในหัว เป็นภาพตัวเองขึ้นไปรับรางวัล 

สุดท้ายก็ได้จริงๆ หลายรางวัลด้วย

ใช่ครับ ตอนที่ได้ก็ตื้นตันมากๆ เพราะเราไม่เคยคิดว่าภาพในหัวจะเป็นเรื่องจริง เราแค่ใช้มันเป็นจุดยึดเหนี่ยว เอาไว้บอกตัวเอง อย่าล้มนะ อย่ายอมนะ มึงต้องไปให้ถึงก่อน

ชีวิตติดอิมโพรไวซ์ และบทบาท (ไม่) สมมติของ เต๋อ ฉันทวิชช์ วัย 38 ปี

Writer

Avatar

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร WRITER และ The101.world ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการฝึกหัด ถนัดในการเรียบเรียงน้ำเสียงและความคิดของผู้คนออกมาเป็นงานเขียนที่น่าสนใจ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล