ขณะที่กำลังยืนรอเวลาอยู่หน้า สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย หญิงสาวในเสื้อทีเชิ้ตสีเทากางเกงขาสั้นก็ปั่นจักรยานมาจอดตรงหน้า

หากไม่เคยเห็นหน้าเธอผ่านสื่อกีฬามาก่อน แล้วสังเกตจากบุคลิกลักษณะภายนอก ด้วยรอยยิ้มและทีท่าอ่อนโยน เราย่อมไม่มีทางรู้เลยว่าหญิงสาวตรงหน้าคือนักเทควันโดหญิงอันดับ 1 ของโลกในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม

ณ ขณะนี้ ผู้คนที่สนใจกีฬาคงไม่มีใครไม่รู้จัก เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของเธอ จากการลงแข่งขัน 7 รายการ เธอสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 6 รายการ ส่วนรายการเดียวที่พลาดไป เธอก็ได้ถึงรองแชมป์

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง

นอกจากนั้น เธอยังคว้ารางวัลนักกีฬาสมัครเล่นหญิงดีเด่นจากการกีฬาแห่งประเทศไทยมาครองเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ผมนัดพบเธอหลังจากจอมเตะสาวคว้าแชมป์ Wuxi 2018 World Taekwondo Grand Slam Champions Series ซึ่งเป็นรายการที่เธอบอกว่าน่าจดจำที่สุดรายการหนึ่งในชีวิต เนื่องจากเป็นรายการที่สุดยอดนักเทควันโดที่ดีที่สุดมารวมตัว

มองจากภายนอกชีวิตเธอดูสุขสบายไร้อุปสรรค ยืนอยู่ในจุดสูงสุดของเส้นทางนักกีฬาอย่างที่หลายคนทำได้เพียงใฝ่ฝันโดยไม่มีวันไปถึง แต่เมื่อได้ลองนั่งลงพูดคุยกัน ผมกลับพบเรื่องราวตรงกันข้าม

ชีวิตเธอนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค เติบโตมากับความพ่ายแพ้ เคยผ่านประสบการณ์สูญเสียบุคคลอันเป็นดวงใจ และทุกวันนี้เธอก็ยังเสียน้ำตาอยู่ทุกวี่วันจากความหนักหน่วงของตารางการฝึกซ้อม

ไม่ว่าจะสนใจกีฬาหรือไม่ เรื่องราวของจอมเตะสาววัย 21 ช่างเป็นมิตรกับผู้ที่คุ้นชินกับความพ่ายแพ้แต่กำลังสู้อยู่ทุกคน

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
ยกที่ 1

ตอนเด็กๆ หนูแพ้ตลอด”

หลังจากทักทายและแนะนำตัว ผมเดินตามเธอเข้าไปภายในตัวอาคารของสมาคม

ด้านในกว้างขวางเพียงพอที่จะเป็นสถานที่สำหรับรวมตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เธอเดินไปเปิดไฟทีละดวงจนแสงไฟส่องสว่าง และทำให้ผมเห็นสถานที่โดยรอบ

ที่ผนังฝั่งหนึ่ง มีธงไตรรงค์ขนาดใหญ่ขนาบข้างด้วยธงชาติเกาหลีใต้

ที่ผนังอีกฝั่งหนึ่ง มีรูปนักกีฬาเทควันโดขนาดใหญ่ผู้เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศแขวนอยู่หลายรูป-แน่นอน บนนั้นมีรูปของเธออยู่ด้วย

และที่ผนังอีกฝั่งหนึ่ง มีข้อความขนาดเล็กที่หากไม่สังเกตอาจมองไม่เห็น

ข้อความนั้นเขียนว่า ‘No pain No gain’

“ทุกวันนี้เข้าใจประโยคนี้ดีหรือยัง” หลังจากเธอสวมชุดเทควันโดเรียบร้อย ผมชวนเธอคุยจากสิ่งแรกๆ ที่ปะทะสายตา

“เข้าใจค่ะ” เธอพยักหน้าและตอบ “เข้าใจว่าถ้าเราไม่พยายาม ไม่แลกด้วยความเจ็บปวด ก็ไม่เจอความสำเร็จ”

เดาได้-หลายคนคงคิดแบบนี้เมื่อฟังคำตอบของเธอ ผมเองก็คิดเช่นนั้น จนกระทั่งเธอเริ่มขยายความเพิ่มเติม

“แต่ว่าหนูก็คิดนะว่ามันไม่ตรงเท่าไหร่ เพราะว่าเพื่อนเราก็เหนื่อยเหมือนกัน ซ้อมมาด้วยกัน แต่ว่าบางคนก็ได้เหรียญบ้าง ไม่ได้เหรียญบ้าง บางครั้งแข่งวันสุดท้ายแล้วเพื่อนแพ้ เขาก็ไม่ได้เหรียญทอง

“คือเราไปเหนื่อยมาด้วยกันตลอด ทั้งที่ไปเก็บตัวที่เกาหลีเป็นเดือน แล้วก็ไปซ้อมที่เชียงใหม่ ไปวิ่งขึ้นดอยด้วยกัน เหนื่อยจนจะขาดใจ จะตายด้วยกันอยู่แล้ว แต่พอแข่งออกมาผลมันก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป” สาวน้อยบอกบางประโยคที่คล้ายว่าเข้าใจสัจธรรมของโลกบางประการ

“เวลาเหนื่อยมาแล้วแพ้ คิดว่าสิ่งที่ทุ่มเทไปมันไร้ค่าหรือเปล่า” ผมชวนเธอทบทวน

“สำหรับหนู หนูคิดว่ามันก็ไม่ได้ไร้ค่า แมตช์นี้มันอาจจะไม่ได้ แต่ถ้าเราพยายามต่อไป สักวันมันก็ต้องเป็นวันของเรา หนูก็จะพยายามเชียร์ให้เพื่อนสู้ต่อไป ให้ตั้งใจซ้อม กลับไปครั้งหน้าเราอาจจะเข้ารอบลึกขึ้น หรือต่อให้แพ้ แต่เราก็แพ้น้อยลง เราจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ”

ไม่ใช่แค่บอกคนอื่น แต่เธอคิดและทำเช่นนี้มาตั้งแต่ชีวิตยังสะกดคำว่าชัยชนะไม่เป็น

ย้อนกลับไปก่อนที่เธอจะมายืนอยู่ในจุดที่แสงไฟสาดส่อง เด็กสาวจากสุราษฎร์ธานีเติบโตมาในครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง-ดูจากชื่อเล่นของเธอคงพอเดาได้

“พ่อกับแม่เป็นเลือดนักสู้ เป็นนักกีฬาอยู่แล้ว ท่านปลูกฝังตั้งแต่ชื่อเล่นแล้ว พี่ชายหนูชื่อเบสบอล พี่สาวหนูชื่อโบว์ลิง แล้วหนูก็ชื่อเทนนิส พ่อเองก็ชอบเล่นกีฬามาก เป็นครูสอนว่ายน้ำ ส่วนแม่เป็นผู้นำเต้นแอโรบิกแล้วก็เป็นนักว่ายน้ำด้วย

“เราเป็นครอบครัวนักกีฬาทั้งบ้านเลย แล้วตั้งแต่เด็กๆ พ่อจะปลุกหนูไปวิ่งทุกเช้า แม้วันเสาร์-อาทิตย์เขาก็จะตื่น 8 โมง ไปวิ่งถนนที่เป็นชนบท แบบร้อนๆ แดดเปรี้ยงๆ หนูก็วิ่งไปเรื่อยๆ ไปดูนั่นดูนี่ ดูทุ่งนา ดูโรงถ่าน ดูอะไรแบบนี้ หรือบางวันพ่อก็จะพาไปวิ่งที่สนามกีฬา แล้วมันจะมีวันที่ประตูรั้วมันปิด เราก็ดีใจ ว้าย ประตูรั้วมันปิด จะได้ไม่ต้องวิ่ง แต่สักพักพ่อก็จะขับไปที่อื่นต่อ สุดท้ายก็ไม่หยุด ทุกวันต้องออกกำลังกาย”

เท่าที่สังเกต เวลาเธอเล่าถึงครอบครัว เล่าถึงวัยเด็ก เล่าถึงคุณพ่อและคุณแม่ บนใบหน้าของเธอจะมีรอยยิ้มปรากฏขึ้น

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง

ตอนเด็กๆ เทนนิสเล่นกีฬาหลายชนิด แต่ก็เล่นเพียงผิวเผิน หาได้ลงลึกหวังยึดเป็นอาชีพ และพูดก็พูดเถอะ เธอแทบไม่รู้จักคำว่าชัยชนะเลยในวัยนั้น

“ตอนเด็กๆ เราเล่นกีฬาหลายประเภท เราไปทุกทางแต่เราไม่เก่ง ไปเล่นวอลเลย์บอลหนูก็เป็นแค่ตัวสำรอง ไม่ได้ลง ไปว่ายน้ำก็จม พ่อเป็นครูแต่กลับว่ายน้ำไม่ได้ ว่ายช้ามาก กีฬาอะไรเราลองมาหมด ทั้งปิงปอง เทนนิส แต่ก็แพ้จนต้องหากีฬาอื่นมาลองเล่นไปเรื่อยๆ”

นอกจากแพ้ในสนามกีฬา นอกสนามเธอยังแพ้อีกหลายอย่าง

ตอนเด็กๆ หนูไม่ค่อยแข็งแรง ผอมแห้ง อ่อนแอ กินขนมที่เป็นซองๆ ยังแพ้เลยค่ะ แพ้ผงชูรส แพ้อาหารทะเล กุ้ง ปลาหมึก กินไม่ได้เลย พ่อก็เลยหากิจกรรมให้ทำ ให้ออกกำลังกายตลอด”

จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอน 7 ขวบ เมื่อสาวน้อยได้รู้จักกับกีฬาที่ดูขัดกับร่างกายอันบอบบางของเธออย่างเทควันโด แม้มันจะไม่ได้ทำให้เธอรู้จักชัยชนะในทันที แต่มันก็ทำให้เธอรู้จักการอยากเอาชนะ

ตอนนั้นหนูเลิกเรียนบ่ายสามครึ่ง ถ้ากลับบ้านเลยก็ไม่มีอะไรทำ พ่อเลยพาไปปล่อยที่ยิม ให้เราไปเล่นเทควันโดเพราะว่าพี่ชายเล่นอยู่ก่อน ซึ่งตอนแรกที่หนูเล่น หนูตั้งใจไว้ว่าหนูจะไม่เป็นนักกีฬาเด็ดขาด เพราะว่าพี่เล่นแล้วเจ็บ ผู้ชายเขาเล่นกันแรง เตะกันปากแตก แล้วพ่อกับแม่ต้องพาไปแข่งทุกที่ที่มีแข่ง ซึ่งเสียเวลาด้วย หนูเลยบอกว่าหนูเล่นแค่สนุกๆ พอ

“แล้วหนูก็เล่นเรื่อยมาจนประมาณ 9 ขวบ ตอนนั้นมีแข่งที่ภูเก็ต ซึ่งเราไม่อยากไปแข่ง แต่เราอยากไปเที่ยวทะเลมาก พ่อเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ลงแข่ง ลงเล่นๆ ขำๆ ก็ได้ แล้วถ้าได้เหรียญทองเดี๋ยวพ่อจะให้ 3,000 เหรียญเงิน 2,000 เหรียญทองแดง 1,000 หนูก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นยอมไปแข่งก็ได้ หนูก็เลยไปแข่ง”

ไม่ต้องสงสัยว่าเธอได้เงินเดิมพันจากพ่อกี่บาท เพราะการแข่งนัดแรกเธอถูกคู่ต่อสู้ต้อนขาดลอย นอกจากไม่ได้เงินมันยังทำให้เธอเสียหน้า

“ครั้งนั้นถือว่าเราเป็นนักกีฬาครั้งแรก พอลงไปแข่งก็แพ้ ตอนนั้นหนูยังสายเหลืองซึ่งเป็นขั้นที่ 2 อยู่เลย เราแพ้ 7 ต่อ 0 แล้วหลังจากนั้นไปเจอเพื่อนก็โดนล้อว่าแพ้ ตอนนั้นยังเด็กเราก็เสียใจแล้วแค้นมันมาก ก็เลยชอบเทควันโดขึ้นมา ขอคุณพ่อไปซ้อมทุกวัน บ้าเทควันโดไปเลย”

หากชีวิตเป็นไปตามสูตร เธอควรกลับมาชนะอย่างสง่างามหลังการทุ่มเทซ้อมหนักใช่ไหม ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่นไม่ใช่เหรอ

แต่ไม่หรอก ชีวิตจริงไม่ง่ายดายขนาดนั้น

“หลังจากแพ้แมตช์แรกหนูก็แพ้อีก แล้วแพ้มาตลอด 2 – 3 ปี จนอายุ 11”

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
ยกที่ 2

เราไม่เคยคิดฝันว่าจะติดทีมชาติ”

วันนี้สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยคึกคักกว่าปกติ เนื่องจากมีการเปิดคัดตัวนักกีฬาทีมชาติ

จากจุดที่เรานั่งคุยกันมองเห็นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาหลักสิบคนนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยรอช่วงเวลาสำคัญที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนผันของชีวิต

“ตอนเด็กๆ เราไม่เคยคิดฝันว่าจะติดทีมชาติอะไร” เทนนิสย้อนเล่าโดยมีฉากตรงหน้าเป็นภาพประกอบ “ตอนนั้นเราแค่ฝันว่าจะได้สายดำ แล้วก็เรียนพิเศษด้วย เผื่อจะไปทางอื่น”

อย่างที่เล่าไป ช่วงแรกในเข้าสู่การแข่งขันเธอพ่ายแพ้จนชิน เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่าเราจะบอกว่านักเทควันโดตรงหน้ามีพรสวรรค์เหนือใครได้หรือเปล่า แต่ที่พอบอกได้คือเธอทำงานหนัก และนั่นคือสิ่งสำคัญที่ผลักเธอไปข้างหน้า

ผมไม่รู้ว่าขณะที่เรานั่งคุยกันอยู่ เหล่าเด็กน้อยทั้งหลายที่เคยชนะเธอในวันวานตอนนี้จะกำลังนั่งทำอะไรอยู่ที่ไหน แต่เธออยู่นี่ ในชุดเทควันโดสายดำ ที่ต้นแขนข้างซ้ายมีธงชาติไทยปรากฏอยู่

“ตอนนั้นหนูเข้าใจว่าตัวเองไม่เก่ง ซึ่งไม่เก่งจริงๆ นะคะ” เธอย้ำด้วยกลัวผมคิดว่าเธอถ่อมตัว “หนูก็พยายามไปซ้อม ไปเล่นกับเพื่อน พยายามเตะเป้า เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

“ช่วงที่แพ้พ่อไม่ได้ดุ แค่บอกให้สู้ๆ คือตอนเด็กเราก็อยากเรียนเสร็จกลับบ้านไปเล่น นอนเล่นบ้าง แต่ก็ต้องซ้อม ซ้อมเสร็จ 2 ทุ่ม กว่าจะกลับถึงบ้านก็ 3 – 4 ทุ่มแล้ว กว่าจะทำการบ้าน กว่าจะนอน วันไหนขี้เกียจซ้อมพ่อก็ไม่ยอม พ่อไปรับไปส่งทุกวัน

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง

พ่อพยายามผลักดันให้หนูไปข้างหน้า ขี้เกียจก็ผลักให้ไปให้ได้ ถ้ามีแมตช์แข่งที่กรุงเทพฯ หรือแมตช์อะไรใหญ่ๆ ก็พยายามให้หนูมาแข่งเพื่อหาประสบการณ์ เพราะที่ภาคใต้มีแข่ง 2 เดือนที แต่ที่กรุงเทพฯ มีแข่งทุกอาทิตย์ เพราะฉะนั้น นักเทควันโดภาคใต้ก็จะประสบการณ์น้อยกว่า นักกีฬาที่กรุงเทพฯ ได้เปรียบมากกว่า เพราะว่ามีแมตช์แข่งเยอะ พอแข่งเยอะประสบการณ์ก็เยอะ ฝีมือและความเก๋าเขาก็มากกว่าเรา คนที่มาแข่งจะมีเทคนิคใหม่กว่า เตะเร็วกว่า พ่อก็เลยต้องเสียค่ารถพามาแข่งที่กรุงเทพฯ บ่อยๆ เพื่ออยากให้เราพัฒนา ให้เราสู้เขาได้”

แล้วความพยายามของสองพ่อลูกก็เริ่มออกดอก หยาดเหงื่อที่รินรดไปเริ่มออกผล

ตอนอายุ 12 เธอเริ่มได้เหรียญทองจากรายการเล็กๆ และอายุ 13 เธอคว้าเหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จากการแข่งขันรุ่นไม่เกิน 42 กิโลกรัม และนั่นเป็นตั๋วใบสำคัญที่ทำให้เธอได้โอกาสเข้ามาคัดตัวทีมชาติไทย

บรรยากาศในสนามซ้อมของสมาคมฯ ขณะนี้ที่เต็มไปด้วยเยาวชนที่มาคัดตัวทีมชาติ ชวนให้หวนนึกถึงภาพในวันนั้น

เช่นเดียวกับกลุ่มเยาวชนตรงหน้า ครั้งหนึ่งเธอเองก็เคยนั่งอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และพิสูจน์ฝีมือจนเข้าสู่ทีมชาติไทยได้สำเร็จในปี 2554 และเพียงการแข่งขันครั้งแรกในฐานะเยาวชนทีมชาติไทย เธอก็คว้าเหรียญทองในรายการ Korea Open 2011 มาครองได้สำเร็จ และนั่นเป็นครั้งแรกที่โลกได้เริ่มรู้จักจอมเตะผู้นี้

“ตอนที่ติดทีมชาติฝันไหมว่าจะก้าวไปถึงจุดไหน” ผมชวนเธอย้อนทบทวน

หนูก็มีฝัน ซึ่งถามน้องๆ คนไหนทุกคนก็คงฝันอยากไปโอลิมปิก แต่คือมันไม่ใช่ทุกคนที่ฝันจะเป็นจริง เพราะจะมีแค่คนเดียวในแต่ละรุ่นเท่านั้นที่จะได้ไป ต้องคัดกัน ต้องเก็บอันดับโลก ตอนนั้นหนูก็คิดทีละขั้น ตอนที่เป็นเยาวชนอยู่หนูอยากไปแค่ซีเกมส์ก็พอแล้ว ซึ่งตอนที่ได้ไปซีเกมส์พ่อก็ดีใจมากแล้ว พอได้ไปซีเกมส์เราก็ฝันต่อไปว่าอยากไปชิงแชมป์เอเชีย อยากเป็นแชมป์โลก ก็ฝันมาเรื่อยๆ พอทำได้เราก็ฝันไปอีก ฝันไปอีก

ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้คิดไกลถึงขนาดโอลิมปิก เพราะว่าเห็นรุ่นพี่แต่ละคนที่ได้ไปเขาเก่งมาก ฝีมือแบบหนูไม่สมควรได้ไปเลย หนูรู้ตัวเองว่าหนูยังไม่เก่ง คิดว่าได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น มีเพื่อนที่ซ้อมอยู่ด้วยกัน เราก็ให้กำลังใจกันว่าสู้ให้เต็มที่ในทางของเรา ไปให้สุดความสามารถ พี่หนูก็บอกว่าให้ทำให้เต็มที่ เรามีโอกาสแล้ว

อย่างวันนี้ที่มีน้องๆ เข้ามาคัดตัวกันวันแรก ซึ่งถ้าหนูเป็นน้องที่มาวันนี้ หนูก็คงคิดว่าอยากติดทีมชาติ แต่ที่ผ่านมาพอเข้ามาซ้อมกันจริงๆ หนูเห็นน้องๆ หลายคนไม่ตั้งใจซ้อมเลย ไม่เต็มที่กับมันเลย เหมือนคิดแค่ว่าก็ติดแล้วน่ะพี่ ทำไมไม่เห็นเหมือนวันแรกที่อยากเข้ามาติดทีมชาติกันเลย หนูคิดว่าถ้าเราตั้งใจจริงๆ ก็อยากให้เต็มที่ที่สุด”

หลังจากเธอติดทีมชาติในครั้งนั้น เธอเดินหน้ากวาดเหรียญทองในการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลกมาครองจนจดจำแทบไม่หวาดไม่ไหว เป็นนักกีฬาเทควันโดไทยคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้าเหรียญทองจากมหกรรมกีฬา Youth Olympic Games โดยเอาชนะคู่ต่อสู้ขาดลอยแม้กระทั่งรอบชิงชนะเลิศที่เอาชนะจอมเตะจากอาเซอร์ไบจาน 21 ต่อ 1

หลังจากเห็นชีวิตเธอในวันนี้ ผมคิดถึงช่วงเวลาที่พ่อของเธอต้องเสียค่ารถพาลูกสาวเดินทางจากสุราษฎร์ธานีเข้ามาแข่งที่กรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์เพื่อหวังให้ลูกสาวพัฒนาขึ้นและสู้เด็กเมืองกรุงได้

ถึงวันนี้พ่อของเธอคงได้คำตอบแล้วว่า ลูกสาวของเขาสู้คนอื่นได้หรือยัง

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
ยกที่ 3

ถึงจะเดินช้าหน่อยแต่เราก็เดินถึงหรือเปล่า”

หอพักของนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ที่เรานั่งพูดคุย จักรยานที่เธอขี่มาจอดหน้าสมาคมคือยานพาหนะหลักที่เธอใช้ยามเดินทางมาซ้อม

หลายคนอาจคิดว่า เป็นถึงนักกีฬาเทควันโดอันดับ 1 ของโลกชีวิตของเธอคงเหนื่อยน้อยลง แต่เธอส่ายหน้า ก่อนจะยิ้มแล้วย้ำติดตลกว่า ‘นรกมาก’

“ทุกวันหนูต้องตื่นตอนตีห้าครึ่ง หกโมงเช้าซ้อมวิ่งรอบสนามราชมังฯ ซึ่งนรกมาก โค้ชสั่งวิ่งทีไม่ใช่แค่ 2 – 3 รอบนะ แต่วิ่งเซ็ตละ 10 รอบ บางครั้งวิ่งไม่ทันเวลาโค้ชก็สั่งให้วิ่งคูณไปเรื่อยๆ วิ่งจนเคารพธงชาติยังไม่เลิกเลย แล้วก็มีวิ่งขึ้นบันไดสนามราชมังฯ ที่เป็นบันไดงูรอบสนาม ซึ่งแค่รอบเดียวก็ขาจะตายอยู่แล้ว แต่นี่ต้องวิ่งขึ้นลงๆ ไปทั่วสนาม แล้วก็ต้องวิ่งกลับอีก วิ่งจนหนูร้องไห้ ซึ่งร้องไปโค้ชเขาก็ไม่สน

พอซ้อมเช้าเสร็จหลังจากนั้นก็ไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จุฬาฯ เรียนเสร็จกลับมาถึงที่พักบ่าย 4 โมง แล้วก็ต้องรีบมาซ้อมตอน 5 โมงเย็น ก็มีซ้อมเตะกันเตะแบบบ้าคลั่ง เข้าคู่กัน ซึ่งเราต้องเตะกับผู้ชายทุกวัน เพราะหนูต้องเจอคู่ต่อสู้ที่แข็งแรง ซึ่งน้องผู้ชายก็เบาให้เราไม่ได้ เพราะถ้าไม่เต็มที่ก็โดนลงโทษ ซ้อมเลิก 2 ทุ่มครึ่งบ้าง 3 ทุ่มครึ่งบ้าง กินข้าวเสร็จ ตอน 4 ทุ่มต้องอยู่ในห้องแล้ว ถ้ามีใครสักคนที่ไม่อยู่ในห้องแล้วโค้ชมาตรวจเจอเขาก็เรียกมารวมกันที่นี่แล้วก็สั่งวิดพื้นจนถึงตี 2”

“อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่โค้ชเช (เช ยองซอก) สอน” ผมถามหญิงสาวตรงหน้า

“สอนความมีระเบียบวินัยอันดับหนึ่ง เขาบอกว่าคนเก่งแต่ไม่มีระเบียบผมไม่เอา เอาคนที่มีระเบียบวินัยแล้วมาฝึกใหม่ยังดีกว่า เพราะเวลาอยู่รวมกันเป็นทีมแบบนี้ระเบียบวินัยสำคัญมาก ถ้าเก่งแต่ไม่มีระเบียบวินัยก็สอนยาก หรือบางคนหัวแข็ง เหมือนน้ำเต็มแก้ว สมมติเขาอยากสอนอยากใส่ข้อมูลอะไรก็ทำไม่ได้”

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง

ในปี 2018 มีหลายเหตุการณ์น่าจดจำ ทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ โดยเฉพาะในรายการ Fujairah 2018 World Taekwando Grand-Prix Final เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ที่เธอจำต้องเข้าแข่งขันด้วยสภาพแสนสาหัส

“ตอนนั้นหนูรถมอเตอร์ไซค์ล้มก่อนไปแข่ง 2 อาทิตย์” เธอเล่าบางเหตุการณ์ที่หลายคนไม่รู้ โดยเฉพาะคู่ต่อสู้ที่จะต้องเจอกัน “ตอนนั้นหนูนั่งรถเข้าบ้านแล้วรถล้ม โค้ชรู้ก็ถามว่าไม่อยากไปแข่งหรอ ทำไมถึงนั่งรถแล้วรถล้ม หนูก็บอกว่าอยากไปแข่งค่ะ หนูก็ไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้น

“อาการตอนนั้นคือกระดูกช้ำ ม่วงไปทั้งขา พอหนูไปหาหมอ หมอบอกว่า 2 อาทิตย์ยังไงก็ไม่ทัน อย่างเต็มที่ก็ต้อง 4 อาทิตย์ถึงจะหายดี”

ด้วยความที่เป็นการแข่งขันรายการสำคัญ เธอจึงจำต้องลงแข่งทั้งที่สภาพร่างกายเสียเปรียบคู่ต่อสู้ชนิดแค่ผ่านรอบแรกได้ก็น่ายินดีแล้ว

“ช่วงก่อนไปแข่งหนูใช้ไม้ค้ำตลอดทุกวัน วันที่ไปเรียนก็ถือไม้ไปเรียน หนูไม่รู้จะทำยังไง ก็ทำให้เต็มที่ ไปว่ายน้ำ ไปทำกายภาพเช้า-เย็น ทุกวันแทนการซ้อม แล้วก็ปั่นจักรยานเพื่อรักษาฮาร์ตเรตไว้อย่างนั้น เดี๋ยวไม่ฟิต แล้ววันที่ไปแข่งหนูก็เตะได้ข้างเดียว เราคิดแค่ว่าทำเท่าที่ไหว หมอบอกว่าแค่คู่แรกคู่สองก็ไม่น่าไหวแล้ว หนูก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวลองไปเตะก่อนว่าจะได้ถึงคู่ไหน”

อย่างที่ว่าไว้ตั้งแต่แรก ปีที่ผ่านมาถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของเธอ จากการลงแข่งขัน 7 รายการ เธอสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 6 รายการ

และรายการเดียวที่ได้รองแชมป์คือรายการที่เธอลงแข่งด้วยสภาพร่างกายที่ขาเตะได้เพียงข้างเดียวนั่นแหละ

“พ่อหนูจะสอนให้สู้ เดินไปเรื่อยๆ ก้มหน้าก้มตาเดินไป โดนด่าก็ไปต่อ ช่างมัน ไปข้างหน้า พยายามเก็บเกี่ยว คิดแล้วก็ไปต่อ สุดท้ายถึงจะเดินช้าหน่อยแต่เราก็เดินถึงหรือเปล่า” เธอทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ

จากคนที่แพ้มาตลอด วันนี้มายืนอยู่ในจุดสูงสุดของนักกีฬาเทควันโด จอมเตะสาวรู้สึกยังไง-หลายคนคงสงสัย

“หนูเคยไปคุยกับนักจิตวิทยา หนูบอกพี่เขาว่า หนูกลัวแพ้ หนูไม่อยากแข่งแล้ว เพราะกลัวว่าหนูจะแพ้รุ่นน้องแล้วก็ร่วงลงไป พี่เขาก็บอกว่า แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำแล้วไม่ใช่เหรอ

“แล้วเขาก็ถามว่าหนูมีฝันอะไร หนูก็บอกว่าฝันอยากได้เหรียญทองโอลิมปิก เขาก็บอกว่า ก็ทำตามความฝันไป ทำให้เต็มที่ ได้แค่ไหนมันก็คือสิ่งที่เราเต็มที่แล้วไม่ใช่เหรอ ถ้าวันหนึ่งเราแก่ไปแล้วมองย้อนกลับมา อย่างน้อยเราก็เห็นว่าเราได้ทำแล้วนะ เราเต็มที่ไปแล้ว ถ้าไม่ได้มันก็คือไม่ได้ ถ้าทำได้ก็คือฉันทำสำเร็จ หนูก็เลยพยายามคิดว่าจะเต็มที่ในทุกอย่างที่เราทำ เราจะไม่เสียดาย ไม่ว่าสิ่งที่เราทำจะพลาดหรือว่าสำเร็จ

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง

“แล้วจริงๆ อันดับโลกมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น โค้ชก็บอกว่า ผมไม่ได้สนใจอันดับโลก ผมสนแค่ว่าแมตช์นั้นคุณเล่นเต็มความสามารถหรือว่าเล่นดีหรือเปล่า หรือว่าคุณกลัวแล้วแพ้ หรือว่าชนะแบบฟลุคๆ ชนะแบบถอยๆ หนีๆ ผมก็ไม่เอา โค้ชเขาพยายามทำให้เราสู้”

อย่างที่เธอบอก เธอย้ำเสมอว่าโอลิมปิกคือความฝัน ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยเข้าร่วมมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ที่ริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล มาแล้ว และคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้ ตอนนี้ความฝันของเธอจึงอยู่ที่โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่โตเกียว

“หนูก็ยังมีความฝันว่าอยากได้เหรียญทอง ซึ่งตอนนี้มันก็ใกล้มากแล้ว หนูจะพยายามสู้ให้เต็มที่ ถึงคราวนี้จะได้หรือไม่ได้ยังไง หนูก็จะทำให้เต็มที่ที่สุด

“อย่างน้อยหนูก็ทำให้พ่อกับครอบครัวภูมิใจที่สุดแล้ว เขาฝันอยากให้ลูกๆ ติดทีมชาติ แล้วตอนนี้ฝันก็เป็นจริงแล้ว หนูดีใจที่ทำให้พ่อสำเร็จ ช่วยพ่อหาเงิน เลี้ยงตัวเองและเลี้ยงพ่อได้ แล้วก็ได้มิตรภาพต่างๆ จากที่นี่ ได้ความรักจากโค้ช มันเหนื่อยแต่ก็คุ้มกับทุกอย่างที่เราทำไป”

ฟังถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสาวน้อยถึงพูดถึงแต่ผู้เป็นพ่อโดยไม่ได้กล่าวถึงแม่ในประโยคบอกเล่า

“แม่หนูเสียตั้งแต่ 7 ขวบแล้วค่ะ หลังจากหนูเริ่มเล่นเทควันโดได้ไม่นาน พ่อก็เลี้ยงหนูมาตลอด ทุกวันนี้ก็คิดถึงแม่ค่ะ” เล่าถึงตรงนี้น้ำตาของเธอก็เริ่มไหล “ทุกวันนี้ก็คิดถึงตอนที่แม่ป่วย ที่จำได้ก็คือตอนที่แม่เป็นมะเร็ง แล้วหนูก็ไปนอนเฝ้าแม่ตอนที่แม่มารักษาตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ”

พอฟังเธอเล่าเรื่องราวที่เก็บเอาไว้ในใจเรื่องนี้ ผมก็นึกถึงรูปรูปหนึ่งที่เธอเคยโพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัว

รูปรูปนั้นเป็นรูปแม่ของเธอเข้ากรอบอย่างดี โดยมีเหรียญทองแดงโอลิมปิกคล้องอยู่ที่มุมของกรอบรูป

“ส่วนใหญ่หนูจะทำแบบนี้เสมอเวลาได้เหรียญมา เพราะแม่ทำให้เรามา หนูก็เลยเอาเหรียญไปให้แม่ แล้วก็จุดธูปบอกแม่ว่าหนูทำได้แล้วนะ เสียดายที่แม่ไม่ได้ไปดูที่นั่น แต่หนูก็รู้นะว่าแม่รับรู้อยู่” เธอยิ้มทั้งน้ำตาหลังประโยค

และ ณ นาทีที่ฟังเธอเล่าจบนั้น ผมเพิ่งเห็นคุณค่าของเหรียญรางวัลในอีกความหมายหนึ่ง

เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง
เทนนิส พาณิภัค, นักเทควันโดหญิง

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล