ฝรั่งก็ฝรั่งเถอะ…เอาอยู่

“เจอฝรั่งอย่าหนี สู้เลยด้วยคัมภีร์เล่มนี้”

คือคำโปรยจากหนังสือคู่มือการพูดภาษาอังกฤษ (เพื่อเอาตัวรอด) ฉบับพกพาที่เราซื้อติดตัวไว้ก่อนเดินทางมาที่นิวยอร์ก เป็นหนังสือเล่มสีเหลืองขนาดย่อมที่สอนการพูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน สำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ

ถ้าพูดถึงระดับภาษาอังกฤษของเรา ต้องบอกว่าอยู่ในระดับกลางๆ หรืออาจจะค่อนไปทางย่ำแย่เลยด้วยซ้ำ เราเหมือนคนที่รู้ว่าคำศัพท์แต่ละคำนั้นแปลว่าอะไร แต่จับมาเรียงให้เป็นประโยคไม่ได้ซะงั้น อาจเป็นเพราะเรามีความทรงจำที่ไม่ค่อยสวยงามนักกับการเรียนภาษาอังกฤษในวัยเด็ก ที่ถูกสอนให้ท่องจำเพื่อทำข้อสอบในปลายเทอม และพูดตามอย่างนกแก้วนกขุนทองในห้องเรียน โดยที่ในความเป็นจริงแทบไม่เข้าใจในสิ่งที่ถูกสอนมาสักเท่าไหร่ พอสะสมนานๆ เข้า ภาษาอังกฤษก็เลยกลายเป็นเรื่องน่าอายที่จะพูดไปโดยปริยาย เหมือนปราสาทที่รากฐานไม่แข็งแรงพอ ยิ่งต่อเติมด้านบนขึ้นไปเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถทำให้มันแข็งแรงได้ในที่สุด

ถ้าพูดถึงประสบการณ์สนุกๆ ของการใช้ชีวิตที่นิวยอร์กกับเรื่องภาษาอังกฤษ ก็คงหนีไม่พ้นช่วงแรกๆ ที่มาถึง เราจองห้องพักจาก Airbnb ย่าน Greenpoint / Williamsburg (วิลเลียมส์เบิร์ก) ย่าน Brooklyn (บรู๊กลิน) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพราะยังไม่สามารถย้ายเข้าบ้านเช่าระยะยาวได้ การเลือกที่พักแบบแชร์ห้องกับคนท้องถิ่นจึงเป็นทางออกที่ดีในระยะสั้นๆ แต่ราคาก็สุดแสนจะแพงสมกับเป็นที่พักในนิวยอร์กซะจริงๆ

คืนแรกเราถูกชักชวนจากเจ้าของห้องให้มาร่วมวงอาหารค่ำด้วยกัน เพราะมีบางคนที่มาพักระยะสั้นต้องออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น เลยมีการเลี้ยงส่งกันนิดหน่อย ในตอนนั้นคำตอบในหัวมีแค่อย่างเดียวคือ ‘ไม่มีทาง’ (คำตอบผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว) “นี่มันเป็นวันแรกของเราเลยนะ ใจคอนี่จะรับน้องกันเลยหรอ” เราคิดในใจ เราเลยได้แต่ยิ้มๆ และตอบแบบไม่แน่ใจ แล้วก็อ้างไปว่าเจ็ตแล็ก อาจจะต้องดูอีกที จนสุดท้ายความกลัวที่จะต้องพูดภาษาอังกฤษของเราก็ทำให้เราพลาดมื้ออาหารค่ำร่วมกับทุกคนไปอย่างน่าเสียดาย

แต่เรื่องมันยังไม่จบแค่นั้น หลังจากอาหารค่ำจบลง เราก็ถูกชวนไปนั่งเล่นที่ห้องรับแขกอีกครั้ง เผื่อจะได้นั่งคุยกัน (ยังจะมีอีกหรอ!!!) ด้วยความเป็นคนไทยขี้เกรงใจ เรานั่งคิดหนักในห้องนอนอยู่พักใหญ่ (พักใหญ่จริงๆ นะ) และคิดว่าไม่ควรจะปฏิเสธแบบเดิมอีกแล้ว ระหว่างการคิดก็เปิดหนังสือคู่มือพูดภาษาอังกฤษฉบับพกพาเล่มสีเหลืองอ่านไปด้วยอย่างตั้งใจ พยายามจำคำถามให้ได้มากที่สุดว่าจะคุยอะไรกับฝรั่งดี พอหลังจากที่ท่องได้ประมาณหนึ่งแล้ว ก็ตัดสินใจเปิดประตูออกจากห้องแล้วเดินไปที่ห้องรับแขกทันที ภาพที่เห็นคือ ที่โซฟารับแขกทุกคนนั่งกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และหันมาทักทายเราด้วยสายตาเป็นมิตร ยิ้มแย้ม และถามถึงอาการเจ็ตแล็กของเราว่าดีขึ้นบ้างหรือยัง ทันใดนั้นเรารู้สึกตัวในทันที

ลืม…

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เตรียมพร้อมมาอย่างดียิ่งกว่าสมัยสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยได้ปลิวหายไปจนหมด เรากลายเป็นคนเอเชียผิวเหลืองที่ตอนนี้ตัวซีดไม่มีสีและร่างแทบจะละลายไปกองลงกับพื้น แต่ไม่ได้!!! ในฐานะตัวแทนคนไทยทั้งประเทศยิ่งกว่ามีสายสะพายชื่อประเทศพาดอยู่ที่บ่า เราจะยอมแพ้แบบนี้ไม่ได้ เราจึงเดินหน้าต่อเพื่อไปนั่งร่วมวงกับทุกคน

“I’m sorry, My english is not good but I wanna join together.”

นั่นคือการรวบรวมสติที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อเริ่มบทสนทนากับทุกคนในตรงนั้น พร้อมกับทำหน้าทำตาน่าสงสารที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สิ่งที่ทุกคนตอบกลับมาก็คือ การพยายามอธิบายว่า ไม่เป็นอะไร ถึงภาษาอังกฤษของคุณจะไม่ได้ดีที่สุด ก็ลองพยายามอธิบายมาก่อนแล้วกัน เดี๋ยวทุกคนจะช่วยกันทำความเข้าใจ ซึ่งเราสัมผัสได้จริงๆ นะว่าตลอดการพูดคุยกัน ทุกคนที่เป็นชาวต่างชาติพร้อมช่วยเหลือเราจริงๆ เราเลยรู้สึกผ่อนคลายขึ้น

หลังจากที่กำแพงความกลัวของเราถูกทำลายลง เราเริ่มต้นพูดคุยกันด้วยบทสนทนาง่ายๆ อย่างเช่นการแนะนำตัว บอกเล่าถึงจุดประสงค์ของการมาที่นิวยอร์กรวมถึงระยะเวลาที่ตั้งใจจะอยู่ที่นี่ พอรู้จักกันมากขึ้นก็เริ่มคุยกันถึงเรื่องประเทศบ้านเกิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง คนในวงสนทนาทั้งหมดยังไม่มีโอกาสมาเที่ยวประเทศไทยเลยสักครั้ง แต่ทุกคนรู้จักประเทศไทยเป็นพื้นฐานอยู่แล้วจากอาหาร เพราะที่นิวยอร์กมีร้านอาหารไทยอยู่แทบจะทุกหัวถนน ดังนั้น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ส้มตำ จึงช่วยชีวิตให้รอดจากการนึกประโยคภาษาอังกฤษไม่ออกได้เป็นอย่างดี

หลังจากที่พูดคุยกันมาซักพัก Tiffany สาวอเมริกันเชื้อสายจีนซึ่งเป็นเจ้าของห้อง เริ่มชวนทุกคนมาร่วมเล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ กติกาคือให้แต่ละคนเปิดเอ็มวีเพลงเก่าๆ จากยูทูบสมัยช่วงปี 2000 ดูกันผ่านแอปเปิ้ลทีวี แต่ละคนจะเลือกเพลงมากันคนละหนึ่งเพลง เป็นเพลงอะไรก็ได้ ภาษาอะไรก็ได้ ที่คิดว่ามีอิทธิพลกับตัวเองในยุคนั้นมากที่สุด เริ่มต้นจาก Heidi สาวชาวอเมริกันสุดมั่นใจ ที่จะเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้เช้า เธอเลือกเปิดเพลง Party ft. J.Cole – Beyonce พร้อมกับอธิบายเหตุผลที่เลือกเพลงนี้ว่า เพราะเธอเล่นเอ็มวีเพลงนี้!!! ทุกคนก็แตกตื่นกันใหญ่ว่า โห!! เล่นเอ็มวีของบียอนเซ่เลยหรอ แต่เธอก็รีบบอกว่า “ฉันออกมาแค่ไม่กี่วินาทีหรอก ฉันแค่เล่นเป็นเพื่อนที่อยู่ข้างๆ บียอนเซ่แค่นั้นเอง แต่ฉันก็ดีใจนะ เพราะฉากนั้นมันเป็นปกของเอ็มวีเวลาพวกเธอเปิดในยูทูบไงล่ะ 555”  เราจำคำพูดของเธอได้ไม่เป๊ะหมดหรอกนะ แต่จำอินเนอร์หญิงสาวผู้มั่นใจแบบอเมริกันชนได้เป็นอย่างดี

พอมาถึงคิวของเรา จะให้ยอมแพ้ความมั่นใจของคนที่แล้วได้ยังไงเล่า เราเลยงัดไม้เด็ดเปิดเอ็มวีเพลงของตัวเองสมัยเป็นนักร้องวงบีโอวายโชว์ฝรั่งซะเลย

“This is my song since 9 years ago.”

“I’m a singer in my country.”

เท่านั้นแหละ ทุกคนก็ยิ่งแตกตื่นกันเข้าไปใหญ่ และรีบหาเพลงอื่นๆ ของเราดูกันเป็นว่าเล่น ถึงแต่ละคนจะฟังไม่ออกสักเพลง แต่แฟชั่นแบบเอเชียสมัยผู้ชายไว้ยาวแบบเกาหลีก็เป็นเรื่องตลกที่เราโดนล้อไปตลอดทั้งคืน

ตอนนั้นรู้สึกได้ทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศในการเผยแพร่เพลงไทยสู่สายตาชาวโลกให้กับทั้งห้าคนอย่างเต็มภาคภูมิ (ดูยิ่งใหญ่มาก) ถือว่าเป็นคืนเริ่มต้นที่สนุกและน่าจดจำมาก ถึงจะพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แปลไม่ทันเป็นส่วนใหญ่แต่ก็ประทับใจชะมัด

เราว่าจริงๆ แล้วความไม่กล้านี่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดเลยล่ะสำหรับการพูดภาษาอังกฤษ เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่านี่ไม่ใช่ภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน และประเทศไทยก็ไม่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการอยู่แล้ว ดังนั้นการเรียนรู้และการฝึกฝนการใช้บ่อยๆ ก็ช่วยให้เราพูดได้คล่องขึ้น อย่าไปกลัวที่จะพูดผิด เพราะขนาดบางครั้งเราเองยังพูดภาษาไทยกันผิดเลย ฝรั่งเองก็เหมือนกัน อย่าให้ภาษาอังกฤษมาทำให้ความมั่นใจในการสื่อสารของเราหายไป แค่หยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ได้ก็พอ แล้วเมื่อเรากล้าที่จะพูดมากขึ้น เราจะรู้ว่าโลกของเรากว้างขึ้นอีกเยอะเลย

ป.ล. เกือบลืมไป อยู่ที่นี่เพื่อนทุกคนเรียกเราว่า Krist กันหมด เพราะต่างชาติแทบจะทุกคนออกเสียงชื่อเล่นเราไม่ได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ฝรั่งนะ จีน ญี่ปุ่น ลาติน ก็งงกับชื่อเล่นที่สะกดยาวๆ ของเราเหมือนกัน และ Krist ก็มาจากชื่อจริงเราว่า Kanist ที่ถูกตัดทอนจนกลายเป็นชื่อนั้นในที่สุด ยังไงก็ตามการมีชื่อที่เรียกง่ายๆก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่ทุกคนสามารถเรียกเราได้บ่อยขึ้น ได้พูดคุยกันเยอะขึ้น เราเองก็ชอบที่จะเป็น Krist แบบนี้เหมือนกัน

Writer & Photographer

Avatar

คณิศ ปิยะปภากรกูล

นักร้อง-นักแสดง ที่ผันตัวเองมาเป็น Youtuber เริ่มออกเดินทางตามความฝันการเป็นเชฟทำขนมมือใหม่