การเป็น ‘Newyorker’ ของเราเริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูหนาวของที่นี่ อุณหภูมิช่วงที่มาถึงทักทายเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 0 องศาฯ ถ้วน หรืออาจจะลดต่ำลงไปถึงขั้นติดลบ ซึ่งมนุษย์ที่เติบโตมาในประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างเรามองเรื่องนี้เป็นความตื่นเต้นมากกว่าความกังวล เราเตรียมความพร้อมการมาอยู่ในช่วงฤดูหนาวด้วยการขนเสื้อกันหนาวที่คิดว่า อุ่นที่สุด และนำแฟชั่นที่สุดเท่าที่จะหาได้ อารมณ์ประมาณว่า “หิมะหน่ะหรอ? ตกมาเลย!!! ฉันไม่กลัวแกหรอก” แต่ใครจะรู้ว่าเสื้อทุกตัวที่เตรียมมานั้นมันไม่พอเลยกับการมาอยู่ที่นี่ เพราะลำพังอากาศที่เย็นอาจจะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าโหดร้ายเท่าไหร่ แต่การที่นิวยอร์กเป็นเมืองติดทะเล ที่ในบางวันหิมะตกจนแทบจะออกไปไหนไม่ได้ หรือบางวันก็มีทั้งลมทั้งฝนมาทดสอบสภาพร่างกายอย่างหนักหน่วง และไอ้เจ้าลมทะเลในช่วงฤดูหนาวนี่แหละ แทบจะพัดตัวเราให้ลอยขึ้นไปบนอากาศพร้อมกับแช่แข็งได้ในเวลาเดียวกัน

สุดท้ายเราก็จบลงที่เสื้อกันหนาวจาก Outlet สีดำที่หนาจนจะกลายตุ๊กตาหิมะทุกครั้งที่ใส่ และไม่มีความแฟชั่นใดๆ ยังไงก็คงต้องยอมใส่ไม่ให้หนาวตายไปซะก่อน อะ…ยอมแพ้

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

อันที่จริงถ้าจะเรียกนิวยอร์กที่คนส่วนใหญ่เข้าใจอาจจะต้องเรียกว่า ‘นิวยอร์กซิตี้’ หรือ ‘NYC’ ถึงจะถูก เพราะจริงๆ แล้วนิวยอร์กเป็นชื่อของรัฐหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตอนบนติดกับประเทศแคนาดา และน้ำตกไนแองการ่าก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐนิวยอร์กด้วยเหมือนกัน ส่วนนิวยอร์กซิตี้ประกอบไปด้วย 5 เขตการปกครอง คือ เดอะบรองซ์ บรู๊กลิน แมนฮัตตัน ควีนส์ และสเตเทน ไอส์แลนด์ แต่ด้วยความเคยชิน การเรียกว่านิวยอร์กสั้นๆ ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึง ‘นิวยอร์กซิตี้’

ถ้าใครคิดจะมาเริ่มใช้ชีวิตในนิวยอร์ก การเช่าบ้านหลังใหญ่หรือแม้กระทั่งเช่าคอนโดใจกลางเกาะแมนฮัตตัน อาจจะต้องใช้เงินมากพอๆ กับการจ่ายเงินผ่อนบ้านหลังใหญ่ๆ ที่ไทยได้สบาย นิวยอร์กเป็นเหมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม บันเทิง ที่สำคัญที่สุดของโลก เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับต้นๆ การแชร์บ้านร่วมกับเพื่อนคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็เป็นทางออกที่ไม่ได้แย่มากนัก เราเองก็ทำแบบเดียวกัน บ้านที่เราแชร์อยู่ด้วยนั้นเป็นบ้านหลังใหญ่ย่านควีนส์ เดินเท้าออกจากสถานีรถไฟฟ้าไม่เกิน 3 นาที มีห้องย่อยทั้งหมด 5 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาเรียนและอยู่ฝึกงานต่อที่นิวยอร์ก ‘ซันเต๋อ, ก้อง, รัน, แจ่ม’ โดยที่ทุกคนรู้จักกันจากที่ไทยอยู่แล้ว และเราคือสมาชิกใหม่ขาจรที่ถูกแนะนำให้รู้จักผ่านรุ่นพี่ที่เคารพอีกทอดหนึ่ง

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

ใครที่ติดตามอ่านการเดินทางในชีวิตของเรามาถึงตอนนี้ คงยังพอจำรุ่นพี่รหัสสมัยมหาวิทยาลัย ผู้จุดประกายการมาเรียนที่นิวยอร์กของเราได้ เรานัดเจอกันครั้งแรกในคืนที่เดินทางมาถึง และนั่นก็เป็นไม่กี่ครั้งที่เราได้เจอกันที่นี่ คงเป็นเพราะการทำงานที่หนักหน่วงและเวลาที่ไม่สามารถหาให้ตรงกันได้ เราจึงไม่ค่อยมีโอกาสเจอกันมากนัก คนที่นี่มักทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กันเป็นเรื่องปกติ ทำให้เราเหมือนถูกหักดิบให้เริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ลำพัง เราเคยรู้สึกน้อยใจและเสียใจที่คนชักชวนเรามา กลับไม่ใช่คนที่สามารถช่วยอะไรเราได้มากนัก แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เรากลับรู้สึกขอบคุณด้วยซ้ำ เพราะนิวยอร์กมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เสมอในทุกวันที่ตื่นขึ้นมาจริงๆ

โอกาสดีๆ ที่เคยได้รับจากการเป็น ‘ดารา’ ที่ประเทศไทยทำให้เราเคยตัวอยู่บ้างในช่วงแรกของการปรับตัว แต่พอรู้สึกตัวได้ถึงเริ่มเข้าใจว่า ใครจะสามารถช่วยเหลือใครได้ตลอดเวลา ตัวเองต่างหากที่จะเป็นที่พึ่งพาของตัวเองได้ดีที่สุด อยู่ที่นี่เราไม่ใช่ ‘เต็งหนึ่ง’ อีกต่อไป เรากลายเป็นคนเอเชียผิวเหลืองหนึ่งคน ที่แทบไม่มีใครรู้จัก อยากไปไหน ทำอะไร ก็สามารถทำได้อย่างอิสระ

มีคนเคยบอกกับเราว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน คุณสามารถเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นได้ที่นิวยอร์ก”

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

เราเริ่มต้นใช้โอกาสนี้ออกไปใช้ชีวิต ชดเชยช่วงเวลาวัยรุ่นที่เสียไปกับการทำงานที่ไทยอย่างไม่รอช้า ทั้งสนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ ทั้งเข้าร่วมกิจกรรมที่มีให้เลือกอยู่มากมายที่นิวยอร์ก ทั้งออกเดินทางท่องเที่ยวที่ถึงแม้จะถูกจำกัดด้วยอากาศหนาว หรือแม้กระทั่งออกปาร์ตี้แบบอเมริกัน เป็นครั้งแรกที่เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอิสระของคำว่า ‘freedom’ รอยสักที่อยู่บนหลังด้านขวาคู่กับรูปเข็มทิศเดินเรือและขนนก เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่คอยเตือนเราเสมอว่าให้ค้นหาความเป็นตัวเองให้เจอ และจงมีความสุขไปกับชีวิตที่เลือกเดิน

พี่คนไทยที่อยู่นิวยอร์กหลายสิบปีถามเราว่า “เราจะอยู่นิวยอร์กได้จริงๆ หรอ เราดูเป็นคนช้าๆ ใช้ชีวิตเรียบๆ ดูไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนที่นี่เลย” จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่พี่เค้าหรอกที่คิดแบบนี้ ตัวเราเองก็คิดเรื่องนี้อยู่ทุกวันเหมือนกัน

ความเจริญของเมืองทำให้นิวยอร์กกลายเมืองที่เร่งรีบ คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็เลยจำเป็นต้องทำทุกอย่างรีบเร่งไปหมด ไม่ว่าจะกินหรือเดิน จะว่าไป เราคงเป็นคนที่เดินช้าที่สุดในเกาะแมนฮัตตันแล้วมั้ง เวลาเดินเราชอบดูนั่นดูนี่ไปเรื่อยๆ จนจะเดินชนคนล้มอยู่บ่อยๆ

สิ่งที่เราค้นพบโดยบังเอิญอย่างหนึ่ง จากการที่ชอบนั่งมองคนเดินผ่านไปมา คือนิวยอร์กเกอร์มีเอกลักษณ์ประจำตัวในการเดิน แบบกึ่งเดินกึ่งวิ่ง ถ้าใครนึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงกีฬาเดินเร็ว ที่ผู้แข่งขันจะกึ่งเดินกึ่งวิ่งแบบนั้นเลย เราเคยวัดเล่นๆ ถ้าเราเดินแบบความเคยชินปกติกับนิวยอร์กเกอร์เดินน่าจะต่างกันอยู่ประมาณ 2 เท่าตัว เราไม่เคยไปเมืองไหนในโลกที่มีประชากรเดินเร็วเท่านี้มาก่อนจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแมนฮัตตัน

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

ด้วยความที่นิวยอร์กเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก การดำเนินชีวิตในเมืองจึงกลายเป็นการแข่งขันไปโดยปริยาย

นอกจากเรื่องเดินเร็วแล้ว ที่นี่มีคนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกัน เราไม่เคยเห็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธ์เท่านี้มาก่อนเลย เดินๆ ไปเราอาจจะเห็นคนเอเชียกับคนผิวสีเดินจู๋จี๋กัน หรือว่าบางกลุ่มที่เดินผ่านมา อาจจะมีเชื้อชาติครบจากทั่วโลกเลยก็ว่าได้ รวมไปถึงอาหารที่มีให้เลือกหลากหลายทุกสัญชาติ ทั้งอเมริกัน จีน เม็กซิกัน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งอาหารไทย ถือเป็นเรื่องใหม่ของเราจริงๆ นะ แล้วเราก็รู้สึกชอบมากๆ ด้วย มันให้ความรู้สึกเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพของที่นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเคารพ ไม่ว่าเราจะมาจากที่ไหน ผิวสีอะไร แต่ที่นี่ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันเสมอ

ส่วนคำถามที่ว่าเราเหมาะสมที่จะอยู่นิวยอร์กรึเปล่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกหน่อยในการพิสูจน์

นิวยอร์กมีความหลากหลายมากพอให้เราเลือกตักตวงโอกาสกลับไป แค่อย่าไปกลัวถ้าตัวเองเป็นคนเดินช้า ทั้งในชีวิตจริงและในความฝัน ถ้าความสำเร็จคือเป้าหมายในชีวิตเราก็ค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ ก็ได้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดก่อนก็พอ อย่ารีบร้อน ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกเหนื่อยก็แค่ลองหยุดวิ่งสักพัก แล้วลองเดินช้าๆ ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ค่อยกลับมาวิ่งใหม่ก็ยังไม่สาย เก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทางให้มีความสุขก็พอ ความฝันทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง และถ้ายังมีหวังเราก็จะมีกำลังใจที่จะลงมือทำความฝันนั้นเสมอ เข็มนาฬิกายังมีทั้งเข็มวินาที นาที และเข็มชั่วโมงเลย เราอาจจะเป็นแค่เข็มชั่วโมงที่เดินไปอย่างช้าๆ ทีละนิดๆ ดูเข็มอื่นๆ เค้าประสบความสำเร็จกันไปก่อน แต่ก็เอาน่า…อีกไม่นาน เข็มชั่วโมงก็ต้องถึงจุดหมายปลายทางได้เหมือนกัน

ป.ล. พอมาอยู่นิวยอร์กจริงๆ ทำให้ดูหนัง Begin Again สนุกขึ้นเยอะเลย

นิวยอร์กเกอร์สอนคนเดินช้าอย่างผมให้ออกวิ่ง

Writer & Photographer

Avatar

คณิศ ปิยะปภากรกูล

นักร้อง-นักแสดง ที่ผันตัวเองมาเป็น Youtuber เริ่มออกเดินทางตามความฝันการเป็นเชฟทำขนมมือใหม่