17 กันยายน 2022
12 K

ถ้าตั้งโจทย์ให้เราชาวไทยนึกชื่อเมืองหรือรัฐในมาเลเซียมาชื่อสักหนึ่ง ‘ปีนัง (Penang)’ คงมาแรงติดอันดับ 1 หรือ 2 ของยอดรวมคำตอบ

คงเป็นด้วยประเทศของเราผูกพันกับปีนังมายาวนาน ไม่ใช่แค่เพราะอยู่ใกล้พรมแดนไทยจนนักท่องเที่ยวบ้านเราชอบจับรถข้ามด่านจากสงขลาไปเริงร่าบนเกาะปีนังเป็นอาจิณ หากแต่เกาะเล็ก ๆ ในแหลมมลายูแห่งนี้ยังเคยเป็นดินแดนของสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกาะนี้จึงมีชื่อเป็นไทยว่า ‘เกาะหมาก’ ซึ่งแปลมาจากชื่อ ‘ปูเลาปีนัง (Pulau Pinang)’ ในภาษามลายูอีกด้วย

อดีตเกาะกลางทะเลอันดามันที่รกเรื้อด้วยต้นหมาก ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์เมื่ออังกฤษเลือกเช่าเกาะนี้ไว้เป็นเมืองท่าเสรีใน ค.ศ. 1786 เกาะปีนังเริ่มขยายตัวเป็นเมืองท่าชั้นเอกที่พร้อมอ้าแขนรับการมาเยือนของอาคันตุกะจากแดนไกล ผู้คนหลากเชื้อชาติทั้งจีน มลายู อินเดีย ตะวันตก ฯลฯ ดั้นด้นมาสร้างชีวิตใหม่โดยไม่ทิ้งรากเหง้าเดิมของตน ส่งผลให้ปีนังเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมหม้อใหญ่ ซึ่งควบรวมคนต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ ต่างวิถีชีวิต มาอาศัยอยู่ร่วมกัน

เห็นได้จากวัดวาอารามทั้ง 10 แห่งที่เลือกสรรมาทั้งความงาม ความเก่า และความขลัง ทั้งยังช่วยฉายภาพให้เห็นมรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของรัฐปีนังได้เป็นอย่างดี

01

Kek Lok Si Temple

วัดพุทธใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย

Kek Lok Si Temple วัดพุทธใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย

ท่ามกลางหุบเขาอันสลับซับซ้อนของเขตอาเยอร์อีตัม (Ayer Itam) บนเกาะปีนัง ยังมีอารามใหญ่ในพุทธศาสนาอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งนำพาผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายหมื่นคน

ประวัติของวัดใหญ่แห่งนี้ย้อนกลับไปได้ถึงปลายศตวรรษที่ 19 สมัยที่ พระอาจารย์เบี่ยวเลี่ยน ภิกษุจากมณฑลฮกเกี้ยนเดินทางมาจำพรรษาที่ปีนัง ท่านค้นพบเขาลูกหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายนกกระเรียนกำลังกางปีก ทำเลดีตามหลักฮวงจุ้ย จึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นบนเขาลูกนี้ พร้อมทั้งให้ชื่อเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า ‘เก๊กลกซี (Kek Lok Si)’ แปลว่า วัดแห่งแดนสุขาวดีพุทธเกษตร

การก่อสร้างเริ่มต้นใน ค.ศ. 1891 สิ้นสุดเมื่อ ค.ศ. 1905 เพียง 1 ปีก่อนที่พระอาจารย์เบี่ยวเลี่ยนจะมรณภาพ ในสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่สอง ทางวัดได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ คือ ‘เจดีย์หมื่นพุทธ’ ที่สูงถึง 100 ฟุต มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือส่วนล่างสร้างด้วยศิลปะจีน ส่วนกลางเป็นศิลปะไทย และส่วนยอดเป็นศิลปะพม่า เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพุทธศาสนาซึ่งไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือนิกายของผู้นับถือ

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

ด้วยเนื้อที่รวมทั้งสิ้นกว่า 30 เอเคอร์ ทำให้วัดเก๊กลกซีรั้งตำแหน่งวัดในพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียอย่างไร้คู่ท้าชิง นอกเหนือจากเจดีย์หมื่นพุทธอันโอฬาร ที่นี่ยังเนืองนองไปด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามอีกหลายหลัง ไม่ว่าจะเป็นหอพระโพธิสัตว์ หอเทวะ รวมถึงหอเก็บพระไตรปิฎก อันเป็นที่เก็บรักษาพุทธศิลป์ทั้งพระพุทธรูป จิตรกรรม งานแกะสลัก อื่น ๆ อีกมากมายสุดจะคณานับได้

จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่วัดเก๊กลกซีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับแรก ๆ ที่ผู้คนปักหมุดในใจเมื่อไปเยือนปีนัง ว่ากันว่างานฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนังก็จัดขึ้นที่วัดนี้ โดยทางวัดจะประดับโคมไฟนับพันดวงตลอดทุกค่ำคืนช่วงเทศกาล

ที่ตั้ง : Kek Lok Si Temple, 11500 Ayer Itam, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น.

02

Goddess of Mercy Temple

ศาลเจ้าแห่งแรกในปีนัง

รัฐปีนังเป็นรัฐเดียวในมาเลเซียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน ศาลเจ้าและวัดจีนที่นี่เลยมีมากกว่าศาสนสถานของคนเชื้อชาติศาสนาอื่น แต่ในบรรดาศาลเจ้าที่มีเยอะเป็นพะเรอเกวียนนั้น ยากจะหาศาลใดที่มีอายุอานามเทียบเคียงวัดแม่กวนอิมริมถนน Jalan Masjid Kapitan Keling ได้

ศาลเจ้าแม่กวนอิม หรือ ‘กวนยินเต้ง (Kuan Yin Teng)’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนสำเนียงปีนัง คือศาลเจ้าจีนที่เก่าที่สุดในปีนังเท่าที่มีการบันทึกไว้ ป้ายจารึกในศาลได้ระบุปีสร้างไว้ที่ ค.ศ. 1800 มีผู้สร้างเป็นชาวจีนกวางตุ้งและฮกเกี้ยนที่พำนักอยู่ปะปนกันในย่านนี้ เป็นเหตุให้ศาลนี้มีอีกชื่อว่า ‘กองฮกเกียง (Kong Hock Keong)’ หมายถึงศาลเจ้าของชาวกวางตุ้งและฮกเกี้ยน

Goddess of Mercy Temple ศาลเจ้าแห่งแรกในปีนัง

ร่ำลือกันว่าในอดีตเทพเจ้าที่เป็นประธานในศาลนี้คือ ‘เจ้าแม่มาจู่’ เทพีแห่งท้องทะเลผู้คุ้มครองชาวประมงและนักเดินเรือ แต่หลังการบูรณะครั้งหนึ่ง ชาวบ้านได้เปลี่ยนเทพประธานในศาลเป็นเจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้เปี่ยมเมตตาแทน

ไหว้ขอพรเจ้าแม่กวนอิมกันเสร็จแล้ว อย่าลืมสำรวจศาลให้ทั่ว เพราะที่นี่ยังมีทวยเทพให้กราบไหว้อีกมาก อาทิ เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าที่ตั่วแป๊ะกง และอีกหลายองค์ทั้งในคติพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า ความศรัทธาที่มหาชนมีต่อศาลเจ้าเก่าแก่แห่งนี้วัดได้จากธูปมังกรดอกยักษ์ที่มักถูกจุดจนควันโขมงทั้งวัน คนมาทำบุญเนืองแน่น ตลอดจนผู้ยากไร้ตั้งแถวรอรับทานจนเป็นภาพจำของที่นี่

ที่ตั้ง : 30 Jalan Masjid Kapitan Keling, 10200 George Town, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 08.00 – 18.00 น.

03

Khoo Kongsi

ศาลเจ้าประจำกงสีตระกูลคู

Khoo Kongsi ศาลเจ้าประจำกงสีตระกูลคู

กงสี’ ในความรู้สึกของคนไทยสมัยนี้อาจหมายความแค่ธุรกิจครอบครัวจีน

ทว่ากงสีในความหมายของมาเลเซียและสิงคโปร์คือบริษัทกึ่งสมาคมที่เกื้อกูลคนในวงศ์ตระกูลเดียวกัน ให้ลองภาพชาวจีนพลัดถิ่นจากแผ่นดินใหญ่ เมื่ออพยพมายังแดนโพ้นทะเลที่ห่างไกล ก็จำต้องมุ่งหน้าหาสมาคมตระกูลตนเองเพื่อยึดไว้เป็นที่พึ่ง

สกุลคู (Khoo Clan) ถือเป็น 1 ใน 5 แซ่ที่เรืองอิทธิพลอำนาจที่สุดในปีนังยุคอาณานิคม แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ กงสีของพวกเขาได้ชื่อว่าใหญ่โตและวิจิตรพิสดารที่สุดในประเทศ

ตำนานขานไขว่าผู้สถาปนาคูกงสีในปีนังได้สร้างอาคารกงสีหลังแรกของพวกตนใน ค.ศ. 1851 ด้วยรูปแบบทางศิลปะที่งามอย่างหาใดเปรียบ แต่แล้วอาคารหลังนั้นก็ถูกฟ้าผ่าจนไม่เหลือชิ้นดีในอีก 50 ปีให้หลัง ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นเพราะอาคารหลังนั้นสร้างออกมางามเทียมหน้าพระราชวัง สวรรค์จึงลงโทษค่าที่ไม่เจียมฐานะ ชาวสมาชิกคูกงสีจึงสร้างอาคารหลังใหม่ให้ลดระดับความอลังการลงมา

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

พึงระลึกว่ากงสีประจำตระกูลคูที่เห็นอยู่ในวันนี้คือหลังที่ถูกลดราความวิจิตรลงแล้ว หากเป็นหลังแรกที่มอดไหม้ไปจะสวยกว่านี้สักเพียงไหน

หอบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ดูเด่นด้วยเครื่องยอดหลังคาประดับกระเบื้องเคลือบและคานไม้ที่ล้วนสลักเสลาอย่างละเอียดลออด้วยน้ำมือช่างระดับปรมาจารย์จากเมืองจีน ภายในตั้งบูชาเทวทูตสวรรค์ ‘อ๋องซุ้นไต่ส่าย’ ซึ่งชาวจีนแคะแซ่คูในมณฑลฮกเกี้ยนนับถือเป็นเจ้าประจำตระกูล ป้ายวิญญาณของบรรพชนชาวสมาชิกกงสีผู้ล่วงลับก็จัดเรียงไว้ในอาคารหลังนี้เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันอาคารคูกงสีเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ใต้ส่วนที่เป็นศาลเจ้าจัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของตระกูลรวมถึงงานศิลปะภายในตัวอาคารอย่างหมดเปลือก

ที่ตั้ง : 18 Cannon Square, 10200 George Town, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 – 17.00 น.

ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 10 ริงกิต, เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 1 ริงกิต, เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่คิดค่าเข้าชม

04

Choo Chay Keong Temple

ศาลเจ้าประจำกงสีตระกูลยับ

Choo Chay Keong Temple ศาลเจ้าประจำกงสีตระกูลยับ

เทียบจากขนาดและสมาชิก กงสีของตระกูลยับ (Yap Kongsi) อาจดูต่ำต้อยเมื่อเทียบกับกงสีของตระกูลอื่นในปีนัง หากความงามทางศิลปกรรมที่ไม่ด้อยกว่าที่อื่น ประกอบกับทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่าจอร์จทาวน์อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ก็ช่วยเพิ่มความน่าเยี่ยมยลให้ที่นี่อีกเป็นกอง

แซ่ ‘ยับ (Yap)’ เป็นภาษาจีนแคะ เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า ‘เย่ (Ye)’ สำเนียงที่ใช้ออกชื่อบอกให้รู้ได้ว่า สมาชิกตลอดจนผู้ก่อตั้งกงสีนี้โดยมากเป็นชาวจีนแคะจากมณฑลฮกเกี้ยน อย่างไรเสีย กงสีสกุลยับก็เปิดรับพี่น้องร่วมแซ่ชาวแต้จิ๋ว กวางตุ้ง และไหหลำ ให้เข้ามาเป็นสมาชิกได้โดยไม่เกี่ยงงอน

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

ติดกับอาคารที่ทำการของยับกงสี คือศาลเจ้าจู่เจเกียง (Chu Chae Keong Temple) ภายในบูชาเทพเจ้าประจำตระกูลยับ นามว่า ‘หุ่ยเต๊กจุนอ๋อง’ ตัวศาลได้รับการบูรณะให้สวยงามในทศวรรษ 1990 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่เสาและผนังอาคารหินอ่อนที่สลักลายมังกรพันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ที่ตั้ง : 71 Lebuh Armenian, 10300 George Town, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 – 17.00 น.

05

Sri Mahamariamman Temple

วัดแขกเมืองจอร์จทาวน์

Sri Mahamariamman Temple วัดแขกเมืองจอร์จทาวน์

ตอนใต้ของย่านเมืองเก่าจอร์จทาวน์เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวอินเดียซึ่งมีประวัติยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย เป็นที่รู้จักในระดับสากลว่า ‘ลิตเติลอินเดีย (Little India)’ ชาวบ้านร้านถิ่นในย่านนี้เป็นชาวทมิฬ (Tamils) ย้ายถิ่นมาจากรัฐที่อยู่ใต้สุดของอินเดียรวมไปถึงศรีลังกาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ท่ามกลางกลิ่นเครื่องเทศหอมอวล สีสันสดสวยของแพรพรรณส่าหรี สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งบอกเล่าความเก่าแก่ของชุมชนอินเดียได้ดีที่สุดคงเป็น วัดศรีมหามารีอัมมัน (Sri Mahamariamman) เทวสถานฮินดูนิกายศักติ ได้รับการขนานนามว่าเป็นวัดฮินดูแห่งแรกในปีนัง

ผู้ใดเคยเห็นชื่อภาษาอังกฤษของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีที่ถนนสีลม คงพลอยสะดุดตากับชื่อวัดนี้ที่เหมือนกันทุกตัวอักษร นั่นเพราะทั้งสองวัดสร้างอุทิศแด่พระแม่มารีอัมมัน (Mariamman) เทวีแห่งฝนผู้ทรงขจัดปัดเป่าโรคฝีดาษ เป็นเทพท้องถิ่นที่ชาวทมิฬอินเดียใต้เชื่อว่าเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

แรกเริ่มวัดนี้เคยเป็นเพียงศาลบูชาขนาดเล็ก ไม่มีประวัติว่าสร้างโดยใครและเมื่อใด แต่น่าจะมีการทำพิธีบูชามาตั้งแต่ ค.ศ. 1801 เป็นอย่างช้า มาขยายเป็นวัดใหญ่โตเมื่อ ค.ศ. 1833 และที่มีสภาพเช่นปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการบูรณะครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 1933 อันเป็นปีที่วัดมีอายุครบศตวรรษ

เช่นเดียวกับ ‘วัดแขกสีลม’ ในกรุงเทพฯ วัดศรีมหามารีอัมมันแห่งนี้รังสรรค์ขึ้นด้วยศิลปกรรมของชนชาติทมิฬในอินเดียใต้ มีจุดสังเกตอยู่ที่ ‘โคปุระ’ หรือซุ้มประตูทางเข้าออก และ ‘วิมาน’ คือยอดอาคารที่ประดิษฐานเทวรูปชั้นใน ทำเป็นทรงสูงชะลูด ลงสีสันสดใส ประดับประดาด้วยรูปเทพเจ้า อสูร สิงสาราสัตว์

วัดศรีมหามารีอัมมันยังรักษาขนบธรรมเนียมเดิมของวัดฮินดูอยู่ คือจะเปิดประตูแค่ช่วงทำพิธีภาคเช้าและเย็น ทุกครั้งที่วัดเปิดจะมีชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียมาสักการะบวงสรวงจนแน่นขนัดราวกับมีงานประจำปี คนต่างศาสนาสามารถเข้าร่วมพิธีและเยี่ยมชมวัดได้ แต่พึงสำรวมกิริยาและงดถ่ายภาพภายในวัด

ที่ตั้ง : Lebuh Queen, 10450 George Town, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 06.30 – 12.00 น. และ 16.30 – 21.00 น.

06

Wat Chaiyamangalaram

วัดไทยที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3

Wat Chaiyamangalaram วัดไทยที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3

ตระเวนเที่ยววัดในศาสนาวัฒนธรรมอื่นมาหลายที่ ต่อมความคิดถึงบ้านในตัวชักจะกำเริบ เลยอยากนำท่านผู้อ่านที่รัก มาแวะพักกายใจในวัดที่ให้ความรู้สึกเหมือน ‘บ้าน’ มากที่สุด

ความที่ ‘เกาะปีนัง’ หรือ ‘เกาะหมาก’ เคยเป็นของสยามมาก่อน จึงมีชาวสยามอาศัยอยู่ไม่น้อย แม้ในวันที่ปีนังถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ใต้ธงยูเนียนแจ็กของจักรวรรดิอังกฤษ พี่น้องชาวสยามที่ภาษามลายูให้นามว่า ‘โอรัง เซียม (Orang Siam)’ ก็ยังอยู่ที่นั่น สืบสานวิถีความเป็นอยู่อย่างชาวไทยพุทธสืบมาจนวันนี้

ย้อนไปใน ค.ศ. 1795 ที่อังกฤษเพิ่งครอบครองปีนังได้ไม่นาน มีรายงานว่าบนเกาะมีชาวสยามที่นับถือพุทธอยู่ถึง 40,000 ชีวิต เพื่อรอมชอมกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์ที่เคยปกครองปีนังและคนเหล่านี้มาก่อน สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ จึงพระราชทานที่ดินให้ชาวสยามตั้งชุมชนอยู่

วัดไชยมังคลารามสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2388 ตรงกับช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายใต้การนำของพระสงฆ์นามว่า พ่อท่านกรวด มีรูปหล่อปิดทองของท่านอยู่หน้าพระอุโบสถ

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

ความน่าตื่นตาของวัดนี้อยู่ที่วิหารพระนอนซึ่งปากทางเข้าเรียงรายด้วยประติมากรรมไทย เริ่มด้วยพญานาคเจ็ดเศียร กินนร มังกร ยักษ์เฝ้าประตู ดุจดังเฝ้าอารักขาพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ จากยอดพระเศียรถึงพระบาทวัดความยาวได้ 33 เมตร ได้รับการถวายพระนามว่า ‘พระพุทธชัยมังคลาราม’ โดย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อคราวเสด็จประพาสปีนังเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2505

เมื่อก่อนพระพุทธรูปองค์นี้เคยเป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ทว่าภายหลังเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาว 40 เมตรที่รัฐกลันตัน พระพุทธชัยมังคลารามจึงตกอันดับไป

ถ้าไม่นับชาวสยามหรือชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่เป็นผู้สร้างวัดแล้ว วัดไทยแห่งนี้ยังได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูโดยชาวพม่า ชาวจีน รวมถึงชาวอินเดียผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย เหตุนี้วัดไชยมังคลารามจึงคับคั่งด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ ไม่ใช่แค่ชาวสยามในปีนังเท่านั้น

ที่ตั้ง : 17 Lorong Burma, 10250 Georgetown, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 06.00 – 17.30 น.

07

Dhammikarama Burmese Temple

วัดพม่าหนึ่งเดียวในปีนัง

Dhammikarama Burmese Temple วัดพม่าหนึ่งเดียวในปีนัง

ไทยกับเมียนมาอยู่ติดกันฉันใด วัดไทยกับวัดพม่าในปีนังก็อยู่ใกล้กันฉันนั้น เพียงเดินข้ามถนนที่อยู่หน้าวัดไชยมังคลารามของชาวสยามไปไม่กี่ก้าว ก็จะพบวัดธัมมิการามของชาวพม่าตั้งเด่นอยู่ในสายตา

จุดกำเนิดของวัดธัมมิการามสืบไปได้ถึง ค.ศ. 1803 นำมาซึ่งสถิติต่าง ๆ มากมาย อาทิ วัดพม่าที่เก่าที่สุดในมาเลเซีย วัดพม่าแห่งเดียวในรัฐปีนัง และวัดพุทธที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งของที่นี่

แม้จะตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดไทยที่สร้างขึ้นภายหลัง หากทว่าศิลปะการตกแต่งของวัดทั้งสองแห่งชี้ชัดอยู่ในตัว โดยศิลปะภายในวัดธัมมิการาม ทั้งตัวสถาปัตย์ จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศิลป์บนองค์พระพุทธรูป จะแบบพม่าแท้ ๆ มีสิงห์เฝ้าขนาบข้างประตูวิหารสำคัญ รูปเคารพภิกษุณีคนสำคัญซึ่งไม่ได้รับความนิยมในวัฒนธรรมไทย ตลอดจนสัตว์ในตำนานอย่าง ‘พญาลวง’ ที่ดูคล้ายคชสีห์ หากมีปีกและขา 4 ข้าง

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

จุดเด่นที่น่าไปชมของวัดนี้มีอยู่ด้วยกันหลายที่ เป็นต้นว่าสถูปเก่าแก่อายุกว่า 2 ศตวรรษตั้งเคียงข้างหอระฆังทองคำที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ ค.ศ. 2011 วิหารพระอุปคุตที่อยู่กลางน้ำ ภาพนูนสูงเล่าพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกบรรพชา พระพุทธรูปปางประทานพรยืนองค์โตในพระวิหารใหญ่ ล้อมรอบด้วยผนังแกะสลักพระพุทธรูปองค์เล็กจนลายพร้อยไม่เหลือที่ว่าง หรือหากจะเดินชมภาพพุทธประวัติตั้งแต่ก่อนประสูติจนกระทั่งปรินิพพานที่วาดรูปผู้คนให้แต่งองค์ทรงเครื่องแบบชาวพม่ารามัญก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่เบาทีเดียว

ที่ตั้ง : 24 Jalan Burma, Pulau Tikus, 10250 George Town, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 06.00 – 17.00 น.

08

Snake Temple

ศาลเจ้าจ้อซูก้งที่เต็มไปด้วยอสรพิษ

Snake Temple ศาลเจ้าจ้อซูก้งที่เต็มไปด้วยอสรพิษ

หากคุณรู้ตัวว่าเป็นคนไม่ถูกโรคกับสัตว์ไม่มีขา ลิ้นบิ่น 2 แฉก แนะนำให้เลื่อนผ่านศาลนี้และภาพประกอบด้านล่างไปให้ไวที่สุด ก่อนจะหาว่าไม่เตือน

กลางศตวรรษที่ 19 มีพระภิกษุชาวจีนเดินทางมายังตอนใต้ของเกาะปีนัง ที่นั่นท่านได้สร้างศาลเจ้าเพื่อเซ่นไหว้และรำลึกถึงคุณความดีของ พระอาจารย์เฉ่งจุ้ยจ้อซู (จ้อซูก้ง) พระสงฆ์สมัยราชวงศ์ซ่งที่ชาวมณฑลฮกเกี้ยนเคารพศรัทธากันมาก

เพราะเหตุที่ศาลเจ้าจ้อซูก้งตั้งอยู่ใกล้ป่ารกชัฏ วันดีคืนดีก็มีงูโผล่มาให้เห็น และทวีปริมาณมากขึ้นทุกที ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเพราะเมตตาของพระอาจารย์จ้อซูก้งที่มีให้เหล่าอสรพิษ เลยชวนกันเลี้ยงดูงูที่เลื้อยลอดเข้ามาเป็นอย่างดี ที่นี่จึงได้รับสมัญญาใหม่ว่า ‘ศาลเจ้างู’ โดยปริยาย

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

เกือบ 200 ปีที่ล่วงมา ศาลเจ้างูได้ให้ที่พักพิงแก่งูหลายชั่วรุ่น งูที่พบที่นี่โดยส่วนใหญ่เป็นงูเขียวตุ๊กแก ซึ่งเป็นสายพันธุ์งูเฉพาะถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชื่อเสียงของงูในศาลนี้ก็เด่นดังถึงขนาดที่งูเขียวตุ๊กแกได้รับฉายาว่า ‘Temple Viper’ ค่าที่พบมากในศาลเจ้านี้ 

นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทพ ชื่อเสียงอีกด้านที่ลือเลื่องไม่ต่างกันคือเหล่าสัตว์มีพิษที่พบได้ดาษดาทั้งภายในและภายนอกศาล ตามแท่นบูชาและเสาต่าง ๆ มักมีห่วงคล้องให้งูเขียวตุ๊กแกเลื้อย ซึ่งทางศาลยินยอมให้ผู้ไปเยือนเข้าใกล้งูได้ แต่ห้ามทำอันตรายต่องูเป็นอันขาด

อนึ่ง ในบริเวณศาลเจ้ายังมีฟาร์มงูเป็นแหล่งรวบรวมงูกว่า 50 สายพันธุ์อีกด้วย

ที่ตั้ง : Jalan Sultan Azlan Shah, Bayan Lepas Industrial Park, 11900 Bayan Lepas, Pulau Pinang. (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 06.00 – 19.00 น.

ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 5 ริงกิต เด็ก 3 ริงกิต (เฉพาะฟาร์มงู)

09

Hean Boo Thean Temple

ศาลเจ้าแม่กวนอิมคอนกรีตเหนือน้ำทะเล

Hean Boo Thean Temple ศาลเจ้าแม่กวนอิมคอนกรีตเหนือน้ำทะเล

เกาะปีนังยังมีสถานที่น่าพิศวงอีกมากมายจนยากจะสาธยายได้ครบหมด อีกหนึ่งละแวกที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง คือ Jetty หมู่บ้านชาวประมงโบราณนอกชายฝั่งทิศตะวันออก

นานกว่าร้อยปีแล้วที่ชาวจีนฮกเกี้ยนหลากภูมิลำเนาชวนกันมาทำประมง ณ ที่แห่งนี้ แต่ละตระกูลเกาะกลุ่มกันแน่นเหนียว ปลูกเรือนไม้ใกล้ชิดกับคนบ้านเดียวกัน นำไปสู่การจัดตั้งหมู่บ้านประจำแซ่ที่นานวันยิ่งหนาแน่นจนยื่นล้ำลงไปในทะเล แบ่งเป็นหมู่บ้านของคนจีนแซ่ต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 6 หมู่บ้าน

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

ศาลเจ้าเฮียนบู๊เตียนตั้งอยู่ริมน้ำบนพื้นที่ถมของหมู่บ้านคนแซ่เอี๋ยว (Yeoh Jetty) สร้างขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1972 เป็นเพียงศาลเล็ก ๆ บนเสาไม้เหนือท้องน้ำ หากเมื่อใดที่น้ำทะเลหนุนสูงก็มักถูกน้ำท่วมขัง เป็นปัญหาเรื้อรังอยู่นานปี ล่วงถึง ค.ศ. 2011 คนในชุมชนจึงดำเนินการสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ และต่อขยายพื้นคอนกรีตที่ทนทานด้วยทุนทรัพย์กว่า 1.5 ล้านริงกิต

เทพเจ้าผู้เป็นประธานในศาลคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมตามความเชื่อของชาวจีน ซึ่งมองเห็นได้ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าวิหารกลาง ด้านในเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าจีนหลายสิบองค์ซึ่งจัดวางลดหลั่นกันตามยศถาบรรดาศักดิ์ ตัวอย่างเช่น พระจี้กง เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ (เจ้าพ่อเสือ) ไต่เสี่ยหุกโจ้ว (เจ้าพ่อเห้งเจีย) และตั่วแป๊ะกง (เจ้าที่) เป็นต้น

ที่ตั้ง : 52 Weld Quay, 10300 George Town, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

10

Butterworth Nine Emperor Gods Temple

ศาลดาวนวจักรพรรดิแห่งบัตเตอร์เวิร์ธ

ศาลดาวนวจักรพรรดิแห่งบัตเตอร์เวิร์ธ Butterworth Nine Emperor Gods Temple

รัฐปีนังในปัจจุบันไม่ได้มีแค่เกาะปีนัง หากยังกินพื้นที่ไปถึงฝั่งแผ่นดินตรงข้ามกันด้วย

ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเดินทางมาถึงเขตบัตเตอร์เวิร์ธ (Butterworth) บนฝั่งแผ่นดินเพียงเพื่อขึ้นเรือข้ามฟากไปฝั่งเกาะเท่านั้น ทว่าในรอบ 20 ปีหลัง บัตเตอร์เวิร์ธไม่ได้เป็นแค่ทางผ่านอีกต่อไป เนื่องจากผู้คนมากหน้าหลายตาได้ปักหมุดไปยัง ‘Butterworth Nine Emperor Gods Temple’

‘Nine Emperor Gods’ ที่ภาษาฮกเกี้ยนนิยมเรียกว่า ‘กิ้วอ๋องเอี๋ย’ หรือ ‘กิ้วอ๋องไต่เต่’ คือเทพเจ้า 9 องค์ซึ่งเป็นตัวแทนของดาว 9 ดวงในกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ ชาวจีนบางถิ่นเชื่อกันว่าทั้ง 9 พระองค์จะเสด็จมาเยือนโลกมนุษย์ต้นเดือน 9 ของทุกปี เกิดเป็นประเพณีถือศีลกินเจเดือน 9 อันลือชื่อ

10 วัดน่าเที่ยวในปีนัง รัฐพหุวัฒนธรรมแห่งมาเลเซียที่มีครบทั้งวัดจีน อินเดีย พม่า ไทย

ในขณะที่ภาษาสากลนิยมเรียกศาลเจ้าแห่งนี้ด้วยชื่อดาวจักรพรรดิ 9 องค์ คนท้องถิ่นกลับนิยมเรียกที่นี่ว่า เต้าโบ้เก้ง (Tow Boo Kong) อันสื่อถึงพระแม่แห่งดวงดาวทั้ง 9 ดวงนี้ จะเรียกด้วยชื่อใดก็ตามแต่ เป็นที่รู้กันว่าศาลเจ้านี้เริ่มสร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1971 ก่อนจะมีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อต่อเติมเรื่อย ๆ กระทั่งแล้วเสร็จในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 2000 ด้วยทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 7 ล้านริงกิตในสมัยนั้น

ทุก ๆ ครั้งที่เดือน 9 ในปฏิทินจีนเวียนมาบรรจบ ศาลเจ้าซึ่งขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดบนฝั่งแผ่นดินรัฐปีนังจะแลลานไปด้วยคลื่นมหาชนในชุดสีขาวที่ตบเท้าเข้ามาประกอบพิธีถือศีลกินผักกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน สร้างบรรยากาศแก่บัตเตอร์เวิร์ธให้มีชีวิตชีวาไม่น้อยหน้าฝั่งเกาะ

ที่ตั้ง : 894-896, MK14, Jalan Raja Uda, 12300 Butterworth, Pulau Pinang (แผนที่)

เวลาทำการ : ทุกวัน 08.00 – 22.00 น.

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย