“…ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู…”

กว่า 16 ปีแล้วที่คนไทยคุ้นเคยกับประโยคนี้ของรายการวาไรตี้ยอดนิยม ‘ตีท้ายครัว’

และแน่นอน สิ่งที่หลายคนนึกตามทันที ก็คือความสนุกสนานของเหล่าบรรดาพิธีกร หนุ่ม-โอ๋-อาร์ต-มดดำ ที่ต่างยิงมุกใส่กันแบบไม่ยั้ง ถึงขั้นที่หลายคนบอกว่า แค่ดูพิธีกรอย่างเดียวก็เกินคุ้มแล้ว

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งจะกุมหัวใจผู้ชมได้ยาวนานเช่นนี้ จนกลายเป็นกิจวัตรของหลาย ๆ บ้านที่พอถึงวันอาทิตย์ เวลาบ่าย 2 โมง 15 นาที ก็ต้องเปิดช่อง 3HD พร้อมรอชมว่า แก๊งพิธีกรจะพาผู้ชมไปลัดเลาะเยี่ยมบ้านคนดังคนไหน

เพื่อค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ตีท้ายครัว กลายเป็นตำนาน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน จ๋า-ยศสินี ณ นคร หนึ่งในทีมผู้จัด มาร่วมเปิดบ้าน ‘เงาะถอดรูป’ กันแบบทุกซอกทุกมุม แล้วคุณจะรู้จัก ตีท้ายครัว มากกว่าที่คิด

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู
01

ปฏิบัติการเงาะถอดรูป

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นยุคที่วงการโทรทัศน์ไทยเฟื่องฟูและแข่งขันกันอย่างดุเดือด เกิดผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เต็มไปหมด

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เงาะถอดรูป จำกัด ซึ่งมีที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตละครของไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวน 7 คน คือ ต้น-ณฐนนท์ ชลลัมพี, นก-จริยา จริยา แอนโฟเน, ดุ๊ก-ภาณุเดช วัฒนสุชาติ, จ๋า-ยศสินี ณ นคร, แอ๊น-ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ ฯลฯ โดยได้รับเวลาจากทางสถานีทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.45 น.

เดิมทีเวลานี้เคยเป็นของรายการ ทไวไลท์โชว์ มาก่อน แต่ต่อมารายการโยกย้ายไปออกอากาศทาง ITV ช่อง 3 จึงพยายามหารายการใหม่มาทดแทน ทว่าก็ยังไม่มีรายการที่ลงตัวสักที

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

ประวิทย์ มาลีนนท์ นายใหญ่ของช่อง 3 เวลานั้น อยากให้โอกาสคนในช่องได้เติบโตบ้าง จึงเกิดการชักชวนต่อ ๆ กันในกลุ่มผู้จัดละคร เริ่มตั้งแต่ ต้น ซึ่งเป็นผู้จัดละครของค่ายชลลัมพี ซึ่งชักชวน ดุ๊ก ที่คุ้นเคยกันมานาน เพราะนอกจากเป็นนักแสดงแล้ว ในขณะนั้นดุ๊กยังทำงานเบื้องหลังเป็นโค้ชการแสดงและดูแลโปรดักชันให้กับค่ายชลลัมพี

ต่อมาต้นก็เริ่มชวนแอ๊น ซึ่งนักเขียนบทมือเก๋านามปากกา ‘ปราณประมูล’ และร่วมงานกับชลลัมพีมาเป็นสิบปี ส่วนดุ๊กก็ชวน จ๋า ซึ่งเป็นลูกสาวของ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช จ๋าเพิ่งกลับมาเมืองไทย และช่วยคุณแม่ดูแลเรื่องการผลิตละคร จากนั้นก็มีการชวนกันไปมาจนกระทั่งได้ทีมที่สมบูรณ์

“จ๋ากับพี่ดุ๊กสนิทกันตั้งแต่สมัยจ๋าเรียนแล้ว ตอนอยู่ที่อเมริกา พี่ดุ๊กก็มาเยี่ยมตลอด แล้วพี่ดุ๊กก็สนิทกับพี่ต้นซึ่งเป็นผู้จัดละครอยู่ช่อง 3 เหมือนกัน แต่ตอนนั้นจ๋ากับพี่ต้นยังไม่รู้จักกัน พอกลับมาจากอเมริกา พี่ดุ๊กก็มาชวนบอกว่า จ๋า พี่ต้นเขาชวนพี่ทำรายการ อยากชวนจ๋ามาทำด้วยกัน”

ครั้งนั้นสิ่งที่พวกเขาสนใจอยากทำคือ รายการประเภท Makeover หรือรายการแปลงโฉมสิ่งต่าง ๆ ทั้งคน อาหาร สถานที่ ซึ่งเป็นรูปแบบรายการที่กำลังเติบโตในเมืองนอกอย่างมาก แต่ในเมืองไทยยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงนำไอเดียนี้มาผลิตจนเกิดเป็น ‘เงาะถอดรูป’ รายการที่เปรียบเสมือนเจ้าเงาะที่ถอดรูปออกมาเป็นสังข์ทองรูปงาม

“ตอนนั้นคิดเยอะมากเลยว่าอยากทำรายการอะไร คุณประวิทย์นั่นแหละที่บอกว่า ถ้าจ๋าบอกผมว่า อยากทำรายการอะไร แล้วพูดชื่อรายการที่มีอยู่แล้ว 5 รายการได้ จ๋าไม่ต้องทำ เพราะคุณจะไม่ได้เป็น Top 5 พอดีตอนนั้นจ๋าจบด้านอาหารก็อยากทำรายการด้านนี้ ส่วนพี่ดุ๊กอยากทำรายการ Makeover เราก็เลยนำคอนเซ็ปต์มารวมกัน โดยนำเสนอการ Makeover 3 อย่าง โดยจ๋าดูแลเรื่องอาหาร พี่ดุ๊กดูแลเรื่องตกแต่งบ้าน และพี่นกดูแลเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมต่าง ๆ ให้แขกรับเชิญ”

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

เงาะถอดรูป ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยพวกเขาได้ไปช่วยแปลงโฉม ป้าทองร้อย สุภาลี แม่ค้าขายส้มตำข้างเวทีมวยลุมพินี พร้อมทำเซอร์ไพรส์ให้ ลุงสังวาล สามีพาไปดินเนอร์ร้านดัง

แม้จะคร่ำหวอดในวงการละครมานาน แต่สำหรับรายการทีวีนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ของทีมงาน จ๋าจำได้ดีว่า เทปแรกพวกเขาใช้ฟุตเทจถึง 21 ม้วนเทป เพราะไม่รู้ว่าควรถ่ายมามากน้อยเพียงใด ถึงจะพอดีกับระยะเวลาการออกอากาศครึ่งชั่วโมง

“เราต้องแบ่งทีมเป็น 3 ทีม ตามพี่ดุ๊กทีมหนึ่ง ตามพี่นกทีมหนึ่ง ตามจ๋าอีกหนึ่ง ซึ่งของเราจะใช้เวลาประมาณ 2 วันถึงถ่ายเสร็จ เพราะอาหารนั้นไม่ได้ยุ่งยากมาก หรือพี่นกก็ทำได้ภายใน 1 วัน แต่อย่างพี่ดุ๊กเนี่ยเราต้องใช้ดำเนินงานเต็มที่ 7 วันเลย เพราะต้องลงพื้นที่ไปปรับปรุงสถานที่จริง ๆ”

แต่ถึงจะเหนื่อยเพียงใด สิ่งที่ได้รับกลับมากลับเปี่ยมไปด้วยคุณค่า โดยเฉพาะคำขอบคุณจากผู้คนที่พวกเขาช่วยเหลือ เนื่องจากแต่ละสัปดาห์จะมีจดหมายจากทางบ้านหลั่งไหลเข้ามาขอความช่วยเหลือ 

กรณีหนึ่งที่โด่งดังมากในโลกออนไลน์ คือ ตอนที่พวกเขาช่วยปรับปรุงร้านหอยทอดเจ้าเด็ดที่อุดมสุข ซึ่งสภาพร้านทรุดโทรมอย่างมาก พวกเขาจึงเข้าไปช่วยยกเครื่องร้านใหม่หมด ตั้งแต่ทาสีโต๊ะ ขัดตู้เย็น ทาสีผนัง ติดแชนเดอเลียร์ ไปจนถึงทำป้ายร้าน จนกลายเป็นร้านที่สวยงาม และมีลูกค้าเข้ามารับประทานเต็มไปหมด หรืออย่างบางบ้านที่มีลูกป่วยติดเตียง อยากให้ทีมงานช่วยตกแต่งบ้านให้ใหม่ พวกเขาก็ต้องประสานไปยังโรงพยาบาลให้ช่วยรับตัวผู้ป่วยชั่วคราว ก่อนจะเข้าไปจัดการแปลงโฉมบ้าน

สำหรับทีมผู้จัดงานแล้ว เงาะถอดรูป คือห้องเรียนที่ทำให้พวกเขาเข้าใจการทำรายการวาไรตี้อย่างถ่องแท้ และกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตรายการต่อ ๆ ไป

“ตอนนั้นเรามีคนรับผิดชอบทุกอย่างเลย ยกเว้นฝ่ายขาย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อน เราก็ต้องเรียนรู้วิธีไปคุยกับเอเจนซี่ ต้องมีสติ พูดชื่อสินค้าให้ถูก”

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

แต่ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา หลังทำมาได้เกือบปี นายใหญ่ของช่อง 3 ในเวลานั้นก็อดถามทีมงานด้วยความเป็นห่วงไม่ได้ว่า ยังทำกันไหวหรือเปล่า

“คุณประวิทย์ถามว่ากำไรเท่าไหร่ ถ้าไม่ถึง 200,000 บาท คุณมาเอาจากผม เอาเวลาคืนมา แล้วคุณไปทำอย่างอื่นเพราะมันไม่คุ้ม แล้วมันก็ถึงจุดที่เรามองหน้ากันว่า เราทำแบบนี้ได้จริง ๆ เหรอ เพราะทุกคนก็มีภาระอื่นหมดเลย คือเราต้องฝึกทำงานที่ไม่ต้องหนักมาก แต่เลี้ยงตัวเราได้บ้าง อีกอย่างคือ รายการแบบนี้มันมีจุดอิ่มตัว เราจะ Makeover กันไปได้สักแค่ไหน”

หลังออกอากาศมาได้ 40 กว่าเทป พวกเขาทั้ง 7 คนก็ตัดสินใจปิดฉาก เงาะถอดรูป โดยหุ้นส่วนบางคนขอถอนตัวออกไป จนเหลือเพียง 3 คน คือ ดุ๊ก ต้น และจ๋า ที่ยังคงจับมือทำรายการด้วยกันต่อไป

02

เปิดบ้านตีท้ายครัว

เมื่อ เงาะถอดรูป ต้องปิดตัว แต่ ดุ๊ก ต้น และจ๋า ยังมีไฟอยากผลิตรายการโทรทัศน์อยู่ พวกเขาจึงต้องพยายามหาโจทย์ใหม่ ๆ ที่ทำได้ไม่ยาก แต่ฉีกแนวจากรายการทั้งหมดที่มีอยู่ในท้องตลาด

พอดีช่วงนั้นกระแสปาปารัสซีกำลังเติบโตสุดขีด นิตยสารแอบถ่าย ขายข่าวฉาวดาราวางแผงกันเกลื่อน ในฐานะที่คลุกคลีกับคนในวงการมายามานาน ทั้งสามรู้สึกว่าควรทำรายการที่เผยให้เห็นมุมน่ารัก หรือเรื่องดี ๆ ของเพื่อนร่วมอาชีพบ้าง และหากมีข่าวไม่ดีเกิดขึ้น ก็มาใช้พื้นที่รายการแก้ข่าวได้

ระหว่างที่ปรึกษากำลังหารืออยู่นั้น ก็มีคนเสนอไอเดียว่า น่าจะทำรายการเยี่ยมบ้าน โดยแทนที่พาไปดูว่าบ้านหลังนี้มีอะไรบ้าง ก็เปลี่ยนมานำเสนอบรรยากาศสบาย ๆ เหมือนเพื่อนฝูงมาเจอกัน และเน้นความเป็นกันเองให้มากที่สุด ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมเห็นตรงกัน

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ตีท้ายครัว’ รายการที่มาพร้อมกับสโลแกนสุดแหวก ‘ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู’ 

“สมัยนั้นรายการแบบ ตีท้ายครัว ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะมาแนวจริงจังแบบ สวัสดีครับ นี่เป็นบ้านของคุณคนนี้นะครับ นี่คือห้องรับแขก คือเหมือนแขกไปเยี่ยมบ้าน แล้วทุกอย่างเป็นทางการหมดเลย แต่ของเราไม่ทำอย่างนั้น เราถือว่านี่คือเพื่อน เราต้องการไปใช้ชีวิตกับคุณ ไปดูว่าคุณกินอยู่หลับนอนอย่างไร แล้วเราไม่ต้องการให้รายการมีแบบแผนอะไรทั้งนั้น อะไรที่เป็นกฎเกณฑ์ เราพร้อมฉีกได้หมด”

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

เนื้อหาของรายการแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ ‘ลัดเลาะรอบบ้าน’ เป็นการเกริ่นนำสถานที่และแขกรับเชิญ ‘ย่องเบาเข้าไปบ้าน’ เป็นช่วงที่แขกรับเชิญพาสำรวจรอบบ้าน ‘ตีท้ายครัว’ นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัว บางทีก็มีการทำอาหารร่วมกัน และ ‘แอบแทงข้างหลัง’ เป็นการเชิญบุคคลใกล้ชิดมาเซอร์ไพรส์แขกรับเชิญ และพูดคุยเรื่องส่วนตัวที่คนอาจไม่เคยรู้มาก่อน แต่ถึงอย่างนั้นทุกอย่างก็ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ตลอดตามความเหมาะสม

เมื่อได้รูปแบบรายการคร่าว ๆ ก็มาถึงโจทย์ใหญ่อย่างพิธีกร ซึ่งพวกเขาอยากได้คนที่สนุกสนาน เฮฮา อารมณ์ดี และน่าจะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้แขกรับเชิญได้ โดยคู่แรกที่นำเสนอขึ้นมาก่อนคือ หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย และ โอ๋-ภัคจีรา วรรณสุทธิ์ ซึ่งเวลานั้นทั้งคู่กำลังโด่งดังสุดขีดในฐานะคู่สองของละครเรื่อง อุ้มรัก รองจาก เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และ แอน ทองประสม การได้ทั้งคู่มาร่วมงาน จึงเท่ากับช่วยต่อยอดกระแสนิยมให้ช่องโดยปริยาย

จากนั้นก็มีการเสนอ กอล์ฟ-เบญจพล เชยอรุณ นักแสดงอารมณ์ดี และ อาร์ต-พลังธรรม กล่อมทองสุข ซึ่งความจริงแล้วเป็นนักแสดงที่สนุกสนาน เพียงแต่คนทั่วไปอาจจะไม่เคยสัมผัสด้านนี้มาก่อน

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

“ชื่อพี่กอล์ฟมาจากการที่พี่ต้นอยากให้มีคนที่สนุกสนาน ตลก พูดเก่ง ๆ มาช่วยห่อหุ้มรายการ เพราะโอ๋เคยเป็นแต่พิธีกรรายการสคริปต์ ส่วนพี่หนุ่มก็เหมือนกัน แต่นี่มันคือพิธีกรสนามเลยจริง ๆ คือไปแบบต้องใช้สกิลล์พิธีกรเยอะ เราก็รู้สึกว่าพี่กอล์ฟจะช่วยได้เยอะ ขณะที่พี่อาร์ตก็จะเป็นคนคอยตบ และหากต้องมีการแสดง พี่อาร์ตจะเป็นคนทำ เพราะพี่อาร์ตร้องเพลงได้ เต้นได้ เล่นลิเกได้ รวมถึงพูดสปอนเซอร์ต่าง ๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ” 

หลังนำเสนอรูปแบบรายการต่อสถานี ตีท้ายครัว ก็ได้รับการอนุมัติทันที โดยเทปแรกออกอากาศ ในวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2549 ด้วยการพาไปพูดคุยกับคู่รักนักแสดง นก-ฉัตรชัย และ นก-สินจัย เปล่งพานิช ซึ่งแทบไม่เคยเปิดบ้านให้รายการไหนมาก่อน

แน่นอนการที่ผู้คนในวงการบันเทิงจะยินยอมเปิดบ้านของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ หากต้องมาจากความไว้วางใจและความรู้สึกสบายใจเป็นสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้จัดรายการทั้งสามมีข้อได้เปรียบ เพราะคลุกคลีและคุ้นเคยกับเหล่านักแสดงมายาวนาน

“เวลาติดต่อแขกเราก็ติดต่อเองนะ เพราะพอเป็นเราโทรเอง คุยเอง แขกจะรู้สึกสบายใจกว่า พี่ หนูอยากรบกวนหน่อย ตีท้ายครัวบ้านได้ไหม ถามตรง ๆ เลยแต่เราก็จะแบบ ถ้ายังไม่พร้อม เขาก็จะบอก แต่ถ้าเขาโอเค แต่มีข้อจำกัด เช่น ไม่ถ่ายห้องนอนได้ไหม ขอแค่ตรงนี้แล้วกัน ก็ไม่เป็นไร เราเข้าใจข้อจำกัดของทุกคน อีกอย่างคือด้วยความที่เราเป็นผู้จัดละคร แขกรับเชิญจึงค่อนข้างมั่นใจว่า เราจะไม่นำเสนอเรื่องไม่ดีของเขาแน่นอน เพราะเรามีหน้าที่ดูแลนักแสดงอยู่แล้ว”

หากสิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่ช่วยให้รายการมีสีสันและเสน่ห์ คือบรรยากาศที่ดูสนุกและเป็นกันเอง

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

สังเกตได้ตั้งแต่การเปิดรายการ ซึ่งไม่ได้เข้าตามตามตรอกออกตามประตูจริง ๆ เช่น บางทีบ้านนี้ห้องน้ำสวย รายการก็เปิดที่ห้องน้ำ หรือบ้านนี้ตู้เสื้อผ้าดี พิธีกรก็ออกมาจากตู้เสื้อผ้า อย่างเทปแรก พวกเขาเปิดรายการโดยให้เหล่าพิธีกรทำตัวเหมือนปีนรั้วเข้ามาในบ้าน แล้วไปทักทาย นก สินจัย กับลูกชายที่กำลังช่วยกันทำสวนอยู่ด้านหน้า

 แน่นอน เบื้องหลังนั้นมาจากการทำการบ้านอย่างหนักของทีมผู้จัดและทีมงานโปรดักชัน อย่าง ที-เรค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ซึ่งแต่ละสัปดาห์จะต้องมานั่งประชุมกันเพื่อวางแผน วางโครงสร้างสคริปต์คร่าว ๆ ว่า พิธีกรควรดำเนินรายการไปในทิศทางไหน นำข้อมูลอะไรมาตัวชูโรงได้บ้าง และแขกเซอร์ไพรส์ควรเป็นใคร จะเข้ามาเติมความสนุกของการพูดคุยได้อย่างไร

“เราไม่ได้เขียนคำถามชัดเจน แต่เราจะบอกว่า ช่วงนี้อยากฟังเรื่องนี้จากคนนี้ จากนั้นก็อาศัยความลื่นไหลของพิธีกรกับบรรยากาศหน้างานเป็นหลัก ซึ่งข้อดีคือนักแสดงส่วนใหญ่มักจะสนิทกับพิธีกรสักคน 1 ใน 4 คนนี่ล่ะ ทำให้ดูเป็นธรรมชาติ หากวิเคราะห์ดูรายการเรามีความเรียล มีความเป็นออนไลน์ตั้งแต่ไหนแต่ไร เราไม่ใช่รายการเปิดบ้านแบบ Traditional แต่เป็นวาไรตี้ที่แปลก ณ วันนั้น อย่างพิธีกรบางทีก็หลับ จำได้ช่วงที่ไปบ้าน พี่เอ-อนันต์ บุนนาค กับ อ้น-ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์ พี่หนุ่มนั่งหลับ พี่เอต้องบอกว่า หนุ่มฟังกูหน่อย หรือบางทีคนนี้มาช้า ก็ไม่เป็นไร ถ่ายกันไปก่อน จนแขกรับเชิญงง เข้ามาตอนไหน

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

“แต่ถึงอย่างนั้น เราก็จะวางบทบาทของพิธีกรแต่ละคนไว้ประมาณหนึ่ง เช่น พี่กอล์ฟกับโอ๋มีหน้าที่คุยกับแขกรับเชิญเป็นหลัก พี่อาร์ตเป็นคนคอยตบ ส่วนพี่หนุ่มก็จะไปรื้อบ้าน ไปวุ่นวายกับบ้านเขา เปิดลิ้นชัก ค้นนั่นค้นนี่ เพราะพี่หนุ่มเขาเป็นคนมีนะดี อย่างเวลาทำอะไร ถามอะไรคนไม่ค่อยโกรธ แต่แน่นอนทั้งหมดนี้เราต้องบรีฟกับแขกรับเชิญด้วย เพื่อให้เขาสะดวกใจที่สุด”

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายดายไปเสียหมด หลายครั้งทีมผู้จัดต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ ตั้งแต่เรื่องคิวการถ่ายทำ ซึ่งปีแรก ๆ นั้นต้องหมุนไปตามความสะดวกของแขกรับเชิญ หรือในช่วงต้น ๆ ที่พิธีกรบางคนยังไม่คุ้นเคยกัน จึงต้องอาศัยระยะเวลาเรียนรู้และปรับเปลี่ยน จนกว่าเคมีต่าง ๆ จะเริ่มลงตัว

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู
16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

“ถึงพิธีกรบางคนจะสนิทกันมาก่อน เช่นพี่หนุ่มกับพี่กอล์ฟ แต่ช่วงแรก ๆ ก็ช็อตเหมือนกัน แล้วไม่ใช่แค่พิธีกรนะ รายการเองก็ช็อตเงินด้วย คือเราไม่สามารถจ่ายเงินให้พิธีกรไปด้วยกันทั้ง 4 คนได้ เพราะฉะนั้นเทปแรก ๆ ก็ต้องใช้วิธีสลับกันไป ซึ่งบางทีก็มีปัญหาเหมือนกัน เช่นเทปพี่กอล์ฟกับพี่อาร์ต เพราะพี่กอล์ฟจะไม่ปล่อยให้มีช่วง Dead Air เลย พี่อาร์ตก็พูดไม่ทัน หรือเทปที่โอ๋ไปกับพี่อาร์ตไปด้วยกันก็จะเงียบ ๆ หน่อย เพราะวันนั้นทั้งคู่ประสบการณ์ยังไม่เชี่ยวมาก ก็ต้องอาศัยการปรับตัว หรือบางทีพิธีกรก็งอแง อยากไปด้วยกัน 4 คนสนุกกว่า ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกสักพักเลย กว่าจะมีตังค์ให้ไปครบได้”

ที่สำคัญ นอกจากไปเยี่ยมบ้านดาราแล้ว ตีท้ายครัว ยังสรรหาความแปลกใหม่มานำเสนออยู่เสมอ

บางทีพวกเขาก็ตามกองถ่ายละครไปต่างประเทศ หรือเมื่อครั้งที่ช่อง 3 ทำโครงการ The Album อยากบอกต้องออกเทป นำผู้ประกาศและนักแสดงในสังกัดมาฝึกร้องเพลงออกอัลบั้ม ก็ไปเฝ้าติดตามบรรยากาศการทำงานอย่างใกล้ชิด หรือแม้แต่บุคคลที่ในเวลานั้นไม่ได้เป็นนักแสดงเต็มตัว แต่น่าสนใจ และพอเป็นที่รู้จักของสาธารณชน เช่น อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ พวกเขาก็ยังบุกไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งนอกจากความสนุกแล้ว ผู้ชมได้เห็นแง่มุมส่วนตัวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนของกูรูอาหารผู้นี้อีกด้วย

ด้วยความพยายามเรียนรู้และเข้าใจรสนิยมผู้ชมอยู่ตลอด จึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมรายการที่ดูไม่ซับซ้อนแบบ ตีท้ายครัว จึงโดดเด่นและขึ้นเป็นแถวหน้าของรายการวาไรตี้ที่ครองใจผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว

03

ไม่หวั่นแม้วันมามาก

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญคือการรับมือกับความเปลี่ยนอย่างไรต่างหาก

หลังออกอากาศไปได้ 3 ปี กอล์ฟตัดสินใจขอลาออกจากการเป็นพิธีกร เนื่องจากคิวว่างที่ไม่ตรงกัน บวกกับเวลานั้นต้องการทุ่มเทเวลาให้กับการทำเพลงในโปรเจกต์ Be My Guest

ถึงจะเข้าใจดีถึงความจำเป็น แต่สำหรับทีมผู้จัดยอมรับว่า เรื่องนี้กระทบใจพอสมควร เพราะทุกคนอยู่กันเหมือนเป็นครอบครัว ระหว่างนั้นเอง หนุ่มจึงเสนอได้เสนอพิธีกรคนใหม่ที่จะมาแทน นั่นคือ มดดำ-คชาภา ตันเจริญ ซึ่งเวลานั้นกำลังโด่งดังจากรายการวิทยุที่ชื่อ ‘แฉแต่เช้า’

16 ปี ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านนอกกรอบที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู
เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

แม้ทีมผู้จัดทั้ง 3 คนไม่เคยรู้จักมดดำมาก่อน แถมดุ๊กยังเคยบอกว่า ช่วงแรกรู้สึกกลัวมดดำด้วยซ้ำไป เพราะดูเป็นคนแรง ๆ แต่เมื่อได้พูดคุยและลองทำงานด้วยก็สัมผัสได้ว่า มดดำเป็นคนให้เกียรติ ตั้งใจทำงาน และมักจะถามทีมผู้จัดอยู่เสมอว่า ทำดีพอแล้วหรือยัง

“มดดำเขาไม่ใช่คนช่อง 3 แบบโอ๋ พี่อาร์ต หรือพี่หนุ่ม ซึ่งมีกรอบบางอย่างว่า เราซนได้ประมาณหนึ่ง นำเสนอหรือด่ากันได้ประมาณ แต่มดดำมาจาก GMM ซึ่งเป็นช่องที่เด็กกว่าเรา เขาจะมีความเปิดบางอย่างมากกว่า อีกอย่างคือมดดำเป็นคนตรงไปตรงมา ผัวะๆๆ เลย ซึ่งช่วงแรกเราก็กังวลเหมือนกันว่า จะเข้ากันได้ไหม แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าความต่างบางอย่างมันเต็มเติมเข้ามาในงาน พอเริ่มคุ้นเคยก็กลายเป็นพอดี โดยเฉพาะมดดำกับพี่หนุ่ม คือต่อให้วันนั้นแขกรับเชิญไม่สนุก แต่คนเปิดมา ดูพิธีกรตีกันก่อนก็สนุกแล้ว และถ้าแขกรับเชิญเกิดถูกใจ ก็ถือเป็นกำไรไป”

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

จากความลงตัวนี่เอง ส่งผลให้พิธีกร 4 คน หนุ่ม-โอ๋-อาร์ต-มดดำ กลายเป็นภาพจำที่อยู่คู่กับ ตีท้ายครัว มาถึงปัจจุบัน หลายคนสนุกกับการได้เห็น พวกเขามาเถียงกัน ตีกัน ด่ากันบ้าง ต่อให้บางครั้ง จะคุยกันเสียงดัง ดูเหมือนไม่ฟังกัน ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่โอบล้อมรายการอยู่นั้นคือ ความบันเทิง

“มันเป็นอารมณ์ที่เราอยากได้ ความสด ความ Reality นั่นคือความตั้งใจ จะว่าไปแล้วสมัยนี้พวกโซเชียลต่าง ๆ ที่คนนิยมก็เพราะว่าความจริง ความ Reality เราว่าเราน่าจะทำก่อน เพียงแต่ว่าเราทำกับทีวี เพราะฉะนั้น อะไรที่จริงแล้วเราก็ตัดออกอากาศ คุณอยากจะโทรศัพท์เราก็ตัดให้เห็น ถามว่ามันผิดไหม เราว่ามันไปบ้านเพื่อน เรารู้สึกอย่างนั้น” ดุ๊กเคยกล่าวว่าในรายการ ตีท้ายครัว

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าทีมผู้จัดจะละเลยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้ามา เพราะหลายอย่างก็เป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นจริง ๆ เช่น บางเทปที่แย่งกันพูดจนน่าเวียนหัว หรือแขกรับเชิญยังไม่ทันตอบคำถาม ก็ไปเรื่องอื่นแล้ว ซึ่งบางครั้งก็ต้องแก้ปัญหาโดยใช้เทคนิคการตัดต่อ หรือหรี่เสียงไมโครโฟน แต่หากไม่ไหวจริง ๆ ผู้จัดก็ต้องเป็นฝ่ายออกโรงมาควบคุมพิธีกรถึงหน้ากล้องเลย

ที่สำคัญ ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้หมด แม้จะอยู่หน้างานแล้วก็ตาม อย่างเช่นเทปที่รายการไปตีท้ายครัว รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี
เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

ครั้งแรกเลยอาจารย์ชัชชาติยินดีไปร่วมรายการ แต่ไม่สะดวกให้ถ่ายทำที่บ้าน ทีมงานจึงต้องลองหาไอเดียที่แตกต่าง เช่น ไปถ่ายที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ สนามหลวง หรือตลาดรถไฟดีไหม เพราะทุกที่ในกรุงเทพฯ ก็เหมือนบ้านของผู้ว่าฯ จนกระทั่งตอนหลังก็เลยขอถ่ายสนามหน้าบ้าน จากนั้นถึงค่อยย้ายไปถ่ายที่ร้านพี่สาวของอาจารย์ชัชชาติแทน ซึ่งทีมงานได้รับอนุญาต

จนกระทั่งในวันถ่ายทำ ก็ได้พบกับคุณแม่ของอาจารย์ชัชชาติ ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญสุด เพราะ หลังจากทีมงานเข้าไปสวัสดีพูดคุย ปรากฏว่าทางคุณแม่อนุญาตให้ถ่ายทำในบ้านได้ ทีมงานจึงเปลี่ยนแผนกะทันหัน ซึ่งต่อมาเทปนี้ก็กลายเป็นตอนยอดนิยมที่มีผู้ชมใน YouTube ถึง 2 ล้านครั้งเลยทีเดียว

ประสบการณ์ในการทำรายการมายาวนาน ทำให้ทีมผู้จัดได้เรียนรู้ และเข้าใจวิธีการทำงานที่เป็นมืออาชีพยิ่งหาก หากเกิดปัญหาใด ๆ การสื่อสารแบบตรงไปตรงมาคือทางออกที่ดีที่สุด

อย่างเมื่อ พ.ศ. 2559 ทีมผู้จัดเริ่มรู้สึกว่า รายการ ตีท้ายครัว กำลังตกร่องเดิม ไม่ว่าจะเป็นทีมผู้จัด ทีมโปรดักชัน หรือแม้แต่พิธีกร ทุกอย่างย่ำอยู่กับที่ ตั้งแต่การเลือกแขกรับเชิญ วิธีเล่าเรื่อง การตั้งคำถาม วิธีตัดต่อ วิธีทำกราฟิก แถมเรตติ้งรายการก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ

เพื่อแก้ปัญหานี้ ทีมผู้จัดจึงตัดสินใจหาทีมโปรดักชัน คือ เต็มถัง สตูดิโอ เข้ามาเสริม ทำให้ ตีท้ายครัว กลายเป็นรายการที่มีทีมผู้ผลิต 2 ทีมสลับกัน ซึ่งข้อดีคือ มีการเปรียบเทียบกันเองอยู่ตลอด เพื่อให้รายการมีสีสันและเกิดไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเวลา

“สิ่งสำคัญคือต้องรู้ตัวให้เร็วแล้วก็ยอมรับ จำได้ว่าตอนนั้นเราจับเข่าคุยกัน บอกว่ารายการเราอยู่มานานขนาดนี้ ยอมรับมาเถอะว่า มันเป็นหม้อข้าวหม้อน้ำของทุกคน ทุกคนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ตราบใดที่รายการยังอยู่ พวกเราก็อยู่ด้วย แต่ถ้าเราเอาแค่อีโก้ แล้วปล่อยรายการค่อย ๆ ไหลตาย เราก็ตายไปด้วย

“สิ่งที่เราทำได้คือ ลดอีโก้แล้วทำอะไรก็ได้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานที่เปิดใจ แล้วยอมทำไปด้วยกัน เพราโจทย์ที่เราหยดลงไปมันไม่ง่าย ขอทีมงาน 2 ทีม ใครจะยอม เขาไม่เดินออกไปก็บุญหัวแค่ไหนแล้ว แต่เขายอมทำงานด้วยกัน 2 ทีมจนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้รายการยังไปต่อได้”

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี
เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

สำหรับทีมผู้จัดทั้ง 3 คนแล้ว พวกเขาคิดเสมอว่าทุกวิกฤตคือโอกาสของการเรียนรู้สิ่งใหม่ และเราต้องอยู่ให้ได้ ต่อให้เกิดปัญหาใด ๆ เข้ามา อย่างช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต รายการบันเทิงทุกรายการต้องงดออกอากาศ แต่ ตีท้ายครัว เป็นรายการเพียงไม่กี่รายการที่ออกอากาศอย่างต่อเนื่อง

“เราน่าจะเป็นไม่กี่รายการที่ออกอากาศปกติ ตอนนั้นเราก็ปรับทุกอย่าง ทั้งโทนสี พิธีกร แขกรับเชิญ หรือเรื่องที่นำเสนอให้เข้ากับสถานการณ์ แล้วตอนนั้นไม่มีสปอนเซอร์ด้วย เราก็คุยกับทีมงานว่าจะทำไหม ถ้าทำต้องลดค่าผลิตให้พี่ได้หรือเปล่า แล้วถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ เราค่อยกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งทีมงานก็ยินดี เพราะไม่มีใครอยากให้ตีท้ายครัวหายไปจากหน้าจอ”

เช่นเดียวกับ ในช่วงที่หนุ่มตัดสินใจเข้ามาปรึกษาทีมงานตรง ๆ ว่าขอพัก เพราะเริ่มไม่เห็นตัวเองในรายการบันเทิง หลังจากเปลี่ยนไปทางสายข่าว ซึ่งทีมผู้จัดก็เข้าใจดี

“สิบกว่าปีนี้ถือเป็นการเดินทางในช่วงชีวิตที่ยาวนานมาก เป้าหมายชีวิตของแต่ละคนย่อมเปลี่ยนไป อย่างพี่หนุ่มเป็นคนที่เคยไม่ออกจากบ้านเลยปีหนึ่ง แล้วออกมาเล่นละคร แล้วเขาก็พุ่งกับการเล่นละคร แล้วเขาก็ไปเป็นพิธีกร เขาก็เริ่มเบาละครเพื่อไปเป็นพิธีกร แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาเริ่มเป็นคนข่าว เขาพุ่งเป้าทีละอย่าง เราเข้าใจธรรมชาติพี่หนุ่ม โอเคพี่หนุ่มไม่เป็นไร ถ้าวันนี้พี่หนุ่มไม่เห็นตัวเองตรงนี้ พี่หนุ่มไปเลย ยังไงเราอยู่ด้วยกัน เราเป็นเพื่อนกัน แล้วถ้าวันไหนว่าง นึกอยากกลับมาวันไหนก็กลับได้

“คนอื่นก็เหมือนกัน อย่างโอ๋ในช่วงลูกเล็ก ลูกไปโรงเรียน ก็มีการพูดคุยเหมือนกันว่าจะทำต่อได้ไหม ซึ่งเราก็พยายามคุยกันในทุกมิติ เอาแค่ได้หรือเปล่า สัปดาหนึ่งขอแค่ 2 ชั่วโมงไหม พยายามตกลงในทุกจุด เพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุด จนทุกวันนี้ทุกคนรู้สึกเหมือนไม่ได้มาทำงาน แต่มาหาเพื่อน เพื่อนเป็น Safe Zone ที่รู้สึกสบายใจ หลังจากที่เจออะไรเครียด ๆ มาเยอะ”

โดยในระหว่างที่หนุ่มขอพักอยู่นั้น ทีมเงาะถอดรูปก็ใช้โอกาสนี้ ทดลองอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่นการปรับวัยของรายการ ด้วยการเชิญพิธีกรที่เด็กมากขึ้นมาร่วมงาน มาคอยทำหน้าที่บางอย่างที่พิธีกรหลักทำไม่ได้ เช่น ค้นข้าวของ เล่นมุก แซวแขกรับเชิญ เพื่อคืนความสดใสวัยรุ่นให้กลับมาสู่รายการ หรือแขกรับเชิญบางคนที่ทีมผู้จัดพิจารณาแล้วว่า น่าจะรู้สึกสบายใจมากกว่า หากได้คุยกับคนที่คุ้นเคย ก็เชิญคนนั้นมาเป็นพิธีกร เช่นตอนของ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซ่ำ และ ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ก็ได้ ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร มารับหน้าที่ดำเนินรายการอีกคนหนึ่ง

หากแต่ช่วงที่ท้าทายมากที่สุด คงหนีไม่พ้นตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาด เพราะจากเดิมที่เคยวางคิวงานยาวเหยียดกลายเป็นเหลือศูนย์ เพราะไม่มีใครสะดวกให้ไปเยี่ยมบ้าน เวลานั้นหลายรายการต้องหยุดออกอากาศหรือเปลี่ยนมาเป็นรีรันแทน แต่ ตีท้ายครัว ไม่หยุด และพยายามหาวิธีการทำงานใหม่ ๆ

ในเวลานั้น จ๋าได้เห็นตัวอย่างของรายการเกาหลีที่ใช้วิธีส่งกล้องไปให้ดาราถึงที่บ้าน แล้วให้เขาถ่ายกลับมา ซึ่งวิธีนี้น่าจะนำมาทดลองใช้กับตีท้ายครัวได้ โดยให้ดารานำกล่องไปถ่ายบรรยากาศในบ้าน ถ่ายกิจวัตรของตัวเอง ให้พิธีกรนั่งดูและสัมภาษณ์ทางออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มามักเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่เข้าใจการทำงานแบบนี้ เช่น กองทัพ พีค, อิน-สาริน รณเกียรติ, มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร รวมไปถึง เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ซึ่งแม้เรตติ้งอาจจะเทียบไม่ได้กับช่วงปกติ แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่ารายการไม่ได้หายไปไหน

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

“คำหนึ่งที่มักจะผุดขึ้นในที่ประชุมตลอดคือ เราต้องการการเล่าเรื่องแบบใหม่ ซึ่งเราจะปรับหรือเปลี่ยนรายการดี แต่จ๋ามองว่ากว่าที่เราจะขึ้นรายการมาเป็นตำนานไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นรายการใหม่ไม่ยากหรอก แต่จะทำยังไงให้ขึ้นมาเป็นที่จดจำแบบ ตีท้ายครัว เพราะฉะนั้น ทำไมเราต้องไปเกิดใหม่ เราแค่เปลี่ยนข้างใน ทำให้มันสนุกอยู่ตลอด

“พอมาถึงจุดที่เกิดโควิด เราก็บอกทุกคนเลยว่า ใครอยากเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนแบบไหน เปลี่ยนเลย ขอฟอร์แมตใหม่ ๆ ให้พี่หน่อย พี่มีความคิดนี้ พวกคุณทำได้ไหม ซึ่งพอเปลี่ยนแล้วเวิร์กไม่เวิร์กไม่รู้ แต่เราได้ลงมือทำ ถ้าพลาดหรือล้ม เราก็ไม่เจ็บมาก ถ้าเวิร์กเราก็ต่อยอดได้ แต่ถ้าไม่เราก็เปลี่ยนกลับมา แล้วจะได้รู้ว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นมันมีคุณค่ามากเพียงใด”

04

เติบโตไปด้วยกัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งจะหยัดยืนคู่วงการมานานถึงปีที่ 17

สำหรับทีมผู้จัดแล้ว พวกเขาไม่เคยอิ่มตัวหรืออยากเลิกทำรายการเลย ทั้งหมดยังคงสนุกที่ได้ท้าทายทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา หากแต่การอยู่มานานไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ตีท้ายครัว จะอยู่ได้เสมอไป เพราะฉะนั้น คนทำงานจะต้องไม่ตกร่องความสำเร็จ และก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม

“เราต้องเปิด ต้องฟัง ฟังให้เยอะว่าสังคมเปลี่ยนไปถึงไหน อะไรที่สมัยก่อนเล่นได้ แต่ตอนนี้เล่นไม่ได้ อย่างตลกสังขาร อ้วน ดำ แบบนี้เล่นไม่ได้ คือเราต้องตามสังคมให้ทันว่าเขาพูดอะไรกัน เรื่องไหนที่พูดไม่ได้ แค่รู้ว่าพูดไม่ได้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าทำไมถึงไม่พูด เพราะการที่รายการของเราอยู่มานาน เวลาพูดอะไรอย่างหนึ่ง เสียงเราดัง เราจึงต้องระมัดระวังให้มากที่สุด”

ขณะเดียวกัน การสร้างสีสันใหม่ ๆ ให้กับรายการก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยหลังจากใช้พิธีกรรับเชิญมานานร่วมปี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวพิธีกรใหม่ 2 คน นั่นคือ วิลลี่ แมคอินทอช และ ป๋อ-ณัฐวุฒิ สกิดใจ

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

“เราแอบรอพี่หนุ่มเผื่ออยากกลับมา จนสุดทางจริง ๆ ที่เรารู้สึกว่า ภาพของรายการควรกลับมาชัดเจนได้แล้ว และระหว่างที่เราเปลี่ยนพิธีกรมาเรื่อย ๆ ก็มีพี่ป๋อกับพี่วิลลี่เข้ามาด้วย ซึ่งพอทุกครั้งที่ 2 คนนี้มา มันเกิดความสบายใจของทั้งพิธีกรและทีมงาน เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกใครดี เราก็รู้สึกว่าทำไมต้องเลือก เราก็สลับพี่วิลลี่กับพี่ป๋อนี่แหละ เพราะเขาคงมาให้เราทุกอาทิตย์ไม่ได้หรอก แล้วพี่วิลลี่กับพี่ป๋อก็เป็นคนละรสชาติ แล้วก็เป็นพิธีกรมืออาชีพอีกด้วย จึงน่าจะมาเติมเต็มรายการได้ดี รวมถึงดึงพลังงานบางอย่างจากพิธีกรที่เหลือด้วย ซึ่งพอเราลองติดต่อไป ทั้งคู่กับแฮปปี้”

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี
เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

ไม่เพียงแค่นั้น ตีท้ายครัว ยังเริ่มต้นรุกไปยังผู้ชมกลุ่มวัยรุ่น ด้วยการเปิดรายการใหม่คือ ‘ปะกินนะก๊ะ’ โดยมี จันจิ-จันจิรา จันทร์พิทักษ์ชัย เป็นพิธีกร ออกอากาศทาง Facebook ของ ตีท้ายครัว และ YouTube ของ เงาะ ทีวี Ngoa TV โดยเป็นรายการที่ไม่มีกรอบหรือรูปแบบตายตัวเหมือนกับตีท้ายครัว แต่แทนที่จะพาไปเยี่ยมบ้าน เปลี่ยนเป็นให้แขกรับเชิญพาไปไหนก็ได้ เช่น ตามติด แจ๊ค แฟนฉัน ไปสะพานเหล็กซื้อของเล่น หรือไปกินอาหารเกาหลีกับม้าม่วง ดาว TikTok ชื่อดัง

ปะกินนะก๊ะ ก็คือ ตีท้ายครัว เวอร์ชันที่เราพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น ซึ่งบางประเด็น เช่น การค้นหาว่าเขาต้องการเป็นเพศไหน ทางทีวีเราอาจจะพูดหรือแตะมากไม่ได้ แต่พอเป็นออนไลน์ เราพูดได้เต็มที่ ซึ่งหากถามว่าจุดร่วมของสองรายการคืออะไร จ๋าว่าคงเป็นความหวังดีกับแขกรับเชิญ อะไรที่จะให้โทษกับเรา เราจะไม่พูด เพราะเราต้องการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่มาออกรายการ ซึ่งนี่เป็นจุดยืนที่ชัดเจนที่สุดของเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้”

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี
เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

ตลอด 16 ปีที่ออกอากาศ ตีท้ายครัว ไม่ได้เป็นรายการบันเทิงเท่านั้น หากยังเป็นเสมือนครอบครัว เพื่อนฝูง ที่เติบโตและสร้างรอยยิ้มกับผู้ชม แถมหลายครั้งยังแฝงไปด้วยสาระและเรื่องราวดี ๆ ของแขกรับเชิญอีกต่างหาก 

และทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่า ทำไมรายการเล็ก ๆ อย่าง ตีท้ายครัว จึงเข้ามาอยู่ในใจของผู้ชม เป็นรายการคู่บ้านของทุกคนไม่เปลี่ยนแปลง

เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี
เคาะประตู ‘เงาะถอดรูป’ พูดคุยกับ ‘จ๋า-ยศสินี ณ นคร’ ถึง ‘ตีท้ายครัว’ รายการเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองตลอด 16 ปี

ภาพ : รายการตีท้ายครัว

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)