“..ร้อนเหลือ เหงื่อแตก

ร้อนแน่ๆ ปีนี้

แต่ยังดี ร้อนตอนปิดเทอม

สอบไล่ เสร็จโลด

จะร้อนมาก จะร้อนน้อย

ดับกระหาย คลายร้อน

ด้วย..ทีนทอล์กๆๆๆๆๆๆ

สวัสดีครับๆๆๆๆๆๆ..”

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

คำพูดเป็นท่อนๆ ของ เร แมคโดนัลด์ กับภาพที่ตัดสลับไปมา พร้อมกราฟิกสีสันฉูดฉาด มีอักษรตัวโตๆ ขึ้นเต็มจอ คือภาพจำของรายการทีวีที่เคยกุมหัวใจของวัยรุ่นไทยทั่วประเทศ

กว่า 20 ปีแล้วที่ Teen Talk สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการโทรทัศน์บ้านเรา แม้จะฉายเพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง แถมรูปแบบยังแปลกประหลาด แหวกแนว ฉีกขนบของรายการวาไรตี้แบบเดิมๆ ถึงขั้นผู้ใหญ่ส่ายหน้าเพราะดูไม่รู้เรื่อง แต่เนื้อหาทั้งหมด ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ หรือบันเทิง กลับตรงใจคนรุ่นใหม่ จนทำให้รายการเล็กๆ กลายเป็นศูนย์รวมความเท่ และนำไปสู่การต่อยอดรายการใหม่ๆ เกิดเป็น ‘จักรวาล ทีนทอล์ก’

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

แจ้งเกิดพิธีกรไอดอลหน้าใหม่อีกเพียบ ทั้ง ชาคริต แย้มนาม, อ้น-ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์, ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ, เมจิ-อโณมา ศรัณย์ศิขริน, ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์, ซาร่า ผุงประเสริฐ และ บัวชมพู ฟอร์ด 

แต่กว่าที่ ทีนทอล์ก จะเป็นปรากฏการณ์แห่งความทรงจำเช่นนี้ ต้องฝ่าบทพิสูจน์ไม่น้อยเลย ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ ภิญโญ รู้ธรรม พี่ใหญ่ตัวจริงเสียงจริงของ ทีนทอล์ก ถึงเรื่องราวไม่ธรรมดากับปฏิบัติการสร้างพื้นที่เล็กๆ ของวัยรุ่นบนจอทีวีเมืองไทย

01

ไม่มีใครเข้าใจ ‘วัยรุ่น’ เท่า ‘วัยรุ่น’ 

ย้อนกลับไปเมื่อปลาย พ.ศ. 2537 บริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับจัดสรรเวลาช่วงวันเสาร์ ตอน 11 โมง มาจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ปรึกษาบริษัท (เวลานั้น) เสนอว่า ควรทำรายการวาไรตี้สำหรับวัยรุ่น เพราะที่ผ่านมายังไม่มีรายการประเภทนี้เท่าใดนัก และเวลาค่อนข้างเหมาะสมด้วย ผู้บริหารเห็นดีจึงมอบหมายให้ภิญโญซึ่งมีประสบการณ์ทำรายการฉีกกรอบอย่าง แบบว่าโลกเบี้ยว และ เพชฌฆาตความเครียด รับผิดชอบคิดคอนเซปต์กลับมาเสนอ

“ผมเพิ่งกลับเข้ามาที่แกรมมี่ หลังจากออกไปทำรายการที่ช่อง 3 ชื่อ คืนวันอาทิตย์ พอเขาบอกว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น ปวดหัวเลย เพราะอายุตอนนั้นก็ใช้ได้ เท่า พ.ศ. เลย ซึ่งการให้คนอายุสามสิบเจ็ด มาทำรายการให้คนอายุสิบสองถึงสิบห้าดู บางทีเราคิดไม่ออกเหมือนกัน จนวันหนึ่งก็คิดว่าน่าจะทำเป็นแมกกาซีนออนทีวีเพราะเมื่อก่อนจะมีนิตยสารวัยรุ่นอย่าง เธอกับฉัน หรือ The Boy ทำเนื้อหาเป็นคอลัมน์ต่างๆ”

เพื่อให้เข้าใจความคิดของวัยรุ่น บุษบา ดาวเรือง และ สันติสุข จงมั่นคง สองผู้บริหารแกรมมี่ จึงแนะนำให้ภิญโญชักชวนเด็กมัธยมจากโรงเรียนต่างๆ มาสัมภาษณ์ ปรากฏว่าสิ่งที่วัยรุ่นสะท้อนกลับนั้นต่างกับที่คิดไว้โดยสิ้นเชิง

เพราะเรื่องที่วัยรุ่นสนใจ คือเทรนด์ใหม่ๆ ในสังคม ทั้งแฟชั่น หนัง เพลง อาหาร อยากรู้จักคนหน้าใหม่ๆ อยากรู้เคล็ดลับที่ทำให้ตัวเองดูดี ขณะที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักผลิตรายการจากกรอบความคิดและความคาดหวังของตัวเอง โดยไม่ได้ใส่ใจว่าสอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่นหรือไม่

“ความล้มเหลวของการคิดรายการวัยรุ่น คือชอบคิดแทนเขา มโนเอาเองว่าเด็กน่าจะต้องมีศีลธรรมจรรยา มีวิชาการ มีศิลปวัฒนธรรม เหมือนเราเอาขี้ไปป้อนใส่ปากเขา แต่เขาไม่ได้อยากกิน เขาอยากกินท็อฟฟี่ กินขนมเค้ก วัยรุ่นเขาอยากรู้จักกันเอง อย่างผู้ชายอยากเห็นผู้หญิงหน้าใหม่ๆ ส่วนผู้หญิงก็อยากเห็นเด็กผู้ชายหล่อๆ เท่ๆ หรือเพลงมีอะไรใหม่ แฟชั่นอะไรกำลังฮิตหรือเอาต์แล้ว”

ข้อมูลเหล่านี้ถูกต่อยอดเป็นแนวทางออกแบบช่วงต่างๆ ในรายการ เช่น New Kid ช่วงแนะนำกลุ่มหนุ่มสาวหน้าใหม่ให้ผู้ชมทางบ้านได้รู้จัก โดยแต่ละคนจะมาโชว์ความสามารถของตัวเอง เช่น กีฬา ดนตรี อย่างคนหนึ่งที่เคยมาออกช่วงนี้คือ นิโคล เทริโอ ซึ่งมาถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนต่างประเทศ การเข้าประกวดโครงการ Star Search Singing Contest รวมทั้งงานประจำอย่างการอ่านข่าวภาษาอังกฤษทางวิทยุ หรือช่วง Teen’s Secret แนะนำเคล็ดลับต่างๆ ของวัยรุ่น ทั้งเรื่องสุขภาพ ความสวยความงาม การดูแลผิวพรรณ การแต่งกาย ไปจนถึงเรื่องดวงชะตา 

ส่วนชื่อรายการนั้น ตอนแรกทีมงานเสนอมาหลายชื่อ แต่มาลงตัวที่ ทีนทอล์ก เสมือนเป็นการยืนยันว่า พื้นที่นี้สร้างขึ้นมาเพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะ โดยผู้ใหญ่ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยว 

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

“ด้วยคอนเซปต์แมกกาซีน เราจึงต้องลงทุนหนักมาก ปกติรายการอื่นมีแค่ไอเดียเดียวพอแล้ว แต่เรามีสี่คอลัมน์ ก็ต้องมีสี่โปรดิวเซอร์ สี่ทีม แต่เราสู้ตาย ให้ครีเอทีฟไปเอา Proposal มานำเสนอ และปกติก่อนเปิดรายการใหม่ ผู้บริหารต้องตัดสินใจว่า รายการนี้เป็น Music หรือ Non-music ปรากฏว่า ทีนทอล์ก ถูกตัดสินว่าเป็น Non-music หมายถึงคุณไม่จำเป็นต้องซัพพอร์ตการขายเทป ซึ่งเราดีใจมาก เพราะทำให้เราไม่มีกรอบมาจำกัด แต่อีกมุมก็ทำให้ต้องหาสปอนเซอร์อย่างรุนแรง เพื่อเลี้ยงรายการ โชคดีที่กลุ่มเป้าหมายเราชัดเจน ไม่มั่ว ไม่ใช่แมส แต่เป็นวัยรุ่นเท่านั้น

“ตอนนั้น พี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันท์) บอกว่า นี่คือโชว์รูมที่วัยรุ่นจะพุ่งมาดูว่ามีอะไรมาวางบ้าง เนื้อหาอะไรก็ตามที่จะอยู่ตรงนี้ต้องคัดมาแล้วว่าเป็นเทรนด์จริงๆ ถ้าไม่ใช่เราไม่เอา แต่ถ้าคุณอยากมาใช้บริการก็ได้ เช่นพี่เบิร์ดอยากมารู้จักวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นรู้จักก็ได้ แต่เราก็เลือกเหมือนกัน ไม่ใช่เอาเพลงโบราณมาร้อง หรือบางคนที่แก่มากๆ เราอาจครีเอตให้ว่ามีมุมนี้อยู่ ออกแค่ตรงนี้พอไหม หรือทำเหมือนเป็นคลิป แต่เป็นสไตล์เราแล้วไทด์อินเพลงเขาเข้าไป”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานรายการทีวีที่สร้างขึ้นด้วยความคิดแบบวัยรุ่น เพื่อวัยรุ่น อย่างแท้จริง

02

ทีนทอล์กคือเร.. เรคือทีนทอล์ก

ทีนทอล์ก ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2538 

เพียงเทปแรกก็เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ด้วยสไตล์ตัดต่อที่ไม่เหมือนใคร โดยแรงบันดาลใจหนึ่งมาจากรายการ MTV ซึ่งสมัยนั้นเน้นการตัดแบบฉุบฉับ กราฟิกเยอะๆ สีสันฉูดฉาด กระชากสายตา คนแก่ดูแล้วเวียนหัว

แต่ที่โดดเด่นเหนือกว่าอะไรทั้งหมด คือพิธีกรสุดหล่อ เร แมคโดนัลด์

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

หนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วัย 17 ปีผู้นี้ เดิมทีเป็นหนึ่งในวีเจของรายการ Smile TV ในเครือ Thai Sky มีผลงานโฆษณามาบ้าง เช่น บัตรแกรมมี่การ์ด และเชอรี่โค้ก แต่รวมๆ ยังถือเป็นคนหน้าใหม่สำหรับวงการ โดยบุคคลที่เห็นแววและชักชวนให้มาร่วมงานกับ ทีนทอล์ก คือ รัชดาภรณ์ จันทร์เจริญ อดีตหัวหน้าฝ่ายรายการของแกรมมี่

เสน่ห์ของเร คือความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก ดูกวนๆ และไม่ได้มีภาพของพระเอกมากเกินไป

“เราต้องการหนีอะไรเดิมๆ พอบอกว่าเป็นรายการของแกรมมี่ คนมักจะนึกว่าเดี๋ยวก็เอามอส ปฏิภาณ เป็นพิธีกร แต่เราต้องการล้างภาพรายการเพลงออกให้หมด เพราะฉะนั้น เราจึงเลือกคนหน้าใหม่ ตอนแรกผมไม่รู้จักหรอกว่าเรคือคนไหน แต่คุณอ้อยที่เป็นหัวหน้าผมรู้จัก เขาไปนั่งเฝ้าเรอยู่แถวพัฒน์พงศ์ ไปเจรจาจีบมาเป็นพิธีกร พอเจอกัน เออ…หล่อ เท่ แต่ไม่ค่อยพูด มีเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเองสูง อะไรที่โบราณๆ ไม่มีในหัวเร อยากทำอะไรก็ทำ”

สิ่งที่ภิญโญย้ำกับเรตั้งแต่แรกคือ “คุณไม่ใช่หนึ่งในทีมวีเจรายการนั่นนี่อีกแล้ว แต่คุณคือ ทีนทอล์ก ทีนทอล์ก คือคุณ” หน้าที่ของเรจึงไม่ใช่เพียงพิธีกรเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นโค้ชที่นำความคิดผู้ชมด้วย

เพราะฉะนั้น แต่ละตอน ทีมงานจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ภาพที่ออกมาสะท้อนตัวตนของเรให้มากที่สุด ตั้งแต่คำพูด การแต่งตัว ไลฟ์สไตล์ เพื่อให้วัยรุ่นรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้เป็นตัวแทนของพวกเขาอย่างแท้จริง

“เราพยายามปั้นกันเต็มที่ อย่างสไตลิสต์ สุดยอดมาก ชุดไหนไม่มีเขาตัดเอง สร้างขึ้นเอง อยากให้เรใส่ชุดเปรี้ยวๆ เสื้อลายเสือ ก็ไปซื้อผ้ามาตัด ประดิดประดอยทุกอย่าง ทำให้งานของเราออกมาหวือหวากว่าคนอื่น”

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

ขณะเดียวกัน ทีมงานยังพยายามคิดแก๊กสนุกๆ เพื่อให้ภาพของเรเด่นชัดขึ้น อย่างการมีพิธีกรคู่หู ซึ่งคนที่มารับบทบาทนี้ คือ เปเล่-คริสโตเฟอร์ วอชิงตัน เพื่อนร่วมแก๊งของเรนั่นเอง

“ปกติพิธีกรรายอื่นจะต้องมีตัวตลกเป็นผู้ช่วย แต่ของเราเรียกว่าพร็อพ เพียงแต่พร็อพของเราเป็นมนุษย์ แล้วคุณไม่ต้องทำอะไรเลย ห้ามพูด เวลาพระเอกไปไหนไปด้วย คุณเป็นพร็อพของเร คือเราเน้นแปลกไว้ก่อน ไม่มีกรอบอะไรเลย”

นอกจากเรกับเปเล่แล้ว ยังมีพิธีกรคนอื่นช่วยดำเนินรายการช่วงต่างๆ ทำให้วัยรุ่นได้เห็นต้นแบบที่หลากหลาย

อย่างคนหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นมาก คือ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ สาวหมวยลูกครึ่งไทย-ฮ่องกง วัย 16 ปี ซึ่งเปี่ยมด้วยความมั่นใจ กล้าคิด กล้าพูด กล้าถาม โดยก่อนหน้านี้ ได๋ตามเพื่อนๆ โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีมาทำโฟกัสกรุ๊ปเรื่องรายการ ทีนทอล์ก ที่แกรมมี่ แล้วทีมงานก็ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายวิดีโอ เก็บไว้ กระทั่งภิญโญมาเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดีจึงเรียกตัวมาเทสต์หน้ากล้อง แล้วดึงมาเป็นพิธีกรประจำช่วง Teen’s Secret และสัมภาษณ์พิเศษ

“สมัยนั้นยังเป็นอาหมวยใส่ชุดนักเรียนอยู่เลย แต่จุดเด่นคือพูดไทย จีน ฝรั่ง ได้ ถือว่าสุดยอด และเราเชื่อว่าเทรนด์หมวยเกิดได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราสนใจยิ่งกว่าคือความซนอะไรบางอย่าง ซึ่งผู้ใหญ่มาเห็นอาจบอกว่าแรด แต่เราไม่คิดแบบนั้น เราคิดว่าเขามีความสามารถและมีความกล้า เราก็แค่ช่วยดันเขาให้ออกมาเท่านั้นเอง”

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน
จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

สำหรับภิญโญแล้ว แม้รูปแบบของ ทีนทอล์ก อาจประหลาดในสายตาใครบางคน แต่เนื้อหาที่นำเสนอก็ชัดเจน ไม่เลอะเทอะ อย่างพิธีกรที่มาร่วมงานทุกคนต้องผ่านการพูดคุยอย่างละเอียด เพื่อดูทัศนคติและความสามารถว่าเหมาะสมหรือไม่ หากหล่อหรือสวยอย่างเดียว อาจให้มาถ่ายแบบตอนเดียวแล้วเลิกกันไป

“จริงๆ เรามีปณิธานที่จะเป็นปากของวัยรุ่น เพราะฉะนั้น ทำอะไรต้องมีเหตุมีผล อย่างตอนที่ไปสู่ขอน้องๆ แต่ละคน เราจะบอกพ่อแม่เขาเลยว่า น้องมีความสามารถ มีศักยภาพที่จะอยู่ในรายการ คือเราเข้าใจว่าแค่เรียนก็เหนื่อยแล้ว แล้วยังต้องทำกิจกรรม ต้องคบเพื่อน แต่ถ้าเราขอให้ทำเพิ่มอีกนิด เพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นไอดอลของวัยรุ่น จะโอเคไหม แต่แน่นอนการเรียนต้องมาก่อน ช่วงสอบก็ถ่ายล่วงหน้าไป ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนก็โอเคกันหมด”

แต่กว่าที่รายการจะออกมาสมบูรณ์พร้อมนำเสนอต่อผู้ชมทางบ้านเช่นนี้ ทีมงานใช้เวลาทำงานต่อตอนร่วมร้อยชั่วโมง ทั้งถ่ายทำ ตัดต่อ ค้นข้อมูล คิดหัวข้อประเด็นต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

อย่างเรื่องที่ต้องรีบจัดการก่อนคือ เรอ่านภาษาไทยไม่ออก และจำบทยาวๆ ไม่ได้

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน
จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

ตอนนั้นทีมงานจึงใช้วิธีเขียนบทเป็นภาษาคาราโอเกะให้อ่าน จากนั้นให้เรพูดประโยคสั้นๆ เป็นวรรคๆ แล้วค่อยมาตัดต่อชนกันอีกที โดยไม่สนใจความต่อเนื่องทั้งระยะและมุมภาพ ขอเพียงทั้งหมดร้อยออกมาเป็นเนื้อเดียวกันก็พอ และเพื่อเพิ่มลูกเล่นให้ชื่อรายการเด่นมากขึ้น ทีมงานจึงก๊อปปี้คำว่า ‘ทีนทอล์ก’ มาตัดเพิ่มเฟรมเข้าไป เหมือนว่าเรพูดคำนี้ซ้ำๆ เป็น ‘ทีนทอล์กๆๆๆๆๆ’ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจดจำได้

ไม่เพียงแค่นั้น ยังต้องเพิ่มศักยภาพของบรรดาพิธีกรผู้ช่วย ด้วยการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากที่สุด อย่างคำถามสัมภาษณ์ ทีมงานจะลิสต์หัวข้อหลักๆ ไว้ให้ พิธีกรถามเสริมได้ตลอด เพราะถือเป็นมุมมองที่วัยรุ่นอยากรู้โดยตรง พร้อมกันนั้นยังปรับจุดด้อยที่อาจเป็นปัญหาในอนาคต เช่น การออกเสียง ร เรือ ล ลิง เพราะจากประสบการณ์ร่วม 10 ปี ภิญโญรู้ดีว่านี่เป็นประเด็นที่ กบว. เพ่งเล็ง ยิ่งเป็นรายการแปลกๆ เช่นนี้แล้ว ยิ่งต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ

แต่ถึง ทีนทอล์ก จะผลิตขึ้นเพื่อวัยรุ่น โลกของคนดูกลับหลากหลายกว่า ไม่แปลกเลยว่า เหตุใดช่วงเริ่มต้นจึงมีเสียงสะท้อนรุนแรงไม่น้อย แม้แต่ในตึกแกรมมี่เองก็มี 2 ฝั่งชัดเจน ฝั่งหนึ่งด่าว่าทำรายการอะไรดูไม่เรื่อง ส่วนอีกฝั่งเชียร์ บอกว่าแปลกดี แต่พวกเขาก็ไม่ปล่อยให้เสียงตำหนิมีอิทธิพลเหนือการสร้างสรรค์

เพียงไม่นาน ความเชื่อนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ เพราะบรรดาสปอนเซอร์และเอเจนซี่ต่างพูดถึง ทีนทอล์ก ในเชิงบวก แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ทีนทอล์ก ได้เข้าไปเติบโตในใจของผู้ชมคนรุ่นใหม่ หลายคนใฝ่ฝันอยากมาแสดงความสามารถในช่วง Coke New Kid และอีกหลายครั้งที่พิธีกรหลักอย่างเร จุดกระแสทางวัฒนธรรมขึ้นมาได้ เช่นตอนที่เขาตัดผมทรงสกินเฮดมาดำเนินรายการ กระแสแฟชั่นผมเกรียนก็ระบาดไปทั่วสังคมวัยรุ่นไทย 

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

03

จักรวาลทีนทอล์ก

ความสำเร็จของ ทีนทอล์ก ทำให้ผู้บริหารของแกรมมี่ตัดสินใจแยกทีมงานออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดยมีภิญโญเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสรรค์รายการที่ตอบโจทย์ความสนใจของกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ

สิ่งหนึ่งที่พี่ใหญ่อย่างเขามองคือ รายการนี้ต้องก้าวไปพร้อมกับวัยรุ่น จึงมีการปรับเปลี่ยนเสริมช่วง เสริมคนใหม่ๆ ตลอด เพื่อให้ ทีนทอล์ก อัปเดตและนำเทรนด์อยู่เสมอ

อย่างเปเล่ที่ตอนแรกเป็นแค่คนที่ยืนข้างเร ก็เริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีช่วงของตัวเอง คือ Ledio นำเสนอความคืบหน้าของเพลงและภาพยนตร์ ตลอดจนสัมภาษณ์ศิลปินต่างประเทศที่เข้ามาทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ภิญโญจึงดึง เอก-วิชัย จงประสิทธิ์พร ทีมครีเอทีฟรายการมายืนเป็นพร็อพคู่กับเรแทน

อีกช่วงที่หลายคนยังจำได้ดี คือ ‘ศัพท์วัยรุ่น กับน้าเนียม’ ซึ่งนำเสนอศัพท์แสลงใหม่ๆ ของวัยรุ่น และถือเป็นจุดกำเนิดของพิธีกรสาวอารมณ์ดีของเมืองไทย อ้น-ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน
จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

“อ้นเป็นคนดูทางบ้าน มาทำกิจกรรมตีแบดกับพี่โจ นูโว วันนั้นผมกำลังจะไปธุระต่างจังหวัดเลยแวะมาที่กองถ่าย อ้นก็มาอ๊ะๆ แล้วเขาเป็นคนช่างวิจารณ์ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราเลยบอกว่าเธอมาทำเลย หน้าที่คือเป็นแหล่งข้อมูล เป็นอินดิเคเตอร์ให้เรา เพราะฉะนั้น พี่ๆ จะไม่ค่อยชอบอ้นเท่าไหร่ เนื่องจากมันจะมานั่งวิจารณ์บท วิจารณ์งานของพี่ๆ แต่นั่นแหละทำให้เรารู้ว่าวัยรุ่นเขาไปถึงไหนแล้ว อันนั้นอิน อันนั้นเอาต์แล้ว

“แล้ววันหนึ่ง ผมก็นึกถึงสมัยทำซูโม่สำอาง เราเคยทำช่วงภาษาไทยคำละวัน จึงคิดว่าน่าจะมีช่วงศัพท์สแลงขึ้นมา เป็นคอลัมน์เล็กๆ แล้วก็คิดว่าอ้นน่าจะเหมาะที่สุด แต่เราไม่เอาชื่ออ้น ศรีพรรณ เอาชื่อน้าเนียมซึ่งเป็นแม่บ้านของพิธีกรเราแทน แล้วสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมา โดยให้อ้นเป็นคนรีเสิร์ชเองว่าจะเอาศัพท์คำไหน”

การคลุกคลีกับเด็กวัยรุ่นอยู่ตลอด ทำให้เขาเห็นว่า ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มักตามเด็กอยู่หนึ่งก้าวเสมอ หลายรายการ พยายามใส่อะไรที่คิดว่าเด็กจะชอบ ทั้งที่เลิกฮิตไปแล้ว

อย่างคำว่า ‘จ๊าบ’ ตอนแรกที่ ทีนทอล์ก ออกอากาศ แปลว่า ดีเลิศ สุดประเสริฐ แต่ผ่านไป 2 สัปดาห์ คำเดียวกันนี้กลับหมายความว่า เลวที่สุดในโลก ขณะที่รายการอื่นไม่ทราบเรื่องนี้จึงมีภาพพิธีกรชมแขกรับเชิญว่า ‘จ๊าบ’ เต็มไปหมด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ต่างจากโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วข้ามคืน

ที่สำคัญ ข้อมูลเหล่านี้ยังกลายเป็นวัตถุดิบให้ทีมงานใช้พัฒนารายการอื่นๆ ต่อไป อย่าง อีฟอร์ทีน เมื่อปลาย พ.ศ. 2538 ซึ่ง ทีนทอล์ก ได้เวลามาจาก ทีวีแคมปัส รายการวัยรุ่นซึ่งผลิตโดยอีกบริษัทในเครือแกรมมี่ โดยมีโจทย์อยากให้เป็นรายการสาระบันเทิง หรือ Edutainment ทีมงานจึงคิดว่าน่าจะทำรายการเกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่วัยรุ่นทุกคนอยากดูขึ้นมา

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

“ตอนนั้นเราก็ไปดูว่าภาษาอังกฤษอยู่ที่ไหนบ้าง ปรากฏว่ามันอยู่ในเพลง ในหนัง ซึ่งเป็นเรื่องวัยรุ่นทั้งคู่ เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นแมกกาซีนเอนเตอร์เทนเมนต์ฉบับสั้น ที่สอดแทรกภาษาอังกฤษลงไป ถามว่าสอนภาษาอังกฤษหรือเปล่า เปล่า! เราแค่สะกิดติ่ง ให้วัยรุ่นอยากไปศึกษาภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ต้องไปสอน Verb to be หรือแกรมมาร์ใดๆ เพียงแต่ว่าถ้าคุณอยากรู้มากขึ้นก็ลองไปฟังเพลงนั้น หรือดูหนังเรื่องนี้สิ”

จุดเด่นของ อีฟอร์ทีน คือพิธีกร ชาคริต แย้มนาม และ ซาร่า ผุงประเสริฐ ซึ่งต่างเป็นเด็กโรงเรียนนานาชาติ มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี และมีความเป็นธรรมชาติสูง เนื่องจากทีมงานปล่อยให้ทั้งคู่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ จึงกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ อีฟอร์ทีน มีแฟนติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่แพ้ ทีนทอล์ก เลย

นอกจากนี้ ทีนทอล์ก ยังผลิต ที-เฮลท์ รายการสุขภาพวัยรุ่นรายการแรกของเมืองไทย มันไม่เม้ม วาไรตี้ ซึ่งมีช่วงพิเศษ ‘คุณขอมาเราทำให้’ เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเขียนจดหมายเข้ามาขออะไรก็ได้ที่อยากทำ

แต่ที่ถือเป็นต้นแบบของรายการท่องเที่ยวยุคใหม่ คือ ทีนทอล์ก อินเตอร์ โดยเรจะแบกเป้ไปท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ ทั่วมุมโลก แล้วนำภาพบรรยากาศกลับมานำเสนอผู้ชมทางบ้าน

“ตอนนั้นมีโอกาสไปถ่ายรายการที่ต่างประเทศ ปรากฏว่าคุณเรติดใจ อยากทำอีกก็เลยไฟท์ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก เลยบอกว่า งบประมาณเท่ากับรายการที่ผลิตในประเทศ แล้วต้องถ่ายเอง ไม่มีกองนะ ไปกันสองคน พิธีกรกับโปรดิวเซอร์  กินมาม่า นอนวัดได้ก็นอน หรือนอนบ้านญาติใครก็ตามใจ ประหยัดสุดๆ แล้วกลับมาต้องตัดเอง ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ ทุกอย่างทำเองในบริษัท ฝ่ายขายหาสปอนเซอร์ได้เลยแฮปปี้ รอด! กลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเรเรื่อยมา”

อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่หลายคนยังจดจำได้ดี คือ ทีนแทร็กซ์ อัลบั้มเพลงของชาวทีนทอล์ก

เวลานั้น ทีนทอล์ก มีช่วงพิเศษ Teen Talk Turn เอาเพลงมาตีความหมายใหม่ ทำเป็นมิวสิกวิดีโอ หรือบางครั้งก็แต่งเพลงใหม่เลย พอทำมากๆ ก็เลยรู้สึกอยากทำอัลบั้มของตัวเองขึ้นมา ปรากฏว่าแกรมมี่อนุญาต จึงมอบหมายให้ ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ แห่งวง Kidnappers เป็นโปรดิวเซอร์ แล้วนำพิธีกรมาร้องเพลงในสไตล์ของตัวเอง

ทีนแทร็กซ์ผลิตงานออกมา 2 ชุด คือ ขอT และ 2T โดยมีเพลงดังอย่าง ไม่รู้จะเลือกใคร ร้องโดยชาคริต และ ยิ้ม ยิ้ม ร้องโดยอ้น ศรีพรรณ โดยตลอด 20 ปีมีผู้นำไปคัฟเวอร์อย่างต่อเนื่อง และยังได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

04

ไม่มีใครห้าม ‘ฮอร์โมนวัยรุ่น’ ได้

เกือบ 10 ปีที่โลดแล่นอยู่บนหน้าจอทีวี คุณูปการที่ ทีนทอล์ก มอบให้ คือการประกาศให้โลกรู้ว่า วัยรุ่นก็มีตัวตนเหมือนกัน เพราะยุคนั้นอย่าว่าแต่พื้นที่สื่อเลย ในโลกความเป็นจริง วัยรุ่นก็แทบถูกมองข้ามจากทุกภาคส่วนของสังคม

“คำถามหนึ่งที่เราตั้งมานานแล้ว คือมีกระทรวงไหนดูแลวัยรุ่น มีองค์กรหรือเอ็นจีโอสำหรับวัยรุ่นบ้างไหม ไม่มี… มีแต่หน่วยงานที่จะปราบวัยรุ่นให้อยู่หมัด เพราะฉะนั้น ใน 168 ชั่วโมง อย่างน้อยมีสักหนึ่งชั่วโมงที่เป็นของเขา โดยที่ไม่มีผู้ใหญ่มาคุมก็คงดี อย่างตัวผมเองเป็นเด็กวิทย์ รู้ดีว่าวัยรุ่นฮอร์โมนเยอะ ควรปล่อยให้มันหลั่งออกมาบ้าง เดี๋ยวก็หายไปเอง ส่วนเราแค่คอยดูอย่าให้เขาไปก่อความเดือดร้อนให้คนอื่นมากนักก็พอ

“จริงๆ ผมไม่ได้เข้าใจเด็กหรอกนะ เพียงแต่รู้ว่ามีพลังงานบางอย่างที่ทำให้เขาเป็นอย่างนี้ อย่างตอนเป็นวัยรุ่น ผมเองก็ไว้ผมยาว พอเบื่อก็ตัด นี่เป็นธรรมชาติ วัยรุ่นอยากมีสังคม อยากมีอิสระ วัยรุ่นถึงชอบกลางคืน เพราะผู้ใหญ่หลับแล้ว วัยรุ่นยุคไหนก็เหมือนกัน เพียงแต่ฮอร์โมนเราอาจหมดแล้ว จึงรู้สึกว่าวัยรุ่นวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อน”

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

เพราะฉะนั้น เขาจึงอยากสร้างแม่แบบที่ดี ซึ่งทุกคนใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ อย่างเร ก็คือตัวแทนของวัยรุ่นที่คิดนอกกรอบ มีอิสระ และไม่ปล่อยให้ข้อจำกัดใดๆ มาขัดขวางความตั้งใจของตัวเอง เช่นเดียวกับอ้น ศรีพรรณ ก็เป็นตัวอย่างของสาวหมวยธรรมดาๆ ที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด จนกลายเป็นผู้หญิงที่ดูดี และมีเสน่ห์ตามแบบฉบับของตัวเอง

“ผมเคยบอกให้อ้นโชว์รูป Before-After ตอนแรกไม่ได้อยากโชว์หรอก แต่เราก็บอกว่า อ้นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของอาหมวยทั้งหลาย เพราะฉะนั้น โชว์ไปเลยว่าพัฒนาการเป็นยังไง ทำให้ทุกคนเห็นว่าถ้ารู้จักทำ รู้จักใช้ ไม่ต้องไปผ่าตัดทำศัลยกรรมอะไรก็ดีได้ สำหรับเรา เด็กไทย”..เรียนหนังสือก็เรียนได้ อยากทำอะไรก็ต้องทำได้เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ภิญโญรู้สึกว่า ยังทำไม่ได้สำเร็จ คือการสร้างชุมชนที่เชื่อมร้อยวัยรุุ่นเข้าไว้ด้วยกัน

จักรวาล Teen Talk ต้นฉบับรายการแหวกทุกขนบที่มีปณิธานจะเป็นปากของวัยรุ่นไทย 25 ปีก่อน

เพราะถึง ทีนทอล์ก จะพอมีเครื่องมือต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ‘ทีนทอล์ก โซไซตี้’ ชมรมที่เปิดโอกาสให้แฟนๆ สมัครเข้ามาร่วมทำกิจกรรม อย่างท่องเที่ยว ชมภาพยนตร์หรือคอนเสิร์ตฟรีร่วมกัน หรือเว็บไซต์ teentalk.to ซึ่งเป็นสื่อกลางกระจายข่าวสารต่างๆ ของรายการ แต่โดยรวมก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทีมงานไม่ได้มีเวลาโฟกัสเรื่องนี้มากนัก เพราะช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทีนทอล์ก เคยทำรายการพร้อมกันถึง 5 รายการ 

“เราไม่ได้มีหัวการตลาดเลย เพราะเรามองว่าแค่รายการที่มีอยู่ก็ถึงผู้ชมแล้ว เราเคยจัดปาร์ตี้อยู่เหมือนกัน เจอแฟนคลับตัวเป็นๆ บ้าง แต่ก็ไม่ทำจริงจังนัก ถ้าเรามีการตลาดที่แข็งแรง วันนี้ ทีนทอล์ก อาจจะยังอยู่ก็ได้”

ทีนทอล์ก ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2547 ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งนโยบายและมุมมองการตลาดของแกรมมี่ที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการยื่นใบลาออกของภิญโญ

แต่ถึงรายการจะยุติลง ผลงานที่พวกเขาช่วยกันสร้างสรรค์ยังคงเติบโตไม่หยุด โดยเฉพาะบรรดาพิธีกรที่มุ่งมั่นตามเส้นทางที่ตัวเองเลือก บางคนกลายเป็นนักเดินทาง เป็นพระเอกแถวหน้า เป็นนักร้องศิลปิน เป็นนักกีฬา เป็นทนายความ และอื่นๆ อีกมากมาย เช่นเดียวกับภิญโญที่ยังคงมีความสุขเสมอ เมื่อย้อนนึกถึงเวลานั้น

“ถ้าเป็นวันนี้ คงไม่จำเป็นต้องมี ทีนทอล์ก มีภิญโญ รู้ธรรม หรือแม้แต่เร แมคโดนัลด์ อีกแล้ว เพราะทุกคนเป็นเจ้าของรายการของตัวเองได้หมด แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากเห็นคือ กฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้วัยรุ่นไทยเติบโตอย่างมีโลจิก มีครีเอทีฟ รู้จักเผื่อแผ่ และแสดงออกในทางที่ถูกต้อง ซึ่งตอนนั้นเราพยายามสร้างดีเอ็นเอนี้ขึ้นมา เพราะเราเชื่อว่า ประเทศชาติจะต้องเจริญด้วยพลังของคนรุ่นใหม่”

..และนี่คืออุดมการณ์ของ ทีนทอล์ก ที่อยากส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป


ข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์ คุณภิญโญ รู้ธรรม วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  • วิทยานิพนธ์ การสร้างความหมายวัฒนธรรมวัยรุ่นในรายการปกิณกะบันเทิงทางโทรทัศน์ โดย วิภาวี วิโรจน์พันธุ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สารนิพนธ์ กว่าจะเป็น “ทีนทอล์ก” โดย ธัญลักษณ์ มณีรัตนะพร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สารนิพนธ์ ผู้จัดการกองถ่ายในรายการทีนทอล์ก โดย จริยา สมบูรณ์ธรรม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สารนิพนธ์ อิทธิพลรายการโทรทัศน์ต่อวัยรุ่น : กรณีศึกษาเฉพาะรายการ “ทีนทอล์ก” โดย รุจิรัชต์ อุทัยเสน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สารนิพนธ์ ผู้อำนวยการผลิต : เบื้องหลังความสำเร็จของรายการศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ทีนทอล์ก จำกัด โดย ขนิษฐา ธนาจันทราภรณ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สารนิพนธ์ “YA COOL SA” ซ่ากันอย่างไร โดย กีรติกา โล่ห์สกุล คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอบคุณภาพประกอบ คุณดวงสมร เอี่ยมดี และอดีตทีมงานบริษัท ทีนทอล์ก จำกัด

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว