กาแฟยี่ห้อหนึ่งคิดการใหญ่…เพราะอยากช่วยรักษาป่าใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ

ป่าใหญ่ที่ว่าคือผืนป่าตะวันตก ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในป่าแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่นับร้อยชุมชน ทว่าด้วยวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรน บวกกับองค์ความรู้ด้านอาชีพมีไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเลือกประกอบอาชีพที่ไม่เป็นมิตรกับผืนป่าสักเท่าไหร่

กล่าวคือมีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น พริก กะหล่ำปลี และใช้สารเคมีเพราะต้นทุนการผลิตต่ำ ทำซ้ำๆ อย่างนี้มายาวนานหลายสิบปี จนปัจจุบันพื้นที่ป่าหาย ดินเสื่อม น้ำเสีย สัตว์ป่าอยู่ไม่ได้ คนเองก็เริ่มป่วยมากขึ้นเพราะพิษสารเคมี ที่สำคัญคือ ผลกระทบเหล่านี้ส่งมาถึงคนนอกป่าอย่างเราๆ เพราะที่นี่เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตอากาศดีๆ และน้ำสะอาดๆ ให้คนไทย

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่มีเป้าหมาย ‘รักษาป่าใหญ่เพื่อคนไทยทั้งชาติ’ จึงร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จัดทำโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เพื่อฟื้นฟูป่าผ่านการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่า คือใช้พื้นที่น้อย ใช้สารเคมีน้อย สร้างรายได้เยอะ ฟื้นฟูป่ากลับมาเยอะๆ ตามแนวคิด ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้’

ทว่าสิ่งที่คิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงในระดับวิถีชีวิตที่ผู้คนเคยชินมาหลายสิบปี แถมยังเป็นเรื่องปากท้องความอยู่รอดที่ใครๆ ก็ไม่อยากเสี่ยง เรียกว่าชาวบ้านจะร่วมโครงการนี้ก็ต่อเมื่อใครสักคนในป่าลองทำเป็นตัวอย่างแล้วได้ผลจริง

แล้วก็เป็นโชคดีจริงๆ ที่มูลนิธิสืบฯ เจอใครคนนั้น คนธรรมดาที่ใช้เวลา 7 ปีในการทำให้อาชีพเป็นมิตรกับผืนป่าเกิดขึ้นจริง แถมยังสามารถชวนคนในหมู่บ้านมาทำอาชีพรักษาป่าด้วยกันในนาม ‘TEELOR-SU COFFEE’

เจอกันวันที่ทุกอย่างพังลง

วันที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาเจอ ซ้ง-ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา เป็นวันที่ป่าต้นน้ำแม่กลองของหมู่บ้านแม่กลองน้อยกำลังป่วยหนัก…

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หมู่บ้านเราปลูกพืชเชิงเดี่ยวมานาน จำความได้ว่าเราวิ่งเล่นในไร่กะหล่ำมาตั้งแต่เด็ก ก่อนหน้าไร่กะหล่ำก็เป็นไร่ฝิ่น คนในพื้นที่เราใช้ชีวิตกันมาอย่างนี้โดยไม่รู้ว่าที่ที่อยู่มันเป็นต้นน้ำ ไม่ได้สนใจหรอกว่าน้ำที่เราใช้ไหลไปไหน เราก็ใช้ไป ถางป่าจนป่าไม่มีแล้วยังไง เราคิดว่าป่าเป็นของรัฐ ไม่ต้องไปดูแลหรอก ปลูกผักก็ใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้นทุนถูกกว่า สารเคมีก็ลงไปในดินในน้ำ เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีจนวันหนึ่งน้ำเริ่มไม่ดี ปลาที่มีเยอะๆ เริ่มหาย ดินเสื่อมปลูกอะไรไม่ขึ้น ทุกอย่างเริ่มพังให้เห็น ชาวบ้านเราก็อยากเปลี่ยนนะ แต่เราไม่มีความรู้ที่จะทำให้มันดีกว่านี้”

ช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังพัง ซ้งเรียนจบจากสาขาเกษตรป่าไม้ (Agroforestry) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เขากลับมาอยู่บ้านโดยยังไม่แน่ใจว่าจะประกอบอาชีพอะไร รู้แค่อยากพัฒนาการเกษตรของคนในหมู่บ้านให้มันดีกว่านี้ วันหนึ่งเพื่อนของเขาซึ่งทำงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาจัดเวทีประชุมเรื่อง ‘ชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า’ เพื่อเสนอให้คนหมู่บ้านฟื้นฟูป่าคืนมาด้วยการปลูกกาแฟ

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เพราะกาแฟชอบที่ร่ม แปลว่าต้องปลูกรวมกับต้นไม้ใหญ่ แถมยังใช้สารเคมีน้อย หากคนที่นี่ยอมเปลี่ยนไร่พริกไร่กะหล่ำมาเป็นไร่กาแฟ ก็จะได้ทั้งป่า ทั้งรายได้ และได้ปล่อยน้ำสะอาดไร้สารเคมีให้คนปลายน้ำแม่กลอง

“แต่ไม่มีใครสนใจเลย” ซ้งหัวเราะ

“ตอนแรกที่เขาเข้ามาพูดเรื่องกาแฟไม่มีใครทำเลย เพราะเขาเคยมีประสบการณ์ปลูกแล้วตาย อีกอย่างชาวบ้านไม่รู้ว่าจะแปรรูปกาแฟยังไง คือเราก็เห็นมันขึ้นตามไร่ตามนามานาน อย่างมากก็ไปเก็บมากินเป็นผลไม้

“แต่เรานี่สิ…ฟังแล้วสนใจเลย คิดว่าอันนี้แหละที่เราจะทำ”

หลังจากนั้นไม่นานซ้งสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานกาแฟของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาสาทดลองปลูกกาแฟและไม้อื่นๆ ลงในที่ดินของตนเองโดยมีชาวบ้านอีกประมาณ 10 คนลองไปด้วยกัน

รอเนียง-พลับ-แมคคาเดเมีย-TEELOR-SU ออกผล 7 ปี

ปลูกกาแฟอย่างเดียวคงไม่ตอบโจทย์เท่า ปลูกกาแฟอย่างไรให้มีกินมีใช้ที่สุด

ดังนั้น สิ่งแรกๆ ที่ซ้งทำหลังจากสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามคือตระเวนสำรวจ ‘ไม้ผลท้องถิ่น’ ที่จะเอามาปลูกร่วมกับกาแฟ ไม่นานนักเขาก็พบว่าหากปลูกกาแฟแทรกต้นเนียง พลับ แมคคาเดเมีย น่าจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียนตลอดปีเพราะเจ้าพวกนี้ให้ผลผลิตในเวลาต่างกัน แถมยังเหลือพื้นที่ปลูกผักไว้กินไว้ขายช่วงหน้าแล้งได้อีกด้วย

ว่าแล้วก็ทดลองปลูกเนียง พลับ แมคคาเดเมีย ในไร่ตัวเองแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป คือแบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งไปปลูกไม้ใหญ่และกาแฟ ส่วนที่เหลือยังคงปลูกพริกและกะหล่ำปลีโดยไม่ใช้สารเคมี

แล้วก็รอ…

ระหว่างรอคอยการเติบโตของเจ้าต้นไม้ ซ้งลองไปเก็บผลกาแฟจากในหมู่บ้านมาแปรรูป ‘ตามสัญชาตญาณ’ กล่าวคือเขาไปซื้อกาแฟสำเร็จรูปมาดูเป็นต้นแบบ แล้วเอาผลกาแฟไปล้าง-ตาก-คั่วในกาน้ำร้อนสังกะสี-ตำกับครก…

ผลคือ เละตุ้มเป๊ะ

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“ตอนนั้นเราเห็นแล้วว่าการทำให้กาแฟขายได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราต้องทำให้ได้เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็นว่า เฮ้ย นี่ไง ไอกาแฟรักษาป่ามันทำได้จริง เขาจะได้ทำตาม เราก็เลยเริ่มออกหาความรู้เรื่องกาแฟ ช่วงนั้นลี อาข่าอ่ามา กำลังดัง เราก็ไปถามเพื่อน ไปดูตามร้านกาแฟดังๆ ติดตามสมาคมกาแฟพิเศษไทย ไปเข้าร่วมโปรเจกต์พัฒนากาแฟ จนรู้จักกลุ่มกาแฟคุณภาพหลายกลุ่ม แล้วก็เชิญวิทยากรมาบรรยายในหมู่บ้าน คือกว่าจะมาเป็นกาแฟที่ขายทุกวันนี้เราต้องพัฒนากันตลอด”

ทว่าการพัฒนากาแฟให้คุณภาพดีและขายได้ไม่ใช่สิ่งที่ยากที่สุดในการทำกาแฟรักษาป่า เพราะไม่กี่ปีต่อมากาแฟ TEELOR-SU ก็เกิดขึ้นและเริ่มขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซ้งบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดในเส้นทางตลอด 7 ปีนี้คือเสียงมากมายของผู้คนรอบข้างที่ทำให้เขารู้สึก ‘ลำบาก ท้อใจ หมดไฟ ไม่อยากทำอะไรเลย’

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“ทำกาแฟให้ดี ขายได้ หรือรอต้นไม้โต มันไม่เท่าไหร่หรอก แต่ความยากลำบากจริงๆ คือเสียงรอบข้างนี่แหละ เราโดนถามตลอดว่าเรียนจบกลับมาอยู่บ้านทำไม ไม่ไปทำงานที่อื่น หรืออย่างเรื่องกาแฟ แน่นอนว่าต้องมีคนที่เคยปลูกแล้วมันตาย เขาก็ถามว่าเราจะปลูกอีกทำไม บางทีโดนเสียงรอบข้างมากๆ มันก็ท้อ หมดไฟ แต่เราผ่านมาได้ด้วยการพยายามทำของเราไป แล้วก็คิดแค่ว่ายุคนั้นก็ยุคนั้นดิ ยุคนั้นอาจไม่มีองค์ความรู้ที่ตอนนี้มี

“คือยังไงอะ ถ้าไม่ทำอะไรสักทีก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน โดยเฉพาะภาพที่เขาจำชาวม้งมันจะไม่เปลี่ยน ภาพของเรามันไม่ดีอยู่แล้วเพราะเราอยู่ป่าต้นน้ำ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย แต่เราใช้เคมีเยอะ ตัดไม้เยอะ เราไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนทำลายป่าต้นน้ำแล้ว คือมันต้องทำเท่านั้น ไม่งั้นทุกอย่างก็เหมือนเดิม”

เขารอต้นไม้โตมา 7 ปี…จนวันนี้มันเริ่มออกดอกออกผลสมกับที่รอ

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่สั่นสะเทือนไปถึงปลายน้ำ

7 ปีผ่านไป…เสียงทัดทานรอบข้างกลายเป็นเสียงสนับสนุน

เพราะเจ้าเนียง พลับ แมคคาเดเมีย ในไร่ของซ้งเริ่มออกดอกออกผลให้กินได้ แจกจ่ายได้ แถมเจ้ากาแฟก็พัฒนาจนขายได้กว่า 1 ตัน ต้นไม้เหล่านั้นส่งเสียงความสำเร็จจนชาวบ้านกว่า 50 คนในหมู่บ้านขอเข้าร่วมโครงการ เวลานี้คนในหมู่บ้านแม่กลองน้อยค่อยๆ เปลี่ยนไร่กะหล่ำของตัวเองเป็นไร่กาแฟสลับไม้ผล และลดใช้สารเคมีไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จนตอนนี้สามารถจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตและแปรรูปพืชปลอดภัยจากสารเคมีบ้านแม่กลองน้อย

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ของคนต้นน้ำที่สั่นสะเทือนไปถึงปลายน้ำแม่กลอง…เพราะตอนนี้ต้นน้ำใสสะอาดแล้ว

“ถ้ามองจากกูเกิลแมพส์เทียบกับหลายปีก่อน จะเห็นว่าสีเขียวในบ้านเรามันเพิ่มขึ้นนะ เราว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันใช้เวลา โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดคนในหมู่บ้าน คนที่มาร่วมส่วนหนึ่งเขาก็สนใจเอง บางส่วนเราก็ไปชวน แต่บางส่วนคือเจอดินเสื่อมมากับตัว เจอว่าปลาที่มีเยอะๆ หาย เจอว่าน้ำไม่สะอาด คือมนุษย์เราต้องรอมันพังก่อนถึงจะเข้าใจ

ตอนนี้ทางกลุ่มนอกจากจะทำกาแฟ เราก็ขยับมาช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำ ชาวบ้านเขาเริ่มรู้แล้วว่าน้ำที่ใช้ไม่ได้ใช้คนเดียว แต่มีคนอื่นมาใช้ต่อจากเรา เราก็อยากให้เขาได้ใช้น้ำสะอาด ก็มาคุยว่าจะทำยังไงล่ะ นำไปสู่การตั้งกฎร่วมกันในการดูแลป่าต้นน้ำ เช่น กั้นแนวแม่น้ำให้เป็นที่เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ทุกวันนี้ถ้าไฟไหม้ป่าต้นน้ำ จากเมื่อก่อนพวกเราคงปล่อยมันไป ทุกวันนี้คนในชุมชนเราช่วยกันแบกน้ำขึ้นไปดับ

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“อยากให้ชุมชนเมืองรู้ว่าการกินกาแฟของเขาแก้วหนึ่งมันไม่ได้

แค่รสชาติ แต่เขามีส่วนร่วมในการรักษาพื้นที่ป่าให้คนไทยได้ เราเชื่อว่าการบริโภคเป็นสิ่งสำคัญมากในการเปลี่ยนโลก อยู่ตรงไหนก็สามารถเลือกบริโภคในสิ่งที่มันส่งผลกระทบน้อยๆ ได้ มนุษย์เนี่ยชอบรอให้พังก่อน ไอ้กลุ่มที่พังก่อนแบบพวกเรามันคิดได้แล้วเลยออกมารณรงค์ ก็อย่ารอให้พังเลย”

อย่างที่บอกว่ากาแฟยี่ห้อ TEELOR-SU คิดการใหญ่ มันอยากรักษาป่าใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ และวันนี้ความสำเร็จเล็กๆ ของมันเกิดขึ้นแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงของคนเล็กๆ หลายๆ คนที่กำลังเปลี่ยนไร่กะหล่ำ ไร่พริก ของตัวเองเป็นต้นไม้ที่ยั่งยืนกว่าเดิม เป็นมิตรกับป่ามากกว่าเดิม จนตอนนี้เริ่มขยับขยายแนวคิดไปสู่หมู่บ้านข้างๆ

พวกเขากำลังทำ…และรอ…วันหนึ่งที่ป่าออกดอกออกผลงดงาม

TEELOR-SU COFFEE, ซ้ง ณรงศักดิ์ มาลีศรีโสภา, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
 

Writer

Avatar

วิภาดา แหวนเพชร

ขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปไหนจะชอบสังเกตคน ชอบคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะ homeless ชีวิตมนุษย์นี่มหัศจรรย์มากๆ เลย ชอบจัง

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ