จากการพูดคุยกันสั้น ๆ ในระยะเวลาชั่วโมงเศษผ่านช่องทางออนไลน์ เราเรียนรู้ว่าผู้ชายที่ชื่อ กุล-กุลชาติ เค้นา เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ดันให้การท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เฟื่องฟูและเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ

กุลมีอาชีพหลักเป็น UX/UI Designer ทำงานแบบ Digital Nomad (กลุ่มคนที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เดินทางไปด้วย ทำงานไปด้วยจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก) เป็นผู้ปลุกปั้น ฟาร์มคิด ร้านอาหาร-กาแฟที่ขายความเป็นพื้นถิ่นในรูปแบบที่นักท่องเที่ยวกินอร่อย เป็นหนึ่งในสามผู้สร้าง วิวผาม่าน ผู้ให้บริการพานักท่องเที่ยวไปดริปกาแฟหลักร้อย แต่ได้ชมวิวหลักล้าน ร่วมผลักดันการสร้าง มหา’ลัยไทบ้าน ร่วมกับกลุ่มมหาลัยเถื่อนและนักขับเคลื่อนในอำเภออื่น ๆ เพื่อเสริมพลังคนพื้นที่ที่ทำงานพัฒนาบ้านเกิด จนแตกหน่อออกมาเป็นโปรเจกต์เทคไทบ้าน’ ที่จะช่วยลดช่องว่างทางเทคโนโลยีและสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนไปพร้อมกัน

ถ้าเล่าแค่ความดีงามของโปรเจกต์ที่เขาทำมันจะไปสนุกอะไร 

เมื่อความน่าสนใจของผู้ชายไทบ้านคนนี้มีซ่อนอยู่อีกหลากหลายมุม 

เทคไทบ้าน โปรเจกต์พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยี สู่พื้นที่ Digital Nomad กลางทุ่งภูผาม่าน ขอนแก่น

Prototype ถึง MVP

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว นักออกแบบหนุ่มชื่อกุลได้เริ่มนำไอเดียในการขับเคลื่อนสังคมของเขาที่คุกรุ่นอยู่ในใจออกมา 

“โปรเจกต์แรกที่เริ่มคือ ฟาร์มคิด เป็นชื่อในอุดมคติของผมก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่ขอนแก่น ตอนนั้นผมไม่มี Business Model แค่อยากทำชุดปลูกผักคนเมือง เพื่อให้คนได้กินผักปลอดภัย ผมก็ให้พ่อตายิงไม้พาเลต ทำ Prototype ขึ้นมา ปรากฏว่าแค่กล่องก็หนัก 10 กก. เราไม่ได้คำนวณต้นทุนก่อน ก็เลยไม่เวิร์ก เลิกทำ” กุลเล่าจุดเริ่มต้นของฟาร์มคิดอย่างติดตลก

เมื่อโมเดลแรกไม่สำเร็จ เขาลองกลับไปทบทวนเป้าหมายจริง ๆ ว่าอยากทำอะไรกันแน่ และพบว่าหนทางในการขับเคลื่อนเป้าหมายในการสร้างงานให้ชุมชน สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย จนถึงการฝึกฝนให้เด็ก ๆ คุ้นชินกับเทคโนโลยี ไม่ได้มีแค่แนวทางเดียว 

เมื่อเวลาผ่านไป ไอเดียถูกตกผลึกเป็นร้านอาหารพื้นถิ่น ‘ฟาร์มคิด’ เปิดในอำเภอภูผาม่าน บ้านเกิดของเขา

“ร้านฟาร์มคิดตอนแรกเป็นร้านขายสเต๊ก ตอนนั้นก็ห้าว คิดว่าตัวเองชอบทำสเต๊กก็เลยทำขาย จริง ๆ ขายได้โอเคนะ แต่ชีวิตพังเพราะเราต้องเลี้ยงลูก ทำงาน ประชุม เตรียมของขาย ธาตุไฟเข้าแทรกเหมือนกัน” กุลเล่าถึงช่วงเวลาที่ยังหาสมดุลระหว่างงานประจำกับความฝัน แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวที่เขาต้องเจอ “เปิดร้านไปได้ไม่ถึง 6 เดือน โควิด-19 ก็มา ซึ่งปัญหาใหญ่จริง ๆ ที่เราเจอ คือการหมุนเวียนของเงินมันน้อย เพราะอำเภอภูผาม่านไม่มีคนมาท่องเที่ยวเลย เป็นเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก” 

ถ้าเป็นคนอื่นคงยอมแพ้และปิดร้านอาหารไปแล้วใช่ไหม

แต่กุลไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น เขากลับเลือกชวนเพื่อน ๆ สายเทคที่ทำงานด้วยกันมาจัดอีเวนต์ด้านเทคโนโลยีกลางทุ่งนา พร้อมไลฟ์สดอวดคนในเมืองด้วยว่าบ้านฉันมีวิวสวยขนาดนี้ จนใคร ๆ ก็อิจฉา เป็นที่มาของอีกหลายกิจกรรมที่เลือกภูผาม่านเป็นฉากหลัง

เมื่อภูผาม่านบ้านนาถูกค้นพบในฐานะ Hidden Gem สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว ก็เริ่มมีองค์กรรัฐและเอกชนให้ความสนใจ ดึงดูดให้ผู้คนใหม่ ๆ เข้ามา รวมถึงไอเดียในการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาถึงกุลด้วย

“หลังจาก ททท. และ TCDC เข้ามาร่วมทำทริปโปรโมตการท่องเที่ยวให้ภูผาม่าน เราก็ได้รับไอเดียจากช่างภาพของ TCDC ท่านหนึ่ง เขาบอกให้ผมเฝ้ามองหนองสมอให้เขา หากในหนองจะมีน้ำเอ่อ ให้รีบบอกเขาเลย เขาจะมาถ่ายภาพภูเขาสะท้อนน้ำพร้อมแสงเช้า ซึ่งมันสวยมาก” ชายหนุ่มเล่าพลางอวดภาพวิวที่หนองสมอที่เป็นแบกกราวนด์ในโปรแกรม Zoom ของเขา

“แถมเขายังให้ไอเดียด้วยว่า เราน่าจะลองเอากาแฟมาดริปกันที่นี่ ผมกับน้องอีก 2 คน คือ พิมพ์กับต๋อง เลยสั่งชุดดริปกาแฟมาลองไลฟ์ลง Facebook ปรากฏว่าคนสนใจ หลังจากนั้นไม่กี่วันเราก็เปิดเพจรับจองคิวให้คนมาดริปกาแฟพร้อมชมวิวกับเราที่นี่เลย เป็นการทำ MVP (บริการตัวอย่าง) เหมือนที่ทำกันในวงการสตาร์ทอัพนั่นแหละครับ เป็นที่มาของ วิวผาม่าน ที่เราพาคนมาชมวิวและดริปกาแฟด้วยกันที่หนองสมอ ทุกวันนี้คิวยังเต็มอยู่ตลอดเลย” กุลเล่าอย่างภาคภูมิใจ 

จาก Prototype เล็ก ๆ ที่ไม่เวิร์กในวันนั้น มาถึง MVP ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาชุมชนในวันนี้ 

เป็นจุดเริ่มต้นสู่ความเป็นไปได้อีกมากมายที่เกิดขึ้นตามมา

เทคไทบ้าน โปรเจกต์พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยี สู่พื้นที่ Digital Nomad กลางทุ่งภูผาม่าน ขอนแก่น

Network ถึง Infrastructure

แน่นอนว่าในจุดเริ่มต้นของการผลักดันภูผาม่านเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย

กุลบอกกับเราว่าเขาผ่านมาได้ด้วยความช่วยเหลือของบ้านพี่เมืองน้อง

“นอกจากอำเภอภูผาม่านแล้ว บ้านพี่เมืองน้องอย่างอำเภอสีชมพูเขาก็ทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนอยู่ด้วย เราเป็นเมล็ดพันธ์ุที่เติบโตมาด้วยกัน ต่างคนต่างก็อยากโชว์ศักยภาพของพื้นที่ตัวเอง จนมีโครงการหนึ่งที่รัฐสนับสนุน จัดให้คนรุ่นใหม่มาเจอกัน เราร่วมกับ ครูสอญอ-สัญญา มัครินทร์, คุณนุ-อนุวัตร บับพาวะตา แก๊งอำเภอสีชมพู ประชุมกับ พี่ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร จากมหาลัยเถื่อน ระดมความคิดกันกลายเป็นชื่อ มหา’ลัยไทบ้าน ขึ้นมา” กุลโยงใยให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างโปรเจกต์การท่องเที่ยวกับโปรเจกต์การศึกษาที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วม

“มหา’ลัยไทบ้านเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ คนไทบ้านที่อยู่ในพื้นที่มาทอล์ก มาแชร์ มาเสริมพลังให้กัน ทำไมนักพูดต้องอยู่บนเวที TED เท่านั้น จะอยู่บนรถแต๊ก ๆ แบบไทบ้านเราได้มั้ย เพื่อทำอะไรบางอย่างให้กับพื้นที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเรียนรู้ชุมชน กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งแต่ละคนต่างเป็น Contributor” ชายหนุ่มอธิบายหน้าที่ของมหาลัยไทบ้าน

กุลชัดเจนแต่แรกว่าเขาต้องการนำเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างอาชีพและโอกาสให้กับคนในชุมชน เขาจึงสร้างสาขาย่อยของตัวเองขึ้นมาภายใต้ร่มของมหา’ลัยไทบ้าน ชื่อว่า เทคไทบ้าน มีฟังก์ชันในการค้นหาบทบาทและจุดยืนที่เหมาะสมของเทคโนโลยีต่อชุมชนแห่งนี้

“ช่วงนี้มีคำฮิตคำหนึ่ง คือคำว่า ชนบทดิจิทัล ซึ่งผมตั้งคำถามว่าเราพร้อมจริงหรือเปล่า” กุลเปรย “จริง ๆ พวกของหรืออุปกรณ์มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสาสัญญาณ ไวไฟ แต่คนในชนบทเป็นเพียงผู้ใช้งาน ยังไม่ได้เป็นผู้สร้าง ผู้แบ่งปัน หรือผู้แก้ปัญหา

เทคไทบ้าน โปรเจกต์พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยี สู่พื้นที่ Digital Nomad กลางทุ่งภูผาม่าน ขอนแก่น
เทคไทบ้าน โปรเจกต์พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยี สู่พื้นที่ Digital Nomad กลางทุ่งภูผาม่าน ขอนแก่น

“กรณีที่เจอล่าสุดคือหลานของผมเอง ผมสังเกตว่าเขาเรียนออนไลน์ติดปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่เปิดไลน์ เข้าห้องเรียนไม่ทัน กรอกโค้ดไม่ได้ ต้องโหลด Google Classroom แต่ไม่รู้จักว่าคืออะไร ขนาดหลานอยู่กับผมที่เข้าใจบริบทของเทคโนโลยีระดับหนึ่งยังเจอปัญหาขนาดนี้ แล้วเด็กในชุมชน ในหมู่บ้านที่อยู่กับตายาย ใครจะแก้ปัญหาให้เขา

“ผมเลยคิดได้ว่าเทคไทบ้านน่าจะเป็นโปรเจกต์ที่เชื่อมได้ โดยเอาเด็ก ๆ มาฝึกให้เป็นไอทีซัพพอร์ต”

เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างการพาเด็ก ๆ ไปร่วมสำรวจและเก็บข้อมูลร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนโดยใช้ Google Document ที่มีฟังก์ชันแปลงเสียงเป็นภาพ เพื่อให้พวกเขาคุ้นชินกับเทคโนโลยี ข้อมูลที่เด็ก ๆ เก็บมาเหล่านั้น กุลไม่ได้ปล่อยให้เสียเปล่าเลยแม้แต่น้อย แต่นำมาเป็นต้นทุนในการสร้างเว็บไซต์นำเที่ยวชุมชนที่ชื่อ phuphaman.org เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่เชื่อถือได้ รวมถึงได้สร้างแท่นแสกน QR Code ติดไว้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชน เป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อมโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์เข้าด้วยกัน เอาไว้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่

“นี่คือการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนครับ” กุลสรุปรวบความ 

“นักท่องเที่ยวเข้าถึงข้อมูลได้ ชาวบ้านไม่ต้องตอบคำถามซ้ำ ๆ ซึ่งเราตั้งใจจะเปิดให้เว็บไซต์นี้เป็น Open Source ทุกอำเภอเอาโค้ดของเว็บนี้ไปทำเว็บของตัวเองได้เลย มีวิธีการทั้งหมดตั้งแต่การเก็บข้อมูลจนถึงเอาข้อมูลเข้าระบบ”

หากมองในภาพรวมแล้ว การทำงานของกุลเริ่มจากความไม่มี ความไม่พร้อม ก่อร่างสร้างตัวขึ้นบนเครือข่ายของผู้คน จนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนชุมชนบ้านเกิดของเขา ทั้งการสร้างเด็ก ๆ ให้มีความพร้อม จนถึงสร้างช่องทางให้ข้อมูล

กุลชาติ เค้นา ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ด้วยเทคโนโลยี และโปรเจกต์พัฒนาชุมชนสู่ Digital Nomad

Zero ถึง Hero

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ชายชื่อกุลปฏิเสธที่จะเชื่อว่าเขาทำไม่ได้

“ผมมองว่าก่อนหน้านี้ภูผาม่านเองก็ไม่พร้อม แล้วใครเป็นคนทำให้มันพร้อม” เขาตอบสั้น ๆ เมื่อเราถามว่า ไอเดียลักษณะนี้จะเกิดขึ้นที่อื่นได้อย่างไร “ผมมีโควตหนึ่งประจำใจว่า พื้นที่ที่ดีที่สุดในทัศนคติของคุณคืออะไร… มันควรจะเป็นคุณนะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น ผมพูดกับทุกคนว่า ถ้าคุณอยากเห็น คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเกิด” เขาพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

คำตอบของกุลไม่ได้ออกมาแบบคนโลกสวย เขาเข้าใจอย่างดีถึงความยากและข้อจำกัดของคนทำงานขับเคลื่อนชุมชน

“ปากท้องเป็นข้อจำกัดสำคัญ ไม่มีใครอยากเพิ่มภาระโดยที่ตัวเองไม่ปลอดภัย” กุลเสริมอย่างเรียบง่าย “คุณภาพชีวิตเป็นข้อจำกัดในการทำงานเพื่อสังคมสำหรับผม ถ้าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ มีหน้าที่การงานหรือ Ecosystem ที่ทำให้เราทำงานที่บ้านและเติบโตได้ ผมว่าคนทำงานเพื่อสังคมจะเพิ่มขึ้นเยอะมาก ผมถึงจริงจังเรื่องการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ต้องรอด

“ช่วงแรกก็หมดไฟเหมือนกันนะ เคยคิดว่าเลิกทำดีกว่าไหม แต่พอถึงจุดหนึ่งเราเลิกทำไม่ได้ เพราะบริบทสังคมที่อยากเห็นมันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่น่ารอดแน่ ต่อให้เราเลี้ยงลูกดี ส่งลูกไปเรียนดี ๆ แต่บริบททางสังคมไม่เอื้อให้ลูกเรามีความสุขในพื้นที่ที่เขาอยู่หรือสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้เขามีความสุข มีอิสระในการคิด ถ้าตัวผมคนเดียวอาจจะทำงานไปเงียบ ๆ ค่อย ๆ สื่อสารไปก็ได้ แต่เด็ก ๆ ทั้งลูกหลานของเราเขารอไม่ได้”

นั่นคือแรงผลักดันในใจที่พาให้ผู้ชายคนหนึ่งเริ่มต้นจากศูนย์ จนกลายเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันอุดมคติให้เกิดขึ้นได้จริงในบ้านเกิดของเขาเอง

กุลชาติ เค้นา ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ด้วยเทคโนโลยี และโปรเจกต์พัฒนาชุมชนสู่ Digital Nomad

Local ถึง Global

เราอดถามกุลไม่ได้ว่า ทำงานขับเคลื่อนมาแล้วหลายปี เห็นพื้นที่ภูผาม่านเข้าใกล้อุดมคติที่เคยมีมากขนาดไหน

“หลังจากทำงานมา 6 ปี ภูผาม่านเข้าใกล้พื้นที่ในอุดมคติของผมมาก จนผมเริ่มคิดว่าต่อให้ไม่มีตัวเรามันก็น่าจะไปต่อได้ ผมไม่ชอบทำอะไรที่ยึดโยงกับตัวเองเยอะ ๆ เพราะมันกดดัน ผมเลยทำเทคไทบ้านเป็น Open Source เป็นชุมชน เป็นต้นไอเดีย แต่แก่นของมันคือการนำเทคโนโลยีมาทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องเก็บภารกิจนี้ไว้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในระดับที่เหมาะสมกับเขา

“อีก 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Digital Nomad จากทั่วโลกที่จะเข้ามาในภูผาม่าน เป็นเมืองที่รองรับพลเมืองโลกแล้ว หลัง ๆ มีฝรั่งมาฟาร์มคิดเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เขาบอกว่าเขาเสิร์ช Google และดูรีวิวใน Google Maps

“อีกอย่าง ไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่อินเทอร์เน็ตดีมากจากการโหวตของ Digital Nomad ทั่วโลก และปัจจุบันก็มีหลายคนที่กำลังพยายามทำเพื่อสังคมในรูปแบบอื่น ๆ อยู่ในหลายพื้นที่ ต้องลองติดตามกันต่อไปครับ” กุลกล่าวปิดท้าย

คำตอบที่ไม่ลังเลใจของกุลเป็นสิ่งที่เสริมแรงใจให้เราเป็นอย่างดี และสะกิดให้เราคิดได้ว่า 

‘ถ้าพนักงานประจำที่ควบตำแหน่งคุณพ่อลูกหนึ่งอย่างเขาทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้เกิดขึ้นได้ เราก็ทำได้เช่นกัน’

กุลชาติ เค้นา ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ด้วยเทคโนโลยี และโปรเจกต์พัฒนาชุมชนสู่ Digital Nomad

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล