จากการพูดคุยกันสั้น ๆ ในระยะเวลาชั่วโมงเศษผ่านช่องทางออนไลน์ เราเรียนรู้ว่าผู้ชายที่ชื่อ กุล-กุลชาติ เค้นา เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ดันให้การท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เฟื่องฟูและเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ
กุลมีอาชีพหลักเป็น UX/UI Designer ทำงานแบบ Digital Nomad (กลุ่มคนที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เดินทางไปด้วย ทำงานไปด้วยจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก) เป็นผู้ปลุกปั้น ฟาร์มคิด ร้านอาหาร-กาแฟที่ขายความเป็นพื้นถิ่นในรูปแบบที่นักท่องเที่ยวกินอร่อย เป็นหนึ่งในสามผู้สร้าง วิวผาม่าน ผู้ให้บริการพานักท่องเที่ยวไปดริปกาแฟหลักร้อย แต่ได้ชมวิวหลักล้าน ร่วมผลักดันการสร้าง มหา’ลัยไทบ้าน ร่วมกับกลุ่มมหาลัยเถื่อนและนักขับเคลื่อนในอำเภออื่น ๆ เพื่อเสริมพลังคนพื้นที่ที่ทำงานพัฒนาบ้านเกิด จนแตกหน่อออกมาเป็นโปรเจกต์ ‘เทคไทบ้าน’ ที่จะช่วยลดช่องว่างทางเทคโนโลยีและสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนไปพร้อมกัน
ถ้าเล่าแค่ความดีงามของโปรเจกต์ที่เขาทำมันจะไปสนุกอะไร
เมื่อความน่าสนใจของผู้ชายไทบ้านคนนี้มีซ่อนอยู่อีกหลากหลายมุม

Prototype ถึง MVP
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว นักออกแบบหนุ่มชื่อกุลได้เริ่มนำไอเดียในการขับเคลื่อนสังคมของเขาที่คุกรุ่นอยู่ในใจออกมา
“โปรเจกต์แรกที่เริ่มคือ ฟาร์มคิด เป็นชื่อในอุดมคติของผมก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่ขอนแก่น ตอนนั้นผมไม่มี Business Model แค่อยากทำชุดปลูกผักคนเมือง เพื่อให้คนได้กินผักปลอดภัย ผมก็ให้พ่อตายิงไม้พาเลต ทำ Prototype ขึ้นมา ปรากฏว่าแค่กล่องก็หนัก 10 กก. เราไม่ได้คำนวณต้นทุนก่อน ก็เลยไม่เวิร์ก เลิกทำ” กุลเล่าจุดเริ่มต้นของฟาร์มคิดอย่างติดตลก
เมื่อโมเดลแรกไม่สำเร็จ เขาลองกลับไปทบทวนเป้าหมายจริง ๆ ว่าอยากทำอะไรกันแน่ และพบว่าหนทางในการขับเคลื่อนเป้าหมายในการสร้างงานให้ชุมชน สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย จนถึงการฝึกฝนให้เด็ก ๆ คุ้นชินกับเทคโนโลยี ไม่ได้มีแค่แนวทางเดียว
เมื่อเวลาผ่านไป ไอเดียถูกตกผลึกเป็นร้านอาหารพื้นถิ่น ‘ฟาร์มคิด’ เปิดในอำเภอภูผาม่าน บ้านเกิดของเขา
“ร้านฟาร์มคิดตอนแรกเป็นร้านขายสเต๊ก ตอนนั้นก็ห้าว คิดว่าตัวเองชอบทำสเต๊กก็เลยทำขาย จริง ๆ ขายได้โอเคนะ แต่ชีวิตพังเพราะเราต้องเลี้ยงลูก ทำงาน ประชุม เตรียมของขาย ธาตุไฟเข้าแทรกเหมือนกัน” กุลเล่าถึงช่วงเวลาที่ยังหาสมดุลระหว่างงานประจำกับความฝัน แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวที่เขาต้องเจอ “เปิดร้านไปได้ไม่ถึง 6 เดือน โควิด-19 ก็มา ซึ่งปัญหาใหญ่จริง ๆ ที่เราเจอ คือการหมุนเวียนของเงินมันน้อย เพราะอำเภอภูผาม่านไม่มีคนมาท่องเที่ยวเลย เป็นเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก”
ถ้าเป็นคนอื่นคงยอมแพ้และปิดร้านอาหารไปแล้วใช่ไหม
แต่กุลไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น เขากลับเลือกชวนเพื่อน ๆ สายเทคที่ทำงานด้วยกันมาจัดอีเวนต์ด้านเทคโนโลยีกลางทุ่งนา พร้อมไลฟ์สดอวดคนในเมืองด้วยว่าบ้านฉันมีวิวสวยขนาดนี้ จนใคร ๆ ก็อิจฉา เป็นที่มาของอีกหลายกิจกรรมที่เลือกภูผาม่านเป็นฉากหลัง
เมื่อภูผาม่านบ้านนาถูกค้นพบในฐานะ Hidden Gem สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว ก็เริ่มมีองค์กรรัฐและเอกชนให้ความสนใจ ดึงดูดให้ผู้คนใหม่ ๆ เข้ามา รวมถึงไอเดียในการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาถึงกุลด้วย
“หลังจาก ททท. และ TCDC เข้ามาร่วมทำทริปโปรโมตการท่องเที่ยวให้ภูผาม่าน เราก็ได้รับไอเดียจากช่างภาพของ TCDC ท่านหนึ่ง เขาบอกให้ผมเฝ้ามองหนองสมอให้เขา หากในหนองจะมีน้ำเอ่อ ให้รีบบอกเขาเลย เขาจะมาถ่ายภาพภูเขาสะท้อนน้ำพร้อมแสงเช้า ซึ่งมันสวยมาก” ชายหนุ่มเล่าพลางอวดภาพวิวที่หนองสมอที่เป็นแบกกราวนด์ในโปรแกรม Zoom ของเขา
“แถมเขายังให้ไอเดียด้วยว่า เราน่าจะลองเอากาแฟมาดริปกันที่นี่ ผมกับน้องอีก 2 คน คือ พิมพ์กับต๋อง เลยสั่งชุดดริปกาแฟมาลองไลฟ์ลง Facebook ปรากฏว่าคนสนใจ หลังจากนั้นไม่กี่วันเราก็เปิดเพจรับจองคิวให้คนมาดริปกาแฟพร้อมชมวิวกับเราที่นี่เลย เป็นการทำ MVP (บริการตัวอย่าง) เหมือนที่ทำกันในวงการสตาร์ทอัพนั่นแหละครับ เป็นที่มาของ วิวผาม่าน ที่เราพาคนมาชมวิวและดริปกาแฟด้วยกันที่หนองสมอ ทุกวันนี้คิวยังเต็มอยู่ตลอดเลย” กุลเล่าอย่างภาคภูมิใจ
จาก Prototype เล็ก ๆ ที่ไม่เวิร์กในวันนั้น มาถึง MVP ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาชุมชนในวันนี้
เป็นจุดเริ่มต้นสู่ความเป็นไปได้อีกมากมายที่เกิดขึ้นตามมา

Network ถึง Infrastructure
แน่นอนว่าในจุดเริ่มต้นของการผลักดันภูผาม่านเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย
กุลบอกกับเราว่าเขาผ่านมาได้ด้วยความช่วยเหลือของบ้านพี่เมืองน้อง
“นอกจากอำเภอภูผาม่านแล้ว บ้านพี่เมืองน้องอย่างอำเภอสีชมพูเขาก็ทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนอยู่ด้วย เราเป็นเมล็ดพันธ์ุที่เติบโตมาด้วยกัน ต่างคนต่างก็อยากโชว์ศักยภาพของพื้นที่ตัวเอง จนมีโครงการหนึ่งที่รัฐสนับสนุน จัดให้คนรุ่นใหม่มาเจอกัน เราร่วมกับ ครูสอญอ-สัญญา มัครินทร์, คุณนุ-อนุวัตร บับพาวะตา แก๊งอำเภอสีชมพู ประชุมกับ พี่ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร จากมหาลัยเถื่อน ระดมความคิดกันกลายเป็นชื่อ มหา’ลัยไทบ้าน ขึ้นมา” กุลโยงใยให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างโปรเจกต์การท่องเที่ยวกับโปรเจกต์การศึกษาที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วม
“มหา’ลัยไทบ้านเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ คนไทบ้านที่อยู่ในพื้นที่มาทอล์ก มาแชร์ มาเสริมพลังให้กัน ทำไมนักพูดต้องอยู่บนเวที TED เท่านั้น จะอยู่บนรถแต๊ก ๆ แบบไทบ้านเราได้มั้ย เพื่อทำอะไรบางอย่างให้กับพื้นที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเรียนรู้ชุมชน กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งแต่ละคนต่างเป็น Contributor” ชายหนุ่มอธิบายหน้าที่ของมหาลัยไทบ้าน
กุลชัดเจนแต่แรกว่าเขาต้องการนำเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างอาชีพและโอกาสให้กับคนในชุมชน เขาจึงสร้างสาขาย่อยของตัวเองขึ้นมาภายใต้ร่มของมหา’ลัยไทบ้าน ชื่อว่า เทคไทบ้าน มีฟังก์ชันในการค้นหาบทบาทและจุดยืนที่เหมาะสมของเทคโนโลยีต่อชุมชนแห่งนี้
“ช่วงนี้มีคำฮิตคำหนึ่ง คือคำว่า ชนบทดิจิทัล ซึ่งผมตั้งคำถามว่าเราพร้อมจริงหรือเปล่า” กุลเปรย “จริง ๆ พวกของหรืออุปกรณ์มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสาสัญญาณ ไวไฟ แต่คนในชนบทเป็นเพียงผู้ใช้งาน ยังไม่ได้เป็นผู้สร้าง ผู้แบ่งปัน หรือผู้แก้ปัญหา


“กรณีที่เจอล่าสุดคือหลานของผมเอง ผมสังเกตว่าเขาเรียนออนไลน์ติดปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่เปิดไลน์ เข้าห้องเรียนไม่ทัน กรอกโค้ดไม่ได้ ต้องโหลด Google Classroom แต่ไม่รู้จักว่าคืออะไร ขนาดหลานอยู่กับผมที่เข้าใจบริบทของเทคโนโลยีระดับหนึ่งยังเจอปัญหาขนาดนี้ แล้วเด็กในชุมชน ในหมู่บ้านที่อยู่กับตายาย ใครจะแก้ปัญหาให้เขา
“ผมเลยคิดได้ว่าเทคไทบ้านน่าจะเป็นโปรเจกต์ที่เชื่อมได้ โดยเอาเด็ก ๆ มาฝึกให้เป็นไอทีซัพพอร์ต”
เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างการพาเด็ก ๆ ไปร่วมสำรวจและเก็บข้อมูลร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนโดยใช้ Google Document ที่มีฟังก์ชันแปลงเสียงเป็นภาพ เพื่อให้พวกเขาคุ้นชินกับเทคโนโลยี ข้อมูลที่เด็ก ๆ เก็บมาเหล่านั้น กุลไม่ได้ปล่อยให้เสียเปล่าเลยแม้แต่น้อย แต่นำมาเป็นต้นทุนในการสร้างเว็บไซต์นำเที่ยวชุมชนที่ชื่อ phuphaman.org เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่เชื่อถือได้ รวมถึงได้สร้างแท่นแสกน QR Code ติดไว้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชน เป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อมโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์เข้าด้วยกัน เอาไว้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่
“นี่คือการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนครับ” กุลสรุปรวบความ
“นักท่องเที่ยวเข้าถึงข้อมูลได้ ชาวบ้านไม่ต้องตอบคำถามซ้ำ ๆ ซึ่งเราตั้งใจจะเปิดให้เว็บไซต์นี้เป็น Open Source ทุกอำเภอเอาโค้ดของเว็บนี้ไปทำเว็บของตัวเองได้เลย มีวิธีการทั้งหมดตั้งแต่การเก็บข้อมูลจนถึงเอาข้อมูลเข้าระบบ”
หากมองในภาพรวมแล้ว การทำงานของกุลเริ่มจากความไม่มี ความไม่พร้อม ก่อร่างสร้างตัวขึ้นบนเครือข่ายของผู้คน จนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนชุมชนบ้านเกิดของเขา ทั้งการสร้างเด็ก ๆ ให้มีความพร้อม จนถึงสร้างช่องทางให้ข้อมูล

Zero ถึง Hero
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ชายชื่อกุลปฏิเสธที่จะเชื่อว่าเขาทำไม่ได้
“ผมมองว่าก่อนหน้านี้ภูผาม่านเองก็ไม่พร้อม แล้วใครเป็นคนทำให้มันพร้อม” เขาตอบสั้น ๆ เมื่อเราถามว่า ไอเดียลักษณะนี้จะเกิดขึ้นที่อื่นได้อย่างไร “ผมมีโควตหนึ่งประจำใจว่า พื้นที่ที่ดีที่สุดในทัศนคติของคุณคืออะไร… มันควรจะเป็นคุณนะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น ผมพูดกับทุกคนว่า ถ้าคุณอยากเห็น คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเกิด” เขาพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น
คำตอบของกุลไม่ได้ออกมาแบบคนโลกสวย เขาเข้าใจอย่างดีถึงความยากและข้อจำกัดของคนทำงานขับเคลื่อนชุมชน
“ปากท้องเป็นข้อจำกัดสำคัญ ไม่มีใครอยากเพิ่มภาระโดยที่ตัวเองไม่ปลอดภัย” กุลเสริมอย่างเรียบง่าย “คุณภาพชีวิตเป็นข้อจำกัดในการทำงานเพื่อสังคมสำหรับผม ถ้าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ มีหน้าที่การงานหรือ Ecosystem ที่ทำให้เราทำงานที่บ้านและเติบโตได้ ผมว่าคนทำงานเพื่อสังคมจะเพิ่มขึ้นเยอะมาก ผมถึงจริงจังเรื่องการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ต้องรอด
“ช่วงแรกก็หมดไฟเหมือนกันนะ เคยคิดว่าเลิกทำดีกว่าไหม แต่พอถึงจุดหนึ่งเราเลิกทำไม่ได้ เพราะบริบทสังคมที่อยากเห็นมันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่น่ารอดแน่ ต่อให้เราเลี้ยงลูกดี ส่งลูกไปเรียนดี ๆ แต่บริบททางสังคมไม่เอื้อให้ลูกเรามีความสุขในพื้นที่ที่เขาอยู่หรือสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้เขามีความสุข มีอิสระในการคิด ถ้าตัวผมคนเดียวอาจจะทำงานไปเงียบ ๆ ค่อย ๆ สื่อสารไปก็ได้ แต่เด็ก ๆ ทั้งลูกหลานของเราเขารอไม่ได้”
นั่นคือแรงผลักดันในใจที่พาให้ผู้ชายคนหนึ่งเริ่มต้นจากศูนย์ จนกลายเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันอุดมคติให้เกิดขึ้นได้จริงในบ้านเกิดของเขาเอง

Local ถึง Global
เราอดถามกุลไม่ได้ว่า ทำงานขับเคลื่อนมาแล้วหลายปี เห็นพื้นที่ภูผาม่านเข้าใกล้อุดมคติที่เคยมีมากขนาดไหน
“หลังจากทำงานมา 6 ปี ภูผาม่านเข้าใกล้พื้นที่ในอุดมคติของผมมาก จนผมเริ่มคิดว่าต่อให้ไม่มีตัวเรามันก็น่าจะไปต่อได้ ผมไม่ชอบทำอะไรที่ยึดโยงกับตัวเองเยอะ ๆ เพราะมันกดดัน ผมเลยทำเทคไทบ้านเป็น Open Source เป็นชุมชน เป็นต้นไอเดีย แต่แก่นของมันคือการนำเทคโนโลยีมาทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องเก็บภารกิจนี้ไว้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในระดับที่เหมาะสมกับเขา
“อีก 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Digital Nomad จากทั่วโลกที่จะเข้ามาในภูผาม่าน เป็นเมืองที่รองรับพลเมืองโลกแล้ว หลัง ๆ มีฝรั่งมาฟาร์มคิดเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เขาบอกว่าเขาเสิร์ช Google และดูรีวิวใน Google Maps
“อีกอย่าง ไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่อินเทอร์เน็ตดีมากจากการโหวตของ Digital Nomad ทั่วโลก และปัจจุบันก็มีหลายคนที่กำลังพยายามทำเพื่อสังคมในรูปแบบอื่น ๆ อยู่ในหลายพื้นที่ ต้องลองติดตามกันต่อไปครับ” กุลกล่าวปิดท้าย
คำตอบที่ไม่ลังเลใจของกุลเป็นสิ่งที่เสริมแรงใจให้เราเป็นอย่างดี และสะกิดให้เราคิดได้ว่า
‘ถ้าพนักงานประจำที่ควบตำแหน่งคุณพ่อลูกหนึ่งอย่างเขาทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้เกิดขึ้นได้ เราก็ทำได้เช่นกัน’
