ใต้แสงแดดแผดจ้าที่สาดส่องลงมายังเมืองโพนโฮง เสียงกึงกังของเครื่องจักรสลับกับเสียงสอนสั่งของผู้มีอายุที่อึงอลมาจากโรงฝึกทั้งสี่หลัง ฟังดูคล้ายคำทักทาย “สะบายดี” ซึ่งคณาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์กำนัลแด่ผู้มาเยือน

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศเพื่อนบ้านคนสนิทของพวกเราชาวไทยที่ปลูกเรือนอาศัยอยู่อีกฟากของแม่น้ำโขง

จะด้วยสำเนียงการพูดที่แปร่งหู หรือใด ๆ ก็ตามที่ฟ้องว่าคณะของเรายกขบวนข้ามโขงมาจากเมืองไทย ทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่สถาบันการศึกษาวิชาชีพแห่งนี้ดูจะมีรอยยิ้มแจ่มใส เกินจะเชื่อได้ว่านั่นเป็นเพียงยิ้มมารยาทที่ปุถุชนพึงมีต่อกัน

ต้นเหตุของรอยยิ้มเหล่านั้นมีที่มาจากข้อความ 2 ภาษาบนผืนป้ายกลางวิทยาลัยนี้เอง

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

อาชีวะสึกสา

เมื่อสัก 50 ปีก่อนหน้านี้ การเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาของประเทศลาวจัดอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าขัดสน ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดเล็ก ประชากรเบาบาง ซ้ำยังไม่มีทางออกสู่ทะเล การจะนำเข้าเทคโนโลยี วัตถุอุปกรณ์ ตลอดจนวิทยาการความรู้ต่าง ๆ จากต่างประเทศจึงมีข้อจำกัดสูง

ท่านหนูพัน อุดสา อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬาแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า โรงเรียนที่เปิดสอนด้านนี้ทั่วประเทศเคยมีน้อยจนนับได้ด้วยนิ้วมือข้างเดียว ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือของต่างชาติ

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

“ก่อนการตั้ง สปป.ลาว มีโรงเรียนอาชีวศึกษาแค่ 2 – 3 แห่ง เช่น โรงเรียนเทคนิคปากป่าสัก โรงเรียนลาว-เยอรมัน สะหวันนะเขต ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ภายหลังประเทศชาติได้รับการปลดปล่อย ก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดี”

ค.ศ. 1975 ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์กับบางประเทศมีอันต้องชะงักงันลง ขณะที่บางประเทศก็งอกเงยขึ้น ส่วนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยนั้น ย่อมไม่มีวันตัดกันขาด

“สำหรับความร่วมมือก็มีหลายประเทศ เช่นราชอาณาจักรไทย มีการร่วมมือกับประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา ความร่วมมือขั้นแรกสุดเลยก็คือเป็นพันธมิตรในการพัฒนาโรงเรียนวิชาชีพโพนโฮงเพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนเทคนิควิชาชีพแขวงเวียงจันทน์”

โฮงเฮียนอาชีวะสึกสาโพนโฮง

ประเทศลาวแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 17 แขวง กับ 1 เขตนครหลวง คือนครหลวงเวียงจันทน์อันเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของประเทศ บริเวณที่ห้อมล้อมนครหลวงอยู่นั้นถูกจัดตั้งเป็นแขวงชื่อ ‘เวียงจันทน์’ เหมือนกัน แต่มีเมืองหลักคือเมืองโพนโฮง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไป 55 กิโลเมตร

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

ค.ศ. 1988 แขวงเวียงจันทน์ก่อตั้ง ศูนย์อาชีวศึกษาโพนโฮง ขึ้นเพื่อใช้ฝึกอบรมการช่างแก่ทหารช่างตลอดจนนายช่างทั่วไป ก่อนจะโอนมาสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในอีก 4 ปีให้หลัง พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนการอาชีวศึกษาโพนโฮง

ท่านทองหล่อ วิไลทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์คนปัจจุบัน พาเราย้อนรำลึกความหลังเมื่อครั้งยังเป็นโรงเรียน และตัวเขายังดำรงตำแหน่งเป็นเพียงรองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนั้นด้วยความภูมิใจในทุก ๆ ย่างก้าวที่ผ่านมา

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

“เราได้โยกย้ายจากศูนย์อาชีวะมาเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาโพนโฮง เลยย้ายมาตั้งอยู่ที่นี่ แล้วเผอิญว่า วัตถุอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ โครงสร้างต่าง ๆ ก็ไม่มี ทางรัฐบาลลาวจึงได้สมทบกับรัฐบาลไทยให้มายกระดับ มาปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนนี้นับแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา”

มิตรคนแรกที่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนอาชีวศึกษาโพนโฮงได้รู้จัก คือตัวแทนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

“TICA มาซ่วยพวกเฮาหลาย” รอง ผอ. ในวันนั้น บอกด้วยภาษาลาวปนไทย พลางนำแขกจากดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงชมอุปกรณ์การเรียนที่ได้รับการตีตรากรมความร่วมมือระหว่างประเทศไว้ มีตั้งแต่โลโก้รุ่นเก่ายันรุ่นปัจจุบัน “เขาสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนให้เรามาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว อย่างจักรเย็บผ้าพวกนี้ก็ 22 ปี เป็นบ่าวน้อย (หนุ่มน้อย) แล้วนะนี่”

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

ในยุคที่วิทยาลัยยังมีสถานะเป็นโรงเรียนอยู่นั้น ท่านทองหล่อนับว่าเป็นความช่วยเหลือในระยะที่ 1 ธารน้ำใจที่ไหลข้ามโขงมาในคราวนั้นมีประจักษ์พยานเป็นโรงฝึก 4 หลัง ซึ่งใช้เป็นที่เล่าเรียนต่างสาขาวิชากัน

“โรงฝึกที่ 1 เป็นโรงฝึกปฏิบัติสร้างรถยนต์และกลจักรการเกษตร โรงที่ 2 ไว้ฝึกไฟฟ้า โรงที่ 3 ใช้ฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า โรงที่ 4 เป็นโรงฝึกก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์”

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

ใช่เพียงความช่วยเหลือทางอาคารและอุปกรณ์การเรียน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยยังส่งครูบาอาจารย์และนักวิชาการด้านการศึกษาไปปรับปรุงหลักสูตรให้โรงเรียนในทั้ง 5 สาขาที่เปิดสอน ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างเคหสถาน ตัดเย็บเสื้อผ้า ไฟฟ้า กสิกรรม หรือแม้แต่ปรุงแต่งอาหาร (คหกรรม)

“ปรับปรุงหลักสูตรสำเร็จไปแล้ว เราก็ได้รับการสนับสนุนวัตถุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักร ประกอบเข้าอยู่ในโครงสร้าง ให้มันถูกต้องตามสาขาดังกล่าวนี้ จากนั้นก็ยังได้ส่งครูไปยกระดับวิชาเฉพาะทาง เพื่อให้ครูมีระดับความรู้เพื่อจะเอามาสอนต่อ อันนี้เป็นความช่วยเหลือระยะที่ 1” ท่านผู้อำนวยการสรุปปิดท้าย ก่อนพาเราไปรู้จักกับความช่วยเหลือระยะที่ 2

วิทะยาไลเตกนิกแขวงเวียงจัน

“นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โรงเรียนของเราได้ยกระดับเป็นวิทยาลัย”

ท่านทองหล่อซึ่งควบบทบาทผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือลาว-ไทย มาตั้งแต่ต้น เล่าถึงหลักไมล์สำคัญที่ทำให้สถาบันในความดูแลของท่านต้องรับมือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เมื่อน้ำใจไทยช่วยสร้างสถาบันอาชีวะชั้นนำให้ สปป.ลาว

“ตอนนั้นก็เผอิญว่าเราจะได้ปรับปรุงวิทยาลัยนี้ให้เป็นตัวแบบของอาชีวศึกษา โครงการร่วมมือทางด้านวิชาการลาว-ไทย เลยได้สืบต่อเป็นระยะที่ 2”

ระยะนี้โรงเรียนอาชีวศึกษาโพนโฮงซึ่งมีชื่อใหม่ว่า ‘วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์’ ยังได้เฝ้าฯ รับเสด็จเจ้าฟ้าหญิงผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยอย่าง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความร่วมมือลาว-ไทย ผลักดันศูนย์อาชีวศึกษาที่เคยขาดแคลนจนกลายเป็นวิทยาลัยต้นแบบของประเทศลาว

“สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเยี่ยมวิทยาลัยเรา และพระราชทานคอมพิวเตอร์ให้ 20 เครื่องในเบื้องต้น ท่านสนับสนุนเราเรื่องคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี ตัวโครงการของสมเด็จพระเทพฯ ก็มีวิทยาลัยเทคนิคหนองคายเป็นผู้รับผิดชอบ ตอนหลังคอมพิวเตอร์ 20 เครื่องนั้นล้าสมัย ตกรุ่นไปแล้ว ท่านยังได้พระราชทานเพิ่มให้อีก 20 เครื่อง รวมแล้วเป็น 40 เครื่องที่พระราชทานมา”

เนื่องจากที่ตั้งวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์เป็นเนินสูง อีกหนึ่งความขาดแคลนนอกเหนือจากอุปกรณ์การเรียนก็คือน้ำใช้ พระองค์ท่านจึงทรงแนะนำให้ TICA ช่วยให้ในวิทยาลัยมีน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนนักศึกษา เป็นที่มาของหอถังเก็บน้ำบาดาลที่ยืนเด่นอยู่ในวิทยาลัยทุกวันนี้

ความร่วมมือลาว-ไทย ผลักดันศูนย์อาชีวศึกษาที่เคยขาดแคลนจนกลายเป็นวิทยาลัยต้นแบบของประเทศลาว

“มีน้ำใช้เพียงพอแล้ว ท่านยังให้สืบต่อ ทำโครงการน้ำสะอาดให้เด็กได้ดื่มอีกด้วย” ท่านทองหล่อว่า

ปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์มีครูผู้สอนมากกว่า 160 คน ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้แก่นักศึกษามากกว่า 2,000 คน เยาวชนลาวที่มีอายุราว 15 – 18 ปีเหล่านี้ เมื่อร่ำเรียนจบจากโพนโฮงไปแล้ว พวกเขาจะได้รับวุฒิชั้นกลาง (เทียบเท่า ปวช.) หรือชั้นสูง (เทียบเท่า ปวส.) เป็นฝีมือชนที่พร้อมสร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเองและบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาต่อไป

ความร่วมมือลาว-ไทย ผลักดันศูนย์อาชีวศึกษาที่เคยขาดแคลนจนกลายเป็นวิทยาลัยต้นแบบของประเทศลาว

“นักศึกษาพวกนี้จบไปแล้วก็ไปทำงานต่อในโรงงาน” ผอ.ทองหล่อ เล่าด้วยแววตาภาคภูมิ หลังจากแวะสนทนานักศึกษาสาวในชุดยูนิฟอร์มนุ่งซิ่นที่กำลังง่วนอยู่หน้าจักรเย็บผ้า “มีบางคนไปทำงานถึงเกาหลี ถึงญี่ปุ่น เขามาให้วิทยาลัยออกใบรับรองภาษาอังกฤษให้ก็มี”

นอกจากสาขาวิชาเรียนที่เราได้เห็นในโพนโฮงแล้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยยังกระซิบให้เราฟังอีกว่า ทุกวันนี้ทางวิทยาลัยได้ขยายวิทยาเขตเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่เมืองวังเวียง ที่นั่นมีไว้สอนสาขาวิชาการท่องเที่ยวอาหาร และการโรงแรม เพราะวังเวียงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ชาวไทยนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจ

จากข้อมูลของท่านอธิบดีหนูพัน สถาบันอาชีวศึกษาใน สปป.ลาว ขณะนี้มีมากถึง 78 แห่ง ถ้านับเฉพาะของภาครัฐก็จะมีทั้งสิ้น 25 แห่ง กระจายอยู่แทบทุกแขวงในประเทศ มีอาจารย์มากกว่า 2,000 คน ส่วนนักศึกษาก็มีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

ความร่วมมือลาว-ไทย ผลักดันศูนย์อาชีวศึกษาที่เคยขาดแคลนจนกลายเป็นวิทยาลัยต้นแบบของประเทศลาว

เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ความร่วมมือจากไทยช่วยให้ศูนย์อาชีวศึกษาเล็ก ๆ ที่เคยขาดแคลนทุกด้าน พัฒนามาเป็นหนึ่งในวิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบให้สถาบันอื่นมาศึกษาดูงาน

“มาถึงปัจจุบันก็ถือว่าวิทยาลัยเราเป็นวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบทางด้านทักษะฝีมือของอาชีวศึกษา เพราะว่าวิสัยทัศน์ของวิทยาลัยเราก็เขียนแบบนั้น ในโครงการร่วมมือลาว-ไทย โดยเฉพาะวิทยาลัยเทคนิคแห่งเวียงจันทน์ของพวกเรา เป็นวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนครั้งแรกจากทุก ๆ วิทยาลัยทั่วประเทศ ฉะนั้นเมื่อผ่านการช่วยเหลือมา ก็ถือว่าการพัฒนาการเรียนการสอนนี่ก็ถือว่าดีขึ้น แล้วก็มีคุณภาพกว่าเก่า จากเดิมที่ไม่มี ก็ถือว่าดีขึ้น มีคุณภาพขึ้นกว่าเก่า ครบชุดทั้งอาคารสถานที่ นักเรียนนักศึกษามีความสนใจเข้ามาเรียนในวิทยาลัยของเราเยอะขึ้น พอเรียนจบไปแล้ว เขาก็จะมีความรู้ มีทักษะทางฝีมือ ไปประกอบสัมมาชีพในสถานประกอบการได้” ท่านทองหล่อบอกก่อนนำคนของท่านไปถ่ายรูปหมู่

คณะผู้บริหารวิทยาลัยพากันส่งยิ้มกว้างให้หน้ากล้อง เมื่อทั้งหมดประจำที่หน้าป้าย ‘โครงการความร่วมมือลาว-ไทย’ ซึ่งเขียนด้วยชุดอักษรของทั้งสองชาติเคียงคู่กัน

ความร่วมมือลาว-ไทย ผลักดันศูนย์อาชีวศึกษาที่เคยขาดแคลนจนกลายเป็นวิทยาลัยต้นแบบของประเทศลาว

“ราชอาณาจักรไทยและ TICA ให้การสนับสนุนพวกเราตลอดมา ทำให้มีสิ่งดี ๆ เยอะขึ้น วิทยาลัยเราก็ทำทุกอย่างให้เป็นต้นแบบวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ก็ต้องอาศัยพี่น้องไทยมาช่วย เดี๋ยวนี้นักศึกษาก็เข้ามาเพิ่มเยอะมาก ที่มาเรียนไม่ได้มีอยู่แค่ในแขวงเวียงจันทน์ แต่มาจากทั่วประเทศ ห้องฝึกปฏิบัติต่าง ๆ ของเราก็ยังไม่มีเท่าที่ควร

“ตรงนี้คงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อหาทางพัฒนากันต่อไป เพราะเราก็เหมือนพี่เหมือนน้อง พูดกันด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่าง ๆ ที่อยู่เลียบแม่น้ำโขง เป็นต้นว่าหนองคาย อุดรธานี พวกเราก็ได้ร่วมมือกันมาหมด” ผู้ประสานงานโครงการฝ่ายลาวทิ้งท้าย

แม้ สปป.ลาว จะสามารถยืดหยัดพัฒนาตนเองได้อย่างมั่นคงในปัจจุบัน แต่ความเป็นบ้านพี่เมืองน้องและสายสัมพันธ์ที่ผูกพันเชื่อมโยงมาแต่ก่อนเก่ากลับไปอาจตัดขาด เป็นความสบายใจและความเข้าใจที่สองฝั่งแม่น้ำโขงมีให้กันตลอดมาและตลอดไป ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างสองประเทศ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

พลอยดาว ธีระเวช

ชอบถ่ายภาพอาหาร ชอบดูคนทำอาหาร ชอบซื้ออาหารแล้วบังคับให้คนอื่นทาน ชอบทำอาหารทั้งขนาดปกติและขนาดจิ๋ว ชอบชาเขียวและชอบเที่ยวตลาดอาหาร