เมื่อพูดถึงนักกีฬามืออาชีพ เราคงนึกถึงเวลาที่ได้ส่งเสียงเชียร์พวกเขาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ 

เมื่อการแข่งขันนั้นสิ้นสุดลง ลับหลังรอยยิ้มดีใจของฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ นอกเหนือจากถ้วยรางวัลหรือเหรียญบนคอ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปอย่างเราๆ ไม่ค่อยนึกถึงเท่าไรนัก

เงินรางวัล

หลายคนคงใช้มันเพื่อความสุขส่วนตัว ชดเชยความเหน็ดเหนื่อยจากการฝึกซ้อมอันหนักหน่วง

แต่นักกีฬาชาวไทยกลุ่มหนึ่งเจียดเงินรางวัลของตัวเองมาเก็บสะสมรวมกัน สมทบด้วยผลกำไรจากการจัดการแข่งขันกีฬาอีกนับครั้งไม่ถ้วน ตลอดระยะเวลา 10 ปี 

8 เดือนก่อนพวกเขาตัดสินใจทุบกระปุก นำเงินก้อนนี้ออกมาสร้างหนังโฆษณาเรื่อง ‘กีฬาสร้างคน’ เพื่อปลูกฝังหัวใจของนักกีฬาให้กับทุกคน และสนับสนุนให้พวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

หนังโฆษณาชิ้นนี้เริ่มต้นจากความตั้งใจและเงินทุนของกลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน นำทีมโดย ตุ๊กตา–รุ่งนภา สุรเชษฐ ผู้เชื่อในโอกาสที่เธอเคยได้รับ

“ตอน 11 – 12 ขวบเราติดทีมชาติ เริ่มมีคำว่าสปอนเซอร์ มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย เพราะเราโฟกัสกับสิ่งที่เรารักได้มากขึ้น เลยรู้สึกว่าการให้คือโอกาสที่ดีมาก ถ้าเราได้ให้คนอื่นบ้างก็น่าจะดี ถ้าให้ได้เราก็อยากให้” ตุ๊กตาเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ในฐานะนักเทนนิสเยาวชนทีมชาติไทย ผู้ซึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้ง ‘กลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน’

00

กลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน

เหล่านักกีฬามืออาชีพจากหลากหลายวงการมารวมตัวกันเป็นกลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน เพราะเชื่อในเรื่องการเป็นผู้ให้ โดยมีหัวใจหลักคือ ความมั่นคงของทั้งผู้ให้ ผู้รับตุ๊กตา และเหล่านักกีฬาผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางของโครงการต่างๆ

“เราเป็นกลุ่มคนที่ไปเชื่อมให้เขาขยับได้ดีขึ้น แต่เราก็ได้เรียนรู้นะ บางอย่างเราอาจจะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงกลไกเล็กๆ ก็ได้ เช่นการริเริ่มนาอินทรีย์โดยให้ ดนัย อุดมโชค (นักเทนนิส) ไปปลูกข้าวกับชาวบ้าน” ตุ๊กตายกตัวอย่างหนึ่งในกิจกรรมกลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน จากบรรดา 90 กว่าโครงการที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

บทบาทสำคัญของนักกีฬาในแต่ละกิจกรรมแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ อย่างแรกคือ ไปเป็นนักเรียน เพื่อเรียนรู้ชีวิตในอีกมุมหนึ่งที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ซึ่งในมุมมองของชาวบ้าน นี่คือกำลังใจชั้นดีที่ช่วยย้ำเตือนให้พวกเขาได้รู้ว่า องค์ความรู้ของพวกเขามีคุณค่ากว่าที่คิด

อีกส่วนที่เหล่านักกีฬาได้เข้าไปมีบทบาทก็คือ ส่งต่อทักษะหรือความรู้ที่พวกเขามี ไปสู่สังคมหรือชุมชนที่ต้องการ โดยมีตุ๊กตาเป็นผู้เสาะหาโอกาสใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟังในหมู่นักกีฬาอยู่เสมอ

“เราไปเจอว่ามีชุมชนที่มีบึง มีน้ำตก และมีอัตราการเสียชีวิตจากเรื่องน้ำเยอะ นักว่ายน้ำก็มีทักษะของเขา คือการช่วยชีวิตทางน้ำ เราเลยไปชวนเขาว่ามีชุมชนนี้นะ เขาต้องการเรื่องนี้ สนใจไหม เดือนไหนว่าง

“ล่าสุดเราพาเด็กๆ ไปเก็บขยะที่ชายหาด” ตุ๊กตาเล่าถึงโครงการเก็บขยะ ที่ริเริ่มจากการที่ อมรา วิจิตรหงษ์ นักกีฬาวินด์เซิร์ฟทีมชาติไทย ไปพบศพเต่าทะเลที่ชายหาดขณะออกไปซ้อม 

“สนามกีฬาคือบ้านของเรา ทะเลคือบ้านของเขา สำหรับนักกีฬาวินด์เซิร์ฟ เวลาวิ่งฉิวๆ ไปเจอขยะนี่ตีลังกาเลยนะ แต่อันที่เขาเป็นห่วงที่สุดก็คือสัตว์ทะเล เราก็เลยคุยกัน ตัดสินใจชวนพวกนักกีฬาทางน้ำไปเก็บในรอบแรก ชวนกันไปร้อยกว่าคน เก็บมาได้ 2 ตัน” ตุ๊กตาเล่าถึงผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจ

ส่วนสำคัญของการทำกิจกรรมเหล่านี้คือความมั่นคงของทุกฝ่าย หลายครั้งจึงต่อยอดกลายเป็นโครงการระยะยาว เช่น โครงการเก็บขยะเองก็เกิดขึ้น 3 ครั้งใหญ่ๆ และพัฒนาไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะในหมู่นักกีฬา เพื่อลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวันและในการแข่งขันกีฬา

01

แก่นแท้ของกีฬา

เมื่อกลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝันมีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 10 พวกเขาคือนักกีฬาผู้มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมมาแล้วมากมายหลายรูปแบบ ตุ๊กตาตัดสินใจริเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ถึงแง่งามของกีฬา ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่ทักษะหรือฟอร์มการเล่น 

“ผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงนี้ คนที่สนับสนุนเรามา เขาพร่ำสอนเราว่า ห้ามลืมนะ ยังมีฟากหนึ่งที่เราไม่ค่อยมอง คือแก่นแท้ของกีฬา 

“กีฬาเป็นเหมือนปรัชญาในการดำเนินชีวิต เมื่อคนมีสปิริตความเป็นกีฬา สังคมจะมีการเคารพกัน การยอมรับในความต่าง” เหล่านี้คือสิ่งที่ตุ๊กตาใช้เวลาตกผลึกมาเนิ่นนาน ตลอดชีวิตที่ได้คลุกคลีกับวงการกีฬา กระทั่งวันนี้ที่เธอเข้าใจมันได้อย่างแท้จริง

02

เด็กถูกกระทำ

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 เดือนก่อน ตุ๊กตาได้พบกับสองนักโฆษณาอย่าง เชฐ–จิตภาณุ เกิดพาณิช จากริดเดิลเกตท์ และ ป๋อม–กิตติ ไชยพร จากมานะ แอนด์ เฟรนด์ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางของโครงการนี้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ณ ห้องประชุมเดียวกับที่เรานัดพบกันในวันนี้ น่าเสียดายที่ป๋อมติดภารกิจจึงไม่มีโอกาสได้พบกัน

ในตอนแรก พวกเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์ของงานชิ้นนี้จะออกมาในรูปแบบไหน โจทย์เดียวที่กลั่นออกมาคือ มันต้องเป็นสิ่งที่สื่อสารกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ปกครอง 

ไอเดียนี้มีที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของตุ๊กตาเอง บ่อยครั้งที่เธอเห็นว่าพ่อแม่ของเหล่านักกีฬารุ่นเยาว์ใส่ใจผลลัพธ์ของการแข่งขันมากกว่าสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ระหว่างทาง

“สังคมที่เล็กที่สุดของมนุษย์คือครอบครัว เวลาเด็กทำอะไรแล้วไม่ได้อยู่บนฐานความเข้าใจ แต่ไปอยู่บนฐานของความคาดหวังของพ่อแม่ เพราะมองแต่ในเรื่องทักษะกีฬา มันเหมือนเด็กถูกกระทำ

“สมมติมีเด็กเรียนเทนนิส แต่ตีลูกไม่ข้ามเน็ตสักที เราก็สังเกตว่าน้องเขาดีขึ้นเยอะนะคะคุณแม่ แม่บอกว่าแต่ยังตีไม่ข้ามเลยนะ เราก็บอกว่า แต่เขารู้จักการรอคอยแล้วนะคะ มาอาทิตย์ที่แล้วจะตีอย่างเดียวเลย คิวใครก็ไม่สนใจ มาอาทิตย์นี้ดีขึ้นเยอะเลยค่ะคุณแม่ 

“เราอยากทำอะไรสักอย่างที่ให้พ่อแม่ได้เห็นในมุมนี้ อยากเปิดการรับรู้ของเขา เราคุยกันตั้งหลายรอบ และด้วยความที่เชฐกับป๋อมเขาก็มีประสบการณ์ทางนี้ เขาก็บอกเราว่า ผมว่ามันต้องเป็นหนังว่ะ”

03

ไม่เหมือนกัน

“บรีฟแรกของหนังโฆษณาเรื่องนี้คืออะไร” เราถามขึ้น เมื่อจินตนาการแทบไม่ออกเลยว่าการทำงานโฆษณาโดยที่มีลูกค้าเป็นนักกีฬาทีมชาติ พวกเขาพูดคุยกันอย่างไร

“กีฬาให้อะไรกับเราบ้าง” เชฐตอบด้วยน้ำเสียงชัดเจน แต่บรีฟที่ว่านี้ไม่ได้ออกมาจากปากของลูกค้าอย่างตุ๊กตา หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากบทสนทนาของทั้งสามคนในห้องประชุม

“เราอยากเล่าอีกมิติของกีฬาที่กว้างขึ้น จากหลายมุมมอง ว่ามันยังมีเรื่องนี้อีกด้วยนะ โดยตั้งอยู่บนแกนที่ว่า กีฬาให้อะไรกับเราบ้าง 

“แต่ละคนได้อะไรไม่เหมือนกัน พี่ตุ๊กตาเล่าได้ละเอียดมาก ส่วนผมก็จะมาอีกทางหนึ่ง หรือเพื่อนผมที่เริ่มกลายเป็นพ่อของลูก แม่ของลูก สิ่งที่เขาได้จากกีฬาก็ไม่เหมือนกัน เราเลยมาคุยกันบนฐานที่ว่า กีฬาให้อะไรกับคนแต่ละคนบ้าง อย่างที่พี่ตุ๊กตาบอกว่า เวลาเรามองหนังโฆษณาตัวนี้” 

“แต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน” ทั้งคู่ตอบพร้อมกันด้วยรอยยิ้มภูมิใจ

04

ชั่วโมงของผู้กำกับ

“มันมีโมเมนต์ที่อยากเล่าเยอะมาก เหมือนเป็น Slice of Life ทีแรกเราก็คุยกันว่าจะเป็นภาพเล็กๆ สั้นๆ มาต่อกัน หรือเอาคนที่ไม่เกี่ยวกับกีฬามาลองพากย์กีฬา ดูว่าเขาเห็นอะไร” เชฐเล่าถึงไอเดียในตอนแรกสุด ก่อนที่มันจะถูกพัฒนามาเป็นโฆษณาเวอร์ชันที่พวกเราได้รับชม

จากไอเดียที่ยังกระจัดกระจายและไม่ชัดเจน ป๋อมตัดสินใจนำทีมเข้าไปนั่งคุยกับ ต่อ–ธนญชัย ศรศรีวิชัย ซึ่งการประชุมวันนั้นกินเวลายาวนานถึง 4 ชั่วโมง

“พี่ต่อมองว่าถ้าเล่าแบบนี้น่าจะไม่ปะติดปะต่อ เลยคิดว่าเล่าผ่านกีฬาที่คนน่าจะรู้จักมากที่สุด”

แม้การประชุมครั้งนั้นจะใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้เป็นเท่าตัว แต่ผลตอบแทนก็นับว่าคุ้มค่า เมื่อต่อตัดสินใจรับอาสาเป็นผู้กำกับให้กับโฆษณาชิ้นนี้ด้วยประโยคที่ว่า 

“เรื่องนี้มันดีมากนะ แม่งต้องทำเลย”

05

ริมขอบสนาม

“ก่อนจะถ่ายทำ พี่ต่อบอกเด็กทุกคนว่า ตั้งใจนะ ลุงต่อตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ มันเป็นหนังที่ดีมากนะ มันไม่ใช่หนังของลุงต่อ ไม่ใช่แค่หนังของพวกเราด้วย แต่มันเป็นหนังของเด็กทั้งโลก” เชฐอธิบายถึงบรรยากาศในวันถ่ายทำจริงอย่างละเอียด

ในฐานะผู้กำกับ ต่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่านี่คือหนังที่ดีในความคิดของเขาจริงๆ ผ่านความตั้งใจในทุกขั้นตอน แม้กระทั่งการโค้ชเหล่านักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติที่มารับบทเป็นนักแสดงจำเป็นในวันนั้น 

“เวลาพี่ต่อบิลด์เด็ก แกไปกำกับเด็กเองริมสนาม โค้ชเองเหมือนพากย์บอลเลยนะ จะหมดเวลาแล้ว! นาทีสุดท้าย! เพื่อนจะยิงเข้าแล้ว!”

06

เป้าหมายเดียวกัน

เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ของนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน ซึ่งตั้งใจจะให้ในสิ่งที่สังคมยังขาด ตุ๊กตาบอกเราว่า หนังโฆษณาเรื่องนี้ทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คือตั้งใจจะเล่าสิ่งที่สังคมอาจหลงลืมหรือมองข้าม

“เด็กคนนี้เขาหลุดจากกรอบความสำเร็จของสังคม ที่มองว่าความสำเร็จคือการลงไปในสนาม คือการเป็นตัวจริง แต่เด็กคนนี้เขายอมรับกับสิ่งที่โค้ชตัดสินใจ เพราะเขามีเป้าหมายเดียวกันกับทุกคน และเขาเลือกทำในสิ่งที่เขาทำได้ พี่ว่าอันนี้คือสิ่งที่มันสำคัญและเราพยายามบอกกับทุกคน”

07

ของแถม

“มาถึงตอนนี้ ผลที่ออกมามันครบถ้วนอย่างที่เราคิดไว้ไหม” เราถาม

“พี่ว่ามันดีกว่าที่คิดไว้นะ” ตุ๊กตาตอบยิ้มๆ

“ของแถมมาตรึมเลยนะ” เชฐเสริมพร้อมเสียงหัวเราะ 

เมื่อเราถามถึงความรู้สึกที่มีต่อผลงานฉบับเสร็จสมบูรณ์ หลังจากที่ผ่านไปกว่า 8 เดือน ทั้งคู่บอกกับเราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกินความคาดหมายของพวกเขาไปมากทีเดียว 

“ผมคิดว่ามันทำหน้าที่เกินกว่าแค่เรื่องกีฬา ซึ่งมันตอบโจทย์เรามาก เพราะตอนแรกเราก็หวังแค่ผู้ปกครองเนอะ ก็รู้สึกว่ามันจะเป็นเรื่องของกีฬา แต่นี่มันกลายเป็นเรื่องของชีวิตเลย”

ภาพ : กลุ่มนักกีฬาไทยรวมใจสานฝัน

Creative Team : มานะ แอนด์ เฟรนด์ / ริดเดิลเกตท์

กิตติ ไชยพร

วีรวิชญ สุขสันตินันท์

รตะพงศ์ อาวะจินดา

อิทธิพล จิตติกรยุทธนา

จิตภาณุ เกิดพาณิช

Production House : ฟีโนมีน่า

ธนญชัย ศรศรีวิชัย — ผู้กำกับ

พงศกานต์ ซ่อนกลิ่น — ผู้ช่วยผู้กำกับ

พัชรพร เลี่ยวไพโรจน์ — โปรดิวเซอร์

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า