คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอีเวนต์การประชันความงามที่มนุษย์สร้างขึ้นในอดีตกาลและยังอยู่ถึงทุกวันนี้นั้น เลยเถิดไปใหญ่โตมากจนกระเทือนโลกในหลายมิติ

ในยุคแห่งการถกเถียงอย่างปัจจุบัน มีผู้คนมากมายที่ออกมาตั้งคำถามว่า พื้นที่แห่ง Beauty Privilege นี้ยังควรมีอยู่ไหม และการปรับการประกวดให้เน้นสติปัญญา ชิงไหวชิงพริบของนางงามนั้น เป็นการลดข้อครหาไปได้จริงรึเปล่า ในเมื่อใจความสำคัญของการประกวดก็คือรูปลักษณ์อยู่ดี

แต่บทความนี้ เราไม่ได้มาเพื่อหาคำตอบให้กับเรื่องนั้น เราจะมาเมียงมองนางงามในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง โดยมีสิ่งที่ ‘ทีมภูเก็ต’ ทำ เป็นกรณีศึกษาหลัก

นางงามกับการพัฒนาเมือง : ทีมภูเก็ต ทีมพี่เลี้ยงที่ตั้งใจดันธุรกิจท้องถิ่นสู่วงกว้าง
นางงามกับการพัฒนาเมือง : ทีมภูเก็ต ทีมพี่เลี้ยงที่ตั้งใจดันธุรกิจท้องถิ่นสู่วงกว้าง

จากเมกอัปอาร์ติสต์ พี่เลี้ยงนางงาม สู่การเป็นผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ ทุกวันนี้ทีมภูเก็ตโดดเด่นมากในการเป็นเจ๊ดันธุรกิจท้องถิ่นให้ออกสู่สายตาคนในประเทศและในโลก หลายแบรนด์ได้ลืมตาอ้าปาก ได้แสดงศักยภาพที่แอบซ่อนไว้อย่างเต็มที่ก็เพราะนางงาม

ในโอกาสเหมาะเจาะที่ได้พบปะ กบ-ธนพัฒน์ นวลสกุล และ คิม-ธีระศักดิ์ ผลงาม สองหัวเรือใหญ่ของทีมภูเก็ต ซึ่งพา เทีย ทวีพาณิชย์พันธุ์ มิสแกรนด์ภูเก็ต 2023 มาร่วมงานในกรุงเทพฯ พอดี คำถามที่ว่าพวกเขาทำไปทำไม ทำแล้วส่งผลอะไรบ้าง และมีวิสัยทัศน์มองไปไกลถึงขนาดไหน เราจะได้รู้กันในคอลัมน์เมียงเมืองวันนี้

กบ-ธนพัฒน์ นวลสกุล และ คิม-ธีระศักดิ์ ผลงาม สองหัวเรือใหญ่ของทีมภูเก็ต

สาวงามในโลกทุนนิยม

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น การประกวดนางงามในประเทศไทยเริ่มมาจากนางงามท้องถิ่นที่เน้นแข่งขันความสวยงามและกิริยามารยาทของหญิงสาว จนมาเริ่มจริงจังมากขึ้นเมื่อการจัดประกวด ‘นางสาวสยาม’ (หรือ นางสาวไทย ในภายหลัง) นางงามประจำชาติไทยเกิดขึ้น

นางสาวสยามเกิดขึ้นในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และอยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ในตอนนั้นที่สยามมีระบอบการปกครองใหม่อย่างประชาธิปไตย รัฐได้ทำให้การประกวดนางสาวไทยกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแนะนำให้ประชาชนได้รู้จักกับ ‘รัฐธรรมนูญ’ และช่วยประชาสัมพันธ์นโยบายสร้างชาติของรัฐ เช่น เป็นต้นแบบด้านการแต่งตัวตามสมัยนิยมให้ประชาชน

จนเมื่อ พ.ศ. 2507 การจัดประกวดนางสาวไทยก็กลายเป็นการคัดเลือกตัวแทนเข้าแข่งขันในเวทีโลก เอกชนเริ่มเข้ามาดูแลการประกวด แล้วสิ่งใหม่ที่มาจับคู่กับนางงามแทนรัฐธรรมนูญ ก็คือ สินค้า-บริการ

นางงามกับการพัฒนาเมือง : ทีมภูเก็ต ทีมพี่เลี้ยงที่ตั้งใจดันธุรกิจท้องถิ่นสู่วงกว้าง

เห็นชัดที่สุดก็ยุคของ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ที่ไปได้มงสองมาให้ชาวไทยจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส ปี 1988 ตอนนั้นปุ๋ยได้โปรโมตสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงทำงานกับ ไมเคิล แจ็กสัน ราชาเพลงป๊อป ในช่วงที่เขากำลังบูมมาก ๆ ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยนี้ก็คือ ปุ๋ยขึ้นแท่นอินฟลูเอนเซอร์ประจำประเทศไทยไปแล้ว และจากนั้นเป็นต้นมา นางงามก็เป็นอีกอุตสาหกรรมสำคัญในโลกทุนนิยม 

แน่นอน ทีมภูเก็ตที่มาจับนางงามในยุคนี้ ก็ต้องมาพร้อมกับการปั้นอินฟลูเอนเซอร์โปรโมตสินค้า ซึ่งก็นำมาซึ่งโอกาสหลายอย่างให้กับท้องถิ่น และอาจรวมไปถึงประเทศไทยด้วยในอนาคต

มากกว่าการเป็นพี่เลี้ยงนางงาม

แม้จะไม่ใช่โดยกำเนิด แต่คิมและกบเรียกตัวเองว่าเป็นคนภูเก็ต คิมเกิดที่ตรังและย้ายมาอยู่ภูเก็ตตั้งแต่ 2 ขวบ ส่วนกบที่เกิดยะลา ก็ย้ายมาตั้งแต่อายุ 20 ปีและทำงานที่ภูเก็ตจนถึงตอนนี้ ทั้งคู่เป็นนักธุรกิจที่ทำมาหลายอย่าง ตั้งแต่งานอสังหาฯ มาจนถึงร้านอาหาร 

เรื่องราวเริ่มจากเมื่อครั้งทั้งคู่เปิดร้านอาหาร ด้วยความที่กบเป็นคนชอบดูโชว์ ดูละครเวที จึงทำร้านให้มีโชว์สนุก ๆ บ้าง และดึงสื่อมวลชนในจังหวัดมาสนใจได้ 

จนเมื่อปี 2016 ที่มีโปรเจกต์มิสแกรนด์ 77 จังหวัด ก็มีช่างแต่งหน้าที่ทั้งคู่รู้จักได้ลิขสิทธิ์จัดงานมา แต่กลัวว่าจะทำไม่ไหว กบที่เป็นคนชอบดูประกวดนางงามตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจชวนคิมก้าวขาเข้าไปช่วยตั้งแต่นั้นมา

กบ-ธนพัฒน์ นวลสกุล และ คิม-ธีระศักดิ์ ผลงาม สองหัวเรือใหญ่ของทีมภูเก็ต

“พี่เองเป็นคนภูเก็ต และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกาชาดด้วย ส่วนตัวพี่เองก็ดีลงานกับราชการ กับท้องถิ่นค่อนข้างเยอะ” คิมกล่าว ก่อนกบจะเล่าต่อ “เขาเก่งเรื่องการประชาสัมพันธ์ ประสานงาน ส่วนผมรู้เรื่องการประกวด รู้ว่าแบบไหนถึงจะดี คนดูชอบ เราก็มาจอยกัน” 

‘ทีมภูเก็ต’ ที่ทำงานทั้งจัดและส่งนางงามจึงเกิดขึ้น ถึงจะจัดเวทีมิสแกรนด์เป็นหลัก แต่พวกเขาก็เคยส่งนางงามมาหลายเวที ตั้งแต่มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ มิสไทยแลนด์เวิลด์ นางสาวไทย และมิสซูปราเนชันแนลไทยแลนด์ ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมา ทีมภูเก็ตก็มือขึ้นถึงขนาดได้ผู้ชนะจากทั้ง 5 เวที

“พอน้องได้มงใหญ่ปีนี้ ปีหน้าน้องได้มงใหญ่ของเวทีอื่นอีก คนเขาก็เริ่มรู้จักเราขึ้นเรื่อย ๆ และคิดว่าทีมภูเก็ตนี่แกร่งมาก” คิมเล่า พร้อมให้เครดิตทีมที่ก่อตั้งร่วมกันมา อันประกอบด้วยแก๊งแต่งหน้า โบโบ้ ปอนด์ แม่เอ็ม ทุกคนไม่ใช่คนภูเก็ต แต่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ภูเก็ตกันทั้งนั้น แต่ละคนจะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดเพื่อสนับสนุนนางงาม รวมถึงมีการจ้างครูเก่ง ๆ จากข้างนอกมาสอนแอ็กติง เต้น ร้อง ให้นางงามด้วย

กบ-ธนพัฒน์ นวลสกุล และ คิม-ธีระศักดิ์ ผลงาม สองหัวเรือใหญ่ของทีมภูเก็ต

“พี่ว่านางงามรุ่นหลัง ๆ ทำงานเยอะกว่ารุ่นก่อน ๆ เพราะต้องมีโซเชียล มีการขายออนไลน์ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปหมด เราก็ต้องวิ่งให้ทัน”

แล้วก็มาถึงเอกลักษณ์โดดเด่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นของทีมภูเก็ต

“การที่เราทำเวทีท้องถิ่น เราก็อยากคืน Benefit ต่าง ๆ ให้ธุรกิจท้องถิ่นในภูเก็ต” คิมอธิบายที่มาที่ไป

โปรเจกต์มิสแกรนด์ 77 จังหวัด คือแต่ละจังหวัดจะมีเวทีประกวดเป็นของตัวเอง สำหรับมิสแกรนด์ภูเก็ต ทีมภูเก็ตที่เป็นผู้จัดทำก็ผลักดันธุรกิจคนท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะไม่ได้ปฏิเสธแบรนด์จากกรุงเทพฯ แต่ก็พยายามคุมให้สปอนเซอร์หลัก ๆ เป็นแบรนด์ภูเก็ต พวกเขามองว่าถ้าแบรนด์ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ มันก็ไม่เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นเท่าไหร่นัก

ชุดแบรนด์ ‘ยาหยี’ เป็นแบรนด์ที่กบและคิมภูมิใจนำเสนอที่สุด

จากเดิมที่ผ้าบาติกมักจะทำลายปลา ปะการัง เปลือกหอย ที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมใส่ เสื้อผ้าแบรนด์นี้เป็นผ้าปรินต์ลายกระเบื้องพื้นเมือง ลายจานชาม อาคารชิโน-ยูโรเปียน หน้าตาร่วมสมัย เจ้าของผู้เป็นเด็กรุ่นใหม่รับการสืบทอดกิจการจากพ่อแม่ได้มาคุยกับทั้งคู่ว่าอยากร่วมงาน ทีมภูเก็ตจึงได้นำแบรนด์ยาหยีมาทำเป็นชุดเปิดตัวนางงาม ให้ใส่ทั้งหมด 20 คนบนเวที เริ่ด ๆ แบบตัวแม่

คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ
คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

“เดินบนเวทีคืนก่อน คืนถัดมาเพจยาหยีแตกเลย” คิมเล่าถึงพลังของนางงาม ทำให้แบรนด์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักได้ออกสู่สายตาคนมากมาย ซึ่งหลังจากนั้น คิมก็ช่วยทางแบรนด์คิดต่อยอดไปว่าอนาคตยาหยีอาจจะทำแพ็กเกจดี ๆ ให้ผ้ากลายเป็นของฝากประจำภูเก็ต เหมือนที่ฟิลิปปินส์มีผ้าใยสับปะรดเลยก็ยังได้

ด้วยความเป็นกิจกรรมที่ชาตินิยมมาก ๆ ราวกับการแข่งบอลโลก หนึ่งในภาพจำของการประกวดนางงาม ก็คือศึกแห่งศักดิ์ศรีอย่าง ‘การประกวดชุดประจำชาติ’ แต่บอกเลยว่า การประกวดชุดประจำจังหวัดของมิสแกรนด์เองก็ดุเดือดไม่แพ้กัน

เดิมทีมิสแกรนด์ก็จัดประกวดคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปประกวดระดับโลกเหมือนเวทีอื่น ๆ แต่เมื่อ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา มิสแกรนด์ไทยแลนด์ก็มีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้เหมือนกับการประกวดในสหรัฐฯ และเวเนซุเอลา โดยให้ 77 จังหวัดจัดประกวดเองเพื่อหาตัวแทนของตน ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมไปทั่วทุกจังหวัด รวมไปถึงโอกาสของธุรกิจเสื้อผ้าท้องถิ่น เพราะมีการจัดประกวดชุดประจำจังหวัดเกิดขึ้นมา

นอกจากเสื้อผ้า การประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตก็มีเรื่องอาหารที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นร้านพรทิพย์ หรือร้านคุณแม่จู้ ที่เป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ตดีไซน์สวยที่น่าซื้อกลับหากได้มาเยือน

“ภูเก็ตเนี่ย เรามี 3 อย่าง อาหาร อาภรณ์ อาคาร เราต้องนำเสนอจุดนี้” คิมบอกกับเรา

คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

“พี่ทำงานกับประชารัฐภูเก็ต พี่จะดูเรื่องกุ้งลอบสเตอร์ สับปะรดภูเก็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นภูเก็ต แล้วเราก็พยายามดึงพวกนี้เข้ามามีส่วนร่วมในงานมิสแกรนด์ มีการแจกน้ำสับปะรดในงานด้วย ต่อไปเราคงทำเรื่องอาหารภูเก็ตมากขึ้นนะครับ”

หากจะสรุปสิ่งที่ทีมภูเก็ตทำ ก็คือนำเวทีมิสแกรนด์ภูเก็ตมาเป็นช่องทางโปรโมตสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดโดยถ่ายทอดผ่านนางงามนั่นเอง

คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ
เวทีมิสแกรนด์ภูเก็ตกับลวดลายสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์

ป่านสายยาว

หลังจากวิกฤตการณ์โรคระบาดทำให้ธุรกิจเล็กใหญ่ในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเดือดร้อนกันทั่ว ผ่านมาถึงปีนี้ทุกอย่างก็เริ่มทุเลา โรงแรมต่าง ๆ ในจังหวัดก็มีอัตราเข้าพักที่สูงขึ้น

ทีมภูเก็ตเองมองว่าธุรกิจนางงามก็ช่วยเหลือท้องถิ่นได้ ด้วยการเป็น ‘สายป่าน’ โยงไปหลายธุรกิจ ทั้งระบบขนส่งที่ต้องใช้อย่างสายการบิน รถตู้ รถรับส่ง หรือร้านอาหาร ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว และที่ขาดไม่ได้ ก็คือธุรกิจที่เกี่ยวกับความงาม เช่น ช่างแต่งหน้า

“การจัดนางงามก็เหมือนการประชาสัมพันธ์จังหวัด” คิมอธิบายเพิ่มในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว

“เวลานางงามหาโอกาสโปรโมตตัวเอง เขาก็จะไปถ่ายตามสถานที่ต่าง ๆ ในภูเก็ตแล้วโพสต์ลงโซเชียล แล้วแฟนคลับนางงามแต่ละคนก็บินตามมา ก็ได้เงินเข้าจังหวัดอีก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม” กบพูดบ้าง ซึ่งเวลาแฟนคลับนางงามเหล่านั้นมาเที่ยว ก็ไม่พ้นร้านต่าง ๆ ที่นางงามโพสต์

คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

วัฏจักรคร่าว ๆ ในการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นก็เป็นแบบนี้ หากสิ่งที่ยากกว่านั้นคือ ต้องคิดสร้างสรรค์ไม่ให้แต่ละปีนั้นเหมือนเดิมจนจำเจ ต้องมีอะไรแปลกใหม่ให้คนเสพนางงามได้ว้าวอยู่เสมอ ซึ่งวิธีที่มักทำก็คือสับเปลี่ยนการโปรโมตธุรกิจไปเรื่อย ๆ บางปีก็พานางงามไปขี่ช้าง บางปีไปขับ ATV นั่งเรือสวย ๆ เที่ยวตามเกาะ

“จังหวัดอื่น ๆ ก็ทำได้ครับ แต่ก็อยู่ที่ความสามารถในการดีลกับเอกชน” กบตอบเมื่อเราถามถึงความเป็นไปได้ในอีก 76 จังหวัด

ทั้งสองเห็นว่า นอกจากความ ‘อิน’ แล้ว ความเป็นชาวภูเก็ตนั้นทำให้ทั้งสองเข้าใจศักยภาพของจังหวัดเป็นอย่างดี พวกเขารู้จักผู้คนและมีพันธมิตรเป็นของตัวเอง หากลิขสิทธิ์เวทีนางงามในจังหวัดอื่น ๆ อยู่ในมือของคนนอกพื้นที่ อาจจะทำงานยากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ไม่ได้มีข้อบังคับว่าคนถือลิขสิทธิ์จะต้องเป็นคนพื้นที่ แต่ทั้งสองก็หวังว่าคนที่ได้ไปจะใช้โอกาสนี้ทำประโยชน์ให้จังหวัดนั้น ๆ อย่างเต็มที่

“ต้องชื่นชม พี่ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ไอเดียในการให้แต่ละจังหวัดจัดเอง หาตัวแทนส่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ พี่ว่าเป็นไอเดียที่ดีสำหรับจังหวัดมาก มันเป็นอะไรที่ช่วยผลักดันธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดได้ดี” คิมกล่าว พร้อมทิ้งท้ายสิ่งที่เขาพยายามจะประชาสัมพันธ์ว่า ‘ภูเก็ต เด็ดทั้งเกาะจริง ๆ’ 

คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อถามว่าวงการนางงามจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้แต่ละจังหวัดเจริญขึ้นได้ไหม ทีมภูเก็ตตอบมาว่า พวกเขาเทียบนางงามเป็นโครงการโอท็อป หากทุกจังหวัดทำ ก็อาจเรียกว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่งได้ และจากจังหวัด หากมองในระดับประเทศเองก็เป็นไปได้เช่นกัน

ปัจจุบันไม่ใช่แค่ว่าคนไทยชอบดูนางงาม เชียร์นางงามกันสุดตัว แต่องค์กรนางงามระดับโลก ทั้งมิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนลและมิสยูนิเวิร์ส ต่างมีเจ้าของเป็นคนไทยทั้งคู่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการเป็นเจ้าของเวทีนั้นก็ตามมาด้วยหลายสิ่งอย่าง

ทางฝั่งมิสยูนิเวิร์ส แอน จักรพงษ์ เจ้าของปัจจุบัน ออกมาเล่าว่าทีมได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนไทยเป็นเจ้าภาพ Miss Universe 2023 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมเป้าหมายในการผลักดัน Soft Power ไทยสู่ชาวโลก ซึ่งอย่างที่เรากล่าวในตอนแรก นางงามก็ถือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ โปรโมตทั้งวัฒนธรรม ทั้งสินค้า-บริการของไทยด้วย โดยกระบวนการหลัก ๆ คือให้ผู้ชนะและรองชนะเลิศ 2 อันดับ เดินทางมาทำกิจกรรม เผยแพร่การท่องเที่ยวไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคม สลับกับการไปทำกิจกรรมที่ประเทศอื่น ๆ

สุดท้ายแล้ว สิ่งนี้จะนำผลลัพธ์อะไรมาถึงประเทศไทยบ้าง ก็น่าติดตามสำหรับผู้ชมทางบ้านอย่างเรา

เมื่อการจัดประกวดสาวงามรันเศรษฐกิจได้เป็นจริงเป็นจังขนาดนี้ คำถามต่อไปก็คือ แล้วรัฐควรจะให้การสนับสนุนอย่างไรอีกบ้าง ตรงนี้กบและคิมมองว่าเมื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานแล้ว รัฐควรอำนวยความสะดวกสำหรับกองประกวดและแฟนคลับแต่ละชาติที่จะเดินทางมาในจุดต่าง ๆ เช่น บริการสถานที่หรือบริการรถประจำทาง

คุยกับผู้จัดประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ตเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น และดันให้ธุรกิจนางงามมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

สำหรับประเทศไทย จากเดิมที่การประกวดนางงามมีเป้าหมายหลักในการประชันความงามไปถึงประชาสัมพันธ์ระบอบประชาธิปไตย คงไม่มีใครคิดว่ายุคหลังนางงามจะต้องมาโปรโมตสินค้า-บริการ จนไปกันใหญ่ในโลกทุนนิยมขนาดนี้ ขนาดที่ว่าระดับประเทศก็ได้ผลประโยชน์ จังหวัดก็ได้ผลประโยชน์ แม้แต่คนตัวเล็ก ๆ ที่ทำธุรกิจก็ได้ผลประโยชน์ด้วย

น่าสนใจว่านอกจากการประกวดนางงามแล้ว มีธุรกิจอะไรที่จะรันเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ได้แบบนี้อีก

งานประจำจังหวัดของคุณ ถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ มากพอ คุณคิดว่าจะไปได้ไกลแบบนี้บ้างไหม

ภาพ : มิสแกรนด์ภูเก็ต

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ
  • www.silpa-mag.com/culture/article_9797
  • themomentum.co/closeup-thitipong-duangkong/
  • th.wikipedia.org/wiki/มิสแกรนด์ไทยแลนด์
  • www.springnews.co.th/news/news/832305
  • www.creativethailand.org/view
  • topicstock.pantip.com/chalermkrung/topicstock

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ