26 กุมภาพันธ์ 2020
8 K

โป๊กกกก… เสียงศีรษะข้างซ้ายของเรากระแทกกับหน้าต่างรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ก่อให้เกิดเสียงหัวเราะดังลั่นออกมาจากผู้โดยสารทั้งคันรถ เรานั่งตัวโยกอยู่ในรถมาชั่วโมงกว่าแล้ว จุดหมายที่พวกเรากำลังขับรถเข้าไปนั้น ถนนทั้งเส้นไม่ได้ลาดยาง แถมยังสูงชันอย่างน่าหวาดเสียว เสียงเครื่องยนต์คำรามเป็นพักๆ เพื่อเร่งเครื่องปีนป่ายขึ้นไปบนเส้นทางที่สูงชัน หลังเราเอนติดเบาะรถเหมือนนั่งรถไฟเหาะตอนกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดไม่มีผิด ความกว้างของเส้นทางรถก็ไม่กว้างไปกว่าตัวรถสักเท่าไหร่ วิวข้างขวาเป็นภูเขาสูงชัน ข้างซ้ายเป็นหุบเขาที่ด้านล่างเต็มไปด้วยไร่ชาน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวบ้านในบริเวณนี้ 

หลังจากนั่งตัวโยกอยู่บนรถจนมึนหัว ในที่สุดเราก็มาถึงเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน บ้านปูนะ จังหวัดเชียงราย พวกเราหยิบกระเป๋า สะพายกล้อง ลงจากรถแล้วเดินไปพบพี่ๆ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงผู้ดูแลโครงการนี้ที่กำลังยืนรอพวกเราอยู่ที่ทางเข้าเส้นทางเดินป่า 

เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

รองเท้าสตั๊ดดอยสีเหลืองสดใสจนยากที่จะละสายตา พร้อมด้วยพร้าคู่ใจเล่มยาวที่แขวนพาดจากไหล่ซ้ายไปขวา นั่นคืออุปกรณ์ประจำตัวเจ้าหน้าที่นำทางของพวกเรา พี่ยี่ เป็นเจ้าหน้าที่หนุ่มอายุไม่เกิน 40 ปี บุคลิกกระฉับกระเฉง รอยยิ้มกว้างที่มาพร้อมกับภาษากลางปนสำเนียงชาวเหนือ ฟังแล้วน่ารักไม่เหมือนใคร 

“ไปปปป…” พี่ยี่พูดพร้อมกับโบกมือเรียกให้พวกเราเดินตามเข้าสู่ป่าใหญ่ ช่วงแรกเป็นการเดินไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อไปยังป่าต้นน้ำที่อยู่ด้านบนของภูเขา สภาพทางเข้าป่าเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ทางเดินจนหมด บางต้นสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่จนแสงแดดลอดผ่านมาได้เพียงเล็กน้อย

เราค่อยๆ เดินเลาะทางเลียบขึ้นภูเขาไปเรื่อยๆ จากเส้นทางเดินที่กว้างราว 1 เมตร ค่อยๆ แคบลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงราว 1 ฝ่ามือ ด้านหนึ่งเป็นภูเขา อีกด้านเป็นทางลาดลงลึกชันที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ทึบ พวกเราเดินท่ามกลางความเงียบ สมาธิจดจ่ออยู่กับเส้นทางเดิน ได้ยินเพียงเสียงต้นไผ่ที่ลู่ไปกับสายลม ผสานกับเสียงกระพือปีกนกที่โผจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งเมื่อพวกเราเดินผ่าน เหมือนเป็นการเตือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในป่านี้ว่า ได้มีมนุษย์กำลังย่างกรายเข้ามาในอาณาเขตนี้

หลังจากผ่านจุดนั้น เส้นทางเดินเริ่มกว้างขึ้น พวกเราใช้โอกาสนี้หยุดพักดื่มน้ำ พร้อมถกปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าและวิธีการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน พี่ยี่เล่าให้พวกเราฟังว่า ชาวบ้านต้องใช้ป่าในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอาไว้อยู่อาศัย เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือขายผลผลิตที่ได้มาจากป่า และเมื่อพื้นที่นั้นเสื่อมโทรมเกินกว่าที่จะใช้งานต่อไปได้ ก็ต้องจำใจย้ายเข้าไปในพื้นที่ป่าใหม่ ชาวบ้านเองก็ไม่ได้ต้องการทำแบบนั้น เพราะพวกเขาเห็นตรงกันว่าผืนป่าน้อยลงไปทุกวัน แต่ต้องทำเพื่อเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว การจะบอกชาวบ้านว่าห้ามบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นเรื่องที่เหมือนกับกีดกันการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาเลยทีเดียว ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องป่าถูกทำลาย จริงๆ แล้วไม่ใช่การปลูกป่า แต่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องความยากจนมากกว่า

‘ก่อนที่จะปลูกป่า จะต้องปลูกคนก่อน’ 

ถ้าคนอยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ มูลนิธิฯ จึงให้ความสำคัญกับคนก่อน ด้วยการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านพร้อมทั้งจัดแบ่งประโยชน์ในการใช้งานขึ้นมาใหม่ เพื่อแยกส่วนให้ชัดเจนว่า บริเวณไหนที่ต้องอนุรักษ์และบริเวณไหนที่ใช้ประโยชน์จากป่าได้ โดยแบ่งป่าออกเป็น 4 ประเภทตามการใช้งาน ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจ และที่ดินทำกิน ในวันนี้พวกเราจะได้เดินสำรวจป่าทั้ง 4 ประเภท พี่ยี่อธิบายให้พวกเราฟังด้วยน้ำเสียงสดใสไร้ซึ่งความอ่อนล้าใดๆ ดูเหมือนว่าความชันที่กำลังเจออยู่นี้ไม่มีผลใดๆ กับความเร็วฝีเท้าของพี่ยี่เลยแม้แต่น้อย พวกเราหยุดหอบ ปาดเหงื่อ แล้วพยายามเร่งฝีเท้าตามพี่ยี่ไปสู่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ด้านบนของภูเขา

ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

ป่าอนุรักษ์ มีสัดส่วนที่เยอะที่สุดในบรรดาป่าทั้ง 4 แบบ เป็นป่าที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและรักษาเอาไว้ โดยไม่ให้มีการใช้งานจากป่านี้ เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้าน บริเวณนี้มีความชื้นสูง ทำให้รู้สึกเย็นเป็นพิเศษ พื้นดินชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ ทุกก้าวเดินให้ความรู้สึกนุ่มและหนึบเบาๆ เหมือนเดินอยู่บนเค้กช็อกโกแลตนุ่มฟู เราหายใจเข้า สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ซึมซับกลิ่นต้นไม้และดินอันแสนสดชื่น 

ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

พี่ยี่ชี้มือไปที่แอ่งน้ำด้านหน้า นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้เห็นตาน้ำตามธรรมชาติของจริง มองผ่านๆ หน้าตาเหมือนจุดน้ำขังมากกว่า ความกว้างประมาณ 1เมตร ลึกราว 1 ฝ่ามือเท่านั้น แต่น้ำในแอ่งใสแจ๋ว เห็นถึงก้นแอ่งซึ่งเป็นทรายสีน้ำตาลอ่อน บริเวณรอบๆ มีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด ตาน้ำจากจุดนี้ไหลแตกขยายออกเป็นลำห้วยอีกมากมาย ที่ด้านล่างมีฝายซึ่งทีมพี่ยี่ได้สร้างเอาไว้หลายจุด ทั้งเพื่อชะลอกระแสน้ำ ป้องกันการถล่มของหน้าดินในฤดูน้ำหลาก และเพื่อเก็บกักน้ำให้ชาวบ้านอีกหลายพันครอบครัวใช้ในการทำเกษตรกรรม เพราะเมื่อผลผลิตออกมาดี รายได้ดี การบุกรุกป่าก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น 

ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

ดังนั้น การจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก พี่ยี่เล่าว่าน้ำจากลำห้วยนี้ส่งต่อไปจนถึงหมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปอีกฝั่งหนึ่งของภูเขาได้ โดยที่ไม่มีการใช้ปั๊มน้ำเลย 

“เราจะไม่จ่ายค่าน้ำด้วยน้ำมันครับ” พี่ยี่ตอบยิ้มๆ พร้อมกับอธิบายหลักการทำงานให้ฟังอย่างง่ายว่า น้ำจะตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ ดังนั้นจึงใช้หลักการนี้มาวางแผนว่า น้ำที่อยู่ในฝายกั้นน้ำที่ความสูงในแต่ละระดับนั้น ควรจะต้องสร้างท่อส่งน้ำไปเลี้ยงที่หมู่บ้านไหนบ้าง ด้วยการวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ ถึงแม้หมู่บ้านจะอยู่ไกล แต่ยังส่งน้ำไปถึงได้ พี่ยี่เปิดท่อส่งน้ำให้พวกเราดู สายน้ำพุ่งออกมาสูงถึง 2 เมตร ละอองน้ำแผ่กระจายออกจนพวกเราเปียกปอนกันหมด นี่มันแรงยิ่งกว่าปั้มน้ำที่บ้านเราซะอีก 

ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย
ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

หลังจากนั้นพวกเราค่อยๆ เดินตามเส้นทางการไหลของน้ำลงสู่หุบเขาด้านล่าง ระหว่างทางได้เห็นต้นอ่อนกำลังแตกใบอยู่หลายต้นในบริเวณนั้น เราจึงถามพี่ยี่ถึงการปลูกป่าและพันธ์ุพืชที่ใช้ในการปลูกป่า พี่ยี่อธิบายให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา จากการทดลองปลูกป่ามาหลายรูปแบบ วิธีการปลูกป่าแบบไม่ปลูก คือปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูด้วยตัวเองเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด ทั้งในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของตัวป่าเอง

พี่ยี่ชี้ให้พวกเราเห็นป้ายเบอร์ประจำต้นไม้ ซึ่งเอาไว้ใช้วัดผลการฟื้นฟูของป่า โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ จากนั้นก็สำรวจพันธ์ุไม้ในแต่ละแปลงอย่างละเอียด นับจำนวนต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น นับความหลากหลายของพันธ์ุพืชในแปลงนั้นๆ พร้อมทั้งติดตามการเติบโตของต้นไม้ในแปลงโดยตลอด จึงได้เห็นว่าป่าค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นด้วยตัวเองอย่างเป็นระบบ นั่นคือเหตุผลที่มูลนิธิฯ จัดสรรให้ป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ จากป่า ดังนั้นต้นอ่อนทั้งหลายที่เราได้เห็นทั้งหมดนั้น เป็นการเติบโตของป่าเอง 

เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

“ผมเคยเห็นกระจงอยู่ตรงนั้นครั้งหนึ่ง” พี่ยี่ชี้มือไปตรงพื้นหุบเขาด้านล่างที่เต็มไปด้วยต้นไผ่ขนาดใหญ่ที่ขึ้นติดกันอย่างหนาแน่น “มันนอนอยู่ตรงนั้น แต่เห็นแค่แวบเดียว น่าจะเป็นเพราะผมอยู่ทางต้นลม เลยทำให้เจ้ากระจงกระโดดหนีไปในทันที ผมดีใจมากๆ เลยนะ ที่ได้เห็นสัตว์ป่าที่นี่ มันทำให้รู้สึกว่าป่าฟื้นฟูขึ้นมากจริงๆ” พี่ยี่เล่าด้วยสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม 

เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย
ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

พวกเราเดินลดระดับความสูงลงไปเรื่อยๆ ทิวทัศน์รอบข้างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปจากป่าทึบชื้นกลายเป็นป่าที่โปร่งขึ้น ในส่วนนี้เรียกว่า ‘ป่าใช้สอย’ เป็นป่าสำหรับชุมชนที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทั้งการนำไม้ไปใช้สร้างและซ่อมแซมบ้าน หรือเข้าไปหาของป่าต่างๆ การเดินป่าในช่วงนี้ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์สำหรับพวกเรากันเลยทีเดียว เมื่อพี่ๆ ทีมงานต่างพากันจัด ‘บุฟเฟต์ของแปลก’ มาให้พวกเราได้ชิมกันตลอดทาง มีทั้งพืชหน้าตาแปลกและผลไม้ป่า บางลูกก็เปรี้ยวจัด บางลูกขมฝาดในตอนแรกแต่หลังจากนั้นไม่กี่วินาทีกลับชุ่มคอ 

พี่ยี่หยิบพร้าคู่ใจฟันฉับเข้าไปที่ไม้เลื้อยต้นหนึ่ง หยดน้ำใส ค่อยๆ ไหลอย่างต่อเนื่องออกมาจากจุดที่ถูกฟัน พวกเรายกไม้เลื้อยท่อนนั้น สลับกันดื่มแก้กระหายกันเป็นทอดๆ รสชาติของน้ำมีความเฝื่อนเบาๆ แต่ก็สร้างความสดชื่นให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก ตอนนี้ถึงได้เข้าใจแล้วว่า สำหรับชาวบ้าน ‘ป่า’ ก็คือเซเว่นอีเลฟเว่น มีทั้งอาหาร ขนม น้ำดื่ม และยารักษาโรค ป่าคือส่วนหนึ่งในชีวิต การใช้ชีวิตร่วมกับป่าคือวิถีชีวิตที่สำคัญและแยกจากกันไม่ได้สำหรับพวกเขา

ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย
ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย
ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

เมื่อพวกเราเดินลดระดับความสูงลงไป ทิวทัศน์ป่าไผ่อันหนาแน่นค่อยๆ กลายเป็นไร่ต้นชาน้ำมันขนาดใหญ่ เรียกว่า ‘ป่าเศรษฐกิจ’ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่จัดสรรให้ชาวบ้านแต่ละครอบครัว ร่วมกันรับผิดชอบดูแลพื้นที่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจระยะยาว เช่น ชาอัสสัม กาแฟ และที่สำคัญคือต้นชาน้ำมัน ซึ่งมูลนิธิฯ จัดตั้งโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน บ้านปูนะ เพื่อสนับสนุนและให้คำแนะนำในการปลูกต้นชาน้ำมัน รวมถึงการรับซื้อผลผลิตต้นชาน้ำมันจากชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายได้ระยะยาว 

ที่ใกล้ๆ กันนั้นก็จะเห็นป่าประเภทสุดท้ายที่เรียกว่า ‘พื้นที่ทำกิน’ ของชาวบ้าน ที่เอาไว้ปลูกพืชผลระยะสั้น เช่น ข้าวโพด ข้าว และพืชผักสวนครัวต่างๆ ไว้ทานกันเองภายในครอบครัว ด้านข้างของสวนเห็นสายน้ำเล็กๆ ที่ไหลผ่าน น้ำสายนี้ไหลมาจากตาน้ำที่มาจากป่าอนุรักษ์ด้านบน ความสัมพันธ์ของป่าต้นน้ำที่อยู่ด้านบนและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ด้านล่างเชื่อมโยงกันด้วยสายน้ำที่มาจากตาน้ำเล็กๆ ตรงจุดนั้น 

“ตอนทำโครงการแรกๆ ไม่มีชาวบ้านคนไหนอยากให้ความร่วมมือนะ แต่เราก็พยายามพิสูจน์ความจริงใจให้พวกเขาเห็นว่า เราตั้งใจทำกันจริงๆ เราให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นและทำงานไปด้วยกัน เดินสำรวจพื้นที่ป่า เพื่อแบ่งเขตการจัดสรรป่าไปด้วยกัน มาลุยทำฝายไปด้วยกัน

“นอกจากนั้น ยังมีโครงการอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ทั้งโครงการชาน้ำมัน โครงการกาแฟ โครงการงานหัตถกรรมที่ส่งไปขายที่ดอยตุง หรือโครงการธนาคารหมูดำ จนเดี๋ยวนี้ชาวบ้านไม่บุกรุกป่าอีกแล้วเพราะเขามีพื้นที่ทำกิน พื้นที่ทำการเกษตร มีรายได้จากทางอื่นที่เพียงพอ แต่ที่น่าดีใจที่สุด คือชาวบ้านได้กลายเป็นคนอนุรักษ์ผืนป่า การแจ้งเหตุเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าที่พวกเราได้รับ ส่วนใหญ่มาจากชาวบ้านเป็นผู้แจ้งข่าวทั้งนั้น

 “เพราะทุกคนรักและคอยดูแลผืนป่าให้กับพวกเรา ถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากชาวบ้านทุกคน พวกเราก็คงอนุรักษ์ผืนป่าไว้ไม่ได้” แม้พี่ยี่จะพูดโดยที่ไม่ได้หันหน้ามา แต่เราก็รับรู้ได้ถึงความสุขและความภูมิใจที่ส่งผ่านออกมาจากน้ำเสียง 

ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย
ปีนกระบะไต่ขึ้นเขาไปเดินเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ป่าต้นน้ำเหนือไร่ชาที่ เชียงราย

เราจบการเดินทางของวันนี้ที่จุดพักริมลำธาร ข้าวมื้อบ่ายวันนั้นเป็นการนั่งล้อมวงบนใบตองกล้วย แบ่งกันจกข้าวเหนียวหมูทอด น้ำพริกหนุ่ม และไข่ต้มด้วยความสนุกสนาน ปิดท้ายด้วยน้ำชาไม้ไผ่ที่เพิ่งต้มกันสดๆ ด้วยการเอาลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่กว่าน่องขามาเจาะรู แล้วนำยอดใบชาสดที่เก็บมาจากบริเวณนั้นใส่ลงไป เติมน้ำให้เต็ม แล้วต้มทั้งกระบอกจนน้ำเดือด

น้ำชาที่ได้เป็นการผสมกันที่ลงตัว ระหว่างกลิ่นหอมอ่อนๆ ของใบชาผสมกับกลิ่นหอมตามธรรมชาติของไม้ไผ่ ตัวน้ำชามีรสชาติละมุนอมหวานเล็กน้อยจากเยื่อไผ่ที่ละลายอยู่ในน้ำ มันคือสุดยอดชาไม้ไผ่ที่ทั้งชีวิตนี้ไม่รู้จะหาโอกาสดื่มได้จากที่ไหน อีกทั้งแก้วชาก็ทำจากไม้ไผ่ขนาดพอดีมือที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับสถานที่ เพราะด้วยความที่ริมลำธารมักเต็มไปด้วยก้อนหิน ไม่มีที่ราบเพียงพอจะวางแก้วน้ำได้ พี่ยี่จึงใช้พร้าคู่ใจบรรจงเหลาด้านล่างของแก้วให้เป็นปลายแหลม เพื่อให้ปักตั้งลงไปในพื้นดินได้อย่างสะดวก 

เราละเมียดจิบชาไม้ไผ่ และซึมซับบรรยากาศที่แสนจะพิเศษนี้ไว้ให้นานที่สุด พร้อมกับทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ การเดินทางศึกษาธรรมชาติ 2 ห้วย 3 ดอย 4 ป่า 5 ชั่วโมง 6 กิโล ดูเหมือนไม่นาน แต่เต็มไปด้วยความรู้ในแง่มุมใหม่ๆ มุมมองของเราที่มีต่อการอนุรักษ์ป่าและปลูกป่าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเราได้ออกไปเห็นด้วยตัวเอง จิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ หลายชิ้นได้ถูกต่อเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าที่แยกออกจากกันไม่ได้ แต่ต้องเป็นการเดินหน้าไปด้วยกัน การอนุรักษ์ป่าในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม 

ที่ที่ทุกคนเป็นผู้ชนะ ทั้งผู้คนและธรรมชาติ ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและกลายเป็นผู้พิทักษ์ป่า ผืนป่าได้รับการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน กลายเป็นแหล่งต้นน้ำหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากมายที่อยู่ในป่า รวมทั้งและชาวบ้านที่อยู่ในเขาอีกหลายพันครอบครัว 

หากแนวความคิดแบบนี้ปรับใช้ได้กับพื้นที่ป่าหลายๆ ที่ในเมืองไทยได้ก็คงดี 

เราจิบชาแสนอร่อยอึกสุดท้าย แล้วบอกลาป่าผืนใหญ่ไว้ข้างหลัง


โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน จังหวัดเชียงราย มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการศึกษาและปลูกชาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาและเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ จึงยังไม่ได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ 

ภาพ : คุณชุตินันท์ โมรา, คุณพลพิชญ์ คมสัน, คุณพูนพัฒน์ วัฒนสินธ์ุ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

สุธีรา โมรา

ชอบพาร่างกายและจิตใจไปทรมาน เพียงเพื่อเฝ้ามองการวิวัฒนาการของตัวเอง เสพย์ติดชา รักการอ่าน Manga และแพ้ทางอาม่าอากง