15 พฤศจิกายน 2019
13 K

The Cloud x TCP Spirit

เราร่วมมือกันแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างไรบ้าง? 

นี่คือคำถามที่สังคมพยายามหาคำตอบทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเรื่องน้ำ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำใด จะอยู่ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ หรือเมืองเล็กๆ เมื่อมีปัญหาเรื่องน้ำเกิดขึ้นก็มักจะมีหลายฝ่าย หลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบไปพร้อมๆ กัน 

เพื่อให้ได้คำตอบที่เข้าใจง่ายและทุกคนนำกลับไปแก้ปัญหาได้ทุกพื้นที่ The Cloud และกลุ่มธุรกิจ TCP จึงจัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่’ เมื่อวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้อาสาสมัครที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้ปัญหาเรื่องน้ำและวิธีการจัดน้ำที่ทุกคนนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ โครงการดูแลลุ่มน้ำทั่วประเทศไทยในระยะยาวของกลุ่มธุรกิจ TCP 

กิจกรรมครั้งนี้เราพาอาสาสมัครจากทั่วประเทศกว่า 100 คน เดินทางไปทำความเข้าใจต้นน้ำและการจัดการน้ำตามธรรมชาติกันที่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อให้อาสาสมัครได้เห็นความสัมพันธ์ของป่าและน้ำ หลังจากได้ซึมซับความสวยงามของธรรมชาติกันแล้ว เราจะไปเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำและการจัดการที่ดินที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ กับ พรรณราย พหลโยธิน และ โรจนี ลีลากุล เจ้าของพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาที่ดินกว่า 50 ไร่ ให้พึ่งพาตัวเองได้ในด้านการจัดการน้ำและมีวิทยากรพิเศษคือ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มาให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบพื้นที่แก่อาสาสมัครและอธิบายการนำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ในการดูแลดินและน้ำ

อเล็กซ์ เรนเดลล์

กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากได้ความรู้กลับบ้านเต็มกระบุง เรายังมีนักแสดงหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ มาร่วมเรียนรู้ ร่วมทำกิจกรรม และส่องต่อแรงบันดาลใจดีๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับอาสาสมัครในฐานะ TCP Spirit Ambassador เป็นปีที่ 2 แล้ว

โครงการ TCP Spirit เป็นโครงการอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค โดยต่อยอดมาจาก ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ด้วยกัน

อเล็กซ์ เรนเดลล์ พรรณราย พหลโยธิน และ โรจนี ลีลากุล เจ้าของพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาที่ดินกว่า 50 ไร่ ให้พึ่งพาตัวเองได้ในด้านการจัดการน้ำและมีวิทยากรพิเศษคือ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
พรรณราย พหลโยธิน และ โรจนี ลีลากุล เจ้าของพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาที่ดินกว่า 50 ไร่ ให้พึ่งพาตัวเองได้ในด้านการจัดการน้ำและมีวิทยากรพิเศษคือ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

จากการเรียนรู้ตลอด 3 วัน 2 คืนที่เขาใหญ่ เราจึงได้จดเลกเชอร์ 10 วิชา เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณามาแบ่งปันกัน เพื่อให้ทุกคนที่อยากช่วยกันดูแลลุ่มน้ำนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างถูกวิธี

วิชาที่ 1

ทำความรู้จักลุ่มน้ำ

ทำความรู้จักความหมายของ ‘ต้นน้ำ’ และ ‘ลุ่มน้ำ’ ก่อนลงมือพยาบาลลุ่มน้ำด้วยกัน

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

ก่อนที่เราจะได้ลงมือพยาบาลลุ่มน้ำด้วยกัน อาสาสมัครจากทั่วประเทศจะต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำเสียก่อน ฉัตรปรีชา ชฎากุล หัวหน้าสถานีวิจัยลุ่มน้ำมูล จึงชวนอาสาสมัครมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ต้นน้ำ’ และ ‘ลุ่มน้ำ’ เพื่อความเข้าใจตรงกันและความถูกต้องของข้อมูล

เริ่มจากต้นน้ำ เพราะเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุดและพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารทั้งหลาย ‘ต้นน้ำ’ มักเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบนที่สูงอย่างภูเขา เช่นป่าลุ่มน้ำลำตะคองที่น้ำไหลลงมาจากเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 

ส่วนคำว่า ‘ลุ่มน้ำ’ คือพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดที่อยู่เหนือจุดไหลออกของน้ำ มีลักษณะเหมือนแอ่งกะทะ โดยมีขอบกะทะเป็นสันปันน้ำ ลุ่มน้ำมีองค์ประกอบ ดังนี้ ทรัพยากรกายภาพ เช่น ดิน ที่ดิน หิน แร่ธาตุ , ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ป่าไม้ สัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ, ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัย ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม การใช้ที่ดินประเภทต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรเหล่านี้อยู่รวมกันอย่างกลมกลืนเป็นลุ่มน้ำ ดังนั้นการพยาบาลลุ่มน้ำจึงมุ่งจัดการที่ดินและการใช้ที่ดินของคนในลุ่มน้ำนั้นๆ

ด้วย ‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรสำคัญของคน สัตว์ และสรรพสิ่งในธรรมชาติ โดยเฉพาะมนุษย์ที่ใช้น้ำในแทบทุกกิจกรรมในชีวิต หลายคนใช้ แต่น้อยคนที่รักษา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และนำมาซึ่งปัญหาภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังมีปัญหาใหญ่ เพราะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่คอยดูดซับน้ำบนภูเขาถูกทำลาย สูญเสียพื้นที่ต้นน้ำให้กับการเกษตรจนกลายเป็นเขาหัวโล้น คนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำจึงได้รับผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องขึ้นมารู้จักกับ ‘ลุ่มน้ำ’ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน  

วิชาที่ 2

ความสัมพันธ์ของป่ากับน้ำ

เดินป่าสำรวจลุ่มน้ำลำตะคองที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้

หลังจากเรียนรู้เรื่องลุ่มน้ำกันแล้ว เราพาอาสาสมัครไปเดินสำรวจป่าลุ่มน้ำลำตะคองกันที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำบนเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวนครราชสีมา และป่าแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนเขื่อนเก็บน้ำธรรมชาติที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

เราออกเดินเท้าจากด้านหน้าเข้าไปเพียงนิด ธรรมชาติก็ต้อนรับเหล่าอาสาสมัครด้วยอากาศเย็นสบายและเสียงน้ำไหลสุดผ่อนคลาย ฉลาด พุทธบาล วิทยากรประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บอกเราว่า ป่าแห่งนี้เป็นป่าดิบแล้ง จัดอยู่ในหมวดป่าไม่ผลัดใบ ป่าพวกนี้จะเขียวชอุ่มทั้งปี

ลำตะคองเป็นแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่เปรียบเสมือนสายเลือดที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดนครราชสีมา มีต้นกำเนิดจากเขาฟ้าผ่า ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ไหลผ่านอำเภอปากช่อง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และบรรจบกับแม่น้ำมูลท้ายน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) 

ถึงแม้ว่าลุ่มน้ำลำตะคองจะมีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไว้คอยกักเก็บน้ำฝน และมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำมีความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และทำธุรกิจ จึงมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมาก จนทำให้เกิดปัญหาการจัดการน้ำและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง

การเดินทางมาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในครั้งนี้จึงเป็นการพาอาสาสมัครมาสัมผัสกับสายน้ำ ได้เห็นความยิ่งใหญ่และความสวยงามของธรรมชาติ เพื่อที่จะได้เข้าใจลุ่มน้ำ รู้จักการอนุรักษ์น้ำอย่างถูกวิธี และสร้างจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นหลัง

ระหว่างสองข้างทางเราสังเกตเห็นหญ้ารังไก่ เดินไปหน่อยก็เจอต้นหวาย ถือเป็นพืชชนิดหนึ่งที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า พอเงยหน้าตามเสียงวิทยากรก็มีเถาวัลย์เส้นหนาระโยงระยางจากต้นนู้นไปยังต้นโน้น นับเป็นการพึ่งพากันของต้นไม้ใหญ่กับเถาวัลย์ เวลากระแสลมพัดแรงรากของต้นไม้พยุงตัวเองไม่ได้ ก็อาศัยเพื่อนบ้านอย่างเถาวัลย์คอยยึดเหนี่ยวเอาไว้ แถมเถาวัลย์ยังเป็นสะพานเชื่อมของสัตว์ที่หากินบนต้นไม้อย่างชะนี กระรอก 

ระหว่างศึกษาวิทยาการชวนอาสามัครหยุดดู ‘น้ำนิ่งไหลลึก’ เป็นบริเวณที่แหล่งน้ำเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง ถ้าไปไหนก็ตามแล้วสังเกตเห็นน้ำนิ่งแสดงว่าลึกแน่ แต่ถ้าตรงไหนน้ำไหลแรง สบายใจได้ว่าน้ำตื้น น้ำนอกจากจะมาจากฝน ยังมาจากต้นไม้ด้วยนะ ดินก็มีส่วนในการเก็บน้ำเหมือนกัน ยิ่งดินเหนียวยิ่งเก็บน้ำได้ดี เพราะช่องว่างระหว่างดินค่อนข้างถี่

ถ้าต้นไม้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า จิงโจ้น้ำก็เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำด้วยเช่นกัน ถ้าสัตว์อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นได้ คนก็ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำนั้นได้เหมือนกัน ส่วนสีของน้ำในห้วยลำตะคองจะมีลักษณะขุ่นเล็กน้อยเพราะตลอดเส้นทางที่น้ำไหลลงมาจากเขาฟ้าผ่าต้องไหลผ่านหินภูเขาซึ่งเป็นหินทราย (ถ้าน้ำใสแจ๋วต้องไหลผ่านหินภูเขาที่เป็นหินปูน อย่างน้ำตกเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี)  

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติอาสาสมัครจะได้ยินเสียงน้ำไหลซู่ซ่าตลอดทาง เพราะน้ำในพื้นที่ต้นน้ำลำตะคองนั้นไหลหลากตลอดทั้งปี การมีป่าที่สมบูรณ์จะเป็นตัวช่วยอุ้มน้ำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถึงคราวฝนตก ป่าจะช่วยดูดซับน้ำเอาไว้ไม่ให้ไหลบ่าลงไปท่วมพื้นที่ด้านล่าง และเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งรากของต้นไม้ที่เคยดูดซึมน้ำเอาไว้จะค่อยๆ คายน้ำออกมา การเดินป่าในครั้งนี้จึงทำให้อาสาสมัครเห็นความสัมพันธ์ของน้ำและป่าที่ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี 

“ทุกสิ่งทุกอย่างมนุษย์สร้างขึ้นมาทดแทนได้  แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทดแทนไม่ได้ คือสายน้ำ และความสมบูรณ์ของธรรมชาติ” ฉลาด ทิ้งท้ายแก่เราและอาสาสมัคร

วิชาที่ 3

ออกแบบพื้นที่ด้วยหลุมขนมครก

ทำความเข้าใจการออกแบบพื้นที่เก็บน้ำด้วย ‘โคก หนอง นา โมเดล’ 

ก่อนลงมือแก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีทะลักเข้ามาในที่ดินและการพังทลายของหน้าดินริมลำธาร ขอชวนทำความเข้าใจ ‘หลุมขนมครก’ หรือ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ อันเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 กันก่อน

  โคก หนอง นา โมเดล ก็คล้ายกับ 1 ถาดขนมครก ถ้าถาดเรียบก็จะเก็บน้ำไว้ไม่ได้ การขุดหลุมขนมครกบนพื้นที่จะทำให้น้ำขังในดินได้นานขึ้น น้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงจะไม่ไหลบ่าจนเกิดน้ำท่วมเหมือนปัจจุบัน ในพื้นที่เขาหัวโล้นก็ใช้ได้ เพียงขุดหนองไว้เก็บน้ำ ปลูกพืชเป็นหน้าขั้นบันไดให้รากอุ้มน้ำในดิน ถ้าทำนาขั้นบันไดบนไหลเขาได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้น้ำฝนที่ตกลงมาอยู่ในพื้นที่ดินของเราได้นานขึ้น และต้องปลูกแฝกบริเวณสันดินเพื่อช่วยให้ยึดเกาะหน้าดินได้ดี นอกจากหลุมขนมครกจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังช่วยจัดเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปีด้วยนะ

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น
อเล็กซ์ เรนเดลล์

วิชาที่ 4

บำบัดน้ำเสียด้วย ‘สปา’

แก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลทะลักเข้ามาในที่ดินด้วยการทำ ‘สปาน้ำเสีย’

หากขุดบ่อรับน้ำในบ้านของตัวเอง แต่น้ำก่อนหน้าดันไหลผ่านบ้านเพื่อนที่ใช้สารเคมีทางเกษตร แล้วจะบำบัดอย่างไร รัชกาลที่ 9 ทรงวิจัยและทำเรื่องการบำบัดน้ำเสียที่บึงมักกะสันและบึงพระรามเก้า รวมทั้งทดลองวิจัยที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ในการบำบัดน้ำเสียที่ไหลผ่านเมือง ท่านตรัสว่าให้ใช้วิธีธรรมชาติ ได้ประโยชน์และประหยัด

ทางศูนย์เลยนำ ‘ระบบบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ’ มาแปลงให้เข้าใจง่ายด้วยการทำ ‘สปาน้ำเสีย’ เริ่มจาก

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

นอนพัก เป็นการขุดหนองรับน้ำให้น้ำเสียไหลเข้ามานอนพัก รอน้ำเสียนอนเต็มอิ่มจนน้ำตกกะกอนใสขึ้น แล้วปล่อยไหลไปยังบ่ออาบแดด ขอย้อนไปตอนขุดหนองสักนิด เมื่อขุดเป็นบ่อแล้วให้ย่ำมูลวัวสดผสมฟางยาแนวผนังบ่อด้วย เพราะมูลวัวจะช่วยปรับปรุงดินให้มีความหนาแน่น ไม่มีโพรง เป็นผลให้ดินเก็บน้ำได้ดี 

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

อาบแดด ขุดคลองไส้ไก่ให้คดเคี้ยว ลึกบ้าง ตื้นบ้าง เพื่อให้น้ำอยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียได้นานที่สุด นอนอาบแดดให้แผดเผา เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค ส่วนบริเวณคลองไส้ไก่แนะให้ปลูกพืชน้ำอย่างกก ธูปฤาษี พุทธรักษา เพื่อใช้รากดูดสารพิษ

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น
10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

กินอากาศ บ่อสุดท้ายเป็นพื้นที่พักน้ำสะอาดหลังจากการบำบัดมาสองบ่อ อาจกั้นฝายและคันดินเป็นจุด ทำเป็นน้ำตกและเติมอากาศ เพื่อความชัวร์ว่าน้ำจะปลอดภัยไร้สารพิษ ให้โยนระเบิดจุลินทรีย์เท่าลูกเปตองลงไปด้วยเพื่อปรับน้ำให้มีคุณภาพดี แล้วเจ้าจุลินทรีย์ที่ฝังอยู่ในบ่อจะคอยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ที่เป็นสารอินทรีย์ในน้ำ พอย่อยสลายเสร็จ พร้อมส่งน้ำไปสู่หนองเก็บน้ำ ส่งเข้านา ส่งเข้าแปลงผัก และอุปโภคบริโภค เป็นอันจบคอร์สสปาน้ำเสียแต่เพียงเท่านี้

วิชาที่ 5

กักเก็บดินดี

แก้ปัญหาชะล้างพังทลายของหน้าดินริมลำธารด้วยการ ‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’

บริเวณหนึ่งของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ติดกับลำน้ำลำตะคอง เวลาน้ำหลากจะชะล้างหน้าดินลงไปอยู่ในลำน้ำเสียหมด ส่งผลให้ลำนำตื้นเขิน เขื่อนแทนที่จะกักเก็บน้ำกลายเป็นกักเก็บดิน วิทยาการแนะว่าทุกพื้นที่ติดริมน้ำหรือพื้นที่ลุ่มน้ำ ควรมีระบบอนุรักษ์ดิน เพื่อเก็บตะกอนดินดี ไว้เป็นฮิวมัสและปุ๋ยธรรมชาติให้พื้นที่ของตัวเอง

จึงเกิดการ ‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’ เพื่อแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของหน้าดินริมลำธาร 

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

  กักดิน ด้วยการปรับหน้าดินลาดชันให้เป็นนาขั้นบันได เก็บน้ำ ด้วยการขุดคลองไส้ไก่ดักตะกอนดีเก็บไว้ในหนองน้ำ ปลูกแฝก เพื่ออาศัยประโยชน์จากรากแฝกให้ช่วยยึดหน้าดินและลดการชะล้างพังทลาย แฝกควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ แนวแถวของแฝกจะเป็นเสมือนรั้วช่วยชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่าหน้าดิน 

วิธีการนี้ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นริมตลิ่ง ริมลำธาร หรือแม้แต่พื้นที่เขาหัวโล้น

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น
10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

วิชาที่ 6

คิดอะไรไม่ออกให้ ‘ปลูกกล้วย’

หน้าดินพัง เก็บน้ำไม่ดี กล้วยช่วยได้

หากเดินเข้าไปในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ ไม่เพียงเห็นกองทัพต้นกล้วย แต่เจ้าบ้านยังติดป้ายอวดสรรพคุณชวนทำตามว่า ‘คิดอะไรไม่ออกปลูกกล้วย’ วิทยากรจากศูนย์ฯ เฉลยให้ฟังว่าทำไมต้องปลูกกล้วยก่อนปลูกพืชพรรณชนิดอื่น เพราะก่อนจะเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ ที่ดินผืนนี้เป็นดินสีน้ำตาลแห้งกรัง กักเก็บน้ำในดินได้ไม่ดี ทางศูนย์เลยเริ่มต้นปลูกกล้วยเป็นพืชเบิกนำ ลำต้นของกล้วยเก็บน้ำและความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี การปลูกกล้วยจึงเหมาะมากสำหรับใช้ปรับคุณภาพดินบนภูเขาหัวโล้น

  ที่สำคัญ กล้วยยังเป็นพืชที่ใจดี ช่วยเอื้อเฟื้อความชุ่มชื้นไปยังพืชข้างเคียงที่ปลูกเคียงคู่กันให้เจริญงอกงาม และแทบทุกส่วนของต้นกล้วยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ใบใช้นำไปห่อขนมก็ดี หยวกกล้วยก็ใช้แกงได้อร่อย ฯลฯ 

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

วิชาที่ 7

ใครฆ่าหญ้า

ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าหญ้า แต่ใช้หญ้าฆ่าหญ้า

การทำเกษตรกรรมในทุกวันนี้เกษตรกรจะเลือกใช้ยาฆ่าหญ้าที่อุดมไปด้วยสารเคมีกำจัดหญ้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดขั้นตอนในการทำงาน แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการ ‘ตัดให้เตียน’ แล้วไม่ต้องขนย้าย ปล่อยหญ้าไว้คอยห่มดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดินที่อยู่ด้านล่าง

เมื่อความชุ่มชื้นเพียงพอจะเกิดความร้อนใต้กองหญ้า ซึ่งทำให้จุลินทรีย์เจริญได้ดีมากกว่าเดิม การย่อยสลายก็ดีตามไปด้วย จนเกิดฮิวมัสและเป็นปุ๋ยธรรมชาติราคา 0 บาท ที่ช่วยบำรุงดินต่อไป 

แถมอีกนิด ความจริงหญ้าตายได้เองถ้าไม่เจอแสงแดด เพียงแค่เอาไม้มาทาบหรือเอาร่มเงามาบังส่วนที่ไม่ต้องการ หญ้าก็จะตายไปเองโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปตัด

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

วิชาที่ 8

หัวคันนาทองคำ

ปลูกผลไม้และผักสวนครัวบนหัวคันนาให้รุ่มรวยผลผลิตดั่งทองคำ

ภายในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่มีนาข้าวอินทรีย์ พิเศษตรงคันนาทองคำ เพราะบริเวณหัวคันนามีทั้งพืชทานได้และพืชใช้ประโยชน์ได้ แต่ดันไปขัดกับความเชื่อของชาวบ้านที่มักจะไม่ปลูกไม้ใหญ่บนคันนา ด้วยเงาของต้นไม้ทาบทับลงบนนาข้าว เป็นผลให้ข้าวเจริญเติบโตไม่ดี แต่วิทยากรแนะวิธีแก้ ง่ายนิดเดียว เพียงวางคันนาให้เป็นแนวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เท่านี้เงาก็จะไม่ทอดบนนาข้าว แถมมีหัวคันนาทองคำไว้กิน ไว้ใช้ ตลอดทั้งปี

ถ้าปลูกเยอะจนกินคนเดียวไม่หมดก็แบ่งปันเพื่อนบ้านเรือนเคียงได้อีกด้วย

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

วิชาที่ 9

ปลูกป่า 5 ระดับ

ปลูกพืชผสมผสานในแปลงเดียวกัน แต่ระดับความสูงไม่เท่ากัน

วิทยาการเล่าว่า อดีตนาข้าวถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโคก เพื่อรองรับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ผ่านใต้วิธีการปลูกป่า 5 ระดับ เป็นการปลูกต้นพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน มีความสูงต่างระดับกัน เพราะความแตกต่างของชนิดพืชและความต่างของระดับความสูง จะทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่า คล้ายการเลียนแบบระบบนิเวศของป่าตามธรรมชาติ เมื่อมีฝนตกลงมารากของพืช 5 ระดับ จะช่วยอุ้มน้ำไว้ใต้ดินมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วป่า 5 ระดับมีอะไรบ้าง

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

ไม้ระดับสูง เป็นไม้เนื้อแข็ง พวกตะเคียน สัก ประดู่ ไม้แดง

ไม้ระดับกลาง เช่น มะพร้าว มะม่วง

ไม้ระดับเตี้ย เน้นผักสวนครัว อาทิ อัญชัน 

ไม้หัวใต้ดิน พวกเผือก หัวมัน

ต้นไม้ยิ่งสูง รากยิ่งยาว ทำให้จุลินทรีย์เดินทางตามรากของต้นไม้ ส่งผลให้พื้นที่นั้นจะยิ่งอุดมสมบูรณ์และเกิดความสมดุล แถมพ่วงมาด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ถึง 4 อย่าง เริ่มจากการปลูกพืชที่กินได้ ปลูกพืชที่นำมาใช้งานได้ และปลูกพืชที่นำมาสร้างที่อยู่อาศัยได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง สำหรับพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น 

วิชาที่ 10

น้ำหมักสารพัดประโยชน์

ทำน้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วยและปั้นระเบิดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย

สมัยเปิดศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ทำเกษตรเคมีมาก่อน ภายหลังทางศูนย์มาเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่วายมีสารพิษตกค้าง เลยตั้งใจทำน้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วย หมักจนอายุครบ 3 เดือน พร้อมใช้งาน! ก็เอามาราดลงดิน เพื่อชะล้างสารพิษในดิษและบำรุงดินให้ดีกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มจุลินทรีย์ดีให้ดิน

นอกจากจะหมักพืชเป็นน้ำ ยังปั้นระเบิดจุลินทรีย์เพื่อบำบัดน้ำเสียจากปุ๋ยหมักแห้ง ดินเลน รำข้าว แกลบเผา แกลบดิบ และน้ำหมักรสจืด ผสมคลุกเคล้ากันแล้วปั้นขนาดเท่าลูกเปตอง วางในพื้นที่ร่มสัก 7 – 15 วัน ก็พร้อมกลายร่างเป็นระเบิดลูกจิ๋วสำหรับบำบัดน้ำเสีย โดยการโยนระเบิดจุลินทรีย์ 1 ลูก เหมาะกับพื้นที่บ่อน้ำขนาด 1 ตารางเมตร 

อ้อ ทางศูนย์ไม่ได้ทำแค่น้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วยนะ ยังมีมากถึง 7 รส สำหรับใช้กับร่างกายและต้นพืช

10 เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจาก เขาใหญ่ ที่ช่วยให้เราดูแลลุ่มน้ำได้ดีขึ้น

จาก 10 วิชา ของหลักสูตร TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ คงทำให้หลายบ้าน ที่ดินทุกแปลง บ้านทุกหลัง ที่อยู่ในลุ่มน้ำนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะมีที่ดิน พื้นที่เกษตร หรือเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ก็สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปจัดการน้ำไว้ใช้ในที่ดินของตัวเอง โดยเฉพาะบำบัดน้ำเสียจากสารเคมีปนเปื้อนและแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการชะล้างตะกอนดินไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อช่วยกันพยาบาลลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำที่เราพึ่งพาอาศัย ถ้านำวิธีการพยาบาลลุ่มน้ำจาก TCP spirit ไปใช้ ขอเพียงแค่ 10% ของพื้นที่ลุ่มน้ำหันมาจัดการน้ำตามแนวทางนี้และช่วยบอกต่อกับคนใกล้ชิด ก็จะสามารถช่วยพยาบาลลุ่มน้ำได้ทั่วประเทศ

Writers

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู