13 กันยายน 2019
22 K

The Cloud x TCP Spirit

ปัญหาต้นน้ำน่านไม่ใช่เพียงปัญหาของคนน่าน แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศไทย

เพราะต้นน้ำน่านเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากถึง 47 เปอร์เซ็นต์

หากเราและป่าใหญ่ช่วยกันเก็บน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไว้ไม่ได้ จากปัญหาเท่าเม็ดงาจะกลายเป็นปัญหาสุดหินระดับประเทศทันที นับแต่คนต้นน้ำไม่มีน้ำกินน้ำใช้ หน้าแล้งแห้งสนิท กระทบอาชีพเกษตรและคนทำไร่ไถนาอย่างจัง

วันดีคืนดีฝนกระหน่ำ คนกลางน้ำและปลายน้ำได้รับน้ำจนล้นทะลัก เพราะน้ำป่าไหลบ่าเข้าสู่เมือง เกิดอุทกภัย จนเป็นภาพชินตาของคนไทยที่เราประสบพบเจอกันอยู่ทุกปี การจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำในประเทศไทยจึงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้การแก้ปัญหายั่งยืนมากที่สุด

จดเลกเชอร์ 10 วิชาเก็บน้ำที่คนน่านเชื่อว่าคนเมืองทำได้ทุกครัวเรือน
จดเลกเชอร์ 10 วิชาเก็บน้ำที่คนน่านเชื่อว่าคนเมืองทำได้ทุกครัวเรือน

The Cloud และกลุ่มธุรกิจ TCP จึงจัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดน่าน’ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ โครงการดูแลลุ่มน้ำทั่วประเทศไทยในระยะยาวของกลุ่มธุรกิจ TCP เราชวนอาสาสมัครจากทั่วประเทศเดินทางไปเรียนรู้วิธีฟื้นป่าต้นน้ำที่หน่วยจัดการต้นน้ำสบสายกับ ดร.ธนากร ลัทธิ์ถีระสุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา การจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และ คุณปรีชา รอดเพชร หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย

จดเลกเชอร์ 10 วิชาเก็บน้ำที่คนน่านเชื่อว่าคนเมืองทำได้ทุกครัวเรือน
จดเลกเชอร์ 10 วิชาเก็บน้ำที่คนน่านเชื่อว่าคนเมืองทำได้ทุกครัวเรือน

 ตลอดจนเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำอย่างง่ายและถูกวิธีกับ กุล ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากได้ความรู้กลับบ้านเต็มกระบุง เรายังมีนักแสดงหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ มาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมสุดสนุกด้วยกันตลอดทั้งทริป ในฐานะ TCP Spirit Ambassador เป็นปีที่ 2 

โครงการ TCP Spirit เป็นโครงการอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค โครงการนี้ต่อยอดมาจาก ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ด้วยกัน

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย
วิชาที่ 1

ศึกษาต้นน้ำ

ศึกษาความสมบูรณ์ของหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย พื้นที่ที่ผลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นให้เป็นป่าดิบชื้น 

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

ดร.ธนากร ลัทธิ์ถีระสุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา การจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และคุณปรีชา รอดเพชร หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย ชวนอาสาสมัครร่วม 100 คน ไปเดินป่าดิบชื้นเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ป่าต้นน้ำ เดิมทีป่าที่เรากำลังจะก้าวเท้าเข้าไปเคยเป็นป่าหัวโล้นสีน้ำตาล มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกยางพาราบ้าง ไร่ข้าวโพดบ้าง ทำให้ป่าต้นน้ำถูกทำลาย กลายเป็นพื้นที่แล้งจนไม่มีน้ำ

แต่ปัจจุบันป่าต้นน้ำสบสายถูกฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ด้วย ‘ป่าปลูก’ โดยใช้หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  คือหนึ่ง ปลูกพืชที่กินได้  สอง ปลูกพืชที่นำมาใช้งานได้  สาม ปลูกพืชที่นำมาสร้างที่อยู่อาศัยได้ 

เพื่อจะได้ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนี้ 

  1. พออยู่ คือการปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ไม้กลุ่มนี้เป็นไม้อายุยาวนาน ซึ่งจะเน้นประโยชน์โดยใช้เนื้อไม้เพื่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน และถือได้ว่าเป็นการออมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต ต้นไม้กลุ่มนี้คือ ตะเคียนทอง ยางนา แดง สัก พะยูง พะยอม
  2. พอกิน คือการปลูกต้นไม้ที่กินได้ รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพร ไม้ในกลุ่มนี้คือ แค มะรุม ทุเรียน สะตอ ผักหวาน ฝาง แห้ม กล้วย ฟักข้าว
  3. พอใช้ คือการปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือน เช่น ทำฟืน เผาถ่าน ทำงานหัตถกรรม หรือทำน้ำยาซักล้าง ไม้ในกลุ่มนี้คือ มะคำดีควาย หวาย ไผ่ หมีเหม็น เป็นต้น
  4. พอร่มเย็น คือประโยชน์อย่างที่ 4 ที่เกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง ทำให้เกิดความร่มเย็น และป่าทั้งสามอย่างนี้จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และฉ่ำเย็นขึ้น
เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

เสริมด้วยหลักการปลูกป่า 5 ระดับ เพื่อให้ต้นไม้หลายระดับชั้นช่วยดูดซับน้ำและลดการพังทลายของหน้าดิน เน้นฟื้นฟูด้วยการปลูกไม้พื้นถิ่นเดิมของป่าต้นน้ำสบสาย เช่น ต้นสัก ไผ่ กล้วยป่า หวายป่า มะเดื่อ ต้นตาว (ตอนอยู่ในถ้วยเรียก ลูกชิด) เมื่อความอุดมสมบูรณ์มาเยือน พืชชนิดอื่นก็ขึ้นตามมาอีกเพียบ ทั้งข่าป่า พริกไทยป่า ต้นบุกคางคก ต้นเต้าหลวง (ทำแกงอร่อยเหาะ) ดีปลีป่า ฯลฯ

ปัจจุบันป่าต้นน้ำสบสายกลับมาเขียวชอุ่ม เต็มไปด้วยต้นไม้หลายสายพันธุ์ ระหว่างทางที่เดินไปเราเจอต้นกล้วยป่า ตัวชี้วัดความชุ่มชื้น ขึ้นเรียงกันเป็นแถว ถ้าเราเห็นกล้วยป่าที่ใด ที่นั่นมีน้ำแน่นอน

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย
เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

เราเดินจนถึงจุดหมาย ‘ห้วยขี้เปรอะ’ ต้นน้ำใสแจ๋วจนมองเห็นแมลงกระโดดดึ๋งไปมา เราทำกิจกรรมนักสืบสายน้ำเพื่อหาตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ และเก็บตัวอย่างน้ำจากต้นน้ำเพื่อลงไปเทียบกับน้ำจากลำน้ำยาวและน้ำจากลำน้ำน่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย สีที่ได้เห็นพิสูจน์ได้ด้วยตา ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดมาพิสูจน์เพิ่มเติม 

น้ำจากลำน้ำยาวสีเหลืองขุ่น น้ำจากลำน้ำน่านสีส้มแดง ส่วนน้ำจากต้นน้ำใสแจ๋ว เป็นน้ำคุณภาพระดับดีเยี่ยม

การมีป่าที่สมบูรณ์จึงเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นว่า ‘การมีป่าที่ดี จะทำให้น้ำดีตามไปด้วย’ เพราะป่าช่วยดูดซับน้ำ ป้องกันการไหล่บ่าของน้ำป่าในช่วงหน้าฝน และช่วยลดการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี 

น้ำที่ไหลจากป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์จึงใสและสะอาดมากกว่าน้ำจากภูเขาหัวโล้น

วิชาที่ 2

โคก หนอง นา โมเดล

ทำความเข้าใจการจัดการน้ำอย่างถูกวิธี สำหรับใช้ตลอดทั้งปี

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

ก่อนลงมือทำสารพัดวิธีเก็บน้ำและดูแลรักษาดิน ขอชวนทำความเข้าใจ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ กันสักนิด

  โคก หนอง นา โมเดล เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ทุกคนประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งปี ด้วยการขุดหนองไว้เก็บน้ำ ดินจากการขุดหนองให้ถมเป็นโคก บนโคกปลูกไม้ 5 ระดับ เพื่อใช้รากของพืชหลากสายพันธุ์ในการเก็บน้ำไว้ในดิน และยกหัวคันนาในพื้นที่นาให้สูงและใหญ่ ยิ่งหัวคันนาใหญ่และสูงมาจะช่วยให้เก็บน้ำได้เยอะ ปลูกพืชได้มาก เลี้ยงปลาในนาได้ด้วย เพื่อเป็นการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ข้าว ปลา อาหาร น้ำ ครบครัน

วิชาที่ 3

ขุดหนองปลาโตไว

จับจอบขุดหนองน้ำเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำฝนมหาศาล

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

การขุดหนองน้ำเลียนแบบธรรมชาติต้องมีความคด มีความโค้ง มีระดับชั้นความลึก-ตื้นต่างกัน เพื่อให้แสงแดดส่องถึง เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอย่างสาหร่าย ครอบครัวปลาสารพัดชนิด และเป็นขุมทรัพย์รองรับน้ำฝนชั้นยอด

ก่อนจะขุดต้องคำนวณอย่างดีว่าหนองจุน้ำได้เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในพื้นที่เราหรือยัง และคำนึงถึงน้ำที่ระเหยออกไปด้วย ชุมชนต้นน้ำน่านแนะว่า การออกแบบหนองต้องเน้นลึกไว้ก่อน ความกว้างเป็นรอง เพราะถ้ากว้างจะทำให้มีพื้นที่สัมผัสลมและแสงแดดมาก ทำให้น้ำระเหยออกไปได้มากกว่าเดิม เฉลี่ยแล้วน้ำจะระเหยออกจากหนองวันละ 1 เซนติเมตร ฉะนั้น เราจึงขุดหนองเลียนแบบธรรมชาติลึกประมาณ 4 เมตร เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี 

วิชาที่ 4

โรงเรียนอนุบาลปลา

สานไม้ไผ่เป็นบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลปลาเล็กและทำอาหารปลาราคา 0 บาท 

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

ความสนุกของงานกสิกรรมธรรมชาติคือเราการใช้ข้าวของรอบตัวจากธรรมชาติให้สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์สูงสุด ไม้ไผ่ที่เราเห็นอยู่ทั่วชุมชนต้นน้ำน่านถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำการเกษตร 

เรานำไม้ไผ่มาทำบ้านปลา เพื่อเป็นพื้นที่หลบภัยสำหรับปลาเล็ก วิธีทำไม่ยาก เพียงใช้ไม้ไผ่สานเป็นทรงกระบอก ขนาดไม่ใหญ่มาก ด้านในบรรจุกิ่งไม้คละขนาดทับถมกัน แล้วเอาไปวางในบ่อน้ำกว้าง เพียงเท่านี้ก็เสร็จ 

มีโรงเรียนอนุบาลแล้วต้องมีโรงอาหาร ถ้าเราเลี้ยงปลาเป็นประจำ การซื้ออาหารปลาทุกเดือน คงไม่ใช่เรื่องดีนัก ที่นี่จึงคิดค้น ‘แซนด์วิชปลา’ ขึ้นมา ไม่ใช่ขนมปังแซนด์วิชสอดใส่ปลาทอด แต่เป็นการเอาไม้ไผ่สานเป็นทรงกลมแล้วปักลงในบ่อน้ำ ใส่ฟางข้าวสลับชั้นกับปุ๋ยคอกมูลวัว ใส่สลับกับสัก 3 – 4 ชั้นจนเต็ม ปล่อยทิ้ง 1 สัปดาห์ กลับมาดูอีกที เกิดไรแดงและแพลงก์ตอน เป็นอาหารรสเลิศของปลา ทำให้ชาวนา ชาวสวน ไม่ต้องเสียเงินให้กับร้านจำหน่ายอาหารปลาอีกต่อไป

วิชาที่ 5

อธรรมปราบอธรรม

ดัดไม้ไผ่เป็นคอกผักตบสำหรับบำบัดน้ำเสียและดูดสารเคมี

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

ผักตบชวาไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป แม้ใครจะมองว่าผักกอเขียวจะเป็นศัตรูกับแหล่งน้ำ แท้จริงผักตบชวาบำบัดน้ำเสียได้ดีจนต้องยกนิ้วโป้งให้ เพราะผักตบชวาเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพน้ำเสีย จึงมีคุณสมบัติเป็นเครื่องกรองน้ำจากธรรมชาติ รากดูดซับโละหนักได้เป็นอย่างดี โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องกรองน้ำ หรือทำระบบบำบัดน้ำเสียในบ่อปลา

ชุมชนต้นน้ำน่านจึงชวนอาสามาช่วยกันทำคอกผักตบ ด้วยการเหลาไม้ไผ่สานมาล้อมเป็นคอกใส่ในน้ำ สามารถสร้างสรรค์รูปร่างได้ตามที่เราต้องการ บางทีล้อมคอกแปดเหลี่ยม บางทีล้อมคอกหัวใจ แล้วใส่ผักตบลงคอกให้เต็ม ต้องหมั่นเอาผักตบชวาออกทุก 45 วัน เพื่อไม่ให้ผักตบชวาเจริญงอกงามจนบดบังแสงแดดที่จะส่องลงในบ่อน้ำ เพราะแสงแดดมีผลกับเจ้าปลาตัวเล็กตัวใหญ่และพืชเล็กจิ๋วในบ่อน้ำ

วิชาที่ 6

หัวคันนากินได้

ปลูกผลไม้และผักสวนครัวบนหัวคันนาให้เด็ดกินได้ด้วยมือเปล่า

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

หัวคันนาเป็นแหล่งอาหารชั้นดี เหมาะมากสำหรับคนมีบ่อน้ำและคนทำนาที่ต้องการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า วิชานี้ง่ายมาก!

แต่ยากตรงเปลี่ยนความเชื่อ เพราะหัวคันหาโดยทั่วไปมักจะทำเล็กๆ เพื่อเหลือพื้นที่ไว้ทำนาเยอะๆ แต่ชุมชนต้นน้ำน่านไม่ทำแบบนั้น พี่กุล ปัญญาวงศ์บอกว่า หัวคันนากินได้ หรือหัวคันนาทองคำ คือหลักการทำนาตามแบบสมัยโบราณ เพียงยกหัวคันนาสูงอย่างน้อย 1 เมตร พื้นที่ด้านบนกว้าง 1 เมตร ฐานกว้าง 2 เมตร คล้ายการทำนาของชาวนาสมัยก่อนที่มักยกหัวคันนาให้กว้างและสูง และต้องเป็นนาน้ำลึก ให้น้ำคอยควบคุมหญ้า 

การเก็บน้ำในนาจะเท่ากับความสูงของคันนา ทำให้น้ำซึมลงดินอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลให้ข้าวในนาผลผลิตดีและยังสามารถเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งในนาได้ ได้ทั้งข้าวปลาและอาหารไปพร้อมๆ กันในพื้นที่เดียว 

ถ้าปลูกเยอะจนกินคนเดียวไม่หมดก็แบ่งปันเพื่อนบ้านเรือนเคียงได้อีกด้วย

วิชาที่ 7

ปลูกป่า 5 ระดับ

ปลูกพืชผสมผสานในแปลงเดียวกัน แต่ระดับความสูงไม่เท่ากัน

ช้าก่อน ไม่ได้ชวนปลูกทั้งป่า แต่ป่า 5 ระดับ เป็นการปลูกต้นพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน มีความสูงต่างระดับกัน เพราะความแตกต่างของชนิดพืชและความสูงสูงต่ำต่ำ จะทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่าต่างหาก คล้ายการเลียนแบบระบบนิเวศของป่าตามธรรมชาติตามที่เราได้เห็นที่ป่าต้นน้ำสบสาย ข้อดีของป่า 5 ระดับ เมื่อมีฝนตกลงมารากจะช่วยอุ้มน้ำไว้ใต้ดินมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เอาล่ะ ขอไล่ตั้งแต่ระดับสูงไปยังระดับใต้ดิน เพื่อให้เห็นภาพพร้อมกันชัดๆ 

ไม้ระดับสูง เช่น ตะเคียน สัก ยางนา 

ไม้ระดับกลาง เช่น มะม่วง ไผ่ มะพร้าว 

ไม้ระดับเตี้ย มีพริก มะเขือ กะเพรา 

ไม้เรี่ยดิน เช่น แตงโม อัญชัน  

ไม้หัวใต้ดิน พวกข่า เผือก หัวมัน 

วิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่หลายสิบไร่เหมือนชุมชนต้นน้ำน่านก็นำกลับไปทำได้ แค่สวนหย่อมเล็กๆ หน้าบ้านก็สร้างป่า 5 ระดับ ได้เช่นกัน ขอเพียงเน้นความหลากหลายของพันธุ์พืช และอย่าลืมนึกถึงประโยชน์ในการใช้สอย อยากกินอะไร อยากใช้อะไร ก็ใช้หลักการนี้กับบ้านตัวเองได้

วิชาที่ 8

ขุดคลองไส้ไก่

ขุดคลองน้ำใหญ่กว่าใส้ไก่ ให้ดินเก็บน้ำฝนและรักษาความชุ่มชื้น

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

คลองไส้ไก่เป็นคลองน้ำสายเล็ก ไม่จำเป็นต้องขนาดเล็กเท่าไส้ไก่ เพียงขุดให้เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งาน 

ถ้ายิ่งขุดคลองไส้ไก่ให้เชื่อมถึงกันทั้งหมด แล้วให้น้ำไหลไปรวมกันยังหนองน้ำใหญ่ นอกจากจะช่วยกักเก็บน้ำฝนได้อย่างยอดเยี่ยม ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พืช ผัก ผลไม้ รอบคลองไส้ไก่ด้วยนะ แล้วบริเวณนั้นจะมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปีและเจริญงอกงามสมบูรณ์ดี หมดปัญหาการตื่นแต่เช้ามารดน้ำผักทั้งแปลง ถ้าอยากได้คลองใหญ่ก็แค่ขุดให้กว้างขึ้นเท่านั้นเอง อ้อ! คลองไส้ไก่ขุดง่าย ทำเองได้ ใช้แค่จอบเสียมและความเพียรก็พอ

วิชาที่ 9

แฝกสารพัดประโยชน์

ปลูกแฝกลงดินริมหนองน้ำ ช่วยป้องกันการพังทลาย
เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

กุล ปัญญาวงศ์ บอกเราว่า หัวใจสำคัญของการเก็บน้ำให้ดี เก็บน้ำให้ได้ หน้าดินห้ามพังทลายเด็ดขาด 

ดินวิเศษจงบอกข้าเถิด พืชใดเก็บน้ำและรักษ์ดินที่สุดในปฐพี เฉลย หญ้าแฝกสารพัดประโยชน์ 

เพราะระบบรากของแฝกหนาแน่นและเจริญเติบโตแนวลึก ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดิน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ ความชื้น และอัตราการระบายน้ำและอากาศ แถมยังช่วยป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เพราะรากแฝกเมื่อสัมผัสน้ำจะดึงน้ำลงดินทันทีและรากยังช่วยดูดซับสารเคมี

ชุนชนต้นน้ำน่านมักปลูกแฝกริมบ่อน้ำและคลองไส้ไก่ เพื่อตกแต่งขอบและปล่อยให้แฝกคอยอารักขาหน้าดิน 

วิชาที่ 10

แท็งก์น้ำไม้ไผ่

เก็บน้ำจากแหล่งธรรมชาติด้วยแท็งก์น้ำไม้ไผ่โบกปูนและแผงโซลาร์เซลล์

เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย
เดินป่าศึกษาต้นน้ำ น่าน และเรียนวิชาเก็บน้ำจากกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเข้าใจว่ารักษ์น้ำแล้วต้องรักป่าด้วย

ถ้าชาวบ้านมีน้ำประปาภูเขาไหลผ่าน แต่ไม่มีพื้นที่เก็บน้ำที่เก็บได้ตลอดทั้งปี ฟันธงเลยว่าเมื่อหน้าแล้งมาถึง ยังไงก็แล้งชัวร์

แท็งก์น้ำไม้ไผ่จึงเป็นเครื่องมือเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเก็บน้ำได้นานและถาวร ต้นทุนต่ำกว่าแท็งก์น้ำสำเร็จรูป เพราะใช้เพียงปูนและไม้ไผ่ที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ภาคเหนือ วิธีทำไม่ยากหรือซับซ้อน ไม่ต้องจบวิศวกรรมก็ทำได้ เพียงขุดดินลงไปจากดินเดิม 1.5 – 2 เมตร วางฐานเป็นตารางด้วยไม้ไผ่เส้น พร้อมทำระบบท่อน้ำแรงดันสูงไว้เลย แล้วเทปูนทับประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร บริเวณด้านข้างปักด้วยไม้ไผ่แทนโครงสร้างเหล็ก จากนั้นสานไม้ไผ่เป็นทรงกลมคล้ายกระบุงใบใหญ่สูง 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ด้านนอกเทปูนหนา 15 เซนติเมตร ด้านในฉาบปูนหนา 4 เซนติเมตร เพื่อความคงทันแข็งแรง เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแท็งก์ไม้ไผ่จะจุน้ำได้ประมาณ 87,000 ลิตร มีใช้ตลอดปี

แต่การทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ได้บริเวณนั้นต้องมีแหล่งน้ำต้นทุน คือน้ำที่ไหลผ่านจากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำใกล้เคียง เพราะถ้ารอให้ฝนตกจนเต็มแท็งก์อาจจะช้าไปเสียหน่อย แต่เจ้าแผงโซลาร์เซลล์จะช่วยปั๊มน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนไปเก็บไว้ในแท็งก์น้ำไม้ไผ่ให้เก็บน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น 

จาก 10 วิชาของหลักสูตร TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ คงทำให้ทุกคนเข้าใจภาพรวมของปัญหาได้มากขึ้น และนำองค์ความรู้กลับไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองได้ แต่ละพื้นที่และไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทั้งสิบวิชา เพียงนักอ่านนำไปปรับใช้และประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เวลา และกำลังเงิน เพียงเท่านี้ก็มีน้ำไว้ใช้ตลอดปี ใครที่พลาดกิจกรรมนี้ไม่ต้องเสียใจไป เรากำลังจะมีกิจกรรมครั้งต่อไปเร็วๆ นี้ ติดตามได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก The Cloud หรือ เพจเฟซบุ๊ก TCP Group และ www.tcp.com

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย