ความคิดสร้างสรรค์ คือกระบวนการคิดของสมองที่หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า

แล้วถ้าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดล่ะ

นี่คือเอกลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน แหล่งกำเนิดของเพลงหมอลำ ประเพณีต่างๆ ไปจนถึงอาหารและผลผลิตมากมายที่กลายเป็นสินค้าประจำชาติ ซึ่งไม่ได้เกิดบนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เฉกเช่นภาคอื่นๆ แต่เราเชื่อว่าหลายคนมองเห็นศักยภาพของประชากรในภูมิภาคนี้ เหมือนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่เลือกเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบขอนแก่น หรือ TCDC ขอนแก่น เพื่อขยายสาขาไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

ภาพอาคารหลังใหญ่ดีไซน์แปลกตาที่นักออกแบบสร้างจากโจทย์ที่ว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เข้าไปใช้งานได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน’ คงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาไม่น้อย เหมือนเป็นหนึ่งในความหวังเล็กๆ ให้ผู้คนในวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังประสบในวันนี้ ภารกิจของ TCDC คือการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในระดับภูมิภาค และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เราถือโอกาสนี้ชวน อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พิชิต วีรังคบุตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น และ ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร Executive Director บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด มาพูดคุยกันถึงแนวคิดในการริเริ่มโครงการ การออกแบบโครงสร้างและฟังก์ชันภายใน ไปจนถึงความคาดหวังขอนแก่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคต่อไป

ขอนแก่นและต้นทุนเดิม

“เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำนี้เวลาฟังเขาพูดมันอาจดูเข้าใจยากเหลือเกิน ในคำว่าสร้างสรรค์นั้นหมายความลงไปถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คืออุตสาหกรรมที่มาจากการมีต้นทุนเดิมอย่างต้นทุนทางวัฒนธรรม และต้นทุนใหม่อย่างต้นทุนทางเทคโนโลยี ซึ่งต้นทุนทั้งสองนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะเกิดผลดีกับทางธุรกิจแล้ว ยังกระตุ้นสังคมให้ดีขึ้นอีกด้วย”

คุณอภิสิทธิ์เริ่มเล่าให้เราฟังถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์หนึ่งในหน้าที่สำคัญของ CEA องค์กรซึ่งยกระดับมาจาก TCDC ที่เราคุ้นเคย จากความสำเร็จในการขยายสาขาขึ้นไปทางภาคเหนือและปักหลักลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ถึงคราวของภาคอีสาน ซึ่งขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ได้รับเลือก

เหตุผลแรก ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ทั้งด้านประเพณีและด้านประวัติศาสตร์

เหตุผลที่สอง ขอนแก่นมีผู้ประกอบการและคนทำงานสร้างสรรค์อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม นักออกแบบ หรือแม้กระทั่งกลุ่มศิลปินพื้นบ้านอย่างครูเพลงหรือหมอลำ

เหตุผลที่สาม ขอนแก่นมีต้นทุนในการผลิตนักออกแบบอย่างสถาบันการศึกษาต่างๆ และภายในมหาวิทยาลัยยังมีหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันได้ในอนาคตเช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

“เมืองขอนแก่นแบ่งได้เป็นสองส่วน คือส่วนตัวเมืองและมหาวิทยาลัย แยกกันชัดเจนเลย เราจึงมองว่าทำอย่างไรถึงจะเชื่อมมหาวิทยาลัยกับเมืองได้ ดังนั้นถึงแม้ที่ตั้งจะอยู่ภายในมหาวิทยาลัย กิจกรรมบางส่วนจะเข้าไปอยู่ในเมือง อย่างเช่นเราไปทำย่านศรีจันทร์ที่เป็น Creative District

“ด้วยพื้นที่ที่อยู่ตรงใจกลางของภูมิภาค เรามองว่าขอนแก่นเป็นตัวเลือกที่ดีในการเป็นที่ตั้งหลักเพื่อทำงานร่วมกับจังหวัดอื่นๆ แล้วก็ยังมองไปไกลกว่าภาคอีสานด้วย เราอยากให้ลงไปถึงใน ลาว เขมร เวียดนาม เพื่อให้เชื่อมกับเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้”

ภาคอีสานและทรัพยากร

เมื่อได้พื้นที่แล้ว การประกวดแบบจึงเริ่มขึ้น และชัยชนะตกเป็นของ A49 บริษัทสถาปนิกชื่อดังของประเทศไทย

“เราเชื่อในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนอีสาน การให้ออฟฟิศที่ขอนแก่นทำ โดยไม่ได้ให้ส่วนที่กรุงเทพฯ เข้ามาจัดการ เป็นจุดแรกที่ตรงกับโจทย์ของ TCDC ที่อยากทำให้มันเหมาะกับภาคอีสานจริงๆ เพราะฉะนั้นคนอีสานก็น่าจะเข้าใจบริบทของอีสานได้ดีที่สุด” 

ดร.ณรงค์วิทย์ จาก A49 สาขาขอนแก่น เริ่มเล่าให้เราฟังถึงที่มาและแนวคิด

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ เขายกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ทั้งงานศิลปะหรือสิ่งของเครื่องใช้ในภาคอีสานค่อนข้างแตกต่างจากภาคอื่นๆ เช่น พานดอกไม้ ถ้าเป็นพานดอกไม้ของภาคกลาง จะมีลักษณะเป็นพานทองเหลือง มีดอกไม้ประดับประดาเยอะ มีเรื่องของความสวยงามเข้ามา แต่ในภาคอีสานจะเรียกว่า ขันกะย่อง ซึ่งเป็นแค่ไม้ไผ่มาขัดกัน มีดอกไม้เล็กๆ น้อยๆ ที่พอหาได้วางไว้ด้านบน ก็เป็นเรื่องการใช้สอยที่น่าจะเพียงพอ

นอกจากโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอีสาน ทาง A49 ได้มีโอกาสคุยกับ TCDC ถึงตัวตนขององค์กรซึ่งคือความเป็น Community ทางกลุ่มนักออกแบบจึงนำความเป็นชุมชนมาปรับเพิ่มเป็นฟังก์ชันที่เข้ากับรูปแบบอาคาร

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

ประเด็นแรกคือ การออกแบบเพื่อให้ผู้คนมองเห็นกิจกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน และเกิดเป็นชุมชนได้ง่ายขึ้น ผ่านการเลือกใช้วัสดุกระจกในการออกแบบ 

อีกประเด็นหนึ่งคือ การสื่อสารกับคนภายนอกเพื่อให้เกิดเป็นชุมชน ผ่านการออกแบบเป็นกระจกสีแดงส้มที่พลิกไปมาได้ กลายเป็นป้ายสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจนบริเวณด้านหน้าของ TCDC ขอนแก่น ซึ่งในขณะนี้เป็นคำว่า TCDC โดยในอนาคตอาจจะเป็นคำหรือรูปอื่นๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับคนภายนอก

พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

“เราวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วความเป็นอีสานมันคืออะไร พอพูดถึงอีสานเรานึกถึงภาพความแห้งแล้งดินที่แตกระแหง ไม่มีพืชคลุมดิน ไม่มีต้นไม้ ก็เห็นสีแดงของดินชัดเจนกว่าบริเวณอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่เราเลือกใช้สีที่มาจากสีดินก็เพื่อบอกว่า ‘อีสานเป็นแบบนี้นะ’ ได้ชัดเจนมากกว่าภาคอื่นๆ ที่เป็นสีเขียวเสียส่วนใหญ่

“ประเด็นของความกันดารซ่อนอยู่ในการใช้สีแดงส้ม ไม่ว่าจะเป็นดีเทลของพื้นข้างนอก เราก็ใช้สีนี้เพื่อสื่อออกไป หรือแม้แต่ไม้ที่อยู่ใน TCDC ขอนแก่น ก็ไม่ใช่สีไม้ปกติที่เขาใช้กัน ที่มันจะออกเหลืองๆ เพราะบริบทมันไม่เหมือนกัน ของเราจะเปลี่ยนไปกลายเป็นสีน้ำตาลแดง แสดงความเป็นอีสานในแง่ของวัสดุออกไปด้วย”

พื้นที่ใต้ถุนและการพบปะพูดคุย

จากจุดเริ่มต้นในเรื่องทรัพยากรและความคิดสร้างสรรค์ สู่คอนเซปต์การออกแบบโดยใช้คำว่า ‘อีสาน กันดาร สร้างสรรค์’ โดยมีการวิเคราะห์และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นตัวช่วยชั้นดีในการออกแบบ

งานวิจัยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ได้กล่าวถึงประเด็นการพบปะและเจอกันของผู้คน ที่จะทำให้เกิดเป็นความคิดและความสามารถที่นำมาต่อยอดได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเกิดเป็นความคิดใหม่ที่มีคุณค่า หรือที่เราเรียกว่า ความคิดสร้างสรรค์ 

กลับมาที่บริบทของคนอีสาน สถานที่ที่ผู้คนต่างมาพบเจอกันและพูดคุยแลกเปลี่ยนก็ไม่ใช่ที่อื่นไกล แต่เป็นพื้นที่ใต้ถุนบ้านซึ่งแตกต่างจากภาคอื่นๆ เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งและอากาศร้อน การไปมาหาสู่กันจะเป็นการเดินผ่านใต้ถุนบ้านถัดไปเรื่อยๆ จนไปถึงบ้านที่เราต้องการพบปะพูดคุย

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

นี่เป็นเหตุผลว่าบ้านอีสานในสมัยก่อนจะไม่มีรั้ว จากบริบททางวัฒนธรรมสำคัญนี้กลายเป็นดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรือนอีสานที่ใช้เส้นตรงเป็นหลัก รวมไปถึงพื้นที่ใต้ถุนที่ให้ทุกคนเข้ามาใช้สอยได้โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น และไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปภายในตัวตึกด้วยซ้ำ ผู้คนอาจพบเจอกันโดยความบังเอิญและนั่งพูดคุยกัน จนทำให้เกิดการต่อยอดความคิดได้เลย

ขึ้นชื่อว่า TCDC ก็ต้องมีห้องสมุดซึ่งอยู่บนชั้นสอง เพื่อให้คนที่ตั้งใจมาใช้งานแยกตัวจากพื้นที่สาธารณะ และยังมองเห็นผู้คนที่ผ่านไปมาหรือทำกิจกรรมโดยรอบได้ในเวลาเดียวกัน 

พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

“ตอนที่คิดโจทย์ เรามองภาพเลยครับว่าความสำเร็จของศูนย์นี้คืออะไร หากคุณตาคุณลุงข้างบ้านไม่รู้สึกขัดเขินที่จะเข้ามาใช้ได้ มันน่าจะสำเร็จที่สุดแล้วในมุมมองผู้ออกแบบ ทำไมเขากล้าเข้าไปใช้วัดที่อยู่ในชุมชนเขาได้ ทำไมเขาไปที่บ้านเพื่อนเขาได้ ส่วนหนึ่งเป็นความคุ้นชินและการมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมของเขาอยู่ เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นๆ เขาถึงกล้าเข้าไปใช้

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

“นอกจากความคุ้นชินแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญมากๆ เราต้องเปิดให้เขาเข้ามากที่สุด ไม่มีอะไรกั้นเลย เขาอาจจะแค่มานั่งพักเหนื่อย แค่นั้นก็เป็นโอกาสที่เขาจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ เขาอาจจะฉุกคิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่ง เขาเข้าไปใช้ได้ ผมว่าสุดท้ายเรื่องนี้มันก็จะไปตอบโจทย์ของวัตถุประสงค์ของ TCDC ได้จริงๆ”

ความบันเทิงและงานฝีมือท้องถิ่น

นอกจากการออกแบบโครงสร้างที่แตกต่างจากสาขาอื่นแล้ว ในส่วนของเนื้อหาความรู้ใน TCDC ขอนแก่นก็แตกต่างออกไป โดยมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงและงานฝีมือท้องถิ่น

“ภารกิจของสำนักงานเองมุ่งเน้นอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องการออกแบบทั่วไป อีกเรื่องคือ เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของทางอีสาน เรารู้ว่าคนอีสานรักสนุก ดูจากวัฒนธรรมพื้นบ้านของเขาที่น่าตื่นเต้นกว่าภาคอื่น 

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

“เราจะเห็นว่างานประเพณีที่อีสานไม่ว่าจะเป็นผีตาโขน บุญบั้งไฟ บั้งไฟพญานาค งานแห่เทียน งานสงกรานต์ ทุกงานมีสีสันหมด สนุกสนานหมด เพราะฉะนั้นเราเลยโฟกัสไปที่เรื่องนี้ ที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มที่เป็นการแสดง ทั้งเพลง ดนตรี หมอลำ” ทั้งอภิสิทธิ์และพิชิตอธิบายให้เราฟัง

“มันเปลี่ยนจากวิธีเดิมที่เราทำไลน์อุตสาหกรรม ตอนนี้จะมีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากพวก Design, Architect, Product อย่างกลุ่ม Art หรือ Performance ที่กว้างกว่านั้น เรามองถึงคุณค่าที่เกี่ยวข้องในด้านอุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ มันมีมากกว่าแค่คนร้องรำทำเพลง แต่รวมไปถึงช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คนทำโปรดักต์ คนทำเสื้อผ้า ครูเพลง การแสดง ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างคนทำเฟสติวัล 

TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
TCDC ขอนแก่น พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่อยากทำให้วัฒนธรรมอีสานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

“ส่วนอุตสาหกรรมอื่น เช่นอุตสาหกรรมการออกแบบ สิ่งที่เขาค่อนข้างโดดเด่นก็คือเรื่องผ้า ข้อดีของผ้าอีสานคือมันมีความเป็นลาว มีความเป็นเขมร วัฒนธรรมมันเชื่อมโยงกัน เราเลยคิดว่างานผ้าก็เป็นเรื่องน่าสนใจ หรืองานคราฟต์ที่มีลักษณะเฉพาะที่เป็น Folk Craft (งานฝีมือท้องถิ่น) ภาษาของงานอีสานจะตรงไปตรงมาในงานออกแบบนะ ผมคิดว่ามันก็เหมาะกับโลกวันนี้ดี”

ความคิดสร้างสรรค์และความหวังใหม่

เราถามถึงแพลนในอนาคตของ TCDC พบว่าในอนาคตอันใกล้นี้ TCDC จะลงใต้ไปเปิดสาขาที่จังหวัดสงขลา จังหวัดที่แอบซ่อนศิลปวัฒนธรรมไว้มากมาย ทั้งความสวยงามของตัวเมือง ร้านค้า ไปจนถึงสถานที่แสดงงานศิลปะ อีกไม่นาน TCDC จะเปิดครบทั้งสี่ภาค ถึงเวลานั้นคงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนในพื้นที่ไม่น้อย

เราปิดท้ายบทสนทนาในวันนั้นด้วยความคาดหวังของ TCDC ขอนแก่น ที่ต้องการเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้การออกแบบเป็นประเด็นที่สำคัญในพื้นที่ เช่นเดียวกับในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ เห็นได้จากความสำเร็จในการจัดงานเทศกาล Chiang Mai Design Week และ Bangkok Design Week ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

หวังว่าขอนแก่นจะเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากผู้คนที่ดูตื่นตาตื่นใจกับการมาถึงของ TCDC คนอีสานคงได้มาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นความหวังใหม่ให้กับผู้คนในชุมชน

และความหวังใหม่น่าจะขับเคลื่อนสังคมได้

Writer

Avatar

อาทิตยา จันทร์เศรษฐี

นัก(หัด)เขียนและนัก(หัด)วาด สะสมสติ๊กเกอร์และโปสการ์ด ตกหลุมรักท้องฟ้าซ้ำไปซ้ำมา และสัญญากับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือเดือนละเล่ม

Photographers

Avatar

รักอิสระ มุกดาม่วง

เป็นคนจังหวัดอุดรธานี-ถิ่นภาคอีสาน โดยกำเนิด รักอิสระเคยดร็อปเรียนตอนมัธยมแล้วไปเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารไทยในอเมริกา 1 ปี ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป และสนใจภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan