ความคิดสร้างสรรค์ คือกระบวนการคิดของสมองที่หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า
แล้วถ้าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดล่ะ
นี่คือเอกลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน แหล่งกำเนิดของเพลงหมอลำ ประเพณีต่างๆ ไปจนถึงอาหารและผลผลิตมากมายที่กลายเป็นสินค้าประจำชาติ ซึ่งไม่ได้เกิดบนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เฉกเช่นภาคอื่นๆ แต่เราเชื่อว่าหลายคนมองเห็นศักยภาพของประชากรในภูมิภาคนี้ เหมือนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่เลือกเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบขอนแก่น หรือ TCDC ขอนแก่น เพื่อขยายสาขาไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาพอาคารหลังใหญ่ดีไซน์แปลกตาที่นักออกแบบสร้างจากโจทย์ที่ว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เข้าไปใช้งานได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน’ คงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาไม่น้อย เหมือนเป็นหนึ่งในความหวังเล็กๆ ให้ผู้คนในวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังประสบในวันนี้ ภารกิจของ TCDC คือการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในระดับภูมิภาค และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

เราถือโอกาสนี้ชวน อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พิชิต วีรังคบุตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น และ ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร Executive Director บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด มาพูดคุยกันถึงแนวคิดในการริเริ่มโครงการ การออกแบบโครงสร้างและฟังก์ชันภายใน ไปจนถึงความคาดหวังขอนแก่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคต่อไป
ขอนแก่นและต้นทุนเดิม
“เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำนี้เวลาฟังเขาพูดมันอาจดูเข้าใจยากเหลือเกิน ในคำว่าสร้างสรรค์นั้นหมายความลงไปถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คืออุตสาหกรรมที่มาจากการมีต้นทุนเดิมอย่างต้นทุนทางวัฒนธรรม และต้นทุนใหม่อย่างต้นทุนทางเทคโนโลยี ซึ่งต้นทุนทั้งสองนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะเกิดผลดีกับทางธุรกิจแล้ว ยังกระตุ้นสังคมให้ดีขึ้นอีกด้วย”
คุณอภิสิทธิ์เริ่มเล่าให้เราฟังถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์หนึ่งในหน้าที่สำคัญของ CEA องค์กรซึ่งยกระดับมาจาก TCDC ที่เราคุ้นเคย จากความสำเร็จในการขยายสาขาขึ้นไปทางภาคเหนือและปักหลักลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ถึงคราวของภาคอีสาน ซึ่งขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ได้รับเลือก
เหตุผลแรก ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ทั้งด้านประเพณีและด้านประวัติศาสตร์
เหตุผลที่สอง ขอนแก่นมีผู้ประกอบการและคนทำงานสร้างสรรค์อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม นักออกแบบ หรือแม้กระทั่งกลุ่มศิลปินพื้นบ้านอย่างครูเพลงหรือหมอลำ
เหตุผลที่สาม ขอนแก่นมีต้นทุนในการผลิตนักออกแบบอย่างสถาบันการศึกษาต่างๆ และภายในมหาวิทยาลัยยังมีหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันได้ในอนาคตเช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
“เมืองขอนแก่นแบ่งได้เป็นสองส่วน คือส่วนตัวเมืองและมหาวิทยาลัย แยกกันชัดเจนเลย เราจึงมองว่าทำอย่างไรถึงจะเชื่อมมหาวิทยาลัยกับเมืองได้ ดังนั้นถึงแม้ที่ตั้งจะอยู่ภายในมหาวิทยาลัย กิจกรรมบางส่วนจะเข้าไปอยู่ในเมือง อย่างเช่นเราไปทำย่านศรีจันทร์ที่เป็น Creative District
“ด้วยพื้นที่ที่อยู่ตรงใจกลางของภูมิภาค เรามองว่าขอนแก่นเป็นตัวเลือกที่ดีในการเป็นที่ตั้งหลักเพื่อทำงานร่วมกับจังหวัดอื่นๆ แล้วก็ยังมองไปไกลกว่าภาคอีสานด้วย เราอยากให้ลงไปถึงใน ลาว เขมร เวียดนาม เพื่อให้เชื่อมกับเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้”
ภาคอีสานและทรัพยากร
เมื่อได้พื้นที่แล้ว การประกวดแบบจึงเริ่มขึ้น และชัยชนะตกเป็นของ A49 บริษัทสถาปนิกชื่อดังของประเทศไทย
“เราเชื่อในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนอีสาน การให้ออฟฟิศที่ขอนแก่นทำ โดยไม่ได้ให้ส่วนที่กรุงเทพฯ เข้ามาจัดการ เป็นจุดแรกที่ตรงกับโจทย์ของ TCDC ที่อยากทำให้มันเหมาะกับภาคอีสานจริงๆ เพราะฉะนั้นคนอีสานก็น่าจะเข้าใจบริบทของอีสานได้ดีที่สุด”
ดร.ณรงค์วิทย์ จาก A49 สาขาขอนแก่น เริ่มเล่าให้เราฟังถึงที่มาและแนวคิด

ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ เขายกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ทั้งงานศิลปะหรือสิ่งของเครื่องใช้ในภาคอีสานค่อนข้างแตกต่างจากภาคอื่นๆ เช่น พานดอกไม้ ถ้าเป็นพานดอกไม้ของภาคกลาง จะมีลักษณะเป็นพานทองเหลือง มีดอกไม้ประดับประดาเยอะ มีเรื่องของความสวยงามเข้ามา แต่ในภาคอีสานจะเรียกว่า ขันกะย่อง ซึ่งเป็นแค่ไม้ไผ่มาขัดกัน มีดอกไม้เล็กๆ น้อยๆ ที่พอหาได้วางไว้ด้านบน ก็เป็นเรื่องการใช้สอยที่น่าจะเพียงพอ
นอกจากโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอีสาน ทาง A49 ได้มีโอกาสคุยกับ TCDC ถึงตัวตนขององค์กรซึ่งคือความเป็น Community ทางกลุ่มนักออกแบบจึงนำความเป็นชุมชนมาปรับเพิ่มเป็นฟังก์ชันที่เข้ากับรูปแบบอาคาร

ประเด็นแรกคือ การออกแบบเพื่อให้ผู้คนมองเห็นกิจกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน และเกิดเป็นชุมชนได้ง่ายขึ้น ผ่านการเลือกใช้วัสดุกระจกในการออกแบบ
อีกประเด็นหนึ่งคือ การสื่อสารกับคนภายนอกเพื่อให้เกิดเป็นชุมชน ผ่านการออกแบบเป็นกระจกสีแดงส้มที่พลิกไปมาได้ กลายเป็นป้ายสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจนบริเวณด้านหน้าของ TCDC ขอนแก่น ซึ่งในขณะนี้เป็นคำว่า TCDC โดยในอนาคตอาจจะเป็นคำหรือรูปอื่นๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับคนภายนอก

“เราวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วความเป็นอีสานมันคืออะไร พอพูดถึงอีสานเรานึกถึงภาพความแห้งแล้งดินที่แตกระแหง ไม่มีพืชคลุมดิน ไม่มีต้นไม้ ก็เห็นสีแดงของดินชัดเจนกว่าบริเวณอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่เราเลือกใช้สีที่มาจากสีดินก็เพื่อบอกว่า ‘อีสานเป็นแบบนี้นะ’ ได้ชัดเจนมากกว่าภาคอื่นๆ ที่เป็นสีเขียวเสียส่วนใหญ่
“ประเด็นของความกันดารซ่อนอยู่ในการใช้สีแดงส้ม ไม่ว่าจะเป็นดีเทลของพื้นข้างนอก เราก็ใช้สีนี้เพื่อสื่อออกไป หรือแม้แต่ไม้ที่อยู่ใน TCDC ขอนแก่น ก็ไม่ใช่สีไม้ปกติที่เขาใช้กัน ที่มันจะออกเหลืองๆ เพราะบริบทมันไม่เหมือนกัน ของเราจะเปลี่ยนไปกลายเป็นสีน้ำตาลแดง แสดงความเป็นอีสานในแง่ของวัสดุออกไปด้วย”
พื้นที่ใต้ถุนและการพบปะพูดคุย
จากจุดเริ่มต้นในเรื่องทรัพยากรและความคิดสร้างสรรค์ สู่คอนเซปต์การออกแบบโดยใช้คำว่า ‘อีสาน กันดาร สร้างสรรค์’ โดยมีการวิเคราะห์และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นตัวช่วยชั้นดีในการออกแบบ
งานวิจัยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ได้กล่าวถึงประเด็นการพบปะและเจอกันของผู้คน ที่จะทำให้เกิดเป็นความคิดและความสามารถที่นำมาต่อยอดได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเกิดเป็นความคิดใหม่ที่มีคุณค่า หรือที่เราเรียกว่า ความคิดสร้างสรรค์
กลับมาที่บริบทของคนอีสาน สถานที่ที่ผู้คนต่างมาพบเจอกันและพูดคุยแลกเปลี่ยนก็ไม่ใช่ที่อื่นไกล แต่เป็นพื้นที่ใต้ถุนบ้านซึ่งแตกต่างจากภาคอื่นๆ เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งและอากาศร้อน การไปมาหาสู่กันจะเป็นการเดินผ่านใต้ถุนบ้านถัดไปเรื่อยๆ จนไปถึงบ้านที่เราต้องการพบปะพูดคุย


นี่เป็นเหตุผลว่าบ้านอีสานในสมัยก่อนจะไม่มีรั้ว จากบริบททางวัฒนธรรมสำคัญนี้กลายเป็นดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรือนอีสานที่ใช้เส้นตรงเป็นหลัก รวมไปถึงพื้นที่ใต้ถุนที่ให้ทุกคนเข้ามาใช้สอยได้โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น และไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปภายในตัวตึกด้วยซ้ำ ผู้คนอาจพบเจอกันโดยความบังเอิญและนั่งพูดคุยกัน จนทำให้เกิดการต่อยอดความคิดได้เลย
ขึ้นชื่อว่า TCDC ก็ต้องมีห้องสมุดซึ่งอยู่บนชั้นสอง เพื่อให้คนที่ตั้งใจมาใช้งานแยกตัวจากพื้นที่สาธารณะ และยังมองเห็นผู้คนที่ผ่านไปมาหรือทำกิจกรรมโดยรอบได้ในเวลาเดียวกัน



“ตอนที่คิดโจทย์ เรามองภาพเลยครับว่าความสำเร็จของศูนย์นี้คืออะไร หากคุณตาคุณลุงข้างบ้านไม่รู้สึกขัดเขินที่จะเข้ามาใช้ได้ มันน่าจะสำเร็จที่สุดแล้วในมุมมองผู้ออกแบบ ทำไมเขากล้าเข้าไปใช้วัดที่อยู่ในชุมชนเขาได้ ทำไมเขาไปที่บ้านเพื่อนเขาได้ ส่วนหนึ่งเป็นความคุ้นชินและการมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมของเขาอยู่ เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นๆ เขาถึงกล้าเข้าไปใช้

“นอกจากความคุ้นชินแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญมากๆ เราต้องเปิดให้เขาเข้ามากที่สุด ไม่มีอะไรกั้นเลย เขาอาจจะแค่มานั่งพักเหนื่อย แค่นั้นก็เป็นโอกาสที่เขาจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ เขาอาจจะฉุกคิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่ง เขาเข้าไปใช้ได้ ผมว่าสุดท้ายเรื่องนี้มันก็จะไปตอบโจทย์ของวัตถุประสงค์ของ TCDC ได้จริงๆ”
ความบันเทิงและงานฝีมือท้องถิ่น
นอกจากการออกแบบโครงสร้างที่แตกต่างจากสาขาอื่นแล้ว ในส่วนของเนื้อหาความรู้ใน TCDC ขอนแก่นก็แตกต่างออกไป โดยมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงและงานฝีมือท้องถิ่น
“ภารกิจของสำนักงานเองมุ่งเน้นอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องการออกแบบทั่วไป อีกเรื่องคือ เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของทางอีสาน เรารู้ว่าคนอีสานรักสนุก ดูจากวัฒนธรรมพื้นบ้านของเขาที่น่าตื่นเต้นกว่าภาคอื่น


“เราจะเห็นว่างานประเพณีที่อีสานไม่ว่าจะเป็นผีตาโขน บุญบั้งไฟ บั้งไฟพญานาค งานแห่เทียน งานสงกรานต์ ทุกงานมีสีสันหมด สนุกสนานหมด เพราะฉะนั้นเราเลยโฟกัสไปที่เรื่องนี้ ที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มที่เป็นการแสดง ทั้งเพลง ดนตรี หมอลำ” ทั้งอภิสิทธิ์และพิชิตอธิบายให้เราฟัง
“มันเปลี่ยนจากวิธีเดิมที่เราทำไลน์อุตสาหกรรม ตอนนี้จะมีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากพวก Design, Architect, Product อย่างกลุ่ม Art หรือ Performance ที่กว้างกว่านั้น เรามองถึงคุณค่าที่เกี่ยวข้องในด้านอุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ มันมีมากกว่าแค่คนร้องรำทำเพลง แต่รวมไปถึงช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คนทำโปรดักต์ คนทำเสื้อผ้า ครูเพลง การแสดง ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างคนทำเฟสติวัล


“ส่วนอุตสาหกรรมอื่น เช่นอุตสาหกรรมการออกแบบ สิ่งที่เขาค่อนข้างโดดเด่นก็คือเรื่องผ้า ข้อดีของผ้าอีสานคือมันมีความเป็นลาว มีความเป็นเขมร วัฒนธรรมมันเชื่อมโยงกัน เราเลยคิดว่างานผ้าก็เป็นเรื่องน่าสนใจ หรืองานคราฟต์ที่มีลักษณะเฉพาะที่เป็น Folk Craft (งานฝีมือท้องถิ่น) ภาษาของงานอีสานจะตรงไปตรงมาในงานออกแบบนะ ผมคิดว่ามันก็เหมาะกับโลกวันนี้ดี”
ความคิดสร้างสรรค์และความหวังใหม่
เราถามถึงแพลนในอนาคตของ TCDC พบว่าในอนาคตอันใกล้นี้ TCDC จะลงใต้ไปเปิดสาขาที่จังหวัดสงขลา จังหวัดที่แอบซ่อนศิลปวัฒนธรรมไว้มากมาย ทั้งความสวยงามของตัวเมือง ร้านค้า ไปจนถึงสถานที่แสดงงานศิลปะ อีกไม่นาน TCDC จะเปิดครบทั้งสี่ภาค ถึงเวลานั้นคงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนในพื้นที่ไม่น้อย
เราปิดท้ายบทสนทนาในวันนั้นด้วยความคาดหวังของ TCDC ขอนแก่น ที่ต้องการเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้การออกแบบเป็นประเด็นที่สำคัญในพื้นที่ เช่นเดียวกับในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ เห็นได้จากความสำเร็จในการจัดงานเทศกาล Chiang Mai Design Week และ Bangkok Design Week ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
หวังว่าขอนแก่นจะเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากผู้คนที่ดูตื่นตาตื่นใจกับการมาถึงของ TCDC คนอีสานคงได้มาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นความหวังใหม่ให้กับผู้คนในชุมชน
และความหวังใหม่น่าจะขับเคลื่อนสังคมได้