ไม่บ่อยนักที่มนุษย์ตัวเล็กเช่นเราจะใกล้ชิดสัตว์ป่าหรือสัตว์สงวนได้แบบถึงเนื้อถึงตัว เนื่องด้วยความอันตราย ความห่างไกล และความยากในการพบเจอ

ถึงแม้โลกจะพัฒนาไปเพียงใด ภาพถ่าย วิดีโอ และคำบอกเล่า ก็อธิบายความงดงามของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ไม่ดีเท่าการเห็นด้วยตาตนเอง

หากใครยังจำกันได้ถึงเรื่องราวของพะยูนน้อย มาเรียม และ ยามีล แม้พวกมันจะจากไปตั้งแต่เด็ก แต่ ‘การสตัฟฟ์สัตว์’ กลับทำให้ร่างของทั้งสองกลายเป็นแหล่งความรู้และความทรงจำชั่วนิรันดร์ นั่นคือหนึ่งในวิธีที่ทำให้ฝันของหลายคนเป็นจริง

The Cloud ชวน วันชัย สุขเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้ดูแลการสตัฟฟ์มาเรียมมาเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง จากอดีตนักศึกษาและลูกจ้าง ถึงวันที่กลายเป็นผู้ชุบชีวิตสัตว์นับร้อยให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

You had me at hello 

ชายวัยกลางคนจากหนองจอกคลุกคลีกับวงการวิทยาศาสตร์และสัตว์มาตลอดตั้งแต่เข้าเรียนปริญญาตรีด้านสัตวบาล ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ตอนเริ่มเรียนเราไม่เคยมีความคิดที่จะมาทำงานสตัฟฟ์ ไม่มีประสบการณ์ และแทบไม่รู้กระบวนการอะไรเลย” เขาเอ่ย

แต่หลังจากเรียนต่อปริญญาโท รุ่นพี่คนสนิทก็ชวนให้มาทำงานระหว่างเรียนที่ อพวช. ในตำแหน่งเกี่ยวกับการสื่อสารสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาได้ทำงานที่นี่ ก่อนจะย้ายไปทำงานอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ด้านปลิงทะเล

งานนี้ช่างโหดและหิน เขาต้องออกทะเลทันทีใน 15 วัน และพบเจออาการเมาคลื่น เมาเรืออยู่ไม่ขาด ‘เรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่โลดโผนที่สุดสำหรับนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่ง’ เราคิด

หลังทำงานได้ระยะหนึ่ง เขาได้บรรจุเป็นลูกจ้างของ อพวช. ซึ่งขณะนั้นทางองค์กรเชิญ อาจารย์เอริค แกมฟิช จากประเทศฟินแลนด์มาเป็นวิทยากรในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์ เพื่อทำหน้าที่สอนวิธีชุบชีวิตซากไร้ลมหายใจด้วยเทคนิคใหม่

สัตว์ตัวแรกที่เขาฝึกสตัฟฟ์คือ นกกระทา ถึงแม้จะเป็นคนที่ทำได้ช้าสุดและผลงานออกมาไม่สวยเหมือนคนอื่น แต่มันคือความภูมิใจที่ได้ทำสิ่งใหม่ด้วยมือตนเอง 

ความประทับใจขั้นสุดที่เป็นต้นกำเนิดเส้นทางชีวิตสายนี้เริ่มขึ้นเมื่อได้พบกับเหยี่ยวดำปีกขาด อดีตนักเรียนไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะซ่อมแซมได้ แต่อาจารย์เอริคใช้วิธีเลาะเนื้อออกแล้วเย็บปีกติดเข้าไป โดยให้ขนของนกปกปิดรอยเย็บ ทำให้สัตว์สตัฟฟ์ออกมาในสภาพสมบูรณ์สวยงามเหมือนตอนยังมีชีวิต 

ด้วยเทคนิคใหม่ วันชัยค้นพบว่า เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็เกิดขึ้นได้จริง แต่ในอีกด้านก็ถือเป็นความรู้เก่าของต่างประเทศ

“ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยมีน้อย การถ่ายทอดความรู้จึงขาดหายไปในช่วงหนึ่ง เราสังเกตว่า สัตว์สตัฟฟ์รุ่นเก่าของไทยจะมีลักษณะเฉพาะ อย่างผิวหนังตึง ริมฝีปากเหมือนแยกเขี้ยวขู่ตลอด เนื่องจากสารฟอร์มาลีนทำให้น้ำในเซลล์กล้ามเนื้อหดตัว แต่ในปัจจุบัน สัตว์มีรูปร่างที่เหมือนกับตอนมีชีวิตมากกว่าแต่ก่อน”

เขาเล่าถึงความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลงให้เห็นภาพ ซึ่งหลังอบรมเสร็จได้มีการนำผลงานที่เรียนไปจัดแสดง กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชายหนุ่มมีความคิดจะทำอาชีพนี้ต่อ

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น
อาจารย์วันชัย สุขเกษม และเหยี่ยวดำ 

“เราทำให้คนได้ใกล้ชิดกับสัตว์ คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้เสือ แต่พอมาเป็นสัตว์สตัฟฟ์ ทุกคนเข้าไปใกล้และสัมผัสขนของมันได้ ที่สำคัญ การสตัฟฟ์สัตว์คือการอนุรักษ์ที่สื่อสารได้อย่างทรงพลัง ไม่ต้องใช้คำพูดเยอะก็เล่าเรื่องราวของพวกมันได้อย่างชัดเจน

“งานนี้เราต้องทำ เพราะไม่มีใครทำ ทำแล้วมันไม่ได้กับตัวเราเอง แต่ได้กับประเทศและคนรุ่นหลัง” 

นั่นคือเสน่ห์ของการสตัฟฟ์สัตว์ในมุมของคนธรรมดาที่บัดนี้กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ เสียงในหัวของเขาดังขึ้นหลังการอบรม และหลังรู้ว่าเมืองไทยยังไม่มีพิพิธภัณฑ์สัตว์สตัฟฟ์เหมือนต่างชาติ เขาจึงเดินทางสู่สายงานนี้อย่างจริงจัง เปลี่ยนความชอบเป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการทำให้วงการเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศ

หลังเขาอธิบาย เราแอบสงสัยว่า คนรอบตัวมีท่าทีอย่างไรเมื่อได้ยินชื่ออาชีพที่ไม่คุ้นหูนักในยุคนั้น

“อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรู้สึกตื่นเต้นมากที่เราสตัฟฟ์เป็น (หัวเราะ) ส่วนครอบครัวก็ไม่ได้ว่าอะไร เรามีความสุขที่ได้เผยแพร่สิ่งเหล่านี้เพื่อการศึกษา มันเป็นแรงผลักดันให้ทำต่อมาเรื่อย ๆ ถึงแม้จะไม่เป็นที่ชอบใจของบางคน เนื่องจากเราทำงานกับซากสัตว์ แต่ก็ยังมีความสุขกับงานที่ทำเสมอ” 

ขั้นตอนคืนชีพ

หากพูดถึงการสตัฟฟ์ และ Taxidermy หลายคนมักมองว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วการสร้างงานทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันอยู่

การสตัฟฟ์ เป็นการรักษาสภาพของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ เพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัยเป็นหลัก โดยจะไม่คำนึงถึงสรีระและท่าทาง ขณะที่ Taxidermy คือการรักษาสภาพสัตว์โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีการเลาะหนังออกมารักษาสภาพ พร้อมปั้นกล้ามเนื้อขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด นอกจากนี้ยังมีการจัดท่าทางให้ดูสวยงาม สมจริง ซึ่งจุดประสงค์หลักยังคงเป็นการเก็บรักษาสภาพให้สมบูรณ์เช่นเดิม

วันชัยเล่าว่า วิธีสตัฟฟ์ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ หากเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและมีเปลือกแข็ง อย่างกุ้ง กั้ง ปู จะเลาะเนื้อออกทั้งหมด แล้วนำกระดองไปรักษาสภาพ พร้อมจัดท่าทางให้สวยงาม

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

สำหรับกลุ่มปลาขนาดเล็ก จะวัดขนาด เลาะหนังและอวัยวะออก พร้อมนำไปรักษาสภาพในแอลกอฮอล์เข้มข้น 35 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นนำไปแช่น้ำยายูลานเพื่อป้องกันแมลง และใช้สารโพลียูนิเทนโฟมปั้นหุ่นปลาขึ้นมาจากขนาดที่วัดไว้ในตอนแรก เมื่อเสร็จแล้วจึงนำหนังปลาที่แช่น้ำยามาหุ้ม ติดกาว และจัดตำแหน่งสรีระตามต้องการ

ขณะที่กลุ่มประเภทนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กมีวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น พวกมันจะถูกเลาะหนังและเนื้อให้เหลือเพียงกระดูก หัวกะโหลก ปีก และขา เพื่อนำไปแช่น้ำยายูลาน ระหว่างนี้จะมีการปั้นหุ่นอ้างอิงจากโครงกระดูกและขนาดตัว พร้อมทั้งนำแอลกอฮอล์ฉีดบริเวณต้นขาและปลายปีก ซึ่งเป็นบริเวณที่เลาะเนื้อออกไม่ได้ จากนั้นจึงนำลวดมาเสียบบริเวณขาเพื่อเชื่อมกับตัวหุ่น ส่วนคอจะปั้นขึ้นมาโดยใช้ลวดยึดกับหุ่นและหัว จากนั้นนำหนังที่เลาะมาคลุมพร้อมเย็บ ติดกาว และจัดขนให้เหมือนกับธรรมชาติ”

กล่าวโดยง่ายคงเหมือนการถอดเสื้อไปซัก แล้วนำมาสวมให้อีกครั้งให้สวยงามเช่นเคย

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น
วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

“สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เป็นประเภทที่ทำยากที่สุด” เขาเกริ่น

“ต้องเลาะหนังบริเวณที่ไม่อยากให้ผู้ชมเห็น จากนั้นนำหนังไปฟอกเกลือป่น หมักกรดฟอร์มิก ฟอร์มาลีน และเกลือ หมักเสร็จแล้วนำไปวัดขนาดและเลาะเนื้อส่วนที่ติดอยู่ออก พร้อมทั้งเก็บหัวกะโหลก กระดูกขา กระดูกสะโพก ไว้เป็นฐานในการปั้น 

“การปั้นเริ่มจากนำดินมาใส่ที่กะโหลก เพื่อทำกล้ามเนื้อให้สมจริง เสร็จแล้วก็ถอดพิมนำมาหล่อหุ่นจากโฟมหรือปูน กระดูกขาจะเอาไม้มาทำเป็นโครง โดยเอากระดูกขาหน้าและเชิงกรานมาใส่คู่กับไม้ อันนี้จะต้องมีความสูงและขนาดพอดี ไม่อย่างนั้นจะเอาหนังมาคลุมไม่ได้ ปั้นเสร็จก็นำหนังที่เลาะไปทำความสะอาด ฟอกสารโนวาแทนและยูลาน นำไปทาไขมันเทียมและปั่นกับขี้เลื่อย เพื่อให้หนังสัตว์กลับมานุ่มฟู หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนก็นำหนังไปคลุมและติดกับหุ่นที่เตรียมไว้ 

“จุดสำคัญคือลายของสัตว์ต้องตรงกับความจริง ไม่เหลื่อม ไม่ล้ำ” เขาเล่าอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกขั้นตอนไม่ยากอย่างที่ใครกำลังคิด

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

“การเป็นนักสตัฟฟ์สัตว์ไม่จำเป็นต้องจบอะไรมาโดยเฉพาะ เพียงแต่ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ฝึกปฏิบัติจนชำนาญ ถ้ามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจสรีระของสัตว์สตัฟฟ์มากขึ้น”

ชายตรงหน้าแนะนำเราว่า ทุกคนเข้าเรียนวิชาสตัฟฟ์สัตว์ได้โดยเข้าร่วมกับโครงการภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงเรียนจากยูทูบ

ถึงอย่างนั้นการสตัฟฟ์สัตว์ยังต้องอาศัยความรู้ด้านศิลปะเพิ่มเติม เนื่องจากการปั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการชุบชีวิตสัตว์ อีกทั้งยังต้องใช้องค์ความรู้ด้านการเย็บ พ่นสี ขึ้นโครงเชือก และทาสี เพื่อให้ผลงานออกมาสมจริง

“ผมจบวิทยาศาสตร์มา ไม่มีความรู้เรื่องการปั้นหุ่น ยิ่งถ้าปั้นสัตว์ใหญ่ยิ่งปั้นไม่ได้ เราจึงต้องฝึกเรื่อย ๆ จากการดูทีมที่จบประติมากรรมมา” 

เขาสรุปคร่าว ๆ ถึงระยะเวลาที่ตนเองใช้ในการทำงานว่า กุ้ง กั้ง ปู ใช้เวลาสตัฟฟ์ประมาณครึ่งวัน นกใช้เวลา 1 วัน หนู กระรอก และกระต่าย 3 วัน สุนัข 1 – 2 เดือน และสัตว์ใหญ่อาจจะใช้เวลาหลายเดือน บางครั้งก็ถูกเก็บรักษาสภาพเอาไว้นานนับปีกว่าจะได้ทำการสตัฟฟ์จริง 

แล้วการสตัฟฟ์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร – เราตั้งคำถาม

“ต้องใกล้เคียงธรรมชาติ ท่าทางเหมือนธรรมชาติ กล้ามเนื้อเหมือนมีชีวิต จริง ๆ ผมคิดว่า เสน่ห์อีกอย่างของมันคือวิธีการที่เราใช้สร้างผลงาน”

วันชัยเสริมว่า ในต่างประเทศถึงขั้นส่องไฟตามชิ้นงาน เพื่อดูว่ามีรายละเอียดเส้นเลือดหรือไม่ นี่เป็นมาตรฐานของคำว่า ดี ในการประกวดการสตัฟฟ์ของต่างแดน

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

ฝึกปรือยอดฝีมือ

“ช้างและสัตว์หนังบางคือสิ่งที่ทำยากที่สุด” เขาเปรยพร้อมหัวเราะเบา ๆ

ด้วยความที่ช้างมีขนาดตัวใหญ่และน้ำหนักมาก หลังเลาะหนังต้องแบ่งออกเป็น 5 ส่วน เพื่อให้เคลื่อนย้ายง่าย อีกทั้งต้องทำให้หนังบางที่สุด เพื่อให้น้ำยาที่หมักซึมเข้าไป

เขาย้อนความหลังให้ฟังว่า ตอนสตัฟฟ์ช้างครั้งแรกเป็นช่วงวิกฤตอุทกภัย พ.ศ. 2554 ต้องให้น้องที่ทำงานมาช่วยเลาะหนังโดยใช้เวลานานกว่า 2 – 3 เดือน อีกทั้งการปั้นหุ่นที่มีขนาดใหญ่ ยังใช้เวลามากกว่าครึ่งปี

“อีกประเภทที่มียากคือสัตว์หนังบาง มันบางเหมือนพลาสติก เช่น นกหรือปลา เวลาเลาะต้องระมัดระวัง หากใช้มือเลาะเหมือนสัตว์ใหญ่หนังอาจขาด ขาดแล้วยากต่อการซ่อม เพราะสิ่งมีชีวิตประเภทนี้มักมีขนสั้น ทำให้ปกปิดรอยเย็บที่เกิดจากการซ่อมไม่ได้

ส่วนปลาที่มีเกล็ดขนาดเล็กจะมีความยากเฉพาะตัว ถ้าเลาะเนื้อจากผิวหนังและเกล็ดไม่หมด เมื่อคลุมจะเกิดตุ่มที่ดูไม่สวยงาม”

ความท้าทายอย่างสุดท้ายคือการขนย้ายซาก ซึ่งซากตามมาตรฐานต้องไม่เน่าเสีย และไม่เสียชีวิตเกิน 24 ชั่วโมง 

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น
วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

การชะลอการเน่าเสียจะใช้วิธีผ่าเครื่องในออก จากนั้นนำน้ำแข็งยัดเข้าไปในท้องเพื่อยืดอายุซากที่จะนำมาสตัฟฟ์ เนื่องจากเป็นจุดที่แบคทีเรียทำปฏิกิริยากับซากศพเป็นที่แรก อีกวิธีคือส่งผู้เชี่ยวชาญไปรักษาสภาพโดยเร็วที่สุดภายใน 12 ชั่วโมงหลังสัตว์ตาย

“หากเอามือกดหนังเบา ๆ แล้วขนหลุด แปลว่าซากนั้นนำมาสตัฟฟ์ไม่ได้ เพราะเมื่อนำหนังสัตว์ไปรักษา สภาพขนที่ได้จะหลุดออกมา ทำให้หนังกลายเป็นสีขาวเหมือนหนังกำพร้า” 

หลังคุยเรื่องวิชาการมาสักพัก เขายกเคสให้เราฟังถึงวันที่ได้ซากยีราฟมา 1 ตัว แต่เพราะลืมคำนึงถึงเรื่องจุลินทรีย์และแสงแดดระหว่างขนส่ง ทำให้พวกเขาไม่ได้ใส่น้ำแข็งเพื่อชะลอการเน่าเสีย สุดท้ายเมื่อขนเริ่มหลุด หนังที่นำมาจึงใช้ไม่ได้ เป็นความเสียดายของทีม เนื่องจากยีราฟเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ไม่มีโอกาสได้สตัฟฟ์บ่อยนัก

เราเองก็แอบเสียดายแทน

วันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้คืนชีพให้ธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น

ความสุขและความเสี่ยง

ท่ามกลางซากสัตว์ที่ไร้ชีวิต อย่าคิดว่าไม่มีความเสี่ยง

“สมัยก่อนนิยมใช้สารอาร์เซนิก (สารหนู) ที่ใช้กับศพมนุษย์ นำมาใช้กับการสตัฟฟ์สัตว์ เมื่อคนทำซึมซับสารนี้เข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจส่งผลถึงชีวิต” อาจารย์เอริคเล่าอุทาหรณ์ให้แก่ลูกศิษย์คนนี้ฟัง มันคือภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ

“หรือการปั้นหุ่นสมัยก่อน อาจารย์เอริคเคยเล่าถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งของท่านว่า นิยมใช้ยูรีเทนโฟมในการปั้นหุ่น แต่ผู้ปั้นส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ทำให้สารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว”

เราสงสัยว่า ตอนนี้เพื่อนอาจารย์เอริคเป็นอย่างไรบ้าง

“เสียชีวิตแล้วเพราะใช้สารเคมีเยอะ แต่อาจารย์ใช้ปูนปลาสเตอร์ในการปั้นหุ่นจึงได้รับผลกระทบจากสารเคมีน้อยกว่า

“ต่อให้ผลงานการสตัฟฟ์ของเราสวยขนาดไหน มีเป็นร้อยตัว แต่ถ้ามีคนมาถามว่า คนสตัฟฟ์ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า คำตอบที่ได้คือตายไปแล้ว มันก็คงน่าเศร้า เราต้องเน้นสุขภาพคนทำงานด้วย อย่างน้อยผลงานสตัฟฟ์ของเราเสียหาย เราซ่อมแซมหรือทำใหม่ได้ แต่ถ้าตัวเราไม่อยู่แล้ว จะทำอะไรพวกนี้ไม่ได้เลย” เขาพูดพร้อมหัวเราะให้ความตลกร้าย

แล้วเชื้อโรคถือเป็นความเสี่ยงด้วยไหม – เราถาม อีกฝ่ายพยักหน้ารับ

ผลงานส่วนใหญ่ที่ อพวช. สตัฟฟ์มักเป็นซากที่ได้รับการผ่าพิสูจน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วจึงมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่สำหรับสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีหลักปฏิบัติคือการนำไปแช่ฟรีซ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจส่งต่อสู่มนุษย์ เช่น เชื้อพิษสุนัขบ้า

ถ้าอาจารย์วันชัยได้ซากลิงมา มีโอกาสจะติดโรคฝีดาษลิงไหม – เราสงสัย

“เชื้อโรคที่อันตรายมักมาจากสิ่งมีชีวิตจำพวกลิงที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงมนุษย์ หากมีโรคติดต่ออาจส่งผลต่อมนุษย์ได้ ผมย้ำน้องที่มาช่วยสตัฟฟ์อยู่เสมอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อโรค เราประสานงานกับสัตวแพทย์ระหว่างผ่าซากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการอันตรายที่อาจเกิดระหว่างการปฏิบัติงาน”

สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น
สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น

สัตว์สตัฟฟ์ ฉันเลือกนาย!

ระหว่างพาชมห้องเก็บผลงานสัตว์สตัฟฟ์ เราถามเขาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาคืนชีวิตให้ซากไร้ลมหายใจไปแล้วกี่ตัว แน่นอนว่ามันเยอะเกินจะจดจำไหว

“ถ้า 5 ตัวที่ประทับใจที่สุดคือ เหยี่ยวดำ ม้า จิงโจ้แคระ ช้าง และเสือดำ” เขาไล่ลำดับทันที

เหยี่ยวดำ คือสัตว์ที่ทำให้เขาหลงรักวงการนี้ ขณะที่ม้าเป็นสัตว์สตัฟฟ์ชิ้นใหญ่ตัวแรกที่ได้ทำหลังจากอาจารย์เอริคกลับประเทศ เขาลองใช้เทคนิคสร้างหุ่นโดยใช้ไฟเบอร์กลาส แต่คลุมหนังไม่ได้ สุดท้าย อพวช. จึงเชิญอาจารย์เอริคกลับมาอีกครั้ง เพื่อสอนเทคนิคใหม่สำหรับสัตว์ใหญ่โดยเฉพาะ

ตัวที่ 3 คือ จิงโจ้แคระ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัตว์แปลกที่ได้ลองทำช่วงน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ตัวถัดมาคือพี่ใหญ่ ช้างเพศเมียนามว่า บัวตอง

“ผมไปกาญจนบุรีและเริ่มเลาะหนังช้างตอนบ่ายโมง มาถึงที่ อพวช. ตอนเที่ยงคืน ตลอดวันผมไม่ได้ทานข้าว เรานั่งท้ายรถกระบะที่ขนหนังช้างมากับอาจารย์เอริค ผมถามอาจารย์ว่าหิวข้าวไหม แต่อาจารย์บอกว่าไม่หิว ต้องรีบมารีบไป” 

รีบไปในที่นี้ คืออาจารย์เอริคต้องบินกลับประเทศเสียแล้ว กว่าบัวตองจะได้รับการประกอบร่างก็ผ่านไปถึง 3 ปีทีเดียว เมื่ออาจารย์บินกลับมาอีกครั้งเพื่อสอนเรื่องสัตว์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาประสบความสำเร็จในการสตัฟฟ์ช้างเชือกนี้

“อาจารย์เอริคสอนว่า การปั้นหุ่นช้างใช้ดินไม่ได้ เนื่องจากน้ำหนักที่อาจอันตรายต่อผู้ปั้น เขาแนะนำให้ขึ้นรูปจากการปั้นปูน และนำกบบุ้งที่เหมือนกระดาษทรายมาขัดปูนให้มีลักษณะเหมือนช้าง แต่ต้องแข่งกับเวลานะ เพราะถ้าปูนแห้งจะทำงานยาก ทุบอย่างเดียวแล้วปั้นเสริมใหม่สำหรับตัวใหญ่ แต่ถ้าช้างเล็ก ผิดคือเสียเลย ทำใหม่ทั้งหมด”

สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น
สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น

เราไม่แปลกใจหากบอกว่า ช้างเชือกนี้คือครูใหญ่ของเขา เพราะมันทำให้ชายคนหนึ่งกล้าก้าวข้ามกีดจำกัดของตนเองไปทำสิ่งที่ใหญ่และยากขึ้น

“ตัวสุดท้าย เสือดำ ตอนที่อาจารย์เอริคกลับมาสอนครั้งที่ 2 เราเรียนรู้เทคนิคการปั้นกล้ามเนื้อให้สมจริงมากขึ้น ได้รู้วิธีสตัฟฟ์กลุ่มเสือและสัตว์ใหญ่ เช่น หมีควาย”

เราแอบถามเขาว่า ใช่เสือดำตัวดังในข่าวหรือไม่ เขาหัวเราะแล้วตอบว่า

“ไม่ใช่ครับ แต่ใจจริงก็อยากได้มาศึกษาเหมือนกัน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องหลักฐานทางคดีจึงทำไม่ได้”

นอกจากสัตว์ทั้งห้า วันชัยยังเล่าถึงความฝันของตัวเองว่า อยากให้สมันคืนชีพกลับมาบนโลกใบนี้อีกครั้ง

“มันสูญพันธุ์ไปแล้ว น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีเก็บไว้ ตัวอย่างสมันสตัฟฟ์ที่สมบูรณ์ตอนนี้มีเพียงที่ฝรั่งเศส มันตายที่สวนสัตว์ เลยถูกนำมาเก็บไว้ในฐานะตัวที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งสภาพผิวหนังและเขา” เขาอธิบาย

เป็นคำตอบที่ได้ยินแล้วเศร้าไม่น้อย คงไม่มีใครคาดคิดว่า สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นประจำภาคกลางนับล้านตัว ที่เมื่อก่อนวิ่งย่ำไปทั่วทุ่งรังสิตจะสูญพันธุ์ไปตลอดกาล เหลือไว้เพียงฉายากวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก

เรื่องหลังห้องสตัฟฟ์

ระหว่างเดินท่องป่าย่อม ๆ ในห้องเย็น เราถามชายที่กำลังลูบหัวลูกเลียงผาสตัฟฟ์อย่างรักใคร่ว่า พวกเขาได้รับซากสิ่งมีชีวิตแห่งพงไพรมาจากไหนบ้าง

“ซากส่วนใหญ่ได้รับการส่งมอบจากเครือข่ายของ อพวช. ทั้งรัฐและสวนสัตว์ ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์สงวน สตัฟฟ์ได้หมด แต่ถ้าอยู่ในรายชื่อ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ”

นั่นคือการป้องกันไม่ให้เกิดการล่าและขนย้ายสัตว์โดยผิดกฎหมาย อันนำมาซึ่งความเสียหายและการสูญพันธุ์ในอนาคต

เขาเปรียบเทียบให้เราฟังว่า “ในต่างประเทศเปิดกว้างเป็นอย่างมากเรื่องการสตัฟฟ์สัตว์ เพราะถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเอง มีการจัดประกวดแข่งขัน มีสถาบันสอน มีคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่มคนที่รักการสตัฟฟ์สัตว์เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งต่างประเทศยังมีการออกใบอนุญาตล่าสัตว์ป่า จึงทำให้วงการนี้มีความหลากหลายและเฟื่องฟูกว่าบ้านเราที่ยังมีข้อจำกัด”

สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น

“แต่วงการสตัฟฟ์ตอนนี้ก็พัฒนาขึ้นจากการที่คนมีช่องทางในการศึกษาเพิ่ม ทุกคนนำความรู้มาต่อยอดฝีมือ ประกอบกับการมีเครื่องมือที่สะดวกขึ้น ทำให้ผลงานสวยงามกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือและกระบวนการทำ” 

ปัจจุบัน วงการนี้มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย หลายคนมองว่าการสตัฟฟ์คือการที่เจ้าของไม่ยอมปล่อยวางจากสัตว์ที่ตาย ขณะที่อีกส่วนมองว่า การสตัฟฟ์คือการส่งมอบความรู้ให้คนรุ่นหลัง

“เราเจอมาทั้ง 2 ประเภท มันเป็นความเชื่อส่วนบุคคล บางคนมีความรักและความผูกพันจึงสตัฟฟ์เพื่อให้เป็นที่ระลึกถึง แต่บางคนก็นำไปเผาหรือฝัง อีกแบบคือการสตัฟฟ์สัตว์ของพิพิธภัณฑ์ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ในการศึกษาธรรมชาติ”

โดยส่วนตัวของวันชัย เขาเลือกการสตัฟฟ์ที่ไม่มีเรื่องของธุรกิจมาเกี่ยวข้อง และขอให้เป็นการส่งต่อความรู้ ซึ่งวันหนึ่งอาจกลายเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงมนุษย์กับความทรงจำของผืนป่า

สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น
สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น

ก่อนจากกัน เราโยนคำถามสุดท้ายให้กับเขาว่า สัตว์สตัฟฟ์ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ไหม หากคนรุ่นใหม่ดูภาพผ่านอินเทอร์เน็ตได้

“มันช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง การได้สัมผัสของจริงคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

“สมมติจัดแสดงนกฮัมมิงเบิร์ดโดยการนำภาพมาขึ้นจอ สัดส่วนของมันจะคลาดเคลื่อนไปจากของจริงหลายสิบเท่า เด็กจะรู้เพียงแค่หน้าตาและคำบรรยาย 6 บรรทัด แต่การสตัฟฟ์คือการนำสิ่งมีชีวิตของจริงไปตั้งให้ดู เขาจะได้เรียนรู้มากกว่า นี่คือสิ่งสำคัญของการสตัฟฟ์ จะมีอะไรที่ดีไปกว่าการเห็นด้วยตาตัวเองล่ะ!” เขายิ้ม

นี่คงเป็นคำตอบอย่างย่อว่า ทำไมสัตว์สตัฟฟ์จึงยังคงมีความสำคัญต่อไปในอนาคต

หลังจบการสนทนา วันชัยพาเราเดินสำรวจสถานที่ทำงานของเขาที่เต็มไปด้วยสิ่งไม่มีชีวิต และคนในทีมที่กำลังชุบชีวิตซากเหล่านั้นขึ้นมาใหม่

เขาคิดว่าตนเองจะอยู่เป็นนักสตัฟฟ์ไปยาว ๆ เหมือนอาจารย์เอริคที่ตอนนี้อายุ 80 – 90 ปีแล้ว 

ความฝันไม่กี่อย่างของเขา คือการเห็นเมืองไทยมีพิพิธภัณฑ์ที่ผู้คนรับรู้ได้ว่า ธรรมชาติของเมืองไทยสวยงามและสมบูรณ์เพียงใด

สนทนากับ 'วันชัย สุขเกษม' นักสตัฟฟ์สัตว์เมืองไทย ผู้ทำให้ธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น

Writers

Avatar

สตางค์ พูลสวัสดิ์

วัยรุ่นผู้ชื่นชอบอาหารเวียดนาม ภาษาเวียดนาม ชอบสะสมรองเท้าและหนังสือพิมพ์เก่า ฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์และมาดริด

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์