ไม่บ่อยนักที่มนุษย์ตัวเล็กเช่นเราจะใกล้ชิดสัตว์ป่าหรือสัตว์สงวนได้แบบถึงเนื้อถึงตัว เนื่องด้วยความอันตราย ความห่างไกล และความยากในการพบเจอ
ถึงแม้โลกจะพัฒนาไปเพียงใด ภาพถ่าย วิดีโอ และคำบอกเล่า ก็อธิบายความงดงามของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ไม่ดีเท่าการเห็นด้วยตาตนเอง
หากใครยังจำกันได้ถึงเรื่องราวของพะยูนน้อย มาเรียม และ ยามีล แม้พวกมันจะจากไปตั้งแต่เด็ก แต่ ‘การสตัฟฟ์สัตว์’ กลับทำให้ร่างของทั้งสองกลายเป็นแหล่งความรู้และความทรงจำชั่วนิรันดร์ นั่นคือหนึ่งในวิธีที่ทำให้ฝันของหลายคนเป็นจริง
The Cloud ชวน วันชัย สุขเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้ดูแลการสตัฟฟ์มาเรียมมาเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง จากอดีตนักศึกษาและลูกจ้าง ถึงวันที่กลายเป็นผู้ชุบชีวิตสัตว์นับร้อยให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง

You had me at hello
ชายวัยกลางคนจากหนองจอกคลุกคลีกับวงการวิทยาศาสตร์และสัตว์มาตลอดตั้งแต่เข้าเรียนปริญญาตรีด้านสัตวบาล ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ตอนเริ่มเรียนเราไม่เคยมีความคิดที่จะมาทำงานสตัฟฟ์ ไม่มีประสบการณ์ และแทบไม่รู้กระบวนการอะไรเลย” เขาเอ่ย
แต่หลังจากเรียนต่อปริญญาโท รุ่นพี่คนสนิทก็ชวนให้มาทำงานระหว่างเรียนที่ อพวช. ในตำแหน่งเกี่ยวกับการสื่อสารสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาได้ทำงานที่นี่ ก่อนจะย้ายไปทำงานอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ด้านปลิงทะเล
งานนี้ช่างโหดและหิน เขาต้องออกทะเลทันทีใน 15 วัน และพบเจออาการเมาคลื่น เมาเรืออยู่ไม่ขาด ‘เรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่โลดโผนที่สุดสำหรับนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่ง’ เราคิด
หลังทำงานได้ระยะหนึ่ง เขาได้บรรจุเป็นลูกจ้างของ อพวช. ซึ่งขณะนั้นทางองค์กรเชิญ อาจารย์เอริค แกมฟิช จากประเทศฟินแลนด์มาเป็นวิทยากรในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์ เพื่อทำหน้าที่สอนวิธีชุบชีวิตซากไร้ลมหายใจด้วยเทคนิคใหม่
สัตว์ตัวแรกที่เขาฝึกสตัฟฟ์คือ นกกระทา ถึงแม้จะเป็นคนที่ทำได้ช้าสุดและผลงานออกมาไม่สวยเหมือนคนอื่น แต่มันคือความภูมิใจที่ได้ทำสิ่งใหม่ด้วยมือตนเอง
ความประทับใจขั้นสุดที่เป็นต้นกำเนิดเส้นทางชีวิตสายนี้เริ่มขึ้นเมื่อได้พบกับเหยี่ยวดำปีกขาด อดีตนักเรียนไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะซ่อมแซมได้ แต่อาจารย์เอริคใช้วิธีเลาะเนื้อออกแล้วเย็บปีกติดเข้าไป โดยให้ขนของนกปกปิดรอยเย็บ ทำให้สัตว์สตัฟฟ์ออกมาในสภาพสมบูรณ์สวยงามเหมือนตอนยังมีชีวิต
ด้วยเทคนิคใหม่ วันชัยค้นพบว่า เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็เกิดขึ้นได้จริง แต่ในอีกด้านก็ถือเป็นความรู้เก่าของต่างประเทศ
“ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยมีน้อย การถ่ายทอดความรู้จึงขาดหายไปในช่วงหนึ่ง เราสังเกตว่า สัตว์สตัฟฟ์รุ่นเก่าของไทยจะมีลักษณะเฉพาะ อย่างผิวหนังตึง ริมฝีปากเหมือนแยกเขี้ยวขู่ตลอด เนื่องจากสารฟอร์มาลีนทำให้น้ำในเซลล์กล้ามเนื้อหดตัว แต่ในปัจจุบัน สัตว์มีรูปร่างที่เหมือนกับตอนมีชีวิตมากกว่าแต่ก่อน”
เขาเล่าถึงความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลงให้เห็นภาพ ซึ่งหลังอบรมเสร็จได้มีการนำผลงานที่เรียนไปจัดแสดง กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชายหนุ่มมีความคิดจะทำอาชีพนี้ต่อ

“เราทำให้คนได้ใกล้ชิดกับสัตว์ คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้เสือ แต่พอมาเป็นสัตว์สตัฟฟ์ ทุกคนเข้าไปใกล้และสัมผัสขนของมันได้ ที่สำคัญ การสตัฟฟ์สัตว์คือการอนุรักษ์ที่สื่อสารได้อย่างทรงพลัง ไม่ต้องใช้คำพูดเยอะก็เล่าเรื่องราวของพวกมันได้อย่างชัดเจน
“งานนี้เราต้องทำ เพราะไม่มีใครทำ ทำแล้วมันไม่ได้กับตัวเราเอง แต่ได้กับประเทศและคนรุ่นหลัง”
นั่นคือเสน่ห์ของการสตัฟฟ์สัตว์ในมุมของคนธรรมดาที่บัดนี้กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ เสียงในหัวของเขาดังขึ้นหลังการอบรม และหลังรู้ว่าเมืองไทยยังไม่มีพิพิธภัณฑ์สัตว์สตัฟฟ์เหมือนต่างชาติ เขาจึงเดินทางสู่สายงานนี้อย่างจริงจัง เปลี่ยนความชอบเป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการทำให้วงการเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศ
หลังเขาอธิบาย เราแอบสงสัยว่า คนรอบตัวมีท่าทีอย่างไรเมื่อได้ยินชื่ออาชีพที่ไม่คุ้นหูนักในยุคนั้น
“อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรู้สึกตื่นเต้นมากที่เราสตัฟฟ์เป็น (หัวเราะ) ส่วนครอบครัวก็ไม่ได้ว่าอะไร เรามีความสุขที่ได้เผยแพร่สิ่งเหล่านี้เพื่อการศึกษา มันเป็นแรงผลักดันให้ทำต่อมาเรื่อย ๆ ถึงแม้จะไม่เป็นที่ชอบใจของบางคน เนื่องจากเราทำงานกับซากสัตว์ แต่ก็ยังมีความสุขกับงานที่ทำเสมอ”
ขั้นตอนคืนชีพ
หากพูดถึงการสตัฟฟ์ และ Taxidermy หลายคนมักมองว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วการสร้างงานทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันอยู่
การสตัฟฟ์ เป็นการรักษาสภาพของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ เพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัยเป็นหลัก โดยจะไม่คำนึงถึงสรีระและท่าทาง ขณะที่ Taxidermy คือการรักษาสภาพสัตว์โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีการเลาะหนังออกมารักษาสภาพ พร้อมปั้นกล้ามเนื้อขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด นอกจากนี้ยังมีการจัดท่าทางให้ดูสวยงาม สมจริง ซึ่งจุดประสงค์หลักยังคงเป็นการเก็บรักษาสภาพให้สมบูรณ์เช่นเดิม
วันชัยเล่าว่า วิธีสตัฟฟ์ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ หากเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและมีเปลือกแข็ง อย่างกุ้ง กั้ง ปู จะเลาะเนื้อออกทั้งหมด แล้วนำกระดองไปรักษาสภาพ พร้อมจัดท่าทางให้สวยงาม

สำหรับกลุ่มปลาขนาดเล็ก จะวัดขนาด เลาะหนังและอวัยวะออก พร้อมนำไปรักษาสภาพในแอลกอฮอล์เข้มข้น 35 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นนำไปแช่น้ำยายูลานเพื่อป้องกันแมลง และใช้สารโพลียูนิเทนโฟมปั้นหุ่นปลาขึ้นมาจากขนาดที่วัดไว้ในตอนแรก เมื่อเสร็จแล้วจึงนำหนังปลาที่แช่น้ำยามาหุ้ม ติดกาว และจัดตำแหน่งสรีระตามต้องการ
ขณะที่กลุ่มประเภทนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กมีวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น พวกมันจะถูกเลาะหนังและเนื้อให้เหลือเพียงกระดูก หัวกะโหลก ปีก และขา เพื่อนำไปแช่น้ำยายูลาน ระหว่างนี้จะมีการปั้นหุ่นอ้างอิงจากโครงกระดูกและขนาดตัว พร้อมทั้งนำแอลกอฮอล์ฉีดบริเวณต้นขาและปลายปีก ซึ่งเป็นบริเวณที่เลาะเนื้อออกไม่ได้ จากนั้นจึงนำลวดมาเสียบบริเวณขาเพื่อเชื่อมกับตัวหุ่น ส่วนคอจะปั้นขึ้นมาโดยใช้ลวดยึดกับหุ่นและหัว จากนั้นนำหนังที่เลาะมาคลุมพร้อมเย็บ ติดกาว และจัดขนให้เหมือนกับธรรมชาติ”
กล่าวโดยง่ายคงเหมือนการถอดเสื้อไปซัก แล้วนำมาสวมให้อีกครั้งให้สวยงามเช่นเคย


“สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เป็นประเภทที่ทำยากที่สุด” เขาเกริ่น
“ต้องเลาะหนังบริเวณที่ไม่อยากให้ผู้ชมเห็น จากนั้นนำหนังไปฟอกเกลือป่น หมักกรดฟอร์มิก ฟอร์มาลีน และเกลือ หมักเสร็จแล้วนำไปวัดขนาดและเลาะเนื้อส่วนที่ติดอยู่ออก พร้อมทั้งเก็บหัวกะโหลก กระดูกขา กระดูกสะโพก ไว้เป็นฐานในการปั้น
“การปั้นเริ่มจากนำดินมาใส่ที่กะโหลก เพื่อทำกล้ามเนื้อให้สมจริง เสร็จแล้วก็ถอดพิมนำมาหล่อหุ่นจากโฟมหรือปูน กระดูกขาจะเอาไม้มาทำเป็นโครง โดยเอากระดูกขาหน้าและเชิงกรานมาใส่คู่กับไม้ อันนี้จะต้องมีความสูงและขนาดพอดี ไม่อย่างนั้นจะเอาหนังมาคลุมไม่ได้ ปั้นเสร็จก็นำหนังที่เลาะไปทำความสะอาด ฟอกสารโนวาแทนและยูลาน นำไปทาไขมันเทียมและปั่นกับขี้เลื่อย เพื่อให้หนังสัตว์กลับมานุ่มฟู หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนก็นำหนังไปคลุมและติดกับหุ่นที่เตรียมไว้
“จุดสำคัญคือลายของสัตว์ต้องตรงกับความจริง ไม่เหลื่อม ไม่ล้ำ” เขาเล่าอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกขั้นตอนไม่ยากอย่างที่ใครกำลังคิด

“การเป็นนักสตัฟฟ์สัตว์ไม่จำเป็นต้องจบอะไรมาโดยเฉพาะ เพียงแต่ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ฝึกปฏิบัติจนชำนาญ ถ้ามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจสรีระของสัตว์สตัฟฟ์มากขึ้น”
ชายตรงหน้าแนะนำเราว่า ทุกคนเข้าเรียนวิชาสตัฟฟ์สัตว์ได้โดยเข้าร่วมกับโครงการภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงเรียนจากยูทูบ
ถึงอย่างนั้นการสตัฟฟ์สัตว์ยังต้องอาศัยความรู้ด้านศิลปะเพิ่มเติม เนื่องจากการปั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการชุบชีวิตสัตว์ อีกทั้งยังต้องใช้องค์ความรู้ด้านการเย็บ พ่นสี ขึ้นโครงเชือก และทาสี เพื่อให้ผลงานออกมาสมจริง
“ผมจบวิทยาศาสตร์มา ไม่มีความรู้เรื่องการปั้นหุ่น ยิ่งถ้าปั้นสัตว์ใหญ่ยิ่งปั้นไม่ได้ เราจึงต้องฝึกเรื่อย ๆ จากการดูทีมที่จบประติมากรรมมา”
เขาสรุปคร่าว ๆ ถึงระยะเวลาที่ตนเองใช้ในการทำงานว่า กุ้ง กั้ง ปู ใช้เวลาสตัฟฟ์ประมาณครึ่งวัน นกใช้เวลา 1 วัน หนู กระรอก และกระต่าย 3 วัน สุนัข 1 – 2 เดือน และสัตว์ใหญ่อาจจะใช้เวลาหลายเดือน บางครั้งก็ถูกเก็บรักษาสภาพเอาไว้นานนับปีกว่าจะได้ทำการสตัฟฟ์จริง
แล้วการสตัฟฟ์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร – เราตั้งคำถาม
“ต้องใกล้เคียงธรรมชาติ ท่าทางเหมือนธรรมชาติ กล้ามเนื้อเหมือนมีชีวิต จริง ๆ ผมคิดว่า เสน่ห์อีกอย่างของมันคือวิธีการที่เราใช้สร้างผลงาน”
วันชัยเสริมว่า ในต่างประเทศถึงขั้นส่องไฟตามชิ้นงาน เพื่อดูว่ามีรายละเอียดเส้นเลือดหรือไม่ นี่เป็นมาตรฐานของคำว่า ดี ในการประกวดการสตัฟฟ์ของต่างแดน

ฝึกปรือยอดฝีมือ
“ช้างและสัตว์หนังบางคือสิ่งที่ทำยากที่สุด” เขาเปรยพร้อมหัวเราะเบา ๆ
ด้วยความที่ช้างมีขนาดตัวใหญ่และน้ำหนักมาก หลังเลาะหนังต้องแบ่งออกเป็น 5 ส่วน เพื่อให้เคลื่อนย้ายง่าย อีกทั้งต้องทำให้หนังบางที่สุด เพื่อให้น้ำยาที่หมักซึมเข้าไป
เขาย้อนความหลังให้ฟังว่า ตอนสตัฟฟ์ช้างครั้งแรกเป็นช่วงวิกฤตอุทกภัย พ.ศ. 2554 ต้องให้น้องที่ทำงานมาช่วยเลาะหนังโดยใช้เวลานานกว่า 2 – 3 เดือน อีกทั้งการปั้นหุ่นที่มีขนาดใหญ่ ยังใช้เวลามากกว่าครึ่งปี
“อีกประเภทที่มียากคือสัตว์หนังบาง มันบางเหมือนพลาสติก เช่น นกหรือปลา เวลาเลาะต้องระมัดระวัง หากใช้มือเลาะเหมือนสัตว์ใหญ่หนังอาจขาด ขาดแล้วยากต่อการซ่อม เพราะสิ่งมีชีวิตประเภทนี้มักมีขนสั้น ทำให้ปกปิดรอยเย็บที่เกิดจากการซ่อมไม่ได้
ส่วนปลาที่มีเกล็ดขนาดเล็กจะมีความยากเฉพาะตัว ถ้าเลาะเนื้อจากผิวหนังและเกล็ดไม่หมด เมื่อคลุมจะเกิดตุ่มที่ดูไม่สวยงาม”
ความท้าทายอย่างสุดท้ายคือการขนย้ายซาก ซึ่งซากตามมาตรฐานต้องไม่เน่าเสีย และไม่เสียชีวิตเกิน 24 ชั่วโมง


การชะลอการเน่าเสียจะใช้วิธีผ่าเครื่องในออก จากนั้นนำน้ำแข็งยัดเข้าไปในท้องเพื่อยืดอายุซากที่จะนำมาสตัฟฟ์ เนื่องจากเป็นจุดที่แบคทีเรียทำปฏิกิริยากับซากศพเป็นที่แรก อีกวิธีคือส่งผู้เชี่ยวชาญไปรักษาสภาพโดยเร็วที่สุดภายใน 12 ชั่วโมงหลังสัตว์ตาย
“หากเอามือกดหนังเบา ๆ แล้วขนหลุด แปลว่าซากนั้นนำมาสตัฟฟ์ไม่ได้ เพราะเมื่อนำหนังสัตว์ไปรักษา สภาพขนที่ได้จะหลุดออกมา ทำให้หนังกลายเป็นสีขาวเหมือนหนังกำพร้า”
หลังคุยเรื่องวิชาการมาสักพัก เขายกเคสให้เราฟังถึงวันที่ได้ซากยีราฟมา 1 ตัว แต่เพราะลืมคำนึงถึงเรื่องจุลินทรีย์และแสงแดดระหว่างขนส่ง ทำให้พวกเขาไม่ได้ใส่น้ำแข็งเพื่อชะลอการเน่าเสีย สุดท้ายเมื่อขนเริ่มหลุด หนังที่นำมาจึงใช้ไม่ได้ เป็นความเสียดายของทีม เนื่องจากยีราฟเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ไม่มีโอกาสได้สตัฟฟ์บ่อยนัก
เราเองก็แอบเสียดายแทน

ความสุขและความเสี่ยง
ท่ามกลางซากสัตว์ที่ไร้ชีวิต อย่าคิดว่าไม่มีความเสี่ยง
“สมัยก่อนนิยมใช้สารอาร์เซนิก (สารหนู) ที่ใช้กับศพมนุษย์ นำมาใช้กับการสตัฟฟ์สัตว์ เมื่อคนทำซึมซับสารนี้เข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจส่งผลถึงชีวิต” อาจารย์เอริคเล่าอุทาหรณ์ให้แก่ลูกศิษย์คนนี้ฟัง มันคือภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ
“หรือการปั้นหุ่นสมัยก่อน อาจารย์เอริคเคยเล่าถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งของท่านว่า นิยมใช้ยูรีเทนโฟมในการปั้นหุ่น แต่ผู้ปั้นส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ทำให้สารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว”
เราสงสัยว่า ตอนนี้เพื่อนอาจารย์เอริคเป็นอย่างไรบ้าง
“เสียชีวิตแล้วเพราะใช้สารเคมีเยอะ แต่อาจารย์ใช้ปูนปลาสเตอร์ในการปั้นหุ่นจึงได้รับผลกระทบจากสารเคมีน้อยกว่า
“ต่อให้ผลงานการสตัฟฟ์ของเราสวยขนาดไหน มีเป็นร้อยตัว แต่ถ้ามีคนมาถามว่า คนสตัฟฟ์ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า คำตอบที่ได้คือตายไปแล้ว มันก็คงน่าเศร้า เราต้องเน้นสุขภาพคนทำงานด้วย อย่างน้อยผลงานสตัฟฟ์ของเราเสียหาย เราซ่อมแซมหรือทำใหม่ได้ แต่ถ้าตัวเราไม่อยู่แล้ว จะทำอะไรพวกนี้ไม่ได้เลย” เขาพูดพร้อมหัวเราะให้ความตลกร้าย
แล้วเชื้อโรคถือเป็นความเสี่ยงด้วยไหม – เราถาม อีกฝ่ายพยักหน้ารับ
ผลงานส่วนใหญ่ที่ อพวช. สตัฟฟ์มักเป็นซากที่ได้รับการผ่าพิสูจน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วจึงมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่สำหรับสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีหลักปฏิบัติคือการนำไปแช่ฟรีซ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจส่งต่อสู่มนุษย์ เช่น เชื้อพิษสุนัขบ้า
ถ้าอาจารย์วันชัยได้ซากลิงมา มีโอกาสจะติดโรคฝีดาษลิงไหม – เราสงสัย
“เชื้อโรคที่อันตรายมักมาจากสิ่งมีชีวิตจำพวกลิงที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงมนุษย์ หากมีโรคติดต่ออาจส่งผลต่อมนุษย์ได้ ผมย้ำน้องที่มาช่วยสตัฟฟ์อยู่เสมอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อโรค เราประสานงานกับสัตวแพทย์ระหว่างผ่าซากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการอันตรายที่อาจเกิดระหว่างการปฏิบัติงาน”


สัตว์สตัฟฟ์ ฉันเลือกนาย!
ระหว่างพาชมห้องเก็บผลงานสัตว์สตัฟฟ์ เราถามเขาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาคืนชีวิตให้ซากไร้ลมหายใจไปแล้วกี่ตัว แน่นอนว่ามันเยอะเกินจะจดจำไหว
“ถ้า 5 ตัวที่ประทับใจที่สุดคือ เหยี่ยวดำ ม้า จิงโจ้แคระ ช้าง และเสือดำ” เขาไล่ลำดับทันที
เหยี่ยวดำ คือสัตว์ที่ทำให้เขาหลงรักวงการนี้ ขณะที่ม้าเป็นสัตว์สตัฟฟ์ชิ้นใหญ่ตัวแรกที่ได้ทำหลังจากอาจารย์เอริคกลับประเทศ เขาลองใช้เทคนิคสร้างหุ่นโดยใช้ไฟเบอร์กลาส แต่คลุมหนังไม่ได้ สุดท้าย อพวช. จึงเชิญอาจารย์เอริคกลับมาอีกครั้ง เพื่อสอนเทคนิคใหม่สำหรับสัตว์ใหญ่โดยเฉพาะ
ตัวที่ 3 คือ จิงโจ้แคระ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัตว์แปลกที่ได้ลองทำช่วงน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ตัวถัดมาคือพี่ใหญ่ ช้างเพศเมียนามว่า บัวตอง
“ผมไปกาญจนบุรีและเริ่มเลาะหนังช้างตอนบ่ายโมง มาถึงที่ อพวช. ตอนเที่ยงคืน ตลอดวันผมไม่ได้ทานข้าว เรานั่งท้ายรถกระบะที่ขนหนังช้างมากับอาจารย์เอริค ผมถามอาจารย์ว่าหิวข้าวไหม แต่อาจารย์บอกว่าไม่หิว ต้องรีบมารีบไป”
รีบไปในที่นี้ คืออาจารย์เอริคต้องบินกลับประเทศเสียแล้ว กว่าบัวตองจะได้รับการประกอบร่างก็ผ่านไปถึง 3 ปีทีเดียว เมื่ออาจารย์บินกลับมาอีกครั้งเพื่อสอนเรื่องสัตว์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาประสบความสำเร็จในการสตัฟฟ์ช้างเชือกนี้
“อาจารย์เอริคสอนว่า การปั้นหุ่นช้างใช้ดินไม่ได้ เนื่องจากน้ำหนักที่อาจอันตรายต่อผู้ปั้น เขาแนะนำให้ขึ้นรูปจากการปั้นปูน และนำกบบุ้งที่เหมือนกระดาษทรายมาขัดปูนให้มีลักษณะเหมือนช้าง แต่ต้องแข่งกับเวลานะ เพราะถ้าปูนแห้งจะทำงานยาก ทุบอย่างเดียวแล้วปั้นเสริมใหม่สำหรับตัวใหญ่ แต่ถ้าช้างเล็ก ผิดคือเสียเลย ทำใหม่ทั้งหมด”


เราไม่แปลกใจหากบอกว่า ช้างเชือกนี้คือครูใหญ่ของเขา เพราะมันทำให้ชายคนหนึ่งกล้าก้าวข้ามกีดจำกัดของตนเองไปทำสิ่งที่ใหญ่และยากขึ้น
“ตัวสุดท้าย เสือดำ ตอนที่อาจารย์เอริคกลับมาสอนครั้งที่ 2 เราเรียนรู้เทคนิคการปั้นกล้ามเนื้อให้สมจริงมากขึ้น ได้รู้วิธีสตัฟฟ์กลุ่มเสือและสัตว์ใหญ่ เช่น หมีควาย”
เราแอบถามเขาว่า ใช่เสือดำตัวดังในข่าวหรือไม่ เขาหัวเราะแล้วตอบว่า
“ไม่ใช่ครับ แต่ใจจริงก็อยากได้มาศึกษาเหมือนกัน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องหลักฐานทางคดีจึงทำไม่ได้”
นอกจากสัตว์ทั้งห้า วันชัยยังเล่าถึงความฝันของตัวเองว่า อยากให้สมันคืนชีพกลับมาบนโลกใบนี้อีกครั้ง
“มันสูญพันธุ์ไปแล้ว น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีเก็บไว้ ตัวอย่างสมันสตัฟฟ์ที่สมบูรณ์ตอนนี้มีเพียงที่ฝรั่งเศส มันตายที่สวนสัตว์ เลยถูกนำมาเก็บไว้ในฐานะตัวที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งสภาพผิวหนังและเขา” เขาอธิบาย
เป็นคำตอบที่ได้ยินแล้วเศร้าไม่น้อย คงไม่มีใครคาดคิดว่า สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นประจำภาคกลางนับล้านตัว ที่เมื่อก่อนวิ่งย่ำไปทั่วทุ่งรังสิตจะสูญพันธุ์ไปตลอดกาล เหลือไว้เพียงฉายากวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก
เรื่องหลังห้องสตัฟฟ์
ระหว่างเดินท่องป่าย่อม ๆ ในห้องเย็น เราถามชายที่กำลังลูบหัวลูกเลียงผาสตัฟฟ์อย่างรักใคร่ว่า พวกเขาได้รับซากสิ่งมีชีวิตแห่งพงไพรมาจากไหนบ้าง
“ซากส่วนใหญ่ได้รับการส่งมอบจากเครือข่ายของ อพวช. ทั้งรัฐและสวนสัตว์ ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์สงวน สตัฟฟ์ได้หมด แต่ถ้าอยู่ในรายชื่อ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ”
นั่นคือการป้องกันไม่ให้เกิดการล่าและขนย้ายสัตว์โดยผิดกฎหมาย อันนำมาซึ่งความเสียหายและการสูญพันธุ์ในอนาคต
เขาเปรียบเทียบให้เราฟังว่า “ในต่างประเทศเปิดกว้างเป็นอย่างมากเรื่องการสตัฟฟ์สัตว์ เพราะถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเอง มีการจัดประกวดแข่งขัน มีสถาบันสอน มีคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่มคนที่รักการสตัฟฟ์สัตว์เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งต่างประเทศยังมีการออกใบอนุญาตล่าสัตว์ป่า จึงทำให้วงการนี้มีความหลากหลายและเฟื่องฟูกว่าบ้านเราที่ยังมีข้อจำกัด”

“แต่วงการสตัฟฟ์ตอนนี้ก็พัฒนาขึ้นจากการที่คนมีช่องทางในการศึกษาเพิ่ม ทุกคนนำความรู้มาต่อยอดฝีมือ ประกอบกับการมีเครื่องมือที่สะดวกขึ้น ทำให้ผลงานสวยงามกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือและกระบวนการทำ”
ปัจจุบัน วงการนี้มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย หลายคนมองว่าการสตัฟฟ์คือการที่เจ้าของไม่ยอมปล่อยวางจากสัตว์ที่ตาย ขณะที่อีกส่วนมองว่า การสตัฟฟ์คือการส่งมอบความรู้ให้คนรุ่นหลัง
“เราเจอมาทั้ง 2 ประเภท มันเป็นความเชื่อส่วนบุคคล บางคนมีความรักและความผูกพันจึงสตัฟฟ์เพื่อให้เป็นที่ระลึกถึง แต่บางคนก็นำไปเผาหรือฝัง อีกแบบคือการสตัฟฟ์สัตว์ของพิพิธภัณฑ์ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ในการศึกษาธรรมชาติ”
โดยส่วนตัวของวันชัย เขาเลือกการสตัฟฟ์ที่ไม่มีเรื่องของธุรกิจมาเกี่ยวข้อง และขอให้เป็นการส่งต่อความรู้ ซึ่งวันหนึ่งอาจกลายเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงมนุษย์กับความทรงจำของผืนป่า


ก่อนจากกัน เราโยนคำถามสุดท้ายให้กับเขาว่า สัตว์สตัฟฟ์ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ไหม หากคนรุ่นใหม่ดูภาพผ่านอินเทอร์เน็ตได้
“มันช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง การได้สัมผัสของจริงคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
“สมมติจัดแสดงนกฮัมมิงเบิร์ดโดยการนำภาพมาขึ้นจอ สัดส่วนของมันจะคลาดเคลื่อนไปจากของจริงหลายสิบเท่า เด็กจะรู้เพียงแค่หน้าตาและคำบรรยาย 6 บรรทัด แต่การสตัฟฟ์คือการนำสิ่งมีชีวิตของจริงไปตั้งให้ดู เขาจะได้เรียนรู้มากกว่า นี่คือสิ่งสำคัญของการสตัฟฟ์ จะมีอะไรที่ดีไปกว่าการเห็นด้วยตาตัวเองล่ะ!” เขายิ้ม
นี่คงเป็นคำตอบอย่างย่อว่า ทำไมสัตว์สตัฟฟ์จึงยังคงมีความสำคัญต่อไปในอนาคต
หลังจบการสนทนา วันชัยพาเราเดินสำรวจสถานที่ทำงานของเขาที่เต็มไปด้วยสิ่งไม่มีชีวิต และคนในทีมที่กำลังชุบชีวิตซากเหล่านั้นขึ้นมาใหม่
เขาคิดว่าตนเองจะอยู่เป็นนักสตัฟฟ์ไปยาว ๆ เหมือนอาจารย์เอริคที่ตอนนี้อายุ 80 – 90 ปีแล้ว
ความฝันไม่กี่อย่างของเขา คือการเห็นเมืองไทยมีพิพิธภัณฑ์ที่ผู้คนรับรู้ได้ว่า ธรรมชาติของเมืองไทยสวยงามและสมบูรณ์เพียงใด
