ตะวัน วัตุยา คือศิลปินร่วมสมัยผู้มีงานชุกมากที่สุดคนหนึ่งขณะนี้

เขาเป็นอาร์ทิสต์นักยั่วล้อ เจ้าของพลังรุนแรงในภาพพอร์เทรตใบหน้าอันพร่าเบลอ ทว่าอารมณ์จัดชวนกระตุกความคิดของเยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในผลงานชุด ‘Keep in The Dark’ ซึ่งเพิ่งจัดแสดงจบไปที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ส่วนฝีมือล่าสุดของเขาคือนิทรรศการ ‘1973’ ภาพวาดป๊อปอาร์ตในยุค 70 สีแสบสัน ที่เพิ่งอวดโฉมบนชั้น 4 Central : The Original Store จบไปได้ไม่นาน และสีน้ำไซส์เบิ้มแสดงอรรถาธิบายวิถีการร่วมเพศแบบ BDSM ใน Patpong Museum ส่วนหนึ่งของงาน Galleries’ Nights 2021

ผลงานที่น่าจะทำให้คนทั่วไปจดจำเขาได้ในช่วงปีที่ผ่านมา คือชุด ‘Money’ ส่วนหนึ่งของงาน BAB 2020 ตะวันแต่งแต้มผนังโค้งผืนยักษ์แห่ง BACC ด้วยภาพเขียนธนบัตรหลากสกุล ฝีแปรงแสนทรงอิทธิพลละเลงลงบนกระดาษไซส์เบิ้ม สะกิดให้ผู้ชมหวนคิดถึงนัยยะของเงินตราและความโหดร้ายรุนแรงจากระบบทุนนิยม

แต่หากใครจำได้ ตะวันสร้างชื่อมาตั้งแต่ผลงานภาพ ทักษิณ ชินวัตร ในนิทรรศการ ‘500’ และงานชุด ‘แฝด’ (Siamese Freaks) การรับรู้ของคนส่วนใหญ่ต่อเขาค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ว่าเป็นผู้บรรเลงปลายพู่กันอย่างลื่นไหลไร้กระบวนท่า ออกมาเป็นภาพ Mugshot สีน้ำรายละเอียดน้อยอารมณ์ท่วมท้น เพื่อยั่วเย้าให้ตั้งคำถามกับหลากประเด็นสังคม ทั้งเรื่องการเมืองรุนแรง หยอกล้อกับประเด็นเปราะบางอย่างศาสนา ศีลธรรม และสงคราม ในขณะที่ผลงานก่อนหน้าของเขามักเป็นภาพนู้ดโป๊เปลือย ซึ่งแม้ไม่บาดตาเต็มขั้น แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมก็มีฉันทามติ ไม่ให้เป็นประเด็นที่สื่อสารได้อย่างเสรีโจ่งแจ้ง

01 Tawan’s Studio

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด
ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

ตะวันเปิดประตูบานกว้างต้อนรับเราผู้มาเยือน เผยให้เห็นแหล่งสร้างงานศิลป์ซ่อนตัวอยู่ในคอนโดมิเนียมกลางเก่ากลางใหม่ย่านสาทร ชุดโซฟาไซส์กะทัดรัดถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ รับกับทิวแถวขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิด ชั้นหนังสือจุตำราไทยเทศไว้เบียดแป้ง เทินป้ายไฟ PARADISE GO GO BAR แสดงภาพนู้ดหวือหวาฝีมือของเขา

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

ขวามือเป็นพื้นที่โล่งขนาดไม่โอ่โถง เราสอดสายตาตามชั้นอุปกรณ์ศิลปะไปสู่ผลงานของศิลปินคนอื่นที่ตะวันสะสมทั้งจากการซื้อหาและแลกเปลี่ยน ก่อนเจ้าบ้านย่ำเท้าตรงไปหาชั้นไม้สีนวล ซึ่งแบกเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้อย่างไม่ระย่อ และจุแผ่นไวนิลไว้แน่นขนัดเกินกะปริมาณได้ด้วยตา เขาใช้เวลาเพียงเสี้ยวนาทีเลือกแผ่นเสียง จากนั้นพิถีพิถันวางลงบนอุปกรณ์ ก่อนเชื้อเชิญให้เราทิ้งตัวลงบนโซฟาตัวหนึ่ง แล้วค่อยหย่อนกายนั่งตรงข้ามบนโซฟาผ้าสีเขียวเข้มอีกตัว มีภาพหญิงโป๊ 3 คนวิ่งไหวไปทิศทางเดียวกันเป็นฉากหลัง เสียงเพลงจากเครื่องเล่นคลอเคล้ารับกับบทสนทนาที่จะเกิดขึ้น

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

“ขอโทษนะครับ เมื่อวานเพิ่งเกิดเรื่อง” เขารีบออกตัวก่อนเราจะทันสงสัย

“เดี๋ยวตอนถ่ายรูป ผมใส่แว่นกันแดดได้นะถ้าหน้าโทรม” 

ศิลปินผมเกรียนสั้นเสริม ลูบหน้าตาตัวเองหนึ่งครั้ง ก่อนเราจะเชื้อเชิญให้เขาเล่าถึงเส้นทางชีวิต กว่าจะมาเป็น ‘ตะวัน วัตุยา’ ศิลปินผู้ภาพวาดพอร์เทรตใบหน้าได้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศไทยตอนนี้

02 “ไม่มีใครต้องการโชว์ผมในไทย”

ชีวิตของตะวันดูจะเป็นไปตามขนบศิลปินส่วนใหญ่ในไทย คือจบจากสถาบันการศึกษาด้านศิลปะโดยตรง แล้วมุ่งหน้าเอาดีเป็นศิลปิน แต่เขากลับยืนยันว่าไม่เคยเห็นแววการเป็นอาร์ทิสต์ของตัวเองในรั้วศิลปากรเลย เพราะความคิดเขาเป็นขบถมาแต่ไหนแต่ไร สอบตกวิชาเพนต์ซึ่งเป็นวิชาเอก จนต้องเรียนนานถึง 8 ปีครึ่ง และได้เกรด C+ วิชาทีสิส

“เราชอบวาดพอร์เทรต แต่ยุคนั้นคนส่วนใหญ่ฮิตทำ Semi-abstract กัน ไม่มีใครยอมรับและเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ก็ทำเพราะคิดว่าทำสิ่งที่เชื่อดีกว่า ตอนเริ่มต้นเป็นอาร์ทิสต์ขายงานไม่ได้เลยครับ เพราะไม่มีฝั่งไหนยอมรับ ไม่ว่าจะฝั่งก้าวหน้าหรืออนุรักษ์นิยม คนไทยคนแรกที่ซื้อรูปผมคือ พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ยังจำได้ขึ้นใจ” เขาเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

‘500’ คือนิทรรศการชุดแรกที่แนะนำตะวันให้คนไทยรู้จักเมื่อ พ.ศ. 2548 ผ่านภาพชายผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสยาม-ทักษิณ ชินวัตร

“ตอนนั้นไม่มีที่ไหนให้ผมโชว์เลย ผมก็ไปหาที่ว่างแล้วจัดจนมีสื่อมาสนใจเอง แต่ว่าถูกด่าประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นช่วงที่ทักษิณยังมีอำนาจอยู่ เพิ่งเป็นนายกรอบสอง ยังไม่มีกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาเลย แต่ก็เริ่มมีสื่อที่สงสัยว่าทักษิณกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะ ในชีวิตก็เคยเจอกันด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายที่มีพลังมาก ๆ ในประเทศ เราเห็นหน้าเขาตลอดเวลา เลยเอามาวาดเป็นพอร์เทรตสีน้ำ พอเอามาโชว์เท่านั้นแหละ”

เขาหยุดพูดอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ยักคิ้วหลิ่วตาพลางพยักเพยิดหน้า เป็นอันรู้กันว่าผลที่ตามมาเป็นอย่างไร

แต่อีก 8 ปี ถัดมา ผลงานชุดเดียวกันนี้ก็เดินทางออกจากซอกหลืบ มาสำแดงฤทธิ์เดชที่หอศิลป์ใจกลางสยามอย่าง BACC ได้อย่างอาจหาญ

“มันทำให้ผมรู้เลยว่า ถ้างานเราดี เรามั่นใจว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง สักวันมันจะอยู่ในที่ที่เหมาะสมของมันเอง ผมบอกเด็กทุกคนอย่างนี้เลย” เขายืนยันความเชื่อ

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

ตะวันรู้ดีว่า ตอนนั้นตำแหน่งแห่งที่ของตนในไทยยังมีไม่มาก จึงเบนเข็มไปเอาดีที่ต่างแดน คลุกคลีอยู่กับวงการศิลปะร่วมสมัยสากลมาตั้งแต่ผลงานชุด แฝด (Siamese Freaks)’ นิทรรศการภาพแฝด ที่จัดแสดงกับนำทองแกลเลอรี่ไปเมื่อ พ.ศ. 2550 ได้โบยบินไปแสดงฝีมือถึงมาเลเซีย ก่อนเดินทางต่อไปยังเบลเยียม และพัดพาโอกาสต่าง ๆ มาสู่เขา

“ก่อนหน้านี้ผมจึงอยู่ด้วยเงินยูโร เงินหยวน เงินเยน มาตลอด เพราะนักสะสมไทยมักมองว่ากระดาษไม่คงทน แล้วผมวาดเร็วแบบนี้ ทำไมแพง เขายังชอบสิ่งที่ดูใช้เวลา ประณีต วัสดุแพงอยู่ เหมือนมองคนเก่งต่างจากคนต่างชาติมอง ผมก็วาด ๆ เก็บไว้ แต่ก่อนปีหนึ่งจะมีโชว์สักหนึ่งครั้ง โอกาสน้อยมากเพราะว่าไม่มีใครต้องการโชว์ผมในไทย”

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

03 “เพียงแต่ว่าพื้นที่ของอนุรักษ์นิยมในไทยมันเยอะมาก”

“ตอนนี้ถ้าไม่มีโควิด น่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่ง ไม่ใช่ไทย แต่ก่อนปีหนึ่งอยู่ไทยรวมกันไม่ถึงสามเดือนด้วยซ้ำ”

เราไม่ได้คลางแคลงใจความป๊อปของตะวัน เพราะรับรู้ว่าเขาเดินทางบ่อยมากมาแต่ไหนแต่ไรในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เราอยากรู้คือเรื่องราวจากต่างแดน ว่ามีครั้งไหนที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของเขาบ้าง

“มันมีหลายรส เพราะบางครั้งไปเป็นศิลปินพำนัก บางครั้งไปทำกิจกรรมกับชุมชน ไปญี่ปุ่นก็แบบหนึ่ง ไปยุโรปก็แบบหนึ่ง ที่เม็กซิโกก็แบบหนึ่ง

“ครั้งหนึ่งที่จำได้คือตอนไปอยู่บูดาเปสต์แล้ววางแผนไปเที่ยวเวียนนากับ พี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) อยากไป National Museum แต่ปรากฏว่าปิดซ่อม เลยไปแวะมิวเซียมที่อยู่ตึกตรงข้ามแทน เดินเข้าไปมีสัตว์สตัฟฟ์อยู่เต็มเลย เลยถ่ายภาพเก็บมา ทีนี้พอกลับไปปารีส ไม่เข้ามิวเซียมอาร์ตแล้ว เข้ามิวเซียมวิทยาศาสตร์แทน หลายรูปในชุด ‘Animal’ ก็วาดมาจากภาพถ่ายพวกนี้ ที่ทำโดยบังเอิญแต่กลายเป็นงานขายกินเลี้ยงชีพได้ เอาไปแสดงนิวยอร์ก โตเกียว ยุโรป”

ความสำคัญของการได้ผจญภัยเติบโตในต่างแดน ที่ซึ่งศิลปะเฟื่องฟูกว่าบ้านเราหลายเท่าตัว ไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียงของโครงการที่เข้าร่วม ความถี่ที่ได้ไป หรือระยะเวลายาวนานที่ได้จากมาตุภูมิไปสัมผัสความรุ่งเรืองศิวิไลซ์ แต่อยู่ที่ว่า

“มันทำให้เราเห็นโลกกว้าง รู้ว่าจะพัฒนางานอย่างไรให้ทันโลก จะอยู่แต่ของเราไม่ได้ ต้องรู้เขารู้เรา คอยดูว่าใครทำอะไรอยู่ ใครจะทำอะไรต่อ ไม่ใช่คิดว่าเก่งแล้วเราก็อยู่ของเรา แล้วก็รอให้คนอื่นมามองเห็นว่าเก่ง ไม่ใช่อย่างนั้น

“ไทยก็ยังมีส่วนอนุรักษ์นิยมเยอะครับ มีทั้งโลกแหละจริง ๆ ไอ้คอนเทมโพรารี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของอาร์ตไง เหมือนดนตรีแนวร่วมสมัย ซึ่งถ้าคิดเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แม้หลายประเทศที่เราคิดว่าร่วมสมัยแล้ว ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าพื้นที่ของอนุรักษ์นิยมในไทยมันเยอะมาก และพื้นที่ของร่วมสมัยกลับเล็กกว่าประเทศอื่น”

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

04 เด็กเอ๋ย เด็กดี

สีน้ำซึ่งเขาใช้รังสรรค์ภาพพอร์เทรตสดแบบหยาบ คือเครื่องมืออันทรงพลานุภาพที่เจ้าตัวพลิกแพลงเล่นได้ดั่งใจนึก ใช้กำกับสารัตถะชนิดใดก็ออกมาหล่อเหลาคมคาย 

ตลอดชีวิตศิลปินนักวาดภาพเสียดสีสังคม ผู้ยั่วยุให้ตั้งคำถามกับหลากประเด็นอ่อนไหว เส้นคุณธรรมอันเปราะบางที่คนบางกลุ่มตั้งใจพิทักษ์รักษาไว้อย่างไม่ลืมหูลืมตา และระเบียบสังคมแสนล้าหลังซึ่งพันธนาการบางสิ่งไม่ให้งอกงาม ช่วง ค.ศ. 2016 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจุดหนึ่งในชีวิต

พี่ลักขณา (ลักขณา คุณวิชยานนท์) รักษาการ ผอ. BACC ตอนนี้ เสนอชื่อผมไปประกวดที่สิงคโปร์ เป็นงานระดับเอเชียทั้งหมด รวมออสเตรเลียด้วย ผมได้เขารอบเป็นชอร์ตลิสต์หนึ่งในสามคนกับญี่ปุ่นและอินเดีย เงื่อนไขคือต้องส่งงานห้าชิ้นที่ผลิตมาไม่เกินหนึ่งปีไปทางอีเมล พอดีตอนนั้นมีชุด ‘นางงาม’ และ ‘นายก’ ที่ทำไว้แล้วไม่เคยโชว์ ก็ได้ไปโชว์ที่ ArtScience Museum สิงคโปร์ 

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

“อันนี้ผมไม่ได้รางวัลนะ แต่ได้ไปโชว์ที่นั่นมันทำให้มีคนเห็นงานเราเยอะ หลังจากนั้นก็มีแกลเลอรี่ญี่ปุ่นติดต่อมา ก็เลยได้ร่วมงานกันมาจนถึงปัจจุบัน มันทำให้ผมได้รู้จักกับแกลเลอรี่คอมเมอร์เชียลมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นผมทำงานกับแกลเลอรี่อินดี้บ้าง แกลเลอรี่กึ่งคอมเมอร์เชียลบ้าง แต่อาร์ทิสต์ต้องทำงานกับแกลเลอรี่คอมเมอร์เชียลอยู่แล้ว ต้องขายงานเพื่ออยู่รอด เพราะเราไม่ได้ทำอาชีพอื่น ดังแค่ไหนก็ต้องทำแบบนี้”

‘นางงาม’ ที่ว่า คือภาพวาดใบหน้าบิดเบี้ยววิตถารของนางงามหลายประเทศทั่วโลก ชวนตั้งคำถามว่าเราประกวดนางงามไปทำไม ในเมื่อผู้ตัดสินว่าใครสวยกว่าใครก็เป็นผู้ชายทั้งสิ้น ส่วน ‘นายก’ ก็เป็นภาพวาดใบหน้าเหยเกของนายกรัฐมนตรีของไทยที่เคยมีมาในอดีต ทั้งสองชิ้นเคยจัดแสดงในชุด ‘เด็กเอ๋ย เด็กดี’ ซึ่งจัดแสดงไปก่อนหน้าไม่นาน 

“ปีนั้นเป็นปีรัฐประหารพอดี แล้วมีการแต่งเพลงเพื่อล้างสมองเด็ก เลยทำชุดนี้ขึ้นมา แล้วดูสิเป็นยังไง สำเร็จไหม ตอนนี้แม่งกลายเป็นม็อบเยาวชนไปแล้ว ที่เกิดเรื่องมือคืนนี่แหละ โคตรชอบเลย มันทำไม่สำเร็จไง”

05 สุริยวิถี

‘สุริยวิถี’ หรือวิถีการทำงานของตะวัน คือการเขียนภาพสีน้ำหวือหวาชวนพิพักพิพ่วน ที่ตั้งต้นจากความสนใจส่วนตัวเป็นหลัก อย่างงานชุด ‘Money’ ซึ่งจัดแสดงกลาง BACC ในงาน BAB 2020 ไปเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะโรคระบาดตัวร้ายบล็อกไม่ให้ตะวันเดินบินลัดฟ้าไปต่างแดนได้ ติดแหง็กอยู่ไทยจนสบเวลาและโอกาสสร้างงานเซ็ตนี้ขึ้น

ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด
ตะวัน วัตุยา ศิลปินไร้ที่ยืน สู่อาร์ทิสต์นักยั่วล้อผู้วาดพอร์เทรตได้ทรงอิทธิพลที่สุด

“เริ่มจากผมเดินทางบ่อย จึงมีเงินหลายสกุลติดตัว และตอนนั้นมีข่าวประเทศเวเนซุเอลาที่กระดาษชำระมีค่ามากกว่าเงิน ไปซื้อกระดาษชำระแล้วใช้เงินเป็นปึก ก็เลยอยากทำเงินขึ้นมาจากกระดาษอีกทีหนึ่ง เพื่อบอกว่าเงินคือสิ่งที่มีค่ามหาศาลและก็ไร้ค่าได้ในขณะเดียวกัน

“แต่พวกตัวหนังสือและรายละเอียดนี่ใช้ทีมช่วยนะ เพราะตอนแรกที่ทำคนเดียว ผมพบว่าไม่สนุกกับการวาดตัวหนังสือหรือโลโก้อะไรให้เหมือนจริง แต่รู้สึกว่าอยากจะเบลอคนให้หมด อยากให้เป็นเหมือนกึ่งจริง ทีนี้พอค้นข้อมูลเยอะขึ้น ทำให้รู้ว่ามีคนที่คาดไม่ถึงอยู่ในเงินเพียบเลย จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ขึ้นมา”

ก่อนหน้านี้ สีทุกหยดที่เดินทางจากแปรงลงสู่กระดาษนั้นมาจากมือของตะวันทั้งสิ้น แต่คราวนี้ตะวันลงแส้เทรนทีมอย่างเข้มข้นจนทำงานได้สมมโนรถ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ตะวันทำงานโดยมีลูกมือ กระบวนการนี้สืบเนื่องมาสู่ผลงานชิ้นล่าสุด ‘1973’ ภาพวาดโปสเตอร์ป๊อปอาร์ตในยุค 70 อันเรืองรอง ซึ่งเพิ่งจัดแสดงไปที่ Central : The Original Store

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด
ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

“ตอน อั๋น (อังกฤษ อัจฉริยโสภณ) พามาดูพื้นที่ แล้วความทรงจำเก่า ๆ กลับมา คือพ่อแม่ผมทำงานที่เซ็นทรัล และมาเจอกันที่เซ็นทรัล ผมจึงได้เกิดขึ้นมา เด็ก ๆ เลิกเรียนก็มาวิ่งเล่นในห้าง เลยเอาปีเกิดของตัวเองมาเป็นคอนเซ็ปต์งาน ค่อย ๆ พัฒนาไอเดียมาว่าอยากได้รูปที่เหมือนฉีกนิตยสารหรือหยิบโปสเตอร์มาแล้ววาดทับเลย เอาสิ่งที่ตัวเองชอบซึ่งค่อนข้างส่วนตัวมาก ๆ แต่ก็พยายามเฉลี่ยให้มีหลายอย่าง ทั้งดนตรี หนัง เพลง ซูเปอร์ฮีโร่ ของเล่น

“มันเป็นโอกาสที่ผมจะได้ทำเรื่องส่วนตัวออกมาเป็นแบบไม่มีการเมือง ไม่มีรักใครเกลียดใคร ซึ่งพอคิดแบบนี้ก็สนุกไง เราก็อยู่ของเรา แต่มันก็อดไม่ได้ที่ต้องมีตุ๊กตาทหารเวียดนามอะไรแบบนี้ ก็ขอพูดนิดหนึ่ง เพราะปีนั้นมันเป็นปีที่เขาทำสนธิสัญญาหยุดสงครามเวียดนามกันที่ปารีส เลยเอาเลโก้ทหาร GI มาหน่อย ก็ขำ ๆ ก็ไม่ได้อะไร”

“สุดท้ายก็ยังหยุดใส่เรื่องการเมืองลงไปไม่ได้” จบประโยคเราก็ระเบิดหัวเราะพร้อมกัน

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด
ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

06 (Do Not) Keep in The Dark

“ก็มันอยู่กับเราอะ ใช่มั้ย ดูสิ แล้วโชว์พร้อมกับ Keep in The Dark ผมต้องสวิตช์ตัวเองนะ วันหนึ่งไปศิลปากรก็ไปพูดช่วงเดินตามม็อบ ช่วงไปเจอผู้ลี้ภัยในอเมริกา อีกวันหนึ่งไปเซ็นทรัล งานคนละเรื่องเลย” ตะวันต่อบทสนทนา

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

เป็นภาพที่น่าสนใจและดูท้าทายตัวศิลปินไม่น้อย ที่งานโปสเตอร์ป๊อปอาร์ตแสนสนุกเบาอารมณ์อย่าง ‘1970’ จัดแสดงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับงานชุด ‘Keep in The Dark’ พอร์เทรตสดของใบหน้าเยาวชนผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งอดีตเสื้อแดงไทยที่ต้องลี้ภัยในประเทศสหรัฐอเมริกา

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด
ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

“มันเริ่มต้นจากผมวาดภาพพอร์เทรตเสื้อแดงผู้ลี้ภัยในแอลเอเก็บไว้ ประมาณยี่สิบสามสิบรูป ไม่ได้คิดอะไร ทีนี้คิวเรเตอร์เขามาเห็นแล้วชอบ ประกอบกับผมกำลังสนใจม็อบเยาวชนอยู่พอดี ช่วงปลายปีที่แล้วที่เริ่มมีกลุ่มนักเรียนเลวอะไรอย่างนี้ ก็ตกลงว่าจะโชว์อันนี้กัน หลังจากนั้นช่วงต้นปีก็ไปตามม็อบ ได้เจอ ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ได้วาด ไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ที่ยังอยู่นอกเรือนจำ ส่วนหลายคนที่ไม่ได้วาดเพราะว่าตอนนั้นโดนจับไปแล้ว อย่าง เพนกวิน (พริษฐ์ ชีวารักษ์) หรือ แอมมี่ (ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์) ก็วาดจากรูปเอา

“จริง ๆ ผมไม่ได้จะบอกว่าใครผิดใครถูกนะ เป็นความสนใจของผมในการวาดพอร์เทรตสดคนหลาย ๆ กลุ่มอยู่แล้ว ก่อนจะมาเป็นชุดนี้ ผมวาดเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะ เด็กเหล่านี้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สนใจ กลบไว้ใต้พรมหมด เพราะตอนนั้นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก คือมันมีคนควรได้รับการเยียวยาเยอะ เพราะหลายคนได้รับกัมมันตภาพรังสี แต่กลายเป็นว่าเอกชนต้องมาเยียวยากันเอง เลยเริ่มสนใจคนกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้นมา

“หรือตอนไปเม็กซิโก ก็ไปวาดคนงานที่ก่อสร้างมิวเซียม กลายเป็นว่าเราได้พลังงานบางอย่างกลับมาแทน เขาแฮปปี้ที่ถูกมองเห็น ทั้งที่ถ้าไม่มีคนเหล่านี้แม่งไม่มีมิวเซียมขึ้นมาได้นะ จากนั้นก็เลยพัฒนาโปรเจกต์นี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงคนทำงานในพัฒน์พงศ์ที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามีอยู่ ทั้งคนแปลงเพศ เกย์ เลสเบียน จนถึงครั้งนี้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าผมทำแค่เรื่องการเมือง แต่พัฒนามาจากผมสนใจคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่คนในสังคมไม่ค่อยจะมองเขา”

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด
ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

ตะวันไม่ได้คิดไกลถึงขนาดว่า ภาพพอร์เทรตปลายฝีแปรงของเขาที่แทบจะระบุไม่ได้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นใคร จะสร้างแรงกระเพื่อมอะไรให้สังคมได้ยิ่งใหญ่ถึงขั้นเป็นปรากฏการณ์

“แต่ผมสนใจเพราะมันเหมือนคนเราไม่เท่ากันน่ะ อยากเอาเขาออกมาอยู่ในแสงบ้าง”

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

07 “เหมือนตักน้ำจากแม่น้ำขึ้นมา แต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน”

อย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะติดตัวคุณมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่ทำงานศิลปะ คือการผสมผสานสอดแทรกเรื่องการบ้านการเมืองหรือประเด็นละเอียดอ่อน ทั้งเรื่องศาสนาและคุณค่าทางจริยธรรมอันเปราะบางลงไปด้วย – เราตั้งข้อสังเกต

“ก็ใช่ ผมสนใจข่าวสารสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่ไม่ได้เจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดเวลานะ” ตะวันอธิบาย

“ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ที่ไหน เวลาทำงานก็ค่อย ๆ พัฒนาหัวข้อไป ผมไม่ได้คิดคอนเซ็ปต์ให้เคลียร์แล้วถึงทำ แต่คิดอะไรได้หน่อยหนึ่งก็คลำ ๆ ไป แล้วค่อย ๆ พัฒนาต่อ บางทีทำงานไปเลยห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้วถึงโอเค”

จากภาพโป๊แก้ผ้าวิ่งในเดนมาร์ก ภาพนักเต้นอะโกโก้ย่านพัฒน์พงศ์ สู่ภาพนักการเมืองและคนตัวใหญ่ตัวโตในสังคม จนถึงคนชายขอบตัวจ้อยไร้ปากเสียงและเยาวชนนักเคลื่อนไหวภาคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ความสนใจของตะวันลื่นไหนเปลี่ยนแปลงไปอย่างเสรี แม้เนื้อหาและรูปแบบหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปตามแต่ตะวันจะโคจรไปพบปะ แต่ลายเซ็นอย่างการวาดภาพพอร์เทรตไม่เน้นรายละเอียด เล่นน้ำหนักหนัก-เบา เข้ม-อ่อน แสง-เงา และจุอารมณ์ไว้ได้อย่างทรงมหิทธานุภาพอย่างร้ายกาจมีชั้นเชิง ยังคงอยู่อย่างมั่นคงในผลงานของเขามาแต่ไหนแต่ไร

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

“คงเป็นประสบการณ์น่ะ พอวาดมาเยอะ ๆ แล้ว เราก็รู้ว่าวาดแค่นี้ก็พอ คือผมไม่เคยวาดภาพเหมือนอยู่แล้วครับ ทุกครั้งที่วาดรูปก็ไม่ได้คิดว่าวาดภาพเหมือน จะเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง แต่ส่วนใหญ่พอจะมีเค้าให้รู้เท่านั้น

“จริง ๆ เริ่มจากตอนวาดสีน้ำแรก ๆ ที่ตั้งใจให้รายละเอียดมันหายไป เพราะตั้งแต่ช่วงรัฐประหารคราวก่อน ที่ทีวีเริ่มเซ็นเซอร์เยอะ ๆ แต่ก่อนไม่ได้บ้าบอขนาดนี้ ไม่มีเซ็นเซอร์เลยด้วยมั้ง อาจมีอย่างฉากเห็นนมก็ตัดไปเลย ตอนหลังมันกลายมาเป็นการทำมัว เคยดูหนังเรื่องหนึ่ง เขาเอามาฉายใน Big Cinema แล้วมีทั้งโป๊ ปืน บุหรี่ มัวทั้งเรื่อง ผมก็นึก มึงเอามาฉายทำไมเนี่ย (หัวเราะ) เลยเป็นไอเดียการเอามาทำให้มัว ๆ

“การวาดแต่ละครั้งมันเป็นธรรมชาติ ไม่ควบคุมเลย ปล่อยมัน แล้วแต่วัน แล้วแต่อารมณ์ เวลาวาดรูปของผมเหมือนการนั่งสมาธิ เพราะว่าเราไม่นึกถึงรูปที่วาดเลยนะ เราจะนึกถึงเรื่องอื่น แบบคนเดียวกัน แค่ในชั่วโมงเดียวกันมาวาดอีกทีก็ไม่เหมือนแล้ว อาจดูคล้าย แต่คนละอารมณ์แน่นอน มันเป็นจังหวะเวลา เคยมีนักข่าวญี่ปุ่นเขียนถึงผม เขาบอกว่าการทำงานของผมเหมือนตักน้ำจากแม่น้ำขึ้นมา แต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน

“คนวาดสีน้ำในโลกนี้มีเยอะนะ แต่ผมอยู่ในจุดที่คนไม่ต้องดูลายเซ็นแล้วรู้ว่านี่งานผม เหมือนคนเล่นกีตาร์แล้วมีเสียงของตัวเอง เพราะเราไม่ได้เริ่มต้นจากการดูคนอื่น แต่เริ่มต้นจากการดูตัวเอง ตอบไม่ได้หรอกว่าทำไมถึงยังวาดภาพแนวนี้อยู่ แค่รู้สึกว่ายังสนุก บางทีมองหน้าคนก็เสียมารยาทนะ เพราะว่ามันเคยอะ มองจนเขาตกใจ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยสุภาพ ใส่แว่นดำดีกว่า”

พูดถึงแว่นดำแล้วเมื่อวานคุณไปเจออะไรมานะ – เราคาใจ

“ผมไปวาดภาพพอร์เทรตกลุ่มเยาวชนบนผนังที่ WTF Gallery แล้วเกิดเรื่อง”

ชวนรู้จักฝีแปรงของ 'ตะวัน วัตุยา' ศิลปินนักยั่วล้อ เจ้าของภาพพอร์เทรตเลือนพร่าอารมณ์จัด

ขอบคุณภาพผลงานชุด ‘1973’ จาก Central : The Original Store

และภาพผลงานชุด ‘Keep in The Dark’ จาก หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน