ทายซิคะว่าในอเมริกา มีมนุษย์ที่มีรอยสักอย่างน้อยหนึ่งรูป คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

อุ้มเองตอบว่า สัก 2 – 3 เปอร์เซ็นต์ละมั้ง

ฟังคำตอบแล้วหงายท้องไปเลย… 35 เปอร์เซ็นต์ค่ะ!

นั่นมันตั้ง 1 ใน 3 เชียวนา ก็เท่ากับเกือบ 150 ล้านคน แม่เจ้า!

มิน่า ธุรกิจการสักถึงมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ แล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดโตง่ายๆ

ถ้าลองคิดว่าผิวหนังคนคือที่ดิน นี่ก็เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (รอยสักมันเคลื่อนที่ไม่ได้ใช่ไหมเล่า) ที่มีความเป็นไปได้อีกมหาศาล จิ้มเข็มลงลายกันได้อีกบานเลย

ทำไมการสักถึงได้ฮิตระเบิดระเบ้อขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตแลนด์ เมืองที่ร้านสักหาง่ายพอๆ กับร้านตัดผม พ่อเจ้าประคุณแม่เจ้าประคุณจะสักกันไปไหน แล้วไม่ใช่แค่ลายสักธรรมดานะคะ สักทั้งแขน (Sleeves) นี่เห็นจนเป็นเรื่องปกติ ต้องระดับนี้ค่ะ อุ้มเดินข้ามถนน ผู้ชายที่เดินสวนมา สักหน้าทั้งหน้าเป็นลาย Darth Maul (เย้ยยยย) หรือกำลังเดินอยู่ดีๆ น้องผู้หญิงฝรั่งหน้าตาจิ้มลิ้มเดินแซงหน้าไป เลยได้เห็นสักสีดำจากไหล่จรดข้อมือสองข้างมิดเลย (น้องงงงงงง พี่ช็อก) คนรู้จักอุ้มหลายคน เดี๋ยวๆ ก็ไปสักมาอีกละ คุณยายอายุเกือบ 70 พี่เลี้ยงเด็กของเมตตาและอนีคา ก็มีรอยสักที่หัวไหล่ เพื่อนบ้านสาวใหญ่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรดัง อยู่ดีๆ ก็ไปสักมาเต็มต้นแขน

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา

เขาบอกว่าอย่างนี้ค่ะ ก่อนหน้านี้ซานฟรานซิสโกเคยเป็นเมืองหลวงแห่งการสัก มีช่างสักเก่งๆ มากมาย แต่วันหนึ่ง ช่างเหล่านี้ก็ย้ายสำมะโนครัวขึ้นมาอยู่พอร์ตแลนด์กันยกใหญ่ เพราะเป็นเมืองศิลปินขบถ ค่าครองชีพก็ถูกกว่า คนมาสักแล้วสังคมก็ยอมรับ ใช้ชีวิตโชว์ลายบนผิวหนังกันได้ไม่ต้องแอบต้องซ่อน ทำให้วงการสักคึกคักโตเร็วกว่าเมืองไหนๆ ในอเมริกา จนตอนนี้การสักกลายเป็นเรื่องค่อนข้างเมนสตรีม เป็นหมอเป็นทนายอะไรก็มาสัก ไม่ได้เฉพาะอยู่ในกลุ่มคนนอกคอกอีกต่อไป

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา

เมืองไทยเองตอนนี้ก็ได้ข่าวว่า Minimalist Tattoo หรือรอยสักอันเล็กๆ ในหมู่สาวๆ กำลังฮิตเหลือหลาย กลายเป็นเรื่องกุ๊กกิ๊กๆ ชิคๆ เก๋ๆ เกาหลีๆ สักกันเต็มไอจีจนป้าผอดแลน (อิฉันเอง) ตามไม่ทันเลยทีเดียว

ถึงแม้ป้าจะไม่ได้สัก แต่ป้ามีความกระหายใคร่จะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วป้าก็นึกได้ว่ารู้จักช่างสัก หรือ Tattoo Artist มืออาชีพอันดับต้นๆ จากพอร์ตแลนด์ ชื่อว่า ม้อด-ณัฐธัญ บริหารวนเขตต์ (ติดตามผลงานพี่เขาได้ที่ Instagram : modzillatattoo) ที่ย้ายกลับไปเปิดสตูดิโอสักอยู่เชียงใหม่เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการสักในเมืองไทย และมีอะไรดีๆ เล่าให้เราฟังได้เยอะแน่นอน

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา

คุยกับพี่ม้อดอยู่พักใหญ่ เลยได้รู้ว่าการจะเป็นช่างสักที่อเมริกาสมัยก่อนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พี่ม้อดเองเริ่มจากไปสักครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แล้วก็ต้องมนตร์เสน่ห์ของการสัก จนถึงกับไปขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับช่างสักคนนั้น เอาตัวเข้าแลก สักไปครึ่งแขน เทียวไล้เทียวขื่ออยู่นานโขกว่าเขาจะรับ แต่ก็กวาดถูเปิดปิดประตูร้าน เรียนรู้ด้วยตาอยู่เกือบปี กว่าจะได้ลงมือสักลูกค้าคนแรก คือตัวเอง!

เหตุที่ต้องไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับช่างสักเก่งๆ ก็เพราะสมัยก่อน วงการสักยังค่อนข้างปิด และไม่มีโรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ใครอยากเป็น Artist ก็ต้องไปขอฝึกกับช่างที่มีใบอนุญาตให้รับ Apprentice ได้ เพราะจะต้องมีตารางการเรียนการสอน มีวิชาต่างๆ ตามที่รัฐกำหนด 

นอกเหนือไปจากออกแบบและการวาดรูปแล้วก็ยังต้องรู้จักประวัติศาสตร์ของการสัก อุปกรณ์ต่างๆ กายวิภาคของผิวหนัง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น กฎหมายเกี่ยวกับการสัก (ที่นี่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามสักเด็ดขาด) สุขลักษณะและการป้องกันการติดเชื้อทางกระแสเลือดและผิวหนัง โน่นนี่อีกมากมาย 

ที่สำคัญคือต้องไปสอบใบอนุญาตเหมือนไปสอบใบขับขี่เลยค่ะ หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้มีชื่อโอ่อ่าว่า Board of Electrologists and Body Art Practitioners คือโอเรกอนนี่เป็นรัฐที่กฎระเบียบและมาตรฐานเรื่องการสักโหดหินที่สุดในอเมริกาเลยก็ว่าได้

แล้วอะไรอีกรู้ไหมคะ ใบอนุญาตต้องไปต่อทุกปีอี๊ก โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเรียนวิชาชีพเพิ่มเติมอย่างน้อยปีละ 10 ชั่วโมง มิน่าล่ะ ช่างสักที่นี่ถึงรายได้ดี เพราะกว่าจะขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาเยอะมาก คนเก่งๆ นี่ค่าสักชั่วโมงละ 200 เหรียญฯ โน่น สักลายหนึ่งต้องมี 300 – 400 ขึ้น หรือถ้าสักทั้งแขนนี่เตรียมเงินมาเลย 3,000 – 4,000 เหรียญฯ  รายได้ดีกว่าสมคิด ครูประชาบาลที่บ้านเดี๊ยนอีกอะ

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา

กลับมาที่เส้นทางการเป็นช่างสักของพี่ม้อด หลังจากลองสักกับตัวเองเพื่อให้รู้ว่าสักถูกไหม น้ำหนักเข็มเป็นอย่างไร แผลหายดีหรือเปล่า ถึงได้ไปหาลูกค้ามาสักจริง แล้วบรรดาลูกพี่ที่เป็นครูทั้งหลาย ก็จะมายืนมุงดู (ไม่กดดันเล้ย) ถ้าทำผิดพลาดตรงไหนจะถูกสั่งให้หยุดทันที เช่น สักที่เดิมนานเกินไปจนผิวช้ำจะกลายเป็นแผลเป็น หรือสักเบาไปเส้นจะไม่ติด สักลึกไปจนถึงชั้นไขมันสีก็จะบลีดลายไม่คม อะไรแบบนี้

จริงๆ มีแผ่นหนังหรือซิลิโคนให้ซ้อมสักได้ แต่ครูของพี่ม้อดไม่ให้ใช้ เพราะไม่เหมือนผิวจริงของคนที่มีความแตกต่างกัน บางคนตากแดดเยอะก็ผิวเหนียว บางคนกินอาหารดื่มน้ำดีผิวก็จะนิ่ม ส่วนใครกินอาหารขยะมากโซเดียมสูง ผิวก็จะบวมน้ำ ลากเส้นลงไปแล้วผิวก็จะนูนขึ้นมา สักยากอีก เช็ดแรงก็ไม่ได้ ต้องเอาน้ำแข็งประคบแล้วใจเย็นๆ ค่อยๆ สัก (คนไทยเข้าข่ายสุดท้ายนี้เยอะมาก) ไหนจะผิวคนเป็นเบาหวานที่สักแรงไม่ได้เพราะเลือดจะไหลไม่หยุดอีกล่ะ เรื่องแบบนี้ช่างสักเด็กๆ ที่เมืองไทยจะรู้กันไหมนะ

อีก 2 เรื่องที่สำคัญมากสำหรับการสักก็คือเครื่องมือและสีค่ะ พี่ม้อดบอกว่ายังใช้ Tattoo Pen รุ่นโบราณที่ทำมาตั้งแต่ ค.ศ.​ 1940 – 1950 เพราะปรับแต่งและซ่อมเองได้ ไม่เหมือนปากกาสักสมัยนี้ที่เป็นดิจิทัลหมด คนสักแทบไม่ต้องตั้งค่าอะไรเลย ซึ่งฟังเผินๆ เหมือนจะง่ายและสะดวกดีใช่ไหมคะ สั่งจาก Amazon จากเมืองจีนมา เปิดวิดีโอในยูทูบลองซ้อมๆ ดูหน่อย เดี๋ยวเดียวก็ตั้งตนเป็นช่างสักได้แล้ว สักเล็กๆ คิด 200 – 300 บาท ขำๆ เขาก็แค่จะเอาไปถ่ายรูปลงไอจี ใส่ฟิลเตอร์โน้นนี้เดี๋ยวคนก็มากดไลก์กันฟึ่ม

ความจริงเรื่องนี้เหมือนเป็น Parallel Universe ค่ะ ลองเปรียบเทียบง่ายๆ อย่างนี้ ถ้าคุณจะเป็นช่างภาพ แล้วเริ่มจากกล้องฟิล์ม รู้จักว่าชัตเตอร์สปีด F-Stop ISO ค่า K คืออะไร เลนส์แบบไหนมีผลต่อการถ่ายภาพยังไง กับเริ่มจากไอโฟน กดๆๆๆ แล้วมาแต่งด้วยฟิลเตอร์เอา ผลที่ได้ก็ย่อมจะต่างกันใช่ไหมคะ หลายคนอาจจะบอกว่า รูปไอโฟนก็สวยดูมืออาชีพได้ สะดวกด้วย เร็วดี รูปที่ออกมาก็ดูเหมือนๆ กันนั่นแหละ ช่างภาพมืออาชีพเดี๋ยวนี้ยังใช้ไอโฟนถ่ายกันเลย

สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือพื้นฐานและจิตวิญญาณค่ะ

ดูรูปถ่ายของ แอนเซล อดัมส์ (Ansel Adams) หรือ แอนนี ลีเบอวิตซ์ (Annie Leibovitz) หรือ ริชาร์ด อาเวดอน (Richard Avedon) กับดูรูปช่างภาพที่เริ่มอาชีพจากไอโฟนมีคนตามเยอะๆ บนไอจี มันเหมือนกันไหมล่ะคะ คุณผู้อ่านว่า

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
ภาพ : instagram.com/modzillatattoo

การสักก็เหมือนกัน ถ้ารู้จักกล้องแมนนวลแล้วทำให้ถ่ายรูปได้ดีกว่าฉันใด พี่ม้อดก็บอกว่าถ้าเข้าใจเครื่องรุ่นเก่า ก็จะเข้าใจผิวมากกว่าฉันนั้น แล้วก็ยืนยันว่าอย่างไรก็จะยึดแนวทางดั้งเดิม ที่เป็นลายสักแบบเอเชียนผสมผสานกับอเมริกันโอลด์สคูล เพราะลายเหล่านี้ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ลายสักควรจะเป็นลายที่มีความหมาย เป็นเรื่องราวที่สำคัญในชีวิตของคนคนนั้น สักแล้วมีกำลังใจและรู้สึกดีกับตัวเองทุกครั้งที่มอง และที่สำคัญ ควรจะเป็นมงคลและส่งเสริมราศีของคนที่มาสัก

การสักควรจะทำให้ผู้หญิงสวยขึ้น และทำให้ผู้ชายกล้าหาญมากขึ้น พี่ม้อดว่าไว้เช่นนั้น

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
ภาพ : instagram.com/modzillatattoo

ทีนี้มาว่ากันเรื่องสี Tattoo Ink ที่ดี นอกจากทำให้แผลหายง่ายแล้ว พี่ม้อดบอกว่าควรจะสีสวยสดใส สักแล้วไม่หมอง แต่ก็ไม่จัดจ้านจนเกินไปจนดูหลอก ส่วนผสมก็ต้องเป็น Food Coloring Grade ที่อเมริกามีการควบคุมเรื่องสีที่ใช้สักอย่างเข้มงวดโดย FDA โรงงานผลิตสีต้องผ่านมาตรฐานทางสาธารณสุขอย่างจริงจัง คือทำไม่ดีนี่โดนปิดเอาง่ายๆ เพราะฉะนั้น Distriutor ที่สั่งสีมาขายให้ร้านสัก ก็ต้องเลือกโรงงานที่ผ่าน FDA เท่านั้น คนสักก็ปลอดภัย เดี๋ยวนี้ล้ำไปถึงมีสีออร์แกนิก สีวีแกนแล้วด้วย

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
 Organic / Vegan Tattoo Ink
ส่วนเมืองไทยนั่นเล่า…

นอกจากไม่มีการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องการเปลี่ยนเข็มใหม่ทุกครั้งที่สักแล้ว เรื่องสีนี่เลอะเทอะเลยค่ะ เห็นว่าสั่ง Lazada ชุดละ 400 – 500 บาทก็เอามาสักกัน ได้เช็กไหมคะว่ามีสารตะกั่ว สารปรอทไหม (ขอเดาว่ามี) และใส่ตัวหนาเลยนะคะ สารพิษเหล่านี้มันดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ คือสมัครใจไปให้เขากรีดผิว ฝังสารพิษเข้าไปให้ร่างกายดูดซึมอย่างต่อเนื่อง แถมจ่ายเงินให้ด้วย เพียงเพราะอยากได้สักเล็กๆ ตามกระแส อันนี้อย่าหาว่าป้าโลกไม่สวยนะคะ แต่เป็นห่วงจริงๆ

จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
จากพอร์ตแลนด์สู่เชียงใหม่ เส้นทางการเป็น Tattoo Artist มืออาชีพในเมืองไทยและอเมริกา
รอยสักของ Emily Kaul
ภาพ : intagram.com/honey.medicine

เพราะฉะนั้น ใครตัดสินใจว่าเป็นตายยังไงฉันก็จะสัก อย่างน้อยขอให้ดูพอร์ตโฟลิโอและคุยกับช่างสักเยอะๆ ดูว่าเขาโอเคไหม งานคมชัด ลายเส้นดี สีสวยสดใสหรือเปล่า หมึกที่ใช้มีส่วนผสมของอะไรบ้าง เปลี่ยนเข็มทุกครั้งไหม (ที่อเมริกาต้องเปลี่ยนทุกครั้ง) คำถามเหล่านี้เป็นสิทธิ์ของเราที่จะถาม ช่างที่ดีก็ต้องพร้อมที่จะตอบ ถ้าถามแล้วมาหงุดหงิดเหวี่ยงใส่ ก็แปลว่าช่างนั้นไม่คู่ควรกับผิวอันมีค่าของเรานี้นะจ๊ะ จำไว้

คุยกับ ม้อด-ณัฐธัญ บริหารวนเขตต์ ถึงเส้นทางอาชีพช่างสักในอเมริกา และสิ่งพึงระวังก่อนสลักลวดลายบนผิวหนังมนุษย์
คุยกับ ม้อด-ณัฐธัญ บริหารวนเขตต์ ถึงเส้นทางอาชีพช่างสักในอเมริกา และสิ่งพึงระวังก่อนสลักลวดลายบนผิวหนังมนุษย์
คุยกับ ม้อด-ณัฐธัญ บริหารวนเขตต์ ถึงเส้นทางอาชีพช่างสักในอเมริกา และสิ่งพึงระวังก่อนสลักลวดลายบนผิวหนังมนุษย์
ภาพ : instagram.com/modzillatattoo

เรื่องการสักเร็วสักช้าก็สำคัญนะคะ ถึงแม้ช่างแต่ละคนจะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน แต่พี่ม้อดบอกว่าครูพี่ม้อดสอนมาให้ทำงานเร็วเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ลูกค้าเจ็บน้อยที่สุด ผิวช้ำน้อยที่สุด และหายเร็วที่สุด ดังนั้น การคิดชั่วโมงละ 3,500 บาท (ซึ่งจริงๆ เป็นค่าตัวแค่ครึ่งเดียวของสมัยพี่ม้อดอยู่อเมริกาด้วยซ้ำ) ถือว่าไม่แพงเลย เพราะไม่ต้องกลัวว่าคิดเป็นชั่วโมงแล้วจะอู้ สักช้าๆ คิดแพงๆ เคยมีลูกค้าคนหนึ่งไม่ยอมจ่าย ไปสักกับช่างอีกที่เพราะถูกกว่า ชั่วโมงละพันเดียว แต่โดนไป 6 ชั่วโมง แล้วงานยังไม่ถูกใจ ต้องเอามาให้พี่ม้อดทำใหม่ ใช้เวลาไป 2 ชั่วโมง มาหาพี่ม้อดแต่แรกก็หมดเรื่องไปแล้ว เสียเงินพอๆ กัน แต่งานดี หมึกปลอดภัย และเจ็บตัวน้อยกว่าด้วย

สรุปคืออย่าสักแต่ว่าสัก ทางนี้ก็รักคนอ่านนะจ๊ะ จึงไม่ได้สักแต่ว่าเขียน

คุยกับ ม้อด-ณัฐธัญ บริหารวนเขตต์ ถึงเส้นทางอาชีพช่างสักในอเมริกา และสิ่งพึงระวังก่อนสลักลวดลายบนผิวหนังมนุษย์
ภาพ : instagram.com/modzillatattoo

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์