เราไม่ได้นั่งรถไฟพัดลมกลับบ้านที่ต่างจังหวัดมานานแล้ว

เราเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กยันตอนนี้ก็ 30 กว่าปีเข้าไปแล้ว ตอนเด็ก ๆ ต้องแบ่งชีวิตช่วงปิดเทอมหน้าร้อนหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ที่พิจิตร ซึ่งเป็นบ้านตากับยายและพี่สาว อย่างน้อยก็ปีละ 1 – 2 สัปดาห์ ไม่แน่ใจว่าการโดนส่งไปอยู่พิจิตรนั้น เป็นเพราะอยากให้ไปใช้ชีวิตในอีกแบบหนึ่งบ้าง หรือที่บ้านไม่อยากให้อยู่ด้วยกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ บ้านตาและยายที่พิจิตร คือสารตั้งต้นความคลั่งรักรถไฟที่ทำให้เราได้มาเขียนอะไรให้พวกคุณอ่านอยู่ตรงนี้

ทุก ๆ ครั้ง พ่อจะหนีบเราขึ้นรถไฟเที่ยวเช้าสุด เป็นรถเร็วขบวน 101 กรุงเทพ-เชียงใหม่ ตีตั๋วไปลง ‘สถานีตะพานหิน’ จังหวัดพิจิตร ขบวนนี้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง สักเที่ยง ๆ ก็ถึงตะพานหินแล้ว เราสองคนพ่อลูกจะต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีกรุงเทพ พ่อพร่ำบอกเสมอว่าจะได้มีที่นั่ง ซึ่งการจองที่นั่งของพ่อนับว่าเป็นนวัตกรรมเฉพาะบ้านมาก ๆ นั่นคือเมื่อรถไฟค่อย ๆ ไหลเข้ามาเทียบที่ชานชาลา พ่อจะอุ้มเราโยนผ่านหน้าต่างเข้าไปที่เก้าอี้ เพื่อให้ลูกเป็นตัวจองที่

ใช่ คุณอ่านไม่ผิด พ่อเราทำแบบนี้จริง ๆ แล้วก็ได้ที่นั่งริมหน้าต่างสมใจลูกทุกครั้งด้วย เพราะพ่อรู้ว่าลูกชอบเอาหน้าโกรกลมริมหน้าต่างเป็นชีวิตจิตใจ ตลอดการเดินทางพ่อไม่ต้องห่วงกังวลเลยว่าเด็กน้อยจะงอแง เพราะเมื่อไหร่ที่อยู่บนรถไฟ ก็เหมือนถูกสะกดเอาไว้อย่างอยู่หมัด

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ในวัย 35 ปี

ปกติแล้วเรานั่งรถด่วนพิเศษที่เรียกกันติดปากว่า ‘สปรินเตอร์’ กลับบ้าน มันเป็นรถแอร์ มีอาหารบริการ จอดน้อยมากเพียงแค่สถานีประจำจังหวัดและอำเภอขนาดใหญ่ ใช้เวลาเดินทางเพียง 4 ชั่วโมงถึงตะพานหิน มีทั้งรอบเช้าและรอบสายให้เลือก แต่ตอนนี้เราไม่มีตัวเลือก เพราะความชะล่าใจที่ดันไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้านาน ๆ บวกกับเป็นวันหยุดยาว ทำให้รถด่วนพิเศษเต็มไปเรียบร้อย เหลือเพียงรถนั่งชั้น 2 พัดลมของรถเร็วที่ 111 กรุงเทพ-เด่นชัย เท่านั้น

ตัดสินใจไม่ยาก…เราไม่ได้อยากนั่งชั้น 3 ถึง 5 ชั่วโมง ต่อให้เป็นแฟนคลับรถไฟขนาดไหน แต่การนั่งหลังตรงเด่ไปจนถึงตะพานหินในวัย 35 มันทรมานร่างกายแน่นอน รถนั่งชั้น 2 พัดลมแบบปรับเอนได้จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้

รถเร็วที่ 111 หรือที่เรียกกันติดปากว่าขบวนตองหนึ่ง วิ่งไปบนเส้นทางเดิมที่วิ่งมานับสิบ ๆ ปี การนั่งรถพัดลมในวันที่อากาศเย็นเพราะฝนตกมาตั้งแต่เมื่อคืน ทำให้การเดินทางวันนี้ไม่ได้เลวร้ายอะไร สมัยที่นั่งรถไฟกับพ่อ เราตื่นเต้นกับวิวสองข้างทางและรถไฟที่วิ่งสวนกันมาก ความสนใจของเด็กชายแฮมสร้างกิจกรรมแปลก ๆ ขึ้นมา คือเด็กคนนี้ไม่ท่องสูตรคูณ แต่ท่องชื่อสถานีรถไฟตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงตะพานหินและท่องเรียงลำดับได้แบบไม่ผิดเพี้ยนตั้งแต่อยู่ ป.6 สูตรคูณก็ยังท่องได้ไม่เป๊ะขนาดนี้ นับเป็นความสามารถพิเศษที่ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ เราจดจำวิวสองข้างทางได้ และทันทีที่เห็นก็บอกได้เลยว่าคือที่ไหน

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น
ทางระหว่างสถานีบ้านหมอกับสถานีหนองโดน จ.สระบุรี

จากกรุงเทพฯ เพียง 2 ชั่วโมงกว่า ๆ รถไฟก็มาถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี ที่นี่เป็นทางแยกระหว่างสายเหนือกับสายอีสาน สมัยก่อนเมื่อรถไฟมาถึงบ้านภาชี สิ่งที่ผู้โดยสารเกือบทั้งขบวนที่เป็นขาประจำต้องทำกัน คือโผล่หัวออกไปนอกหน้าต่างเพื่อรอซื้อไอติมกะทิหอมหวานมันในถ้วยสีชมพู นี่คือไอติมบ้านภาชีที่ลือชื่อ เรียกได้ว่าหากนั่งรถไฟผ่านสถานีนี้แล้วไม่ซื้อไอติมเท่ากับผิดประเพณีเป็นอย่างมาก

แต่วันนี้ไม่มีไอติมบ้านภาชีมาอยู่ริมหน้าต่างเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะหมดสัญญาขายกับสถานีและไม่มีการสานต่อ จึงปิดตำนานไอติมกะทิราคา 5 บาท ที่ต้องแย่งกันซื้อให้ทันเวลารถออก

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น

จากบ้านภาชี รถไฟเดินทางมาถึงสถานีลพบุรี ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตรถไฟทางคู่ ถัดไปนิดหนึ่งเป็นพระปรางค์สามยอดที่มีฝูงวานรเจ้าถิ่นนั่งเป็นพนักงานต้อนรับริมทางรถไฟกันเนืองแน่น คอยสบตาคนบนรถไฟด้วยหวังว่าจะมีใครโยนอะไรให้กินบ้าง จากลพบุรีไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น คือการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เดิมทีเมื่อพ้นสถานีลพบุรีไปแล้ว ทางรถไฟจะเป็นทางเดี่ยวยาวไปจนถึงเชียงใหม่ ถ้ารถไฟจะสวนกันก็ต้องมีขบวนหนึ่งรอหลีกที่สถานี เพื่อให้อีกขบวนสวนหรือแซงไป การสร้างรถไฟทางคู่จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดเวลาการเดินทางลงไปได้พอสมควร รถสวนกันได้สบาย ๆ แถมมีสถานีใหญ่เพียงพอรองรับการใช้งาน แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือ เมื่อทางมี แต่เรา ๆ ก็อยากได้รถไฟใหม่ ๆ มาเพิ่ม เพื่อที่การเดินทางด้วยรถไฟจะได้สะดวกและครบวงจรมากขึ้น

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น
โดนรถด่วนแซงซะแล้วที่สถานีห้วยแก้ว
นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น
เกษตรกรรมริมทางรถไฟแถวช่องแค

มีเรื่องหนึ่งที่แอบคิดว่า ถ้ารถไฟทางคู่เสร็จ แล้วมีรถไฟใหม่ ๆ มา วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ขายของกับรถไฟเพื่อให้คนนั่งได้อิ่มท้อง จะยังคงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ว่าไปแล้วเรื่องที่เกี่ยวโยงผูกพันระหว่างคนกับรถไฟ นอกจากเรื่องเส้นทางที่เข้าถึงชุมชนระหว่างทางแล้ว ก็คงเป็นเรื่องอาหารการกินที่ขายโดยคนในพื้นที่และเป็นของดีที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ

นอกจากไอติมบ้านภาชีที่กล่าวไปแล้ว ของกินอันทรงคุณค่าของทางรถไฟสายเหนือช่วงผ่านที่ราบภาคกลาง สะท้อนลักษณะวัฒนธรรมทางอาหารออกมาได้อย่างชัดเจน อาหารกล่องส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นข้าวผัดหรือกะเพราโปะด้วยไข่ดาว บ้างก็มีของกินเล่นเป็นข้าวเหนียวหมูทอดเนื้อทอดช่วงสถานีอยุธยา ขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อนที่สถานีท่าเรือ ขนมจีบหมูสถานีบางมูลนาก

ที่ประทับใจสุดคงมีอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรกคือข้าวกะเพราหมูเกี้ยมฉ่ายร้านเจ๊จู๊ดที่สถานีช่องแค ร้านนี้เขารู้กันว่าถ้าดุ่ม ๆ มากินหรือนึกกินเดี๋ยวนั้นไม่ได้ ต้องพรีออเดอร์ล่วงหน้าเท่านั้น ถ้าเป็นขาประจำเขาจะโทรสั่งเลย แล้วให้แม่ค้ามาส่งที่หน้าต่างรถไฟ แต่เราไม่มีเบอร์ร้าน เลยต้องโทรหาเพื่อนให้เป็นธุระจัดการให้ และแน่นอนว่าพรีออเดอร์ตั้งแต่กรุงเทพฯ หมูกรอบก็หมด! อะ อย่างน้อยได้กินหมูสับก็ยังดี

ข้าวห่อมาในกระดาษหนังสือพิมพ์ (วันนี้เป็นหนังสือพิมพ์เกาหลีแฮะ) รสชาติอร่อยมาก โรยน้ำปลาพริกหน่อยคือเด็ดดวง

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น

อันที่ 2 ของกินเล่นออร์แกนิกอย่างฝักบัว (ฝักดอกบัวที่ไม่ใช่ฝักบัวอาบน้ำอะ) ที่ต้องละเมียดแงะออกมาทีละเม็ด กินรสชาติจืด ๆ มัน ๆ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่เห็นแม่ค้าห้อยฝักบัวขึ้นมาขาย นั่นคือเรากำลังใกล้ดินแดนนครสวรรค์ขึ้นทุกที แล้วเจ้าฝักบัวพวกนี้เป็นดัชนีบ่งบอกของท้องถิ่นได้ด้วยนะ เพราะนครสวรรค์ พิจิตร ยันพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีดอกบัวธรรมชาติขึ้นเยอะมาก ทั้งท้องนา คลอง หรือแม้แต่บึงบอระเพ็ด บึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเราจะเห็นวิวของบึงได้ผ่านหน้าต่างรถไฟ

บึงบอระเพ็ดและดงดอกบัว แต่ไม่มีจระเข้ในภาพนะ
นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น

บึงบอระเพ็ดนี้นอกจากจะเป็นแหล่งระบบนิเวศที่ใหญ่มโหฬารของภาคกลางแล้ว ยังมีจระเข้น้ำจืดธรรมชาติอาศัยอยู่ด้วย พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยจีบแม่ใหม่ ๆ เมื่อนั่งรถไฟผ่านก็จะเห็นจระเข้มาอาบแดดอยู่ตามตลิ่งบึงริมทางรถไฟ แต่ตอนนี้คงไม่เห็นภาพแบบนั้นแล้ว ด้วยจำนวนประชากรจระเข้ที่ลดลง รวมถึงการรุกเข้ามาของชุมชน ทำให้เจ้าชาละวันทั้งหลายต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ในส่วนที่ไม่มีการรบกวน

นึกภาพไม่ออก ถ้านั่งรถไฟแล้วเห็นจระเข้ตากแดดอยู่ริมตลิ่งในระยะที่ตามองเห็นได้ ฉันจะรู้สึกยังไงกันวะ

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น

ทางรถไฟสายเหนือตั้งแต่ปากน้ำโพเป็นต้นไปตัดไล่ไปตามแนวแม่น้ำน่าน มีชุมชนสำคัญ ๆ ที่เติบโตไปพร้อม ๆ กับแม่น้ำน่านและรถไฟหลายแห่ง หลายคนคงคุ้นเคยกันจากละครเรื่อง กรงกรรม ไม่ว่าจะเป็นทับกฤช ชุมแสง ชุมชนขนาดย่อม ๆ โซนสุดท้ายของจังหวัดนครสวรรค์ที่เป็นฉากหลังของแม่ย้อยและซ้อเรณู ก่อนเข้าสู่จังหวัดพิจิตรที่บางมูลนาก

บ่ายโมงเศษ ๆ เรามาถึงสถานีตะพานหิน สถานีรถไฟที่เคยได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในพิจิตร และใหญ่กว่าสถานีประจำจังหวัดอย่างสถานีพิจิตรด้วย ในจังหวัดพิจิตรมีรถไฟผ่านเพียง 3 อำเภอ คือ บางมูลนาก ตะพานหิน และเมืองพิจิตร โดยมีสถานีสำคัญในจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่แต่ดั้งเดิม ได้แก่ สถานีบางมูลนาก ตะพานหิน หัวดง วังกรด พิจิตร และท่าฬ่อ

สถานีตะพานหินเป็นสถานีระดับอำเภอ ความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่เกรียงไกรของตะพานหิน คือการมีถนนสายหลักที่เดินทางต่อไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์เข้ามาสิ้นสุดในตลาด ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านละแวกเดียวกับสถานีรถไฟ ในอดีตเส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง และถนนทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดฝอยส่งต่อคนจากระบบรางไปยังพื้นที่ที่ไม่มีราง เพชรบูรณ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อลงรถไฟแล้วจะมีรถประจำทางรับคนเดินทางต่อไปเขาทราย ชนแดน ข้ามเขารัง ไปวังชมภู ไปเพชรบูรณ์ ไปหล่มสัก คนเพชรบูรณ์ที่จะนั่งรถไฟก็ต้องมาขึ้นรถไฟที่สถานีตะพานหินนี่แหละ นอกจากนั้น ตะพานหินยังเป็นสถานีรับแร่ยิปซัมขนส่งทางรถไฟอีกด้วย เลยทำให้เมืองตะพานหินคึกคัก เป็นชุมชนเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่ามีอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ฝั่งตลาดเต็มไปหมด

นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น
นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น
นั่งรถไฟไปสถานีตะพานหิน พร้อมลายแทงเมนูลับที่ต้องพรีออเดอร์ตั้งแต่เช้าตรู่เท่านั้น

เกร็ดน่ารู้ของสถานีตะพานหินคือ อาคารสถานีสร้างพร้อมอาคารสถานีเด่นชัยเพื่อทดแทนอาคารไม้เดิม และมีพิธีเปิดใช้อาคารใหม่ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ซึ่งตรงกับวันชาติ เดิมทีอาคารสถานีอยู่ทางทิศตะวันตกของทางรถไฟฝั่งเดียวกับตลาด ลงรถไฟปั๊บก็เข้าสถานี แล้วเดินเข้าตลาดได้เลย แต่ด้วยความที่มีภารกิจด้านการขนส่งมาก จึงต้องขยายย่านสถานีให้พร้อมรับกิจกรรมทุกรูปแบบ ทั้งโดยสารและสินค้า เปลี่ยนตำแหน่งอาคารสถานีให้ไปอยู่ด้านทิศตะวันออกแทน ติดกับฝั่งท่ารถไปเพชรบูรณ์ แถมด้วยสะพานไม้ข้ามย่านสถานีรถไฟ ถ้าหากมีขบวนรถไฟจอดอยู่ก็ให้คนขึ้นสะพานไม้ข้ามไปฝั่งตลาดได้

สะพานลอยข้ามย่านสถานีรถไฟอาจไม่ใช่ของแปลกใช่ไหมครับ เพราะหลายสถานีที่มีย่านขนาดใหญ่ เช่น สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ นครราชสีมา หรือสถานีรถไฟทางคู่ยุคใหม่ ๆ ต้องมีสะพานลอย แต่วัสดุนี่แหละที่แตกต่างจากที่อื่น เดิมทีสะพานลอยพวกนี้สร้างขึ้นด้วยไม้และเปลี่ยนเป็นเหล็กหรือคอนกรีต แต่ที่ตะพานหินยังคงเป็นสะพานโครงสร้างไม้เหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศ และเป็นแห่งสุดท้ายแล้วจริง ๆ จึงกลายเป็น สะพานไม้ที่ตะพานหิน’ อันเป็นเอกลักษณ์ของสถานีนี้

สะพานไม้ข้ามย่านสถานีที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ความสำคัญของตะพานหินสะท้อนออกมาด้วยการมีขบวนรถไฟมายังปลายทางเป็นของตัวเอง นั่นคือรถธรรมดาที่ 211/212 กรุงเทพ-ตะพานหิน-กรุงเทพ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า รถนอนตะพานหิน เป็นรถนักเรียนและแม่ค้า ออกจากตะพานหินเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ช่วงตี 5 ครึ่ง และออกจากกรุงเทพฯ อีกทีช่วงบ่ายโมง มาถึงตะพานหินทุ่มครึ่ง แล้วนอนค้างคืนรอออกวันถัดไป รถไฟสายเหนือที่มุ่งหน้าไปเชียงใหม่แทบทุกขบวนต้องจอด ทั้งรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ อาจยกเว้นรถด่วนพิเศษที่เป็นตู้นอนที่ขอวิ่งผ่านแบบฉิว ๆ ไปจอดอีกทีก็พิจิตรกับพิษณุโลก และทุกขบวนที่จอดก็มีคนขึ้นลงไม่น้อย จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สถานีตะพานหินก็เป็นอีกสถานีสำคัญของทางรถไฟสายเหนือ

สามล้อเครื่อง อีกหนึ่งยานพาหนะรับจ้างในตะพานหินที่ยังคงได้รับความนิยม

การมาซัมเมอร์ที่บ้านยายเป็นความน่าเบื่อในระดับหนึ่งของเด็กกรุงเทพฯ ที่ทีวีก็ดูไม่ชัด เล่นอะไรก็ไม่ค่อยได้เพราะไม่มีเพื่อน การดูรถไฟเป็นเพียงกิจกรรมเดียวที่ทำให้ไม่เบื่อ เราได้ทักษะการเงี่ยหูฟังเสียงรถไฟ ทักษะการจดจำรูปแบบขบวนรถไฟก็มาจากที่นี่ เรามักจะจำเวลารถไฟเอาไว้ แล้วคอยเงี่ยหูฟังว่ามันจะมาตอนไหน ถ้ามาจากทางกรุงเทพฯ (รถขาขึ้น) จะได้ยินเสียงล่วงหน้าเป็นนาที แต่ถ้ามาจากทางเชียงใหม่ (รถขาล่อง) จะไม่ค่อยได้ยินเสียง รู้ตัวอีกทีก็วิ่งผ่านหน้าบ้านไปแล้ว 

การดูรถไฟของเรามีรูปแบบที่ตายตัวมาก คือดูว่านี่ขบวนอะไร วันนี้มีกี่ตู้ ใช้หัวอะไรลาก ตรงเวลาหรือไม่ตรงเวลา ยิ่งช่วงสงกรานต์สมัยก่อน ถึงขั้นมาดูเลยว่าขบวนไหนคนนั่งหลังคามากที่สุด แล้วตอนกลางคืนก็จะต้องนอนฟังเสียงรถไฟ ตั้งสมาธิให้จดจำเข้าสมองว่าเสียงแบบนี้คือรถสินค้า เสียงแบบนี้คือรถโดยสาร

พอมากเข้า ๆ คุณตาเห็นแล้วคงคิดว่าน่าจะพาไปดูใกล้ ๆ หน่อย ก็เริ่มพาหลานขยับจากหน้าบ้าน ซ้อนท้ายจักรยานไปสถานีรถไฟใกล้บ้านที่ชื่อว่า ‘สถานีห้วยเกตุ’

สถานีห้วยเกตุเป็นสถานีย่อยในหมู่บ้านของเรา เป็นสถานีไม้ชั้นเดียวเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เน้นการใช้หลีกรถไฟให้สวนทางกันมากกว่า มีเพียงรถธรรมดาและรถท้องถิ่นเท่านั้นที่จอดแค่วันละ 6 ขบวน

สถานีนี้เป็นทั้งที่พักผ่อนและโรงเรียนรถไฟของเรา แถมครอบครัวเรายังเป็นเมมเบอร์ระดับพระกาฬของสถานีห้วยเกตุอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่รุ่นยายทวดยันรุ่นแม่รุ่นน้า นั่นเป็นเพราะว่ารถไฟคือสิ่งเดียวที่เดินทางออกจากหมู่บ้านได้ง่ายที่สุด สมัยนั้นถนนเข้าหมู่บ้านเป็นเพียงคันกั้นน้ำและเป็นทางลูกรังเล็ก ๆ ใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะเข้าถึงตัวอำเภอ ทางรถไฟจึงเป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด ไวที่สุด นักเรียนในหมู่บ้าน (ก็คือบรรดาน้า ๆ ของเราและสหาย) ต้องนั่งรถไฟจากบ้านเข้าไปเรียนที่ตัวอำเภอ

แม่กับน้าเล่าให้ฟังว่า ตอนเช้าจะมีรถสองตู้ หัวขบวนเป็นตู้สินค้า ท้ายขบวนเป็นรถโดยสาร 2 ตู้ เขาเลยเรียกกันว่ารถสองตู้ เป็นรถนักเรียนกับแม่ค้าขาล่องไปตะพานหิน ซึ่งเราเดาว่าน่าจะเป็นรถรวมพิษณุโลก-บางซื่อ ไม่ก็รถท้องถิ่นปลายทางบางมูลนาก

น้า ๆ จะใช้สัญญาณในการดูว่าจะไปสถานีรถไฟได้หรือยังจากเสาสัญญาณหางปลา ซึ่งเป็นสัญญาณสำหรับรถไฟคล้าย ๆ กับไฟเขียวไฟแดง หากมีสัญญาณว่ารถไฟกำลังจะเข้าสถานี น้า ๆ ก็จะต้องใส่เกียร์หมาวิ่งไปสถานีทันที (แล้วทันด้วย งงมากว่าทันได้ยังไง) ถ้าที่นั่งในตู้โดยสาร 2 ตู้เต็ม ก็จะไปนั่งที่ตู้สินค้า ไม่ก็รถขนท่อนซุง พอตอนเย็นก็จะนั่งรถธรรมดากรุงเทพ-พิษณุโลก จากตะพานหินมาลงที่ห้วยเกตุ แล้วเดินกลับบ้านเป็นกิจวัตรแบบนี้ในทุก ๆ วัน เรียกได้ว่าชีวิตของคนในท้องถิ่นแต่ก่อนนั้น ผูกพันและเกี่ยวโยงกับรถไฟเสมอ ทั้งกิจวัตรประจำวัน ไปเรียน ไปทำงาน หรือแม้แต่เข้ากรุงเทพฯ ไปหางานทำ

ทุกครั้งที่กลับบ้าน เราต้องมาเยี่ยมสถานีนี้จนนายสถานีจำหน้าได้ ช่วงตั้งแต่บ่าย 3 เป็นต้นไปจะมีรถไฟผ่านสถานีนี้หลายขบวน แต่เรามักเลือกช่วงเย็นที่แดดร่มลมตก เดินมาตามทางรถไฟก็จะทันเห็นรถธรรมดาที่ 201 กรุงเทพ-พิษณุโลก เข้ามาจอดส่งคนพอดี ซึ่งคนที่ลงสถานีนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากตะพานหินบ้าง หรือมาจากแถว ๆ นครสวรรค์ น้อยคนนักที่จะนั่งมาจากกรุงเทพฯ นั่นคงต้องอดทนจริง ๆ เพราะขบวนนี้จอดเลียบทุกสถานีระหว่างทาง ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แสนประหยัดเพียง 59 บาทจากกรุงเทพฯ (แน่นอนว่าเราเคยนั่งครั้งหนึ่ง และเข็ดตลอดไป)

เรามักใช้เวลาที่สถานีประมาณชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงก่อนจะกลับบ้าน ชีวิตที่นี่ผ่านไปอย่างเชื่องช้ากว่าที่กรุงเทพฯ มาก บรรยากาศของชนบทเต็มไปด้วยความเนิบนาบที่ไม่พบเจอในเมือง เสียงตามสายจากวัดก้องสะท้อนไปทั่วหมู่บ้าน เป็นหอกระจายข่าวให้ได้ยินงานบุญอย่างทั่วถึง ปนไปกับเสียงนกร้อง เสียงรถไถนา และเสียงรถไฟ

การได้กลับมาบ้านก็เหมือนเป็นการพักผ่อนอีกอย่างหนึ่ง แค่นั่งล้อมวงกินกับข้าวบ้าน ๆ กางมุ้งนอนนอกชานระเบียง ฟังเสียงจิ้งหรีดสลับกับเสียงรถไฟ ตื่นเช้าไปทำบุญวันพระใหญ่ที่เราต้องหิ้วปิ่นโตไปวัดเพื่อตักข้าวใส่บาตรพระ เอาข้าวหม้อแกงหม้อมารวม ๆ กันเลี้ยงพระ นั่งสัปหงกตอนพระเทศน์ ทักทายญาติพี่น้อง อัปเดตชีวิตกับคนคุ้นเคย จบท้ายด้วยนั่งตากลมเย็น ๆ ดูรถไฟวิ่งผ่านไปผ่านมาที่ถนนหน้าบ้าน

ถ้าคุณนั่งรถไฟสายเหนือผ่านสถานีห้วยเกตุมา แล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นผู้ชายตัวสูง ๆ โบกมือไหว ๆ ให้รถไฟ คนนั้นคือเราเองแหละ

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ชื่อ ‘ตะพานหิน’ มาจากหินดินดานที่อยู่ในแม่น้ำน่าน ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร เจ้าหินนี้งอกยาวข้ามไปเกือบถึงอีกฝั่งแม่น้ำเหมือนเป็นสะพาน มีร่องเล็ก ๆ เหลือให้เรือผ่านได้ จึงเรียกกันว่า ‘บ้านหัวดาน’ หรือ ‘บ้านตะพานหิน’ หากเป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำน่านลดระดับ ก็จะเห็นเจ้าหินดินดานที่เป็นสะพานชัดเจน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วเพราะระเบิดทิ้งไปเมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อไม่ให้กีดขวางการเดินเรือ
  2. รถนอนตะพานหิน คือชื่อเรียกลำลองของรถธรรมดาขบวนที่ 211 และ 212 ที่วิ่งระหว่างกรุงเทพ-ตะพานหิน-กรุงเทพ โดยรถจะเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงตะพานหิน แล้วนอนค้างคืนก่อนออกไปกรุงเทพฯ ในช่วงเช้ามืด คนตะพานหินจึงเรียกขบวนนี้ว่า ‘รถนอน’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงตู้นอน แต่เป็นรถที่นอนค้างคืนที่สถานีตะพานหิน ถ้าคนตะพานหินเรียกรถนอนเมื่อไหร่ ก็เป็นอันรู้กันว่าเป็นขบวนนี้

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ