เมื่อ 15 ปีก่อน ผมเคยมานั่งที่โต๊ะรับแขกตรงนี้ ในบ้านหลังนี้

ผมเริ่มสัมภาษณ์เจ้าของบ้านตอนหัวค่ำ กว่าจะจบก็แถวๆ เที่ยงคืน เป็นบทสนทนาที่ออกรสและเปลืองเสียงหัวเราะมาก

ด้วยความโด่งดังของหนังสือเรื่อง โลกนี้มันช่างยีสต์ และลีลาการเขียนที่หฤห่าม ทำให้รุ่นพี่ในวงการหนังสือหลายคนเชียร์ให้ผมสัมภาษณ์ผู้เขียน ครูสอนชีววิทยาในโรงเรียนมัธยมหญิงล้วนที่แหกทุกขนบ – แทนไท ประเสริฐกุล

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

หลังจากการสัมภาษณ์ครั้งนั้น เขากลายมาเป็นเจ้าของคอลัมน์โลกจิต ในนิตยสาร a day มีผลงานเขียนและแปลตามมาอย่างต่อเนื่อง

เขาว่าทุกครั้งที่เจอปัญหาเข้ามารุมเร้าในชีวิต เขามักจะใช้มันเป็นพลังลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ สมัครเรียนโทไม่ได้ก็มาเป็นครู ไม่ได้ทำงานครูต่อก็ตั้งใจเขียนหนังสือ หมดแรงเขียนหนังสือเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ลุกขึ้นมาทำรายการพอดแคสต์ WiTcast รายการคุยวิทย์ติดตลก ไว้พกไปฟังยามเปลี่ยวสมอง

รายการของเขามีคนฟังราวตอนละ 5 – 6 หมื่นคน ทั้งที่เป็นรายการยาวสองสามชั่วโมง แล้วเขาก็สร้างชุมชนคนสนใจความรู้วิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นมาได้

เขาว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เขาอาจจะทำงานหลายอย่าง แต่จุดร่วมกันของทุกงานก็คือ การสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์

วันนี้ผมกลับมานั่งที่โต๊ะรับแขกตัวนี้อีกครั้ง เพื่อชวนเขาคุยเรื่องชีวิตของเขาในช่วง 15 ปีที่ผ่านนมา จากนายแทนไทวัย 25 สู่ ดร.แทนไท ในวัย 40

ผมนัดเขาตั้งแต่บ่าย และหวังว่าจะจบบทสนทนาก่อนค่ำ เพราะผมอยากเดินดูเนอสเซอรี่หม้อข้าวหม้อแกงลิงของเขา ซึ่งมีอยู่ 50 กว่าชนิด เขาอินกับมันถึงขนาดขยายพันธุ์และลองผสมพันธุ์ใหม่ๆ เองด้วย

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล
15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

คุณหยิบ โลกนี้มันช่างยีสต์ กลับมาอ่านครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ แล้วคิดยังไงกับผู้เขียนบ้าง

ผมอ่านครั้งสุดท้ายเมื่อสี่ห้าปีก่อน เห็นว่าคนเขียนเป็นผู้ที่กล้ามากกว่าสมัยนี้ กล้าเขียน กล้าทำ กล้าทุกอย่าง เป็นเสน่ห์ของเด็กอายุยี่สิบต้นๆ ที่เขียนเรื่องแรกๆ

อะไรทำให้คุณเริ่มต้นเขียนบล็อก โลกนี้มันช่างยีสต์

ตอนนั้นชีวิตผกผัน จากเดิมตั้งใจจะไปเรียนเมืองนอกจนจบปริญญาเอก แต่เกรดมันต่ำกว่าเกณฑ์เขาไปนิดนึง เลยสมัครต่อโทไม่ได้ ต้องกลับมาเมืองไทย เราก็อยากทำอะไรชดเชยส่วนที่ผิดหวังจากตรงนั้น อยากออกไปอยู่คนเดียว อยากมีงานทำโดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ ก็เริ่มจากการติววิชาชีวะให้เด็ก แล้วก็มีคนชวนไปเป็นอาจารย์สอนชีวะในโรงเรียนมัธยมหญิงล้วนแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เพื่อนเราอยู่เมืองนอกหมด กลับมาคนอยู่คนเดียวก็เปลี่ยวเหงา อายุเราก็ไม่ได้ห่างจากเด็กมาก สักสี่ห้าปี ก็เลยคบเด็กเป็นเพื่อน เราให้วิชาเด็ก เด็กให้มิตรภาพกับเรา

เป็นความสัมพันธ์แบบ

พี่ชายพาแก๊งน้องสาวไปทำอะไรสนุกๆ ไปคอนเสิร์ต ไปเที่ยว ไปทัศนศึกษา ไปกินหมูกระทะกัน เด็กไปซ้อมดนตรี ไปเรียนพิเศษที่สยามเราก็ขับรถไปส่ง นั่งอัดกันไปเป็นสิบคน ตอนเที่ยงผมก็ไปนั่งกินข้าวโต๊ะเด็ก รู้หมดใครคบกับใคร ใครมีปัญหาทางบ้าน เด็กไปสูบบุหรี่บนดาดฟ้า เราก็ขึ้นไปสูบด้วย (หัวเราะ)

การวางตัวของอาจารย์หนุ่มกับนักเรียนสาวแบบนี้ มีคนเตือนบ้างไหม

เวลาเรารับเด็กขึ้นรถไปเรียนพิเศษ ผู้ปกครองที่เห็นก็โทรมารายงานโรงเรียนว่า มีชายแปลกหน้า มีหนวดเครา ย้อมผมทอง ใส่เสื้อเหมือนยากูซ่า รับเด็กขึ้นรถไปเป็นหมู่คณะ ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า วันรุ่งขึ้นผมก็จะโดนเรียกไปเตือน เราก็น้อยใจ อะไรวะ เราไม่ได้ทำอะไรไม่ดีนี่หว่า แค่ใส่ใจชีวิตเด็กๆ แล้วก็ให้ความสนิทสนม

ในส่วนของวิชาการ ผมก็อยากทำอะไรที่ไม่ธรรมดา สอนแบบจัดเต็มกว่าครูคนอื่นๆ ออกข้อสอบแบบตลกๆ เป็นช่วงชีวิตที่ดีอยู่ประมาณสามสี่ปี

แล้วกลายมาเป็นบล็อกได้ยังไง

เราเห็นเด็กเขาเขียนกัน ก็เขียนบ้างดีกว่า เหมือนล้อเลียนเขาอีกที เด็กเขียนระบายความในใจ เรื่องที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเขา แต่ผมเล่าเรื่องทำมือถือตกส้วม นกขี้ใส่หัว เหมือนจะเขียนอะไรยาวๆ แต่จริงๆ แล้วเน้นไร้สาระ พอเขียนๆ ไปก็เกิดอยากมีสาระจริงๆ อยากระบายความในใจแบบซีเรียสบ้าง หรือเล่าเรื่องต่างๆ ที่เราอยากจะร้อยเรียงออกมา…

(คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา เดินลงมาจากชั้นสอง แวะทักทายพวกเราสั้นๆ ก่อนจะรีบออกไปทำธุระ)

พอทำจริงๆ ก็รู้สึกว่า เฮ้ย การเขียนมันดีว่ะ ได้เรียบเรียงความคิด ตอนแรกก็ให้นักเรียนอ่าน มาคอมเมนต์กันต่างๆ นานา แล้วก็มีคนที่สนใจเข้ามาอ่าน เลยเหมือนได้เข้าสู่วงการเขียน มีสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดมาชวนรวมเล่ม กลายเป็น โลกนี้มันช่างยีสต์

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

ยีสต์แปลว่า

มันคือศัพท์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ไม่มีคำแปล (หัวเราะ) ตอนนี้ผมไม่ได้พูดคำนี้แล้วนะ แต่จะมีคำที่ทำหน้าที่นี้อยู่ตลอดในชีวิต ยุคนี้เป็นคำว่า นวล แฟนเล่าเรื่องให้ฟังยาวมากเลย แล้วถามว่าผมคิดยังไง ผมก็แบบ…นวล แปลว่า กูขี้เกียจตอบ (หัวเราะ) ยีสต์มันจะเอาไปใช้ยังไงก็ได้ เจอหน้ากันทักทายยีสต์ก็ได้ ใช้ได้หลายหน้าที่

อยากเป็นนักเขียนไหม

ไม่เคยฝันอยากเป็นนักเขียนนะ ผมสนใจความรู้วิทยาศาสตร์ รู้สึกว่าในสังคมไทยเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ได้จืดจางชะมัด ก็อยากจะเล่าให้มีสีสันขึ้น ตอนแรกก็เอาสีสันนั้นมาใส่ในการสอนเรา แต่พอเริ่มเขียนหนังสือก็รู้สึกเลยว่า เราไม่ได้อยากเล่าชีวิตส่วนตัว แต่อยากเล่าความรู้ให้มันสนุก ตอนนั้นตั้งใจแล้ว แต่จะเห็นชัดๆ ตอนเขียนคอลัมน์โลกจิตใน a day 

หนังสือเล่มแรกได้เสียงตอบรับยังไงบ้าง

โดนโรงเรียนไล่ออกครับ (หัวเราะ) อันนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลกับผมมากที่สุดแล้ว ผมไม่พอใจการทำอะไรบางอย่างของอาจารย์ในโรงเรียนซึ่งผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นยุคนี้ต้องด่าใส่ทวิตเตอร์ แต่ตอนนั้นก็เขียนแฉลงบล็อก พอเขียนออกไป เขาก็คงไม่พอใจเรากลับ อยู่มาวันหนึ่งก็มีอาจารย์ใหม่มาสอนแทนเรา โดยที่ไม่มีใครบอกอะไรเรา เราก็ได้แต่เก็บของแล้วเดินน้ำตาซึมลงมา เด็กๆ ก็มาล้อมบอกลาพี่แทน ผมซึมไปนานเลย ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

ในแง่เสียงตอบรับจากวงการหนังสือ ต้องบอกว่ามีคนสนใจเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตบิดามารดาด้วยที่เขาปูทางการเป็นนักเขียนไว้ก่อนแล้ว ลูกคุณเสกสรรค์ จิระนันท์ มาเขียนหนังสือ มันก็ต้องมีคนสนใจโดยอัตโนมัติ พอสนใจแล้วก็พบว่า ผมมีแนวทางของตัวเองที่ไม่ซ้ำกับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ภายใต้ความกดดันว่าจะไปในทิศทางเดียวกับเขา ก็มีคนมาสัมภาษณ์เยอะ รวมถึง a day ด้วย แต่ a day ดีกว่าหน่อยตรงที่ไม่ได้สัมภาษณ์อย่างเดียว ยังสร้างงานให้ผมด้วย คือชวนไปเขียนคอลัมน์ ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ทีนี้ด้วยครับ

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล
15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

ทีแรกว่าตั้งใจว่าจะชวนเขียนคอลัมน์ขำๆ เป็นภาคต่อของ โลกนี้มันช่างยีสต์ แต่คุณอยากฉีกแนวไปเขียนเรื่องวิชาการด้านสมอง ทำไมถึงอยากลองแนวนี้

อยากทำสิ่งที่ดูมีสาระบ้าง (หัวเราะ) ผมเริ่มเรียนวิทยาศาสตร์ แล้วมาชีววิทยา ซึ่งผมสนใจสองเรื่องหลักคือ เรื่องสมองกับจิตวิทยา และเรื่องวิวัฒนาการกับพฤติกรรมสัตว์ มันก็คาบเกี่ยวกันอยู่นะ คือเราอธิบายเรื่องวิวัฒนาการได้ แล้วคนเราก็ไปซ้อนทับอยู่บนพฤติกรรมสัตว์อีกที ผมเรียนปริญญาตรีด้าน Neuroscience กับ Animal Behaviour

ความรู้ด้าน Neuroscience เลยกลายมาเป็นคอลัมน์และหนังสือเรื่อง โลกจิต

ใช่ครับ แล้วเรื่องสัตว์ก็กลายเป็นหนังสือเรื่อง Mimic เลียนแบบทำไม?

ตอนเขียนเรื่อง โลกจิต คุณอยากบอกอะไรคนอ่าน

เรื่องที่เราเรียนตอนอยู่เมืองนอกมันโคตรสนุกแล้วก็โคตรลึกซึ้งเลย เรื่องสมองแบบเซลล์ สารเคมี ก้อนเนื้อหยึกหยักๆ เนี่ย ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาด้วย เช่น คนที่เห็นตัวหนังสือเป็นสี คนพิการที่เสียแขนขาไปแล้วแต่ความรู้สึกของแขนขานั้นยังอยู่ เรื่องพวกนี้มันมหัศจรรย์ว่ะ รู้แล้วก็อยากเอามาเล่าต่อให้คนที่ไม่ได้เรียนได้ร่วมตื่นเต้นด้วย

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

ทำไมคนทั่วไปต้องรู้เรื่องนี้

ต้องเอาคำว่า ต้อง ออกไปก่อน คือไม่ต้องรู้จักหรอก แต่ถ้ารู้จักแล้วจะสนุกหรือน่าสนใจ หรือทำให้เกิดความเข้าใจในตัวเองและสรรพสิ่งรอบตัวในระดับที่ลึกขึ้น อินขึ้น เป็นความสุนทรียะด้านหนึ่งของชีวิต เหมือนเราฟังเพลง ดูหนัง ดูละคร เรากำลังเสพวิทยาศาสตร์

คุณเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ยากๆ ยังไงให้สนุก

เรื่อง โลกจิต เนี่ย ผมยังแปลกใจเลย เพราะตอนนี้ก็มีคนถามหาตลอด หนังสือมันจะสิบห้าปีแล้ว ดีใจที่ได้ทำ เป็นพอร์ตฟอลิโอที่ดีของเรา วิธีเขียนก็ หนึ่ง เลือกหัวข้อที่ตัวเองรู้สึกว่ามันโคตรอะเมซิ่ง เอามาเล่าแล้วคนต้องว้าวแน่นอน ผมหาเรื่องมาจากการติดตามข่าวสารอัปเดตความรู้วิทยาศาสตร์ผ่านสื่อภาษาอังกฤษ หนังสือ รายการต่างๆ แล้วก็มาจากสิ่งที่เราเรียนโดยตรงด้วย

สอง วิธีเล่า ผมไม่คิดมากนะ แค่อยากเล่าให้สนุก คิดว่าจะเริ่มต้นยังไง ช่วงกลางจะบิลด์ยังไง แล้วต้องกั๊กไว้ก่อนอย่าเพิ่งเฉลยคำตอบ แล้วเราจะตบมุกใส่ตรงไหนได้บ้าง เอาเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเข้าไปสอดแทรก เป็นวิธีที่คิดเอง จากสิ่งที่เราเคยอ่านมา ดูมา แม้กระทั่งการ์ตูนญี่ปุ่น เขียนไปตามที่เราชอบ พอออกมาโชคดีที่คนอื่นก็ชอบด้วย

หลังจากนั้นคุณก็มีงานเขียนอย่างต่อเนื่อง

นิตยสาร โอเพ่น ชวนไปเขียนคอลัมน์ชื่อ คนค้นสัตว์ แล้วรวมเล่มในชื่อ Mimic เลียนแบบทำไม? เล่าเรื่องปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่มีหน้าตาเลียนแบบกัน เช่น แมงมุมหน้าตาเหมือนมด แมลงวันหน้าตาเหมือนผึ้ง ไม่ใช่แค่เหมือนธรรมดา แต่เหมือนโคตร เราก็มาอธิบายว่ามันมีแบบนี้ด้วย คำอธิบายก็โยงกับคำตอบได้ว่า ใครเป็นคนออกแบบชีวิต ในทางชีววิทยาบอกว่า การคัดเลือกตามธรรมชาติเป็นกระบวนการที่ออกแบบชีวิตตามธรรมชาติขึ้นมา โดยที่ตัวมันเองไม่ได้มีชีวิตจิตใจเลย มหัศจรรย์มาก

มีงานแปลหนังสือด้วย

เรื่อง The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy ซีรีส์นี้มี 5 เล่ม ผมแปลไปถึงเล่ม 3 สำนักพิมพ์ก็เจ๊ง (หัวเราะ) ตอนนี้หนังสือก็ไม่มีขายแล้ว

ในระหว่างนั้นก็เรียนปริญญาโทไปด้วย

ผมเรียนโทด้าน Marine Science ที่จุฬาฯ มาตลอดตั้งแต่กลับจากเมืองนอก ทำสามอย่างไปพร้อมๆ กัน เรียน เป็นครู เขียนหนังสือ ช่วงที่วิทยานิพนธ์เริ่มเข้มข้นก็เริ่มมีคำถามว่า จะเรียนให้จบหรือจะไปเป็นนักเขียน หรือจะเป็นครู ควรเลือกสักอย่าง ตอนนั้นโดนไล่ออกจากครูพอดี สุดท้ายก็คิดว่า ไม่ได้แล้ว ต้องเรียนให้จบก่อน ก็เลยห่างๆ จากงานเขียนไป

คุณทำวิทยานิพนธ์เรื่อง

พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหมึกกระดองลายเสือ

คุณค่าของงานวิจัยชิ้นนี้คืออะไร

คุณค่าของงานวิจัยทุกชิ้นคือการตอบคำถามเดียวกันหมดเลย เป็นการตอบคำถามอธิบายที่มาของพฤติกรรมต่างๆ เช่น หมึกตัวเมียรับสเปิร์มจากตัวผู้ได้หลายตัว รับมาก็เก็บไว้ในปาก สเปิร์มของหมึกจะอยู่ในถุงเป็นหลอดขาวๆ เหมือนวุ้นเส้น ปักห้อยอยู่ตรงปากตัวเมีย ถ้าตัวผู้ตัวถัดไปรู้จักเอาสเปิร์มของตัวผู้ตัวเก่าออกก่อนที่จะเอาสเปิร์มของตัวเองใส่ทับเข้าไป ลูกที่เกิดมาก็น่าจะมีโอกาสเป็นของมันมากกว่า พฤติกรรมการเอาชนะคู่แข่งนี้น่าจะได้รับการสืบทอดต่อไป อยู่ในสัญชาตญาณของหมึก

เรื่องนี้ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ผมเลยพยายามไปค้นพบปรากฏการณ์นี้ ก็เอาหมึกมาผสมพันธุ์กันในตู้ปลาที่ข้างล่างใส แล้วก็สไลด์ตัวเข้าไปดูจากมุมล่าง ก็เห็นว่าตัวผู้ตัวที่สองมันเอาหนวดถอนสเปิร์มของตัวเก่าออกแบบถอนหญ้าเลย แล้วก็พ่นน้ำใส่เพื่อล้าง แล้วค่อยควักสเปิร์มของตัวเองปักลงไป ก็ตรงตามที่เราคาด ถือเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นสำหรับผมนะ เหมือนได้พบคำอธิบายของชีวิตที่เป็นมาเป็นล้านๆ ปี ซึ่งออกแบบชีวิตให้เป็นแบบนี้

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

การเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสำคัญมาก เพราะเป็นการตีตราว่าเราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใด คุณเลือกทำหัวข้ออะไร

ที่เมืองไทยมีบรรยากาศที่ว่า คุณเล่นตัวอะไร ผมเล่นหอย อีกคนเล่นเหี้ย อีกคนเล่นกิ้งกือ การจะเป็นผู้เชี่ยวชาญต้องเลือกสัตว์มาสักตัว ซึ่งไม่ใช่แนวของผมเลย ผมสนใจว่าปรากฏการณ์แบบที่หมึกเอาของตัวผู้อื่นออกจากตัวเมีย พบในสัตว์พันธุ์ไหนอีกบ้าง ผมก็ไปเจอในแมลงปอ กิ้งก่า เป็นสัตว์สามพันธุ์ที่ไม่ได้เกี่ยวดองกัน แต่มีนิสัยเหมือนกัน ถูกกำหนดด้วยฟอร์ซเดียวกันที่มองไม่เห็น แบบเดอะฟอร์ซใน Star Wars วิทยานิพนธ์ของผมก็วนเวียนอยู่แถวๆ นี้ แต่คราวนี้ไปดูในหิ่งห้อย ซึ่งอาจจะเลือกผิด เพราะมันศึกษาโคตรยาก เลยล่อไปแปดปี (หัวเราะ)

ยากยังไง

มันต้องดูใกล้ๆ ถ้าดูไกลๆ จะเห็นแค่แสงโดยที่เราไม่รู้ว่าที่มันกะพริบ มันกำลังทำอะไรอยู่บ้าง ที่เราเห็นกะพริบบนต้นไม้ บางทีมีแต่ตัวผู้ทั้งต้น ตัวเมียอยู่ไหนไม่รู้ เวลาเจอหิ่งห้อยบินมาเดี่ยวๆ ผมเอาสวิงจับมาดู เจอตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วกำลังจะบินไปหาที่วางไข่ อ้าว มันไปผสมพันธุ์กับตัวผู้บนต้นตอนไหน ความยากคือ เราต้องไปศึกษาในธรรมชาติเท่านั้น เพราะเลี้ยงไม่ได้ ต้องไปหากล้องอินฟาเรดมาส่อง ลองนึกดูว่าเราดูแมลงตัวเล็กๆ จากการซูมดูระยะไกล เป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยวเหงามาก เดินอยู่คนเดียวมืดๆ ค่ำๆ ทุกคืน ทำๆ ไปมันก็ค่อยๆ ฝ่อ

คุณข้ามผ่านความฝ่อนั้นมาได้ยังไง

เริ่มต้นจากศึกษาหิ่งห้อยแล้วท้อใจ ไม่ค่อยได้ผลอะไรที่น่าสนใจนัก ขณะเดียวกันระหว่างที่เราเรียนโทนาน เอกก็นาน เพื่อนเราเป็นอาจารย์กันหมดแล้ว บางคนมีครอบครัวแล้ว เราก็รู้สึกหวิวๆ อนาคตช่างไม่แน่นอน แต่อย่างน้อยเราก็มีสิ่งหนึ่งที่ใจรักอยู่ คือความสนุกของวิทยาศาสตร์ ช่วงที่เบิร์นเอาต์จากการเขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นช่วงที่กำลังอินกับการทำพอดแคสต์ ตอนขับรถไปทำวิจัยเรื่องหมึกและหิ่งห้อยผมก็ฟังรายการของเมืองนอก เป็นรายการภาษาอังกฤษที่เล่าเรื่องที่ผมสนใจไปตลอดทางสามสี่ชั่วโมง รายการเขาดีมากนั่งคุยเรื่องความรู้วิทยาศาสตร์กันสนุกมาก มิตินี้ยังไม่มีในเมืองไทย ถ้าเราทำก็น่าจะพิเศษขึ้นมาได้ ก็คิดอยู่ในหัว

พอทุกอย่างประจวบเหมาะ เรามีแฟนที่คุยสนุก ก็ชวนมาช่วยจัดรายการ แล้วก็เจอเพื่อนนักเขียนแนววิทยาศาสตร์เหมือนกันคือ คุณป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้จัดด้วยกันแล้ว เป็นสามเหลี่ยมที่มาเติมเต็มกัน ผมเล่าข้อมูลสายชีวะ ป๋องแป๋งเล่าสายฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ อาบันแฟนผมเป็นคนตรงกลางที่เราต้องเล่าให้เขาฟังรู้เรื่อง

ตอนนั้นวงการพอดแคสต์ในเมืองไทยมีเจ้าหลักๆ แค่รายการช่างคุย อัปเดตข่าวสารไอที แล้วก็มีพระเทศน์ พอดแคสต์เนี่ยธรรมะมาเจาะตลาดก่อนเลย แล้วก็สอนภาษาอังกฤษ ผมก็ทำรายการคุยวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ชื่อ WiTcast เป็นประกายไฟใหม่ในชีวิต ที่เราสนุกกับการเล่า คุย แบบไม่เป็นทางการ จึงเป็นจุดหมายใหม่ในชีวิตว่าอยากสร้างสิ่งนี้ให้เติบโต

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

เป็นการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ต่างจากการเขียนมากไหม

การเขียนทำคนเดียว แต่นี่มันมี Back and Forth มีคาแรกเตอร์ของแต่ละคน พอชิ่งกันไปมาแล้วสนุก แล้วก็มีมิติของการได้ยินเสียงคนพูด ซึ่งหนังสือให้ตรงนี้ไม่ได้ ถ้าถามว่าเห็นภาพไปเลยจะดีกว่าไหม ผมว่ามันมีข้อดีข้อเสีย คือถ้ามีแค่เสียง มันจะแนบสนิทไปกับชีวิตประจำวันได้มากกว่า ทำอะไรก็ฟังได้ ไม่เหมือนวิดีโอที่ต้องนั่งดูอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้ เขียนหนังสือ กว่าจะเขียน กว่าจะทำต้นฉบับ พิมพ์ ต้องใช้เวลา พอดแคสต์เร็วกว่ามาก ปล่อยปุ๊บบางคนฟังเลย เขาก็บอกเลยว่าชอบอะไรบ้าง ฟีดแบ็กมันเร็วมาก ก็เลยติดใจครับ

จัดรายการไปสักพักคุณก็ชวนผู้ฟังมาจัดรายการด้วย

มีคนฟังติดต่อเข้ามาตลอดเวลาว่าชอบฟัง WiTcast แล้วตัวเขาเองเป็นนักอะไรสักนักนึง ล่าสุดมีนักปรัชญา เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นแฟนพันธุ์แท้ท่านพุทธทาสด้วย เราก็ชวนมาจัดรายการด้วยกัน แล้วก็มีแก๊งบรรพชน คือแก๊งนักบรรพชีวินวิทยาที่ขุดไดโนเสาร์ ก็มาอัปเดตข่าวว่าในวงการขุดไดโนเสาร์เจออะไรใหม่ๆ บ้าง ใครเจออะไรใหม่ๆ เราก็ชวนมาเป็นแขกรับเชิญ

คุณว่ารายการของคุณเป็นชุมชนของคนประเภทไหน

ถ้าให้พูดคำเดียว ผมว่าเป็นชุมชนของเนิร์ด อาจจะไม่ใช่เนิร์ดแบบอ่านคู่มือตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย จำสเปก จำศัพท์เทคนิคได้ทุกอย่าง แต่เนิร์ดในแบบชอบความรู้และมีอารมณ์ขัน แฟนตัวยงของรายการคนหนึ่งก็เป็นศิลปินปั้นหม้ออยู่ที่เชียงราย เขาชอบฟังวิทยาศาสตร์ รื่นรมย์กับการฟังความรู้ของศาสตร์สาขาต่างๆ ฟังเพื่อความบันเทิง และพัฒนาความรู้ของตัวเองด้วย แต่ต่อให้ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เขาก็เหมือนได้อยู่กับเพื่อนคอเดียวกัน

คุณทำพอดแคสต์เป็นแค่งานอดิเรก หรือทำเป็นอาชีพแล้ว

ตอนแรกเป็นงานอดิเรก แต่ตอนหลังกลายมาเป็นงานหลัก เพราะมีผู้ฟังที่อยู่ในหน่วยราชการอย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เขาบอกว่าเขาฟังตลอดเลย เป็นรายการที่ดี แต่เรื่องที่เล่ามีแต่การค้นพบของคนต่างชาติ ในเมืองไทยก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่มุ่งมั่นทำงาน ค้นพบสิ่งต่างๆ เต็มไปหมด แต่ไม่ค่อยมีสื่อไปเจาะ ยกเว้นไปสัมภาษณ์ตอนได้รางวัล ซึ่งเขาก็ได้พูดแค่ดิฉันมีความยินดี ขอขอบคุณ จบ ยังไม่ทันได้สัมผัสคาแรกเตอร์ของผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง ที่ต้องไปเก็บขี้ช้างในป่า ชีวิตเป็นยังไง สนุกไหม ขี้เหม็นไหม หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศที่ต้องขึ้นยอดดอยอินทนนท์ไปวัดนิวตรอนที่ทะลุมาจากอวกาศ

คาแรกเตอร์เหล่านี้จะออกมาเฉพาะเวลาที่เรานั่งคุยแบบไม่เป็นทางการ ให้เขาเล่าประสบการณ์ชีวิต เล่ายาวๆ ได้เลย เราก็เลยทำ WiTcast ตอนพิเศษ เจาะลึกวงการวิทยาศาสตร์ไทย ชื่อ WiTThai ปีละสิบกว่าตอน เพิ่งจบซีซั่นสามไป มันก็กลายเป็นอาชีพเพราะได้เงิน ขณะเดียวกันก็พอจะมีเกียรติ มีคุณูปการอะไรกับวงการบ้าง เอาไปอยู่ในเรซูเม่ได้ เพื่อนๆ เขามีตำแหน่ง ผศ. รศ. เราก็เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว.

คุณเพิ่งเรียนจบปริญญาเอกตอนอายุสี่สิบ ถือว่าช้าไปไหม

ถ้าเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะจบเอกตั้งแต่สิบปีที่แล้ว เป็นอาจารย์มาสิบปีแล้ว แต่ถ้าเทียบกับพ่อผม พ่อผมจบเอกตอนสี่สิบนะ ก็คือแล้วแต่คน เพื่อนๆ เขากลายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยกันแล้ว แต่ผมยังเป็นพวกนอกรีตอยู่

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

แล้วคุณวางแผนชีวิตว่าจะไปทางไหนต่อ

ตอนนี้มันเป็นทางแยกของชีวิต เรามี WiTcast ที่เราสร้างมา มีการเขียนหนังสือที่เราคิดถึง อยากกลับไปเขียนอีกรอบ แล้วก็มีภาระงานประจำที่ต้องอยู่สถาบันอะไรสักแห่งเพื่อใช้ทุน ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหากับการใช้ทุน เพราะอยากสอนหนังสือ อยากเป็นอาจารย์อยู่แล้ว แต่วัยนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์มาห้าปีสิบปี ไม่มีใครแนะนำให้เป็นอาจารย์เลย ทั้งจากประสบการณ์ของเขา และจากการดูคาแรกเตอร์แล้ว ผมไม่น่าอยู่ในระบบระเบียบได้อย่างราบรื่น แต่ผมก็ไม่รู้นะ ผมยังอยากเข้าไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง ก็พยายามสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่

(รถของวรรณสิงห์แล่นเข้ามาจอดข้างตัวบ้าน เขาเปิดประตูบ้านเดินเข้ามาทักทาย แล้วขอตัวเข้าบ้านอีกหลังซึ่งอยู่ด้านหลัง ชั้นล่างเป็นของเขา ชั้นบนเป็นของแทนไท)

ตอนนี้คุณทำอาชีพอะไรอยู่

ผมกำลังยุ่งกับการทำหนังสือให้ สกสว. เป็นหนังสือรวมเล่มที่ไปตระเวนสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ชื่อ วิทย์ไทย มีสองเล่ม เพิ่งปิดเล่มไปเมื่อวาน มีงานประเภทนี้อยู่ พอดแคสต์ก็ถือเป็นอาชีพได้ รวมๆ ก็เรียกว่า นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ครับ

ระหว่าง ดร.แทนไท ในวันนี้กับนายแทนไทเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว อะไรคือสิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน และอะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุด

ถ้าเหมือนเดิม ผมยังชอบความตลกแบบบ้าๆ บอๆ หลุดโลกอยู่นะ แม้กระทั่งเล่าสาระก็ยังพยายามใส่ความฮาลงไป ความรักในวิทยาศาสตร์ ในโลกของคำตอบลึกๆ ของธรรมชาติ จักรวาล สรรพสิ่ง และชีวิต ยังคงอยู่ ความอยากถ่ายทอด อยากเล่า ยังมีอยู่ ตอนที่ทำ WiTcast มันคือการสอนในห้องเรียนนะ แต่เป็นห้องเรียนที่ใหญ่ขึ้น และไม่เห็นหน้านักศึกษา

สิ่งที่เปลี่ยนไป ในวัยสี่สิบผมน่าจะรู้จักการประมวลความดราม่า ความพลิกผันต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ความเร่าร้อนที่จะโมโห โกรธ ก็น้อยลงตามฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรนที่ลดลงไป (หัวเราะ)

การเห็นโลกกว้างขึ้นก็เห็นช่องโหว่ของตัวเองตอนที่เขียนเล่มแรกๆ ถ้าเรากลับมาเขียนอีกครั้งในวัยนี้ เรารู้ว่าจะอุดช่องโหว่เหล่านั้นยังไง แต่ในขณะเดียวกันก็อิจฉาตัวเองตอนหนุ่มที่ไม่ต้องแคร์ว่าจะอุดยังไง เขียนไปเลย เลยได้งานที่ออกมาจากใจ ออกมาจากความอินอย่างฉับพลันทันด่วนมากกว่าทุกวันนี้ งานตอนนี้มันมีความกลั่นกรอง ครุ่นคิดที่ละเอียดอ่อนขึ้น

คุณทำวิจัยเรื่องการผสมพันธุ์ของสิงสาราสัตว์มาก็เยอะ…

ผมเองได้ผสมพันธุ์หรือยัง อย่างนี้เหรอ

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

ไม่ใช่ (หัวเราะ) จะถามว่า มีเรื่องที่คุณสนใจในเรื่องการผสมพันธุ์ของคนบ้างไหม

โห..

ต้องเคยคิดบ้างแหละ

ไม่ค่อยนะครับ เวลาผมพูดเรื่อง ขี้ นม ตูด คนจะหาว่าผมเป็นพวกฝักใฝ่ลามก แต่จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องความลามกหรือการพูดคำหยาบเพื่อให้สะใจเลย การพูดถึงนมกับตูดของผมมันคือการใส่เข้าไปในประโยคเพื่อให้เกิดความตลกจากความผิดที่ผิดทาง ผมไม่ได้หมกมุ่นกับเรื่องลามก (หัวเราะ) ผมไม่ได้ฝักใฝ่อยากรู้เรื่องพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของมนุษย์

แต่สิ่งที่ผมอยากรู้จริงๆ คือระดับของตรรกะที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบสรรพสิ่ง ความแตกต่างระหว่างเพศ ทำไมผู้หญิง ผู้ชาย ถึงเป็นแบบนี้ เป็นคำถามใหญ่ทั้งในแง่ของการมองโลก และลักษณะนิสัย ไม่ได้มีคำถามไหนที่ผมสนใจเป็นพิเศษ เอ๊ะ อย่างเรื่องนมนี่ก็เป็นปริศนาอยู่นะ เพราะถ้าเราไปดูลิงลพบุรี ตัวเมียไม่ได้มีเต้านมตลอดนะ มันมีเฉพาะตอนที่มีลูก พอลูกโตเต้านมก็แฟบ แต่คนเราจะเต้านมแฟบตอนที่เป็นคุณยายเลย ตอนสาวจะไม่มีช่วงยุบหนอพองหนอ เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เป็นแบบนี้ เอ่อ จะอธิบายได้ว่ายังไง อะไรคือเดอะฟอร์ซที่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา น่าจะสนใจคำถามแนวๆ นี้นะ

ยังอยากเขียนคอลัมน์ประจำอยู่ไหม

ก็อยากนะ ผมยังอยากเล่าความรู้วิทยาศาสตร์ แค่จะเลือกหัวข้อไหนเท่านั้นเอง ชีวิตสัตว์ผมยังเขียนได้อีกเยอะ ผมยังไม่มีหนังสือเล่มที่เข้มข้นเทียบเท่า โลกจิต ในเชิงชีวิตสัตว์ ส่วนตัว โลกจิต เอง กลับมาอ่านอีกทีในวัยนี้เหมือนเป็นหนังสือที่เด็กเขียน ตอนอายุยี่สิบห้าเราพอใจกับการลงลึกเท่านี้ แต่ถ้าให้เขียนใหม่ตอนนี้ เราจะพาไปได้ไกลกว่านี้ ก็ยังอยากกลับมาเขียนเรื่องแนว โลกจิต เล่มสอง เล่มสาม ต่อเหมือนกัน

แต่ตอนนี้ไม่มั่นใจในตัวเอง ปากกาฝืดมาก เอาพลังงานไปไว้ที่กล่องเสียงหมดแล้ว ต้องย้ายจักระกลับมาก่อน (หัวเราะ)

สิบห้าปีก่อน หลังจากเราสัมภาษณ์กัน คุณก็ตอบรับเขียนคอลัมน์ประจำเป็นครั้งแรก คราวนี้ คุณคิดจะตอบรับคำเชิญให้กลับมาเขียนคอลัมน์ประจำครั้งแรกในรอบเกือบสิบปีไหม

มันก็วนมาครบลูปพอดีเลย คิดแบบนี้มันก็น่าสนใจนะ แต่ต้องขอกลับไปลับดาบก่อน แค่ได้รับคำชวนก็เป็นเกียรติแล้วครับ

งั้นตั้งชื่อคอลัมน์เลยไหมครับ

ลองดูครับ (หัวเราะ)

15 ปีกับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของดร.แทนไท จากโลกนี้มันช่างยีสต์ สู่ โลกจิต และ WiTcast, แทนไท ประเสริฐกุล

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า