ดิฉันเพิ่งคุยเรื่องการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนปริญญาโทกับรุ่นพี่คนหนึ่ง วิชาที่พวกเราสอนในมหาวิทยาลัย ได้แก่ วิชาการเงิน วิชาการตลาด วิชาบัญชี ซึ่งสถาบันอื่นๆ ก็มีวิชาแบบเดียวกันเช่นกัน ใช้ชื่อคล้ายๆ กัน

เมื่อดูแบบสอบถามที่ถามนิสิตปัจจุบัน ก็มีข้อแนะนำจากนิสิต เช่น อยากปรับวิชาให้ยาวขึ้น อยากเรียนรู้เรื่อง IT มากขึ้น และพวกเราก็เหมือนจะพยายามแก้ปัญหาทีละจุดๆ ตามที่นิสิตบอก 

แต่… ดิฉันเองก็นั่งคิดๆ ว่า เราจะสร้างความแตกต่างจากสถาบันอื่นอย่างไร หลักสูตรแบบไหนจะเป็นหลักสูตรที่คนอยากกลับมาเรียน

นั่นทำให้ดิฉันได้ไปเจอตัวอย่างโรงเรียนญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ที่ในห้องเรียนมีแต่เสียงกรี๊ดกร๊าด หัวเราะ และแววตาลุกวาว 

คุณครูที่ไม่ยอมเรียน ม.ปลาย แต่อ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอง

ยาสึโนบุ โฮสึกิ เติบโตมากับคุณพ่อซึ่งเป็นนักการศึกษา ตั้งแต่เล็ก คุณพ่อมักจะซื้อการ์ตูนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาให้เขาและน้องชาย 2 คนอ่าน ทำให้ลูกๆ รู้สึกว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกตั้งแต่พวกเขายังเล็ก หากคุณพ่อเห็นว่าลูกคนไหนสนใจด้านใด คุณพ่อก็จะสรรหาเนื้อหาที่น่าสนุก เช่น หนังสือหรือวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ มาให้ลูกๆ ดู 

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อปลูกฝังให้ 3 พี่น้อง คือความกระหายที่จะเรียนรู้

โฮสึกิจึงเติบโตมากับอิสระในการหาความรู้และความสุขที่จะเรียนรู้ เมื่อเขาเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย เขารู้สึกว่า โรงเรียนเน้นแต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีกฎแปลกๆ เช่น ห้ามอ่านหนังสือนอกเวลา ห้ามมีความรัก เขาจึงตัดสินใจบอกพ่อว่าเขาต้องการลาออก คุณพ่อก็ยอมรับแบบง่ายๆ หลังจากนั้น โฮสึกิก็อ่านหนังสือเอง จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังที่สุดของญี่ปุ่นได้ ที่สำคัญ เขาไม่เคยไปเรียนกวดวิชาใดๆ เลย ทั้งหมด เขาหาวิธีศึกษาหาความรู้เอง 

เมื่อเรียนจบ เขาก็หันมาเปิดโรงเรียนกวดวิชา โดยสอนเด็กๆ ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย โฮสึกิเริ่มสังเกตว่า เขารู้สึกดีใจเล็กน้อยเวลาลูกศิษย์มาบอกว่า พวกเขาสอบติดมหาวิทยาลัยดังๆ ที่ไหนได้บ้าง แต่โฮสึกิกลับมีความสุขมากกว่าตอนที่เขาสอนเด็กประถม เด็กๆ ดูสนุกสนานกับคลาสมากและสดใสมากๆ 

นั่นเป็นจุดที่ทำให้โฮสึกิตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการสอนของโรงเรียนตนเองทั้งหมด เขากลับไปนึกดูว่า ในวัยเด็ก เขาสนุกกับการเรียนรู้แค่ไหน พ่อมีวิธีสอนให้เขากระหายความรู้ต่างๆ ได้อย่างไร จากนั้น เขาพัฒนาวิธีการสอนแบบใหม่ จนกลายเป็นที่มาของโรงเรียนกวดวิชา ชื่อ ‘ทังคิวกักคุฉะ’ ในเมืองมิตากะ โตเกียว

โรงเรียนกวดวิชาความกระหายในการเรียนรู้

คำว่า ‘กักคุฉะ’ แปลว่า โรงเรียน ‘ทังคิว’ หมายถึง การค้นคว้าศึกษาอย่างจริงจัง ชื่อ ‘ทังคิวจุขุ’ จึงมีความหมายว่า โรงเรียนที่สนับสนุนการค้นคว้าศึกษาอย่างจริงจัง

โฮสึกิมุ่งมันที่จะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ และเสริมทักษะการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง

ในเว็บไซต์โรงเรียน มีข้อความเขียนตัวโตว่า 

เราเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่จะไม่ติวเนื้อหาวิชาการ

เราไม่เน้นการทำให้เด็กได้คะแนนดีขึ้น

แต่เราจะทำให้เด็กๆ ได้พบสิ่งที่พวกเขาชอบ หรืออยากลองศึกษาเพิ่มเติม อยากค้นคว้า อยากลงมือทำ

เราจะเป็นสถานที่ที่จุดประกายความกระหายต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละคน” 

โฮสึกิเชื่อว่า เวลาศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ เขาไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กๆ ท่องจำ พ.ศ. เพียงแค่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้น จุดประกายให้เด็กๆ สนใจประวัติศาสตร์ จากนั้นเด็กๆ จะเริ่มอยากรู้ และค่อยๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง เดี๋ยวเด็กๆ ก็จะจำ พ.ศ. ได้เองโดยธรรมชาติหากพวกเขาสนใจ 

โลโก้โรงเรียนจึงเป็นรูปตัว Q เล่นกับคำว่า ทังคิว โดยประกอบไปด้วยสามเหลี่ยมสีต่างๆ แสดงถึงเอกลักษณ์และความสนใจของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน

ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
ภาพ : tanqgakusha.jp/about/vision/

ในบรรดาลูกศิษย์ตัวจิ๋วของโฮสึกิ มีคนที่ท่องตารางธาตุได้ตั้งแต่ชั้นประถม มีเด็กที่จำชื่อซามูไรและยุคสมัยต่างๆ ได้โดยที่โฮสึกิไม่เคยสอนเรื่องนี้เลย 

แล้วโฮสึกิสอนอะไร อย่างไรกัน 

ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยใคร่รู้

โรงเรียนกวดวิชาทังคิวกักคุฉะแห่งนี้ไม่ได้มีคอร์สเรียนยาวๆ แบบโรงเรียนทั่วไป วิชาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 2 วัน รวมระยะเวลาเรียน 9 ชั่วโมง

ตัวอย่างวิชาที่สอน ได้แก่ วิชาจักรวาล วิชาฮีโร่ในยุคสงคราม วิชาสถาปัตยกรรม วิชา DNA 

คลาสหนึ่งมีเด็กเรียนประมาณ 20 – 30 คน

ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
ตัวอย่างปกวิชาฮีโร่ในยุคสงคราม
ภาพ : tanqgakusha.jp/lineup/history_01/ 

วิชาที่สอนมีทั้งเรียนได้ทางออนไลน์และออฟไลน์ (คลาสเรียนจริง)​

ตัวอย่างหัวข้อในวิชาออนไลน์ด้านศิลปะ เช่น 

  • เรียนรู้ความลับของภาพศิลปะชื่อดัง 
  • ทำไมถึงเกิดศิลปะขึ้นมาประวัติชีวิตของจิตรกร 
  • เรียนรู้เรื่องเส้นตรงและเส้นโค้งผ่านภาพวาด Edward Munch (ผู้วาดภาพ The Scream อันโด่งดัง) 
  • ความงามก็มีกฎนะ! กฎของความงดงามที่ซ่อนอยู่ 
  • งานศิลปะยุคปัจจุบัน… โถส้วม!? ความหมายของงานศิลปะที่เราคาดไม่ถึงคืออะไร 

แค่อ่านหัวข้อก็ตื่นเต้นแล้ว 

ส่วนในห้องเรียนปกติก็จะมีอุปกรณ์ จอภาพขนาดใหญ่ ดนตรี และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ประกอบ เช่น ในวิชาจักรวาล โฮสึกิจะเริ่มจากการให้เด็กๆ ดูลูกแก้วในมือเขา เปรียบเทียบว่าเป็นขนาดของโลก จากนั้นเขาก็จะถามว่า “แล้วคิดว่าดวงจันทร์ขนาดประมาณเท่าไร” 

“สักเมล็ดข้าวล่ะมั้ง”

“ถูกต้อง! แล้วดวงอาทิตย์ล่ะ น่าจะใหญ่ขนาดไหนกันนะ” 

เด็กบางคนเดาว่าขนาดเท่าลูกฟุตบอลหรือเท่าแตงโม แต่โฮสึกิเฉลยด้วยการนำลูกบอลสีแดงขนาดยักษ์เข้ามาในห้องเรียน ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้นตกใจถึงความยิ่งใหญ่ของดวงอาทิตย์

ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
ภาพ : tanqgakusha.jp/about/ 

หลักการของโฮสึกิ คือถามให้เด็กฝึกคิด ยิ่งคิด ก็ยิ่งอยากรู้คำตอบ 

ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
ภาพในห้องเรียนวิชาฮีโร่ในยุคสงคราม
ภาพ : tanqgakusha.jp/about/feature/
ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
เกมนี้ โฮสึกิก็จะเป็นคนอ่านคำใบ้ เด็กๆ ต้องหาการ์ดที่แสดงถึงคำใบ้นั้น
ภาพ : tanqgakusha.jp/about/feature/

โฮสึกิเรียกการบ้านที่ให้เด็กทำว่า ‘Quest’ เป็นศัพท์ในวงการเกมและเด็กหลายคนน่าจะคุ้นเคยดี ฟังดูน่าตื่นเต้นกว่าคำว่าการบ้านหรือรายงานเป็นไหนๆ 

นอกจากนี้ โฮสึกิก็ยังให้เด็กๆ เขียนโน้ตที่เป็นกระดาษม้วนแผ่นยาว พอคลี่ออกมาก็จะเห็นผลงานที่เด็กๆ ไปหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ ตามความสนใจของตนเอง เขียนสรุป หาข้อมูล วิเคราะห์ เรียนรู้

เวลาคลี่ม้วนนี้ เด็กๆ ก็จะได้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า ตนเองเคยหาข้อมูลอะไรมาและเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่สำคัญ พวกเขาคงรู้สึกภูมิใจกับผลงานของตนเอง 

ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
สมุดโน้ตของเด็กแต่ละคน มีเนื้อหาต่างกัน แล้วแต่ว่าใครสนใจเรื่องไหน
ภาพ : www.bilibili.com/video/av47106609/

วิธีทำการตลาดของโรงเรียนกวดวิชา

ช่วงแรก โฮสึกิทำการตลาดแบบง่ายๆ เขาไปยืนอยู่ในย่านที่พักอาศัยใกล้กับโรงเรียนและแจกใบปลิว ในใบปลิว เขียนชัดเจนว่า โรงเรียนกวดวิชาแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่ไม่เน้นเรื่องการทำให้เด็กได้คะแนนสูงๆ หรือสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ แต่จะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้และอยากค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง 

เริ่มมีคุณพ่อคุณแม่ส่งลูกมาลองเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มบอกปากต่อปาก เรียกได้ว่า โฮสึกิแทบไม่ต้องโปรโมตโรงเรียนอะไรมากเลย

แทนที่จะทำโฆษณาโปรโมตโรงเรียนมากๆ โฮสึกิทุ่มเทเวลาและทรัพยากรแทบทั้งหมดไปกับการสร้างเนื้อหาดีๆ ที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้น ทั้งคลาสออนไลน์และออฟไลน์ เขาไปคุยกับนักแต่งเพลง เพื่อแต่งเพลงเกี่ยวกับซามูไรชื่อดัง พวกเขากระโดดและตะโกนร้องเพลงกันในคลาสอย่างสนุกสนาน ในห้องเรียนเรื่องธาตุ โฮสึกิออกแบบของเล่น ซึ่งแสดงโมเลกุลของธาตุต่างๆ ให้เด็กๆ ลองต่อเองและเห็นความสวยงามของธาตุ 

ทังคิวกักคุฉะ โรงเรียนกวดวิชาในโตเกียวที่ไม่ติวให้เด็กได้คะแนนเยอะ แต่คนสมัครเต็มตลอดเวลา
บรรยากาศคลาสเรียน มีธงซามูไรวางหน้าห้องเหมือนออกศึกจริงๆ
ภาพ : tanqgakusha.jp/lineup/history_01/ 

  โฮสึกิเล่าว่า เวลาเขาออกแบบคลาสเรียน เขารู้สึกเหมือนเขากำลังสร้างหนังสักเรื่อง ทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้สึกตาลุกวาว ตื่นเต้นได้ตลอดคลาส บางจังหวะก็มีการเซอร์ไพรส์ บางทีก็มีกิจกรรมให้เด็กๆ เล่นควิซกัน อีกจังหวะก็ให้เด็กๆ แบ่งกันเป็นกลุ่มและแก้ปัญหาร่วมกัน

ใน ค.ศ. 2019 มีเด็กประถมที่เข้าเรียนที่นี่แล้วกว่า 7,000 คน ส่วนช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา โฮสึกิเพิ่งเริ่มสอนคลาสออนไลน์ช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 เขาคาดว่าจะมีคนสมัครสัก 600 คน แต่กลับมีผู้สมัครมาถึง 1,000 คน เต็มภายในคืนเดียว ในเดือนถัดมา มีผู้เรียนออนไลน์เพิ่มเป็น 3,500 คน ที่สำคัญ ร้อยละ 99 ของคนที่เรียนเดือนแรกยังคงสมัครคอร์สออนไลน์นี้ต่อ 

โฮสึกิมีความฝันว่า หากเด็กๆ ได้รู้ว่าตนเองชอบอะไร ได้ศึกษาและดื่มด่ำในการเรียนรู้ด้านนั้น เมื่อพวกเขาเติบโตมา เขาสามารถแปลงสิ่งที่ตนเองชอบ สนใจ ให้กลายเป็นอาชีพ นั่นคงจะเป็นสังคมที่มีความสุขไม่น้อย เพราะทุกคนรู้ว่า ตนเองชอบอะไร และทำด้านนั้นให้ดีที่สุด 

Lesson Learned 

ในช่วงแรก โฮสึกิก็เปิดโรงเรียนกวดวิชาเหมือนโรงเรียนอื่น แต่เมื่อเขาเริ่มเห็นปัญหาของการศึกษา และเกิดความปรารถนาที่จะแก้ แนวคิดการส่งเสริมให้เด็กสงสัยใคร่รู้จึงเกิดขึ้น และกลายมาเป็นจุดเด่นของโรงเรียน 

จากแนวคิด ทำให้โรงเรียนสร้างรูปแบบที่แตกต่างยิ่งขึ้นไปอีก กวดวิชาที่อื่นมักสอนวิชาภาษาอังกฤษคณิตศาสตร์ และเรียนกันเป็นเดือนๆ มีการวัดผลคะแนนอย่างชัดเจน แต่โรงเรียนโฮสึกิแตกต่างตั้งแต่การตั้งชื่อวิชาเรียน การสร้างประสบการณ์สนุกๆ ให้เด็กๆ ในคลาส ระยะเวลาเรียน (9 ชั่วโมง) ตลอดจนการบ้าน 

นอกจากนี้ โฮสึกิยังไม่เน้นการโปรโมตโรงเรียนตนเองผ่านการโฆษณา แต่กลับทุ่มเททำให้เด็กๆ สนุกสุดเหวี่ยงที่สุด เพื่อทำให้เกิดการบอกต่อปากต่อปากเอง

กลยุทธ์นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากสินค้าของโฮสึกิเป็นบริการหรือความรู้ คนจับต้องไม่ได้ แม้จะโฆษณาว่า ‘สอนสนุก’ แต่คนอาจไม่เชื่อถือหรือนึกภาพไม่ออก 

หากท่านใดทำธุรกิจบริการ ลองเน้นไปที่การทำบริการของตนให้ดีเลิศ ดีจนลูกค้าอยากบอกต่อ นั่นจะเป็นวิธีทำการตลาดที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ลูกค้าใหม่ๆ เห็นภาพ และเราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปโฆษณาธุรกิจอีกเลย

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย