สายวันพฤหัสบดีในพื้นที่สำโรง ท่ามกลางอาคารพาณิชย์ที่รายรอบตัว เรายืนมองอย่างงุนงงว่าตรงไหนกันนะที่เปิดเป็นเวิร์กชอปสอนทำตุ๊กตา Needle Felt หรือตุ๊กตาใยขนแกะ เพราะหน้าตาตึกเหมือนกันหมด นึกสงสัยได้ไม่นาน นักทำตุ๊กตาก็เปิดประตูเหล็กพร้อมกับยิ้มหวานต้อนรับ 

เราเดินขึ้นบันไดกระทั่งหยุดอยู่ที่ชั้นบนสุดของตึก มองเห็นสวนที่เต็มไปด้วยไม้ใบสีเขียว ดอกไม้ที่อวบอิ่ม มีน้ำเกาะบนกลีบ และห้องกระจกที่เปิดเข้าไปแล้วพบกับตุ๊กตาตัวเล็กตัวน้อย ล้อมด้วยไม้ขัดสีอ่อนที่นำมาประกอบรวมกัน กลายเป็นสถานที่เวิร์กชอปของ ‘Tanpopodoll’ มี ปุ๋ม-ปิยวรรณ เณรพุ่ม นักทำตุ๊กตาเป็นเจ้าบ้าน

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

เธอคือผู้ค้นหาตัวเองจนพบสิ่งที่รักและหลงใหลเข้าอย่างเต็มเปา จนอยากแบ่งปันให้คนอื่น ๆ ได้ทดลองและเรียนรู้บ้าง โดยมี ‘ตุ๊กตา’ และ ‘ขนมอบ’ คอยเชื่อมสัมพันธ์ผู้คน

ตอนนี้ปุ๋มเปิดประตูบ้านหลังเล็ก ๆ ให้เราและคุณเข้าไปทำความรู้จักพร้อมกัน

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

ทันโปะโปะ

ปุ๋มจุดไฟงานคราฟต์ประเภทนี้ขึ้นอีกดวงหนึ่ง เมื่อเธอเริ่มรู้จักตุ๊กตาบลายธ์และก้าวเข้าสู่วงการคนเล่นตุ๊กตาเต็มตัว ประกอบกับความสงสัยในวิธีการทำตุ๊กตา เธอจึงทดลองทำ Needle Felt ตัวแรกขายให้เพื่อน ตุ๊กตาของปุ๋มได้รับความสนใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก เธอจึงทำตุ๊กตาขึ้นอีกหลายตัวโดยปักเป็นหัวสัตว์อย่างกระต่าย แมว หมา ส่วนลำตัวและชุดก็ให้เพื่อนที่ถนัดด้านนั้น ๆ ทำ 

ตุ๊กตา Needle Felt เกิดจากการใช้เข็มจิ้มลงบนใยขนแกะ หรือ Wool มีทั้งขนแกะแท้และสังเคราะห์ เมื่อใช้เข็มทิ่มลงไป ไม่ว่าจะขนแกะ ขนแมว เส้นผม หรือขนอะไรก็ตามจะติดรวมกันเป็นก้อน จากนั้นจึงปัก ๆๆ เพิ่ม เพื่อทำเป็นหัวสัตว์ เติมหู ตา จมูก คล้ายงานปั้น 3 มิติ 

เมื่อได้หัวตุ๊กตาจึงนำมาประกอบกับลำตัว ใส่เสื้อผ้า และสวมรองเท้า 

ความสงสัยเล็ก ๆ ในวันนั้นของปุ๋มนำมาสู่แบรนด์ตุ๊กตาหัวฟูฟ่องน่ากอดที่เธอทำขายเป็นคอลเลกชันตามฤดูกาลของตัวเอง แม้คาแรกเตอร์ของตุ๊กตาจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งที่คงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้คือหัวนุ่มฟูปักด้วยความประณีตทีละตัว ๆ เจ้าหัวฟูฟ่องเหล่านี้เองเป็นที่มาของคำว่า ‘Tanpopo’ (ทันโปะโปะ) ชื่อแบรนด์ที่ปุ๋มตั้งขึ้นเพราะอยากได้ชื่อภาษาญี่ปุ่น

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

เนื่องจากงานส่วนใหญ่มีต้นแบบมาจากแดนอาทิตย์อุทัย หนังสือที่ใช้เรียนก็มาจากประเทศญี่ปุ่น ฉะนั้น Tanpopo จึงมาจากภาษาญี่ปุ่น แปลว่าดอก Dandelion ดอกไม้กลม ๆ ที่บางเบาและอ่อนนุ่ม มีความเชื่อว่าเมื่ออยากให้พรใดเป็นจริง ต้องหลับตาอธิษฐาน แล้วเป่าดอก Dandelion ให้ปลิวไปตามลม ปุ๋มยังชอบที่ดอกไม้ชนิดนี้และตุ๊กตาทำมือของเธอมีความคล้ายกันที่ความปุกปุย 

ก่อนหน้านี้ปุ๋มไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนักทำตุ๊กตาจนมีแบรนด์ของตัวเอง เพราะการเดินทางที่ผ่านมาไม่คาบเกี่ยวกับงานคราฟต์สักเท่าไหร่ สมัยมัธยมเธอเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เมื่อจบมาก็ทำงานการตลาดและกราฟิก เธอรู้เพียงว่าในใจลึก ๆ ชอบงานศิลปะ ใฝ่ฝันอยากถือกระดานวาดรูปแบบเพื่อนที่เรียนสถาปัตย์บ้าง กระทั่งได้ลองปักตุ๊กตา ปุ๋มชอบมาก จนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

“เราได้ตื่นมาทำสิ่งที่อยากทำ ไม่ต้องไปประชุม ทำตุ๊กตา ทำขนมอยู่บ้าน รับงานจากลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็คือคนที่เล่นตุ๊กตากับเรา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราเลิกทำงานประจำ” เธอเชื่อว่าต้องทำไปก่อน ไม่รู้ดีหรือไม่ดี แต่วันหนึ่งอาจเอาทักษะนั้นมาใช้ก็ได้ ปุ๋มเรียกสิ่งที่ทำว่า ‘Connect The Dot’ 

“การไปเวิร์กชอปเป็นการค้นหาตัวเองที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าฉันวาดรูปได้ งั้นไปเรียนวาด ฉันอยากเรียนปั้น ก็ไปเรียนปั้นดิน นี่ไง ฉันทำได้ดีมากเลย เดี๋ยวซื้อเตาอบใหญ่มาเลยแล้วกัน”

ระหว่างพูดคุยถึงความชอบและแรงบันดาลใจ นัยน์ตาของเธอก็เปี่ยมไปด้วยสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ

“บางอย่างเรียนแล้วไม่ชอบ แต่เราสนุกกับมัน ก็เก็บเป็นอีกหนึ่งทักษะ สะสม Dot ไปเรื่อย ๆ สมัยนี้อยากเรียนอะไร เรียนเสริมได้หมดเลย ไม่ต้องเข้าห้องเรียน” เธอพูดฉะฉาน “เราเคยนั่งปักตุ๊กตาตามหนังสือญี่ปุ่นและทดลองทำ Needle Felt โดยที่ไม่รู้หรอกว่าความชอบจะกลายเป็นอาชีพหรือเปล่า”

นี่คือการ Connect The Dot ที่เธอพูดถึง เมื่อมีโอกาส ปุ๋มไม่รอช้าที่จะคว้าและสานต่อสิ่งที่อยู่ในใจ 

เวิร์กชอปประกอบร่าง

การสอนทำตุ๊กตาของปุ๋มในขั้นตอนแรก ผู้เรียนต้องส่งแบบให้ดูก่อนว่าอยากทำตัวอะไร ส่วนใหญ่ให้เลือกจากต้นแบบเดิมใน Instagram แต่ก็เติมสิ่งที่ชื่นชอบได้ ต้องการจมูกสีอะไร เติมหูแบบไหน หัวแบบไหน โดยพื้นฐานของตุ๊กตาเริ่มจากหัวกลม ๆ ประมาณเที่ยงเพิ่งจะได้หัวเปล่า ๆ 1 หัว เพราะต้องเติมทีละชั้น พอบ่ายคล้อยก็เริ่มใส่หู ใส่ตา ใส่สี ราว 5 โมงเย็นก็เริ่มเป็นรูปร่างหัวทั้งหมด จากนั้นเธอจะสอนประกอบให้เป็นตัว เลือกเสื้อผ้า แต่งตัว ใส่รองเท้า เพื่อให้ตุ๊กตาเสร็จสมบูรณ์

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง
Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

นอกจากตุ๊กตา 1 ตัวที่นักเรียนได้กลับบ้าน เธอหวังว่าสักวันหนึ่ง คนอาจจะนำทักษะนี้ไปทำเป็นอาชีพ หรือตอบใครต่อใครได้ว่า ฉันชอบ Needle Felt หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีความสุข

“การทดลองทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรู้จักตัวเองว่าเราทำสิ่งนี้ได้หรือเปล่า บางคนอาจจะไม่ได้ไปต่อ แต่ทักษะที่เขามีจะอยู่ในตัวเขาไปตลอด” ปุ๋มบอกกับเราแบบนั้น

คนส่วนใหญ่ที่มาเรียนทำตุ๊กตามักเป็นวัยรุ่นและผู้หญิง มีผู้ชายเคยมาเรียนเพียง 2 คนเท่านั้น บ้างก็นำขนหมาแมวที่เสียไปแล้วมาทำเป็นตุ๊กตาตัวใหม่ บ้างก็ทำตุ๊กตาให้คนรัก

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

ปุ๋มเล่าว่าคนที่มาชอบดูตุ๊กตา ดอมดมต้นไม้ดอกไม้นอกห้องกระจก เล่นกับแมวซน ๆ 2 ตัวที่มักมาคลอเคลียต้อนรับผู้คน รวมถึงชื่นชมรูปลักษณ์ภายในห้องเวิร์กชอป ซึ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งเธอแบ่งเป็นห้องนอนและอีกครึ่งเป็นห้องทำงาน ทั้ง 2 ห้องคั่นด้วยบานไม้โค้ง ๆ ที่เธอออกแบบเอง กลางบ้านมีโต๊ะขนาดใหญ่เลื่อนได้ หากช่วงไหนไม่มีคลาสสอน เธอจะใช้โต๊ะทำขนม แต่ถ้ามีคลาสก็จะเลื่อนไปตรงกลางให้คนนั่งทำงาน ปุ๋มตกแต่งบ้านตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งมีเสน่ห์และเตะตาใครต่อใคร จนได้รางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดของ ‘บ้านและสวน’

Tanpopodoll สตูดิโอเวิร์กชอปตุ๊กตาขนแกะนุ่มฟูของนักทำตุ๊กตาในบ้านหลังอบอุ่น ย่านสำโรง

เสน่ห์ลับ

ความประทับใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้คน สะสมรวมกันกลายเป็นก้อนใหญ่อบอวลอยู่ภายในห้องนี้ 

“เหมือนมาคาเฟ่ แต่มาแค่ 5 คนนะ” ปุ๋มยิ้ม “เราชอบอบขนมและทำกาแฟ ระหว่างเวิร์กชอปก็จะทำขนมให้เขากิน บางทีเป็นชีสเค้ก คัพเค้ก ขนมปัง” เราสำรวจความชอบของเธอจากภายในห้องที่มีอุปกรณ์เบเกอรี่วางเรียงราย ในช่วงโควิด-19 ปุ๋มใช้เวลาไปกับการอบขนมปังขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยรสชาติต่าง ๆ ที่เธอคิดค้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนมปังแครนเบอร์รี่ครีมชีส ขนมปังชาส้ม ขนมปังกระเทียมชีสและอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้มาจากความชอบของเธอเช่นกัน ปุ๋มได้ Connect Dot ที่ตัวเองมีอยู่อย่างคุ้มค่า 

“เราเคยเรียนกราฟิกมา ก็นำทักษะนั้นมาออกแบบโลโก้ร้านขนมปังเอง ชื่อว่า Monday Bread Shop ขอฝากร้านหน่อยแล้วกันนะคะ เพิ่งเปิดแบบป้ายแดงเลย อร่อยนะ” เจ้าบ้านหัวเราะ

ปุ๋ม ปิยวรรณ นักทำตุ๊กตาขนแกะที่เปลี่ยนความชอบมาเป็นอาชีพเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและความสุข

ตัวบ้านคงเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนให้วนกลับมา แต่อีกสิ่งที่เรามองเห็นว่าเป็นเสน่ห์ลับ คือตัวตนของนักทำตุ๊กตาคนนี้ ความใจดี คุยเก่ง ท่าทางเป็นมิตรของปุ๋ม ทำให้ผู้คนสบายใจเมื่อได้พูดคุยกับเธอ 

“เราอยากให้คนมาเสพพื้นที่ของเรา ถ้าเขาถ่ายรูปเล่นหรือบอกว่าอร่อย เราก็มีความสุขแล้ว เราอยากให้เขากลับมาอีกครั้งโดยที่ไม่ต้องมาทำตุ๊กตาก็ได้ แค่มานั่งเล่นกับเรา สานสัมพันธ์ด้วยกัน” 

ภาพฝัน

ในอนาคตปุ๋มอยากลองเปิดเวิร์กชอปตามคาเฟ่ต่าง ๆ ดูบ้าง ด้วยความที่เธอเรียนการตลาด จึงเข้าใจสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี ปุ๋มไม่ได้คาดหวังให้การทำตุ๊กตา Needle Felt โด่งดัง เธอเพียงอยากสอนให้มากขึ้น และไม่คิดจะเปลี่ยนหรือปรับปรุงตึกเก่า ๆ หลังนี้ ด้วยความคิดว่า

“ให้ที่นี่เป็นเหมือนสตูดิโอลับ ไม่มีใครรู้นอกจากนักเรียนของเรา มันค่อนข้างคอนทราสต์กันดีนะ ตึกเก่า ๆ โทรม ๆ ที่เห็นด้านนอก พอขึ้นมาก็ บูม! กลายเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย” เธอพูดแล้วอมยิ้มน้อย ๆ

ปุ๋ม ปิยวรรณ นักทำตุ๊กตาขนแกะที่เปลี่ยนความชอบมาเป็นอาชีพเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและความสุข

แม้โลกนี้จะไม่มีตุ๊กตา แต่คนเราก็ต้องการที่พึ่งทางจิตใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปแบบอื่นก็ได้ ปุ๋มเปิดมุมมองที่มีต่องานคราฟต์ในประเทศไทย เธอคิดว่ามันยังเดินไปได้ยาก 

“วิถีการใช้ชีวิตของประเทศเรา ปัจจัย 4 ต้องมาก่อน ประเทศที่เจริญมาก ๆ เขาเอ็นจอยกับศิลปะ แต่ประเทศเราต้องเลี้ยงชีพ เราเข้าใจ อย่างโครเชต์ ถักออกมาราคาเป็นพัน เราไม่ซื้อ แต่ต่างประเทศเขายอมจ่าย เราหวังว่าในอนาคตจะดีขึ้น และงานอดิเรกจะเป็นอาชีพได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อมีคนสนับสนุน”

เราพูดคุยกันในห้องกระจกโปร่งแสงอย่างเพลิดเพลิน มีแมวขนฟู 2 ตัววิ่งซนประกอบฉาก รู้ตัวอีกทีก็คล้อยบ่าย แสงแดดพาดผ่านเข้ามา ตุ๊กตาเกือบร้อยตัวในห้องเหมือนจะเรืองแสงในตัวเองได้อย่างนั้น 

ก่อนกลับ ปุ๋มใจดีให้เราชิมขนมปังสูตรใหม่อบร้อน ๆ จากเตา เธอตีวิปครีมระหว่างรอแป้งให้เนื้อฟู ในที่สุดขนมปังแผ่นก็นำมาเสิร์ฟตรงหน้า พร้อมด้วยลูกเชอร์รีโตๆ คำถามสุดท้ายถูกยกขึ้นมา 

หากนิยามสถานที่นี้ได้จะเรียกว่าอะไร – เราถามก่อนจากกัน

“ก็คงเป็นเวิร์กชอปสไตล์คาเฟ่ลับ ๆ ที่มีคนในร้านแค่ 5 คน กับนักทำตุ๊กตาอีก 1 คน”

คำตอบของปุ๋มมาพร้อมใบหน้าป้ายรอยยิ้มอีกครั้ง

ปุ๋ม ปิยวรรณ นักทำตุ๊กตาขนแกะที่เปลี่ยนความชอบมาเป็นอาชีพเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและความสุข

Tanpopodoll

ที่ตั้ง : 1352-1353 สุขุมวิท 113 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 

โทรศัพท์ : 0 9629 24653 (ติดต่อนัดหมายวันและเวลาล่วงหน้า)

เว็บไซต์ : www.tanpopodoll.com

Facebook : Tanpopodoll

Writer

Avatar

ภฤศนี แท้เที่ยงธรรม

เด็กผู้หญิงชอบเขียนหนังสือ เกิดเดือนกุมภาพันธ์ กรุ๊ปเลือด AB อุปนิสัยร่าเริง

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ